Art Toy Story

ซื้อทีละหมื่น ยืนต่อคิวเป็นวัน Art Toy ป๊อปคัลเจอร์ที่สะสมได้ และกระแสในจีน

วงการอาร์ตทอยหรือดีไซเนอร์ทอย เป็นอีกหนึ่งวงการสุดโหดหิน หมายถึงว่า ถ้าคุณเป็นคนรักอาร์ตทอยซะแล้ว ใจต้องสู้จริงๆ เอาเป็นว่าเราข้ามเรื่องราคาไปได้ อาร์ตทอยเป็นวงการที่ไม่ใช่ว่าคุณจะมีเงินแล้วจะซื้อได้เลย หลายครั้งคุณต้องกำเงินสดไว้ในมือ ติดตามข่าวสาร ตื่นแต่เช้าเพื่อไปรอต่อแถว บางทีก็ต้องอาศัยดวงส่งชื่อหรือจับสลากเพื่อให้ได้สิทธิ์ซื้อ บางทีได้สิทธิ์ซื้อแล้วก็แล้วแต่บุญกรรมว่าเราจะได้ตัวที่เราอยากได้ไหม

ข้างต้นคือคนเล่นอาร์ตทอยสายแข็ง แบบที่เข้าถึงง่ายหน่อยคือนวัตกรรมการขายที่เราเรียกกันว่า ‘กล่องสุ่ม’ ซึ่งเจ้ากลองสุ่มก็มีความปวดหัว เราจะชอบตัวไหนใช่ว่าจะได้ตัวนั้น แถมในขบวนการกล่องสุ่มแต่ละคอลเลกชั่นก็จะมีตัวลับหรือซีเครตเป็นอีกหนึ่งความสนุกในการสะสมของเล่น ที่ไม่ใช่แค่ของเล่นแต่มีมูลค่าในตัวเองต่อไป

แน่นอนว่าอาร์ตทอย หรือวงการของเล่นที่ทุกวันนี้ไม่ได้หมายถึงแค่ของเล่นที่เอามาเล่นจริงๆ แต่เป็นของที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ออกล่าและสะสมไว้เป็นคอลเลกชั่นส่วนตัว อาร์ตทอยเหล่านี้นับเป็นอีกหนึ่งกระแสที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นวัฒนธรรมร่วมของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวและเริ่มมีบ้าน มีรสนิยมเฉพาะของตัวเอง

ถ้าเราย้อนไปราวต้นปีที่ผ่านมา บ้านเราก็เพิ่งมีงานทอยเอกซ์โป ในงานนั้นมีทั้งศิลปินจากนานาชาติ และสิ่งที่เราพบเห็นได้คือกลุ่มคนไทยและชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน นั่งต่อแถวกลางแดดพร้อมกำเงินที่เต็มไปด้วยแบงก์พัน อดทนเฝ้ารอเพื่อเอาเงินเหล่านั้นยัดใส่มือแต่ละบูทเพื่อให้ได้ของเล่นหน้าตาประหลาด และเชื่อว่าหลายท่านที่อ่านอยู่นี้คงจะเคยลงเล่นกล่องสุ่ม หลายท่านคงเข้าใจความรู้สึกทั้งการเรียนรู้ที่จะผิดหวังจากการสุ่มหรือการแย่งซื้อของ ความดีใจเมื่อได้น้องๆ ทั้งหลายมาครอบครอง

ไม่ว่าคุณจะเป็นแฟนของอาร์ตทอยตัวไหน จากรุ่นเก่าเช่นแก๊งตากากบาทของของ KAWS เรื่อยมาจนถึงวงการหมีที่มีรูปทรงเดียวแต่ราคาพุ่งระยับคือเจ้า Bearbrick ไปจนถึงแฟนๆ ของเหล่าคาแร็กเตอร์น้องๆ ยอดฮิตที่เป็นกระแสในช่วงหลังนี้ ไม่ว่าจะเป็นน้องปากเป็ดมอลลี่ เจ้าปีศาจตัวแสบที่ราคาทะยานเช่นเจ้าลาบูบู้ หรือน้องนอนที่แสนจะฮิตและต้องแย่งซื้อกับคนจีน Dimoo มาจนถึงผลงานอาร์ตทอยไทยที่หายากสุดๆ เช่นน้องควายหรือคชาปติจาก Coarse ไปจนถึงงานคนไทยที่ฮิตยิ่งคือ Crybaby

นี่คือประวัติศาสตร์ย่นย่อของเหล่าน้องๆ จากยุคสมัยของของเล่นไวนิลจากเหล่าสตรีทดีไซเนอร์ มาจนถึงยุคสมัยแห่ง POP MART ผู้เปิดตลาดอาร์ตทอยราคาเข้าถึงได้และเปิดตลาดยักษ์หลับของจีนจนกลายเป็นสุดยอดผู้ซื้อของวงการ และการมาถึงของ POP MART และวงการอาร์ตทอยไทย

ป๊อปคัลเจอร์ และวัฒนธรรมสตรีท

อาร์ตทอยถือเป็นกระแสที่สัมพันธ์กับหลายมิติ ตั้งแต่ประเด็นที่ว่าอะไรคือศิลปะไปจนถึงห้วงเวลาที่คนยุคหนึ่งคือชาวมิลเลนเนียลหรือชาวเจนฯ วายมีกำลังซื้อ ประกอบกับเทคโนโลยีการผลิตคือไวนิล 

ตัวอาร์ตทอยโดยทั่วไปหมายถึงของเล่นกึ่งสะสม ส่วนใหญ่แล้วจะผลิตขึ้นในจำนวนที่จำกัด ออกแบบโดยนักออกแบบทำให้บางทีเรียกว่าดีไซเนอร์ทอย ความพิเศษเบื้องต้นที่สุดของอาร์ตทอยคือความเป็นของสะสม อาร์ตทอยมักผลิตในจำนวนน้อย ถ้าผลิตเป็นจำนวนมากก็อาจจะขายในช่วงเวลาที่จำกัด ออกมาเป็นคอลเลกชั่น ถ้าพลาดแล้วคือพลาดเลย 

เวลาพูดถึงประวัติศาสตร์อาร์ตทอย เรามักมองไปที่ทศวรรษ 1990 เป็นกระแสที่เกิดขึ้นในเอเชียเช่นในญี่ปุ่น ฮ่องกง บางส่วนของยุโรปและอเมริกา คำว่าอาร์ตทอยก็ตามชื่อคือมันเป็นของเล่นที่ตัวมันเองเป็นเหมือนกับงานศิลปะ และงานศิลปะในยุคปัจจุบันคือตั้งแต่สมัยใหม่เป็นต้นมาก็คือวัฒนธรรมป๊อปหรือวัฒนธรรมสตรีท งานอาร์ตทอยเกือบทั้งหมดเป็นงานที่เชื่อมโยงกับป๊อปคัลเจอร์ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน หนัง ไปจนถึงปรากฏการณ์ทางสังคม

คำว่าอาร์ต ในอาร์ตทอยจึงค่อนข้างสัมพันธ์กับประเด็นเรื่องความเป็นศิลปะ อันที่จริงอาร์ตทอยเป็นกระแสหนึ่งของความชื่นชอบศิลปะของมนุษย์ ในยุคหนึ่งเราอาจจะสะสมภาพเขียน ประติมากรรม แต่แน่นอนว่าศิลปะชั้นสูงเหล่านั้นอาจไม่ใช่รสนิยมของคนทั่วไป รวมถึงความสามารถในการครอบครองเข้าถึงได้ เป็นของสะสมที่ผลิตแบบแมสแหละ แต่ก็ไม่แมสมาก ซื้อได้แต่ไม่ง่าย มีมากแต่ไม่นาน

ความน่าสนใจอาร์ตทอยคือ พอถึงจุดหนึ่งประชากรที่เราเรียกหลวมๆ ว่าคนเจนฯ วายหรืออาจจะรวมคนยุคมิลเลนเนียล พวกชาวที่เกิดในยุค 1890s ที่โตมากับหนัง การ์ตูน และวัฒนธรรมป๊อป ไปจนถึงวัฒนธรรมสตรีท ถึงจุดหนึ่งคนเหล่านี้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีกำลังซื้อ บางคนมีบ้านเป็นของตัวเอง การสะสมของเพื่อทั้งประดับตกแต่งบ้าน ไปจนถึงเป็นวัตถุที่แสดงถึงรสนิยม ความฝันของเราในยุคหนึ่งซึ่งก็คือเหล่าอาร์ตทอย ของเล่นที่ไม่ได้มีไว้เล่น แต่มีไว้เก็บและมีความหมายบางอย่างต่อรสนิยมและความชอบเฉพาะของสังคมร่วมสมัย

Urban Vinyl และจุดเริ่มวงการ

ปัจจุบันอาร์ตทอยมีความหมายกว้างมาก โดยเฉพาะในแง่วัสดุและขนาด หมายถึงทุกวันนี้อาร์ตทอยมีความหลากหลายมาก อาจจะทำจากอะไรก็ได้ เป็นไม้ เป็นเรซิน เป็นพลาสติก บางส่วนเป็นผ้า จะผลิตมากน้อย ตัวใหญ่แค่ไหน ถ้าสะสมได้ก็ค่อนข้างเป็นอาร์ตทอยได้ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่เรามักพูดถึงคือการมาถึงของวัสดุประเภทไวนิลที่เข้ามาทำให้วงการสตรีทคัลเจอร์ขึ้นรูปงานศิลปะเป็นสามมิติและผลิตเป็นจำนวนมากขึ้นได้

งานอาร์ตทอยชุดแรกในความหมายของอาร์ตทอยสมัยใหม่มักชี้ไปที่ทศวรรษ 1990 เป็นยุคที่วัฒนธรรมสตรีทเช่นสเกตบอร์ด ศิลปะร่วมสมัยที่สัมพันธ์กับเมืองเช่นกราฟฟิตี้ เพลงฮิปฮอป ในช่วงนั้นเองที่ศิลปินทั้งในฮ่องกง ญี่ปุ่น และอเมริกาเริ่มผลิตสิ่งที่เรียกว่า urban vinyl ขึ้น คำว่า ‘urban’ ในที่นี้ก็คือประเด็นที่งานศิลปะร่วมสมัยพูดถึงคือวัฒนธรรมของเมือง คำว่า urban vinyl ค่อนข้างมีความหมายพ้องคือใช้สลับกับดีไซเนอร์ทอยได้

การเกิดขึ้นของอาร์ตทอยค่อนข้างสัมพันธ์กับการมาถึงของเทคโนโลยีพลาสติกและ PVC เจ้า urban vinyl สัมพันธ์กับนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการผลิตและขึ้นรูปพลาสติก เช่นของเล่นประเภท soft vinyl ที่ใช้นวัตกรรมการผลิตขึ้นรูปด้วยการเหวี่ยง (rotocasting) คือเป็นการขึ้นรูปแล้วใช้แรงเหวี่ยง นึกภาพของเล่นแบบเป็ดยางนิ่มที่กลวงตรงกลางหรือนวัตกรรมการขึ้นรูปด้วยการฉีดพลาสติก การผลิตเหล่านี้ได้ผลดีหลายประการคือได้ชิ้นงานที่ใช้พลาสติกน้อยลง มีความกลวงทำให้มีน้ำหนักเบา และแน่นอนผลิตได้หลายชิ้นมากขึ้น

ดังนั้นในช่วงนั้นเอง ศิลปินที่แต่เดิมงานแบบป๊อปทั้งหลายอาจจะเคยเป็นภาพวาด หรือการขึ้นวัสดุด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งทำให้ผลิตงานได้ครั้งละชิ้น งานศิลปะในยุคนั้นยังคงมีราคาสูงมากหลักหมื่นดอลลาร์ต่อชิ้น แต่ด้วยพลังของการขึ้นโมฯ และพลาสติก คราวนี้จากภาพสองมิติก็กลายเป็นของเล่นที่มีราคา 50-100 ดอลลาร์ ผลิตขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจง

ศิลปินเวฟแรกที่เรามักพูดถึง คนที่สื่อเรียกว่าเป็นบิดาของดีไซเนอร์ทอยคือ Michael Lau ศิลปินชาวญี่ปุ่นที่เดบิวต์ของเล่นไวนิลในฮ่องกง ซีรีส์อาร์ตทอยชุด Gardener ของหลิวถือเป็นจุดเริ่มของกระแสที่ศิลปินหันมาใช้วัสดุพลาสติกและผลิตของเล่นกึ่งแมส (คือผลิตเยอะแต่ไม่มาก) สำหรับงานของหลิวก็เป็นภาพของวัฒนธรรมสตรีท มีคาแร็กเตอร์ที่คล้ายกับวัยรุ่น แต่งตัวสไตล์ฮิปฮอปหรือสเกตบอร์ด บางส่วนมีการผสมผสานล้อไปกับศิลปะชั้นสูงเช่นงานแบบอิมเพรสชั่นนิสม์

ภาพรวมของอาร์ตทอยเวฟแรกช่วงต่อเนื่องเข้ายุคปี 2000 นอกจากหลูในฐานะผู้จุดกระแสในฮ่องกง ที่นิวยอร์กก็มี Ron English ญี่ปุ่นมี Takashi Murakami เจ้าของดอกไม้หน้ายิ้มสุดป๊อปที่ปัจจุบันจัดแสดงงานในพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย และที่สำคัญคือศิลปิน KAWS เจ้าของตากากบาทและเจ้าหนูนั่งหงอย

อาร์ตทอยยุคแรก ที่ยังไม่ค่อยแมสและแพงมาก 

อันที่จริงอาร์ตทอยก็มีพัฒนาการที่สัมพันธ์กับโลกทุนนิยมและการผลิตที่แมสขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราพูดถึงอาร์ตทอยหรือดีไซเนอร์ทอยยุคแรกซึ่งในยุคนั้นเป็นการผลิตของดีไซเนอร์เอง มีแฟนคลับเฉพาะและการแย่งซื้อในระดับวงในสุดๆ ถ้านับจากมุมมองคนทั่วไป และมองว่าอาร์ตทอยทุกวันนี้ที่ว่าแพงแล้ว อาร์ตทอยในยุคแรกเหมือนเป็นงานศิลปะสะสมกันในหมู่ผู้สนใจศิลปะร่วมสมัย เข้าถึงได้ยากและมีราคาสูงมากๆ ไม่ต่างกับงานศิลปะอื่นๆ 

หนึ่งในตัวอย่างหมุดหมายของวงการที่เราเองหรือผู้สนใจศิลปะป๊อปร่วมสมัยคือซีรีส์ Companion ของ KAWS ศิลปินกราฟฟิตี้ที่หันมาใช้ไวนิลขึ้นรูปเจ้าหนูตากากบาทที่กลายเป็นกระแสและเป็นหมุดหมายศิลปะร่วมสมัยไปทั่วโลก เจ้าหนูคอมพาเนียนเป็นตัวอย่างที่ค่อนช่างชัดเจนของอาร์ตทอยคือตัวมันเองล้อเลียนงานบันเทิงร่วมสมัย ตัวหน้าตาของมันคืออีกเวอร์ชั่นของมิกกี้เมาส์ และจุดเด่นของมันคือการเอาลักษณะของป๊อปคัลเจอร์ที่แมสๆ มาผสมผสาน เช่น ซิมป์สัน เอลโม่จากเซซามี่สตรีท พิน็อกคิโอ ไปจนถึงงานจากยุคก่อนหน้าเช่นประเด็นเรื่องสันติภาพ การต้านสงคราม ไปจนถึงพวกกราฟฟิตี้ที่พูดเรื่องความยากจนหรือไม่เท่าเทียม

เสน่ห์อย่างนึงของงานสตรีทและงานป๊อปอาร์ตคือ พวกมันกำลังล้อเลียนความเป็นศิลปะจากงานร่วมสมัย เช่นเอาภาพบันเทิงแมสๆ มาบิดและทำให้กลายเป็นชิ้นงานเฉพาะ ของเล่นขึ้นรูปเหล่านี้จึงมีสถานะเป็นศิลปะในตัว และตัวมันเองก็กำลังล้อเลียนทั้งความเป็นศิลปะที่เคยสูงส่งจากยุคก่อนหน้า ล้อเลียนไปจนถึงสิ่งที่เราเสพและสภาพสังคมร่วมสมัยของโลกทุนนิยมและชีวิตสมัยใหม่

ของเล่นในยุคปี 2000 ที่มี KAWS เป็นตัวอย่าง ในยุคนั้นถึงจะบอกว่าแมส แต่ก็นับว่าแพง เป็นของสะสมของเจ้าพ่อวงการสตรีท ของนักร้องคนดัง ตัวอย่างของ KAWS คือในปี 2017 ทาง Museum of Modern Art  หรือ MoMA จำหน่ายซีรีส์ Companion ความสูงขนาด 11 นิ้วในราคา 200 ดอลลาร์ต่อชิ้น ในตอนนั้นฟิกเกอร์หรืออาร์ตทอยราคาเกือบหมื่นนี้ขายดีจนเว็บล่มไปเลย ซึ่งราคาตอนนั้นนับว่าสูง แต่พอซื้อได้ ถ้าเรามองว่ามันคืองานศิลปะ ในขณะเดียวกันก็เป็นการผลิตที่มีจำกัด 

อันที่จริงราคาเปิดของดีไซเนอร์ทอยทั้งหลายไม่ใช่ปัญหา การได้มาจากการผลิตจำนวนจำกัดทำให้เกิดปรากฏการณ์ resell เรียกได้ว่าผลงานเหล่านี้ถ้าได้มาแล้วมักจะมีราคาพุ่งขึ้น บางชิ้นพุ่งขึ้นอย่างน่าตกใจจนเกิดการเก็งกำไรไปจนถึงเกิดปรากฏการณ์จ้างต่อคิวเพื่อให้ได้ของที่ต้องการมา เจ้าคอมพาเนียนเองก็มีการประมูลที่ขนาด 4 ฟุต ถูกประมูลใหม่ในราคา 150,000 ดอลลาร์ หรืองานระดับศิลปะไฟเบอร์กลาสรุ่น Clean Slate ปี 2014 มี 3 ตัวบนโลก ที่ประมูลทะลุราคาคาดการณ์ 1 ล้านดอลลาร์ ไปที่ 1.9 ล้านดอลลาร์

ความเคลื่อนไหวของวงการอาร์ตทอยก็ค่อยๆ ขยายตัวจากศิลปินสตรีทไปสู่กลุ่มนักออกแบบและผู้ผลิตอื่นๆ ในช่วงนี้เองที่เริ่มเกิดมาตรฐานหรือรูปแบบของอาร์ตทอยขึ้นเช่นการออกของเล่นชื่อ Qee Series จากผู้ผลิต Toy2R ที่ผลิตของเล่นในสเกลต่าง จากขนาด 2 นิ้วไปจนถึง 8 และ 16 นิ้ว แต่ขนาด 2 นิ้วเป็นขนาดหลัก มีการออกแบบที่ใช้ตัวของคาแร็กเตอร์ที่เหมือนกันและเปลี่ยนหัวไปเป็นสัตว์หรือรูปแบบต่างๆ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งสไตล์การผลิตของอาร์ตทอย

ในยุคใกล้ๆ กันคือในปี 2001 ก็เกิดอาร์ตทอยสำคัญคือเจ้าหมีแบร์บริก หมีโล่งๆ ที่ชอบไปคอลแล็บกับป๊อปคัลเจอร์หรือแบรนด์ต่างๆ แบร์บริกทำให้เกิดมาตรฐานไซส์ของอาร์ตทอยที่ชาวอาร์ตทอยเรียกว่าเป็นขนาด 100% คือราว 7 เซนติเมตร และมีมาตรวัดที่สัมพันธ์กับขนาดมาตรฐานไม่ว่าจะเป็น 50% คือ 4 เซนติเมตร หรือ 400% คือ 28 เซนติเมตร และไซส์ยักษ์คือ 1,000% คือราว 70 เซนติเมตร ความสัมพัทธ์ของขนาดกลายเป็นอีกหนึ่งรายละเอียดย่อยของการเก็บสะสม เช่นขนาดใหญ่พิเศษที่ 200-1,000% อาจเป็นการผลิตรุ่นพิเศษที่มีขนาดใหญ่ มีราคาสูงขึ้น ระยะหลังขนาด 100% ค่อนข้างกลายเป็นขนาดอ้างอิงกับของกล่องสุ่ม (blind box)

ยุคสมัยของมอลลี่ ดีมู และกล่องสุ่ม อาณาจักร POP MART

เราก้าวมาถึงยุคสมัยที่อาร์ตทอยสามารถกดจากตู้ได้ ของเล่นประเภทกล่องสุ่มเป็นสิ่งที่หลายคนเคยกดเล่น การเกิดขึ้นและความแพร่หลายของอาร์ตทอย คงต้องพูดถึงการเกิดขึ้นของผู้ผลิตและตลาดจีน หนึ่งในพื้นที่บริโภคขนาดยักษ์ในกระแสอาร์ตทอยในปัจจุบัน คือการมาถึงของผู้ผลิตสำคัญคือ POP MART ผู้ผลิตที่ทั้งเปิดตลาดจีน พานักออกแบบและวัฒนธรรมเอเชียไปในระดับโลกได้

ก่อนจะเข้าไปสู่ดินแดนของ POP MART จุดแข็งของ POP MART คือการขายอาร์ตประเภทกล่องสุ่มหรือ Blind Box อันที่จริงกล่องสุ่มหรือถุงสุ่มมีที่มาหลากหลายเช่นกิจกรรมถุงสุ่มของญี่ปุ่นที่มักขายช่วงเทศกาล หรือจริงๆ ของเล่นที่มากับขนมเช่นพวกขนมไข่ช็อกโกแลตคินเดอร์ ไปจนถึงการหมุนกาชาปองก็เป็นการขายโดยมีการสุ่มเป็นจุดขาย

แต่วัฒนธรรมการสุ่มในวงการอาร์ตทอยมีจุดแข็งที่ต่างออกไป อย่างแรกคือความเป็นคอลเลกชั่น และจุดขายที่สำคัญมากที่ยกระดับของเล่นในกล่องสุ่มคือคุณภาพของตัวของเล่น ของเล่นในกล่องสุ่มในนามของอาร์ตทอยหรือดีไซเนอร์ทอยมักมีจุดแข็งที่การผลิตด้วยงานคุณภาพประณีต การแข่งขันที่ความน่ารัก ความสร้างสรรค์ของคอลเลกชั่นต่างๆ ไปจนถึงการเล่าเรื่องราวในงานออกแบบชุดนั้นๆ และระยะหลังเราจะเริ่มเห็นการใส่ลูกเล่นมาในการผลิต การปรับวัสดุที่มีการผสมผสานวัสดุและเทคนิคการผลิตที่ทำให้ชิ้นงานนั้นน่าตื่นเต้นมากขึ้น นอกจากความสวยแล้ว ความสนุกจากการสุ่มเองก็ยังเป็นหัวใจสำคัญหนึ่ง รวมถึงธรรมเนียมการมีตัวหายากที่ทำให้การแทงหวยยิ่งสนุกยิ่งขึ้นไปอีก

ตรงนี้เองที่แบรนด์ของเล่นสำคัญคือ POP MART ผงาดขึ้นมาในฐานะผู้ผลิตและแบรนด์ระดับโลก รวมถึงเป็นการตลาดของจีนด้วย POP MART ถือเป็นแบรนด์ดีไซเนอร์ทอยที่ทำให้ดีไซเนอร์ทอยแมสขึ้นผ่านมาตรฐานการผลิตที่ค่อนข้างสูง ในราคาของกล่องสุ่มทั้งหลายเข้าถึงได้ หมุดหมายสำคัญของตลาดของ POP MART คือการเปิดตัวคอลเลกชั่นมอลลี่ในปี 2016 ปีนั้นเองที่วงการอาร์ตทอยของจีนเริ่มกระแสบริโภคอาร์ตทอยขึ้นอย่างเป็นทางการ

ความน่าสนใจของ POP MART คือ นอกจากคุณภาพสินค้าแล้ว POP MART ทำงานร่วมทั้งป๊อปคัลเลอร์ของแฟรนไชส์ทั้งงานจากตะวันตก เช่น มินเนี่ยน แฮร์รี่ พ็อตเตอร์ หรือแฟรนไชส์จากอนิเมะร่วมสมัยต่างๆ ที่สำคัญคืองานอาร์ตทอยในปัจจุบันค่อนข้างสัมพันธ์กับการออกแบบคาแร็กเตอร์ POP MART ค่อนข้างมีการทำงานกับศิลปินที่เป็นศิลปินเจ้าเล็กจากหลายพื้นที่ของเอเชีย เช่น ดัคคู (Duckoo) จากเกาหลีใต้, ดีมู (Dimoo) หรือเจ้าหมูลูลู่ (LuLu The Piggy) จากจีนแผ่นดินใหญ่ มอลลี่ (Molly) จากฮ่องกง มอนสเตอร์หรือเจ้าลาบูบู้ของ Kasing Lung ศิลปินฮ่องกงที่เติบโตในยุโรป และล่าสุดคือการทำงานร่วมกับศิลปินไทยคือ Crybaby อีกหนึ่งกระแสที่กำลังถูกส่งออกไปทั่วโลกผ่านร้าน POP MART

POP MART ดังขนาดไหน POP MART ถือเป็นอีกหนึ่งซูเปอร์สตาร์ สาขาแรกของ POP MART เปิดตัวในปี 2010 ในปี 2014 เริ่มขายกล่องสุ่มโดยมีต้นแบบมาจากกาชาปองของญี่ปุ่น และหมุดหมายสำคัญคือการร่วมงานและเปิดตัวมอลลี่ในปี 2016 ในปีนั้นยอดขายของ POP MART ทะยานขึ้นสู่ 22 ล้านดอลลาร์ ในปี 2017 และพุ่งสู่ระดับ 73 ล้านดอลลาร์ ในปี 2018 ทุกวันนี้ POP MART มีร้านสาขากว่า 200 สาขา และเปิดสาขาหมุดหมายในเมืองแห่งศิลปะร่วมสมัยได้ตั้งแต่ลอนดอน และที่สำคัญคือปารีส สำหรับแถบบ้านเราก็มีท่ีสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง และล่าสุดข่าวว่าราชากล่องสุ่มก็พร้อมจะมาทำให้ล้มละลายที่สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ที่กำลังจะเปิดเร็วๆ นี้

POP MART เข้าตลาดหุ้นในปี 2020 รายงานการเงินฉบับแรกมีรายได้ ‘2,500 ล้านหยวน’ อัตราการเติบโต 49% กำไร 63% ในแง่ของตลาดจีน ตัวเลขของตลาดของสะสมมีตัวเลขที่สัมพันธ์กับการทะยานขึ้นของ POP MART ในช่วงปี 2016 คือในปี 2015 ขนาดตลาดของเล่นของสะสมจีนมีขนาด 900 ล้านดอลลาร์ แต่ในปี 2019 ตัวเลขของตลาดของเล่นของสะสมขยายตัวไปเป็น 3,000 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะขยายเป็น 7,000 ล้าน และ 10,000 ล้านในปี 2024 นับเป็นหนึ่งในตลาดความต้องการใหม่ที่เป็นที่จับตา 

ในบางรายงานระบุว่าตลาดของเล่นเป็นตลาดที่เติบโตสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักลงในช่วงโรคระบาดแต่ก็สัมพันธ์กัน คือผู้ซื้อใช้เวลาอยู่กับบ้านจึงต้องการความบันเทิงใหม่ๆ นอกจากนี้ถ้าเราดูความเชี่ยวชาญของวงการอาร์ตทอย วงการนี้มีความเชี่ยวชาญและเชื่อมโยงกับผู้ซื้อผ่านระบบออนไลน์และการส่งของถึงบ้านเป็นสำคัญด้วย

วงการอาร์ตทอยหรือดีไซเนอร์ทอยเป็นกระแสการบริโภคที่ค่อนข้างกว้าง สัมพันธ์กับปรากฏการณ์ทางสังคม นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีหลายพื้นที่ของวงการของเล่นของสะสมเช่นวงการโมเดลฟิกเกอร์ สำหรับบ้านเราเองก็มีบริบทที่น่าสนใจเช่นการเกิดขึ้นของกระแสน้องควาย จากนักออกแบบ Coarse ที่ทำงานร่วมกับแบรนด์ร้านขายของเล่นจนเกิดเป็นกระแสและกลายเป็นงานอาร์ตทอยประจำปีที่รวมทั้งนักออกแบบไทยและต่างชาติเข้ามาไว้กลายเป็นหนึ่งในสุดยอดมหกรรมระดับนานาชาติ

นอกจากนี้อาร์ตทอยไทยยังมีกระแสที่น่าสนใจคือการเชื่อมโยงกับวงการความเชื่อ พื้นที่เช่นวัตถุมงคลหรือรูปลักษณ์ที่สัมพันธ์กับบริบทเฉพาะทางวัฒนธรรมเช่นพระพิฆเนศก็ได้รับการปรับเปลี่ยนรูปโฉมให้เข้าสมัยและเข้ากับรสนิยมของคนรุ่นใหม่ เช่น คชาปติ งานของ Kaiju Smuggler ที่เน้นผสานวัฒนธรรมไทยให้ดูป๊อปขึ้น ที่ออกพระพิฆเนศฉบับลดทอนที่เรียบง่ายแต่ก็ซับซ้อนด้วยรูปทรงที่แปลกตา ไปจนถึงงานลูกผสมเซรามิกของ WK.studio งานสะสมกระแสใหม่ที่เป็นทั้งของสะสมผสมผสานกับการให้คุณทางใจ เป็นหิ้งพระแบบใหม่ที่ทั้งสวยงามและสืบทอดองค์ประกอบของบ้านแบบไทยๆ 

วงการอาร์ตทอยเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่อันที่จริงบ้านเราเองก็เป็นหนึ่งในกระแสสำคัญของวงการร่วมสมัยทั้งการเป็นฮับผู้ผลิตและผู้บริโภค ไปจนถึงการที่ศิลปินไทยเริ่มนำเอาวัฒนธรรมไทยปรับไปสู่สินค้าที่มีหน้าตาร่วมสมัย จากป๊อปคัลเจอร์ ถึง POP MART เรื่อยมาจนถึงของสะสมสายมู ความสนุกของการสุ่ม และความพิเศษของการบริโภคในความหมายที่มีความซับซ้อน 

ในแง่ของอาร์ตทอยนับเป็นอีกหนึ่งการบริโภคที่มีความเฉพาะ คือการได้มาที่เต็มไปด้วยราคาไม่ว่าจะเป็นเงิน เวลา ความรู้เฉพาะ เช่นรู้ว่าจะมีงานนี้ ไปจนถึงการมีดวงที่จะได้ของนั้นๆ มา วงการอาร์ตทอยค่อนข้างเป็นความหรูหราที่เงียบงัน หมายถึงการที่เรารู้ว่าเจ้าของพลาสติกหน้าตาธรรมดา หลายตัวมีมูลค่าอย่างน้อยหลักหมื่นบาท บางตัวมีราคาหลักแสน

อ้างอิงข้อมูลจาก

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

กราฟฟิกที่พยายาม ประคองสติ เพื่อค้นหาสไตล์

You Might Also Like