Sex Education
Talk to PEACH แอพฯ ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการปรึกษาปัญหาทางเพศกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ทุกวันนี้ บทสนทนาเรื่องเพศอาจเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่หลายคนพูดได้แบบไม่ขัดเขิน แต่ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า ยังมีอีกหลายคนที่ยังติดอยู่ในมายาคติเดิมๆ ของสังคมที่เคยห้ามพูดถึงเรื่องใต้สะดือ ไม่ว่าจะมาจาการตีกรอบจากครอบครัว บทบาททางเพศ หรือปัจจัยอื่นก็ตาม
ควรรับมือกับประจำเดือนมาผิดปกติยังไง, กินยาคุมฉุกเฉินแบบไหนดีที่สุด, ถ้าหลั่งภายนอกจะท้องไหม เหล่านี้คือคำถามที่หลายคนเคยสงสัยมาตั้งแต่เด็ก
สิ่งที่ตามมาคือเมื่ออยากรู้ อยากถาม แต่ไม่รู้จะไปหาคำตอบที่ไหน สุดท้ายก็ต้องเสิร์ชเว็บเข้าไปอ่านหรือถามเพื่อนสนิทที่ไว้ใจได้ ซึ่งมีโอกาสไม่น้อยที่จะได้ข้อมูลผิดๆ
เหวิน–ชวิศา เฉิน เห็น pain point นี้ตั้งแต่เด็ก เธอมีความกลัวและข้อห้ามเรื่องเพศเป็นเพื่อนสนิท กว่าจะตกตะกอนว่าปัญหาเรื่องเพศควรเป็นสิ่งที่พูดคุยกันได้ปกติ อายุก็ขึ้นเลขสอง สิ่งที่ตระหนักได้ในเวลาเดียวกันคือมีคนอีกหลายคน หลายวัย ที่ประสบปัญหาเดียวกันแต่ไม่รู้จะหาคำตอบที่ถูกต้องจากตรงไหน
ชวิศาจึงก่อตั้ง Talk to PEACH แอพฯ ให้คำปรึกษาปัญหาเรื่องเพศที่เธอรวบรวมคุณหมอเฉพาะทางมารวมอยู่ในแอพฯ เดียว เพื่อให้คนทุกเพศ ทุกวัย มาหาคำตอบกับหมอได้ในราคาที่เอื้อมถึงได้ (เริ่มต้นคำถามละ 49 บาท หรือจะคุยเป็นเซสชั่นแบบตัวต่อตัวก็จ่ายหลักร้อย) ที่สำคัญคือเธออยากสร้างให้มันเป็นพื้นที่ปลอดภัยซึ่งไม่มีกรอบใดๆ มาตัดสิน ปรึกษาแบบเปิดหน้าหรือไม่เปิดหน้าได้ตามสะดวกใจ ไม่ว่าคุณกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับน้องจู๋หรือน้องจิ๋ม การกินยาคุมกำเนิด ไปจนถึงเรื่องความสุข-ทุกข์บนเตียง
คอลัมน์ Micro Wave ตอนนี้จึงอยากจัดเซสชั่นพิเศษกับชวิศา คุยกันตั้งแต่เรื่อง pain point เบื้องหลังธุรกิจ ช่องว่างในตลาด HealthTech เมืองไทย กระแสเรื่องเพศที่ส่งผลต่อแอพฯ ไปจนถึงคำถามสำคัญว่า ทำไมปัญหาเรื่องเพศจึงไม่ควรถูกซ่อนไว้ใต้พรม (หรือกางเกง, กระโปรง) ของพวกเราอีกต่อไป
Session 1
Sex Talk 101
Speaker : ชวิศา เฉิน และแม่
ในวัยเยาว์ ชวิศาเป็นเหมือนเด็กหลายคนที่เติบโตมาพร้อมกับมายาคติเรื่องเพศ ภายใต้ชายคาของครอบครัวคนจีนที่มีความอนุรักษนิยมสูง เธอเคยเป็นเด็กที่ไม่เคยรู้แม้แต่วิธีการใช้ผ้าอนามัย
“ตอนประจำเดือนมา แม่บอกว่าไม่ต้องทำอะไร แค่อย่ากินน้ำเย็น เหวินต้องไปเรียนวิธีการใส่ผ้าอนามัยจากเพื่อนที่โรงเรียนด้วยซ้ำ หรือถ้าเป็นเรื่องการมีเพศสัมพันธ์แม่ก็บอกว่าห้ามมีเด็ดขาดจนกว่าจะแต่งงาน หลีกเลี่ยงทุกอย่าง ทำให้เหวินกลัวทุกอย่างเพราะรู้สึกเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก จนเรียนจบมหาวิทยาลัยก็ไม่เคยจูบเลย
“จุดเปลี่ยนคือเหวินแพ้ผ้าอนามัยตอนอายุ 22 นั่นเป็นครั้งแรกที่พูดเรื่องเพศกับแม่ ตอนแรกเหวินก็กลัวแม่คิดว่าเหวินไปติดมาหรือเปล่าแต่พอบอกแม่ก็พาไปหาหมอ เหตุการณ์นั้นเป็นจุดปลดล็อกที่ทำให้แม่กล้าพูดเรื่องเพศกับเหวินมากขึ้น แม่บอกว่าแม่กลัว เขิน เพราะแม่ก็ถูกสอนมาไม่ให้พูดเรื่องเพศเหมือนกัน”
เพราะเห็นว่าปัญหาเรื่องเพศมักถูกซุกไว้ใต้พรม ประกอบกับ pain point เรื่องการแพ้ผ้าอนามัย ชวิศาจึงเปิดแบรนด์ Wendays ผ้าอนามัยออร์แกนิกของตัวเองขึ้นมาเพราะคิดว่าผู้มีประจำเดือนหลายคนน่าจะเคยประสบปัญหาเดียวกับเธอ ช่วงเวลานั้นเองที่เธอเริ่มทำคอนเทนต์สื่อสารเรื่องเพศควบคู่ไปด้วย
“เหวินคิดว่าเราจะมาเป็นแบรนด์ผ้าอนามัยที่พูดเรื่องผ้าอนามัยทั้งวันมันก็จะไม่มีประโยชน์อะไร เราทำ sex education ที่ให้ความรู้เรื่องประจำเดือน การมีเซ็กซ์ การป้องกันไปด้วย
“คอนเทนต์เหล่านี้ทำให้เหวินไปเจออีกจุดเปลี่ยนหนึ่งคือ มีลูกค้าทักมาถามว่าลูกเขาเพิ่งมีประจำเดือนครั้งแรก เขาต้องซื้อผ้าอนามัยไซส์อะไรบ้าง และต้องสอนลูกอะไรบ้าง ทำให้เหวินถามตัวเองต่อว่า นั่นน่ะสิ ถ้าเหวินมีลูกเหวินจะสอนลูกยังไงนะ รู้สึกว่าการไปสอนลูกเขาเป็นความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวงมาก
“โชคดีที่เหวินมีที่ปรึกษาเป็นคุณหมอสูติ-นรีเวช เขาก็แนะนำเหวินให้ไปเรียนเป็นนักเพศวิทยาที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้”
Session 2
Essential Skills for a Sexologist
Speaker : ชวิศา เฉิน และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
สารภาพตามตรง เราเพิ่งเคยได้ยินคำว่านักเพศวิทยาหรือ Sexologist เป็นครั้งแรกก็วันนี้
“นักเพศวิทยาเป็นศาสตร์ใหม่ คนที่เป็นนักเพศวิทยาในประเทศไทยมีไม่ถึง 100 อาจารย์แพทย์ที่คณะจึงพยายามสร้างบุคลากรใหม่ทุกปี สิ่งที่นักเพศวิทยาทำคือการให้คำปรึกษาโดยทำความเข้าใจองค์ประกอบ 4 ส่วนถึงจะให้คำปรึกษาได้ นั่นคือเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพใจ ความสัมพันธ์ และสังคม เพราะสังคมรอบข้างมีการบูลลี่เขาหรือเปล่า หรือความสัมพันธ์ของเขาต่อครอบครัวเป็นแบบไหน
“ในคลาสของเหวินทุกคนเป็นหมอหมดเลย เหวินเป็นคนธรรมดาที่อยากไปเรียนเพราะอยากรู้เรื่องนี้จริงๆ ซึ่งมันก็ทำให้เหวินเห็นว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก แล้วคนที่เขาไม่มีโอกาสเข้าถึงคลาสนี้เขาจะทำยังไง สิ่งหนึ่งที่เหวินได้เรียนรู้จากการติดตามอาจารย์หมอไปดูเคสต่างๆ คือการเห็นว่ามันมีอุปสรรคในการเข้าถึงการให้คำปรึกษาเรื่องเพศเยอะ เช่น การรอคิวนาน 2-3 เดือน การเดินทางยาวนานที่บางคนขับรถจากลพบุรีตั้งแต่ตี 2 เพื่อให้มาถึงโรงพยาบาลตอน 6 โมงเช้า และโรงพยาบาลเองก็ไม่สามารถรับผู้ป่วยได้เยอะขนาดนั้น”
นั่นคือตอนที่ไอเดียของบริการให้คำปรึกษาเรื่องเพศทุกที่ทุกเวลาของเธอถูกจุดประกายขึ้น เพื่อลดช่องว่างของการเข้าถึงการปรึกษาปัญหาเรื่องเพศที่เธอมองเห็น
Session 3
How to Make a Sexual Wellbeing Super App
Speaker : ชวิศา เฉิน และทีม
สตาร์ทอัพซึ่งใช้เทคโนโลยีมาแก้ pain point เรื่องสุขภาพหรือ HeatlhTeach ไม่ใช่เรื่องใหม่ในไทย แต่ชวิศาบอกว่าส่วนใหญ่มักเน้นเรื่องสุขภาพกายหรือสุขภาพจิตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่บริการให้ความรู้เรื่องเพศยังไม่เคยมีใครทำ
เช่นนั้นเอง ชวิศาจึงลงมือทำ และสิ่งแรกที่ทำคือการพยายามรวบรวมบุคลากรที่ให้คำปรึกษาเรื่องเพศ ทั้งหมอสูฯ หมอยูโร และจิตแพทย์มาไว้ในบริการเดียวกันให้ได้มากที่สุด
ประกอบกับกระแสในสังคมตอนนี้ที่เปิดกว้างเรื่องเพศมากขึ้น หลายคนเข้าใจเรื่องความสุขทางเพศมากขึ้น ทว่าสิ่งที่ยังค้างเติ่งคือคำถามว่าจะทำยังไงให้มีความสุข หรือจะทำยังไงให้สุขภาวะทางเพศและชีวิตบนเตียงนั้นมีคุณภาพ นี่คือโอกาสที่เธอมองเห็นว่าบริการให้คำปรึกษาเรื่องเพศนั้นจะไปได้ดี
Talk to PEACH จึงเกิดขึ้น ในฐานะแอพฯ แรกของไทยที่เปิดให้ทุกคนมาเมาท์มอยปัญหาเรื่องเพศได้ง่ายๆ โดยไม่ติดความเขินอาย แถมยังทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ตามแต่ที่เราสะดวก
“เหวินไม่ได้มองว่าเป้าหมายคือการเป็นแอพฯ telemedicine เท่านั้น แต่จริงๆ Talk to PEACH เราอยากเป็น Sexual Wellbeing Super App ที่มีทั้งการให้คำปรึกษา ซึ่งเริ่มจากการส่งคำถามเข้ามาแล้วมีนักเพศวิทยาตอบภายใน 2 ชั่วโมง และมีระบบ Sexual Health Tracking หรือการบันทึกสุขภาพเพศ ซึ่งหมายความรวมถึงเรื่องประจำเดือน ตกขาว อารมณ์ทางเพศ และการแข็งตัว มีการติดตามหลายอย่างเพราะเหวินมองว่าแต่ละเพศมีความต้องการในการแทร็กไม่เหมือนกัน และในอนาคตเรายังอยากทำคอมมิวนิตี้ เป็น secret club ที่ให้คนเข้ามาบอกเล่าประสบการณ์เรื่องเพศของตัวเอง”
นอกเหนือจากแอพฯ Talk to PEACH ยังขยันไปให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศตามโรงเรียนต่างๆ เพราะเข้าใจว่าครูหลายคนอาจรู้สึกเคอะเขินที่จะสอนเรื่องเพศกับนักเรียนด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป พวกเธอจึงยินดีเป็นตัวกลางในการสื่อสารเรื่องนี้ให้กับเด็กๆ
สิ่งที่เราสงสัยคือ Peach Team หารายได้จากสิ่งนี้ได้ยังไง ชวิศาตอบด้วยรอยยิ้มว่า “ณ ตอนนี้เราหาเงินจากค่าคอมมิชชั่น และในอนาคตเราจะหาเงินจากการขายสินค้าที่เกี่ยวกับสุขอนามัยทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นถุงยางอนามัย เจลหล่อลื่น ผ้าอนามัย รวมถึงเร็วๆ นี้เราจะเปิดคลินิกเสริมความงามอวัยวะเพศหญิงแบบครบวงจรของตัวเองด้วย ที่นั่นให้บริการจ่ายยาแบบ on-demand และ subscription เช่น ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินและฮอร์โมนต่างๆ”
Session 4
The Future of Sex Talk
Speaker : ชวิศา เฉิน และทุกคน
สิ่งสำคัญที่ชวิศาได้เรียนรู้หลังจากปล่อยแอพฯ ให้คนทั่วไปได้ใช้ คือปัญหาเรื่องเพศเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต และคนแต่ละกลุ่ม แต่ละช่วงอายุก็มีความสงสัยเรื่องเพศที่แตกต่างกัน
“ถ้าแบ่งตามเพศ คำถามยอดฮิตที่เพศหญิงมักจะถามคือเรื่องท้อง อันดับต่อมาคืออาการเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์ และการไม่ถึงจุดสุดยอด ส่วนเพศชายก็จะเป็นเรื่องน้องไม่แข็ง หลั่งเร็ว และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ถ้าไม่จำกัดเพศ คำถามของคนทั่วไปก็จะอยากรู้เรื่องความต้องการของคู่ครองที่ไม่เท่ากัน” เธอเล่า
“ประสบการณ์ที่เหวินอยากให้ลูกค้าได้จากแอพฯ อย่างแรกคืออยากให้เขาคลายกังวลก่อน หลายครั้งลูกค้าฟีดแบ็กเราหลังการให้บริการว่าขอบคุณมากเลยที่อยู่ข้างๆ เพราะเขาไม่สามารถปรึกษาเรื่องนี้กับใครได้ ซึ่งหลายปัญหาถ้าแก้ได้ยิ่งเร็วยิ่งดี เพราะสุขภาพทางเพศส่งผลต่อทุกอย่าง ซึ่งถ้าแก้เร็วมันก็จะลดเวลาที่เขาจะ suffer กับสิ่งที่เจออยู่ ทำให้เขามีความสุขได้เร็วขึ้น”
จนถึงวันนี้ที่ Talk to PEACH เปิดให้บริการได้ราว 6 เดือน แอพฯ ของชวิศาให้คำปรึกษาไปแล้วกว่า 500 เคส พร้อมกับค่าเฉลี่ยคะแนนของแอพฯ สวยๆ ที่ 4.9/5 ดาว
แม้จะดูเป็นตัวเลขที่บ่งบอกว่าการปรึกษาทางเพศนั้นมีแนวโน้มจะเติบโตได้ดี หากชวิศายังมองว่าสังคมของเรากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการสนทนาเรื่องเพศได้อย่างเสรีเท่านั้น
“อย่างวันนี้พอเหวินพูดคำว่าเซ็กซ์ออกมา หลายคนอาจจะเลิ่กลั่กอยู่จนทำให้เหวินเลิ่กลั่กตาม ก่อนจะถามตัวเองว่าเลิ่กเลิ่กทำไมนะ เหวินคิดว่าเรื่องเพศพูดได้ แต่ขึ้นอยู่ว่าเราพูดกับใคร พูดแบบไหน พูดแล้วได้อะไรมากกว่า เหวินมองว่ายิ่งมีคนพูดเรื่องเพศเยอะก็ยิ่งดี เพราะเรื่องนี้ควรจะเติบโตไปพร้อมกับสังคม
“และจริงๆ การพูดเรื่องเพศเยอะขึ้น สังคมเปิดกว้างขึ้น ก็ไม่ได้แปลว่าเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น การพูดเรื่องเพศเยอะขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเราในแง่ไหน เพราะอย่างในเมืองนอกเองเขาก็พูดเรื่องเพศได้อย่างอิสระแต่นักเพศวิทยาก็ยังเยอะอยู่ นั่นแปลว่าคนยังต้องการผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้เหมือนกัน เหวินมองว่าการปรึกษาเรื่องเพศก็ไม่ต่างจากการปรึกษาเรื่องจิตใจ อย่างทุกวันนี้คนเริ่มเข้าใจเรื่องโรคซึมเศร้ามากขึ้นก็ทำให้เขาอยากไปหาจิตแพทย์มากขึ้น การเข้าใจเรื่องเพศก็เป็นแบบนั้น เพราะฉะนั้น พูดให้เยอะเลยค่ะ”
เธอหัวเราะ ก่อนจะยกความตั้งใจที่ Talk to PEACH มีตั้งแต่วันแรกมาย้ำให้ฟังอีกครั้ง
“Talk to PEACH มุ่งมั่นที่จะยกระดับสุขภาพทางเพศของทุกคน เพราะฉะนั้นถ้าเราอยู่ในสังคมที่เรื่องเพศเข้าถึงได้ พูดถึงได้ เราย่อมมีสุขภาวะทางเพศที่ดีขึ้น และการมีองค์ความรู้ที่ทำให้รู้จักดูแลตัวเองมากขึ้น มันไม่ได้ส่งผลต่อแค่ตัวเราแต่ยังส่งผลต่อคู่รัก เพื่อน พ่อแม่ความสัมพันธ์รอบตัวเรา สุดท้ายมันจะสร้างสังคมที่น่าอยู่ ปลอดภัย และคนในสังคมเข้าใจกันมากขึ้น
“การได้ทำ Talk to PEACH มีความหมายกับเหวินมากนะ เพราะเหวินมองว่าถ้าทำเรื่องนี้เพื่อหวังจะรวย จริงๆ เหวินอาจไม่มีแรงทำขนาดนี้เลย การทำธุรกิจนี้มีปัญหาที่เหวินต้องแก้ไขตลอดเวลา สมองเหวินไม่เคยได้หยุดพัก แต่สิ่งที่ทำให้อยากทำต่อในทุกวันคือเหวินมองว่าเราทำเพื่อสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเรามากๆ ถ้าเหวินทำสิ่งนี้จะช่วยคนได้เท่าไหร่ ทำให้น้องๆ เข้าใจเรื่องนี้ได้เยอะขนาดไหน หรือทำให้คู่สมรสที่เขาแต่งงานแล้วหย่าเพราะเรื่องเพศลดน้อยลงได้ขนาดนี้ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงให้เหวินอยากไปต่อ มันเหมือนเหวินได้เปลี่ยนชีวิตคน”
3 คำแนะนำที่นักธุรกิจ Telemedicine หน้าใหม่ควรรู้
- “หนึ่ง ควรรู้ว่า core competence หรือจุดแข็งที่ตัวเองมีไม่เหมือนคนอื่นคืออะไร ไม่ใช่เรื่องสกิลอย่างเดียว มีคอนเนกชั่น เงิน เวลา ทีมไหม ถ้าไม่มีก็ไปสร้างให้มี
- “สอง ควรรู้ว่าเราพร้อมไหม พร้อมในที่ไหน คือทั้งตัวเราและทีมเรา รวมถึงความพร้อมที่จะยอมรับความผิดพลาด ล้มเหลว พร้อมยอมรับว่ามันไม่เวิร์กแล้วเดินต่อ
- “สาม ควรรู้ตลาดที่จะลงเล่นด้วยการศึกษาก่อนว่าเราไปตอบโจทย์ส่วนไหน ถ้ามีเจ้าตลาดที่ใหญ่มากอยู่แล้วควรไปตลาดอื่น เพราะการที่เขามาถึงจุดนั้นได้เขาต้องผ่านอะไรมาเยอะมาก มีประสบการณ์มากกว่าเราเป็นร้อยเท่า ที่สำคัญคือมันเป็นตลาดที่กำลังโตหรือกำลังตาย มีลูกค้าหรือเปล่า”