ALEX FAITH

Alex Face กับ 20 ปี แห่งการทำงานที่ศรัทธาและบาลานซ์ชีวิตให้ยืนหยัดได้ในมุมธุรกิจ

ประทับใจ ชื่นชอบ เชื่อมั่น หลงรัก หมกมุ่น ลุ่มหลง คลั่งไคล้

เรามีคำไทยที่ใช้อธิบายความรู้สึกต่อสิ่งสิ่งหนึ่งในด้านบวกหลายคำ อยู่ที่จะหยิบคำใดมาใช้ให้สอดคล้องกับปริมาณความรู้สึกที่สั่งสมอยู่ข้างใน–ไม่มีใครเห็น

สำหรับความรู้สึกที่ พัชรพล แตงรื่น หรือ Alex Face มีต่อคำว่า ‘ศิลปะ’ เราจะหยิบฉวยคำใดในย่อหน้าข้างต้นมาใช้นิยามก็อาจไม่ผิดนัก ระยะเวลาที่เขาอยู่กับการทำงานสตรีทอาร์ตกว่า 20 ปี ยาวนานเกินพอที่จะพิสูจน์ว่าเขาไม่ได้เข้ามาวงการนี้เพียงฉาบฉวย

แต่เมื่อได้สนทนากันในวันก่อนที่เขาจะมีนิทรรศการ 20TH YEAR ALEX FACE ผมกลับคิดถึงอีกคำหนึ่ง ซึ่งน่าจะตรงกับความรู้สึกของเขาที่มีต่อศิลปะระดับอุทิศชีวิต

ผมคิดถึงคำว่า ‘ศรัทธา’

มาถึงวันนี้ หากมองในมุมศิลปะ ชื่อของ Alex Face คือศิลปินที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและสากล เป็นศิลปินเบอร์ต้นๆ ในวงการสตรีทอาร์ตบ้านเรา หากมองในมุมธุรกิจ ชื่อของเขาคือแบรนด์ที่แข็งแรง ขายได้ ขายดี เป็น top-of-mind ยามนึกถึงงานในแวดวงที่เขาสังกัด นอกจากงานศิลปะที่สร้าง สินค้าต่างๆ ที่ผลิตออกจำหน่ายก็ sold out และราคาพุ่งสูงในตลาดนักสะสม

เชื่อว่าหลายคนเห็นชีวิตเขาในวันนี้แล้วอาจใฝ่ฝันอยากเป็นเช่นนั้น อยากไปยืนอยู่ในจุดที่แสงไฟสาดส่อง มีรายได้เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงตัวเองและคนรอบตัว ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล อย่างเช่นที่เขาได้รับในวันนี้ แต่สิ่งที่ต้องแลกมา–วันเวลาที่เคี่ยวกรำ ก่อนจะก้าวมายังจุดนี้ จะมีสักกี่คนที่ยินดีแลก ผมไม่แน่ใจ

“มันไม่มีอะไรง่าย แต่ว่าที่เราผ่านมาได้ อาจเป็นเพราะเรามีวิธีคิดที่ทำให้เราทำงานได้ต่อไปเรื่อยๆ” 

อเล็กซ์เอ่ยประโยคนี้ระหว่างเรานั่งคุยกันที่อาคาร 127 ณ ระนอง พื้นที่จัดนิทรรศการ 20TH YEAR ALEX FACE ที่จัดขึ้นในวาระครบรอบสองทศวรรษบนเส้นทางศิลปะ โดยมีผลงานศิลปะชิ้นสำคัญของเขาตั้งแต่วันแรกๆ และงานที่สร้างใหม่เพื่อบอกเล่าเส้นทางชีวิตที่ผ่านมาโอบล้อมอยู่

โดยปกติแล้วคำที่ใช้อธิบายความรู้สึกมักเป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ แต่เป็นงานเหล่านี้และเรื่องราวของศิลปินตรงหน้านี่เอง ที่ทำให้เห็นว่าคำว่าศรัทธา หน้าตามันประมาณไหน

ตอนที่จัดนิทรรศการนี้แล้วเห็นงานที่ผ่านมา ภาพวันคืนเก่าๆ แฟลชแบ็กกลับมาบ้างไหม

มันก็มีเข้ามาในความคิดตลอดเวลา มันก็เป็นธรรมดาที่ภาพมันจะดึงความทรงจำเรากลับมาเต็มไปหมด มันก็เป็นภาพเดิมๆ ภาพที่เราพ่นสีอยู่ ทำอะไรอยู่ จริงๆ 20 ปีมันอาจดูนาน แต่ในขณะเดียวกันมันก็เหมือนเมื่อวานนี้เอง เรื่องบางเรื่อง ช็อตบางช็อต มันเหมือนเพิ่งผ่านไปไม่นาน เราได้คิดว่าตอนนั้นเราทำอะไรอยู่ ชีวิตเราเป็นอย่างไร ภาพที่มันถ่ายไว้ บันทึกไว้มันก็ดึงเรากลับไป

เห็นภาพเก่าๆ แล้วได้เห็นการเติบโตอะไรของตัวเองบ้างไหม

มันก็มาไกลในสเตปของมัน ตอนที่เราเป็นเด็กเราก็แค่อยากวาดรูป คิดว่าอาชีพของเราก็คงไปวาดรูปโรงหนัง แค่นั้นเราก็มีความสุขแล้ว แค่ขอให้กูได้นั่งวาดรูป วาดรูปโรงหนังก็ได้ แล้วก็เปิดร้านเขียนป้าย จะได้วาดรูป เราไม่รู้ว่าศิลปินเป็นยังไง เรารู้แค่เราอยากวาดรูป เราจะไปวาดรูปขายตามห้าง อย่างเปิดร้านของตัวเองแล้วก็วาดรูปคน

ไม่ได้เห็นภาพแบบนี้ ที่มีนิทรรศการส่วนตัว ได้รับการยอมรับ

ไม่ได้เห็นภาพนี้ คือตอนที่เราเป็นเด็กเราก็รู้แค่นั้นใช่ไหม ข้อมูลต่างๆ เราก็ไม่มี ไม่ได้เห็นตัวอย่างอะไร เราอยู่ต่างจังหวัด อยู่ฉะเชิงเทรา เราไม่เคยได้เห็นตัวอย่าง exhibition ไม่มีโอกาสได้ไปดูอะไรแบบนั้น จนเราเข้ามหาวิทยาลัยถึงได้เห็นว่า อ๋อ มันมีแบบนี้ โลกเราก็เปิด เราได้เห็นว่าศิลปินทำงานแบบนี้ ศิลปินต่างประเทศเขาทำงานกันหลากหลาย เริ่มรู้ว่าศิลปะไม่ได้มีแค่การวาดรูปอย่างเดียวแล้ว 

ตั้งแต่มหาวิทยาลัยมันก็เปิดโลกของเรา เราเริ่มอยากเป็นศิลปิน อยากทำงานศิลปะต่อเนื่อง พอเรามีโอกาสไปเจอคนที่เขาทำอะไรเจ๋งๆ เราก็อยากทำบ้าง เห็นเมืองนอกเขาพ่นงานบนกำแพงใหญ่ๆ เราก็อยากทำแบบนั้นบ้าง เราก็พยายามหาโอกาสที่จะทำ แล้วก็พัฒนาสิ่งที่เราทำให้มันดีขึ้นตามปกติที่มันควรจะเป็น พัฒนางานของเราอย่างต่อเนื่อง

ในวัยหนุ่มคิดว่าตัวเองเป็นคนทะเยอทะยานไหม

เราว่าเราเป็นคนทะเยอทะยาน

ความทะเยอทะยานที่ว่าแสดงออกผ่านอะไร

ผ่านงานศิลปะของเรานี่แหละ เราอยากทำให้มันดีขึ้น ทำให้มันเจ๋งขึ้น ทำให้มันเต็มที่ขึ้นเท่าที่เราจะทำได้ แต่ตอนหลังเริ่มเบาลงแล้วนะ เริ่มที่จะโอเค ได้แค่ไหนแค่นั้น แต่เมื่อก่อนไม่ได้เลย มีเวลาแค่ไหนก็ต้องเอาให้ได้ เวลาเราทำไม่ได้เราจะเซ็ง คิดแค่ว่าต้องทำให้ได้ แต่ตอนนี้ถ้าไม่ได้ มีเวลาจำกัด ก็โอเค ไม่เป็นไร เอาเท่าที่มี

ที่ว่าทะเยอทะยาน คุณทะเยอทะยานเพื่อไปสู่จุดไหน อยากมีชื่อเสียง อยากเป็นเบอร์หนึ่งในวงการ อยากรวย หรืออะไร

เราคิดว่าในเมื่อเรามีโอกาสได้ทำมันแล้วเราอยากทำให้มันเต็มที่ คือเราอยากเป็นศิลปิน อยากวาดรูป เราวาดรูปมาตั้งแต่เด็กๆ เราชอบสิ่งนี้ มันอาจจะเป็นสิ่งเดียวที่เราทำได้ดีด้วยซ้ำ ในเมื่อเรามีโอกาสได้ทำงานนั้นแล้ว ทำไมเราไม่ทำให้มันเต็มที่ไปเลยล่ะ เราคิดแค่นี้ แค่ทำให้มันบันทึกไว้ว่าครั้งหนึ่งเราเคยทำอะไรไว้

ความทะเยอทะยานของเราคือเราเกิดมาครั้งหนึ่ง เราเป็นศิลปิน เราทำงานศิลปะ เราสามารถทำมันได้ดีแค่ไหน ในความสามารถ ในศักยภาพที่เรามี มันก็คือเท่านั้น

พอคิดแบบนั้นเราก็ต้องหาต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ตอนนี้เราทำมา 20 ปี เราก็ยังได้เจออะไรใหม่ๆ เจอความรู้สึกใหม่ๆ อยู่เลย ได้เจอเทคนิค เจอไอเดีย หรือสิ่งที่เราอยากจะทำต่อจากนี้ เหมือนที่เขาบอกว่าความรู้มันไม่มีวันหมด ถ้าเราไม่ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้วเราก็สามารถเติมน้ำได้ตลอด โดยเฉพาะการทำงานศิลปะเรายิ่งต้องทำการบ้าน เรียนรู้ หาข้อมูล พัฒนาตัวเองตลอดเวลา เรายังต้องหาหนังสือเรื่องที่เราอยากรู้เพิ่มเติมมาอ่าน ความทะเยอทะยานของเรามันคือการที่เราอยากทำงานของเราให้ดีขึ้น ในช่วงเวลาที่เรายังทำไหว

คุณคิดว่าอะไรคือคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้คุณมาถึงจุดนี้

เราว่ามันคือวินัย สิ่งนี้สำคัญ ในทุกอาชีพ ทำงานศิลปะก็เหมือนกัน 

บางคนอาจจะมองว่าทำงานศิลปะมันคือแล้วแต่ความติสท์เลย ติสท์แม่งถูกเอามาเป็นคำจำกัดความของการทำอะไรที่ไม่มีวินัย (หัวเราะ) แต่ความจริงแล้วเราไม่มีวินัยไม่ได้ เราต้องฝึกฝน ความจริงเราวาดรูปแบบเป็นบ้าเป็นหลัง ย้อนกลับไปตอนเรียนเขาให้ส่งงานอาจารย์หนึ่งรูปเราวาดส่ง 20 รูป เพราะว่าเขาตั้งหุ่นนิ่งไว้กลางห้อง เราก็อยากวาดหลายๆ มุม พอเราวาดรูปหนึ่งเสร็จเราก็เขยิบไปอีกมุม ก็วนรอบเลย วาดตั้งแต่เช้ายันสองทุ่มแล้วก็ถือกระดาษไปส่งอาจารย์ แต่จริงๆ มันไม่ใช่แค่การทำงานส่งอาจารย์แล้ว

มันคือการเคี่ยวเข็ญ

มันไม่ใช่การเคี่ยวเข็ญ มันคือความสนุก 

อย่างตอนนั้นเรียนวาดแลนด์สเคป เราไปไหนเราก็พกเฟรม พกสี พกอุปกรณ์ติดตัวตลอดเวลา มีสมุดสเกตช์ มีกระดานสเกตช์ มีแปรงสีฟันอันหนึ่ง อาจารย์เรายังแซวเลยว่า เฮ้ย มึงนี่พร้อมนอนที่ไหนก็ได้ทุกที่เลยนะ เพราะเขาเห็นเราพกแปรงสีฟันด้วย คือเปิดกระเป๋ามาก็มีดินสอ ยางลบ อุปกรณ์ แล้วก็มีแปรงสีฟัน ตอนนั้นนอนป้ายรถเมล์ยังได้เลยมั้ง (หัวเราะ) 

เรามีอุปกรณ์วาดรูปอยู่ตลอดเวลา แล้วก็วาดพอร์เทรตคนที่เห็นว่าหน้าเขาน่าสนใจ ก็ไปบอกเขาว่าผมขอวาดได้ไหม บางทีก็ให้เขาไป บางทีก็เก็บไว้ เหมือนมันเกินสิ่งที่เป็นเรื่องเรียนไปแล้ว เราแค่อยากทำ มันก็กลายเป็นการทำงานแบบต่อเนื่องจริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันขัดความรู้สึกตัวเองด้วยนะ เรามองว่าการทำงานศิลปะหรือการจะบอกให้คนคนหนึ่งทำอะไร มันต้องเป็นจริตของคนคนนั้น มันเป็นเรื่องส่วนตัว อย่างลูกเราเราก็ไม่ได้บอกว่าต้องวาดรูป ต้องทำนู่นทำนี่ ทุกอย่างมันเกิดจากการเลี้ยงดูของเรา มันอยู่ภายใน แล้วมันจะผลักดันให้เขาทำของเขาเองโดยที่บางครั้งเราไม่ต้องไปบอกว่าเขาต้องทำแบบนี้นั้นบางนี้

อย่างเรามันไม่มีใครบอกเราว่าต้องทำ เราทำของเราเอง อยากทำเอง อยากวาดเอง มันก็เลยกลายเป็นว่าทุกอย่างมันผสมกัน พอได้วาดเยอะมันก็ได้ฝึกเยอะ ศิลปะมันไม่มีทางลัด คุณจะวาดเส้นให้ตรง วาดรูปให้สวย มันไม่ใช่อยู่ๆ ก็วาดเป็นเลย เราก็เคยวาดเละ เราก็เคยไม่เก่ง เราก็เรียนรู้ ตอนนั้นวันหยุดเสาร์อาทิตย์เราก็ไปห้าง ไปดูว่าร้านเขาวาดรูปยังไง คือมันเหมือนเราพยายามอยากรู้เอง ทุกอย่างทำให้เราเก่งขึ้น พอมีระเบียบวินัย ฝึกทักษะ มันก็ไปของมันเอง

เหมือนที่คุณเคยบอกว่าไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะมาพ่นสเปรย์แล้วควบคุมมันได้ดีเลย ต่อให้เป็นศิลปินมาก่อนก็ต้องใช้เวลาฝึกฝนเรียนรู้

ใช่ มันต้องใช้เวลา กับทุกอย่างแหละ อยู่กับมันเดี๋ยวก็ทำเป็นเอง อย่างเพื่อนที่พ่นสีบางคนเขาไม่ได้เรียนศิลปะ แต่เพราะเขาอยู่กับสิ่งเหล่านั้นทุกวัน เขาก็ทำได้ มนุษย์เรามีทักษะในการเรียนรู้ถ้าเรามีระเบียบวินัย ตั้งแต่เด็กมาเรามีระเบียบวินัยในการวาดรูปตลอด ฝึกซ้อมตลอด ตอนประถม มัธยม พักเที่ยงก็เข้าห้องศิลปะ ซ้อม ตอนเย็นเข้าห้องศิลปะ ซ้อม กลับบ้านรถเมล์รอบสุดท้ายพร้อมนักวอลเลย์บอล เขาซ้อมวอลเลย์บอล เราซ้อมวาดรูป

คุณทรีตศิลปะเหมือนกีฬา

อย่างนั้นเลย คือคุณจะเป็นนักกีฬาที่เก่งมันต้องทำขนาดไหนล่ะ จะเป็นนักอะไรก็แล้วแต่มันต้องฝึกขนาดไหน เราก็ทำเลเวลนั้นตั้งแต่เด็กน่ะ การจะทำให้ทักษะเข้าเส้นมันต้องทำแต่เด็ก อย่างสเกตบอร์ด พวกโปรเขาก็เล่นแต่เด็ก นักยิมนาสติกเขาก็ฝึกตั้งแต่เด็ก นักดนตรีเขาก็เล่นตั้งแต่เด็ก เราก็วาดรูปแต่เด็ก มีวินัยมาตั้งแต่เด็ก

ไม่ได้จับพลัดจับผลูหรือมีพรสวรรค์

คนที่มีพรสวรรค์มาก่อนก็มี แต่มันแค่บางคน ส่วนสำหรับเรา เราทำงานต่อเนื่องมาตั้งแต่เด็ก

ฟังดูเหมือนคุณเเห็นตัวเองชัดมากมาตั้งแต่แรก

ใช่ เราไปคุยกับครูว่าเราจะทำแบบนี้ เราจะเรียนแบบนี้

แล้วตั้งแต่เป็นศิลปินมีช่วงเวลาที่สั่นคลอนบ้างไหม

หมายถึงจะเลิกทำงานศิลปะอะไรแบบนี้เหรอ ไม่มีแบบนั้น ไม่เคยคิดว่ากูจะเลิกวาด เพราะว่าเราวาดโดยธรรมชาติ เหมือนกินกาแฟ เหมือนกินข้าว

รู้สึกไหมว่าคุณเป็นมนุษย์ที่โชคดี เพราะหลายคนก็มีคำถามกับสิ่งที่ทำอยู่

ใช่ เราก็บอกตัวเองมาตลอดว่าเราคือ lucky man เจอเพื่อนก็เจอเพื่อนที่ดี มีคนซัพพอร์ตที่ดี เพราะการทำสิ่งที่ทำอยู่มันไม่ใช่แค่ตัวเราคนเดียวนะ การทำงานของเราก็อย่างที่เห็น ถ้าเราทำคนเดียวเราทำไหวหรือเปล่าล่ะ แล้วเรามีภรรยา มีครอบครัว เขาก็เป็นคนที่คอยเตือนคอยบอกคอยอะไร บางทีเราก็มีเป๋มีอะไร เขาก็คอยเบิ๊ดกะโหลก (หัวเราะ) คือเรามีคนคอยช่วยตลอดด้วย ไม่ใช่ว่ามีเราคนเดียว

ฟังดูมีแต่เรื่องดี แล้วการยึดอาชีพศิลปินในบ้านเราต้องเผชิญแรงเสียดทานอะไรบ้าง

เอาจริงๆ ทั้งโลกการเป็นศิลปินมันยากหมดเลย บางคนอาจจะคิดว่าถ้าเราอยู่เมืองนอกเราอาจจะมีโอกาสที่ดีกว่านี้ใช่ไหม แต่เราเจอเพื่อนศิลปินต่างชาติเราก็ชวนคุยหมด ซึ่งทุกคนไม่ได้ง่าย ไม่มีอะไรง่ายเลย ต่างประเทศบางครั้งอาจจะยากกว่าเราด้วยซ้ำ เรามองว่ามันไม่มีอะไรง่าย แต่ว่าที่เราผ่านมาได้ อาจเป็นเพราะเรามีวิธีคิดที่ทำให้เราทำงานได้ต่อไปเรื่อยๆ คือเราชอบสิ่งที่เราทำอยู่แล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้นเรารู้สึกว่าถึงแม้เราจะไม่ประสบความสำเร็จอะไร คนไม่ได้รู้จักเรามากมายอะไร แต่เราก็ยังแฮปปี้ที่จะทำสิ่งนี้อยู่ โดยที่เราก็ทำไปโดยธรรมชาติ

ถ้าย้อนกลับไปตอนแรกๆ ที่ชีวิตไม่ได้มีอะไร เราก็ต้องไปทำนู่นทำนี่ เมื่อก่อนเราก็ไปทำโฆษณา ทำหนังทำอะไร ซึ่งมันเหนื่อย ตังค์ไม่มี ไม่มีอะไรเลย แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตโอเคก็คือการที่เรากลับมาบ้านแล้วได้นั่งวาดรูปของตัวเองนั่นแหละ มันคือการบำบัดตัวเองจากสิ่งที่เราไปทำแล้วรู้สึกว่ามันเหนื่อยเหลือเกิน

คือเรารู้ ถ้าประสบความสำเร็จได้มันก็ดี ถ้าเราสามารถเทคแคร์ดูแลคนอื่น มีรายได้เลี้ยงตัวเองด้วยการวาดรูปมันก็ดี แต่ถ้าไม่ใช่เราก็ต้องทำอย่างอื่น แต่ถึงยังไงเราก็จะยังทำสิ่งนี้เพื่อให้เรารู้สึกดี เหมือนเป็นการหล่อเลี้ยงตัวเองด้วยสิ่งที่เราชอบจริงๆ เพราะฉะนั้นเรารู้สึกว่าเราทำมันไปเรื่อยๆ โดยที่เราไม่ทุกข์ร้อน เหมือนเราอยู่กับตรงนั้นก่อนอย่างมีความสุข แค่นั้นเอง

ช่วงเวลาที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง คนยังไม่ค่อยรู้จัก กินเวลานานไหม

เป็นสิบปีเหมือนกัน ถ้านับจากระยะเวลาที่เราเริ่มพ่นมันคือช่วงสิบปีแรก แต่จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้อยากให้คนรู้จักตัวเราขนาดนั้น เพราะตอนนั้นเราพ่นกราฟิตี้ พ่นสี เราแค่อยากให้คนรู้ว่างานเราไปอยู่ตรงนั้น แต่เราก็ไม่ได้อยากให้รู้ว่าใครเป็นคนทำ ซึ่งมันก็ย้อนแย้งกันอีกแล้ว (หัวเราะ)

มันค่อยๆ สะสมมามากกว่า จากการที่เราทำต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ปี 2002 ที่เราเริ่มพ่นปีแรกคนที่รู้จักเราก็คือคนที่อยู่ในซอย คนที่อยู่แถวๆ ลาดกระบัง แถวบ้าน เขาก็พูดถึงอเล็กซ์แล้ว ตอนนั้นชื่อยังเป็นแค่อเล็กซ์ ยังไม่มีคำว่าเฟซ เราพ่นจิ้งจกเกาะอยู่ตามผนัง ทุกคนก็พูดถึงจิ้งจกกันทั้งซอยเลยว่า เฮ้ย มึงเห็นจิ้งจกเกาะผนังไหม แล้วพอเราทำต่อเนื่องมันก็ค่อยๆ ขยายวงเยอะขึ้น เราก็มีเพื่อนเยอะขึ้น มันก็ค่อยๆ ขยายวงออกไปเรื่อยๆ เราว่ามันเป็นเรื่องของความค่อยเป็นค่อยไป

แล้วจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณมีชื่อเสียงและเริ่มได้รับการยอมรับในวงกว้างอย่างทุกวันนี้คือจุดไหน

มันก็มีจุดเปลี่ยนตอนปี 2012 เป็นช่วง turning point คือตอนนั้นเราอยากให้คนรู้จักในฐานะที่เราจริงจังกับการทำงานศิลปะ พูดง่ายๆ คือตลาดศิลปะต้องรู้จักกู ถ้าเราเริ่มทำงานศิลปะ ตลาดขายงานศิลปะต้องรู้จักเรา เป็นเรื่องของการแนะนำตัวในวงการศิลปะ คือก่อนหน้านั้นเราขายงานไม่ได้ ขายไม่ออก ไม่มีใครซื้อ ต้องทำอย่างอื่นเพื่อให้ได้เงิน พอได้เงินก็มาวาดรูปของตัวเอง เราเลยอยากรู้ว่าถ้าเราเต็มที่แล้วมันจะเป็นยังไงบ้าง

เราเลยทำ exhibition ที่มีคาแร็กเตอร์เด็กที่มีหูเป็นกระต่าย ช่วงนั้นเรามีลูกแล้ว คาแร็กเตอร์นี้ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากลูกเรา จริงๆ คาแร็กเตอร์นี้มันไม่มีชื่อ แต่ลูกเราชื่อมาร์ดี คนเลยเข้าใจผิดว่ามันคือมาร์ดี ตอนนี้เราก็พยายามแก้ว่ามันไม่มีชื่อ

ตอนนั้นเราคิดกับตัวเองว่าเราจะเอาทักษะที่มีทั้งหมดที่เราสามารถทำได้ใส่ไปกับโชว์นี้ทั้งหมดเลย เพื่อลองดูว่าถ้าเราทำเต็มที่แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเราบ้าง เราตั้งใจกับโชว์นี้มาก ทำงานเต็มที่ แล้วก็บอกกับเพื่อนทุกคนว่าโชว์นี้จะต้องเปลี่ยนชีวิตเราให้ได้ เหมือนเป็นการให้กำลังใจตัวเอง คือเรามีลูกแล้ว มีครอบครัวแล้ว ไม่ใช่ตัวคนเดียวแล้ว มันต้องจริงจังกับอะไรบางอย่าง

แล้วผลเป็นอย่างที่คิดไหม

ผลก็โอเค งานก็ขายได้ ตอนนั้นงานเราก็ sold out ซึ่งไอ้การขึ้นป้ายว่า sold out มันคือการการันตีอะไรบางอย่าง ตอนนั้นเราก็คิดว่านี่คือสเตปหนึ่งที่เราก้าวเดินเข้ามาในวงการศิลปะ

เหมือนหลังจากนั้นคุณก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น งานเริ่มขายได้ แสดงว่าชื่อเสียงก็เป็นสิ่งสำคัญกับอาชีพศิลปิน

ชื่อเสียงมันก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่การันตีว่างานคนนี้น่าซื้อ แต่สำหรับเราถ้าพูดถึงคำนี้ มันดูเป็นเรื่องที่เราต้องเทคความรับผิดชอบมากกว่า มันกลายเป็นสิ่งที่ต้องรับผิดชอบว่าเราทำงานออกไปแล้วเนื้อหาที่เราทำมันไปกระทบใคร มันไปทำให้เกิดอะไรในสังคม แล้วเราต้องปฏิบัติตัวยังไง เพราะเรากลายเป็นตัวอย่างให้คนโน้นคนนี้ ถ้าเราจะทำอะไรแย่ๆ ก็ต้องควบคุมอารมณ์ แต่จริงๆ เราก็เป็นคนปกติน่ะ บางทีเจออะไรไม่ได้ดั่งใจเราก็พูดตรงๆ เราก็ใส่ มันก็มี แต่เราต้องเป็นผู้ใหญ่ขึ้นจากชื่อเสียงที่มันเข้ามา จากสิ่งที่เราต้องเทค ต้องให้ มันก็เหมือนภาระอย่างหนึ่ง

เรามีสิ่งไหนสิ่งนั้นคือภาระ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

ทุกวันนี้คนมองเข้ามาน่าจะเดาว่าเรื่องปากท้องคุณน่าจะสบายแล้ว มันเป็นอย่างนั้นไหม

ก็ลำบากอย่างอื่น

ลำบากอะไร

ยังต้องปีนบันไดอยู่ (หัวเราะ) ยังปีนนั่งร้านอยู่

ทำยังไงศิลปินคนนึงจึงจะสามารถหล่อเลี้ยงปากท้องไปพร้อมกับการทำงานที่ตัวเองรักได้

เราว่ามันก็ต้องเอาวิธีคิดที่เป็นเชิง business เข้ามาใช้ในการทำงานศิลปะด้วย ถ้าเราอยากจะขายงานได้ แล้วเอาเงินนั้นมาซื้อสีวาดรูปต่อไป อยากทำงานให้มันดีขึ้น มันก็ต้องใช้บัดเจ็ต

สมมติทำนิทรรศการหนึ่งเราจะมีอะไรที่มา cover ต้นทุนของเราได้บ้างล่ะ มันเป็นเรื่องของหลักคอมเมอร์เชียลที่จะทำให้เรามีรายได้กลับเข้ามา สมมติถ้าเกิดทำงานชิ้นใหญ่มากๆ ใครจะเอาไปติดบ้านล่ะ มันก็สร้างความยากในการซื้อ-ขาย เราอาจต้องมีชิ้นเล็กๆ ในโชว์ไหม เพื่อให้คนที่มาแล้วชอบชิ้นนี้เขาสามารถซื้อกลับไปได้ เราเองก็มีรายได้ด้วย

อะไรพวกนี้มันเป็นเรื่องของ business ซึ่งเราไม่ได้เป็นคนเก่ง business นะ เราอาจไม่ได้มีหัวเรื่องนี้แต่เราแค่มีวิธีคิดที่อยากจะให้มีรายได้กลับเข้ามา อย่างงานนิทรรศการนี้เราก็ต้องคิดว่าจะทำเสื้อยืดด้วยไหม หรือทำอะไรขาย แต่สิ่งเหล่านั้นมันไม่ได้หมายความว่ามันจะมาทำลายความบริสุทธิ์ในการทำงานศิลปะของเราสักหน่อย ไอ้บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์นี่เป็นเรื่องของตอนทำแล้ว แต่พอมันเป็นชิ้นงานขึ้นมา ถ้าเราอยากอยู่ได้เราก็ต้องขาย

คุณไม่ได้แอนตี้กับการที่ศิลปินจะมุ่งหาเงิน

การทำงานหนึ่งอย่างเพื่อหาเงินมันก็ไม่ผิดนะ งานนี้กูจะเอาเงินมันก็ไม่ผิด นึกออกไหม เราไม่ได้ไปโกงใครนี่

แล้วถามว่าทั้งหมดนี้เราอยากขายไหม พูดตรงๆ เราก็ไม่อยากขายหรอก เราไม่อยากขายสักชิ้น ทุกอย่างมันมีความหมายกับเราทั้งนั้น แต่ว่าอาชีพเรา เราก็ต้องขายเพื่อให้มีเงินกลับมาเลี้ยงดูทุกคน เลี้ยงดูครอบครัวเรา บางครั้งมันก็เจ็บปวด งานชิ้นหนึ่งหายไปเราก็มีความรู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน ทุกครั้งที่เรากลับไปเจอมันเหมือนเจอคนรักที่ไม่ได้เจอนาน เดินกลับมาเจอรูปเก่าๆ ที่เคยวาดแล้วขายไปก็ขนลุก แต่อย่างที่บอก ถ้าอยากอยู่ได้มันก็ต้องมีความคิดที่เป็น business ขึ้นมานิดนึง

ศิลปินจำนวนไม่น้อยจะขัดๆ เขินๆ เวลาต้องพูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ หรือธุรกิจ แต่คุณไม่เป็นแบบนั้น

ไม่ เราอยู่ในโลกความจริง ก็อย่างที่บอก การทำงานเพื่ออยากได้เงินมันก็ไม่ผิด แต่ถามว่าเราคิดถึงเงินเป็นอันดับหนึ่งไหม เราก็ไม่ได้คิดถึงเงินเป็นอันดับหนึ่ง บางโปรเจกต์เราพิจารณาแล้วว่าเราได้เงินเยอะมากนะ แต่มันไม่ใช่จุดยืนของเรา มันไม่ใช่สิ่งที่เราอิน มันไม่ใช่สิ่งที่เราทำแล้วจะมีคำตอบให้เราทุกอย่าง หรือว่าเราไม่สามารถรับผิดชอบสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นได้ เราก็ไม่ทำ ก็ปฏิเสธ 

ถามว่าเงินจำเป็นไหม จำเป็นฉิบหายเลย แต่ถ้าเรารับโปรเจกต์หนึ่งแล้วทำให้เราเสียจุดยืนในการทำงานศิลปะของเราไปเลย เงินเท่าไหร่มันก็ไม่คุ้ม

จุดยืนสำคัญกว่า

สำคัญกว่า มันทำให้เราสามารถทำงานต่อยันแก่ ยันตาย เราทำมาขนาดนี้แล้ว ถ้าเราเอาเงินมาก้อนหนึ่งแล้วทำให้เราเสีย เงินก้อนนั้นเท่าไหร่มันก็ไม่คุ้ม

คุณปฏิเสธเงินบ่อยไหม

ก็เยอะเหมือนกันนะ (หัวเราะ) ทุกวันนี้ก็ปฏิเสธเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ 

เป็นคนเลือกงาน

มันถึงเวลาที่ต้องเลือกแล้ว เมื่อก่อนไม่เลือก ทำหมด ช่วงนั้นงานที่เป็นคอมเมอร์เชียล งานหนักงานเบาอะไรเราก็ทำหมด ทำงานจนเช้าอีกวันเราก็ลุยได้ ตอนนี้มันเหมือนเราต้องเลือก เพราะเวลาชีวิตมันก็เหลือน้อยลง โปรเจกต์ต่างๆ ก็มีอีกหลายอย่างที่เราอยากทำ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องแบ่งเวลา แล้วก็ทำในสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ

ตอนนี้เราไม่ได้รู้สึกเสียใจที่เราต้องปฏิเสธใครแล้ว แค่ just say no เรารู้สึกว่าการปฏิเสธมันโอเค ไม่เป็นไรครับ อันนี้ไม่ได้ ไม่ทำครับ ปฏิเสธไปเลย เขาก็ไม่ต้องเสียเวลาด้วย แค่เราปฏิเสธ ไม่เห็นโลกจะแตกเลยนี่หว่า ทำสิ่งที่เราอยากทำดีกว่า

ที่ว่าเลือกงานคุณเลือกยังไง มองหางานแบบไหน

ก็ดูว่าโปรเจกต์มันน่าสนใจไหม น่าสนใจขนาดไหน บางครั้งมันอาจจะเป็นโปรเจกต์ที่ไม่ได้เงินด้วยซ้ำก็มี แต่มันเป็นโปรเจกต์ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราได้ทำอะไรบางอย่างแล้วเรารู้สึกโอเค คือบางทีงานของเรามันก็เป็นเหมือนเครื่องมือที่สามารถพูดอะไรให้ดังขึ้นได้จากคนตัวเล็กๆ ซึ่งโปรเจกต์แบบนี้ ถ้าเราเห็นด้วยกับคนเหล่านั้น เราก็อยากทำ เพื่อให้ประเด็นนั้นมันพูดได้ดังขึ้น 

ตอนนี้มันมีหลายอย่างที่ประกอบการตัดสินใจเรา ไม่ใช่แค่ตัวเงิน แล้วเราก็อยากทำโปรเจกต์ของตัวเองมากกว่า แต่เรื่องแบบนี้เราก็ไม่ใช่คนตัดสินใจคนเดียวอีกแล้ว เราก็มีทีมที่ปรึกษากันว่าโปรเจกต์นี้เอาไงดี มันก็ต้องบาลานซ์ โปรเจกต์คอมเมอร์เชียลก็ควรทำบ้าง แต่ก็อย่างที่บอกว่ามันต้องดูว่าอันไหนที่เหมาะกับเรา

อย่างพวกงานคอมเมอร์เชียลมันก็ดีอย่างหนึ่งตรงที่สามารถเข้าถึงคนได้ง่าย เพราะบางครั้งการที่มันเป็น fine art อยู่ในสเปซอย่างแกลเลอรี มันก็อาจจะไม่ได้เข้าถึงคนในวงกว้างขนาดนั้น งานคอมเมอร์เชียลมันก็เป็นการ invite คนเข้ามาสู่โลกศิลปะ เขาอาจจะเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ แค่นี้ แล้วพอเขาสนใจ เขาอาจจะไปเสิร์ชว่ามีอะไรอีก อาจจะเริ่มจากเราแล้วไปสู่ศิลปินคนอื่นต่อ กลายเป็นว่าเขาได้ดูงานศิลปะ ได้ชอบศิลปะ ซึ่งเราว่ามันก็ดี เพราะมันก็คือสุทรียภาพ งานคอมเมอร์เชียลมันก็มีอะไรแบบนั้นอยู่

ถึงวันนี้สำหรับศิลปินคนนึง ตัวเลข 20 ปีมีความหมายพิเศษยังไงบ้างไหม

สำหรับเรา เราอาจจะพูดถึงตัวเรามากกว่า 20 ปี เพราะที่จริงมันยาวนานกว่านั้น ชื่อนิทรรศการเราอาจจะสโคปตั้งแต่เราเริ่มพ่นสีคือปี 2002 แต่จริงๆ ถ้านับจากช่วงเวลาที่เราชอบวาดรูปมามันยาวกว่านั้น

สาระของมันคือเหมือนเรากลับไปสู่ภาพของเราตอนเด็กที่นั่งวาดรูปลงบนกระดาษ แล้วลมปะทะหน้าเราเย็นๆ ซึ่งบางช่วงที่เรากำลังนั่งวาดรูปสำหรับโชว์นี้แล้วลมมันก็ปะทะหน้าเราแบบนั้น คือชีวิตเรามันก็แค่นี้ สาระของเราจริงๆ คือเราได้อยู่กับมัน ได้วาดรูป ได้จดจ่อ รู้สึกเอนจอย มีความสุขกับการทำงาน ซึ่งเหมือนกับตอนที่เราเป็นเด็กเลย ไม่ว่าจะนานแค่ไหน ความรู้สึกเราก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ มันเหมือนสิ่งเดิม เพียงแค่ประสบการณ์ของเรามันเปลี่ยนไปตามวัย 

แล้วการจัดงานนิทรรศการครบรอบ 20 ปีสำคัญยังไง

เราว่ามันเป็นการทบทวนตัวเองอะไรบางอย่างสำหรับเรา เราไม่ได้รู้สึกว่าเราอยากจะป่าวประกาศว่า เฮ้ย กูพ่นมา 20 ปีแล้วนะเว้ย แต่มันเหมือนเราอยากจะทบทวนตัวเองว่าเราทำงานมา 20 ปีแล้วมันมีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตเราบ้าง ที่เราเดินทางมาตลอดที่เราทำงานศิลปะมา มันมีอะไร เราพบเจออะไรบ้าง เราเจอเพื่อน เราเจอใครบ้าง เราร่วมงานกับใครบ้าง มันเหมือนเป็นการทบทวนตัวเองอย่างหนึ่งในอาชีพของเรา ในสิ่งที่เราชอบทำ ในสิ่งที่เรารัก ทบทวนว่าหลังจากนี้เราจะเดินทางไปยังไงต่อ

เหมือนการจัดงานนิทรรศการนี้ไม่ใช่การตะโกนบอกคนข้างนอก แต่เป็นการย้อนคุยกับข้างใน

ใช่ เราว่ามันเป็นอะไรแบบนั้นมากกว่า แล้วเราก็ได้เจออะไรหลายอย่างกับการทำงานชุดนี้ มันก็มีหลายอย่างทับซ้อนกัน

อย่างที่บอกว่า 20 ปีแล้ว เราก็อยากจะทบทวนตัวเอง แล้วจัดระเบียบชีวิตตัวเองใหม่ ไอ้การที่มานั่งหักโหมทำอะไรไม่หลับไม่นอน ครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งสุดท้าย ไม่รู้จะทำได้หรือเปล่านะ แต่จะพยายาม เราว่าถ้าเรารับงานน้อยลงแล้วใช้เวลากับมันเยอะขึ้น เราก็สามารถทำได้ เราอยากตื่นเช้าไปส่งลูกไปโรงเรียน อยากปรับชีวิตเป็นคนแก่ว่างั้น ใช้เวลาอยู่กับลูก ช่วงเวลาที่ผ่านมาเราทำงานเยอะมาก เราทำงาน ทำงาน ทำงาน

เห็นว่านิทรรศการครั้งนี้มีทั้งงานที่สร้างใหม่จากงานข้างถนนที่เคยทำ และงานเก่าที่มีความหมายในชีวิต อยากรู้ว่าคุณมีหลักในการเลือกงานยังไง

เราเลือกนานเหมือนกัน ก็เปิดรูปดูงานเก่าๆ มีหลายรูปมากที่อยากวาดแล้วยังไม่ได้วาด แต่ก็เลือกงานพวกนี้มาเพราะมันเป็นคีย์อะไรบางอย่างกับชีวิต เช่น ชิ้นที่ไปพม่า เราประทับใจการได้เดินทางออกนอกประเทศครั้งแรก หรือบางชิ้นมันก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมการเมือง อย่างวันที่รัฐประหารเราพ่นสีอยู่พอดี เราก็เลยพ่นในประเด็นเกี่ยวกับวันนั้น มันก็เป็นเรื่องที่เรารู้สึกว่าพูดถึงตัวเราเองด้วยแล้วยังสื่อไปถึงประเด็นที่คนอื่นสามารถรับรู้เหตุการณ์วันนั้นได้ด้วย

เราก็พยายามคัดสิ่งที่เราชอบ แล้วเราก็ดู element มันด้วยว่าถ้าเอามาทำใหม่เป็นงานจิตรกรรมจะออกมาเป็นแบบไหน มันน่าสนุกกับการวาดรูปแบบนี้ไหม เราก็ดูหลายๆ อย่าง

งานเก่าๆ ที่เอามาจัดแสดงส่วนใหญ่เป็นงานที่คุณขายไปแล้วหรือเปล่า

มันก็มีบางชิ้นที่เรายืมจากคอลเลกเตอร์ที่ซื้อไป 2-3 คน แต่ก็ไม่ได้เยอะ พวกงานที่อยู่ในห้องที่เป็นเพนติ้งมันคือเราทำใหม่ทั้งหมด แล้วงานเก่าต่างๆ ก็คืองานที่ขายไม่ออก (หัวเราะ) เป็นงานที่มันยังอยู่แล้วเราเก็บไว้ บางชิ้นเป็นงานที่เราไปตามกลับมาจากเพื่อนที่เคยบอกว่าจะเอาไปขายให้แต่ยังไม่ได้ขาย เราไล่หาทุกคนที่เราจำได้ว่างานไปอยู่ที่ใครบ้างแล้วเอามันกลับมา แล้วงานเก่าๆ พวกนี้เราก็จะไม่ขายแล้ว เราจะเก็บมันไว้

ทำไมถึงไม่ขาย

มันไม่ใช่อารมณ์ที่เราจะขายมันแล้วน่ะ เวลามันผ่านมา เราไม่สามารถย้อนกลับไปทำรูปแบบนั้นได้อีกแล้ว เราไม่สามารถย้อนกลับไปช่วงเวลานั้น ใช้เทคนิคนั้น มันย้อนกลับไปไม่ได้จริงๆ ถึงแม้ว่าเราจะทำใหม่มันก็ไม่เหมือนเดิม

แม้วันนี้จะมีทักษะมากกว่าตอนนั้น

ใช่ เรากลับไปทำไม่ได้แล้ว บางชิ้นเราไม่ได้คิดว่ามันมีความสำคัญในตอนนั้น แต่พอย้อนกลับไปมองเราว่ามันมีคุณค่าขึ้นมา เวลามันทำงานของมัน หรือบางครั้งลูกเราเขียนอะไรลงไป วันนี้เขาโตมาเขาก็เขียนอะไรแบบนั้นไม่ได้แล้ว เราเลยอยากเก็บไว้เอง

ทุกวันนี้ชื่อเสียงก็มีแล้ว เงินทองก็มีแล้ว ในฐานะศิลปินยังเหลืออะไรให้ไขว่คว้าอีก

มีเยอะแยะ (หัวเราะ) จริงๆ นะ เช่น การได้มีโอกาสไปทำงานในมิวเซียมระดับโลก มันก็น่าจะเป็นอีกโกลหนึ่งที่เราสามารถเดินไป เพราะอย่าลืมว่าแม้คนจะมองว่าเราประสบความสำเร็จ แต่เราก็ยังเทียบไม่ติดกับอีกหลายๆ คนในโลกนี้ นึกออกไหม มันมีหลายคนที่เขาได้ทำงานในพื้นที่เจ๋งๆ เราก็ยังรู้สึกว่ามันมีโกลที่เราอยากเดินไปอีก

คุณเห็นภาพตัวเองในอนาคตไหมว่าจะเป็นยังไง ต่างจาก 20 ปีที่ผ่านมาไหม

ก็ไม่ได้เห็นภาพขนาดนั้น บางครั้งบางอย่างมันก็ปุบปับ บางอย่างมันก็เกิดขึ้นกับไอเดียเรา อย่างงานแลนด์สเคปที่อยากทำ มันอาจจะไม่มีคาแร็กเตอร์เด็กเลยก็ได้ในอนาคต ถามว่าเราจะต้องเพนต์คาแร็กเตอร์เด็กตลอดไปไหม เราก็คิดว่าทุกอย่างมันเกิดจากตัวต้นเรื่องมากกว่า แล้วงานหรือเทคนิคอะไรต่างๆ มันจะตามมาเอง เราคิดว่าเฟสถัดไปมันอาจจะเป็นอย่างอื่นก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ 

ปีนี้เราอายุ 41 เราคิดว่าในช่วง 10 ปีนี้เราน่าจะยังแข็งแรง ก็อยากทำอะไรที่มันเอดเวนเจอร์อยู่ แล้วหลังจากอายุ 50 ปี ถ้าเราไม่ได้เป็นอะไรไปเสียก่อนค่อยว่ากัน มันเป็นแค่การวางแผนคร่าวๆ สำหรับเรา

แต่ยังคงทำงานศิลปะแน่นอน

เราคงทำไปเรื่อยๆ เรามองตัวเองว่าตอนที่เราแก่แล้ว เราจะยังนั่งทำงานอยู่เหมือนเดวิด ฮอกนีย์ 

เราชอบเดวิด ฮอกนีย์ มากที่แก่แล้ว อายุ 80 กว่ายังสร้างงาน ยังเอนจอยอยู่ เรามองภาพตัวเองเป็นแบบนั้น แก่แล้วเรายังนั่งทำงานอยู่ ยังเพนต์ติ้งอยู่ แต่เราก็ไม่รู้หรอก แค่วางแผนไว้ เห็นภาพตัวเองแบบนั้น

ไม่ได้มองว่าต้องลำบากทำงานตอนแก่

ก็ลำบากแหละ ต้องแบกเฟรมออกไปเพนต์ แต่ลำบากแบบนั้นเราโอเค

Writer

บรรณาธิการบริหาร Capital เจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 6 เล่ม เล่มล่าสุดชื่อ Between Hello and Goodbye ครู่สนทนา

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like