เนื้อไม่แท้

Air Protein สตาร์ทอัพที่เสกเนื้อสัตว์จากคาร์บอนไดออกไซด์ ใช้พื้นที่น้อยกว่าปศุสัตว์ 1.5 ล้านเท่า

ภาวะโลกร้อนมีปัจจัยหลักๆ อยู่สองส่วน คือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ) ไปสู่ชั้นบรรยากาศที่มากขึ้น อีกส่วนคือจำนวนต้นไม้ที่เคยช่วยดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้ขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศลดลงไปจำนวนมากจากการถางป่า

แน่นอนว่ามนุษย์มีส่วนทำให้ภาวะโลกร้อนนั้นเลวร้ายลงมากจากการใช้ชีวิตในแต่ละวัน รถยนต์ เครื่องบิน อุตสาหกรรมโรงงาน แต่สิ่งที่ทำให้สถานการณ์มันเลวร้ายลงอย่างรวดเร็วคือจำนวนต้นไม้ที่ถูกตัดลงไปอย่างรวดเร็วด้วยต่างหาก และ 1 ใน 4 ของแผ่นดินโลกถูกใช้สำหรับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ และ 1 ใน 3 ของพื้นที่เพาะปลูกถูกใช้สำหรับอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อนำมาเป็นอาหารของสัตว์เหล่านั้น

จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ทุกวันนี้เราผลิตเนื้อสัตว์มากกว่าเมื่อ 50 ปีก่อนประมาณ 6 เท่าตัว เป็นต้นเหตุของปริมาณก๊าซเรือนกระจก 1 ใน 4 ของทั้งโลก มากกว่ารถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน และเรือ รวมกันซะอีก แน่นอนว่าการผลิตที่เยอะขึ้นก็หมายถึงการทำลายผืนป่าที่มากขึ้นไปด้วย

ลิซ่า ไดสัน (Lisa Dyson) นักฟิสิกส์ และจอห์น รีด (John Reed) นักวัสดุศาสตร์ ทราบดีถึงปัญหาสภาพภูมิอากาศที่กำลังย่ำแย่ของโลกใบนี้เป็นอย่างดีเหมือนกับทุกคน พวกเขาทำงานด้วยกันที่ Department of Energy’s Berkeley Lab โดยมีเป้าหมายไปที่เนื้อสัตว์ที่เราทานอยู่ในทุกๆ วันนี้

แม้ทราบว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นสาเหตุใหญ่ของภาวะโลกร้อน แต่ปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ก็ไม่ได้มีท่าทีจะลดลงเลย (ราว 386 ล้านตันและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ) ภายในปี 2050 มีการคาดการณ์ว่าประชากรโลกจะแตะ 10,000 ล้านคน และจะมีความต้องการโปรตีนจากเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น 68% นั่นหมายความว่าเราต้องหาแหล่งอาหารเพิ่มขึ้นมากอีกหลายเท่า แล้วจะทำยังไงให้มันไม่กระทบกับสภาพแวดล้อมล่ะ?

ที่ผ่านมาเราเห็นเนื้อสัตว์จากห้องแล็บที่เกิดจากการเพาะเนื้อเยื่อจากเซลล์สัตว์หรือนวัตกรรมเนื้อจากพืช (plant-based) ถูกสร้างมาจากโปรตีนที่ทำจากถั่วเหลืองและถั่วเขียวกันมาพอสมควรแล้ว มันกลายเป็นทางเลือกสำหรับคนที่อยากกินพืช แต่ยังไม่สามารถตัดใจจากรสชาติและรสสัมผัสของเนื้อสัตว์ได้ มันเป็นทางเลือกของคนไม่กินเนื้อ แต่รักเนื้ออยู่นั่นเอง

แม้เนื้อจากพืชจะเป็นทางเลือกที่ดี ลดการถางป่าเพื่อทำปศุสัตว์ลงได้ไปจำนวนหนึ่ง แต่มันเหมือนแก้ปัญหาได้เพียงครึ่งเดียว เพราะคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลอยอยู่ในอากาศนั้นยังถูกสร้างขึ้นมาในปริมาณที่มากโขอยู่ ลิซ่าและจอห์นเลยพยายามมองหาคำตอบที่ครอบคลุมมากกว่านี้ 

จนกระทั่งไปเจองานวิจัยของนาซ่าจากยุค 60s ที่ตอนนั้นพยายามคิดค้นหาวิธีการผลิตอาหารสำหรับนักบินอวกาศระหว่างเดินทางเป็นระยะเวลานานโดยใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด

โดยหนึ่งในไอเดียอันน่าทึ่งคือการใช้จุลินทรีย์ชนิดพิเศษชื่อว่า hydrogenotrophic (มีอยู่ตามธรรมชาติในพื้นที่อย่างน้ำพุร้อน) ที่สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จากลมหายใจของนักบินอวกาศแล้วเปลี่ยนเป็นอาหารให้มนุษย์ทานได้ แต่ไอเดียนี้กลายเป็นหมันไปเพราะโครงการเดินทางไปดาวอังคารไม่เกิดขึ้น

“เราทำต่อจากที่พวกเขาทำค้างไว้เลย”

ลิซ่าและจอห์นให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Fast Company ไว้แบบนั้น และนั่นคือจุดเริ่มต้นของบริษัท Kiverdi ในปี 2008 โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า ‘Probiotic Production Process’ ซึ่งลิซ่าบอกว่ามันก็คล้ายกับการสร้างโยเกิร์ตหรือไวน์นั่นแหละ ในถังหมักเจ้าจุลินทรีย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินี้จะนำคาร์บอนไดออกไซด์และส่วนผสมที่เป็นสารอาหารแร่ธาตุต่างๆ (ซึ่งเป็นความลับของบริษัท) เพื่อผลิตส่วนผสมที่มีโปรตีนถึง 80% ที่มีกรดอะมิโนเหมือนกันกับโปรตีนในเนื้อวัวหรือไก่ นอกจากนี้ยังมีวิตามินเช่น B12 ที่มักไม่พบในอาหารมังสวิรัติ นอกจากนั้นยังไม่มีสารปนเปื้อนอย่างฮอร์โมนเร่งโตหรือยาปฏิชีวนะอีกด้วย และกระบวนการทั้งหมดก็ใช้พลังงานสะอาดทั้งสิ้น

ผลิตภัณฑ์แรกๆ ที่พวกเขาเลือกทำคือน้ำมันปาล์มและน้ำมันหอมระเหย เพราะมันเป็นส่วนประกอบหลักของผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่เราใช้ในชีวิตประจำวันอย่างแชมพู​ สบู่ หรือในอาหารหลายๆ อย่าง การผลิตน้ำมันด้วยวิธีนี้จะลดการถางป่าเพื่อปลูกต้นปาล์มได้ด้วย

ในปี 2019 พวกเขาใช้หลักการพื้นฐานเดียวกับแล้วเปิดตัวอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งชื่อว่า ‘Air Protein’ ซึ่งก็เหมือนอย่างที่ชื่อบอกครับว่ามันเป็น ‘โปรตีนที่มาจากอากาศ’ เป้าหมายคือการสร้างเนื้อจากคาร์บอนไดออกไซด์นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสเต๊กฉ่ำๆ หรือแซลมอนชิ้นโต ความเป็นไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด 

กระบวนคล้ายกับวิธีการทำโยเกิร์ตโดยอาศัยจุลินทรีย์ที่มีชีวิตในถังหมักและป้อนส่วนผสมต่างๆ ลงไปอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ ออกซิเจน แร่ธาตุ น้ำ และไนโตรเจน จนออกมาเป็นโปรตีนแบบผงที่มีกรดอะมิโนเหมือนกันกับโปรตีนในเนื้อเลย แล้วต่อจากนั้นก็เอาไปแปรรูปให้เป็นเหมือนเนื้อสัตว์อะไรก็ได้ตามต้องการ หรือแม้แต่เอาไปเป็นส่วนผสมในอาหารอย่างโปรตีนบาร์ ซีเรียล ได้หมดเลย

เมื่อเทียบกับปริมาณโปรตีนที่ได้แล้ว กระบวนการผลิตทั้งหมดใช้พื้นที่ในการผลิตน้อยกว่าปศุสัตว์แบบเดิมถึง 1.5 ล้านเท่าและใช้น้ำน้อยกว่า 15,000 เท่าเลยทีเดียว 

“คุณต้องใช้ฟาร์มขนาดเท่ากับรัฐเท็กซัสเพื่อสร้างโปรตีนเท่ากับที่ได้จาก Air Protein ในขนาดของดิสนีย์เวิลด์”

นอกจากนั้นเทคโนโลยีนี้จะดึงคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมาใช้ เพราะฉะนั้นกระบวนการทั้งหมดเรียกว่าเป็น ‘carbon-negative’ ก็ได้ คือนอกจากจะไม่สร้างมลภาวะเพิ่มแล้ว ยังช่วยทำให้โลกนี้สะอาดขึ้นด้วย

ตอนนี้เราเริ่มเห็นเทคโนโลยีที่เรียกว่า ‘Direct Air Capture’ ที่เป็นเหมือนโรงงานดูดคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศโดยตรงแล้วนำไปใช้สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ หรือเก็บไว้ในพื้นดินอย่างถาวร (สตาร์ทอัพอย่าง Global Thermostat กำลังพิสูจน์ไอเดียนี้อยู่ที่เมืองฮันต์สวิลล์ รัฐแอละแบมา) ลิซ่ามองภาพว่าต่อไปในอนาคตพวกเขาสามารถเข้าไปทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพเหล่านั้นได้โดยตรงเลย เอาคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดูดมาจากอากาศ แล้วใช้เทคโนโลยีของ Air Protein เพื่อสร้างอาหารให้กับประชากรทั้งโลกได้เลย

“เราเชื่อว่าเมื่อขยายการผลิตมากขึ้น และมีโรงงานที่เป็น Direct Air Capture มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเป็นโอกาสที่สมบูรณ์แบบมากที่จะทำให้โรงงานเหล่านี้สร้างอาหารขึ้นมาด้วยเลย”

ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ต่อจากนี้คือการทำให้กระบวนการทั้งหมดนั้นมีต้นทุนที่ถูกลงเพื่อไปแข่งขันกับอุตสาหกรรมผลิตเนื้อให้ได้ ซึ่งก็เหมือนกับเนื้อทางเลือกแบบอื่นๆ นั่นแหละ ลิซ่าชูประเด็นว่านวัตกรรมของ Air Protein นั้นใช้พื้นที่น้อยมากๆ สามารถทำเป็นแนวตั้งได้ ใช้ทรัพยากรที่น้อย และพลังงานทั้งหมดสามารถใช้เป็นพลังงานสะอาดได้ทั้งสิ้น โดยทางทฤษฎีแล้วปัจจัยเหล่านี้จะราคาถูกลงเรื่อยๆ เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปข้างหน้า

“เทคโนโลยีของเราจะไม่ได้เพียงประหยัดต้นทุนตั้งแต่แรก แต่มันยังมีโครงสร้างต้นทุนที่จะลดลงไปเรื่อยๆ ด้วย”

Air Protein เพิ่งได้รับเงินทุนไป 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อต้นปี 2021 จากบริษัทลงทุนอย่าง ADM Ventures, Barclays และ GV

สิ่งที่เราทุกคนน่าจะทราบดีคือโลกกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ อากาศที่ร้อนขึ้น มลภาวะทางอากาศที่เป็นพิษ น้ำแข็งขั้วโลกละลาย สัตว์สูญพันธ์ ป่าไม้ถูกทำลาย โรคระบาดที่ยากจะรับมือขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งจำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้น สถานการณ์ดูจะยิ่งเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ เทรนด์ของการผลิตอาหารแบบทางเลือกเหมือนอย่าง Air Protein จะกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นในอนาคต เพราะเราไม่สามารถผลิตอาหารแบบเดิมในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้ ลิซ่าเล่าปิดท้ายว่า

“เรากำลังสร้างนิยามใหม่ของการผลิตเนื้อสัตว์ และรู้สึกตื้นเต้นมากที่เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนครั้งนี้”

อ้างอิง

Writer

คุณพ่อลูกหนึ่งจากเชียงใหม่ที่รักการเขียน การอ่าน และการดองหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ หลงใหลเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจและเป้าหมายการทำงานที่เป็นมากกว่าแค่ผลกำไรและทำงานหนักจนลืมความหมายของการมีชีวิตอยู่

You Might Also Like