บ้านนี้ขาย!

For Sale : บทบาทของดวงและฝีมือ

ขึ้นชื่อว่าวงการบริหารธุรกิจที่ไหนๆ ก็เหมือนกัน หนีไม่พ้นการถกเถียงฟาดฟันคะยั้นคะยอ หว่านล้อมให้ผู้คนคล้อยตามว่า โมเดลธุรกิจของฉันนี่แหละเจ๋งสุด ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจำนวนนับไม่ถ้วนลำพองใจว่า ความสำเร็จของพวกเขาหรือเธอมาจาก ‘ฝีมือ’ แทบร้อยเปอร์เซ็นต์ โชคหรือ ‘ดวง’ มีส่วนช่วยน้อยมาก และเชื่อต่อไปว่า ความสำเร็จนั้นสามารถถอดรหัสมาเป็น ‘สูตรสำเร็จ’ ให้ทุกคนเจริญรอยตาม

คำถามที่ว่า ความสำเร็จทางธุรกิจแต่ละกรณีเกิดจาก ‘ดวง’ หรือ ‘ฝีมือ’ มากกว่ากัน มีสัดส่วนอย่างละกี่เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นปัญหาโลกแตกที่จะเถียงกันไม่รู้จบไปอีกชั่วกัลปาวสาน

ข้อเท็จจริงจากงานวิจัยธุรกิจจำนวนมากชี้ชัดว่า ทั้ง ‘ดวง’ และ ‘ฝีมือ’ เป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่ผู้ประกอบการก็มีแนวโน้มที่จะประเมินบทบาทของ ‘ดวง’ ในความสำเร็จของตัวเองต่ำเกินจริง ประเมินบทบาทของ ‘ฝีมือ’ ตัวเองสูงเกินจริง ศาสตราจารย์หลิวเฉิงเหว่ย จากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย ESMT Berlin เยอรมนี วิเคราะห์บริษัท 50 แห่งที่ถูกเลือกขึ้นมาชื่นชมในไตรภาคหนังสือธุรกิจขายดีติดลมบน ชื่อ In Search of Excellence, Good to Great และ Built to Last พบว่าความรุ่งโรจน์ของบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่ตามมาด้วยขาลงหลังจากที่หนังสือถูกตีพิมพ์ โดยในบรรดาบริษัท ‘ดีเลิศ’ 50 แห่ง มี 16 แห่งที่ล้มเลิกกิจการภายใน 5 ปีหลังจากที่หนังสือออก อีก 23 แห่งตกกระป๋องกลายเป็นบริษัทดาดๆ วัดจากการที่ราคาหุ้นบริษัททำผลงานได้แย่กว่าดัชนี S&P 500 ในบรรดาบริษัทที่เหลือ 11 แห่ง มีเพียง 5 แห่งเท่านั้นที่ยังคง ‘ดีเลิศ’ สมกับที่ถูกอวยในหนังสือ

บางคนมองว่า ซีอีโอของบริษัทที่เคยได้รับการยกย่องว่า ‘ดีเลิศ’ อาจลำพองใจและเคยตัวจนไม่คิดจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทตกต่ำลงในภายหลัง ทว่า ศาสตราจารย์หลิวมองว่า คำอธิบายที่เรียบง่ายกว่านั้นอีกก็คือ ซีอีโอที่ถูกอวยเหล่านั้นไม่ได้เก่งกาจขนาดนั้นตั้งแต่แรก พวกเขาเพียงแต่ ‘โชคดี’ ที่สำเร็จ และหลังจากนั้นก็ ‘โชคร้าย’ ที่ล้มเหลว ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็หมายความว่า ไม่ค่อยมีประโยชน์ที่เราจะยกซีอีโอเหล่านี้เป็นไอดอลและพยายามเลียนแบบพวกเขา เพราะต่อให้เราสามารถลอกเลียนแบบได้ทุกกระเบียดนิ้ว ทำทุกอย่างที่พวกเขาทำ เราก็ไม่มีวันผลิตซ้ำ ‘ดวง’ ได้เลย

ผลการวิจัยของศาสตราจารย์หลิว เสนอว่า แทนที่จะตั้งคนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดเป็นต้นแบบ เราควรสนใจคนที่ ‘สำเร็จรองลงมา’ (second best) แทน ยกตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมดนตรี ค่ายเพลงควรปั้นศิลปินที่ได้อันดับ 22-30 บนบิลบอร์ดชาร์ต 100 ไม่ใช่อันดับท็อป 20 ศาสตราจารย์หลิวอธิบายว่า หลายเพลงในยุคนี้ฮอตฮิตติดลมบน เป็นไวรัลก่อนใครจะคาดคิด ซึ่งมี ‘ดวง’ เป็นส่วนสำคัญ อย่างเพลง GANGNAM STYLE จากเกาหลี ซึ่งศิลปิน PSY ไม่เคยประสบความสำเร็จขนาดนั้นได้อีกเลย 

ศาสตราจารย์หลิววิเคราะห์ทิศทางและสถิติของศิลปินติดชาร์ตแล้วสรุปว่า คนที่ได้อันดับท็อป 20 มีแนวโน้มสูงที่ซิงเกิลถัดไปจะได้อันดับ 40-45 โดยเฉลี่ยเท่านั้น พูดง่ายๆ คือ มีโอกาส ‘ตกชั้น’ มากกว่าศิลปินคนอื่นที่เพลงติดอันดับ 22-30–การที่ศิลปินกลุ่มหลัง ‘สำเร็จรองลงมา’ นั่นแหละที่บ่งชี้ว่า ความสำเร็จของพวกเขาน่าจะเกิดจาก ‘ฝีมือ’ มากกว่า ‘ดวง’ชัยชนะในโลกของบอร์ดเกมบ่อยครั้งก็แยกยากมากเช่นกันว่าเกิดจาก ‘ดวง’ หรือ ‘ฝีมือ’ มากกว่ากัน และบอร์ดเกมจำนวนมากก็อาศัย ‘ดวง’ เป็นกลไกสำคัญในเกม แต่มีน้อยเกมที่จะผสม ‘ดวง’ กับ ‘ฝีมือ’ ได้อย่างกลมกล่อมและตื่นเต้นเร้าใจภายในเวลาเพียง 15-20 นาที ได้ดีเท่ากับ For Sale (‘บ้านนี้ขาย!’ ในฉบับแปลไทย) เกมเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ระดับขึ้นหิ้งจาก Stefan Dorra นักออกแบบชาวเยอรมัน

board

For Sale เล่นได้ 3-6 คน จบเกมใครมีเงินมากสุดชนะตามธรรมเนียมเกมธุรกิจทั่วไป กติกาเข้าใจง่ายและอุปกรณ์ก็ไม่มีอะไรมาก หลักๆ ใช้เพียงไพ่ 2 สำรับ สำรับแรกเป็นไพ่สีเขียวเรียกว่า ‘อสังหาริมทรัพย์’ เรียงเลขไม่ซ้ำใบจาก 1-30 สำรับที่สองเป็นไพ่สีฟ้าเรียกว่า ‘เช็ค’ ซึ่งเป็นเงินในเกม มี 30 ใบ บางใบมูลค่าซ้ำกัน ไม่นับเหรียญหรือโทเคนมูลค่า $1,000 หลายสิบอันที่ใช้แทนเงินสด เริ่มต้นให้สับไพ่ทั้งสองสำรับ คว่ำกองไพ่อสังหาฯ ไว้กลางวง จากนั้นแจกเหรียญให้ผู้เล่นรอบวงในจำนวนเท่ากัน เพื่อให้ทุกคนเริ่มเกมด้วยเงินจำนวนเท่ากัน จากนั้นสุ่มไพ่อสังหาฯ บางใบออกจากเกม ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เล่น การสุ่มนี้เพื่อทำให้ผู้เล่นมีจำนวนไพ่อสังหาฯ เท่ากันทุกคนในแต่ละตา

เราจะทำให้เงินงอกเงยได้ยังไง? สิ่งที่เราต้องทำใน For Sale คือพยายามประมูลเงินน้อยที่สุดที่ทำได้ เพื่อประมูลไพ่อสังหาฯ ที่ดีที่สุดที่หาได้ (‘มูลค่าจริง’ ของอสังหาในเกมนี้ดูจากเลขบนไพ่ ยิ่งสูงยิ่งแปลว่าเป็นที่ดินมูลค่าสูง) ในครึ่งแรกของเกม จากนั้นก็หาทางขายอสังหาฯ เหล่านั้นเพื่อแลกกับไพ่เช็คมูลค่าสูงสุดที่หาได้ในครึ่งหลังของเกม 

ครึ่งแรกของเกมพาเราเข้าสู่โลกของการประมูล แต่ละตาเริ่มจากการเปิดไพ่อสังหาฯ จากกอง จำนวนเท่ากับจำนวนผู้เล่น นี่คือ ‘ตลาดอสังหาฯ’ ในตานั้นๆ จากนั้นผู้เล่นผลัดกันเสนอราคาประมูลด้วยการวางเหรียญบนโต๊ะ คนต่อไปต้องเสนอราคาสูงกว่าคนก่อนหน้า ไม่งั้นต้องบอก ‘ผ่าน’ เช่น ถ้าผู้เล่นคนแรกเสนอ 2 เหรียญ คนต่อไปต้องเสนอ 3 เหรียญ หรือบอก ‘ผ่าน’ การประมูลจะเวียนไปเรื่อยๆ กี่รอบก็ได้จนกระทั่งมีคนบอก ‘ผ่าน’ คนแรกที่ผ่านจะต้องหยิบไพ่อสังหาฯ ที่มีมูลค่าน้อยที่สุด (ตัวเลขต่ำสุด) จากตลาดอสังหาฯ คนที่สองที่ผ่านจะต้องหยิบไพ่ที่มีมูลค่าน้อยที่สุดที่ยังเหลืออยู่ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนทุกคนผ่านหมด จบตาแต่ละคนจะได้ไพ่อสังหาฯ คนละ 1 ใบ 

กฎที่น่าสนใจคือ ผู้เล่นทุกคนยกเว้นคนที่เสนอราคาประมูลสูงสุดจะได้เงินประมูลคืนครึ่งหนึ่งเมื่อบอกผ่าน เช่น สมมติเราขานอยู่ที่ 4 เหรียญ และรอบต่อมาบอกผ่าน เราจะได้เงินคืน 2 เหรียญทันทีพร้อมไพ่อสังหาฯ มูลค่าต่ำสุด แต่คนสุดท้ายที่เหลืออยู่ในวง (ซึ่งจริงๆ ไม่ต้องบอกผ่านก็ได้ เพราะเหลือคนเดียว) จะต้องจ่ายเงินทั้งหมดที่ตัวเองเสนอ ไม่ได้ส่วนลดใดๆ กฎข้อนี้ทำให้เราต้องคิดหนักในแต่ละตาว่าจะ ‘ทุ่ม’ ดีไหม อสังหาฯ มูลค่าสูงสุดในตานั้นๆ น่าจะคุ้มค่าแก่การทุ่มทุนหรือไม่ เราจะเก็บเงินไว้รอทุ่มในตาต่อๆ ไปดีกว่าไหม อย่าลืมว่าทุกคนรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าไพ่อสังหาฯ มีเพียง 30 ใบ เลขไม่ซ้ำกัน ฉะนั้นถ้าไพ่เลขสูงๆ ยังไม่ออกมา ทุกคนก็จะมีแนวโน้มกันเงินไว้ทุ่มในอนาคต

การประมูลตาต่อๆ ไป จะทำแบบเดียวกัน โดยคนที่ได้เสนอราคาประมูลก่อนคือคนที่ได้อสังหาฯ มูลค่าสูงสุดในตาก่อนหน้า เมื่อใดที่ไพ่อสังหาฯ หมดกองกลาง (เพราะไปอยู่ในมือผู้เล่น) เมื่อนั้นตลาดอสังหาฯ ก็จะวาย และครึ่งหลังของเกมก็จะเริ่มต้น

ในช่วงหลังของเกม เราจะพยายามขายอสังหาฯ ในมือให้ได้เงินมากที่สุด แต่เรามองไม่เห็น ‘คนซื้อ’ ในเกมนี้และการขายก็เกี่ยวกับดวงด้วย เพราะแต่ละตาจะหงายไพ่ ‘เช็ค’ มาเท่ากับจำนวนผู้เล่น ไพ่เช็คเหล่านี้มีมูลค่า $0-$15,000 เช็คเหล่านี้แทน ‘ตลาดอสังหาฯ’ คราวนี้แทนที่เราจะใช้เหรียญ เราจะใช้วิธี ‘ประมูลด้านกลับ’ ด้วยการเลือกไพ่อสังหาฯ หนึ่งใบในมือมาคว่ำวางตรงหน้า เมื่อผู้เล่นทุกคนเลือกอสังหาฯ มาคว่ำแล้ว ก็จะหงายไพ่ขึ้นมาพร้อมกัน คนที่เสนอไพ่อสังหาฯ มูลค่าสูงสุดในวงจะได้ไพ่เช็คมูลค่าสูงสุดในตลาดไป คนที่เสนอไพ่อสังหามูลค่าต่ำสุดจะได้ไพ่เช็คมูลค่าน้อยสุด 

การขายอสังหาฯ วิธีนี้จะทำไปเรื่อยๆ ตาแล้วตาเล่า จนกระทั่งผู้เล่นทุกคนขายอสังหาฯ หมดมือ จากนั้นก็นับเงินทั้งหมด (เช็ค + เหรียญ) ใครมีเงินมากสุดชนะ ถ้ามีคนเสมอกัน ให้คนที่มีเหรียญมากกว่าชนะ (ถือว่าเก่งกว่าเพราะทุ่มทุนประมูลอสังหาฯ น้อยกว่า) 

แน่นอน เราจะอยาก ‘ปล่อยของ’ ในมือโดยที่ทำกำไรให้ได้มากที่สุด เช่น ปล่อยอสังหาเบอร์ 16 ที่เราซื้อมาในราคา $5,000 (ขานราคาประมูล 5 เหรียญ) แลกไพ่เช็ค $12,000 (แปลว่ามีกำไร $12,000-$5,000 = $7,000) แต่แทบเป็นไปไม่ได้ที่เราจะทำอย่างนั้นได้ทุกตา โดยเฉพาะในเมื่อไพ่เช็คในแต่ละตาถูกสุ่มขึ้นมาวาง และผู้เล่นคนอื่นก็พยายามจะทำแบบเดียวกัน บางตาเราอาจต้องยอมขาดทุน (ขายอสังหาในราคาต่ำกว่าที่ซื้อมา) เพราะหวังน้ำบ่อหน้าในอนาคต

For Sale เป็นเกมเล็กเล่นง่ายที่อัดแน่นไปด้วยการตัดสินใจยากๆ ตลอดเวลา แถม ‘ดวง’ ก็มีส่วนอย่างชัดเจน เพราะทั้งไพ่อสังหาฯ และไพ่เช็คถูกสุ่มขึ้นมาทุกตา แถมเรายังต้องคอยสังเกตการกระทำของผู้เล่นคนอื่นๆ ด้วย หลายคนที่เล่นเกมนี้เก่งมากจะจำว่าใครได้ไพ่อสังหาฯ ใบไหนไปบ้างก่อนเข้าครึ่งหลังของเกม แต่ผู้เขียนไม่เคยทำได้เลย ในแต่ละตาเราต้องตัดสินใจว่า จะ ‘ทุ่ม’ เงินประมูลซื้อไพ่อสังหาฯ ในตานั้นไหม หรือจะอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ยอมรับอสังหาฯ มูลค่าต่ำ เพื่อเก็บเงินไว้ทุ่มซื้ออสังหาฯ มูลค่าสูงๆ ในตาต่อๆ ไป (ซึ่งแปลว่าต้องคอยจำเหมือนกันว่าไพ่อสังหาฯ ใบไหนออกมาในตลาดแล้วบ้าง ใบไหนยังอยู่ในกอง) 

ในเมื่อทุกคนมีเงินหรือเหรียญตั้งต้นเท่ากัน ไม่มีทางเพิ่มเหรียญ (ที่ใช้ในการประมูล) หมดแล้วหมดเลย นั่นก็หมายความว่าเราต้องคอยดูด้วยว่าคู่แข่งคนอื่นๆ กำลังทำอะไร เช่น ถ้าเห็นว่าคนทางขวาของเรากำลังเสนอราคาสูงเว่อร์ อารามอยากได้ไพ่อสังหาฯ สูงสุดในตานั้นมาก เราอาจจะอยากเก็บเงินของเราไว้ ปล่อยให้เขาได้ไปเพราะรู้ว่าตาต่อไปเขาจะมีเงินมาแข่งน้อยลง หรือถ้ากล้าเสี่ยงเราก็อาจเกทับ เสนอราคาประมูลสูงกว่านั้นไปอีกเพื่อบีบให้เขาลงทุนมากกว่าเดิม แต่ต้องเดิมพันว่าเขาอาจรู้นิสัยเราดี แกล้งประมูลสูงๆ ล่อให้เรามาแข่ง จากนั้นบอกผ่าน เท่ากับสับขาหลอกให้เราค้างเติ่งบนดอย!

ในครึ่งหลังของเกมที่เราพยายามปล่อยของทำกำไร ‘ดวง’ ก็ยังคงเป็นส่วนสำคัญเพราะไพ่เช็คถูกสุ่มหงายทุกตา แต่เราก็บริหารจัดการดวงได้ด้วยการพยายามวัดใจคู่แข่ง ใครที่มีความจำดี โดยเฉพาะถ้าจำแม่นว่าผู้เล่นคนไหนมีอสังหาฯ อะไรบ้างในมือจากครึ่งแรกของเกมอาจได้เปรียบในช่วงนี้ สมมติว่าเช็ค $15,000 (มูลค่าสูงสุดในเกม) เพิ่งออกมาในตานี้หลังจากที่เล่นกันไปแล้วหลายตา ถ้าเราจำได้ว่าในตาก่อนๆ ไพ่อสังหาฯ ใบไหนถูกขายไปแล้วบ้าง ความรู้นี้ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เราประมูล ‘แพง’ เกินไป เช่น ถ้าเราเลือกคว่ำไพ่อสังหาฯ เบอร์ 27 (ดีที่สุดในมือ) เพื่อหวังชิงเช็ค $15,000 โดยที่จำไม่ได้ว่าคู่แข่งอีกคนยังมีไพ่เบอร์ 29 ในมือ พอเปิดไพ่รอบวงเจ้าของ 29 ก็จะได้เช็ค $15,000 ไป เราได้เช็คมูลค่ารองลงมาแทน (ถ้าเบอร์ 27 สูงเป็นอันดับสองในวง) ซึ่งอาจทำให้เราขาดทุนหนักมากเลยก็ได้ (เช่น สมมติเช็คมูลค่ารองลงมาคือ $6,000 แต่เราประมูลซื้อเบอร์ 27 สูงถึง $10,000 เป็นต้น) ดังนั้น ยิ่งเรา ‘อ่าน’ คู่แข่งของเราออก คาดการณ์ถูกว่าพวกเขาจะทำอะไร และมีความจำดี เราก็ยิ่งบริหารจัดการ ‘ดวง’ ในช่วงที่สองได้ดียิ่งขึ้น

ความเจ๋งจุดหนึ่งของ For Sale เป็นเรื่องของ ‘ดวง’ เช่นกัน นั่นคือ ในเมื่อแต่ละตาใช้วิธีสุ่มหงายไพ่ (ไม่ว่าไพ่อสังหาหรือไพ่เช็ค) แต่ละตาและแต่ละเกมที่เราเล่นจะไม่มีวันซ้ำเดิม กลยุทธ์ที่เคยใช้การได้ในเกมที่แล้วอาจใช้ไม่ได้แล้วในเกมนี้ บางตาตลาดอสังหาฯ อาจเต็มไปด้วยไพ่ที่มีมูลค่าใกล้เคียงกัน (เช่น ออกเลข 5, 7, 8, 9) ดังนั้นเราอาจต้องประมูลแบบอนุรักษนิยมมากกว่าปกติ จะได้ไม่เสียเยอะ บางตาตลาดอาจมีไพ่ที่มูลค่าต่างกันมาก (เช่น 1, 4, 19, 29) ดังนั้นเราอาจต้องอนุรักษนิยมน้อยลง แข่งประมูลเพื่อจะได้ไม่ลงเอยกับไพ่มูลค่าติดดิน 

ธรรมชาติ ‘สุ่ม’ ของ For Sale แปลว่าเป็นไปได้ที่เราจะทำกำไรจากอสังหาฯ มูลค่าต่ำเตี้ย มากกว่าอสังหาฯ มูลค่าสูงลิ่ว ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าในช่วงท้ายเกม คู่แข่งเราทุกคนขายอสังหาฯ มูลค่าสูงลิบไปหมดแล้ว และเราโชคดีที่หงายไพ่เช็คออกมา ปรากฏว่าเป็นเช็คมูลค่า $10,000 เท่ากันทุกใบ เปิดโอกาสให้เราขายอสังหาเบอร์ 1 (เพิงหมาแหงน) ได้อย่างชิลล์ๆ พลางยิ้มเยาะคนอื่น ในราคา $10,000 ฟันกำไรไปเหนาะๆ $9,000 เพราะประมูลมันมาในราคา $1,000 (1 เหรียญ) เท่านั้น

For Sale เป็นเกมที่ไม่เหมาะสำหรับเกมเมอร์สายวางแผนผู้เคร่งครัด ไม่ชอบให้มีเรื่องที่ควบคุมไม่ได้อย่าง ‘ดวง’  มาทำลายแผนที่ตัวเองวางไว้อย่างสวยงาม แต่สำหรับผู้ประกอบการและคนทั่วไปที่รู้ซึ้งเป็นอย่างดีถึงบทบาทของโชคในธุรกิจและชีวิตประจำวัน For Sale ก็เป็นเกมสนุกติดหนึบที่ช่วยให้เราแยกแยะได้ดีขึ้นระหว่าง ‘ดวง’ และ ‘ฝีมือ’

จะได้ไม่พานหลงระเริงจนหลงผิด คิดว่าความสำเร็จทั้งหลายล้วนเกิดจาก ‘ฝีมือ’ ของเราเท่านั้น

Tagged:

Writer

นักเขียน นักแปล นักวิจัย และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน ที่สนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ธุรกิจที่ยั่งยืน การเงินเพื่อสังคม และสิทธิเสรีภาพออนไลน์ สฤณีเรียกตัวเองอย่างภาคภูมิใจว่า “เกมเมอร์” โดยเล่นเกมมาแล้วหลายพันเกมตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งเกมตู้ เกมคอมพิวเตอร์ และบอร์ดเกม ช่วงทศวรรษ 1998-2008 สฤณีมีชื่อเสียงระดับโลกในวงการเกมเมอร์ในฐานะผู้ก่อตั้งและรันเว็บไซต์ Home of the Underdogs กรุเกมเก่าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น ซึ่ง ณ จุดสูงสุดมีเกมให้ดาวน์โหลดมากกว่า 4,000 เกม ส่องประสบการณ์การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ของเธอได้จากเพจ Fringer on Computer Games และบอร์ดเกมได้จากเพจ Fringer on Board Games

You Might Also Like