ศิลป์ค้า
The Art Auction Center ความหลงใหลในศิลปะที่กลายเป็นธุรกิจการประมูลชั้นนำของเมืองไทย
โดยทั่วไปหลายคนอาจคิดว่า ศิลปะเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากธุรกิจการค้า เพราะมักจะยกให้ศิลปะเป็นสิ่งบริสุทธิ์สูงส่งเลิศลอย จนอาจลืมไปว่า นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ศิลปะก็เป็นสินค้าและบริการอย่างหนึ่ง
ดูจากศิลปินชั้นครูในอดีต ที่ต่างก็รับจ้างวาดภาพให้เหล่าบรรดา ศาสนจักร ราชวงศ์ หรือเศรษฐีมีทรัพย์ทั้งหลายแหล่เป็นตัวอย่างเอาก็ได้ และกิจกรรมที่ทำให้ศิลปะและธุรกิจการค้าใกล้ชิดกันที่สุดก็คือการประมูล หรือในภาษาอังกฤษว่า ‘auction’ ที่บางคนอาจเคยผ่านตาในภาพยนตร์กับการที่มีเจ้าหน้าที่ประมูลขานชื่องานให้คนแย่งกันยกป้าย ก่อนที่จะเคาะราคาขายไปที่ตัวเลขสูงที่สุดนั่นแหละ
ก่อนหน้านี้การประมูลศิลปะถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่คนไทยยังไม่คุ้นเคยกันนัก ผิดกับในปัจจุบัน ที่มีการประมูลศิลปะจัดขึ้นในบ้านเราบ่อยครั้ง และมีนักสะสมรวมถึงผู้ชมติดตามไปยกป้ายประมูลงานหรือเสพบรรยากาศการประมูลกันอย่างเนืองแน่น
หนึ่งในบุคคลผู้เป็นเรี่ยวแรงหลักผลักดันให้การประมูลศิลปะกลายเป็นเทรนด์ฮิตติดลมในบ้านเรา คือชายหนุ่มผู้มีชื่อว่า พิริยะ วัชจิตพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง The Art Auction Center (TAAC) บริษัทประมูลงานศิลปะชั้นนําของไทย ที่เริ่มดำเนินการใน พ.ศ. 2564 นอกจากนี้เขายังเป็นกรรมการและผู้ร่วมก่อตั้ง สมาคมนักสะสมงานศิลปะไทย และเป็นนักสะสมผลงานศิลปะตัวกลั่น ผู้มีผลงานหาชมได้ยากของศิลปินชั้นครูในอดีตและศิลปินไทยร่วมสมัยในความครอบครองกว่า 500 ชิ้น นอกจากนั้นเขายังมีอีกบทบาทในฐานะนักเขียนคอลัมน์ศิลปะ เจ้าของนามปากกา ‘ตัวแน่น’ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวศิลปะสมัยใหม่ของไทยในลีลาสนุกสนาน เปี่ยมสีสัน และอ่านง่าย จนมีแฟนๆ ติดตามกันอย่างคับคั่ง
คราวนี้เรามีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมชมคลังสะสมงานศิลปะของเขาถึงบ้าน และได้พูดคุยสนทนาถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของแรงบันดาลใจแห่งความรักศิลปะอันเป็นสิ่งที่ทำให้ก่อกำเนิด The Art Auction Center
แรกเริ่มคุณเริ่มต้นสนใจงานศิลปะได้ยังไง
เริ่มตั้งแต่ตอนเด็กๆ เลย สมัยเด็กผมชอบวาดรูปและสนใจศิลปะ ถ้าเราไปเมืองนอกก็ชอบที่จะเดินดูพิพิธภัณฑ์หลากหลายแบบ ทั้งพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ พิพิธภัณฑ์ของโบราณ และหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ a must ที่ต้องไปดูแน่นอน ก็คือพิพิธภัณฑ์ศิลปะ พอดูๆ ไป ก็เริ่มชอบ เริ่มอิน นี่ก็สวย โน่นก็สวย แต่ก็คิดว่าเป็นของไกลตัว จับต้องไม่ได้ เรามองว่างานศิลปะพวกนี้เป็นของสูงส่งเหลือเกิน ไม่มีปัญญาซื้อหรอก พูดง่ายๆ คือไปดูอย่างเดียวเพลินๆ ไม่ได้คิดอะไร
พอเราโตขึ้น เรามีคอนโดเป็นของตัวเองเราก็อยากแต่งคอนโดของเรา พอมีกำแพงว่างๆ เราอยากจะมีภาพวาดมาแขวนสักรูป แต่พอเราอุตส่าห์แต่งคอนโดมาอย่างสวยงาม อยู่ดีๆ ถ้าเราจะซื้อภาพวาดม้าเจ็ดตัว หรือปลาทองแปดตัวที่สวนจตุจักรมาแขวน ก็อาจจะทำลายสิ่งที่เราตกแต่งไว้อย่างงดงามได้ นึกออกไหม เราก็อยากได้ผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงมาแขวน แต่เราก็รู้อยู่แล้ว ว่าเราไม่มีปัญญาซื้อผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ เราก็หันมามองที่ศิลปินไทยก็แล้วกัน ว่าศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงมีใครบ้าง
แล้วเราก็พบว่าเรารู้จักศิลปินไทยไม่เยอะ ที่รู้จักก็มีแค่อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี กับอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เพราะว่าจะเอาภาพวาดทิพยวิมานแบบของอาจารย์เฉลิมชัยมาแต่งบ้าน ก็จะไม่ค่อยเข้า ทีนี้ก็เหลือแต่อาจารย์ถวัลย์ พอดีมีงานของอาจารย์ชุดหนึ่งที่เราคุ้นตามากๆ เป็นงานขาว-ดำแบบเขียนตวัดเป็นฝีแปรงเร็วๆ ซึ่งดูมินิมอลดี เราก็อยากจะได้งานชุดนั้น แต่ปัญหาก็คือ อยากได้แล้วยังไงต่อ หนึ่ง–จะซื้อที่ไหน สอง–ราคาเท่าไหร่ สาม–ที่ได้มาจะเป็นของจริงหรือปลอมก็ไม่รู้ อยู่ดีๆ เราจะไปกดกร่ิงบ้านอาจารย์ถวัลย์เพื่อขอซื้องาน เขาคงไม่ขายให้ บ้านอาจารย์อยู่ตรงไหนไม่รู้ เราก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง คือการซื้องานศิลปะในบ้านเรา ถ้าเราไม่รู้จักคนในวงการ ไม่รู้จักนักสะสมต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เราต่อไม่ติด แกลเลอรีไหนมีงานอาจารย์ถวัลย์อยู่ก็ไม่รู้ เคยเห็นงานของแกแต่ในพิพิธภัณฑ์ MOCA ก็เลยเป็นความหวังลมๆ แล้งที่ค่อยๆ ลืมไป แต่ก็คิดในใจเสมอว่าอยากจะได้งานอาจารย์ถวัลย์สักชิ้นหนึ่ง
ทีนี้วันหนึ่งเราบังเอิญไปกินข้าวกับรุ่นพี่ที่สะสมงานศิลปะ เราก็เล่าให้เขาฟังว่าอยากได้งานอาจารย์ถวัลย์ ตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าเขาสะสมงานศิลปะด้วยซ้ำ เขาบอกว่า พี่มีงานศิลปินไทยเยอะแยะเลย มาดูที่บ้านได้ เดี๋ยวจะแนะนำให้ เราก็เลยไปบ้านเขา เขาก็โชว์ให้เราดูงานของศิลปินไทยเยอะแยะมากมาย เราก็โอเคว่าสวยดีนะ แต่เราไม่เก็ต ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ จนได้เจอว่าเขามีภาพวาดอาจารย์ถวัลย์อยู่ภาพหนึ่ง เป็นรูปช้าง เขียนตวัดเร็วๆ ขนาดเมตรกว่าๆ วางอยู่
เราก็ถามเขาว่า “ภาพนี้เป็นของอาจารย์ถวัลย์ใช่ไหมครับ ถ้าพี่ไม่หวง ผมขออนุญาตขอแบ่งได้ไหม” เขาก็ใจดีบอกว่า “เอ้า พี่แบ่งขายให้ราคาเท่าทุน 5 แสนบาท” เราก็คิดในใจว่า ตั้ง 5 แสนเลยเหรอ ไม่ไหวว่ะ ไม่ซื้อดีกว่า ยอมตัดใจซื้อรูปม้ากับปลาทองจากจตุจักรก็ได้ (หัวเราะ) พี่เขาก็ใจดีบอกว่า “เฮ่ย ไม่เป็นไร เอาอย่างนี้ ยกไปแขวนไว้เล่นๆ ก่อน ถ้าชอบก็ค่อยจ่ายสตางค์” พอให้ยืมฟรีเราก็โอเค รับไป ไม่เป็นไร กะว่าสองสามวันมียกไปคืนแน่นอน แต่พอเอาไปแขวนแล้วเนี่ย ผลงานศิลปะที่ดีๆ จะมีพลังงานบางอย่าง ทำให้เรารู้สึกหลงใหลจนถอนตัวไม่ขึ้น
เหมือนมันมีออร่า
ใช่ เหมือนมีออร่า ภาพเข้ากับทุกสิ่งทุกอย่างที่เราจัดเอาไว้หมดเลย เพราะบ้านเราก็เป็นแบบขาวๆ ดำๆ มินิมอล ก็ ฉิบหายละ! ทำไงดีวะ เพราะถ้ายกภาพช้างภาพนี้ออกจากบ้านนี่ ไอ้ที่แต่งมาแทบตายทั้งหมดก็จะจบเห่เลย เหมือนภาพนี้เข้ามาเป็นส่วนเติมเต็มให้บ้านเราสมบูรณ์แบบ คราวนี้ก็ยุ่งแล้วไง จนวันนึงผมก็ตัดสินใจออกไปโอนเงินให้เขาที่ห้างสยามพารากอน สมัยก่อนยังไม่มีแอพฯ โอนเงิน เราก็ต้องไปโอนจาก ATM กว่าจะกดโอนให้เขาได้เดินกลับไปกลับมาหลายรอบมาก หัวสมองเราปั่นป่วนไปหมด ในที่สุดก็หลับหูหลับตาโอนไป 5 แสน
โอนเสร็จแล้วเครียดเลยนะ กลับบ้านมาช่วงนั้นกินแต่มาม่า (หัวเราะ) ชีวิตรันทด ลำบาก แทนที่เราจะดีใจ กลับกลายเป็นแย่เลย ซื้อของไป 5 แสน รู้สึกเหมือนโดนปล้น แต่ก็ทำใจอยู่กับมันไป ช่วยไม่ได้แล้ว จนผ่านไปไม่กี่เดือน มีเพื่อนรุ่นพี่อีกคนมานั่งเล่นที่บ้าน เขาเห็นรูปนี้แขวนอยู่ ก็ทักว่า “นี่ภาพวาดของอาจารย์ถวัลย์นี่” ผมก็ตอบว่า “ใช่ครับ พอดีเพิ่งได้มา เพื่อนรุ่นพี่เขาแบ่งให้” เขาก็บอกว่าภาพนี้ดีมากนะ แล้วก็เล่าให้ฟังว่าผลงานชิ้นนี้พิเศษยังไง แถมตบท้ายว่า “พี่ขอแบ่งได้ไหม” เราก็ถามเขาว่าเขาจะซื้อเท่าไหร่ เขาบอกว่า “เอาอย่างนี้ พี่ให้ล้านนึง” เราก็ เฮ่ย! เพิ่งซื้อมาไม่กี่เดือนเอง (หัวเราะ)
จาก 5 แสนขึ้นเป็นล้านนึง?
เออ เราก็คิด เอาไงดีวะ อารมณ์เปลี่ยนอีกแล้ว ตอนแรกรู้สึกเหมือนโดนปล้น ตอนนี้รู้สึกเหมือนถูกหวย (หัวเราะ) แต่เราก็ไม่ได้ขายเขานะ เพราะถ้าขายนี่บ้านพังเลยไง ที่ตกแต่งเอาไว้จะไม่รอดเลย แต่เราก็เริ่มรู้สึกว่า เอาล่ะเว้ย! เรามาถูกทางแล้ว!
เริ่มเห็นว่างานที่ซื้อมามีมูลค่าขึ้น ไม่ใช่ซื้อมาแล้วไม่คุ้มราคา
ใช่ เริ่มเห็นว่ามีมูลค่า เราเลยใช้เหตุการณ์ตรงนี้เป็นเหตุผลในการศึกษาหาความรู้ต่อ แล้วก็เริ่มซื้องานต่อเนื่องมา จนเริ่มกลายเป็นการสะสมไปในที่สุด
แล้วจากการสะสม กลายเป็นการประมูลไปได้ยังไง
การประมูลเกิดจากการที่เราสะสมไปเรื่อยๆ เริ่มรู้จักคนโน้นคนนี้ คนขาย คนซื้อ เพื่อนๆ ที่ชอบสะสมงานศิลปะเหมือนกัน เราก็เลยจัดตั้งเป็น “สมาคมนักสะสมงานศิลปะ” ขึ้นมา ก็มีคุณต้อบ–กิตติภรณ์ ชาลีจันทร์ เป็นประธาน ผมก็ไปร่วมเป็นผู้ก่อตั้ง แล้วก็รวบรวมนักสะสมรุ่นใหม่ๆ ตอนนี้เรามีสมาชิกอยู่ประมาณ 100 คน ทั้งนักสะสมรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ น่าแปลกที่สมาชิกเราบางคนยังไม่เคยสะสมศิลปะสักชิ้นเลยนะ แต่เขาแค่อยากอยู่ในสมาคม อยากอยู่ในกลุ่มไลน์ อยากมาคุยกัน เพื่อศึกษา หยั่งเชิงก่อนแล้วค่อยสะสม ทุกวันนี้เราก็ยังมีกิจกรรมอยู่ตลอด
ทีนี้พอมีสมาคม ก็ทำให้เรารู้จักคนเยอะขึ้นไปอีก รู้จักนักสะสม รู้จักคนขายมากมาย เราก็ย้อนกลับไปนึกถึงปัญหาในวันแรกที่เราเริ่มสะสม คือซื้องานศิลปะที่ไหน ยังไง การสะสมศิลปะในเมืองไทยนี่ยากนะ ถ้าจะเริ่มให้เป็นเรื่องเป็นราว เราก็ดูว่าเมืองไทยเราจริงๆ ขาดอะไร เมืองไทยมีแกลเลอรี มีศิลปินที่ขายงานศิลปะ แต่เราไม่มีตลาด secondary market หรือตลาดสำหรับคนซื้องานศิลปะมือสอง เราซื้องานศิลปะมาแล้ว เราไม่รู้จะไปขายต่อที่ไหน เพราะวงการศิลปะเรานี่ประหลาด ปกติเวลาคนซื้อนาฬิกา ซื้อรถ พอเบื่อเขาก็ขายต่อได้เลย แต่งานศิลปะเนี่ย ถ้าขายต่อเขาจะรู้สึกเหมือนประกาศว่าตัวเองสิ้นเนื้อประดาตัว ถ้าคุณเอางานศิลปะออกมาขาย แปลว่าคุณต้องตกอับแน่ๆ ซึ่งไม่ใช่สิ นาฬิกาหรือรถคุณยังขายต่อได้ ศิลปะก็ต้องขายได้เหมือนกันหรือเปล่า ต่างกันตรงไหน แต่นักสะสมส่วนใหญ่รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ เราก็เลยแปลกใจ
อีกอย่าง ตลาดศิลปะบ้านเราราคามาตรฐานก็ไม่มี ก็เลยขายกันยาก พอได้ยินคนบอกว่า ทำไมงานศิลปะไทยไม่โกอินเตอร์เสียที ก็เพราะว่าต่างชาติไม่มีใครเข้ามาซื้อ-ขายกับเรา เพราะว่าไม่รู้ว่าจะเล่นกันยังไง ขนาดในประเทศไทยยังซื้อ-ขายกันลำบาก แล้วต่างชาติจะเข้ามาได้ยังไง ข้อดีของการมีคนต่างชาติมาร่วมซื้อ-ขายกับนักสะสมท้องถิ่น ก็คือทำให้งานศิลปะของประเทศนั้นๆ มีราคาสูงขึ้นมา ยกตัวอย่าง อินโดนีเซีย เวียดนาม หรือฟิลิปปินส์ หลายๆ ประเทศรอบบ้านเรางานศิลปะของเขาทะลุหลัก 100 ล้านมาตั้งนานแล้ว แต่บ้านเราเต็มที่ก็ 20-30 ล้าน
ความต่างระหว่างบ้านเรากับเขาคืออะไร
ประเทศเหล่านั้นมีระบบมาตรฐาน มีราคามาตรฐาน มี auction house พอมีการประมูลก็มีราคาชัดเจน คนเคยซื้อไปเท่าไหร่ก็มาดูย้อนหลังใน record ได้ คนมาซื้ออาจารย์ถวัลย์วันนี้ เขาดูย้อนหลังไปสิบปีว่าขายได้เท่าไหร่ กราฟก็จะแสดงให้เห็นว่าราคาขึ้นเรื่อยๆ เขาก็สามารถที่จะลงทุนได้อย่างมั่นใจ เรารู้สึกว่าเมืองไทยยังขาด auction house ก็เลยคิดว่าจะตั้งขึ้นมา
ตอนนั้นเรารู้จักคนขาย เรารู้จักคนซื้อแล้วนะ แต่ว่าเรื่องของ khow-how ในตลาด auction เรายังไม่มี เราจะทำยังไงดี บังเอิญว่าเรารู้จักคุณท๊อป (ยุทธชัย จรณะจิตต์) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ธุรกิจในเครือกลุ่มบริษัทอิตัลไทย เขามี auction house อยู่ที่ริเวอร์ ซิตี้ ชื่อว่า RCB Auction เขาจัดประมูลของโบราณ พวกเบญจรงค์ต่างๆ แล้วเขาก็มีไอเดียอยากจะจัดประมูลงานศิลปะอยู่แล้ว จริงๆ ถ้าเราไปริเวอร์ ซิตี้ วันนี้จะเห็นว่าโมเดิร์นกว่าเดิมเยอะ เดิมทีจะมีแต่ร้านแอนทีกอยู่เต็มไปหมดใช่ไหม คนที่ไปเดินก็จะเป็นแนวรุ่นใหญ่ แต่ ณ วันนี้คนเดินจะเป็นเด็กๆ วัยรุ่น วันเสาร์-อาทิตย์ไปแฮงเอาต์ก่อน เพราะว่าเขาต้องการเปลี่ยนลุคริเวอร์ ซิตี้ให้เป็นพื้นที่ของงานศิลปะร่วมสมัยยิ่งขึ้น
พอเขามี khow-how เกี่ยวกับการประมูล เรามี khow-how เกี่ยวกับคนซื้อ คนขาย และงานศิลปะสมัยใหม่ เราก็จับมือมาหุ้นกันว่า ถ้าอย่างนั้นเรามาตั้งบริษัทกันดีกว่า ทำประมูลด้วยกัน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการทำบริษัทประมูลขึ้นมา ตอนนั้นมีคุณจก (เสริมคุณ คุณาวงศ์) เขาได้ยินว่าเราจะตั้งบริษัทประมูล ก็เลยอยากจะมาร่วมด้วย คุณจกเขามี khow-how ในเรื่องการทำอีเวนต์ เพราะเขาเคยทำบริษัทออร์กาไนเซอร์รายใหญ่ของเมืองไทยมาก่อน ก็เลยกลายเป็นพาร์ตเนอร์สามคน ตั้ง auction house ขึ้นมา
ชื่อ Bangkok Art Auction เป็นชื่อที่คุณจกเคยทำมาก่อนเมื่อประมาณสัก 10 กว่าปีที่แล้ว แต่ปิดตัวไป ก็เลยเอาชื่อนี้มาใช้ โดยจัดการประมูลครั้งแรกตอนปลาย พ.ศ. 2564 ปรากฏว่าขายดี จัดขึ้นมาปุ๊บ ขายได้ประมาณเกือบ 60 ล้าน เราก็คิดว่า ตลาดมันดีนี่หว่า หลังจากนั้นเราก็เลยจัดต่อมาเรื่อยๆ ต่อมาคุณจกก็แยกตัวออกไปทำ auction house ของเขาเอง และขอชื่อ Bangkok Art Auction ไปใช้ เราก็ไม่มีปัญหา เพราะว่าชื่อนี้เดิมทีเป็นของเขามาก่อน เราก็เลยเปลี่ยนชื่อเป็น The Art Auction Center แทน แล้วเราก็จัดงานต่อเนื่องกันมาทุกๆ 2-3 เดือนครั้งมาตลอด จนตอนนี้เราจัดไป 7 รอบแล้ว อีก 2 เดือนหน้าก็รอบที่ 8 แล้ว
เราก็จัดมาเรื่อยๆ แต่เราก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะที่ริเวอร์ ซิตี้เท่านั้น มีหลายๆ งานที่ผ่านมาที่เราจัดที่อื่นด้วย เช่นงานที่เราร่วมจัดกับ Bitkub ช่วงที่ NFT กำลังมาแรง เราก็ไปจัดที่ Bitkub M Social ห้างสรรพสินค้า The EmQuartier และทุกๆ ครั้งที่เราจัดก็จะมีธีมใหม่ๆ ขึ้นมา โดยเอางาน old master (ศิลปินชั้นครู) ของไทย มาผสมกับงานศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่ เพื่อให้มีลูกค้าหลากหลายกลุ่มมากขึ้น
งานที่นำมาประมูลส่วนใหญ่ได้มาจากไหนบ้าง
แทบทั้งหมดมาจากนักสะสม จริงๆ ระบบที่ถูกต้องต้องเป็นอย่างนี้ ศิลปินขายงานผ่านแกลเลอรี แกลเลอรีส่งต่อสู่ลูกค้า พอเมื่อลูกค้าอยากจะเปลี่ยนมือ เขาก็จะฝากแกลเลอรีขายต่อ หรือใช้บริการของ auction house
เวลาประมูลนี่คือยกป้ายประมูลกันแบบที่เราเห็นในหนังไหม
ใช่ การประมูลทำได้หลายแบบ เราทำมาตรฐานเดียวกับต่างประเทศเลย คือคนสามารถมาลงทะเบียนแล้วมายกป้ายในงาน แบบที่เราเห็นตามเมืองนอก กับอีกวิธีคือการประมูลทางโทรศัพท์ คือให้ลงทะเบียนเอาไว้ เมื่อถึงเวลาที่งานชิ้นนั้นจะออกประมูล เราก็จะมีทีมงานโทรไปหา เขาก็จะให้ราคาทางโทรศัพท์ในขณะที่ประมูลยกป้ายกัน คือทำกันสดๆ เดี๋ยวนั้นเลย อีกแบบหนึ่งคือทิ้งราคาไว้ เช่น ฉันสู้ชิ้นนี้พันนึง ถ้าราคาขึ้นมาแล้วไม่ถึงพันคุณก็ได้ไป แต่ถ้าใครสู้ราคาทะลุพันคุณก็อด วิธีนี้ไม่ดีตรงที่คุณไม่ได้นั่งอยู่ตรงนั้น บางทีคนให้ราคาแซงแล้วคุณไม่ได้สู้ ก็เสียโอกาสไป กับอีกวิธีคือการประมูลออนไลน์ เราจัดประมูลออนไลน์อยู่ในเว็บไซต์ชื่อ www.invaluable.com ซึ่งคนจะเห็นไปทั่วโลก อย่างล่าสุด ผลงานของ Alex Face หรือ Gongkan คนที่ประมูลชนะไปก็เป็นคนต่างชาติ
การที่ศิลปินถูกประมูลงานไปในราคาสูงๆ จะส่งผลกับงานของเขายังไงบ้าง
ผลดีก็คือ งานก็จะขายดี แกลเลอรีที่แสดงงานของเขาจะขายออกเร็ว เพราะว่าคนรู้ว่าซื้อไปปุ๊บจะกำไรทันที แต่ศิลปินก็ไม่ควรจะไปขึ้นราคารวดเร็ว คือบางทีราคาประมูลขึ้น 3-5 เท่าของราคาที่แกลเลอรีขาย พอคุณเห็นราคางานของคุณขึ้น 3-5 เท่าคุณก็ขึ้นราคา แบบนี้ไม่ได้ คุณต้องค่อยๆ ขึ้นปีละ 5-10% ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวตัวกลไกการตลาดและการประมูลจะทำให้คุณขายดีเอง ถ้าคุณไปรีบขึ้นราคาตามเร็วๆ ในที่สุดคุณจะขายไม่ดี ขายไม่หมด เพราะฉะนั้นต้องใจเย็นๆ แต่การประมูลมีผลแน่นอนกับการขายมือแรก งานของศิลปินคนนั้นจะขายดีทันที
การเลือกงานของศิลปินที่มาประมูล ผลงานของ old master นั้นแน่นอนว่าสามารถพิสูจน์ได้ด้วยกาลเวลา แต่คุณเลือกศิลปินรุ่นใหม่ศิลปินร่วมสมัยมาประมูลจากอะไร
ศิลปินรุ่นใหม่เราดูจากกระแส เราดูจากแกลเลอรี ว่าเขามีแฟนคลับเยอะแค่ไหน งานของเขาขายดีไหม เพราะงานที่ประมูล ถ้าซื้อกันง่ายๆ เขาก็เดินไปซื้อที่แกลเลอรีก็ได้ ต้องเป็นอะไรที่เขาเดินไปซื้อไม่ได้ เป็นของที่มีความหายาก มีคนอยากได้หลายคน ต้องมีการแข่งกัน เราก็ดูจากฟีดแบ็กของนิทรรศการของเขา ช่วงหลังๆ นิทรรศการของศิลปินรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่มัก sold out กันหมด เราเอางานพวกนี้มาประมูลเพราะว่าคนซื้อไม่ทันแล้วหงุดหงิด เขาก็จะมาซื้อในงานประมูลนี่แหละ
แล้วพอพูดถึงนักสะสม คนส่วนใหญ่จะนึกว่าเป็นผู้ใหญ่ ใส่ทองเส้นโตๆ มาประมูลภาพแพงๆ เดี๋ยวนี้ไม่ใช่เลย นักสะสมที่เป็นลูกค้าเราหลักๆ เป็นวัยรุ่น หนุ่มสาว เป็น younger generation อายุ 20-30 ที่มาประมูลเยอะที่สุด ในขณะที่รุ่นใหญ่ๆ ส่วนใหญ่จะเอางานมาขายแทน แต่ว่านักสะสมรุ่นใหญ่ๆ ถ้าเห็นงานของ old master ที่ราคาน่าซื้อก็ซื้อตลอดนะ สมมติบางชิ้นเราเอามาประมูล แล้วราคาโดนใจเขา เขาก็ต้องได้นะ งานของ old master มี 2 ประเภท ก็คืองานกลางๆ ราคาดีๆ จะมีคนซื้อตลอด กับอีกประเภทหนึ่งคืองานของ old master ที่มีความพิเศษมากๆ อันนี้แพงแค่ไหนคนก็สู้ เท่าไหร่เท่ากัน อย่างเช่นงานของอาจารย์ถวัลย์ชิ้นใหญ่ขนาดหลายๆ เมตร หรือว่างานยุคเก่าๆ ที่คนไม่เคยเห็นนี่เขาสู้ราคากันหลัก 20-30 ล้านเลยนะ
แล้วนักสะสมที่เก็บงานราคาแพงๆ โดยเฉพาะนักสะสมรุ่นใหญ่รุ่นเก่าที่เก็บงานของ old master จะมีความแปลกที่น่าสนใจก็คือ เขาจะมีสไตล์แบบชอบซื้อ แล้วเอางานไปแอบๆ ซ่อนๆ ไม่อวดให้ใครเห็น เขาชอบอารมณ์นั้น ชอบความเอกซ์คลูซีฟ ความไม่ให้ใครรู้ เอางานไปซ่อนไว้ในห้องที่บ้าน แล้ววันดีคืนดีพอมีใครมาเห็น โอ้! ว้าว! ชิ้นนี้อยู่กับคุณเหรอ คนที่ได้ดูคือคนมีบุญ นี่เป็นความภูมิใจของเขา ในขณะที่นักสะสมรุ่นใหม่ๆ ซื้อมาก็ลงอินสตาแกรม ลงเฟซบุ๊ก โชว์เลย
แล้วคุณเป็นแบบไหน
แบบหลังสิ (หัวเราะ) แต่เวลาประมูลเนี่ย บอกตามตรงว่าไม่มีงานของผมในนั้นสักชิ้น ผมชอบขายของคนอื่น แต่ไม่ชอบขายของตัวเอง ผมก็เลยมีสองบทบาท ส่วนแรกคือเราหาของมาเพื่อให้เกิดการประมูล อีกส่วนคือ เนื่องจากเราเป็นนักสะสมมาก่อน เราก็จะเก็บสะสมเพื่อที่จะทำพิพิธภัณฑ์ พอเราจะทำพิพิธภัณฑ์ก็ต้องมีของที่เล่าเรื่องได้ เราก็มานั่งดูว่าพิพิธภัณฑ์บ้านเราขาดอะไร คือเราไปเมืองนอก ไปยุโรป เขามีพิพิธภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน เวลาเราเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ เวลาออกมาเราจะเข้าใจประวัติศาสตร์ศิลปะ เข้าใจเรื่องราวของงานศิลปะในนั้นค่อนข้างชัดเจน เหมือนกับเราได้เรียนรู้ และเดินมาด้วยความอิ่มเอม ในขณะที่บ้านเราพิพิธภัณฑ์หลายๆ แห่ง ก็ไม่ใช่ไม่ดีนะ ก็เป็นวิถีทางของแต่ละคน แต่เราเข้าไป เรารู้สึกเหมือนเราไปเดินแกลเลอรี ไปดูของที่เขาโชว์ให้ดูมากกว่า อย่างพิพิธภัณฑ์ของรัฐเองก็ขาดตอน มีแต่งานในยุคเก่า ที่ไม่สามารถเชื่อมโยงมาถึงงานร่วมสมัยได้ เราก็เลยตั้งใจทำเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะแบบสมบูรณ์ ที่มีงานตั้งแต่ขรัวอินโข่งมาเลย (เพราะถือว่าขรัวอินโข่งเป็นต้นกำเนิดศิลปะสมัยใหม่ในบ้านเรา) จนมาถึงปัจจุบัน มาถึงงานของ Gongkan ของ Suntur ให้ครบเลย เป็นพิพิธภัณฑ์แบบที่เราอยากจะให้มีในบ้านเรา
ตอนนี้เรารวบรวมของเอาไว้มาก ค่อนข้างใกล้จะสมบูรณ์แล้ว แต่เรายังนึกสถานที่ไม่ออก จริงๆ เราอยากให้มันอยู่ในละแวกใกล้ๆ สถานที่ท่องเที่ยวหลักของประเทศ อย่างวัดพระแก้ว ตอนนี้ก็กำลังหาสถานที่เช่าในละแวกนั้น แต่ผมก็ทำพิพิธภัณฑ์มาหลายแห่งแล้วนะ อย่างพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ที่สุโขทัย อันนั้นก็เสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ไม่ได้เปิดเป็นประจำ จะเปิดเดือนละครั้ง ให้นักศึกษา นักท่องเที่ยว หรือคนที่จองล่วงหน้ามาดูพอทำพิพิธภัณฑ์นี้เสร็จ ก็จะเริ่มทำพิพิธภัณฑ์ศิลปะเป็นแห่งต่อไป
เน้นเฉพาะงานของศิลปินไทย?
ของไทยเป็นหลัก ของต่างประเทศไม่มีปัญญาหรอก งานทั้งหมดที่ผมมี ซื้องานของปิกัสโซได้รูปเดียว… ไม่ถึงด้วย แค่ครึ่งรูปเองมั้ง เวลาผมสะสมงาน ผมคิดว่าเราเป็นหัวหมาดีกว่าหางมังกร ถ้าคุณไปเก็บปิกัสโซ เก็บให้ตายคุณก็ไม่มีทางไปสู้ฝรั่งเศสหรือสเปนได้หรอก วันนี้คุณอาจเป็นหัวหมา แต่คุณสามารถมีงานดีๆ ของไทยได้หมดเลย แล้ววันหนึ่งผมมั่นใจว่าหมาตัวนี้อาจจะกลายเป็นมังกรได้ในอนาคต
ตอนนี้ธุรกิจการประมูลในประเทศไทยเป็นอะไรที่มั่นคงแล้วหรือยัง
ผมว่าค่อนข้างมั่นคงแล้วนะ เพราะเราจัดมา 2-3 ปี ก็ถือว่าขายดีทุกครั้ง เรียกว่าอยู่ได้ แล้วเราก็มีงบประมาณที่จะไปลงทุนทำสูจิบัตร จัดงาน เช่าพื้นที่ ทำประชาสัมพันธ์ เราทำแบบจัดเต็ม แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคุ้มทุน ครั้งแรกๆ จริงๆ ผมตั้งใจทำให้เล็กๆ ด้วยซ้ำ ยุคนี้การประมูลบูมมากๆ มีนักธุรกิจ คนรุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามาสนใจ ทำให้วงการคึกคัก ผมคิดว่าสิ่งที่เราทำวันนี้ จะเป็นการต่อยอดให้วงการศิลปะในบ้านเรามีมาตรฐานขึ้น เพราะเรามี track record แล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ผมก็ได้รับการติดต่อจากบริษัทประมูลเมืองนอกอย่าง Christie’s, Sotheby’s, Phillips, Bonhams ให้ส่งงานของศิลปินไทยไปให้เขาได้ เพราะว่าเขาเห็นจาก track record ของเรา ใน 6-7 ครั้งที่ผ่านมา เขาก็อยากจะเอาไปประมูล เพราะฉะนั้นศิลปินไทยเราก็ถูกยอมรับโดยต่างประเทศได้ด้วย
แล้วเรื่องงานเขียนของคุณล่ะ มีที่มายังไง
เริ่มจากการที่ผมสนใจสะสมงานศิลปะ ผมก็จะศึกษาตรงนั้นเป็นพิเศษ อีกอย่างคือ ผมชอบสะสมหนังสือศิลปะ ผมมีหนังสือศิลปะในเมืองไทยแทบทุกเล่มแล้วน่ะ แล้วพอช่วงไหนเราอินเรื่องอะไร เราก็จะอ่านเรื่องนั้นเยอะมาก พอเราอ่านเยอะๆ เราก็กลัวลืม พอเรากลัวลืมเราก็เลยย่อย แล้วเอามาเขียนเป็นบทความ แล้วยิ่งช่วงไหนเราไปเจอประสบการณ์อะไรแปลกๆ เช่น ไปตามหางานชิ้นนั้นที่โน่นที่นี่ อุตส่าห์ไปเจอ ไปหามาได้ เรากลัวลืม เลยเอามาเขียนดีกว่า ก็เลยเกิดเป็นบทความขึ้นมา
นามปากา ‘ตัวแน่น’ ได้มายังไง
ตัวแน่นเป็นชื่อลิงที่ผมเลี้ยงเอาไว้ มีตัวผู้กับตัวเมีย ตัวผู้ชื่อติ๊ดตี่ ตัวเมียชื่อตัวแน่น คนอื่นนึกว่าตัวแน่นหมายถึงผม (หัวเราะ) คือผมคิดนามปากกาไม่ออก ไม่รู้จะตั้งว่าอะไรดี พอดีลิงตัวนี้ชอบเดินมาหา ก็เลยเอาชื่อนี้ก็แล้วกัน
ส่วนใหญ่ผมจะเขียนเรื่องศิลปะไทย เพราะเราสะสมงานของศิลปินไทย เราเลยอ่านเรื่องของศิลปินไทยมากกว่า ต่างชาติก็ชอบนะ ไปเมืองนอกทีไรก็ไปดูตลอดแหละ แต่ผมว่าศิลปินไทยมีข้อเสียคือ ไม่ค่อยมีใครเขียนเรื่องให้อ่าน ก็เลยทำให้เข้าใจยาก เราก็เลยพยายามจะเขียนเรื่องศิลปินไทยเพิ่มขึ้น แล้วผมก็แปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย เพราะเราอยากจะให้ต่างชาติเข้าใจศิลปินไทย เพราะฉะนั้นงานเขียนของผมจะถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เดี๋ยวจะทำเป็นบล็อกภาษาอังกฤษด้วย คนต่างชาติจะได้เข้าใจงานศิลปะของไทยได้ อย่างสูจิบัตรในงานประมูลทุกครั้งก็จะมีข้อมูล 2 ภาษา แล้วก็จะมีเวอร์ชั่น PDF ให้ดูทางออนไลน์ให้คนต่างชาติเข้ามาดู แล้วก็จะมีประวัติคร่าวๆ ของศิลปินอยู่ด้วย เพื่อทำให้เขาเข้าใจงานของศิลปินไทยได้มากขึ้น
ผมคิดว่าวงการศิลปะไทย ถ้าอยากจะดังในระดับโลก ต้องมีขั้นตอน คือคุณต้องทำ local market ของคุณให้เจ๋ง พอเจ๋งปุ๊บก็จะมี auction house ระดับ regional (ภูมิภาค) รับไป สมมติเราทำประมูลในเมืองไทยขายดี regional ก็คือ Christie’s Hong Kong เขาก็จะมารับไปประมูลที่ฮ่องกง พอที่ฮ่องกงติดตลาด คนเอเชียยอมรับแล้ว ต่อไปก็จะเป็นที่นิวยอร์ก เมื่อไหร่ที่คุณเข้านิวยอร์กได้ ก็จะเป็นอีกเรื่องเลย เป็นอีกเลเวล เป็นอีกลีกนึง วันนี้เราก็ต้องทำตรงนี้ให้ดี แล้วไปอยู่ใน regional ให้ได้ ถ้าขายดีๆ แล้วเดี๋ยวจะถูกนำไปสู่ตลาดประมูลที่นิวยอร์กหรือลอนดอนเอง
เป็นเหมือนระบบนิเวศของวงการศิลปะ
ใช่ สูงสุดจะไปอยู่ตรงนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะขึ้นไปถึงตรงนั้นได้ยังไง ที่ผ่านมาผมชอบใช้คำว่า บ้านเราไม่มีสปริงบอร์ดที่จะกระโดดไประดับโลกได้ แค่ระดับภูมิภาคยังไปไม่ได้เลย เราไม่ไปไหนกันสักที เล่นกันเอง ไม่มีต่างชาติมาเล่นด้วย แต่วันนี้เรามีสปริงบอร์ดแล้ว ถ้าใช้ให้ถูกต้องก็จะช่วยได้เยอะมาก