Dare To Try, Dare to VING
‘รองเท้าแตะวิ่งได้’ VING แบรนด์สัญชาติไทยที่ชนะใจทั้งนักวิ่ง คนทั่วไป และผู้สูงอายุ
วิ่ง วิ่ง วิ่ง ถ้านึกถึงรองเท้าวิ่ง ภาพรองเท้าผ้าใบส้นหนาๆ เด้งสู้พื้นและรองรับการกระแทกก็คงโผล่ขึ้นมา แต่ถ้าเราบอกว่าที่จริงแล้ว รองเท้าแตะก็ใส่วิ่งได้ แถมยังเคยมีคนใส่วิ่งต่อเนื่องมาแล้วเกินกว่า 100 กิโลเมตร ทุกคนจะเชื่อกันไหม
“มันก็เหมือนรองเท้าวิ่งทั่วไป แต่มันเบากว่าและไม่บีบเท้า เรียกว่าเป็นรองเท้าวิ่งเปิดประทุนก็ได้” วาที วิเชียรนิตย์ โปรแกรมเมอร์และนักวิ่งเจ้าของแบรนด์ VING (วีอิ้ง) รองเท้าแตะวิ่งมาราธอนที่เราพูดถึงอธิบายถึงรองเท้าแตะวิ่งได้ให้เข้าใจโดยง่าย
“ถ้านักวิ่งมาราธอนใส่รองเท้าแตะ VING วิ่งได้เกิน 100 กิโลเมตร คนทั่วไปที่ใส่รองเท้าไปซื้อกับข้าวหน้าปากซอยก็คงไม่มีปัญหา” เขาเสริมถึงความดีงามของแตะ VING ที่ไม่ได้ครองใจนักวิ่งไทยมากขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น แต่คนเล่นกีฬาชนิดอื่นๆ ก็ใส่ได้ คนทั่วไปก็ใส่ดี คนสูงอายุและคนที่มีปัญหารองช้ำยิ่งเลิฟ
ไม่ใช่เพราะรองเท้าถูกออกแบบมาอย่างดีอย่างเดียวที่ทำให้ VING มียอดขายต่อเดือนจากไม่กี่ร้อยคู่สู่เกือบหมื่น แต่เป็นเพราะความเชื่อมั่นของวาทีว่ารองเท้า VING จะต้องเป็นรองเท้าของทุกคน การคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การตั้งราคา การมองหาสถานที่วางขาย ไปจนถึงไอเดียการตลาดที่เข้าถึงทุกคนได้จึงออกแบบมาเพื่อให้ VING วิ่งไปถึงฝัน
แม้ในตอนแรกจะไม่มีใครเชื่อมั่นว่ารองเท้าแตะวิ่งได้จะกลายเป็นกระแส แต่วาทีก็ทำให้เห็นแล้วว่าถ้านึกถึง ‘รองเท้าแตะวิ่งได้’ เมื่อไหร่ ทุกคนก็จะพูดถึง VING เสมอ
ว่าแต่ 5P ที่ทำให้ VING วิ่งมานานกว่า 4 ปี มีอะไรบ้าง แต่ละ P มีจุดเช็กพอยต์แบบไหนที่ทำให้ VING วิ่งต่อไปได้เรื่อยๆ วาทีพร้อมพาเราไปวิ่งกับ VING แล้ว
Product
เช็กพอยต์ที่ 1 : เลือกสินค้าที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของตลาด
วาทีคือโปรแกรมเมอร์ เจ้าของธุรกิจเสื้อผ้าขายส่ง และนักวิ่งมาราธอนตัวยงนอกเวลางาน
ความที่เป็นคนในแวดวงการวิ่งอยู่แล้ว VING จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ pain point ของรองเท้าวิ่งที่ไม่เคยมีใครลุกขึ้นมาแก้ปัญหา pain point ที่ว่าคือรองเท้าวิ่งผ้าใบมักจะบีบรัดหน้าเท้าจนวิ่งต่อไปไม่ไหว
“พอเลยจุดฮาล์ฟหรือ 21 กิโลเมตรไปแล้ว รองเท้ามันเริ่มบีบหน้าเท้าจนวิ่งต่อไม่ไหว ผมเลยเดินเข้าไปซื้อรองแตะตามร้านข้างทางแล้ววิ่งๆ เดินๆ จนจบ” วาทีย้อนเล่าถึงการลงแข่งวิ่งมาราธอนครั้งที่มีปัญหา
หลังจบงาน เขาเห็นว่ามีนักวิ่งคนหนึ่งใส่รองเท้าแตะวิ่งตลอดระยะทาง แถมยังทำเวลาได้ดีไม่แพ้ใคร พอดีกับธุรกิจเสื้อผ้าขายส่งที่ถึงช่วงขาลง วาทีจึงเห็นว่ารองเท้าแตะวิ่งได้ก็น่าจะมีโอกาสพัฒนาเป็นธุรกิจ
เขาเริ่มจากติดต่อแบรนด์รองเท้าแตะวิ่งต่างประเทศที่มีขายในไทยแต่เพราะแบรนด์ที่ว่ามีตัวแทนอย่างเป็นทางการอยู่แล้ว เขาจึงปิ๊งไอเดียใหม่ สร้างแบรนด์รองเท้าแตะวิ่งได้ที่ไม่เหมือนใครในท้องตลาดขึ้นมา
“ต่างประเทศเขาก็ทำกันมานานแล้วแต่มันจะเป็นรองเท้าที่เขาเรียกกันว่า ‘มินิมอล’ คือพื้นทั้งหน้าและหลังนั้นเรียบเท่ากัน แต่ผมไม่ชอบเพราะใช้กล้ามเนื้อคนละส่วน ผมเลยอยากพัฒนารองเท้าแตะที่มีพื้นรองเท้าที่รองรับการกระแทกและให้ฟีลลิ่งเหมือนรองเท้าผ้าใบ แต่เบากว่าและไม่บีบเท้า”
จากเช็กพอยต์แรก วาทีจึงไปกว้านซื้อรองเท้าแตะที่ ‘น่าจะ’ ใส่วิ่งได้ตามท้องตลาดมาเปิดเพจขาย
“มันมีคนเข้ามาซื้อและนำไปใส่วิ่งจริงๆ นี่เป็นตัวชี้วัดว่าตลาดรองเท้าแตะวิ่งได้มันมีอยู่จริง” เมื่อยอดขายตอกย้ำให้วาทีเชื่อมั่นและมั่นใจว่ายังไงก็รอด เขาจึงติดต่อโรงงานเพื่อพัฒนาโมเดลแรกของรองเท้าแตะวิ่งได้แบรนด์ตัวเองขึ้นมา
คำถามคือแล้ว VING จะวิ่งได้ต่างจากรองเท้าแตะที่เขากว้านซื้อไปขายได้ยังไง คำตอบของเขาคือการเพิ่ม ‘ดร็อป’ หรือก็คือการทำพื้นด้านหลังให้หนากว่าด้านหน้าเพื่อให้พื้นนุ่มเด้ง รองรับแรงกระแทก และส่งแรงวิ่ง ซึ่งเป็นหลักการของรองเท้าวิ่งผ้าใบ
“ผมคิดว่าความแตกต่างจากทั้งรองเท้าผ้าใบ และรองเท้าแตะวิ่งแบบมินิมอลตรงนี้มันทำให้เราไม่ได้ไปแย่งหรือครองลูกค้ากลุ่มเดียวกับเขา แต่เรากำลังสร้างลูกค้าใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นเลยต่างหาก นั่นหมายความว่าถ้าเรามาทำแบรนด์ดิ้งให้ชัดเจน และให้ความรู้คนไปเรื่อยๆ ว่ารองเท้าแตะมันวิ่งได้ยังไง มันดีกว่ารองเท้าผ้าใบยังไง เขาก็จะกลับมาเป็นลูกค้าเรา แล้วเราก็จะเป็นเจ้าของความเชื่อที่ว่า ‘รองเท้าแตะวิ่งได้’ เป็นคนแรก
“ต่อให้วันนึงเขาจะเปลี่ยนไปซื้อยี่ห้ออื่น แต่ถ้าเราทำสินค้าใหม่ออกมาตอบโจทย์เขาได้เขาก็จะกลับมาหาเราอยู่ดี” เขาเล่าถึงความตั้งใจในวันที่พาธุรกิจวิ่งออกจากจุดสตาร์ท
เช็กพอยต์ที่ 2 : ลงทุนกับสินค้าให้มาก
วิ่ง วิ่ง วิ่ง
100,000 บาท คือเงินทุนตั้งต้นที่วาทีมีเหลือติดตัวในตอนนั้น
1,000,000 บาท คือเงินทุนก้อนต่อมาที่เขานำมาพัฒนารองเท้าคู่แรก ซึ่งล้านแรกที่ว่านี้ไม่ได้เป็นเงินเก็บก้นบัญชี แต่คือเงินที่ได้จากการทำ Virtual Run
“แสนนึงมันได้แค่ค่าโมเดลรองเท้าไซส์นึงเองนะ ยังไม่รวมผลิต ตอนนั้นธุรกิจเดิมก็กำลังจะไม่รอด เครดิตตอนนั้นก็ยังไม่มี ไปคุยกับเพื่อนที่ทำธุรกิจเขาก็มองไม่เห็นโอกาส แต่ผมรู้ว่าตลาดมันมี
“พอดีช่วงนั้นกระแส Virtual Run กำลังมา ผมเลยคิดทำ Virtual Run ให้คนวิ่งจากที่ไหนก็ได้ 2 เดือน แล้วส่งผลเข้ามาในระบบ ค่าสมัครประมาณ 1,000 บาท แต่เขาจะได้ทั้งเสื้อ ทั้งเหรียญ และรองเท้าแตะ VING ซึ่งมันว้าวมากนะ
“นอกจากจะได้หนึ่งล้านแรกมาสั่งผลิตรองเท้า ผมยังเหมือนได้อินฟลูเอนเซอร์มา 1,000 คนในเวลาเดียวกัน เพราะนักวิ่งก็จะชอบถ่ายรองเท้าที่เขาใส่กันอยู่แล้ว ยิ่งเป็นรองเท้าแตะวิ่งได้เขาก็ยิ่งถ่าย”
รองเท้าแตะ VING รุ่นแรกนั้นเวิร์กบ้างไม่เวิร์กบ้าง นุ่มเกินบ้างแข็งเกินบ้าง แต่เพราะวาทีเตรียมระบบหลังบ้านเพื่อตอบคำถามลูกค้าให้พร้อมสรรพ ถ้าใครไม่พอใจเขายินดีคืนเงิน ส่วนคนที่สนใจทดลองต่อ เขาก็ยินดีรับฟีดแบ็กมาพัฒนา
“ปกติการทำรองเท้ามักจะมีการจำกัดต้นทุน แต่ผมบอกโรงงานเลยว่าไม่สนใจต้นทุน ให้ผลิตให้ดีที่สุดไว้ก่อน แล้วหน้าที่ในการตั้งราคาและการขายมันเป็นหน้าที่ของผมเอง เพราะผมมั่นใจว่าต่อให้เป็นแบรนด์ไทยก็เถอะ ถ้าคุณภาพดีเทียบเท่าหรือดีกว่าแบรนด์ต่างประเทศ ใส่ปุ๊บแล้วรู้ปั๊บว่ามันดี ยังไงลูกค้าก็ซื้อ”
ถ้ามองจากภายนอก หลายคนอาจจะงงว่าคุณภาพดีๆ ชนิดใส่ปุ๊บก็รู้ปั๊บของรองเท้าแตะวิ่งได้แบรนด์ VING นั้นเป็นยังไง แต่ถ้าได้ลองสวมใส่ จะเข้าใจคำอธิบายของเราทันที
หนึ่ง–วัสดุจาก EVA เกรดสูง ฉีดเป็นชิ้นเดียวไม่มีรอยต่อ ขนาดไซส์ของผู้ชายจึงหนักไม่เกิน 150 กรัม ส่วนขนาดไซส์ของผู้หญิงนั้นหนักไม่เกิน 100 กรัม ขณะที่รองเท้าผ้าใบทั่วไปหนักเริ่มต้นที่ 300 กรัมขึ้นไป
สอง–ด้วยทรงแบบเปิดและหน้าเท้ากว้างจึงไม่บีบเท้า จะวิ่งมาราธอน เดินเที่ยว หรือซื้อของหน้าปากซอยก็ไม่ปวด
สาม–ทรงรองเท้าโอบรับเท้าได้ดี ทั้งรองรับแรงกระแทกได้แบบที่รองเท้าผ้าใบทำ แถมความนุ่มที่มากกว่ายี่ห้ออื่นแต่ไม่นุ่มยวบก็ทำให้วิ่งสนุกสุดๆ
สี่–ทนทานเพราะใช้ได้นาน 1,000 กิโลเมตรขึ้นไป
“สินค้าเราต้องดีไว้ก่อน แล้วเราถึงจะใส่การตลาดได้เต็มที่ เพราะถ้าสินค้าเราไม่ดีจริง ปล่อยไปมันก็จะมีแต่เสีย อย่างนั้นสู้ขายรุ่นเดิมที่มันดีดีกว่า ไม่ต้องรีบโต” วาทีเล่าถึงวิธีการคิด VING รุ่นแรก
เช็กพอยต์ที่ 3 : เก็บฟีดแบ็กมาพัฒนาสินค้าให้ครอบคลุม
วิ่ง วิ่ง วิ่ง
หลังจาก VING รุ่น 100K หรือรุ่นที่วาทีตั้งใจให้ใส่วิ่งมาราธอน 100 กิโลเมตรได้ออกสู่ตลาดในปี 2019 และได้รับผลตอบรับที่ดีเกินคาด VING ก็แตกแยกย่อยสินค้าอีกหลากหลายรุ่นออกมาครองตลาด แถมในอนาคต วาทียังตั้งใจพัฒนารองเท้า VING ให้มีมากถึง 15 รุ่น
“จุดร่วมของทุกรุ่นคือจะต้องเบา สบาย ไม่ลื่น และใส่วิ่งได้ แต่ใครๆ ก็ทำรองเท้าที่สบายได้ถูกไหม เราจึงต้องตอบโจทย์ด้านดีไซน์ที่ทำให้ลูกค้าใส่แล้วภูมิใจและตอบโจทย์ฟีดแบ็กที่ลูกค้าส่งกลับมาด้วย ความตั้งใจของผมคือเราต้องการเก็บลูกค้าให้ครบทุกตลาด เรียกว่าถ้าเขาเดินข้ามาในร้าน เขาจะต้องได้อะไรสักอย่าง” วาทีอธิบายเหตุผลของเป้าหมายที่ตั้งไว้
อย่างรองเท้ารุ่นแรกเช่น 100K นั้นมีฟีดแบ็กว่าช่วยคนที่เป็นรองช้ำชนิดไม่หนักได้ วาทีจึงคิดพัฒนารุ่น VARI เพื่อการฟื้นฟูโดยเฉพาะ หรือรุ่น KIRION ก็พัฒนาจากฟีดแบ็กว่ารองเท้าใส่สบายแล้ว แต่ต้องการรูปทรงที่ดูเรียบร้อยขึ้นกว่านี้ จนได้เป็นทรงแบบมีสายรัดที่จะใส่วิ่งก็ได้ ใส่เที่ยวก็ดี ใส่ไปทำงานก็ดูเรียบร้อย
ไม่ใช่เพียงรองเท้าวิ่งเท่านั้นที่เขาพัฒนาออกมาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า แต่อุปกรณ์อื่นๆ ก็ล้วนเป็นสินค้าจากฟีดแบ็กทั้งสิ้น เช่นสายรัดข้อเท้าที่มีให้ลูกค้าเลือกซื้อ วาทีก็ได้ไอเดียจากลูกค้าคนแรกๆ มาพัฒนาต่อ
“บางครั้งลูกค้าจะมีไอเดียมากกว่าเราอยู่แล้ว หน้าที่ของเราคือต้องจับให้ถูกว่าไอเดียไหนน่าสนใจ ไอเดียไหนน่าต่อยอด แล้วก็แก้ไขปัญหาและเพิ่มความสะดวกให้เขา”
ไม่แปลกใจหากคุณสมบัติของ VING จะครองใจคนทุกกลุ่มได้จนทำให้แบรนด์เติบโตอย่างก้าวกระโดด
Price & Promotion
เช็กพอยต์ที่ 4 : หาช่องว่างของราคา
วิ่ง วิ่ง วิ่ง วิ่งมาถึงกลางทางของ VING แล้ว
920-1,440 บาท คือช่วงราคารองเท้าแตะแบรนด์ VING ในช่วงราคานี้ถือว่า VING นั้นราคาสูงกว่ารองเท้าแตะทั่วไปตามท้องตลาด แต่มีราคาต่ำกว่ารองเท้าวิ่งหลายสิบเท่า
“ผมเดินดูแบรนด์รองเท้าในห้างและในออนไลน์มาหมดแล้ว เห็นๆ เลยว่ามันมีช่องว่างของราคารูเบ้อเร่อ ตั้งแต่ 700-1000 กว่าบาท เมื่อดูต้นทุนที่สูงกว่ารองเท้าแตะทั่วไปถึง 2 เท่า ผมจึงเลือกตั้งที่ราคานี้
“กับคนทั่วไปที่อยากได้รองเท้าผ้าใบ เขาก็อาจจะมาซื้อของเราเพราะคุณภาพที่ดีเทียบเท่าหรือมากกว่า แต่ราคาถูกกว่า ส่วนกลุ่มนักวิ่ง เขาก็ยอมจ่ายโดยไม่ได้มีคำถามอะไรมากอยู่แล้ว เพราะมันถือว่าถูกเมื่อเทียบกับรองเท้าวิ่งที่เขาใส่” วาทีอธิบาย
ด้วยราคานี้ วาทีแทบไม่ได้ใช้โปรโมชั่นใดๆ มาพา VING ให้วิ่งไปครองใจผู้คน เขาบอกกับเราอย่างขำๆ ว่าแค่ผลิตให้ทันยังเป็นเรื่องยาก โปรโมชั่นหลักๆ จึงคือการมอบส่วนลดให้ลูกค้าเก่า และนำของหลุด QC ซึ่งก็ยังมีมาตรฐานที่สูงกว่ารองเท้าทั่วไปในตลาดมาขายลดครึ่งราคา
เช็กพอยต์ที่ 5 : การตลาดแบบ niche สู่แมส
วิ่ง วิ่ง วิ่ง
แม้ VING จะใส่เดินก็ได้ ใส่รักษาก็ดี ใส่เที่ยวก็เวิร์ก หรือจะใส่วิ่งจริงๆ ตามจุดประสงค์แรกเริ่ม แต่วาทีไม่ได้เปิดตัว VING ในฐานะรองเท้าทั่วไปแต่แรก เขาตั้งใจเปิดตัว VING ให้เป็นรองเท้ามาราธอน แถมยังต้องเป็นมาราธอนหลัก 100 กิโลเมตร เรียกว่าเริ่มจากตลาดที่ niche สุด niche ไปใหญ่
“เราควรจะเริ่มจากตลาดที่ niche แต่มันสามารถแมสได้ ตอนแรกมันอาจจะยาก แต่พอเริ่มติดตลาดแล้วมันก็จะได้รับผลตอบรับที่ดี กลุ่มแรกที่ผมตั้งใจทำจึงคือกลุ่มที่วิ่งมาราธอนอยู่แล้ว เพราะเขาเข้าใจง่ายที่สุด และที่ต้องเป็นกลุ่ม 100 กิโลเมตร เพราะคนส่วนใหญ่มักจะเก็บสถิติมาราธอนกันที่ 42 กิโลเมตรซะมาก
“ช่วงนั้นมีคนที่เริ่มเก็บสถิติ 100 กิโลเมตรบ้างแล้ว แต่ยังไม่เคยมีคนทำตลาดในกลุ่มนั้นเลย ผมเลยทะลึ่งเข้าไปทำก่อน เพราะหมายความว่าถ้าใส่แตะ VING วิ่งมาราธอน 100 กิโลเมตรได้แสดงว่าวิ่งไปซื้อข้าวแกงปากซอยก็ไม่ใช่เรื่องยาก
วิ่งมาพร้อมกับวาทีถึงจุดเช็กพอยต์นี้แล้ว มีใครสังเกตเหมือนเราไหมว่าวาทีมักจะมีไอเดียการทำ VING ที่ไม่เหมือนใคร ตั้งแต่จุดตั้งต้น การตั้งราคา มาจนถึงการทำการตลาดที่ช่วยซัพพอร์ตสินค้า กับคำถามนี้ วาทีให้คำตอบว่า
“ผมไม่ชอบแข่งกับใคร ขนาดวิ่งก็ชอบแข่งวิ่งกับตัวเอง คือเป็นคนชอบคิดอะไรแปลกๆ เสมอ ที่ผ่านมาคนรอบตัวก็ไม่เก็ตหรอก แต่กับ VING ลูกค้าเขาเก็ต ภายใต้ความแตกต่างนี้แหละที่ทำให้เราเป็นเจ้าของคำนั้น จากตอนแรกเป็นเจ้าของ ‘รองเท้าแตะวิ่งได้’ มาสู่ ‘รองเท้าแตะวิ่ง 100 กิโลเมตร’ แล้วเขาก็จะจำเราได้ตลอด เวลาคนถามว่าอยากได้รองเท้าแตะวิ่งได้ต้องซื้อแบรนด์ไหน คนก็จะบอกว่าซื้อ VING สิ”
Place
เช็กพอยต์ที่ 6 : สถานที่ที่เหมาะกับกลุ่มลูกค้า
วิ่ง วิ่ง วิ่ง
ปัจจุบันนอกจากช่องทางออนไลน์ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ลาซาด้า และช้อปปี้แล้ว VING ยังมีสาขาทั่วทุกภาคของไทย ทั้งสาขาตัวเองและสาขาในร้านรองเท้าวิ่งกว่า 80 สาขา แถมยังมีสาขาที่สิงคโปร์อีก 4 สาขาด้วย แต่กว่าจะมีสาขามากขนาดนี้ สถานที่แรกของ VING นั้นง่ายแสนง่าย นั่นก็คืองานวิ่งทั่วไทยที่มีที่ไหน วาทีพร้อมพา VING ไปวิ่งที่นั่น
“ก่อนโควิดมา 2-3 เดือน ประเทศไทยมีงานวิ่งปีละ 2,000 งาน ครั้งหนึ่งๆ มีคน 2,000-3,000 คน แต่ละคนก็คัดมาแล้วว่าเป็นนักวิ่งทั้งนั้น งานวิ่งเลยเป็นอีเวนต์ชั้นดีในการทำโรดโชว์มากกว่าการจัดร้านในห้างอีกนะ” วาทีย้อนเล่า
แต่เมื่อโควิดเข้ามาปิดทุกอีเวนต์ วาทีก็ไม่ได้ถอย แต่กลับพา VING วิ่งลงสนามออนไลน์ที่นอกจากจะตอบโจทย์นักวิ่งในช่วงนั้น ก็ยังตอบโจทย์คนทั่วไปที่ชอบช้อปสินค้าออนไลน์อีกด้วย
“กลายเป็นว่าช่วงโควิดที่คนไม่กล้าลงทุน ผมลงทุนหนักมากเพราะเรามีตลาด แล้วพอหมดโควิด คนอื่นเพิ่งจะกลับมาตั้งตัว แต่ผมพร้อมขยายสาขาตามห้าง ทั้งสาขาของตัวเองและสาขาที่ร้านรองเท้าวิ่ง ซึ่งสถานที่เหล่านี้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายของเราทั้งหมด” เขาเล่า
อีกหนึ่งความน่าสนใจของการพา VING วิ่งไปขายตามช่องทางที่แตกต่างของวาทีคือเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมานี้ เขายังพา VING ไปถ่ายรายการ โหนกระแส ซึ่งคนนอกอาจจะไม่เข้าใจว่านี่คือการตลาดแบบไหน แต่สำหรับวาที ช่องทางที่ว่านี้คือการพา VING วิ่งไปหาผู้สูงอายุที่เสพสื่อต่างจากคนรุ่นใหม่นั่นเอง
“ผมเชื่อว่า VING เป็นรองเท้าที่ทุกคนใส่ได้ ทั้งราคา การทำคอนเทนต์ รวมไปถึงการพา VING ไปให้คนเห็นเลยไม่ได้จำกัดอยู่แค่นักวิ่ง เพราะถ้ายังทำการตลาดในกลุ่มเดิมๆ VING ก็คงไม่ไปไหน ผมจึงเอา VING ไปออกสื่อที่เรารู้ว่ากลุ่มผู้สูงอายุที่เราอยากทำตลาดด้วยเขาเสพอยู่
“ภาพที่เรานำเสนอเขา ไม่ใช่ภาพของความสูงอายุ แต่คือภาพที่เขาอยากเป็นนั่นก็คือเขายังแข็งแรงอยู่ ยังออกมาเดินได้ ไปเที่ยวกับลูกหลานได้ มันคือการนำเสนอสิ่งที่เขาอยากเห็นในสื่อที่เขาเสพ จากนั้นเขาก็จะมาซื้อ มาสอบถามตามห้างมากกว่าช่องทางออนไลน์ เพราะเขาชอบที่จะถามคำถาม เราก็ต้องมาเทรนพนักงานของเราให้พร้อมที่จะตอบด้วย
“จนตอนนี้กลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุแทบจะเป็นกลุ่มลูกค้ากว่า 50% ของ VING เลยนะ ซึ่งเมื่อเขาเปิดใจให้เราแล้ว เขาจะเป็น royalty ของแบรนด์ไปเลย”
เช็กพอยต์ที่ 7 : สถานที่ที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์
วิ่ง วิ่ง วิ่ง
อย่างที่บอกว่าแทบทุกจุดเช็กพอยต์ที่วาทีพาเราวิ่งไปสำรวจนั้นเต็มไปด้วยแง่มุมการทำ VING ที่แตกต่างไม่เหมือนใคร กับเช็กพอยต์นี้ก็เช่นกัน นอกจากจะต้องเลือกสถานที่วางขายให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้าแล้ว การเลือกสถานที่ที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ก็สำคัญไม่แพ้กัน
“ตอนนี้เรากำลังขยายไปขายที่ร้านขายยา คลินิกกายภาพ คลินิกกระดูก และโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งยอดขายก็ดีเลย มันคือการสื่อสารกับลูกค้าอ้อมๆ ว่าของเราดีจริงนะ และนอกจากจะเหมาะกับนักวิ่ง คนเล่นกีฬา หรือคนทั่วไป มันก็ยังเป็นรองเท้าเพื่อสุขภาพได้ด้วย
“มันเหมือนเราสร้างหลักฐานทางการตลาดให้เขาเห็นและเชื่อโดยที่เราไม่จำเป็นต้องอธิบายหรือขายตรงๆ เกินไป” วาทีว่า
People & Personal Branding
เช็กพอยต์ที่ 8 : แบรนด์ดิ้งที่ดีคือหัวใจของธุรกิจ
วิ่ง วิ่ง วิ่ง
ในวันที่ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด วาทีบอกกับเราว่า นอกจากหลักทางการตลาดทั้ง 4P ที่แตกต่าง People ที่หมายถึงทีมงานและการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าก็เป็นอีกหัวใจที่ทำให้ VING ยังวิ่งอยู่ในใจทุกคนได้เช่นกัน
“ที่ผ่านมาผมได้ทีมที่ดีมากๆ ทั้งหัวหน้า PC พนักงานขาย นักบัญชี นักการตลาด เวลาเขามีปัญหา ผมพยายามทำความเข้าใจว่าปัญหาที่ว่าคืออะไร มันเป็นปัญหาจริงๆ ไหมหรือเขาแค่ยังไม่รู้ และผมก็พยายามที่จะมอบหมายงานให้เขาทำแม้ว่ามันอาจจะผิด เพราะตอนเริ่มต้นเราก็ผิดมาไม่รู้เท่าไหร่
“นอกจาก People ในที่ทำงาน ผมก็คิดว่า People ในเชิงลูกค้าก็ต้องใส่ใจ ถ้ารองเท้ามีปัญหาจากการผลิตหรือไซส์ไม่พอดี เราเปลี่ยนให้เลย หรือถ้าเขาใส่ไม่ได้จริงๆ เราก็ยินดีคืนเงิน พนักงานของเราก็จะถูกเทรนมาว่าต้องแจ้งลูกค้าถึงข้อดีและข้อควรระวังของเราเพื่อให้ลูกค้าคาดหวังได้ถูก” เขาบอก
และจากวันที่ไม่มีใครเชื่อว่ารองเท้าแตะวิ่งได้จะเป็นปรากฏการณ์และจะเข้ามาครองวงการรองเท้าในหลายๆ ตลาด วันนี้ เราเห็นรองเท้า VING อยู่เกือบทุกห้างที่ไปเดิน เห็น VING ในเกือบทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย
สำหรับวาทีแล้ว ภาพเหล่านี้ไม่ใช่ภาพฝันเพ้อเจ้อ แต่เป็นภาพที่เขาวาดไว้ และตั้งใจทำให้เป็นจริง
“ผมมั่นใจว่าถ้าไม่ใช่ผมทำ มันอาจจะไม่ได้โตแบบทุกวันนี้ อีก P ที่สำคัญที่สุดจึงคือ Personal Branding หมายความว่าอะไร หมายความว่าขณะที่คนอื่นยังสงสัยว่าธุรกิจนี้จะไปยังไง แต่ผมอยากไป ผมเลยพยายามปะติดปะต่อเส้นทางให้มันกลายเป็นภาพในวันนี้
“วันที่เรามีทีมนักวิ่ง มีงานวิ่งของตัวเอง มีรองเท้าออกมาหลายรุ่นตอบโจทย์คนหลายสไตล์ มีคนซื้อรองเท้าของเราทั้งครอบครัว มีคนซื้อรองเท้าของเรา 10 คู่ 10 สีแล้วเอามาเรียงรอบตัวเอง มีผู้สูงอายุใส่รองเท้าของเรา มีวันที่เราไปออกรายการต่างๆ และวันที่เราจะขยายไปตลาดต่างประเทศ” วาทีบอกภาพฝัน
วิ่ง วิ่ง วิ่ง เส้นทางของ VING ไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เราเชื่อว่าจากจุดเช็กพอยต์ที่ผ่านมา VING จะต้องมีจุดเช็กพอยต์จุดต่อไปให้ติดตามแน่นอน
——-
บทเรียนธุรกิจที่ได้จากการทำ VING
- “อย่าพยายามทำธุรกิจที่เห็นคนอื่นทำแล้วดี แต่พยายามหาธุรกิจที่เราเห็นตอนจบและเห็นภาพว่าวันข้างหน้า เราจะไปอยู่จุดไหน”
- “เราต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา อย่าคิดว่าตัวเองรู้เยอะ อย่าคิดว่าตัวเองเก่ง เพราะผมก็เริ่มต้นจากการที่ไม่รู้อะไรเลยแต่พยายามเปิดใจถาม พยายามทำงานกับคนเก่งๆ”
- “เราควรจะทำธุรกิจที่เราเห็นช่องว่างว่าเราสามารถพัฒนามันได้และควรจะทำธุรกิจที่มันดีกว่ามาตรฐานหรือของเดิมจริงๆ ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะทำไปทำไมให้เสียเวลา”
- “เราต้องพัฒนาสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอเพื่อเพิ่มความคาดหวังให้กับลูกค้า เพราะการทำธุรกิจก็เหมือนการเล่นเกมที่ไม่มีวันจบระหว่างเรากับลูกค้า”