หรือนี่จะเป็นดาวดวงใหม่? มาสคอตน้องนากขี้โวยวายจาก Otteri ที่มากกว่าความคิวต์ยังพูดได้ด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหมีเนยจากแบรนด์ Butterbear ถือเป็นเคสที่จุดกระแสให้หลายๆ แบรนด์หันมาทำมาสคอตอีกมาก ซึ่งแม้กระแสอาจจางหายไปบ้างในหมู่คนทั่วไป แต่ในด้อมมัมหมีก็ยังมีแฟนคลับคอยซัพพอร์ตแบรนด์เสมอๆ ดูจากกระแสที่มาแรงและไปเร็วนี้เอง ที่อาจกล่าวได้ว่าแบรนด์ที่ทำมาสคอตออกมาหลังจากนี้ไม่ได้การันตีว่าจะสำเร็จทุกแบรนด์ไป แต่ต้องเป็นแบรนด์ที่จับจุดบางอย่างได้ และสินค้าต้องดีจริงด้วย

หนึ่งในนั้นคือมาสคอตของ Otteri น้องนากขี้โวยวายที่ตอนนี้กำลังเป็นกระแสในแพลตฟอร์ม TikTok เพราะมากกว่าเป็นมาสคอตที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนเหมือนมาสคอตตัวอื่นๆ แล้ว สิ่งที่น้องนากของ Otteri มีเหนือชั้นกว่าคนอื่น นั่นคือการที่น้องพูดได้!

ก่อนที่น้องนากจะเริ่มทำคอนเทนต์นากพูดได้ น้องนากก็ทำคอนเทนต์คล้ายๆ กับมาสคอตตัวอื่นๆ เช่น เต้นตามเพลง มีเสียงพากย์ด้วยน้ำเสียงปกติ ทำคอนเทนต์ที่ดูน่ารัก แต่หลังจากน้องนากเริ่มแผดเสียงของตัวเองออกมาซึ่งเป็นเอกลักษณ์และมีความคล้ายเสียงของสัตว์จริงๆ แม้จะฟังยากสักหน่อย แต่เสียงแสบแก้วหูของน้องที่เข้ากับหน้าตาซึ่งดูโมโหตลอดเวลา ก็เรียกความสนใจจากผู้บริโภคได้ไม่น้อย

ปัจจุบันคลิปวิดีโอของนากโวยวายมียอดวิวสูงสุดที่ 3.9 ล้าน อีกคลิปที่ยอดวิวไล่เลี่ยกันอยู่ที่ 2.5 ล้านและ 1.1 ล้านตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ตุลาคม) ลักษณะคอนเทนต์ที่นากโวยวายเน้นทำคือการพูดคุยกับผู้คนที่เดินผ่านไปมา สลับกับการแสดงที่ใส่อารมณ์ ดูเหวี่ยงวีน แต่คนที่เดินผ่านกลับรู้สึกว่าน่ารักน่าเอ็นดู 

สถานที่ที่นากไปยังไม่จำกัดเพียงในห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์ประชุม เพราะมีทั้งตลาดนัด ห้องน้ำ คอนเสิร์ตกลางแจ้ง เรียกว่าที่ไหนที่มีสาขาของ Otteri น้องนากก็ไปทำคอนเทนต์ได้หมด อาจด้วยข้อได้เปรียบของ Otteri ที่มีสาขามากและหลากหลายสถานที่ ทำให้น้องนากเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายกลุ่มมากกว่าใครเพื่อน

คำถามคือทำไมมาสคอตส่วนใหญ่ถึงพูดไม่ได้ หรือเลือกที่จะไม่พูด?

หัวใจหลักๆ คือเมื่อพูดไม่ได้ นั่นจะทำให้มาสคอตตัวนั้นมีความเป็นสากลและสื่อสารกับคนในวงกว้างและหลายกลุ่มมากกว่า นอกจากนั้น การที่มาสคอตพูดไม่ได้ยังทำให้ผู้คนจินตนาการและสร้างเรื่องราวของมาสคอตตัวนั้นๆ ได้ และความพูดไม่ได้นี้เองก็ยังอาจทำให้มาสคอตดูน่ารักและเป็นมิตรมากกว่าด้วย

แล้วถ้ามาสคอตพูดได้แบบนากโวยวายจะส่งผลดียังไงบ้างไหม?

ท่ามกลางมาสคอตที่ผุดขึ้นมากมาย จะมีอะไรดีไปกว่าการสร้างความแตกต่าง ดังนั้น เมื่อมาสคอตนากโวยวายพูดได้ จึงทำให้ผู้คนจดจำนากและแบรนด์ได้ว่านี่แหละคือมาสคอตตัวแรกๆ ที่เราเห็นว่านอกจากจะเต้นได้แล้ว ยังสนทนากับเราได้ด้วย สิ่งนี้เองที่สร้าง emotional connection กับผู้บริโภคจนทำให้คนเกิดความผูกพันกับมาสคอตและแบรนด์

มาสคอตมีเสียงนั้นใช้เสียงอะไรก็ได้หรือเปล่า?

น่าตั้งข้อสังเกตต่อไปว่าที่นากโวยวายนั้นได้รับความสนใจก็ไม่ใช่เพราะมันมีเสียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เพราะเสียงนี้ยังถูกคิดมาแล้วภายใต้คอนเซปต์ของแบรนด์และสอดคล้องกับความเป็นนากจริงๆ ด้วยว่าหากนากร้องก็น่าจะมีเสียงแบบนี้ และเสียงของนากโวยวายยังอู้อี้ ไม่ได้ชัดถ้อยชัดคำแบบที่เราๆ พูดกัน 

หากนากโวยวายพูดด้วยน้ำเสียงแบบมนุษย์ทั่วไป ผู้คนก็อาจไม่ได้รู้สึกถึงความเป็น ‘มาสคอต’ ที่จะเป็นมนุษย์ก็ไม่ใช่ แต่เป็นสัตว์ก็ไม่เชิง ดังนั้นความก้ำกึ่งตรงนี้เองที่ทำให้นากยังคงน่ารักแม้จะยังพูดได้เหมือนคน 

ดังนั้นในยุคที่หลายคนหันมาจับการตลาดรูปแบบเดียวกันอย่างการทำมาสคอต หากผู้ประกอบการต้องการสร้างมาสคอตเป็นของตัวเอง นากโวยวายของ Otteri ถือเป็นกรณีศึกษาที่ดีในการสร้างความแตกต่าง แต่ยังคงความน่ารักได้ จนทำให้ brand awareness ของ Otteri ไปไกลมากขึ้น ที่สำคัญยังสะท้อนว่าการจะทำอะไรตามกระแสนั้น ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายและรวดเร็ว แต่ต้องคิดมาอย่างดีให้สอดคล้องกับ brand identity จริงๆ

ส่วนใครอยากชมความน่ารักของน้องนากขี้โวยวาย ไปติดตามชมได้ที่ช่อง https://www.tiktok.com/@otteriwashdryofficial และถ้าใครอยากรู้จัก Otteri มากกว่านี้ก็เข้าไปอ่านบทสัมภาษณ์ของแบรนด์ได้ที่ capitalread.co/otteri

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like