ComputerCraft

ประสงค์ ศุภชาติวงศ์ กับ FUN project by ANOA กระถางเซรามิกจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติดีไซน์ล้ำสมัย

นับแต่อดีตกาลนานมา เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมอันก้าวหน้าล้ำสมัย นอกจากจะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ต่างๆ แล้ว ยังถูกนำมาใช้ในการพัฒนาทางศิลปะในแขนงต่างๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นทัศนศิลป์ งานสถาปัตยกรรม และงานออกแบบในแขนงต่างๆ

แม้แต่งานศิลปหัตถกรรมที่น่าจะอยู่ห่างไกลกันคนละขั้วอย่างงานเซรามิก หรือเครื่องเคลือบดินเผา ก็ยังมีการใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมอันล้ำสมัยมาช่วยในการผลิตและออกแบบด้วยเช่นเดียวกัน 

หนึ่งในหลักฐานอันเป็นรูปธรรมคือผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดของแบรนด์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาชนะเซรามิกสำหรับแคคตัส ANOA (อะโนอา) ที่หยิบเอานวัตกรรมอันล้ำสมัยอย่างดิจิทัลอาร์ต และเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (3D printing) มาใช้ในการสร้างสรรค์กระถางแคคตัสเซรามิกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ในคราวนี้เรามีโอกาสได้มาชมการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดของแบรนด์อย่างกระถางเซรามิกจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ อันสวยงามแปลกตา ในงาน Cactus Home Begin EP.2 Thailand only ณ เซ็นทรัลลาดพร้าว และได้มีโอกาสสนทนากับผู้ก่อตั้งแบรนด์หนุ่มไฟแรงอย่าง ประสงค์ ศุภชาติวงศ์ ถึงที่มาที่ไปและแรงบันดาลใจเบื้องหลังผลิตภัณฑ์อันเปี่ยมดีไซน์สุดล้ำของเขา มาร่วมรับฟังไปพร้อมกัน

ย้อนกลับไป ชื่อแบรนด์ ANOA มีที่มาจากอะไร

ANOA เป็นชื่อของควายพันธุ์หนึ่ง เป็นควายแคระที่พบได้ส่วนใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย ผมและครอบครัวมีความผูกพันกันกับควายพันธุ์นี้ ตั้งแต่ตอนที่ผมเกิด เราเลี้ยงเอาไว้เป็นสัตว์เลี้ยงที่บ้านประมาณ 50 กว่าตัว ก็เลยผูกพันมาตลอดครับ อีกอย่างสมัยผมเรียนภาพยนตร์ ผมก็ทำสารคดีเกี่ยวกับควายส่งประกวดแล้วได้รางวัลสารคดียอดเยี่ยม ได้ไปแข่งต่อที่ญี่ปุ่นด้วย ก็เลยเอาชื่อของควายพันธุ์นี้มาใช้เป็นชื่อแบรนด์ ผมคิดว่าชื่อนี้โดดเด่นไม่ซ้ำใครดี ฟังตอนแรกอาจจะออกเสียงยากสักหน่อย แต่พอได้ยินแล้วติดหู ทำให้คนจำได้ง่าย

แบรนด์ ANOA มีจุดเริ่มต้นยังไง ทำไมถึงสนใจทำธุรกิจนี้

ดั้งเดิมทางบ้านผมทำธุรกิจส่งออกเกี่ยวกับต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์อยู่แล้ว เพราะคุณพ่อคุณแม่ของผม (ธำรง และไฮเก้ ศุภชาติวงศ์) ท่านมีความหลงใหลเกี่ยวกับต้นไม้มากๆ และต้นไม้ที่เขาเพาะพันธุ์ก็เรียกได้ว่าเกือบจะดีที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ บางพันธุ์ก็หาไม่ได้ในที่อื่นๆ แต่พอเขาเห็นต้นไม้เหล่านี้ถูกเอาไปใส่ในกระถางพลาสติก เขาก็เลยรู้สึกว่า ทำไมต้นไม้ที่สวยขนาดนี้ถูกเอาไปใส่ในกระถางธรรมดาๆ ดูไม่มีคุณค่าคู่ควรกับต้นไม้ เราจะทำยังไงให้กระถางคู่ควรกับต้นไม้ที่ใส่ลงไป ตอนแรกเราก็ไปหาซื้อตามท้องตลาดนั่นแหละ แต่ซื้อมาใส่แล้วก็ยังไม่ถูกใจ เพราะไม่ตอบโจทย์ที่เราอยากได้ 

ท้ายที่สุดเราก็เชิญศิลปินเซรามิกท่านหนึ่งชื่อคุณสราวุธ อ่อนทอง มาร่วมงานกัน ด้วยความที่ทางเรามีไอเดียและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับต้นไม้ ส่วนเขามีทักษะและความรู้ความเชี่ยวชาญทางเซรามิก ก็เลยร่วมมือกันกับเขาสร้างแบรนด์นี้ขึ้นมา เราทำงานเหมือนเป็นการช่วยกันทำขึ้นมา เพราะว่าเขามีความคิดสร้างสรรค์ ส่วนเราเป็นคนปลูกต้นไม้ เราก็จะรู้ว่าต้นไม้ต้องการอะไร กระถางแบบไหนที่จะโอบอุ้มชูต้นไม้ได้ดีที่สุด

จุดเด่นและเอกลักษณ์ของแบรนด์ ANOA ที่แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ คืออะไร

เอกลักษณ์และจุดเด่นของ ANOA ก็คือ เราเป็นแบรนด์แรกๆ ที่ทำกระถางแคคตัสเซรามิกในวงการ กระถางของเรามีรูปทรงและสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ที่สำคัญ ด้วยความที่เราเป็นคนปลูกและขายแคคตัสมาก่อน เพราะฉะนั้นเราก็จะรู้ว่าแคสตัสแต่ละแบบเหมาะสมที่จะอยู่ในกระถางแบบไหน ที่จะไม่ขโมยซีนแคคตัส แต่สามารถชูให้แคคตัสเด่นขึ้นมาได้ เพราะบางดีไซน์ทำออกมาสวยก็จริง แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ค่อยเวิร์กในการปลูกต้นไม้ได้จริง คือดูสวย แต่ไปด้วยกันกับต้นไม้ไม่ได้

แล้วกระถางแคคตัสที่ดีควรจะมีคุณสมบัติยังไง

ก็ต้องขึ้นอยู่กับต้นไม้ชนิดนั้น ว่าเป็นต้นไม้ประเภทไหน อย่างแคคตัสนั้นเป็นต้นไม้ที่ต้องการกระถางที่สามารถระบายน้ำและอากาศ หรือมีการไหลเวียนน้ำและอากาศที่ดี ซึ่งกระถางเซรามิกของเรานั้นเคลือบผิวแค่ภายนอก แล้วก็ไม่ได้เคลือบหนามาก ด้วยความที่ไม่ได้เคลือบข้างใน จึงทำให้กระถางสามารถระบายอากาศและน้ำออกมาได้ เพราะดินเผาที่ไม่ได้เคลือบจะมีฟองอากาศ ทำให้น้ำและอากาศสามารถซึมออกมาข้างนอกได้เลย ถึงแม้เราจะเคลือบข้างนอกก็ซึมออกมาได้ จากรอยแตกรอยกะเทาะเล็กๆ บนพื้นผิวที่เรามองไม่เห็นด้วยตา ซึ่งกระถางแบบนี้จะดีกว่ากระถางพลาสติกมาก

ทำงานดีไซน์ที่แปลกและแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ แบบนี้ คุณเคยมีปัญหาการโดนลอกเลียนแบบบ้างไหม

ก็มีมาเรื่อยๆ แต่เราก็พยายามทำอะไรใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ เรารู้แหละ ว่าในตลาดมีดีไซน์อะไรบ้าง แต่เราก็จะไม่ทำตามเขา หรือทำอะไรซ้ำๆ เดิม แต่จะพัฒนาต่อไป และฉีกจากแบรนด์อื่นๆ ไปเรื่อยๆ อย่างผลิตภัณฑ์ในโครงการใหม่ของเราชุดหนึ่งเป็นการจับคู่กันระหว่างเซรามิกกับทองเหลือง เพราะผมคิดว่าเซรามิกเองก็มีข้อจำกัดหลายๆ อย่างที่ไม่สามารถทำได้ อย่างเช่นรูปทรงแหลมๆ หรือว่าเล็กๆ บิดๆ เซรามิกจะไม่สามารถทำได้ หรือหากทำได้ก็เปราะมาก แตกง่าย เราก็เอาโลหะอย่างทองเหลือง บรอนซ์ หรืออัลลอย มาใช้ร่วมกันให้มีความแข็งแรง พอดีผมมีเพื่อนในวงการแคคตัส เขาเป็นบริษัททำบรอนซ์ เขาก็มาเสนอผมว่าลองทำเป็นบรอนซ์ดูไหม แล้วก็มานั่งคุย นั่งออกแบบกัน ว่าเราจะเริ่มอย่างไร พอทำเป็นชิ้นงานออกมาเราก็รู้สึกว่าน่าจะไปต่อได้ ยกตัวอย่างอัลลอยเนี่ย น่าสนใจตรงที่มันมีความขลัง พอสัมผัสแล้วพื้นผิวก็แปลกออกไปจากเซรามิก แต่ถ้าเราจับให้อยู่ด้วยกันได้ ก็จะทำให้เกิดดีไซน์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจขึ้นมา 

เวลาออกแบบ เราก็ต้องหาจุดเชื่อมระหว่างวัสดุสองชนิด และใช้กระบวนการหลายขั้นตอนจนจบงานได้ ให้เซรามิกกับโลหะอยู่ด้วยกันยังไงให้ออกมาแล้วสวย เราก็ลองผิดลองถูกกันเยอะมาก ทำออกมาเสียก็เยอะ แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะเรามีความหลงใหล เราอยากจะไปให้สุดในสายงานนี้

อย่างงานชุดล่าสุดนี่ฉีกไปสุดทางมาก คือการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ มาทำงานเซรามิก ทำไมถึงเลือกใช้เทคโนโลยีชนิดนี้

ด้วยความที่เวลาเราทำงานเซรามิก เราติดปัญหาหลายๆ อย่าง เช่นเวลาเรามีไอเดียหลายอย่าง มีรูปทรงหลายแบบที่เราคิดฝันอยากจะทำ แต่เราใช้มือปั้นขึ้นมาไม่ได้ ผมก็ไปหาข้อมูลทางออนไลน์ ก็ไปเจอเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งตอนแรกก็เริ่มจากลองซื้อเครื่องพิมพ์ 3 มิติแบบพลาสติกมาใช้ เพราะอยากรู้ว่ามันทำได้ขนาดไหน แต่ก็ยังไม่เวิร์ก ไม่ตอบโจทย์ ทำได้แค่เป็นแม่พิมพ์หล่องานเซรามิก แล้วก็เป็นเทคโนโลยีที่ใครๆ ก็ใช้กันในปัจจุบัน ไม่ได้มีความแปลกใหม่อะไร 

เราก็หาข้อมูลต่อ จนไปเจอเทคโนโลยี 3D Clay Printing (3D Potter) ซึ่งเป็นเครื่องพิมพ์ดินเหนียว 3 มิติสำหรับทำเซรามิกโดยเฉพาะ ที่สามารถพิมพ์ดินเหนียวขึ้นเป็นรูปทรงได้ตามความต้องการ ตามแต่ผู้ออกแบบจะป้อนข้อมูลดิจิทัลเข้าไป แต่ในเมืองไทยไม่มีขาย ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ 

เครื่องนี้จะทำงานคล้ายกับเครื่องพิมพ์ 3 มิติแบบพลาสติก แต่จะพิมพ์ดินเหนียวออกมาเป็นเส้นแทน เป็นดินเหนียวที่มีความความหนืดและเปียกอยู่ ซึ่งโดยปกติอุปกรณ์พวกนี้จะไม่ถูกกับน้ำ แต่เราก็มีการดัดแปลงไปเรื่อยๆ จนสามารถใช้งานกับดินเหนียวได้อย่างปลอดภัย ปกติเทคโนโลยีนี้จะเป็นอะไรที่เฉพาะกลุ่มมากๆ แทบไม่มีใครใช้งาน ส่วนใหญ่จะใช้กันในสถาบันการศึกษา ให้นักศึกษาใช้ทดลองทำงานออกแบบ แต่ถ้าเป็นการใช้ทำกระถางแคสตัส ผมเชื่อว่าเราน่าจะเป็นแบรนด์เดียวในโลกที่ทำ เพราะเท่าที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นใครทำออกมา

แล้วรูปทรงหรือดีไซน์ของกระถางใครเป็นคนออกแบบ

ผมออกแบบเอง ใช้เวลาหลายปีค่อยๆ หัดทำ ตัวผมเองมีงานประจำอยู่แล้ว คือธุรกิจส่งออกต้นไม้ของครอบครัวเป็นงานหลัก ผมก็ต้องปลีกเวลาตื่นมาตี 3 ตี 4 เพื่อที่จะหัดโปรแกรมออกแบบตัวนี้เอาเอง เพราะมันค่อนข้างเฉพาะทางมาก ส่วนใหญ่การสอนโปรแกรม 3D จะเป็นงานเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม ไม่มีใครที่สอนทำงานออกแบบกระถางต้นไม้โดยเฉพาะ ผมก็ต้องเอาโปรแกรม 3D แบบสถาปัตยกรรมมาปรับใช้ ลองผิดลองถูก จับเล็กผสมน้อย โน่นนิดนี่หน่อย เอามารวมกันให้สามารถเป็นอะไรที่เราใช้งานได้ ตัวผมเองก็ไม่มีพื้นฐานทางการออกแบบมาก่อน มีแค่ความอยากจะทำ

เวลาทำงานออกแบบในโปรแกรมที่ว่านี้มีขั้นตอนยังไงบ้าง

แรกสุดเราต้องสร้างรูปทรงขึ้นมาก่อนด้วยโปรแกรม 3 มิติ หลังจากนั้นก็ต้องแปลงเป็นโค้ด เพื่อให้เครื่องพิมพ์เข้าใจ ค่อนข้างซับซ้อน ต้องใช้หลายโปรแกรม ประมาณ 3-5 โปรแกรมร่วมกัน เป็นอะไรที่ค่อนข้างยากอยู่เหมือนกัน เพราะคนที่ทำงานเซรามิก มักจะอยู่คลุกคลีกับดิน การทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์นี่เป็นอะไรที่ค่อนข้างตรงกันข้าม แต่จริงๆ การใช้เครื่องนี้ต้องใช้ทั้งการออกแบบโปรแกรม 3 มิติ ในคอมพิวเตอร์ และงานฝีมือผสมกัน มันถึงเป็นอะไรที่ใหม่จริงๆ

หมายความว่าใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ อย่างเดียวงานยังไม่จบ ต้องใช้มือทำต่อด้วย?

ใช่ครับ ต้องมีการเก็บงาน หรือเก็บรายละเอียดที่เครื่องทำไม่ได้ เราเลยเรียกงานแบบนี้ว่าเป็นงานแบบ ComputerCraft

พอใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ มาช่วยงานแบบนี้ คุณสามารถผลิตผลงานออกมาในจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วแบบเดียวกับระบบอุตสาหกรรมไหม

  ต้องขอโทษด้วยที่ทำให้ผิดหวัง (หัวเราะ) เพราะการทำงานด้วยเครื่องแบบนี้ช้ากว่าทำด้วยมือมากๆ ปกติช่างของเราทำกระถางเซรามิกไม่กี่ชั่วโมงก็ได้หลายสิบใบแล้ว แต่เวลาทำด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เราไม่สามารถสั่งพิมพ์แล้วทิ้งไว้สามชั่วโมงแล้วค่อยกลับมาดูตอนเสร็จแล้วได้ ต้องมีคนเฝ้า เพราะมันเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน เพราะดินที่ฉีดออกมายังเปียกอยู่ บางทีขึ้นไปนิดหน่อยก็ล้มพับลงมา เราต้องค่อยๆ ป้อนคำสั่งว่าจังหวะนี้ให้ฉีดดินออกมาน้อยลง หรือจังหวะนี้เพิ่มดินได้ ไม่ใช่อะไรที่ตายตัวที่คอมพิวเตอร์จะทำเองได้ทั้งหมด 

ยังต้องมีคนคอยควบคุมเครื่องอยู่ดี?

ใช่ ถ้าให้เปรียบเทียบก็คงเหมือนหมอใช้แขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเพื่อให้ผ่าตัดได้ละเอียดยิ่งขึ้น แต่ก็ยังต้องใช้มนุษย์ควบคุมเครื่องอยู่ดี เหมือนเราใช้เทคโนโลยีช่วยในการทำงานศิลปะในรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมามากกว่า เพราะเทคโนโลยีนี้จะช่วยทำงานดีไซน์บางอย่างที่งานเซรามิกแบบดั้งเดิมไม่สามารถทำได้ หรือทำรูปทรงบางอย่างที่เป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างขึ้นด้วยมือมนุษย์ 

เป็นการขยายขอบเขตความคิดให้สามารถต่อยอดออกมาเป็นความจริงได้?

ใช่ครับ เพราะเราอยากทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่สามารถทำด้วยนวัตกรรมแบบเดิมๆ ได้ เพราะถ้าวัดกันจริง ผมทำกระถางด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติใบเล็กๆ หนึ่งใบใช้เวลาสองสามชั่วโมง แต่ถ้าทำแบบดั้งเดิม 2-3 ชั่วโมงผมทำได้ 50 ใบแล้ว นวดดิน, ขึ้นรูป, วางบนแป้นหมุน ปั้นปรื๊ดๆๆ ง่ายๆ แต่เครื่องพิมพ์ 3 มิติเราเร่งไม่ได้ ต้องค่อยๆ ทำ ถึงจะเพิ่มเครื่องเป็น 20-30 เครื่อง ก็ทำไม่ได้ เพราะต้องใช้คน 20-30 คนมาคุมเครื่องอยู่ดี แต่ที่ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เพราะเราตั้งใจทำออกมาเป็นงานศิลปะ เราเก็บรายละเอียดให้เนี้ยบทุกใบ ให้เป็นอะไรที่มีคุณค่าจริงๆ บางทีลูกค้าหลายคนที่ซื้อไปเขาไม่ได้เอาไปใส่แคคตัส แต่เอาไปวางโชว์ในตู้ทั้งอย่างนั้นเลย 

ตอนนี้เขาฮิต AI กัน คุณเคยลองใช้ AI ออกแบบกระถางดูบ้างหรือยัง

ยังครับ (หัวเราะ) ผมว่า AI น่าจะข้อมูลยังไม่พอ intelligence คงยังไปไม่ถึง เพราะผมคิดว่า AI ก็คือคนนี่แหละ ที่เอาข้อมูลใส่เข้าไปในดาต้าเบสเยอะๆ จนสามารถคิดด้วยตัวเองได้ แต่กับงานเซรามิกผมว่าน่าจะยังอีกไกล แต่ในอนาคตก็น่าจะสนุก ผมก็รอดูนะว่าต่อไปจะเป็นยังไง

ดีไซน์ของงานชุดนี้ดูสวยแปลกตามาก มีที่มาจากอะไร

จากประสบการณ์ และเครือข่ายที่เราอยู่ในวงการแคคตัส เพราะเราปลูกแคคตัสเอง เราส่งประกวดแคคตัส เราก็จะรู้ว่าเราต้องออกแบบกระถางแบบไหนให้ชูแคคตัสได้มากที่สุด พอเรามี 3D Clay Printing เราก็สามารถควบคุมรูปทรงให้ออกมาได้ดังใจ เพราะมันทำได้ทุกรูปทรง มีความน่าสนใจ และยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน

คือนอกจากจะเป็นกระถางที่สวยงามแปลกตา ยังใช้ในการปลูกแคคตัสได้ดีอีกด้วย

ใช่ครับ ปกติแล้ว กระถางแคคตัสที่เราทำกันอยู่โดยทั่วไปจะไม่ได้สวยทุกมุม บางอันสวยแค่ข้างๆ บางอันสวยตรงมุมบน แต่พอเรามี 3D Clay Printing นี่คือปลดล็อกขีดจำกัดตรงนั้นจนทะลุไปเลย เพราะเราสามารถทำได้สวยทุกมุม กระถางแต่ละใบก็จะออกแบบมาเพื่อปลูกแคคตัสแต่ละพันธุ์โดยเฉพาะ แม้แต่สีของกระถางเราก็ต้องคิดว่าเราจะลงสีเพื่อใส่พันธุ์ไหน มีรายละเอียดยิบย่อยมาก ทำให้เราค่อนข้างมั่นใจว่าลูกค้าเราก็น่าจะรับรู้ได้ว่า เราเป็นคนที่รักต้นไม้ที่ทำกระถางออกมาเพื่อต้นไม้จริงๆ 

พอเป็นเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ดินที่ใช้กับเครื่องนี่เป็นดินสังเคราะห์หรือดินจริงๆ จากธรรมชาติ

เป็นดินจริงๆ จากธรรมชาติครับ เป็นดินที่เราหามาจากหลายๆ แห่ง เอามาบด และผสมให้มีความเหนียวพอเหมาะที่จะใช้งานกับเครื่องพิมพ์เครื่องนี้ และถึงแม้จะพิมพ์งานเสียหายเราก็ไม่จำเป็นต้องทิ้งดินไป แต่ปล่อยให้แห้งและนำไปบดละลายน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ ถึงแม้จะนำไปเผาแล้วก็ยังนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เราแค่บดให้เป็นผง และผสมทำในสูตรบางงานได้ เราสามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานที่เป็นมิตรกับธรรมชาติมากๆ

ผมเลยเรียกโครงการนี้ว่า FUN project เพราะเป็นอะไรที่ผมทำแล้วสนุก และพยัญชนะแต่ละตัวก็สื่อความหมายแทนปรัชญาของการทำงานในโครงการนี้ โดย ‘F’ คือ unlimited FUTURE possibility ส่วน ‘U’ คือ UNIQUE design และ ‘N’ คือ with a touch of NATURE เพราะเราต้องการสร้าง อนาคตแห่งความเป็นไปได้ที่ไร้ขีดจำกัด และการออกแบบที่มีความเป็นเอกลักษณ์ด้วยสัมผัสจากธรรมชาติ

คุณวางแผนอะไรในอนาคตกับแบรนด์ ANOA บ้าง

ในอนาคต เราอยากให้ทุกคนในโลกรู้จักว่า ANOA เป็นแบรนด์กระถางเซรามิกสำหรับแคคตัสที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะผลิตด้วยกระบวนการหัตถกรรม หรือผลิตด้วยระบบ ComputerCraft ช่วงหลังเราเริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์ของเราไปยังแถบเอเชีย อย่างประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ทำให้คนเริ่มรู้จักแบรนด์เรามากขึ้น อนาคต เรามีแผนว่าจะส่งออกไปยังยุโรป อเมริกา และอเมริกาใต้ ผมมีความฝันว่าอยากให้แบรนด์ ANOA ไปได้ไกลจนกลายเป็นอันดับหนึ่งของโลก ผมคิดว่าเราทำไหว เพราะเราก็พัฒนาตัวเองและก้าวต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่หยุด (ยิ้ม)

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของ ANOA ได้ที่ Line OA : @anoa.thailand หรือคลิกลิงก์นี้ lin.ee/Ch2T1Nn หรือเพจเฟซบุ๊ก ANOA

Writer

คอลัมนิสต์ นักเขียน นักสัมภาษณ์ พ่อบ้านลูกสอง ผู้เบื่อหน่ายระบบการศึกษาในสถาบันศิลปะ แต่สนใจการผสมผสานศิลปะหลากสื่อต่างแขนงเข้าด้วยกัน และมุ่งมั่นในการสลายเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างศิลปะ ดีไซน์ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมร่วมสมัย และเรื่องราวรอบๆ ตัวทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน

You Might Also Like