นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

คุยกับคนเบื้องหลังความ ‘ขาว ข้น หวาน มัน' ของมะลิ นมข้นหวานแบรนด์ไทยอายุ 60 ที่ใหม่สดเสมอ

The People of Mali

ถ้าเปรียบนมข้นหวานตรามะลิเป็นดั่งต้นมะลิที่แตกใบและส่งกลิ่นหอมนานกว่า 60 ปี หัวใจสำคัญอย่างการปรับตัว รู้เท่าทัน และศึกษาเทรนด์อยู่เสมอคงเป็นดั่งปุ๋ยชั้นดีที่ทำให้มะลิต้นนี้เติบโต 

แต่นอกจากสารอาหารสำคัญอย่างปุ๋ยแล้ว มะลิคงจะยืนต้นสง่าเช่นปัจจุบันไม่ได้ หากไร้คนพรวนดินรดน้ำ และลิดกิ่งใบ และนั่นเองจึงเป็นที่มาว่าทำไมผู้บริหารทุกรุ่นของ ‘นมตรามะลิ’ จึงให้ความสำคัญกับการบริหารคนไม่แพ้การบริหารแบรนด์

ที่มะลิ พนักงานหลายคนทำงานมานานหลายสิบปี บางคนก็อยู่มานานกว่า 40 ปีด้วยซ้ำ ทั้งพนักงานแต่ละรุ่นที่เกษียณออกไปยังส่งลูกหลานกลับเข้ามาทำงานที่มะลิต่อจากรุ่นสู่รุ่น สำหรับบริษัทแล้ว คงเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจไม่น้อยที่พนักงานไว้ใจและเชื่อใจมากขนาดนี้ แต่นั่นก็เป็นผลลัพธ์จากการที่มะลิไม่ได้มองพนักงานว่าเป็น ‘คนงาน’ แต่กลับใช้คำว่า ‘ครอบครัว’ เรียกพนักงานกว่า 1,000 คน 

จากคำว่าครอบครัวนั้น มะลิหมายรวมถึงการรับฟังความเห็นของพนักงานทุกคน การเปิดรับฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ รวมถึงการหมั่นจัดกิจกรรมให้พนักงานได้มีปฏิสัมพันธ์กันเพื่อให้สมาชิกครอบครัว กว่า 1,000 คนของนมตรามะลิมองเห็นภาพมะลิไปในทิศทางเดียวกัน

“เป้าหมายของเราทุกคนคือเราต้องการให้นมตรามะลิเป็นแบรนด์ยอดขายอันดับ 1 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีการทำงานของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกันอยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือเราต้องให้เกียรติวิธีการทำงานของแต่ละคน รับฟังความเห็นของทีมงาน และร่วมกันเบรนสตอร์มในทุกๆ โปรเจกต์ 

“นอกจากนั้น เราต้องมอบหมายงานให้ถูกกับคน เพราะถ้าเขาสนุกกับงาน เขาก็จะมีความสุข ปลายทางมันก็กลับมาที่บริษัทเอง นอกจากเรื่องวิสัยทัศน์การบริหารแล้ว พนักงานก็สำคัญต่อการขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าเช่นกัน” หนึ่ง–สุดถนอม กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท มะลิ กรุ๊ป 1962 จำกัด และกรรมการ บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด บอกถึงหัวใจสำคัญของบริษัทอายุกว่า 60 ปีอย่างมะลิ

คำตอบจากผู้บริหารเป็นเพียงหลักยึดหนึ่งที่ทำให้เราพอมองเห็นภาพรวมของมะลิเท่านั้น แต่คำบอกเล่าจาก ‘สมาชิกครอบครัวมะลิ’ ด้านล่างนี้ต่างหากที่ทำให้เราสัมผัสได้ถึงดีเอ็นเอของมะลิได้ชัดเจนที่สุด


ชื่อ : กช จารุเศรนี 
ตำแหน่งงาน : ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด
ปีที่เข้าทำงาน : 2554

“งานแรกที่มะลิคือผู้ช่วยแผนกส่งออก ความท้าทายในตอนนั้นคือ การศึกษาและเรียนรู้พฤติกรรมการกินของผู้บริโภคแต่ละประเทศย่อมไม่เหมือนกัน เราจึงไม่ได้เอาของเข้าไปขายอย่างเดียว แต่ยังต้องทำความเข้าใจและเข้าไปสร้างพฤติกรรมการกินที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของเราอีกด้วย

“บางประเทศชอบนมที่ข้นหนืดเพราะช่วยให้ประหยัด ใช้ครั้งละน้อยๆ ได้ บางประเทศชอบนมที่เหลว เพราะรินง่ายกว่า บางประเทศชอบนมสีขาว แต่บางประเทศชอบนมออกเหลือง เพราะคิดว่ามีปริมาณนมเยอะกว่า การเข้าไปเรียนรู้ตลาด ทั้งด้านราคาและพฤติกรรมผู้บริโภคของแต่ละประเทศจึงเป็นเรื่องสนุก

“จากนั้นไม่กี่ปีบริษัทเห็นความสำคัญของ digital marketing ที่เปลี่ยนไปตามสังคม ผู้บริหารจึงส่งให้ผมไปเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตลาดดิจิทัล และให้กลับมาเปิดแผนกใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน  นมตรามะลิจึงได้เพิ่มช่องทางการตลาดไปยังแพลตฟอร์มต่างๆ มากขึ้น

“ความท้าทายของการตลาดดิจิทัลคือเราต้องทำความเข้าใจอัลกอริทึมของแต่ละแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราต้องเข้าใจ journey ของผู้บริโภค และเข้าใจธรรมชาติของแต่ละแพลตฟอร์ม ซึ่งตอนที่ผมเข้ามาเป็นยุคที่กำลังเปลี่ยนจากยุคสื่อดั้งเดิม หรือ traditional media มาเป็นยุคสื่อดิจิทัลหรือ digital media ซึ่งหลักการทำงานมันต่างกัน

“อย่าง traditional media เราจะเลือกช่อง เลือกรายการ เลือกพื้นที่ เพื่อที่จะรู้ว่ากลุ่มคนดูหรือ audience เป็นยังไงแล้วจึงเอาโฆษณาไปลง ในทางกลับกัน เราสามารถเลือก audience ของสื่อดิจิทัลได้ตั้งแต่ต้นว่าอยากจะให้คนแบบไหนหรือกลุ่มคนอายุเท่าไหร่มาเห็นคอนเทนต์ของเรา 

“มากไปกว่านั้น สื่อดิจิทัลยังเปิดให้เราเลือกได้ละเอียดถึงพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อยิงโฆษณาให้เหมาะกับ audience ได้ เป็นที่มาให้เราเริ่มทำ segmentation ว่าลูกค้าเรามีกี่ประเภท เขาเป็นใคร อายุเท่าไหร่ แล้วเราจะสื่อสารช่องทางไหนกับเขา แต่ละช่องทางนั้นเหมาะกับการสื่อสารแบบไหน 

“ตรงนั้นแหละที่ทำให้เห็นว่าคนที่รู้จักและใช้มะลิมีแต่ผู้ใหญ่ทั้งนั้นเลย เนื่องจากที่ผ่านมามะลิไม่ได้โฆษณาเยอะ เพราะสินค้า FMCG จะเน้นแข่งกันที่ราคาหรือโปรโมชั่นกันมากกว่า เลยแทบไม่มีกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ หรือกลุ่มเด็กเจนฯ ใหม่เลย

“หลังๆ จึงเริ่มทำแคมเปญที่เข้าถึงกลุ่มเจนฯ ใหม่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกับ GDH ทำหนังและซีรีส์ การผลิตโฆษณาที่ทันสมัยเข้ากับเด็ก การร่วมกับ LINE MAN Wongnai เพื่อแนะนำพันธมิตรร้านค้า การร่วมกับรายการ MasterChef Thailand เพื่อทำให้เห็นว่าสินค้าของเราทำได้หลากหลายเมนู 

“การทำโฆษณาผ่านช่องทางที่หลากหลายเหล่านี้ทำให้ลูกค้าเห็นความแตกต่าง เห็นตัวตนของแบรนด์ และได้เห็นว่าสำหรับมะลิแล้ว เราต้องการส่งมอบสินค้าที่ดีและราคาเข้าถึงได้ให้ผู้บริโภค”


ชื่อ : ฟิล์ม–อัญจิฎา กรรณสูต 
ตำแหน่งงาน : ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด
ปีที่เข้าทำงาน : 2559

“ฟิล์มเข้ามาเริ่มทำงานในฝ่ายขาย ด้วยผู้บริหารอยากให้เข้าใจวิธีการขาย เรียนรู้พฤติกรรมลูกค้า และวิธีการการทำงานร่วมกับคู่ค้า จากนั้นก็ได้ย้ายมาดูด้าน Business Development ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เกิด
โควิด-19 พอดี และเป็นช่วงที่ธุรกิจและช่องทางการซื้อ-ขายออนไลน์ เติบโตอย่างรวดเร็ว 

“ฟิล์มเลยได้เข้ามาสร้างแพลตฟอร์ม e-Commerce ให้กับมะลิ ซึ่งแต่เดิมมะลิยังไม่มีช่องทางการขายออนไลน์มาก่อน เพราะช่องทางหลักจะเป็นการขายแบบ traditional trade เช่น ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว และ modern trade อย่างห้างสรรพสินค้าต่างๆ รวมถึงช่องทาง food service มากกว่า

“ฟิล์มมีโมเมนต์ดีๆ ที่มะลิหลายโมเมนต์จากการที่เราได้ทำและได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอ แต่ถ้าพูดถึงเมจิกโมเมนต์จากการทำงานที่น่าจดจำที่สุดสำหรับฟิล์ม คงเป็นตอนที่มีออร์เดอร์แรกจากช่องทาง e-Commerce เข้ามา เพราะมันเป็นช่องทางที่เราและทีมงานช่วยกันสร้างขึ้นมากันเอง 

“ถึงช่องทาง e-Commerce จะยังใหม่สำหรับมะลิ แต่ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ลูกค้าต้องการความสะดวกมากขึ้น เราจึงได้เพิ่มช่องทางการขายออนไลน์นี้ขึ้นมาเพื่อตอบรับความต้องการของคู่ค้า และผู้บริโภค ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนถึงแนวทางการทำงานที่มี growth mindset ของมะลิที่ดี

“คนภายนอกอาจมองว่ามะลิเป็นแบรนด์เก่าแก่ที่อยู่คู่คนไทยมากว่า 60 ปี แต่มะลิก็พร้อมปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์และสถานการณ์ปัจจุบันอยู่เสมอ เพราะเราอยากสร้างความยั่งยืนให้กับแบรนด์ ให้มะลิโตไปกับคนไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ หรือผู้บริโภคในเจนฯ ต่อๆ ไป”

“อีกโมเมนต์ที่ทำให้มีความสุขที่ได้ทำงานที่มะลิคือฟิล์มได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการทำการตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าเจนฯ ใหม่ โดยใช้เครื่องมือการทำการตลาดออนไลน์ที่เข้ากับยุคปัจจุบันมากขึ้น เพื่อเพิ่ม brand awareness ให้กับแบรนด์ และการที่เริ่มหันมาใช้พรีเซนเตอร์รุ่นใหม่ เช่น วง Trinity, คู่ไบร์ท-วิน และวง Paper Planes เพื่อสร้างฐานลูกค้าเจนฯ ใหม่

“ตอนนั้นเราปรับตัวและวางแผนกันเร็วมาก ทางผู้บริหารเองก็เปิดกว้างกับการทำการตลาดใหม่ๆ ทำให้การเลือกใช้พรีเซนเตอร์ในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับที่ดี ยิ่งตอกย้ำว่าการที่มะลิและพนักงานทุกคนมี growth mindset สำคัญกับธุรกิจมาก และถึงแม้มะลิจะเป็นแบรนด์ที่อยู่คู่คนไทยมานาน แต่เราก็ให้ความสำคัญกับการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอยู่เสมอ”


ชื่อ : มิลลี่–ธารีรัตน์ ยุกตะเสวี
ตำแหน่งงาน : ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท มะลิ กรุ๊ป 1962 จำกัด
ปีที่เข้าทำงาน : 2565

“เราเพิ่งเข้ามาบริหารฝ่ายจัดซื้อที่ต้องดูเรื่องการจัดซื้ออุปกรณ์รวมถึงวัตถุดิบทุกอย่างที่ใช้ในโรงงานได้ไม่นาน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อวัตถุดิบ การซื้อแพ็กเกจจิ้ง หรืออุปกรณ์สำนักงาน จนถึงเครื่องจักร แต่ถือว่าในช่วงเวลา 1 ปีมานี้ เราได้เรียนรู้ระบบการทำงานของมะลิเยอะมาก

“ด้วยนมตรามะลิเป็นสินค้า FMCG ข้อดีคือเราเป็นสินค้าที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนเสมอไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นยังไง แต่ความยากคือราคาวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเหล็ก นม น้ำตาล ฯลฯ มักผันผวนตามสถานการณ์โลก ดังนั้นส่วนต่างของกำไรและต้นทุนในแต่ละครั้งจึงขึ้นลงตามราคาวัตถุดิบ แต่ไม่ว่าราคาจะเป็นยังไง หน้าที่ของฝ่ายจัดซื้อคือเราจะไม่ประนีประนอมกับต้นทุนวัตถุดิบเด็ดขาดเพราะเราต้องการส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภคทุกคน

“หน้าที่ของเราคือต้องพยากรณ์ว่าราคาต้นทุนจะขึ้นช่วงไหน ปัจจัยไหนบ้างที่จะทำให้มันขึ้น แล้วจะเจรจาและล็อกต้นทุนการผลิตยังไงเพื่อให้ผู้บริโภคได้สินค้าคุณภาพดีในราคาเดิม แต่ก่อน ทีมงานทำแมนวลกันเอง เช่น นมข้น 1 กระป๋อง ต้องซื้อวัตถุดิบทั้งหมดกี่ร้อยอย่าง แล้วมะลิมีสินค้าเยอะมาก รวมถึงยังมีแบรนด์อื่นๆ ที่เราดูแล เท่ากับว่าเราต้องจัดซื้อของเป็นพันๆ อย่างด้วยแรงงานคน ซึ่งอาจจะเกิดข้อผิดพลาดได้ และถ้าผิดพลาดเมื่อไหร่ก็อาจกระทบกับกระบวนการผลิตทั้งหมด

“สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้การบริหารงานฝ่ายจัดซื้อมีประสิทธิภาพมากจริงๆ คือการที่คุณพิชญ์ซึ่งเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยพัฒนาระบบของบริษัททั้งหมด สมมติว่าเซลล์วางออร์เดอร์มาว่าเดือนนี้จะผลิตเท่าไหร่ ระบบก็วางแผนการผลิตได้ทุกกระบวนการ ทั้งยังออกใบสั่งซื้อมาให้เลยว่าต้องซื้อสิ่งนี้จำนวนเท่าไหร่ ของต้องถึงวันไหน ถ้าแผนการผลิตเปลี่ยนแปลง ระบบก็คำนวณมาให้ใหม่ เราเองก็นำข้อมูลตรงนี้มาบริหารจัดการด้านงานจัดซื้อต่อได้เลย ส่งผลให้เราสามารถวางแผนการจัดซื้อและควบคุมราคาได้ดี และผลิตสินค้าได้ทันกับความต้องการของผู้บริโภคและทำงานได้แม่นยำขึ้น

“แต่ความยากคือต้องเทรนทีมงานให้ใช้ระบบนี้เป็นด้วย และเราก็ดีใจและภูมิใจมากที่ทีมงานของมะลิทุกคนเปิดใจกับสิ่งใหม่ๆ ที่สำคัญ กรรมการผู้จัดการอย่างคุณพิมพ์เองก็ลงมาเทรนกับทีมงานทุกคนวันละ 10 ชั่วโมงอยู่หลายสัปดาห์ ตั้งแต่การเปิดใบสั่งซื้อ การผูกสูตร เพื่อที่จะเข้าใจระบบใหม่ด้วยตนเอง รวมถึงให้กำลังใจทีมงาน และอยู่จนมั่นใจว่าทีมงานเข้าใจระบบจริงๆ  

“การที่นมตรามะลิเปิดให้ทีมงานเข้าถึงผู้บริหารได้ขนาดนี้ก็สะท้อนว่านมตรามะลิเป็นบริษัทที่เปิดกว้างมากๆ และสะท้อนถึงความเป็นครอบครัวของมะลิว่าที่นี่เราไม่ได้แค่ทำงานด้วยกัน แต่เรายังกินข้าวด้วยกันได้ ทำกิจกรรมร่วมกันได้ แชร์ไอเดียต่างๆ ได้เสมอ ทั้งหมดนี้มันทำให้ทีมงานทุกคนกล้าที่จะลองผิดลองถูก และมีพลังมากพอที่จะร่วมทำงาน ร่วมพาบริษัทก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน”


ชื่อ : ปกรณ์ สีคล้อย
ตำแหน่งงาน : ผู้ตรวจตราอาวุโส
ปีที่เข้าทำงาน : 2527

“ผมเข้ามาทำงานที่นมตรามะลิจากตำแหน่งโอเปอเรเตอร์ แล้วค่อยๆ ไต่เต้าเป็นโฟร์แมน ซูเปอร์ไวเซอร์ และปัจจุบันก็ดูแลเรื่องทรัพย์สินและการติดต่อราชการ รวมถึงเป็นประธานสหภาพแรงงาน 

“ที่จริงผมเองไม่คิดว่าจะทำงานที่นมตรามะลิมาได้เกือบ 40 ปีจนเกษียณหรอก และพนักงานหลายๆ คนก็ไม่คิดว่าจะทำงานที่มะลิได้นานขนาดนี้ เพราะถ้าย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 ที่น้ำท่วมทั้งนิคม บอกตรงๆ ว่าบริษัทไม่เหลืออะไรเลย 

“สมัยนั้นถ้าเกิดภัยพิบัติ บริษัทสามารถเลิกจ้างพนักงานได้ แต่วันนั้นผู้บริหารกลับรักษาพนักงานทุกคนเอาไว้ แล้วก็ลงมาแก้ไขปัญหากับพนักงานจนค่อยๆ ฟื้นบริษัทขึ้นมาได้ภายใน 2-3 ปี ระหว่างนั้นผู้บริหารก็ต้องหาเงินมาจ่ายเงินเดือนพนักงานไปพร้อมๆ กับฟื้นฟูและซื้อเครื่องจักรใหม่ เพราะเงินจากประกันก็ยังไม่ได้ มันก็เป็นแรงผลักดันให้พนักงานพร้อมจะสู้ไปกับบริษัท

“ถึงจะไม่ได้เกิดวิกฤตอะไร การทำงานที่นมตรามะลิก็ค่อนข้างสบายกาย สบายใจ เพราะหัวใจสำคัญของการทำงานที่นี่คือการรับฟังและการสื่อสาร ยิ่งนมตรามะลิเป็นแบรนด์เก่าแก่ที่ต้องพร้อมปรับตัวไปกับสังคมและการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้นเรื่อยๆ การพูดคุยให้พนักงานเห็นภาพที่ตรงกันจึงเป็นเรื่องจำเป็น 

“ทุกๆ การเปลี่ยนแปลง ผู้บริหารจะเชิญสหภาพแรงงานไปประชุมเพื่อหาแนวทางสื่อสารกับพนักงานกว่า 1,000 คน ให้มองเห็นภาพเดียวกัน บริษัทยังมีกล่องที่พนักงานยื่นเรื่องหาผู้บริหารได้โดยตรง หรือถ้าใครมีปัญหาก็นำเรื่องให้กรรมการสหภาพเพื่อส่งต่อมาให้ผม แล้วผมก็จะไปคุยกับผู้บริหารเพื่อหาทางแก้ไขให้เร็วที่สุด ยิ่งเราแก้ไขได้เร็วเท่าไหร่ก็จะเกิดปัญหาน้อยลงเท่านั้น 

“เหมือนเราอยู่ด้วยกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย บริษัทรับฟังเสียงพนักงาน พนักงานก็รับฟังบริษัท ทุกคนสอนงานกันแบบพี่แบบน้อง พอรุ่นพ่อรุ่นแม่เกษียณ รุ่นลูกก็เข้ามาทำงานต่อ เด็กๆ หลายคนรวมถึงลูกผมที่เรียนจนจบปริญญาโทก็เพราะมะลิ เราได้รักษาพยาบาลฟรีก็เพราะมะลิ 

“ไม่ใช่แค่ผมที่อยู่มานานกว่า 40 ปี แต่ยังมีพนักงานอีกหลายคนที่อายุงานเป็นหลักสิบปีเหมือนกัน ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะที่คนคนหนึ่งจะอยู่บริษัทเดิมได้นานขนาดนี้ แสดงว่ามะลิทำให้คนงานรู้สึกว่ามะลิเป็นมากกว่าแค่ที่ทำมาหากิน แต่มันคือครอบครัวที่ผูกพันกัน เป็นเหมือนครอบครัวที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะเดินไปด้วยกัน”

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst