หลักสูตรอุ่นใจ
อุ่นใจไซเบอร์ หลักสูตรและทักษะดิจิทัลที่ AIS ผลักดันให้เป็นแบบเรียนของเยาวชน
ทุกวันนี้สื่อโซเชียลและเครื่องมือด้านดิจิทัลเทคโนโลยีต่างๆ เป็นเหมือนกับปัจจัยที่ 5 ในชีวิตที่ผู้คนขาดไม่ได้ โครงการ อุ่นใจไซเบอร์ จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างความปลอดภัยในการใช้งานมากยิ่งขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสารกับคนทั่วโลกที่ทำได้สารพัดรูปแบบ สารพันช่องทาง ไปจนถึงการช้อปปิ้ง สั่งอาหาร จองโรงแรม ตั๋วเครื่องบิน จ่ายบิล ซื้อของใช้ หรือแม้แต่ซื้อรถ ซื้อบ้าน ที่เดี๋ยวนี้สามารถทำได้บนมือถือภายในไม่กี่วินาที
แต่อย่างไรก็ตามประโยชน์ก็มาพร้อมกับ ‘โทษ’ หากผู้ใช้ไม่เข้าใจวิธีการใช้งานและแนวทางรับมือที่ถูกต้องและเหมาะสมก็อาจจะนำมาซึ่งปัญหาที่เราเรียกว่า ‘ภัยไซเบอร์’
ภัยไซเบอร์ทุกวันนี้มาในสารพัดรูปแบบ ทั้งการกลั่นแกล้งพาทัวร์มาลง การล่อลวงออกไปพบคนแปลกหน้า การโกงเงินจากการซื้อของ การทิ้งร่องรอยการใช้งานจนนำมาซึ่งการขโมยรหัสผ่าน แฮ็กข้อมูลส่วนตัว แก๊งคอลเซนเตอร์มิจฉาชีพที่ยังหลอกผู้คนอยู่ทุกวันนี้ หรือแม้แต่การล้อเลียนกันบนโซเชียล สร้างปมด้อยให้คนคนนั้นจนเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมต่างๆ มากมาย
เรื่องนี้ทำให้ AIS บริษัทโทรคมนาคมเริ่มโครงการ ‘อุ่นใจไซเบอร์’ มาตั้งแต่ปี 2562 ถือเป็นแบรนด์แรกๆ ที่ออกมาพูดถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานในช่วงเวลาที่คนไทยมีอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตและมือถือค่อนข้างสูง
ที่ผ่านมา AIS ได้ใช้ภารกิจนี้ในการร่วมสร้างสังคมดิจิทัลให้ดีและปลอดภัยยิ่งขึ้นผ่านการทำงานในสองมิติ คือ หนึ่ง–นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้ผู้คนใช้งานได้อย่างปลอดภัย และสอง–การสร้างภูมิปัญญาในลักษณะขององค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยรู้เท่าทัน พร้อมอยู่กับโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์
และล่าสุด คือการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ครั้งแรกของไทยซึ่งถูกนำไปใช้จริงแล้วกับคุณครูและนักเรียนทั่วประเทศไทย
หลักสูตรที่ว่านี้มีหน้าตาเป็นยังไง? ทำยังไงให้นำไปใช้จริงได้? และทำไมบริษัทโทรคมนาคมถึงไม่เน้นแค่การพัฒนาบริการแต่ยังลงมือทำหลักสูตรด้านดิจิทัลให้เด็กๆ และคุณครูด้วย? คอลัมน์ In Good Company ชวนพาไปหาคำตอบ
พัฒนาคุณภาพเครือข่ายพร้อมกับคุณภาพชีวิต
“เป้าหมายการทำงานของ AIS ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาคุณภาพเครือข่ายเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานเท่านั้นแต่เราตระหนักถึงการสร้างสังคมดิจิทัลให้ดีขึ้นด้วย” คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เล่าถึงความตั้งใจขององค์กร
“ดังนั้นตั้งแต่ปี 2562 เราจึงเปิดตัวโครงการอุ่นใจไซเบอร์เพื่อเป็นแกนกลางสร้างเครือข่าย ชวนทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงทางบวกให้กับสังคมดิจิทัลของไทย
“วันนี้ AIS จึงร่วมมือกับกระทรวงต่างๆ เช่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขมาพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมี สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการมาช่วยรับรองให้เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตรด้านการศึกษา พร้อมให้นักเรียนสามารถเข้ามาเรียนได้ และสุดท้ายกระทรวงมหาดไทยที่จะช่วยพวกเราส่งต่อหลักสูตรไปยังโรงเรียนในสังกัด”
อุ่นใจไซเบอร์ พัฒนาความฉลาดทางดิจิทัลด้วยหลักสูตร ‘4P4ป’
สำหรับเนื้อหาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและผู้ร่วมพัฒนาสูตรดิจิทัลอุ่นใจไซเบอร์ เล่าว่าที่มาของหลักสูตรอ้างอิงมาตรฐานการพัฒนาทักษะทางดิจิทัลของ DQ Framework (Digital Intelligence Quotient) และได้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตมาปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย จนสามารถแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วนสำคัญ หรือที่เรียกกันด้วยชื่อย่อง่ายๆ ว่า ‘4P4ป’ ได้แก่
1. Practice : ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม
2. Personality : แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์
3. Protection : เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์
4. Participation : รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม
คุณครูและนักเรียนจะได้เรียนหลักสูตรผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล LearnDi หรือแอพพลิเคชั่น อุ่นใจ CYBER โดยนักเรียนจะต้องทำข้อสอบจริงให้ได้คะแนนมากกว่า 70% ขึ้นไปถึงจะสามารถผ่านและจบหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ได้
ช่วงต้นปี 2565 หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ได้เริ่มนำไปใช้แบบนำร่องกับการเรียนการสอนบางแห่งในระบบ Sandbox หรือระบบทดสอบแบบเสมือนจริง มีครูและนักเรียนที่เข้าเรียนและสอบผ่านไปแล้วกว่า 160,000 คน ถือเป็นความสำเร็จที่ ศ. ดร.สุวิทย์มองว่าเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่อยากให้ทุกคนเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ
“ความร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจในการทำงานร่วมกันของคณาจารย์ บุคลากร ด้วยการใช้ศักยภาพของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) ซึ่งมีความสอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการ คือพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้
“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเรียนรู้ในหลักสูตรนี้จะช่วยให้ทุกคนที่ปรับตัวในการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพและใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย”
หลักสูตรความหวังใหม่ของการศึกษา
จากทดลองตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา AIS และทุกภาคีก็มั่นใจแล้วว่าหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์พร้อมที่จะต่อยอดไปสู่การศึกษาในวงกว้างแล้ว
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการดำเนินโครงการการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลหลักสูตร ‘อุ่นใจไซเบอร์’ ระหว่าง AIS กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเพื่อผลักดันให้หลักสูตร อุ่นใจไซเบอร์ เข้าถึงคุณครูและนักเรียนได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
แล้วต่อไป อุ่นใจไซเบอร์จะไปอยู่ตรงไหนของระบบการศึกษาล่ะ
วันนี้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ผ่านการรับรองมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และกำลังเตรียมต่อยอดให้เป็นหลักสูตรการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสายงานสอน
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเล่าว่าหลักสูตรนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการศึกษาไทยที่จะก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
“กระทรวงศึกษาธิการจะเดินหน้าขยายความครอบคลุมการเรียนการสอนไปให้ได้มากที่สุดเพื่อทำให้บุคลากรทางการศึกษา และเยาวชนไทยมีความรู้ทักษะดิจิทัลที่เท่าทันภัยไซเบอร์ที่แฝงมากับการใช้งานอินเทอร์เน็ต รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นสูงสุด”
หลังจากนี้ ครูผู้สอน บุคลากรทางการศึกษา จากสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ จะนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ไปใช้เป็นสื่อประกอบการเรียนการสอนกับนักเรียนไทยทั่วประเทศ ทั้งโรงเรียนในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ด้วยเช่นกัน
‘พลเมืองดิจิทัล’ เป้าหมายการศึกษาไทยในอนาคต
ทั้งหมดนี้คือที่มาและความตั้งใจของหลักสูตรที่ต้องการก้าวให้ทันยุคที่เปลี่ยนไป ในยุคที่ผู้คนกลายเป็นชาวเน็ต เติบโตมาพร้อมกับอุปกรณ์ดิจิทัลและการสื่อสารในโลกออนไลน์เป็นเรื่องปกติจึงจำเป็นอย่างมากที่การปลูกฝังการเข้าถึงเทคโนโลยีและเท่าทันภัยออนไลน์ในทุกรูปแบบเป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องเดินหน้าต่อ
คุณสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS เล่าว่าปัจจุบันสื่อออนไลน์และดิจิทัล ได้กลายเป็นช่องทางสื่อสารหลักในชีวิตประจำวันของคนไทย ดังนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันบนโลกออนไลน์ให้คนไทยมีความรู้ในการใช้สื่อออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
“ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนา cyber wellness เพื่อเป้าหมายในการสร้างพลเมืองดิจิทัลในอนาคตได้” คุณสายชลสรุป
หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เริ่มเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในระบบอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่วันนี้ สำหรับประชาชนทั่วไปหากใครสนใจหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ สามารถเรียนรู้และสร้างทักษะทางดิจิทัลแบบฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่ learndiaunjaicyber.ais.co.th