วิธีการทำธุรกิจของ ‘ขายหัวเราะ’ ที่ไม่เคยหมดมุก จนทำให้ธุรกิจยืนระยะมาได้ถึง 50 ปี
The CEO of KaiHuaRor
ในบรรดาศาสตร์ของการทำคอนเทนต์ หากจะบอกว่า ‘คอนเทนต์ตลก’ ติดอันดับต้นๆ ของความยากในการทำคงไม่ผิดแต่อย่างใด
เพราะกว่าจะทำให้คนดูหัวเราะตามได้ ต้องอาศัยทั้งศาสตร์ ศิลป์ เซนส์ส่วนตัว และจังหวะที่ถูกต้องมากๆ
ความยากจะทวีคูณ หากต้องทำให้คอนเทนต์ตลกนั้นกลายเป็นธุรกิจ
และจะยากยิ่งขึ้นไปอีก หากต้องทำให้ธุรกิจผลิตคอนเทนต์ตลกยืนอยู่ได้ในระยะยาว ด้วยรสนิยมอารมณ์ขันของคนในสังคมก็เคลื่อนไปข้างหน้ามิได้ย่ำอยู่กับที่
ด้วยความยากต่างๆ ที่ว่ามาเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รายการตลก ซิตคอม หรือคอนเทนต์ขำขันที่เคยโด่งดังในอดีตค่อยๆ หายไปจากท้องตลาด
ทีละเรื่อง…ทีละเรื่อง
ทว่ามีธุรกิจขายคอนเทนต์ตลกอยู่เจ้าหนึ่งที่ยังไม่มีทีท่าจะหมดมุก ทั้งยังเห็นพวกเขาลุกขึ้นมาทำอะไรสนุกๆ อยู่ตลอดเวลา
และจากชื่อเรื่องของบทความนี้ คุณผู้อ่านหลายๆ คนก็คงจะรู้กันอยู่แล้วว่าเราจะมาพูดถึง ‘ขายหัวเราะ’
ขายหัวเราะ มีจุดเริ่มต้นมาจาก วิธิต อุตสาหจิต หรือที่แฟนการ์ตูนหลายคนรู้จักกันในนามของ บ.ก.วิติ๊ด ลูกชายของ บันลือ อุตสาหจิต ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ที่มีชื่อว่า บรรลือสาส์น
ความโด่งดังของหนังสือการ์ตูนที่อยู่ในสังกัดอย่างเรื่อง เบบี้ ที่เขียนโดย อาวัฒน์–วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ และ หนูจ๋า ที่เขียนโดย จุ๋มจิ๋ม–จำนูญ เล็กสมทิศ ทำให้บรรลือสาส์นเป็นสถานที่ที่นักวาดการ์ตูนทั่วฟ้าเมืองไทยฝันถึง
ต้นฉบับหลายร้อยเรื่องถูกส่งมายังสำนักพิมพ์แห่งนี้อย่างไม่ขาดสาย และเมื่อกลับมาจากโรงเรียนวิธิตก็มักจะมาช่วยผู้เป็นพ่อคัดแยกต้นฉบับ การ์ตูนหลายเรื่องที่ผ่านสายตาเขา ทำให้วิธิตเกิดไอเดียในการเอาต้นฉบับของนักเขียนหลายๆ คนมารวมกันในเล่มเดียว จากในสมัยก่อนหนังสือการ์ตูนหนึ่งเล่มก็มักจะเขียนโดยนักเขียนเพียงคนเดียวเท่านั้น
จากไอเดียนั้นจึงเกิดมาเป็น ขายหัวเราะ ฉบับแรกในปี 2516
จนมาถึงวันนี้ปี 2566 ขายหัวเราะ มีอายุครบ 50 ปีพอดิบพอดี
การเดินทางมาครึ่งศตวรรษ พวกเขาผ่านทั้งเรื่องตลกและเรื่องราวที่ทำให้ขำไม่ออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าคลื่นดิสรัปต์ของสื่อสิ่งพิมพ์ การทำให้แบรนด์ของคนรุ่นพ่อเข้าถึงคนรุ่นปัจจุบัน หรือการกระโดดออก ‘นอกกรอบ’ การ์ตูน 3 ช่องในหนังสือ เพื่อพา ขายหัวเราะ ไปยังยังพรมแดนอื่นๆ
และจากหนังสือการ์ตูน ก็กลายมาเป็นอาณาจักร ขายหัวเราะ ที่มีทั้งแอนิเมชั่น ภาพยนตร์ บริการรับออกแบบคาแร็กเตอร์ ไปอยู่บนซองขนม ไปอยู่บนสเกตบอร์ด ไปอยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และไปอยู่บนสินค้าอีกหลายอย่างมากมาย
เราเกิดข้อสงสัยว่าพวกเขาทำให้ธุรกิจที่มีจุดเริ่มต้นผลิตคอนเทนต์ตลก กลายมาเป็นอุตสาฮากรรมที่ ‘ยืนระยะมาจนถึงปัจจุบัน’ ได้ยังไง
คงไม่มีใครตอบข้อสงสัยได้ดีไปกว่าผู้ก่อตั้งอย่าง วิธิต อุตสาหจิต ที่จะพาเราย้อนไปดูอดีตของ ขายหัวเราะ และ นิว–พิมพ์พิชา อุตสาหจิต ลูกสาวของ บ.ก.วิติ๊ด ผู้บริหาร ขายหัวเราะ ในปัจจุบัน ที่จะพาเรามองไปข้างหน้า ว่าอนาคต ขายหัวเราะ จะก้าวไปในทางใด
ย้อนกลับไปในอดีตที่ว่าหนังสือ ขายหัวเราะ ได้รับความนิยม อยากรู้ว่าคนนิยมขนาดไหน
วิธิต : ตอนนั้นเราขายดีมาก มันป๊อปปูลาร์ขนาดที่ร้านตัดผมแทบทุกร้าน ท่ารถแทบทุกท่าจะต้องมีวางไว้ บางช่วงพีคๆ มีทำสองวัน 1 เล่ม แต่ละวันก็จะมีนักเขียนส่งต้นฉบับเข้ามากันเยอะมาก เวลาไปรษณีย์มาส่งจดหมายนี่แบกมาเป็นถุงกระสอบเหมือนซานตาคลอสเลย
ก็เป็นอย่างนั้นเรื่อยมากระทั่งปี 2007 ที่สตีฟ จอบส์ ออก iPhone รุ่น 1 ตอนนั้นเรารู้เลย ว่าสิ่งที่เราเคยทำมา มันจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ตอนนั้นคนยังไม่ค่อยพูดคำว่า digital disruption แล้วคุณรู้ได้ไงว่าธุรกิจที่ทำอยู่จะไม่เหมือนเดิม
วิธิต : ตอนที่ BB มา ผมรู้สึกว่ามันยังทำอะไรหนังสือไม่ได้ เพราะจอก็เล็ก หมุนก็ช้า กระทั่งเห็น iPhone นี่แหละ โอ้โห ตอนนั้นรู้เลยว่ามันจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว จอมันใหญ่ มีปุ่มกดแค่ปุ่มเดียว แล้วที่บ้านผมทำธุรกิจโรงพิมพ์ที่พิมพ์นิตยสารให้กับคนอื่นด้วย มันก็เหมือนเห็นสัญญาณ ตอนนั้นก็เลยต้องชะลอการขยายกิจการโรงพิมพ์ แล้วเริ่มมองหาลู่ทางอื่น เพราะรู้สึกว่าเทคโนโลยีมันต้องเติบโตเร็วมากแน่ๆ แต่ก็ไม่คิดว่าจะเร็วขนาดนี้
พอสัญญาณเริ่มชัด คุณทำยังไง
วิธิต : ตอนนั้นนิวเขาก็เริ่มมาช่วยดูพอดี
นิว : ตอนเรียนได้ทำ case study เกี่ยวกับเรื่อง digital disruption ก็เลยได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองกับคุณพ่อบ้าง ซึ่งเอาจริงๆ ตอนนั้นเรายังไม่ได้มีประสบการณ์ทำงาน มีแค่ทฤษฎีในหนังสือ เรื่องนี้ก็เลยต้องยกความดีความชอบให้กับ ‘วิสัยทัศน์’ ของคุณพ่อกับคุณแม่ (โชติกา อุตสาหจิต) มากๆ เขาสอนนิวตลอดว่า อย่ามองว่า ขายหัวเราะ เท่ากับหนังสือการ์ตูน แต่ให้มองมันเป็นแบรนด์การ์ตูนแบรนด์หนึ่ง แล้วมันก็จะกลายเป็นเหมือนน้ำที่ไปอยู่ในแพลตฟอร์มไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่บนสื่อสิ่งพิมพ์อย่างเดียว ก็เลยทำให้เราเห็นโอกาสทางธุรกิจอีกมาก
หลายคนชอบถามว่า ขายหัวเราะ เพิ่งมาปรับตัวตอนเจอดิสรัปต์ชั่นใช่ไหม ความจริงคือไม่ใช่ เพราะคุณพ่อสร้างวิธิตาแอนิเมชั่นที่เป็นสตูดิโอรับทำแอนิเมชั่นมาตั้งแต่ปี 2001 จนปัจจุบันที่นี่เป็นฮับพัฒนาคาแร็กเตอร์ให้กับแบรนด์อื่นด้วย มีคาแร็กเตอร์หลายตัวมากๆ ที่คนไทยคุ้นกันแต่ไม่รู้ว่าเป็นงานจากวิธิตาแอนิเมชั่น
พูดถึงวิสัยทัศน์ ทำยังไงเราจึงจะเป็นคนมีวิสัยทัศน์ได้
วิธิต : เราต้องเปิดใจและต้องรับรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเคลื่อนไหวของเทคโนโลยี สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม หรือเทรนด์ต่างๆ จากนั้นก็เอาข้อมูลเหล่านี้มาประมวลดู ว่าเราจะสามารถใช้ประโยชน์อะไรจากมันได้บ้าง อาจจะไม่ได้ติดตามแบบประชิดหรือลึกมาก แต่ถ้าใครมาคุยด้วยก็สามารถคุยกับเขารู้เรื่องได้
นิว : คุณพ่อเปิดรับเยอะมาก เขาดู BLACKPINK ด้วยนะคะ รู้หมดคนไหนลิซ่า เจนนี่ จีซู โรเซ่ (หัวเราะ) และอาจด้วยความที่เขาโตมากับโรงพิมพ์ที่มีความเป็น systematic ทำให้เขาต้องคอยตั้งคำถามกับตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่ามันจะเร็วกว่านี้ได้ไหม ประหยัดต้นทุนกว่านี้ได้รึเปล่า มีช่องว่างตรงไหนให้โตได้อีก หรือจะเพิ่มประสิทธิภาพยังไงได้บ้าง เขาเลยเอาสิ่งนี้มาตั้งคำถามกับเรื่องอื่นๆ ด้วย
ย้อนกลับไป ขายหัวเราะ ก็เกิดจากการที่คุณพ่อเห็นช่องว่างในตลาดว่ายังไม่มีหนังสือการ์ตูนแนว multi-style comic อยู่ หรือการแตกแบรนด์อย่าง มหาสนุก หนูหิ่น ปังปอนด์ ก็เกิดจากการที่เขาเห็นช่องว่างในการเติบโต
วิธิต : ผมว่าเราต้องเป็นคนที่มีความถ่อมตัวด้วย ใจมันถึงจะเปิดรับอะไรใหม่ๆ ได้
จุดไหนที่คุณตัดสินใจให้ลูกสาวเข้ามาสานต่อธุรกิจ
วิธิต : ผมสนุกกับการทำงานมากนะ แต่พอทำจุดนึง ก็รู้สึกว่าธุรกิจมันต้องการความเปลี่ยนแปลง เราจะยื้อเวลาไว้ไม่ได้ ก็เลยต้องหาคนรับไม้ต่อ และคิดว่านิวต้องเข้ามาดู
ลูกแต่ละคนก็มีลักษณะที่ต่างกันออกไป แต่นิวเขาชัดเจนมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าเป็นคนที่รักการอ่านมากๆ เวลาเอางานเขียนที่เขาส่งโรงเรียนมาดูก็รู้สึกว่าไม่ธรรมดา รู้สึกว่าเด็กคนนี้มีศักยภาพพัฒนาต่อได้
อะไรคือจุดที่ทำให้ตัดสินใจมาสานต่อธุรกิจของพ่อ
นิว : จริงๆ พ่อกับแม่ไม่ได้ห้ามให้เราไปทำงานที่อื่น แต่ก็แอบมีความวางตัวเบาๆ ซึ่งพอได้เข้ามาลองทำก็เกิดคำถามกับตัวเองหลายครั้งเหมือนกันว่าถ้าไม่ได้ทำงานที่นี่ ตัวเราในเวอร์ชั่นอื่นจะเป็นยังไง
แต่สุดท้ายก็รู้สึกว่ามันคุ้มค่า อย่างแรกคือเราได้ช่วยงานคุณพ่อกับคุณแม่ อย่างที่สองคือเราได้เรียนรู้จากท่านในวันที่ท่านยังสอนเราได้ เราเชื่อว่ายังมีเจ้านายคนอื่นที่ดีมากๆ แต่จะไม่มีเจ้านายคนไหนที่สอนเรา เข้าใจเรา แล้วเปิดใจให้เราเท่าเขาทั้งสองอีกแล้ว สิ่งเหล่านี้มันคุ้มค่ามากๆ ในการจะแลกกับการที่ไม่ได้มีประสบการณ์ทำงานที่อื่น แล้ว ขายหัวเราะ ก็เป็นที่ทำงานที่แรกของเรา
ตำแหน่งแรกใน ขายหัวเราะ ของคุณคืออะไร
นิว : ที่จริงเราเข้ามาช่วยเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่เด็กอยู่ประจำ แต่ถ้าเอาตำแหน่งงานอย่างเป็นทางการจริงๆ หลังเรียนจบก็คือ Business Development Director หน้าที่คือพัฒนางานใหม่ๆ ว่าจะมีโอกาสทางธุรกิจอะไรบ้าง
ช่วงแรกของการทำงานเป็นยังไง
นิว : ถึงเป็นลูกเจ้าของแต่ตอนนั้นก็แอบเคว้งเหมือนกัน เข้ามาใหม่ๆ ก็ยังไม่รู้ว่าต้องทำอะไร เราไม่ได้อันเดอร์ใครนอกจากพ่อกับแม่ ซึ่งเขาก็ไม่ได้ตัวติดกับเรา พนักงานคนอื่นที่เขาอยู่มาก่อนก็ไม่ได้กล้าสอนเราขนาดนั้น ช่วงแรกๆ มันเลยมีความรู้สึกว่าเราไม่รู้หน้าที่ตัวเอง
แล้วตอนนั้นกำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัลดิสรัปต์ชั่น เป็นช่วงที่ฝุ่นตลบมากๆ แต่สุดท้ายก็มานั่งตั้งสติ หาว่าคุณค่าของเราต่อบริษัทคืออะไร แล้วค่อยๆ จับจุดจากตรงนั้นมาเรื่อยๆ
แล้วหน้าที่ของคุณตอนนี้คืออะไร
นิว : คือการดูภาพรวมทั้งหมดขององค์กร แต่ละทีมเขาขาดเหลืออะไร สามารถซิงก์กันตรงไหนแล้วทำให้งานออกมาดีขึ้นกว่าเดิม อาจจะไม่ได้ไปดูต้นฉบับหรือดูลายเส้นทั้งหมด เพราะมีคนที่เขาเชี่ยวชาญกว่าเราทำอยู่แล้ว แล้วเราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปทำให้มันเกิดการทำงานที่ซ้ำซ้อน และดูว่าบริษัทจะต่อยอดไปทางไหนได้บ้าง
ทุกวันนี้คุณต่อยอด ขายหัวเราะ ไปทางไหนบ้าง
นิว : ไปหลายแพลตฟอร์มมาก มีการขยายธุรกิจจาก B2C ไปยัง B2B เช่นการขายลิขสิทธิ์เอาตัวการ์ตูน ขายหัวเราะ ไปอยู่บนสินค้าต่างๆ มีการไปคอลแล็บกับหลากหลายแบรนด์ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์แฟชั่น อาหาร อสังหาฯ ฯลฯ
หรือแม้แต่ไปเป็นทูตการท่องเที่ยวก็เคยมาแล้ว คือมันจะมีแก๊กที่เป็นภาพจำของ ขายหัวเราะ อยู่แก๊กนึง ชื่อว่าแก๊กติดเกาะที่หน้าตามันดันไปเหมือนกับเกาะแห่งหนึ่งในจังหวัดตราด จนคนเรียกกันติดปากกันไปเองว่านั่นคือเกาะขายหัวเราะ พอช่วงโควิดที่การท่องเที่ยวซบเซา เราก็ไปทำแคมเปญเกาะขายหัวเราะกับทาง ททท. จนสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราดีใจมาก
อย่างที่บอกเราไม่ได้มองว่า ขายหัวเราะ เท่ากับหนังสือการ์ตูน แต่มองเป็นแบรนด์ และแบรนด์นี้ตั้งอยู่บน 4 แกนหลักด้วยกันคือ อารมณ์ขัน การ์ตูน คาแร็กเตอร์ และครีเอทิวิตี้
เมื่อมองเป็นแบบนี้เราจะพา ขายหัวเราะ ไปอยู่ในรูปแบบไหนก็ได้ทั้งนั้น และนั่นก็หมายถึงโอกาสเติบโตทางธุรกิจอีกมากมาย
หรือในอนาคตที่เทคโนโลยีเปิดโอกาสให้เรามากขึ้น มันก็น่าจะต่อยอดไปได้อีกมาก อาจทำให้เราสามารถข้ามกำแพงภาษา และพา ขายหัวเราะ ออกนอกประเทศได้
พูดถึงเทคโนโลยี เห็น ขายหัวเราะ เอา AI มาช่วยวาดการ์ตูนให้
นิว : มันเป็นโปรเจกต์ Sandbox ที่ทำให้ทีมของเราได้ลองเปลี่ยนจากคอนเทนต์ครีเอเตอร์มาเป็นคนพรอมต์ (prompt) อารมณ์ขันแทน หลายคนคิดว่าเราจะเอา AI มาแทนนักวาดเหรอ ต้องบอกเลยว่าไม่ใช่อย่างแน่นอน เราตั้งคำถามและทดลองเรื่องอารมณ์ขันกับ AI และที่ให้ทีมลองทำก็เพื่อจะให้พวกเขาได้ลองออกจากคอมฟอร์ตโซน ได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือใหม่ๆ
เราจะไม่เอา AI มาแทนที่นักวาด เรายังให้คุณค่ากับความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์มากๆ อีกอย่างการจะพรอมต์ AI ให้ออกมาดี ก็ต้องมาจากการตั้งโจทย์ที่ดีที่มาจากความคิดของมนุษย์
กลัวว่า AI จะมาดิสรัปต์การวาดการ์ตูนไหม
นิว : การที่เราผ่านดิสรัปต์ของยุคสิ่งพิมพ์มาแล้ว ทำให้เรากลัวการดิสรัปต์ชั่นน้อยลง
มุมหนึ่งลายเส้น ขายหัวเราะ ก็เป็นภาพจำของคน แต่อีกมุมก็กลายเป็นลายเส้นที่คนรุ่นใหม่เข้าไม่ถึง คุณมองเรื่องนี้ยังไง
นิว : จริงๆ ขายหัวเราะ ไม่ได้มีลายเส้นตายตัว เพราะตั้งแต่แรก ขายหัวเราะ ก็เป็นหนังสือการ์ตูนที่รวบรวมงานจากนักเขียนหลายๆ คนอยู่แล้ว เพียงแต่ลายเส้นของนักวาดชื่อดังรุ่นก่อนๆ อย่างพี่ต่ายหรือพี่นิคมันประสบความสำเร็จมากๆ จนกลายมาเป็นภาพจำที่แข็งแรงมาถึงวันนี้
แล้วเราก็ไม่ได้อยากจะทิ้งมันไปเพราะมันเป็น asset ที่มีค่ามากๆ ของแบรนด์ ขายหัวเราะ ส่วนตอนนี้เราก็มีนักวาดใหม่ๆ เข้ามาเสริมเยอะมาก ถ้าเข้าไปดูช่องทางออนไลน์ต่างๆ ของ ขายหัวเราะ ก็จะเห็นว่ามีรูปแบบลายเส้นที่หลากหลายมาก แล้วเราก็เวลคัมนักวาดรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน
อย่างเช่นจะมีคอนเทนต์หนึ่งในเพจของเราที่เอนเกจฯ ดีมากๆ คือ ‘ขำสารขัณฑ์’ ลายเส้นจะเป็นขาวๆ เพลนๆ ใช้สีไม่มาก ให้ความรู้สึกเหมือนการ์ตูนฝรั่ง แต่คนก็ชอบมาก แล้วก็เริ่มเป็นการสร้างภาพจำคาแร็กเตอร์ใหม่ให้กับ ขายหัวเราะ ด้วย
วิธิต : สมัยก่อนที่สื่อยังมีจำกัด แม่แบบที่นักเขียนวาดก็เลยมีอยู่ไม่กี่อัน อย่างต่ายก็โตมาด้วยการมีจุ๋มจิ๋มเป็นแม่แบบ มันเลยอาจจะมีกลิ่นอายเดียวกัน แล้วมันก็สร้างเป็นภาพจำขึ้นมา
ได้ยินมาว่าคุณมีดิสนีย์เป็นแรงบันดาลใจ
วิธิต : โห ตอนเด็กๆ เขานั่งดูเป็นร้อยรอบ
นิว : เราเป็นแฟนดิสนีย์ตั้งแต่เด็ก แล้วดิสนีย์ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยปลูกฝังให้เรารักการ์ตูนและจินตนาการด้วยเหมือนกัน
แล้วพอได้มาเป็นฝั่งคนทำงาน ก็ทำให้รู้สึกว่าจริงๆ แล้วงานที่เราทำอยู่มันสำคัญมากนะ มันสามารถช่วยเชปจินตนาการให้เด็กคนนึงได้ หรือมันสามารถเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ อย่างเช่นเคสของเกาะขายหัวเราะ
อีกทั้งความเก่าแก่ของเขาที่อยู่มาได้ร้อยปี business model ของดิสนีย์ เลยเป็นคุณูปการต่อคนทำธุรกิจการ์ตูนอย่างเรามากๆ ไม่ใช่แค่สร้างแรงบันดาลใจในวัยเด็ก แต่สร้างแรงบันดาลใจตอนมาทำงานแล้วเหมือนกัน
อย่างเรื่องการทำงานที่เป็นระบบ ถ้าเทียบกันแล้วนักวาดการ์ตูนบ้านเราจะมีความเป็น one-man show มากๆ คือหนึ่งคนแยกทำหนึ่งเรื่องไปเลย ซึ่งมันเป็นข้อจำกัดไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ที่การช่วยกันคิดหลายคนยังไงก็ย่อมดีกว่า หรือเรื่องความต่อเนื่องและการรักษาคุณภาพงาน
แต่กับดิสนีย์ การทำการ์ตูนเรื่องนึงเขาจะมองเป็นสตูดิโอเลย ทีมร่างก็ทีมนึง ทีมคิดเรื่องก็ทีมนึง บางทีคาแร็กเตอร์หนึ่งตัวใช้คนทำหลายคนด้วยซ้ำ แล้วมันทำให้การ์ตูนนั้นกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่แข็งแรงได้ในระยะยาว ซึ่งการได้เรียนรู้จากผู้นำอย่างดิสนีย์ก็ทำให้เราได้รู้ว่าเรายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
ฟังจากที่เล่ามา ขายหัวเราะ ในรุ่นคุณเติบโตมาจากรุ่นพ่อไม่ใช่น้อย
นิว : โห (เน้นเสียง) แต่กว่าจะเป็นแบบนี้ได้ก็ไม่ง่ายเลย เราผ่านการ self-doubt กับตัวเองมาเยอะมาก ย้อนกลับไปตอนเรียนจบมาทำงานใหม่ๆ ด้วยความที่เราเป็นเด็กเรียนดีมาตลอด ก็เลยคิดว่าการทำงานมันจะดีไปด้วย แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ มีช่วงนึงที่ไฟแรงมาก คิดว่าตัวเองเก่งเหมือนตอนเรียน แต่พอได้ลองไปทำจริงๆ ไอสิ่งที่เราคิดว่าจะควบคุมได้มันกลับทำไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องให้คนอื่นเข้ามาช่วย ซึ่งตอนนั้นไม่ได้มีใครว่าเราเลยนะ แต่เราเฟลกับตัวเองมาก รู้สึกว่าเราไม่เก่ง ไม่ใช่ผู้นำที่ดี แวบนึงมีความคิดว่าถ้าเราไม่ใช่ลูกเจ้าของเราจะมี value อะไรกับบริษัทนี้หรือเปล่า
แล้วผ่านจุดนั้นมาได้ยังไง
นิว : แรกๆ มันก็รู้สึกดาวน์ แต่พอผ่านไปสักพักก็เริ่มมีความรู้สึกว่าเราจะจมอยู่กับสิ่งนั้นต่อไป หรือจะเอาความผิดพลาดที่ผ่านมามาเป็นแรงผลักดันเพื่อไม่ให้พลาดอีก ก็ค่อยๆ พยายามปรับ แล้วพอเริ่มปรับความคิดได้ เวลาเจอเรื่องเฟลก็จะใช้เวลาในการ recover กับมันสั้นลง รับรู้ใน self-esteem ของตัวเองได้มากขึ้น หลังๆ ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็จะมาถามตัวเองว่าเราทำในส่วนของเราดีที่สุดหรือยัง ถ้าทำเต็มที่แล้วแต่ผลยังไม่ดีแบบที่คาด เพราะเรื่องของลูกค้า ตลาด โชคร้าย หรืออะไรก็ตามแต่ มันก็เป็นปัจจัยภายนอกที่เกินกว่าเราจะควบคุมได้เแล้ว เพราะเราไม่สามารถควบคุมทุกสิ่งอย่างได้ด้วยตัวเองทั้งหมด
โชคดีอีกอย่างคือพ่อแม่เราไม่สปอยล์ มีอะไรก็จะบอกตรงๆ แล้วก็ยังมีคำแนะนำดีๆ จากพี่ผู้บริหารคนอื่นๆ ด้วย
เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่เสริมสร้างให้เราดีขึ้นกว่าเดิม
หลังจากผ่านอะไรมาไม่น้อย ในอนาคตคุณฝันให้ ขายหัวเราะ เป็นยังไง
นิว : ไม่รู้มันเป็นความฝันที่ห้าวหาญไปไหม แต่อยากให้ลายเส้นการ์ตูนแบบไทยๆ ของเรากลายเป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่อยู่ในสายตาของชาวต่างชาติได้ (ก่อนหน้า ขายหัวเราะ เคยวาดการ์ตูนสื่อสารเรื่องความเท่าเทียมให้กับ UN Women และสื่อสารเรื่องโควิดให้ WHO จากนั้นถูกนำไปแปลต่อเป็นภาษาอื่นๆ)
แล้วถ้า ขายหัวเราะ ทำได้ ก็น่าจะช่วยกระตุ้น creative economy ของวงการการ์ตูนไทยได้ด้วย เพราะ ขายหัวเราะ ไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่ยังมีการไปจับมือกับศิลปินนักวาดและคนทำงานสร้างสรรค์อีกหลายคน ซึ่งถ้าเราสามารถสร้าง ecosystem ตรงนี้ให้แข็งแรงได้ มันก็น่าจะนำพาให้เติบโตไปทั้งอุตสาหกรรม อีกอย่างคือคนไทยมีดีเอ็นเอของความตลกสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็เอามาทำให้ตลกได้หมด มันยังต่อยอดไปได้อีกไกล
ดูตัวอย่างจากในหลายๆ ประเทศที่เขาก็มีการ์ตูนเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของตัวเองเหมือนกัน
เรื่องที่ทำให้หัวเราะได้มากที่สุด ของการทำงานที่ ขายหัวเราะ
วิธิต : ผมหัวเราะบ่อยมากกับงานที่แฟนการ์ตูนส่งมา การทำงานของผมคือปกติเช้ามาก็จะมาจัดการเรื่องธุรกิจโรงพิมพ์ ตกบ่ายก็มาทำหนังสือ ฉะนั้นตอนเช้าเจอเรื่องเครียดที่โรงพิมพ์ แต่พอบ่ายมาได้อ่านงานตลกๆ ก็ทำให้หัวเราะได้อยู่บ่อยครั้ง
จริงๆ คุณเป็นคนตลกไหม
วิธิต : ไม่ เขาถึงเขียนแซวผมกันไง
นิว : จริงๆ คุณพ่อเขาเป็นคนมีอารมณ์ขันนะคะ แต่อาจจะไม่ใช่สายปล่อยมุกโบ๊ะบ๊ะ
แล้วเรื่องที่ทำให้คุณนิวหัวเราะได้มากที่สุด ของการทำงานที่ ขายหัวเราะ คืออะไร
นิว : ของเรามีสองเรื่อง เรื่องแรกคือการได้ทำงานกับทีม จากแต่ก่อนที่เรากับทีมจะค่อนข้างมีกำแพงต่อกัน แต่พอเราเริ่มปรับตัว ตอนนี้ก็ได้ทำงานกับทีมแบบมีเสียงหัวเราะ ได้ฉลองความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างทางด้วยกัน
ส่วนอีกเรื่องคือตอนที่พ่อกับแม่ชมเรา ตั้งแต่เด็กจนโตมาเขาแทบจะไม่ค่อยชมเราเลย ไม่ว่าเราจะเรียนเก่งหรือสอบได้ดีขนาดไหนเขาจะชมเราน้อยมาก เขาทรีตให้มันเป็นเรื่องธรรมดา ไอ้คำว่าได้เกรด 4 แล้วปิดซอยเลี้ยงเราไม่เคยได้สัมผัสกับฟีลนั้นเลย
วิธิต : แต่ผมชมเขากับคนอื่น
นิว : (ยิ้ม) ดังนั้นเรื่องที่เขาเอ่ยปากชมต่อหน้าเรามันจะต้องเป็นเรื่องที่ค่อนข้างพิเศษมากๆ มีอยู่ตอนนึง ขายหัวเราะ จัดงานที่ชื่อว่า ‘อุตสาฮากรรม’ เป็นงานใหญ่แล้วเราเหนื่อยมากๆ จนแทบจะสลบ พอเสร็จจากงานมากินข้าวกัน พ่อเขาก็พูดกับนิวว่า ‘นิวเก่งมากลูก’ คำพูดสั้นๆ แค่นี้เลยแต่เราแฮปปี้มาก
เพราะมันเป็นคำชมจากคนที่มีความหมายกับเรามากที่สุด (น้ำตาคลอ)
เราถามว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เธอหัวเราะมากที่สุดในการทำงานที่ ขายหัวเราะ แต่คำตอบของเธอกลับมาพร้อมน้ำที่เอ่อล้นอยู่ในตา
ทว่าดูเหมือนจะเป็นน้ำตาที่ทำให้เธอมีความสุขเหลือเกิน