ส่องโอกาสตลาดสเต๊กอันหอมหวาน จากมุมมองผู้นำตลาดอย่าง ‘Sizzler’
‘วันนี้กินอะไรดี’ คำถามโลกแตกที่ทำให้คิดไม่ตกอยู่บ่อยครั้ง ในฐานะผู้บริโภคที่จำเป็นต้องจับจ่ายใช้สอยไปกับค่าอาหารเป็นเรื่องปกติ รวมถึงในช่วงนี้ที่นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ยิ่งทำให้หลายธุรกิจเริ่มฟื้นตัวได้ โดยเฉพาะ ‘ธุรกิจอาหาร’ ที่คาดว่าในปี 2567 มูลค่าตลาดจะเติบโตถึง 11%
แต่ใช่ว่าธุรกิจอาหารทุกกลุ่มจะเติบโตได้ อย่างในปีนี้กลุ่มอาหารที่น่าจับตามองอย่างมากคือ ‘ตลาดร้านอาหารประเภทสเต๊ก’ ด้วยแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 จากมูลค่าตลาดร้านอาหาร 1.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าตลาดสเต๊กถึง 9,000 ล้านบาท
เทรนด์สเต๊กในไทยที่โตสวนตลาดอเมริกา
ผู้นำตลาดสเต๊กอย่าง ‘Sizzler’ ในเครือ เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้เล่าให้ฟังว่าภาพรวมทั้งในภูมิภาคเอเชียเติบโตขึ้นกว่า 5% สวนทางกับตลาดสเต๊กในอเมริกาที่โดนผลกระทบจากการรุกตลาดของเชนธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน
จากที่ Sizzler ในอเมริกามี 300 สาขา กลับเหลือแค่ 80 สาขา ในขณะที่ไทยมี 64 สาขา และยังมีแผนการขยายสาขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างในปีที่แล้วมีการขยายสาขาไป 5 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเน้นไปที่หัวเมืองรอง เพราะมองเห็นช่องว่างทางการตลาดที่เปิดกว้างอีกมาก
เทรนด์สเต๊กพรีเมียมโอกาสทองของร้านอาหาร
Sizzler ยังเล่าว่าผู้บริโภคในไทยมองหาสเต๊กที่มีคุณภาพในระดับพรีเมียมมากขึ้น และยอมจ่ายแพงมากขึ้น หากได้กินอาหารคุณภาพในราคาที่สมเหตุสมผล ส่วนหนึ่งมาจากการได้เดินทางไปท่องเที่ยวและลิ้มลองรสชาติสเต๊กในต่างประเทศที่มีความพรีเมียมมากกว่า สังเกตได้จากยอดการจ่ายค่าอาหารในร้าน Sizzler ที่เมื่อก่อนจะอยู่ที่ประมาณ 700 บาทต่อบิล แต่ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาประมาณ 800 บาทต่อบิล
การเติบโตของตลาดพรีเมียมไม่ได้เป็นแค่โอกาสทองของร้านที่อยู่ในเชนธุรกิจนี้อยู่แล้วเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้น ผู้เล่นอย่าง SANTA FE’ และโอ้กะจู๋ ก็เข้าสู้ด้วยการออกเมนูสเต๊กพรีเมียม
ทาง Sizzler เองก็ได้ปรับกลยุทธ์ เปิดเกมรุกจากตอนแรกที่เป็นร้านอาหารประเภทสเต๊กและสลัดบาร์ ก็ได้เน้นไปที่ตลาดสเต๊กพรีเมียมมากขึ้น ด้วยการใช้ 5 กลยุทธ์หลัก ได้แก่
1. หัวใจหลักคือความสดใหม่ ความพรีเมียม และคุณภาพ
ตั้งแต่การคัดสรรเมนูในสลัดบาร์ ที่มีการนำผลไม้ตามฤดูกาลมาเพิ่มในเมนู และเพิ่มเมนูที่มีความพรีเมียมมากขึ้น จัดจานให้ดูโมเดิร์นยิ่งขึ้น
2. เมนูหลากหลายและพัฒนาเมนูใหม่อยู่เสมอ
นอกจากเมนูหลักที่คิดถึง Sizzler ต้องนึกถึงสลัดบาร์และชีสโทสต์แล้ว ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมนูใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอยู่เสมอ โดยมักจะออกเมนูใหม่ๆ ในวันสำคัญ เช่น วันปีใหม่ วันเด็ก และล่าสุดช่วงก่อนสงกรานต์มีการเพิ่มเมนูที่บอกเล่าถึงสตอรีจุดกำเนิดของ Sizzler ในอเมริกาและยังคงมีกลิ่นไอของอาหารตะวันตกแท้ๆ อย่างเมนูสเต๊กพรีเมียมในรูปแบบบาร์บีคิว
3. ดึงดูดใจลูกค้าด้วยความคุ้มค่า
Sizzler มักใช้กลยุทธ์การตั้งราคาแบบ Value for Money คือการตั้งราคาให้ลูกค้ารู้สึกว่าเข้าถึงสินค้าคุณภาพดีได้ในราคาที่คุ้มค่า รวมถึงดึงดูดลูกค้าที่เป็นนักเรียน นักศึกษามากยิ่งขึ้น จึงนำเมนูสุดคุ้มกลับมาให้บริการเพื่อเพิ่มยอดผู้บริโภคแบบไดน์อิน เช่น เมนูซี่โครงหมูบาร์บีคิว และเมนูสเต๊กเนื้อนิวยอร์กที่มีการเพิ่มปริมาณ แต่ยังขายในราคาเท่าเดิม
4. จัดโปรโดนใจกระตุ้นยอดขาย
แม้ Sizzler จะพยายามตั้งราคาให้ดูสมเหตุสมผล แต่ก็มีการจัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายในช่วงวันสำคัญ อย่างกรณีที่เห็นภาพชัดที่สุดจะเป็นโปรวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ 4 ปีมีครั้ง ก็ได้จัดโปรเมนูสเต๊กสุดฮิต 1 แถม 1 ในราคา 299 บาท รวมสลัดบาร์ไม่อั้น ทำให้วันนั้นมีคนมาเข้าแถวรอตั้งแต่ก่อนร้านเปิดจนมีคิวทะลุถึง 700 คิวเลยทีเดียว นอกจากจะช่วยกระตุ้นยอดขายแล้ว ยังดึงดูดให้ลูกค้าเก่าที่หายไปนาน กลับมาใช้บริการซ้ำๆ แม้จะหมดโปรโมชั่นไปแล้วก็ตาม
5. สร้างความผูกพันด้วยระบบสมาชิก
ในช่วงต้นปี 2566 Sizzler มีสมาชิกกว่า 250,000 คน แต่ในช่วงปลายปี 2566 กลับมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเกินเท่าตัวถึง 550,000 คน เพราะใช้กลยุทธ์การแจกคูปองและให้สมาชิกสะสมคะแนนเพื่อรับส่วนลด นอกจากจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นแล้ว ยอดขายกว่า 25% ยังมาจากผู้ที่เป็นสมาชิกอีกด้วย
ด้วยตลาดสเต๊กที่โตวันโตคืน ในฐานะผู้ประกอบการก็ถือเป็นทั้งโอกาสทองในการบุกตลาดและพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องงัดกลยุทธ์เด็ดมาแข่งกับแบรนด์อื่นๆ ที่ตั้งใจปาดหน้าสเต๊กแบ่งมูลค่าตลาดชิ้นโตนี้ ส่วนในฐานะผู้บริโภคเองก็ได้มีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้น จากหลายร้านที่ปรับตัวมาสู้กันด้วยเมนูที่น่าสนใจและราคาที่ดูคุ้มค่ามากกว่านั่นเอง