นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

The Wannakovit’s Cookbook Charisma

เสน่ห์ปลายจวักของบ้านวรรณโกวิทที่สืบทอดตำรับข้าวแช่ชาววังสูตร 100 ปี

เสน่ห์ปลายจวัก แปลว่า เสน่ห์ที่เกิดจากฝีมือการปรุงอาหารให้อร่อย 

ท่ามกลางร้านอาหารเปิดใหม่มากมายในยุคนี้ที่แต่ละเจ้าต่างมีสูตรเด็ดและสารพัดวิธีในการโปรโมตให้คนสนใจ บ้านวรรณโกวิทเป็นร้านอาหารไทยโบราณที่สืบทอดเสน่ห์ปลายจวักจากครอบครัว ส่งต่อสูตรอาหารโบราณและตำรับข้าวแช่สูตร 100 ปีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ทำให้มีจุดเด่นที่แตกต่างจากร้านอาหารในปัจจุบันโดยไม่ต้องใช้ความพยายามในการสร้างแบรนด์มากมายนัก 

ท่ามกลางบรรยากาศร้อนระอุในเดือนเมษายน เมื่อแวะมาที่ซอยดำเนินกลางใต้ระหว่างถนนตะนาวกับถนนดินสอในย่านพระนครจะพบบ้านโบราณทรงขนมปังขิงหลังหนึ่งที่ตั้งโดดเด่นอยู่ในซอยเล็กๆ มีเมนูข้าวแช่ ขนมจีนซาวน้ำ มะยงชิดลอยแก้ว ฯลฯ ที่ทานแล้วชื่นใจในบรรยากาศรื่นรมย์ของบ้านที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนาน

แต้ว–อาภาวินี อินทะรังสี คือทายาทรุ่นปัจจุบันที่เห็นเอกลักษณ์ของข้าวแช่สูตรครอบครัวซึ่งคนรอบตัวติดใจมานานหลายรุ่นรวมถึงเสน่ห์ของบ้านโบราณที่คนแวะเวียนมาเยี่ยมไม่ขาดสาย จึงตัดสินใจเริ่มเปิดบ้านวรรณโกวิทให้คนมานั่งทาน หน้าร้อนแบบนี้เราจึงชวนแต้วมาเล่าให้ฟังว่าเสน่ห์ปลายจวักของคนสมัยก่อนนั้นเป็นยังไง ทั้งภูมิปัญญาไทยในการทำอาหาร อย่างการนำดอกไม้ที่ปลูกเองตามรั้วบ้านมาทำน้ำลอยดอกไม้ การทำอาหารให้มัดใจคนด้วยความประณีตและหัวใจของการทำอาหารอย่างรื่นรมย์และสืบทอดสูตรมาได้ถึงร้อยปี  

ครัวในรั้วบ้านที่อร่อยแบบไม่ต้องการรีวิว

แต้วแนะนำว่าข้าวแช่เป็นเมนูเก่าแก่ที่แต่ละบ้านคิดสูตรกันเอง

“ข้าวแช่จะเป็นสูตรประจำบ้านของบ้านใครบ้านมัน รสชาติใครรสชาติมัน บ้านนี้สูตรหนึ่ง อีกบ้านสูตรหนึ่ง เช่น บ้านนี้จะออกเค็มนำ อีกบ้านจะทำออกรสหวาน เครื่องเคียงก็เหมือนกัน บางบ้านใช้กระชายนำ บางบ้านจะมีหอมแดงยัดไส้ อย่างบ้านเราจะมีเครื่องเคียงอยู่ 5 อย่าง มีลูกกะปิ พริกหยวกยัดไส้ ปลาหวาน หมูฝอย และไชโป๊ผัด ของเราจะมีรสนัวๆ เค็มๆ หวานๆ ผสมกัน แต่ไม่ใช่บ้านนี้อร่อยหรืออีกบ้านไม่อร่อย ขึ้นอยู่กับจริตของแต่ละคน

“แต่ละถิ่นก็จะมีสูตรข้าวแช่ต่างกัน ข้าวแช่ชาววังจะมีผักเคียง ถ้าเป็นข้าวแช่เพชรบุรีก็จะเน้นหวานอย่างเดียว จะใส่พวกมะพร้าว ปลาหวาน หมูฝอย ผัดไชโป๊ก็จะผัดแบบหวานเจี๊ยบเลย และใช้น้ำอบควันเทียน ส่วนข้าวแช่สูตรมอญจะเป็นอีกสไตล์หนึ่ง”

แม่ครัวผู้สืบทอดตำราอาหารโฮมเมดมารุ่นต่อรุ่น มีความถ่อมตน เคารพในสูตรที่แตกต่างกันของบ้านใกล้เรือนเคียงเพราะเข้าใจว่าข้าวแช่เป็นอาหารประเภท ‘ลางเนื้อชอบลางยา’ จึงไม่โปรโมตว่าร้านตนอร่อยสุด ซึ่งแตกต่างจากหลักการสื่อสารทางการตลาดของหลายร้านที่เน้นโปรโมตว่าร้านตนมีสูตรอร่อยเด็ดที่สุด

‘วรรณโกวิท’ เป็นนามสกุลของครอบครัวที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 ในยุคของพระยานรราชจำนง ราชเลขาในพระองค์ผู้เป็นต้นตระกูลของครอบครัว ในสมัยก่อนบ้านวรรณโกวิทเป็นบ้านที่ใช้อยู่อาศัยจริงโดยพระยานรราชจำนงมอบให้เป็นเรือนหอของชื้น วรรณโกวิท และหลวงสุนทรนุรักษ์ หรือ กระจ่าง วรรณโกวิท

ชื้น วรรณโกวิท ซึ่งเป็นยายของแต้วเป็นผู้มีเสน่ห์ปลายจวักจากการทำอาหารให้คนในครอบครัวทานตามวิถีคนสมัยก่อนที่ต้องทำอาหารเยอะเพราะครอบครัวใหญ่ ต้นตำรับสูตรข้าวแช่มาจากชื้นโดยในยุคแรกเริ่มไม่มีการขายเป็นกิจจะลักษณะ แต่ในหมู่ญาติพี่น้องที่สนิทชิดเชื้อและรู้จักกันก็จะรู้ว่าช่วงหน้าร้อนเดือนมีนาคมถึงเมษายนบ้านนี้ทำข้าวแช่อร่อย

แม้ตั้งใจทำอาหารทานกันเองในครอบครัว แต่ก็มักมีเพื่อนฝูงของสมาชิกในบ้านที่ลองชิมข้าวแช่แล้วติดใจจึงขอจองซื้อล่วงหน้าเป็นชุดๆ หนึ่งในนั้นคือ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ นักชิมอาหารต้นตำรับเชลล์ชวนชิมและศิลปินแห่งชาติผู้มีโอกาสชิมข้าวแช่และอาหารจานอื่นๆ ที่บ้านวรรณโกวิทและอยากมอบสัญลักษณ์ความอร่อย ‘เชลล์ชวนชิม’ ให้

ในยุคก่อนที่จะมีเพจและบล็อกเกอร์รีวิวร้านอาหารในโลกอินเทอร์เน็ตอย่างทุกวันนี้ การรีวิวอาหารจะพบได้ตามคอลัมน์ชิมอาหารในนิตยสาร ซึ่ง ‘เชลล์ชวนชิม’ ของ ม.ร.ว.ถนัดศรีถือเป็นเจ้าแรกๆ ที่ริเริ่มวัฒนธรรมการรีวิวร้านอาหารในไทย 

อย่างไรก็ตาม ด้วยตอนแรกครอบครัววรรณโกวิทตั้งใจทำอาหารโฮมเมดแบบง่ายๆ ทำกันเอง จึงเลือกไม่รับตราความอร่อยนั้นไว้ แต่เหล่าคนรู้จักก็จดจำครัว ‘บ้านวรรณโกวิท’ ตั้งแต่วันที่ยังไม่ได้เปิดร้านและสร้างแบรนด์อย่างจริงจังได้

ต้นทุนในการเปิดร้านอาหาร 

ในเวลาต่อมา ชื้นได้ส่งต่อเสน่ห์ปลายจวักให้ลูกสาวคนโตคือนิตยาและสอนต่อกันมาจนถึงแต้วในรุ่นปัจจุบันตามลำดับ แต้วเล่าว่าก่อนหน้านี้เคยทำงานออฟฟิศและเป็นคนไม่ชอบทำอาหารเลย ทำไข่เจียวเป็นอย่างเดียว แต่ด้วยความอยากทานข้าวแช่สูตรของที่บ้านซึ่งได้ข้าวถ้วยใหญ่และเครื่องเคียงเยอะและหาทานที่ไหนไม่ได้ หากไปทานร้านอื่นพบว่าได้เครื่องเคียงน้อยและราคาแพง จึงเริ่มหัดทำข้าวแช่ตอนเกษียณแล้วกับคุณป้านิตยาเพราะเห็นว่าท่านเริ่มทำอาหารไม่ไหวแล้ว 

“พอเราอยากทำก็บอกคุณป้าว่าอยากเรียน ตอนนั้นคุณป้าอายุ 70-80 ปีแล้ว เขาก็เริ่มจากสอนสไตล์คนโบราณให้เราหยิบส่วนผสม” เป็นการสอนโดยไม่ได้บอกว่าเครื่องเคียงและส่วนผสมแต่ละอย่างต้องใช้กี่กรัม แต้วถอดสูตรเองจากการสังเกตคุณป้านิตยาในครัว 

“เราโชคดีที่เคยทานตั้งแต่เด็กก็จะรู้ว่ารสชาติเป็นยังไง สามารถปรับรสให้คุ้นกับลิ้นของเราได้ เครื่องเคียงเราก็รู้อยู่แล้วว่ามีอะไรบ้าง ทีนี้การชิมก็ขึ้นอยู่ที่ลิ้นเราแล้วว่าใช่หรือไม่ใช่รสชาติที่เราเคยกินมาตั้งแต่เด็ก” 

จากการเปิดให้กินข้าวแช่แบบไม่เป็นกิจจะลักษณะ แต้วเป็นรุ่นแรกที่ริเริ่มเปิดบ้านวรรณโกวิทให้คนทั่วไปเข้ามานั่งกินอาหารในบ้านได้ราวสิบปีที่แล้วจนทำให้คนจดจำได้

แม้จะดูเหมือนเปิดมาแล้วปังทันที แต่ความจริงแล้วบ้านวรรณโกวิทสะสมองค์ประกอบทั้งหมดในการทำร้านอาหารให้สำเร็จมาแล้วกว่า 100 ปี ทั้งสูตรต้นตำรับที่มั่นใจว่าอร่อย เมนูเด็ด และจุดเด่นของสไตล์อาหารที่ไม่เหมือนใคร บรรยากาศของร้านที่ดึงดูดให้เดินเข้าร้านด้วยสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ของบ้านโบราณ ไปจนถึงเรื่องเล่าและสตอรีของอาหาร แต้วเพียงนำสิ่งเหล่านี้มาปัดฝุ่นและนำเสนอให้คนทั่วไปได้รู้จักเท่านั้น

ภูมิปัญญาไทยที่ประณีตในวัตถุดิบ

สิ่งที่ทำให้ข้าวแช่แตกต่างจากอาหารประเภทอื่นคือภูมิปัญญาไทยในการนำดอกไม้ท้องถิ่นมาทำน้ำลอยดอกไม้ แต้วจึงคงกระบวนการทำแบบดั้งเดิมไว้ให้ได้มากที่สุดเพราะภูมิปัญญาไทยคือจุดขาย 

ขึ้นชื่อว่าข้าวแช่ สิ่งที่พิถีพิถันเป็นพิเศษคือข้าวและน้ำข้าวแช่ “เราใช้วิธีหุงข้าวแบบเช็ดน้ำเหมือนในสมัยก่อน ต้มข้าวแล้วเอามาขัด เอาข้าวไปนึ่งจนสุกแล้วใส่น้ำ วิธีนี้ทำให้น้ำใสและข้าวจะเรียงตัวเป็นเม็ด ใช้ข้าวเสาไห้ที่แข็งกว่าข้าวหอมมะลิ เพราะบางทีข้าวหอมมะลิมีเยื่อของข้าวทำให้เวลาขัดจะเละและหักง่าย แต่ถ้าไม่ขัดน้ำข้าวแช่จะขุ่น” 

“น้ำข้าวแช่จะมีทั้งน้ำอบควันเทียนที่เลือกตั้งแต่แหล่งผลิตเทียนหอมและน้ำลอยดอกไม้ ใช้ดอกไม้ที่ปลูกเองและไม่ฉีดสารเคมี เช่น ดอกมะลิ ชมนาด กุหลาบมอญ กระดังงา มะลิก็จะมีกลิ่นแรงนิดนึง ส่วนชมนาดจะมีกลิ่นละมุนเหมือนข้าวใหม่ บางทีก็จะเอามาผสมกันและต้องใช้เวลาอบน้ำข้าวแช่ 1 คืนเป็นอย่างน้อย” 

สาเหตุที่ทานข้าวแช่ช่วงหน้าร้อนแล้วอร่อยกว่าช่วงอื่นเพราะวัตถุดิบของน้ำข้าวแช่อย่างดอกไม้จะหอมอบอวลเป็นพิเศษในช่วงฤดูร้อนที่ดอกไม้เมืองร้อนเบ่งบานเยอะ “อย่างดอกมะลิก็ไม่ได้ออกดอกทั้งปี หน้าหนาวดอกจะเล็ก เราไม่กล้าไปซื้อตามตลาดดอกไม้เพราะกลัวมีสารเคมี เดี๋ยวต้องเอาดอกไม้เหล่านั้นมาลอย ฤดูอื่นก็จะพยายามฟรีซดอกไม้เอาไว้แต่ความหอมอาจจะจางลง บางที่เขาจะเหยาะกลิ่นดอกไม้เทียมแทนดอกไม้จริงก็มี” 

เครื่องเคียงตามตำรับข้าวแช่บ้านวรรณโกวิทมี 5 อย่าง ได้แก่ ลูกกะปิ, พริกหยวกยัดไส้, ไชโป๊หวาน, ปลายี่สนหวาน และหมูฝอย สิ่งที่แต้วบอกว่าทำยากคือลูกกะปิที่ต้องโขลกกระชาย ตะไคร้ หอมแดง กะปิ กุ้งแห้ง หมูหรือปลา กับกะทิ แล้วตั้งไฟอ่อนๆ กวนส่วนผสมทั้งหมด พอแห้งแล้วนำมาปั้นเป็นลูกกะทิเล็กๆ และชุบไข่ทอด แค่ลูกกะปิอย่างเดียวก็ใช้เวลาอย่างน้อย 4 ชั่วโมง 

วัตถุดิบทั้งหมดต้องพิถีพิถันทั้งไชโป๊จาก ‘เจ็ดเสมียน ราชบุรี’ คัดปลายี่สนหวานจากปราณบุรีที่มีรสชาติกลมกล่อมนุ่มนวล มีกลิ่นหอมของหอมแดง คัดพริกหยวกสวยๆ สำหรับทำพริกหยวกยัดไส้ที่หมักด้วยสามเกลอผสมหมูสับ เอาไปนึ่งแล้วหรุ่มหรือห่อไข่

ช่วงไฮซีซั่นอย่างสงกรานต์ แต้วจะจำกัดการขายข้าวแช่ที่ 80-100 ชุดต่อวันเพื่อให้สามารถคงความพิถีพิถันไว้ได้ แม้บ้านวรรณโกวิทจะทำข้าวแช่ทั้งปีเพราะมีลูกค้าอยู่ตลอดแต่ก็มีเมนูเพิ่มเข้ามาสำหรับผู้ที่อยากทานเมนูอื่นในฤดูที่กระแสข้าวแช่ซาและคนที่ทานข้าวแช่ไม่เป็นด้วย

เมนูอื่นๆ ของบ้านวรรณโกวิทส่วนใหญ่เป็นอาหารโบราณ บางเมนูเป็นสูตรอาหารของคุณยายชื้นและคุณป้านิตยาที่เคยทำอาหารให้คนในบ้านทานในสมัยก่อนซึ่งแต้วบอกว่า “เราเลือกจากเมนูที่เราชอบ บางเมนูก็เรียนเองเพิ่มเติม อย่างขนมจีนน้ำยาและน้ำพริก บ้านเราไม่เคยทำ ก็ต้องไปเรียนเอง มันเป็นเมนูที่ค่อนข้างยาก ซับซ้อน จุกจิก และละเอียดอ่อน”

ท่ามกลางเมนูใหม่ที่เพิ่มเข้ามา จุดร่วมของทุกเมนูคือการบรรจงเลือกวัตถุดิบท้องถิ่นที่ดีตามฤดูกาล หากเป็นหมี่กรอบก็จะมีสูตรไม่เหมือนที่อื่นเพราะใส่ทั้งผิวส้มซ่าและน้ำส้มซ่าทำให้มีกลิ่นหอม หากเป็นขนมจีนซาวน้ำก็จะไม่ได้ใช้กะทิกล่องทั่วไป แต่ใช้กะทิคั้นสด เป็นกะทิขูดขาวที่มีความเข้มข้น ใส่เนื้อปลากรายต้มกะทิ ขิง กระเทียม และสับปะรดที่ทำให้คลายความร้อนได้ดี เป็นเมนูที่เหมาะกับซัมเมอร์ไม่แพ้ข้าวแช่ คนชื่นชอบเพราะทานแล้วชื่นใจ อาหารโบราณอย่างข้าวตังหน้าตั้งและข้าวตังเมี่ยงลาวก็จะพิถีพิถันในการเลือกเครื่อง ทั้งพริกขี้หนูสวน ถั่วลิสง และไชโป๊ นำมาห่อในใบผักกาดดองเกิดรสเค็มหวาน

ความประณีตของภูมิปัญญาสมัยก่อนนี้เองที่ทำให้อาหารโบราณมีความโดดเด่นแตกต่างออกมาซึ่งจะสังเกตได้จากรายละเอียดเล็กๆ ขนมหวานประเภทลอยแก้วของบ้านวรรณโกวิทจะมีความประณีตในการเลือกผลไม้ตามฤดู คว้านมะยงชิดเป็นทรงดอกกระดังงา บางฤดูที่ทำขนมกลีบลำดวนก็จะปั้นทีละดอกแล้วนำไปอบควันเทียนทำให้มีกลิ่นหอม

คุณแต้วสรุปเคล็ดลับในการทำอาหารว่า “การคัดเลือกวัตถุดิบสำคัญที่สุด ต้องดีที่สุด พอเราใช้วัตถุดิบธรรมชาติ บางครั้งกะปิที่เราเลือก ครั้งหนึ่งมาในรสชาติหนึ่ง อีกครั้งก็มาอีกรสชาติหนึ่ง กะปิและน้ำตาลพวกนี้จะมีความแตกต่างกันในแต่ละครั้ง มันจะควบคุมไม่ได้แบบนี้เป็นต้น ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความเคยชินในรสมือของเราด้วย” 

Baan Wannakovit Open House

นอกจากความประณีตและพิถีพิถันแล้ว จุดขายของบ้านวรรณโกวิทอีกอย่างคือบ้านโบราณที่ดึงดูดให้คนเดินเข้ามาเยี่ยมเยียน “พอบรรยากาศดี คนก็จะคิดว่ารสอาหารต้องดีด้วย พอเข้ามาแล้วคนก็จะเห็นว่าร้านเราไม่ใช่ร้านอาหารแมสทั่วไป แต่ทำเป็นโฮมเมด”

แต้วเปิดประวัติให้ฟังว่าบ้านโบราณแห่งนี้มีอายุราว 130 ปี รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบดั้งเดิมในสมัยก่อนคือบ้านขนมปังขิงที่มีจั่วข้างหน้าและเป็นสไตล์โคโลเนียลที่มีความตะวันตกผสมตะวันออก ทุกวันนี้สถาปัตยกรรมของบ้านไม่ได้รีโนเวตใหม่ ยังคงแบบดั้งเดิมไว้เหมือนสูตรอาหารที่ยังคงอนุรักษ์สูตรดั้งเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด

“คนกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาคือกลุ่มคนที่ชอบบ้านสไตล์โบราณ มีกลุ่มอนุรักษ์ไทยที่ชอบเดินมาดูบ้านแล้วขอเข้ามาทานอาหาร เราเลยเริ่มเปิดบ้านเฉพาะตรงระเบียงก่อนแล้วค่อยขยายเปิดมุมอื่นของบ้านให้นั่งตามมา ทุกวันนี้ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุราว 40-50 ปี กลุ่มวัยรุ่นที่ชอบเดินเล่นในย่านนี้ และคนที่สนใจอยากมากินอาหารในบ้านโบราณ ลูกค้าอีกกลุ่มคือคนที่อยากซื้ออาหารสำหรับงานจัดเลี้ยงและตอนนี้กำลังขยายไปขายออนไลน์ส่งลูกค้าต่างจังหวัด” 

ด้วยสไตล์บ้านและอาหารที่โดดเด่นสอดคล้องกันทำให้ได้รับความสนใจอย่างมาก แต้วบอกว่าในรุ่นของเธอมีเหล่าบล็อกเกอร์และสื่อต่างๆ มาเขียนรีวิวให้ตั้งแต่ช่วงเปิดบ้านแรกๆ เยอะเช่นกัน ทำให้คนรู้จักมากมาย ไม่ใช่เฉพาะคนไทย แต่มีลูกค้าชาวต่างชาติ ทั้งยุโรป สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมนี ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฯลฯ ที่อยากสัมผัสวัฒนธรรมอาหารไทยดั้งเดิมในบรรยากาศบ้านโบราณ

เมื่อมีแมกกาซีนมารีวิวบ้านวรรณโกวิท เช่น แมกกาซีนญี่ปุ่นที่มารีวิวอาหาร ก็จะมีกลุ่มชาวญี่ปุ่นย่านพร้อมพงษ์ตามมาทานอาหารที่เตะตาพวกเขาซึ่งไม่ใช่เฉพาะข้าวแช่ คนแต่ละชาติจะสนใจเมนูอาหารต่างกัน นักท่องเที่ยวฝั่งเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน นิยมสั่งขนมจีนและข้าวแช่ ส่วนนักท่องเที่ยวอเมริกันมักชอบสั่งข้าวคลุกกะปิเพราะกะปิเป็นวัตถุดิบท้องถิ่นที่แปลกใหม่สำหรับพวกเขา  

จึงกล่าวได้ว่าสิ่งที่บ้านวรรณโกวิทขายไม่ใช่แค่อาหารแต่เป็นวัฒนธรรมไทย

ทำอาหารด้วยใจรื่นรมย์

สำหรับแต้วที่ทำอาหารมาราว 10 ปี เธอบอกว่า “ความท้าทายในการทำอาหารคือบางทีคนหนึ่งบอกว่าลดเค็มหน่อยได้ไหม อีกคนบอกว่าไม่อร่อยหรือมีหลายความเห็นที่อยากให้ปรับเป็นแบบนั้นแบบนี้ เราก็พยายามคงสูตรดั้งเดิมไว้และยึดมั่นตามสูตรของเราให้ได้มากที่สุด”

ความท้าทายอีกอย่างคือการแผยแพร่ความละเอียดอ่อนของวัฒนธรรมอาหารไทยดั้งเดิมไว้ในโลกที่ผู้คนคุ้นชินกับความง่ายและความสะดวกมากขึ้นเรื่อยๆ “ตอนนี้รู้สึกว่าคนสั่งอาหารแบบง่ายๆ โดยไม่รู้ที่มาที่ไปเยอะ อย่างข้าวแช่ เด็กๆ ก็จะกินกันไม่ค่อยเป็น บางคนบอกว่าทำไมข้าวแช่ถึงขายแพงเพราะเขาไม่รู้กระบวนการขั้นตอนว่าอย่างการกวนกะปิต้องใช้เวลา 2 วัน เตรียมเครื่องต่างๆ ก็ใช้เวลาหนึ่งวัน ต้องกวนจากน้ำให้มันแห้ง นั่งปั้น ชุบไข่ทอดซึ่งมีหลายขั้นตอนและทำนาน”

บางช่วงที่ร้านอาหารไม่ยุ่งมากนัก แต้วจะจัดเวิร์กช็อปสอนทำอาหารไทยและขนมไทยแก่ผู้ที่สนใจ อย่างคลาสทำลูกชุบ ช่อม่วง จีบนก แกะสลักผักผลไม้และขนมไทยประเภทอื่นๆ บางเซสชั่นก็จะชวนครูในวังผู้เชี่ยวชาญการทำอาหารไทยมาสอนให้

เมื่อถามถึงเคล็ดลับการสืบทอดเสน่ห์ปลายจวักในการทำสูตรอาหาร 100 ปี แต้วบอกว่าคือความจริงใจและใส่ใจในการทำอาหาร “ไม่ใช่ว่าพอเรามีเมนูเยอะขึ้นแล้วจะลดคุณภาพลง แม้ว่าจะขายได้หรือขายไม่ได้คุณภาพของเราก็ต้องเหมือนเดิม ต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพ ใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่าง อาหารเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่มีองค์ประกอบในการทำเยอะ ใครจะไปเรียนทำอาหารก็ไปเรียนได้ แต่มันจะมีเรื่องละเอียดอ่อนอีกเยอะมาก บางทีขึ้นอยู่กับอารมณ์ของคนทำด้วย ถ้าอารมณ์ไม่ดีจะรู้สึกว่าทำอาหารไม่อร่อย ต้องอารมณ์ดี อารมณ์เราต้องเย็นๆ สบายๆ แล้วอาหารเราก็จะอร่อย” 

เมื่อใจรื่นรมย์จึงทำข้าวแช่ออกมาได้เย็นชื่นใจ


Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like