นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

คนพิเศษ

Artstory by Autistic Thai แบรนด์จากลายเส้นของเด็กพิเศษที่คอลแล็บกับแบรนด์และศิลปินชื่อดัง

ท่ามกลางสีสันและเส้นสายที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์และจินตนาการ เรากำลังยืนชมภาพศิลปะและสินค้าในแกลเลอรีของมูลนิธิออทิสติกไทยที่ซึ่งผลงานแต่ละชิ้นล้วนสร้างสรรค์ด้วยเทคนิคพิเศษและลายเส้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวและอารมณ์ของคนพิเศษ

หากวันนี้เดินเข้ามาเยี่ยมชมผลงานของน้องๆ ที่แกลเลอรีจะพบกับภาพดอกไม้ที่รังสรรค์จากเส้นด้ายจุ่มสีของน้องกวิน ทิวทัศน์ธรรมชาติอันงดงามของน้องเกม มอนสเตอร์ในจินตนาการของน้องทิวและออกัส พระพุทธเจ้าภายใต้ลายเส้นแบบแอ็บสแตรกต์ของพี่เอเอ คาแร็กเตอร์สีสดใสที่สะท้อนอารมณ์ของน้องกานต์ และภาพวาดที่ได้แรงบันดาลใจจากนักรบในการ์ตูนของน้องเม่น

ยังไม่นับรวมโซนสินค้าไลฟ์สไตล์ทั้งเสื้อยืด กระติกน้ำ หมอน ผ้าห่ม ฯลฯ ในลวดลายน่ารักน่าใช้ที่น่าซื้อเป็นของที่ระลึกหรือเป็นของฝากกลับบ้านเพื่อเติมแรงบันดาลใจ ทั้งหมดนี้คือบทพิสูจน์ว่าศิลปะไม่ใช่เพียงการสร้างสรรค์ หากแต่เป็นอิสระในการแสดงออกที่ไร้กรอบของศิลปินออทิสติก

พี–วรัท จันทยานนท์ CEO แบรนด์ Artstory by Autistic Thai เป็นผู้ริเริ่มนำศิลปะของคนพิเศษมาต่อยอดเป็นแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์จนผลงานของน้องๆ สามารถเพิ่มมูลค่าได้  โดยไม่ได้หยุดอยู่แค่การเป็นสินค้าที่ระลึกของมูลนิธิเพื่อสังคม แต่ยังได้ร่วมคอลแล็บกับแบรนด์ต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้สังคมได้มองเห็นพรสวรรค์ที่ซ่อนอยู่ 

เบื้องหลังการสร้างแบรนด์ Artstory ไม่ใช่แค่การสร้างธุรกิจ แต่ยังเป็นเรื่องราวการพัฒนาและสร้างอาชีพให้กับบุคคลออทิสติกที่ไม่อยากให้ความเท่าเทียมในสังคมเป็นเพียงภาพฝันในจินตนาการ

Foundation For My Son 

อาจารย์ชูศักดิ์ จันทยานนท์ คุณพ่อของพี เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิออทิสติกไทย ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการรวมตัวของกลุ่มผู้ปกครองที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ และค่อยๆ ขยายผลการรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้ด้านความเท่าเทียมให้สังคมตั้งแต่วันที่ประเทศไทยยังไม่มีใครรู้จักคำว่า ‘ออทิสติก’

“ตอนที่พ่อเริ่มทำมูลนิธิ พ่อไม่ได้มีความรู้ด้านนี้เลยด้วยซ้ำ เพราะเรียนมาทางกฎหมาย ทำงานบริษัท สอนหนังสือ และเขียนหนังสือขาย แต่เมื่อรู้ว่าพี่ชายของผมเป็นออทิสติก พ่อก็พบว่าการส่งพี่ชายไปเรียนในโรงเรียนทั่วไปทำให้เขาถูกกลั่นแกล้งอย่างหนัก สิ่งนี้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้พ่ออยากลุกขึ้นมาขับเคลื่อนอะไรบางอย่าง สุดท้ายเขาก็เลือกที่จะละทิ้งทุกอย่างเพื่อมุ่งทำงานด้านเด็กพิเศษโดยเฉพาะ”

นอกจากบทบาทในมูลนิธิออทิสติกไทยที่ขับเคลื่อนงานด้านสังคม พียังเล่าว่าคุณพ่อของเขามีบทบาทสำคัญในความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน รวมถึงการเป็นวิทยากรที่เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับภาวะออทิสติก ซึ่งหลายครั้งอาจารย์ชูศักดิ์ก็มุ่งทำโดยไม่หวังผลตอบแทน เพียงเพราะต้องการให้สังคมเปิดรับและเข้าใจเด็กพิเศษมากขึ้น

หนึ่งในกิจกรรมที่มูลนิธิดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปีตั้งแต่พียังเด็กคือศิลปะบำบัด กิจกรรมที่มุ่งค้นหาสิ่งที่สามารถพัฒนาศักยภาพและช่วยให้เด็กเหล่านี้มีสมาธิมากขึ้น โดยมีครูศิลปะที่มีประสบการณ์ เช่น ครูพิงก์–เพียงกาญจน์ สุวรรณปัทม์ ซึ่งสอนศิลปะเด็กพิเศษที่มูลนิธิมากว่า 20 ปี เป็นผู้นำทางให้เด็กๆ ได้ค้นพบศักยภาพของตนเองผ่านงานศิลป์

จากมูลนิธิที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อพี่ชาย พีจึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะต่อยอดแนวคิดนี้สู่แบรนด์ Artstory by Autistic Thai โดยดึงเอาเอกลักษณ์ของลายเส้นที่เด็กๆ วาดขึ้นมาเป็นหัวใจสำคัญของแบรนด์

“ตัวผมเองชอบดูงานศิลปะแต่ผมวาดรูปไม่เป็น แค่ชอบดูและชอบซื้อ แล้วพอเรามาเห็นในห้องศิลปะของมูลนิธิ ก็พบว่าเด็กๆ ทำอะไรได้หลายอย่างมาก รู้สึกว่างานมันเจ๋งมากเลยนะแต่คนทั่วไปจะไม่ได้เห็นเลยถ้าไม่ได้มาที่มูลนิธิ

“ผมเห็นลายเส้นของน้องๆ มาเยอะมาก บางคนวาดทุกอย่างออกมาหน้าตาเหมือนกันเป๊ะ บางคนวาดแล้วมีบางอย่างซ่อนอยู่ในภาพตลอด ซึ่งคือเอกลักษณ์และคาแร็กเตอร์ของเขา พวกนี้คือเสน่ห์ที่เราดึงออกมาเพื่อเอาไปต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้ มันก็ค่อยๆ เกิดเป็นไอเดียทำแบรนด์ขึ้นมา”

ในช่วงเริ่มต้น ดรีมทีมศิลปินออทิสติกของแบรนด์มีเพียง 7 คน ก่อนขยับขยายเพิ่มขึ้นจนปัจจุบันมีศิลปินประจำราว 30-40 คน ซึ่งมาจากกลุ่มเด็กและเยาวชนในมูลนิธิที่หมุนเวียนกันเข้ามาจากทั่วประเทศหลายร้อยคน

“เราไม่เคยบังคับเด็กๆ ให้เข้ามาร่วมงาน แต่เมื่อศิลปิน 7 คนแรกมีผลงานออกมาอย่างเป็นรูปธรรม เด็กคนอื่นก็เริ่มสนใจและอยากมีส่วนร่วมมากขึ้น ช่วงแรกๆ ก็จะเจอความท้าทายเรื่องนี้แหละว่าเราตั้งใจทำมากแต่คนไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ไม่ใช่เพราะจากน้องๆ แต่อยู่ที่ผู้ปกครองด้วย บางครั้งเด็กๆ อยากเข้าร่วม แต่ครอบครัวไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าการทำงานศิลปะอาจไม่ใช่เส้นทางอาชีพที่มั่นคง อยากให้ลูกไปทำงานออฟฟิศมากกว่า

“แต่เราต้องพิจารณาความเป็นจริงว่างานแบบไหนที่เหมาะกับน้องๆ และเราก็เห็นว่าเด็กออทิสติกมีความสามารถทางศิลปะสูงมาก เราจึงใช้วิธีการทำให้คนทั่วไปเห็นก่อนว่า ผลงานเหล่านี้ต่อยอดได้จริง เพราะหลายคนอาจไม่เข้าใจว่าการทำงานศิลปะจะนำไปสู่อะไรได้บ้าง เขายังมองไม่เห็นภาพ แต่เมื่อเริ่มมีผลงานที่จับต้องได้ ทุกวันนี้ผู้ปกครองหลายคนเริ่มเปิดใจและสนับสนุนมากขึ้น”

คอลเลกชั่นพิเศษจากพรสวรรค์   

หลายคนคุ้นชินกับสินค้าของมูลนิธิเพื่อสังคมในรูปแบบของที่ระลึกเรียบง่าย เช่น สมุด ปากกา กระเป๋าผ้า หรือเสื้อยืด สำหรับ Artstory by Autistic Thai เอง จุดเริ่มต้นของแบรนด์ก็มาจากการจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์หมวดเบสิกอย่างเสื้อและหมวกเช่นกัน ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงมีคอลเลกชั่นใหม่อย่างต่อเนื่อง

แต่สิ่งที่น่าทึ่งเป็นพิเศษของแบรนด์ Artstory คือการนำลายเส้นของเด็กๆ โลดแล่นไปไกลกว่าสินค้าเพื่อสังคมทั่วไปและสามารถสร้างแบรนด์จนคอลแล็บกับแบรนด์พรีเมียมต่างวงการมากมาย ซึ่งทำให้ลายเส้นเหนือจินตนาการของศิลปินคนพิเศษได้โลดแล่นไปอยู่ในที่ไม่คาดคิดอย่างแพ็กเกจขนมไหว้พระจันทร์ของโรงแรม Kimpton Maa-Lai Bangkok ที่มีกิมมิกสามารถเปลี่ยนเป็นโคมไฟสำหรับตกแต่งบ้านได้ สร้างสรรค์ลวดลายโดยน้องมิกซ์–อนุสรณ์ ถุนารินทร์

หรือชุดน้ำชายามบ่ายแห่งการให้ ‘The Art of Giving Afternoon Tea’ ที่ออกแบบโดยน้องบิ๊ก–นิธิทรัพย์ สิรินานากุล ที่ตั้งใจถ่ายทอดความพิเศษของบุคคลออทิสติกผ่านลวดลายบนชุดน้ำชาและขนมที่จัดเสิร์ฟสำหรับโรงแรม 137 Pillars Suites & Residences Bangkok

หากกล่าวว่าศิลปะเป็นภาษาสากลที่ทุกคนเข้าถึงได้ก็คงไม่เกินจริงนัก เพราะ Artstory คือตัวอย่างที่พิสูจน์ว่าพรสวรรค์ของศิลปินออทิสติกสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดและสร้างสรรค์ผลงานที่เข้าไปอยู่ในหลากหลายวงการ ตั้งแต่ธุรกิจเทคโนโลยีระดับโลกไปจนถึงแวดวงบันเทิง

ตั้งแต่ภาพวาดที่ถูกมอบเป็นของขวัญให้แก่คุณสัตยา นาเดลลา CEO ของไมโครซอฟท์ในโอกาสที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย ลวดลายที่เพนต์ลงบนชุดราตรีของนิโคลีน พิชาภา ตัวแทนประเทศไทยในการประกวดมิสเวิลด์ 2018 ซึ่งมีน้องชายเป็นออทิสติก การร่วมงานกับศิลปินอาร์ตทอยชื่อดัง MR.KREME (แอนดี้–วรกันต์ จงธนพิพัฒน์) ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ 

ยังรวมไปถึงการออกแบบของที่ระลึกสำหรับผู้นำประเทศในงาน ASEAN Summit ปี 2019 การสร้างภาพประกอบสำหรับคอนเสิร์ต ‘ตัน Fight ตัน VARIETY CONCERT’ ของศิลปิน ป๊อบ ปองกูล และโอ๊ต ปราโมทย์ ไปจนถึงการเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบตัวละครหลักในซีรีส์ Good Doctor ที่นำเสนอเรื่องราวของแพทย์อัจฉริยะที่เป็นออทิสติก

ลายเส้นของเด็กๆ ภายใต้แบรนด์ Artstory ยังถูกนำไปออกแบบสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่ของที่ระลึกสำหรับคาเฟ่ Amazon, แบ็กดร็อปในงานหนังสือของสำนักพิมพ์ยิปซี ของชำร่วยที่ระลึกขององค์กรต่างๆ สำหรับโอกาสสำคัญ ไปจนถึงคอลเลกชั่นลิมิเต็ดของแบรนด์ต่างประเทศ เช่น BOLDR แบรนด์นาฬิกาจากสิงคโปร์คอลเลกชั่นลายปลาคาร์ปและช้างที่มีจำนวนจำกัดเพียง 99 เรือนต่อปี

เมื่อถามพีว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ Artstory เติบโตและได้รับโอกาสคอลแล็บร่วมกับแบรนด์มากมายขนาดนี้ พีอธิบายว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่ยังไม่ค่อยมีมูลนิธิเพื่อสังคมที่ดำเนินธุรกิจแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์อย่างจริงจัง ทำให้เกิดการบอกต่อและขยายโอกาสอย่างต่อเนื่อง

“มันเป็นเรื่องของการบอกปากต่อปากที่ทำให้คนรู้จักเรา ทุกครั้งที่เราสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ขึ้นมา มันมีคุณค่าอย่างมาก ไม่ใช่แค่ตัวสินค้า แต่ยังรวมถึงเรื่องราวเบื้องหลังและกระบวนการที่ช่วยพัฒนาศิลปินออทิสติก ทุกชิ้นงานของเราสะท้อนความคิดของน้องๆ และยังคำนึงถึงฟังก์ชั่นการใช้งานในชีวิตประจำวัน

“แต่เวลาที่แบรนด์หรือองค์กรต่างๆ ติดต่อมาเพื่อสนับสนุน เรามักจะอธิบายให้พวกเขาเข้าใจว่า Artstory ไม่ได้ต้องการให้คนซื้อเพราะความสงสาร สิ่งที่เราต้องการสื่อสารจริงๆ คือ ศักยภาพและพรสวรรค์ของศิลปินออทิสติก ซึ่งสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะที่สวยงามและเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าประทับใจ

โมเดลธุรกิจเพื่อความเท่าเทียม

รายได้หลักของแบรนด์ Artstory มาจากการจำหน่ายสินค้าและขายลิขสิทธิ์ลายเส้นของศิลปินออทิสติกในการทำสินค้ารุ่นพิเศษร่วมกับองค์กรและแบรนด์ต่างๆ โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม B2B ซึ่งคนพิเศษอย่างศิลปินเจ้าของลายเส้นก็ได้รับรายได้พิเศษเพิ่มเติมด้วย เช่น สปอนเซอร์จากบริษัทที่อยากสนับสนุนประเด็นด้านความเท่าเทียม

“เราให้ความเท่าเทียมกับน้องๆ เพิ่มขึ้นไปอีก โดยทุกครั้งที่ขายสินค้าภาพวาดได้ มีคนมาเลือกน้องๆ ให้ไปทำงานดีไซน์จากผลงานศิลปะ หรือแม้แต่เวลาขายลิขสิทธิ์ เราก็จะแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้น้องๆ เพิ่มด้วย นอกจากน้องๆ ทุกคนจะได้รายได้ประจำทุกเดือนกันอยู่แล้ว ก็ยังได้เงินท็อปอัพเสริมไปอีกด้วย และเรายังมีการกระจายรายได้เพื่อให้ทุกคนได้รายได้เพิ่มอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่บางคนมีงานเยอะแล้วงานมาอัดอยู่แค่ที่คนนี้ โมเดลตรงนี้ก็ทำให้บริษัทเราอยู่ได้ จนตอนนี้เราดูแลทั้งมูลนิธิได้ด้วย” 

พีเล่าต่อว่าลูกค้าทั่วไปสามารถซื้อสินค้าของแบรนด์ได้ที่หน้าร้าน Artstory Store ที่ศูนย์อาชีพออทิสติกไทยและมูลนิธิออทิสติกไทย รวมถึงตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ อย่าง Icon Siam, Siam Discovery และช่องทางออนไลน์ทางมาร์เก็ตเพลส โดยในส่วนของราคาผลงานศิลปะมีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น แถมแบรนด์ยังเคยคิดรูปแบบการขายสุดสร้างสรรค์คือเปิดประมูลผลงานศิลปะของน้องๆ ในกรุ๊ปเฟซบุ๊กเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลงาน 

ที่ผ่านมากลยุทธ์การตลาดของ Artstory ประสบความสำเร็จอย่างมากในฝั่งลูกค้า B2B แต่พีก็อยากปรับทิศทางธุรกิจมาสร้างความตระหนักรู้ในวงกว้างมากขึ้น 

“ตอนนี้เราขายให้ลูกค้า B2B ราว 60-70% แต่ก็อยากให้แบรนด์ได้เฉิดฉายในฝั่งกลุ่ม B2C เพิ่มมากขึ้น อยากให้คนทั่วไปได้เห็นผลงานน้องๆ เพิ่มขึ้น และได้รับรู้ถึงความตั้งใจที่น้องๆ ดีไซน์งานออกมา อยากทำให้โปรดักต์เราไปอยู่ในชีวิตเขา” 

ไอเดียการจัดอีเวนต์เพื่อเล่าเรื่องราวโลกของคนพิเศษให้ใกล้ตัวคนทั่วไปจึงผุดขึ้นมาเพื่อหวังให้เรื่องราวความพิเศษกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน โดยปีนี้จัดเป็นงานเฟสติวัลในวันที่ 5-6 เมษายน 2568 ที่มิวเซียมสยาม ซึ่งเป็นการฉลองวันออทิสติกโลกประจำเดือนเมษายนของทุกปี 

“เดิมทีปีก่อนๆ เราจะจัดอีเวนต์เป็นงานภายในแค่ที่มูลนิธิหรือโรงแรม ไม่ค่อยมีคนเห็น แต่ว่าปีนี้เราอยากลองจัดให้คนทั่วไปได้เข้ามาร่วมงานด้วย ภายในงานก็จะมีกิจกรรมหลากหลายมากเลย น้องๆ ศิลปินออทิสติกมาจัดเวิร์กช็อปสอนศิลปะให้แบบฟรีๆ“

นอกจากนั้นยังมีร้านอาหารจากเครือข่ายของเด็กๆ และแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่เป็นของดีจากต่างจังหวัดมาออกบูท มีมินิคอนเสิร์ตและเวทีทอล์กที่ไม่ได้ให้ความรู้ทั่วไปแค่ว่าออทิสติกคืออะไร แต่เนื้อหาจะลงลึกไปมากกว่านั้นถึงมุมว่า บุคคลที่เป็นออทิสติกสามารถทำอาชีพอะไร จะทำงานร่วมกับคนอื่นยังไง และทำอะไรได้บ้าง

Life-Changing Story

สำหรับพีแล้ว ความภาคภูมิใจที่ยิ่งใหญ่กว่าผลกำไรของธุรกิจ คือการได้เห็นพัฒนาการของเด็กๆ ควบคู่ไปกับการเติบโตของแบรนด์ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคในบางช่วงก็ตาม

“ความท้าทายในการทำงานกับน้องๆ คือการรับมือกับภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เราต้องอ่านจังหวะของเขาให้ออก วิเคราะห์ให้ได้ว่าวันนี้เขาอยู่ในสภาวะไหน และต้องปรับการทำงานยังไงให้เหมาะสม”

พีอธิบาย ก่อนจะเล่าต่อว่า “เริ่มแรกบางคนนั่งอยู่ที่โต๊ะได้แทบไม่นานเลย ที่เห็นทุกคนตอนนี้คือนิ่งมากนะ ถ้าไม่ได้รับการฝึกส่วนมากน้องๆ จะอยู่ไม่นิ่งเลย แต่พอฝึกมาดีแล้ว เวลาออกไปทำงานกิจกรรมข้างนอก เด็กของเราจะรู้ตัวเลยว่านี่คืองาน เพราะเราฝึกเรื่องการเข้าสังคม และเวลาเราเห็นจุดเด่นของน้องคนไหน เราไม่ทิ้ง แต่จะเก็บจุดเด่นเขาเอาไว้และเสริมทักษะด้านอื่นให้กับเขาด้วย”

หนึ่งในตัวอย่างของพัฒนาการที่เห็นได้ชัดคือ ‘น้องไอซ์ซี่’ ซึ่งมีโอกาสไปดูงานที่ TRR Group (กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง) น้องได้เข้าไปชมการทำงานของโรงงานและบริษัท แล้วนำสิ่งที่เห็นมาถ่ายทอดเป็นภาพวาด ไอซ์ซี่ยังได้มีส่วนร่วมจัดเวิร์กช็อปศิลปะให้พนักงานในองค์กร ซึ่งช่วยให้พนักงานทุกวัยได้สนุกกับศิลปะ และตัวเขาเองก็มีพัฒนาการด้านการสื่อสารมากขึ้น

‘น้องกานต์’ เป็นอีกตัวอย่างที่น่าประทับใจ จากเด็กที่เคยวาดแต่รูปรถกับสโนไวท์ซ้ำๆ ครั้งละสิบภาพในเวลาไม่ถึง 10 นาที เมื่อได้รับคำแนะนำให้ค่อยๆ วาดอย่างมีสมาธิมากขึ้น ผลงานของกานต์ก็เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เขาเริ่มใส่รายละเอียด สีสัน และมิติเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพของเขามีชีวิตชีวาและหลากหลายมากขึ้น

ส่วน ‘พี่เอเอ’ ศิลปินวัย 30 กว่าปีที่มีรูปร่างสูงถึง 190 ซม. มีลายเส้นเป็นเอกลักษณ์จากการที่มือค่อนข้างแข็ง ทำให้ทุกอย่างที่วาดมีโครงสร้างเป็นสี่เหลี่ยม รวมถึงการเขียนตัวหนังสือขนาดใหญ่ พีมองว่านี่ไม่ใช่ข้อบกพร่อง แต่กลับเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ผลงานของพี่เอเอมีเสน่ห์เฉพาะตัว

ประสบการณ์ที่ได้สัมผัสโลกของคนพิเศษทำให้พีเชื่อว่าโลกของธุรกิจสามารถขนานไปกับโลกของคนพิเศษได้อย่างลงตัว “การที่น้องๆ ได้ไปเห็นการทำงานจริง ได้เรียนรู้ว่าคนอื่นทำยังไง และเข้าใจว่าตัวเองต้องพัฒนาไปถึงจุดไหน นี่คือสิ่งที่เราคิดว่าน่าสนใจมาก

“แล้วน้องๆ ยังเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้ด้วย ถ้าเทียบกับคนทั่วไปที่อาจจะหมดแพสชั่นอยู่ หรือว่าไม่รู้จะทำอะไร ใช้ชีวิตไปวันๆ แต่เด็กๆ เหล่านี้กลับมีเป้าหมาย พวกเขารู้ตัวว่าต้องทำอะไร และมีความตั้งใจอยากพัฒนาตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆ คนได้”

“ตอนนี้พอเด็กๆ มีทักษะที่พัฒนาขึ้นมาหลากหลาย เราก็ต้องการให้พวกเขาพัฒนาไปไกลกว่านั้น เลยสร้างห้อง Creative Hub ขึ้นมาสำหรับเป็นพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ถ่ายทอดความสามารถของตัวเองผ่านการสอนคนอื่นในเวิร์กช็อป ซึ่งไม่ใช่แค่การฝึกฝนตัวเอง แต่ยังเป็นโอกาสให้คนทั่วไปได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ด้วย”

More Than Art

การที่พีทำงานในภาคเอกชนและมีคุณพ่อทำงานส่วนมูลนิธิในภาคสังคมทำให้ประสบการณ์ทำงานในโลกสองฝั่งเชื่อมต่อเป็นจิ๊กซอว์และทำให้เห็นภาพกว้างในการผลักดันสังคมเรื่องความเท่าเทียม แม้ว่าทุกวันนี้มูลนิธิจะยังคงมีเป้าหมายเดิมคือสนับสนุนคนออทิสติก แต่สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาหลังจากสร้างแบรนด์ Artstory คือการมองการสนับสนุนอนาคตในระยะยาวมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่สร้างการตระหนักรู้ในสังคมเท่านั้น

“เราเริ่มมองอนาคตของเด็กกลุ่มนี้ว่าต่อไปเขาจะอยู่ยังไงโดยที่ไม่มีผู้ปกครอง เพราะพอแก่ตัวไป พ่อแม่จะไม่ได้อยู่แล้วหรืออาจต้องอยู่ตัวคนเดียว แล้วเขาจะดูแลตัวเองยังไงถ้าไม่ได้พัฒนา ecosystem ให้เกิดขึ้นสำหรับพวกเขา จะทำยังไงให้สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้อย่างยั่งยืน สิ่งนี้คือเป้าหมายในช่วงหลายๆ ปีนี้ที่เราพยายามจะทำขึ้นมา”

เพราะเหตุนี้พีจึงบอกว่าการขยายธุรกิจใหม่เป็นสิ่งจำเป็น เพราะเด็กทุกคนไม่ได้มีความสามารถด้านศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่ละคนมีทักษะและความถนัดที่แตกต่างกัน การสร้างอาชีพทางเลือกจึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยรองรับพวกเขาในระยะยาว โดยไม่ปล่อยให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่ว่าพวกเขาจะมีพัฒนาการในระดับใดก็ตาม

ดังนั้นด้วยการยึดหลักแนวคิดสำคัญคือ Put the right man on the right job. หรือการนำคนที่เหมาะสมไปอยู่ในงานที่เหมาะกับเขา เพราะเชื่อว่าทุกคนต่างมีความพิเศษในแบบของตัวเอง หลังบ้านมูลนิธิจึงสนับสนุนให้เด็กออทิสติกทำงานหลากหลายตำแหน่งในบริษัท ทั้งงานแพ็กสินค้า งานสกรีนเสื้อผ้า หรือแม้แต่งานบริการในร้านกาแฟทั้งตำแหน่งบาริสต้าและพนักงานแนะนำสินค้า

ทุกวันนี้จึงมีธุรกิจร้านกาแฟในเครือที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบโจทย์นี้ซึ่งอยู่ในช่วงสร้างแบรนด์ใหม่ ได้แก่  For ALL Coffee ซึ่งเป็นร้านกาแฟที่ตั้งใจให้ราคาย่อมเยาเพื่อเข้าถึงลูกค้าได้ง่าย โดยกำหนดราคาไว้ที่ 20-35 บาท ต่อแก้ว
รวมถึงร้าน Termtem Coffee (เติมเต็ม คอฟฟี่) ที่มีความพรีเมียมขึ้น ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และ True Coffee สาขาที่มูลนิธิเป็นผู้บริหารและดูแลเองและมีราคาที่ถูกกว่าสาขาอื่น ทั้งหมดนี้ดำเนินงานโดยบาริสต้าที่เป็นเด็กออทิสติก ซึ่งรับผิดชอบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การชงกาแฟไปจนถึงการให้บริการลูกค้า

แม้ว่าปัจจุบันร้านกาแฟเหล่านี้จะมีเพียงไม่กี่สาขาในกรุงเทพฯ แต่พีวางแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มเติมในรูปแบบแฟรนไชส์ รวมถึงส่งเสริมโครงการฝึกอาชีพให้เด็กพิเศษที่อยู่ต่างจังหวัด เพื่อให้พวกเขาเปิดร้านกาแฟในพื้นที่ของตนเองและมีรายได้เพียงพอในการเลี้ยงดูครอบครัวมากขึ้นในอนาคต

ในด้านโครงสร้างธุรกิจ พียังได้กล่าวว่า Artstory ได้ก่อตั้งบริษัทที่เป็น social enterprise หรือธุรกิจเพื่อสังคม โดยมีเด็กๆ รุ่นบุกเบิกจำนวน 7 คนเข้ามาร่วมเป็นกรรมการบริหารบริษัทรุ่นแรกด้วย ซึ่งพีอธิบายว่า ทางบริษัทเป็นฝ่ายดูแลเด็กๆ ที่รับบทบาทกรรมการบริษัทและทำหน้าที่คล้ายผู้ดูแลศิลปิน

สิ่งที่พีอยากสื่อในการแตกธุรกิจใหม่คือการออกแบบแนวทางการพัฒนาเด็กพิเศษนั้นไม่ได้จำกัดแค่เรื่องศิลปะเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงการฝึกฝนทักษะด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสังคม หรือการทำงานในสำนักงาน เพื่อเตรียมพวกเขาให้พร้อมสำหรับโลกของการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างแท้จริงอย่างอิสระโดยไม่ถูกกรอบข้อจำกัดว่าเป็นเด็กพิเศษ

“มันไม่ใช่แค่อาร์ต มันคือการแตกแบรนด์ไปเรื่อยๆ เป็นธุรกิจทางสังคม อาจจะมี Artstory หรือธุรกิจอื่นที่เราจะคอยฝึกเขา เพื่อให้เด็กๆ ได้ทำตามฝันในสิ่งที่เขาอยากจะทำ”

สำหรับองค์กรที่อยากสนับสนุนแบรนด์ Artstory by Autistic Thai สามารถสนับสนุนได้ผ่านการสั่งทำสินค้าคอลเลกชั่นพิเศษจากผลงานศิลปะของศิลปินออทิสติกและใช้บริการจัดเวิร์กช็อปสอนศิลปะสำหรับองค์กร 

ส่วนบุคคลทั่วไปสามารถสนับสนุนได้ผ่านการสั่งซื้อสินค้าของแบรนด์ Artstory หรือเข้ามาบริจาคและทำกิจกรรมเลี้ยงอาหารและสอนทักษะต่างๆ แก่น้องๆ ผ่านมูลนิธิออทิสติกไทย

สำหรับบุคคลออทิสติกที่ยังไม่ได้จดทะเบียนคนพิการ ทางมูลนิธิอยากเชิญชวนและสนับสนุนให้ลงทะเบียนเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากภาครัฐและหน่วยงานเอกชน ทั้งในแง่การรักษาต่างๆ และการดำเนินชีวิตประจำวันทั้งค่าพยาบาลและการเดินทาง 

ทางมูลนิธิยังมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นชื่อ Screening Tools for Person With Special Needs (STS) สำหรับผู้ที่อยากประเมินว่าบุคคลใกล้ชิดเข้าข่ายภาวะออทิสติกหรือไม่เพื่อเชิญชวนให้มาจดทะเบียนคนพิการกันมากขึ้น 
และหากใครอยากเข้าใจโลกของคนพิเศษมากขึ้น ขอชวนมางาน World Autism Awareness Day 2025 ที่จัดขึ้น ณ มิวเซียมสยามในวันที่ 5-6 เมษายนนี้


Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like