Double Goose - Double Good

The CEO of Double Goose

ใครจะไปคิดว่าพื้นที่กลางเมืองอย่างสุขุมวิทซอย 42 ที่อยู่ห่างจากทำเลทองอย่างรถไฟฟ้าสถานีเอกมัยเพียง 500 เมตร จะมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตเสื้อยืดหลักล้านตัวต่อปีออกสู่ตลาด และนี่คือที่ตั้งของ บริษัท โรงงานไทยแลนด์นิตติ้ง จำกัด แม้ชื่อบริษัทจะไม่ค่อยเป็นที่คุ้นหูกันเท่าไหร่ แต่ผลผลิตจากโรงงานแห่งนี้อย่าง ‘เสื้อยืดตราห่านคู่’ นั้น เป็นที่รู้จักของหลายคนอย่างดี 

สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กับทำเลที่ตั้ง คือเรื่องราวที่อยู่หลังประตูรั้วสีเทาของโรงงานแห่งนี้ ว่าจากจุดเริ่มต้นของแบรนด์เมื่อ 69 ปีก่อน จากเสื้อยืดที่มีจุดเริ่มต้นหลังสงครามครั้งที่สองจบลง อะไรคือสิ่งที่ทำให้ห่านคู่ยังคงสามารถตั้งอยู่และยังไม่ดับไป และไม่ใช่การตั้งอยู่แบบนิ่งๆ แต่ยังปรับตัวให้เข้ากับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไปได้ทุกยุคทุกสมัย โดยมีเสื้อยืดธรรมดาๆ เป็นโปรดักต์ฮีโร่ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน 

เหล่านี้ล้วนแต่อาศัยทักษะการบริหารที่ไม่ธรรมดา 

ประตูรั้วเปิด เราพบกับ คุณากร ธนสารสมบัติ ผู้บริหารรุ่นที่ 3 ของแบรนด์ห่านคู่ ผู้ที่พาเสื้อยืดจากคนรุ่นปู่ไปทำอะไรใหม่ๆ มากมาย และแน่นอนว่าเขาคือคนที่จะมาเล่าเรื่องราวความเป็นตำนาน และการทำให้ตำนานยังอยู่มาได้จนถึงตอนนี้

เคยมีคนถามไหมว่าทำไมโรงงานห่านคู่ถึงมาตั้งอยู่สุขุมวิท 42 ที่เป็นทำเลในเมืองขนาดนี้ 

เคย ผมเองก็ยังเคยสงสัยเหมือนกัน แต่ผู้ใหญ่ก็เล่าให้ฟังว่าจริงๆ แล้วโรงงานแรกของเราตั้งอยู่ที่ราชวัตร ซึ่งเป็นที่ที่สมัยก่อนคนจีนชอบอยู่กัน แต่พอมีการขยับขยายเราก็มีการสร้างโรงงานเพิ่มเพราะเมื่อก่อนบริเวณนี้ยังเป็นทุ่งนาอยู่เลย เป็นเหมือนชนบทในสมัยก่อน ยังไม่ได้เจริญแบบทุกวันนี้

จนเมื่อ 10 ปีก่อนหน้าเราก็มีไปสร้างโรงงานใหม่ที่นิคมสมุทรสาคร นอกจากจะเอาไว้ขยายกำลังการผลิตให้เพียงพอ ก็ยังเป็นการเตรียมการเพื่ออนาคตด้วย เผื่อว่าวันนึงในเมืองมีกฎไม่ให้ทำโรงงาน เราจะได้มีพื้นที่รองรับทัน

คุณทำงานอยู่กับโรงงานนี้มากี่ปีแล้ว

ปีนี้เข้าปีที่ 15 

พอเรียนจบแล้วคุณมารับช่วงต่อจากที่บ้านเลยหรือเปล่า

เปล่า ผมเรียนจบด้านวิศวะมา พอเรียนจบก็เข้าไปทำงานในสายเทเลคอมอยู่หลายปี ทำหลายตำแหน่ง เป็นตั้งแต่ After Market Product ที่ต้องดูฟีดแบ็กของลูกค้าในตลาดว่าเป็นยังไง แล้วก็เอาฟีดแบ็กเหล่านั้นมาปรับปรุง แต่ในขณะเดียวกันการปรับปรุงนั้นเราก็ต้องคุม cost ฝั่งโรงงานให้ได้ด้วย จากนั้นก็ย้ายไปดูแลโปรเจกต์สินค้าที่จะออกใหม่ แล้วก็ไปทำงานเป็นเซลส์ขายเน็ตเวิร์ก

ซึ่งตอนนั้นก็ไม่คิดเหมือนกันว่าความรู้และประสบการณ์ด้านวิศวะที่เรามี วันนึงจะเอามาใช้กับการทำห่านคู่ได้

ที่ว่าเอามาใช้ คุณเอามาใช้ยังไง

การได้เข้าไปทำงานวิศวกรในหลายๆ ส่วนสอนให้ผมได้มองแบบทั้ง Value Chain ทำให้เห็นว่าธุรกิจแต่ละอย่างล้วนเป็นจิ๊กซอว์ที่เอามาต่อประกอบกัน ต้องมีจิ๊กซอว์ชิ้นนั้นมาต่อกับชิ้นนี้ มันถึงจะเชื่อมจนกลายเป็นภาพใหญ่ขึ้นมาได้ ไม่ใช่มองแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งของธุรกิจ

อย่างสมัยก่อนที่ห่านคู่มีหน้าร้านอยู่เยาวราช เราเจอปัญหาดีมานด์กับซัพพลายไม่เคยมาเจอกัน คือโรงงานมีหน้าที่ผลิตก็ผลิตไป เสร็จแล้วก็ส่งให้ร้านค้า ร้านค้าก็เอาไปขายต่อให้กับลูกค้า โรงงานส่งอะไรมาก็ขายอย่างนั้น แต่มันมีหลายครั้งที่ลูกค้าเขาอยากได้สินค้าแบบอื่น เช่นอาจจะอยากได้เสื้อกล้ามแต่โรงงานส่งมาแค่เสื้อยืด ฉะนั้นลูกค้าก็ต้องรอเสื้อกล้ามจากล็อตต่อไป ไม่ใช่ว่าผลิตไม่ได้นะเพียงแต่ร้านค้าไม่ได้สั่งเสื้อกล้ามมาจากโรงงาน ลูกค้าก็ต้องรอ เราก็เสียโอกาสในการขาย 

เราก็เลยเอาความรู้ตอนที่เคยทำงานเป็นวิศวกรมาช่วยแก้ปัญหาด้วยการเอาข้อมูลต่างๆ มากองรวมไว้ด้วยกันแล้วเอามาใส่ในระบบที่สร้างขึ้นมาเอง พอเห็นข้อมูลที่มีทั้งหมด ตอนนั้นก็จัดระบบธุรกิจได้ดีขึ้น 

แล้วจากวิศวกร คุณเบนสายมาทำธุรกิจที่บ้านได้ยังไง

อันที่จริงผมเคยฝันว่าอยากเปิดซอฟต์แวร์เฮาส์เล็กๆ เป็นของตัวเอง แต่ตอนนั้นรูปแบบการค้าขายมันเริ่มเปลี่ยนไป เป็นช่วงรอยต่อที่คนเริ่มหันไปเดินโมเดิร์นเทรดกันมากขึ้น แต่ห่านคู่ยังคุ้นชินกับการค้าขายแบบดั้งเดิมอยู่ แล้วตอนนั้นผมก็ยังถือเป็นคนรุ่นใหม่ เลยตัดสินใจกลับมาช่วยที่บ้าน กะมาช่วยแค่สักช่วงหนึ่งพอเริ่มอยู่ตัวแล้วก็จะกลับไปทำอะไรแบบที่ตัวเองคิดไว้ แต่จากวันนั้นจนถึงตอนนี้ก็ทำห่านคู่มา 15 ปีแล้ว เริ่มงานแรกด้วยงานฝ่ายขาย

ถึงตอนนั้นผมจะยังไม่รู้อะไรมาก และผู้ใหญ่ก็ไม่รู้จะบอกผมเรื่องการค้าขายสมัยใหม่ยังไง เพราะตัวเขาเองก็ยังตามไม่ทันเหมือนกัน แต่เขาก็บอกกับผมว่า “ทางมีก็ต้องเลิน” คือเขาพูดด้วยสำเนียงจีนๆ และความหมายคือตั้งใจพูดว่าทางมีก็ต้องเดิน ซึ่งในอีกความหมายนึงผมก็มานั่งคิดว่ามันก็สอดคล้องกับคำว่า learn ที่หมายถึงการเรียนรู้ได้ด้วยเช่นกัน

คุณ ‘เลิน’ ยังไง

ก็เริ่มถอยออกมาดูเพื่อให้เห็นภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดก่อน จนเห็นว่าปัญหาในตอนนั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวสินค้าเพราะรุ่นพ่อเขาพัฒนามาอย่างดีแล้ว แต่อยู่ที่เรื่องของ growth คือเราจะทำยังไงให้แบรนด์ที่อยู่มานานเติบโตต่อไปได้

ก็เลยออกไปเดินดูตลาดโบ๊เบ๊ สำเพ็ง และตลาดตามต่างจังหวัด มันทำให้ผมเห็นว่าโมเดิร์นเทรดเริ่มเข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตของผู้คนมากขึ้น ผมเลยอยากจะพาเสื้อยืดของห่านคู่ไปอยู่โมเดิร์นเทรดด้วยเหมือนกัน 

แต่ไม่ใช่คิดอยากจะทำแล้วจะติดต่อเอาเข้าไปวางได้ทันที เพราะที่ผ่านมาเราขายแบบยกแพ็กมาโดยตลอด แล้วการขายปลีกกับขายส่งนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไหนจะมีเรื่องการตั้งราคาอีก ตอนนั้นจะขายเท่าไหร่ผมยังไม่รู้เลย เพราะอย่างที่บอกเราขายแบบส่งมาโดยตลอด ไม่เคยขายปลีกมาก่อน 

ไม่ใช่แค่การทำอะไรใหม่ แต่เราต้องหาทางออกให้กับสิ่งเดิมอย่างการค้าขายกับยี่ปั๊ว-ซาปั๊วเป็นคู่ค้ากันมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นพ่อ ให้เขาไม่คิดว่าเราไม่ได้จะมาขายตัดราคากับเขานะ แล้วถึงเราจะขายบนห้างแต่ก็ยังมีสินค้าเพียงพอที่จะส่งให้เขาอยู่เหมือนเดิม

แล้วคุณแก้ปัญหาเหล่านี้ยังไง เพราะแค่ฟังดูคร่าวๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย 

ก็เริ่มจากโทรไปหาคู่ค้าเดิมของเราก่อนเพื่อให้เขารู้ว่าเราไม่ได้จะทิ้งพวกเขานะ ยังดูแลกันอยู่ ส่วนที่จะมองหาตลาดใหม่ๆ ก็ตัดสินใจทำสินค้าใหม่ขึ้นมาสำหรับเอาไปวางขายในโมเดิร์นเทรดโดยเฉพาะ แยกตลาดกันไปเลย ทำป้ายแบบใหม่ ตั้งราคาขายแพงกว่า ตอนนั้นขาย 139 บาท พอยี่ปั๊ว-ซาปั๊วเห็นเราขายแพงกว่าเขาก็สบายใจว่าของที่อยู่บนห้างจะไม่ไปตัดราคาหน้าร้านเขา 

จนในที่สุดก็ได้เอาไปวางขายในคาร์ฟูร์เป็นที่แรกตอนปี 2550 จำได้ตอนแรกที่เข้าไป คาร์ฟูร์บอกกับเราว่าของเราน่าจะขายยากนะ แขวนก็ไม่ได้เพราะตอนนั้นเขาติดภาพเสื้อห่านคู่แบบที่แบวางขายกับแผง แถมตอนนั้นเราเข้าไปช้ากว่าคนอื่นเขา เจ้าอื่นเขานำเราไปหลายก้าวแล้ว

แต่สุดท้ายมันก็ขายมาได้เรื่อยๆ ในแบบของมัน จากคาร์ฟูร์ก็เริ่มขยับไปมีพื้นที่ขายบนห้างอื่น ไปถึงร้านสะดวกซื้อ จนทำให้ห่านคู่เป็นเสื้อที่หาซื้อได้ง่ายและทำให้หลายคนเรียกเราว่าเสื้อยืดที่เอาไว้ใส่ยามฉุกเฉิน

นอกจากทำให้ห่านคู่ไปขายบนโมเดิร์นเทรดได้ครั้งแรก ห่านคู่ในยุคของคุณยังมีอะไรใหม่ๆ อีกบ้าง

ก็มีเสื้อแบบใหม่ออกมามากมาย มีการสร้างโรงงานใหม่ที่นิคมสมุทรสาคร ปรับปรุงสายพานการผลิต เอาระบบ IT เข้ามาช่วยในการทำงาน ทำออนไลน์ มีช็อปเป็นของตัวเอง แตกซับแบรนด์ออกมา แล้วก็มีการไปทำคอลแล็บกับแบรนด์อื่น

จำได้ว่าครั้งแรกที่ห่านคู่มาคอลแล็บกับ Carnival ก็สร้างความฮือฮาเหมือนกัน ย้อนกลับไปตอนนั้นอะไรที่ทำให้แบรนด์รุ่นพ่อหันมาจับมือกับแบรนด์รุ่นลูก

พอดีได้มีโอกาสเจอกับคุณปิ๊น (เจ้าของแบรนด์ Carnival) ก็คุยกับเขาว่าเราอยากจะทดลองขยายตลาดผ่านกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ แล้วก็อยากจะทำอะไรใหม่ๆ ให้ลูกค้ากลุ่มเดิมได้ลองด้วยเหมือนกัน พอคุยๆ กันในที่สุดก็เลยตัดสินใจทำเป็นเสื้อยืดคอลเล็คชั่นที่ใช้ชื่อว่า CARNIVAL X Double Goose ขึ้นมา ทำมาแค่ 3,000-4,000 ตัว ที่ทำไม่เยอะเพราะเรายังไม่เคยคอลแล็บกับใครมาก่อน  ก็เลยตัดสินใจว่าให้ล็อตแรกเป็นเหมือนการทดลองตลาดไปก่อน แต่สุดท้ายก็ขายหมด เป็นอะไรที่เกินคาดเหมือนกัน

ด้วยจำนวนเพียง 3,000-4,000 ตัว แน่นอนเป้าหมายหลักมันไม่ใช่เรื่องของยอดขาย แต่คือการนำเสนออะไรใหม่ๆ ให้กับลูกค้า และที่สำคัญคือผมอยากจะส่งสัญญาณให้กับทีมว่าเนี่ยดูสิ แบบนี้เราก็ทำได้นะ พอเขาเห็นโปรเจกต์นี้เขาก็จะมองเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ ของห่านคู่ได้มากขึ้นด้วย ให้เขาได้ลองก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนที่อยู่ เพราะถ้าจู่ๆ เราให้เขาไปทำอะไรใหม่โดยที่เราไม่ทำให้เขาเห็นภาพก่อน มันก็ยากที่จะทำให้เขาเชื่อและเปลี่ยนตามเราได้ เพราะตั้งแต่ทำงานมา 15 ปีเรื่องยากที่สุดสำหรับผมก็คือเรื่องการบริหารคนนี่แหละ 

ทำไมเรื่องคนถึงเป็นเรื่องยากสำหรับคุณ 

มันยากเพราะทุกคนไม่อยากเปลี่ยน ที่ไม่อยากเปลี่ยนก็เพราะเราอยู่ในคอมฟอร์ตโซนกันมานาน เมื่อสบายดีอยู่แล้ว แล้วจะเปลี่ยนให้มันลำบากทำไม 

ถ้าเรื่องระบบเห็นได้ด้วยดาต้า เรื่องคนก็เห็นได้ด้วยมือ เราต้องเอามือไปทำกับเขา ความยากคือเดี๋ยวนี้เราไปสั่งเขาไม่ได้ แล้วการสอนงานนั้นยากกว่าสั่งงานมาก แต่มันก็คุ้มค่าเพราะการที่เราไปทำกับเขาเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงที่เขากำลังทำอยู่มันคืออะไร เราเองก็ได้เข้าใจพนักงานมากขึ้นด้วย

แล้วตั้งแต่ทำงานที่ห่านคู่มา 15 ปี การสร้างทีมก็ถือเป็นงานที่ผมรู้สึกภูมิใจกับมันมากที่สุดแล้ว 

เพราะอะไร

ผมภูมิใจที่เห็นทีมงานเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เพราะความสำเร็จของแต่ละงานแต่ละโปรเจกต์พอมันผ่านมาแล้วมันก็ผ่านไป วันนี้เข้าห้างได้แล้ว ขายออนไลน์ได้แล้ว ส่งออกได้แล้ว ก็เลยมีความรู้สึกว่ามันก็สำเร็จ โอเค เสร็จแล้วก็แล้วไป 

แต่คนที่อยู่กับเราเขาจะกลายเป็นทีมงานที่แข็งแกร่งและเติบโตขึ้น และแม้โปรเจกต์ที่ผ่านมามันจะสำเร็จมากแค่ไหน เราจะมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยขึ้นเพียงใด แต่ถ้าไม่มีทีมที่แข็งแรงที่ช่วยสร้างสรรค์โปรเจกต์ต่อๆ ไป มันก็เท่านั้น 

ยุคโมเดิร์นเทรด ยุคออนไลน์ ยุคโควิด การทำห่านคู่ยุคไหนยากที่สุดสำหรับคุณ 

ผมมองว่ามันยากไม่เหมือนกัน แต่ถ้าถามว่าอะไรโหดหินสุดก็คงจะเป็นโควิดนี่แหละ คือโมเดิร์นเทรดเป็นเรื่องใหม่สำหรับเราก็จริง แต่ยังมีคนอื่นๆ ที่เข้าไปก่อนหน้าให้เราดูเป็นตัวอย่าง เหมือนเราเข้าไปในสิ่งที่มันมี business model อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องหาจุดที่ลงตัวให้เจอ 

ส่วนออนไลน์ตอนนั้นต้องบอกว่ามันมี business model อยู่แล้ว แต่ภายในเรายังไม่มีความพร้อม ทั้งเรื่องคนทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ ส่วนภายนอกสมัยนั้นก็ยังไม่มี Lazada, Shopee ขนาดนี้ ขนส่งก็ยังมีแค่ไปรษณีย์ไทยเจ้าเดียว แต่มันก็ค่อยๆ ปรับมาได้ เราก็เริ่มทำออนไลน์ตั้งแต่ยุค Weloveshopping จนค่อยๆ พัฒนามาเรื่อยๆ 

แต่โควิดนี่สิของจริง เพราะมันเป็นอะไรที่มองข้างหน้าไม่เห็น ฉะนั้นพอตอนโควิดมันไม่เกี่ยวว่าพร้อมหรือไม่พร้อมแล้ว มันคือการที่เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มีแต่ความไม่แน่นอนเต็มไปหมด เดี๋ยวเปิดเดี๋ยวปิดละจะยังไงกันต่อ แล้วไม่ใช่แค่เราคนเดียว แต่โดนกันทั้งซัพพลายเชน ทั้งซัพพลายเออร์ทั้งลูกค้า 

ซึ่งตั้งแต่ทำห่านคู่มานี่เป็นครั้งแรกเลยที่โรงงานเราถูกปิด มันเหมือนเราเป็นคนขับรถที่มีคนมาโดยสารกับเราเต็มไปหมด แต่เรามองเห็นทางข้างหน้าไม่ชัด ไม่รู้ว่าต้องไปยังไงต่อ แต่คนในรถช่วยประคองกันมา จนในที่สุดมันก็ขับฝ่าวิกฤตมาได้ 

พอผ่านโควิดมาได้ แล้วภาพรวมของห่านคู่ในตอนนี้เป็นยังไง 

ทุกวันนี้ยอดขายเรามาจากเทรดพาร์ตเนอร์ทั้งที่เป็นโมเดิร์นเทรดและร้านค้าแบบดั้งเดิม 80% ซึ่งยอดขายกว่ากึ่งหนึ่งมาจากร้านค้าแบบดั้งเดิมที่เป็นยี่ปั๊ว-ซาปั๊วอยู่ 

ฟังแล้วอาจจะงง เพราะที่ผ่านมาเราคุยกันเรื่องปรับตัวเข้าโมเดิร์นเทรด ทำออนไลน์ แต่ทำไมยอดขายส่วนใหญ่ถึงยังมาจากร้านค้าแบบดั้งเดิมอยู่ 

ต้องอธิบายให้ฟังแบบนี้ว่า นอกจากในกรุงเทพฯ เรายังมีลูกค้าที่อยู่ตามต่างจังหวัดเยอะ และตลาดในต่างจังหวัดนั้นใหญ่มาก แม้เขาจะซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ถามว่าร้านค้าออนไลน์เหล่านั้นไปรับเสื้อของเรามาจากไหน ก็ไปรับมาจากร้านค้าส่งแบบดั้งเดิมที่อยู่ในท้องที่นั่นเอง และไม่ใช่แค่ห่านคู่แต่พวกยาสระผม สบู่ ผงซักฟอก หรือ consumer product ที่เป็นของใช้ในชีวิตประจำทั้งหลาย ยอดขายกว่าครึ่งก็มาจากร้านค้าแบบดั้งเดิมนะ ด้วยเหตุผลที่คล้ายๆ เรานี่แหละ เพราะการกระจายสินค้าไปยังที่ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงมันต้องมีการกระจายจาก hub ตรงกลางออกไป เพียงแต่ end consumer อาจจะไม่ได้เห็นการกระจายที่อยู่หลังบ้านแบบนี้ ก็เลยคิดไม่ถึงว่าร้านค้าแบบดั้งเดิมยังมีพลังในแบบของตัวเองอยู่ 

ส่วนในแง่ของกลุ่มลูกค้าที่เป็น end consumer เราก็มีลูกค้าที่เป็นคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่รุ่นปู่ไปจนถึงรุ่นหลาน

คุณทำยังไงให้ลูกค้าของห่านคู่มีตั้งแต่คนกลุ่มเจนฯ Z ไปจนถึง Baby Boomer

อย่างแรกเลยคือเสื้อยืดเป็นสิ่งที่คนทุกเพศทุกวัยใส่กันอยู่แล้ว แล้วพอมาพูดถึงเรื่องของช่วงวัย คนที่เป็น Baby Boomer เขารู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว เช่นเดียวกับคนเจนฯ X ซึ่งในช่วงที่คนกลุ่มนี้กำลังเป็นวัยรุ่นเสื้อยืดสีขาวกลายเป็นแฟชั่นสำหรับพวกเขาจากเทรนด์ 5 ก. 5ย. และจากอิทธิพลของอัสนี-วสันต์ ที่มักจะสวมเสื้อยืดกับกางเกงยีนส์ขึ้นคอนเสิร์ตอยู่บ่อยๆ 

ส่วนเจนฯ Y และเจนฯ Z คนสองกลุ่มนี้รู้จักเราจากพ่อแม่ปู่ย่าของเขา และจากการทำการตลาดรวมถึงการออกสินค้าดีไซน์ใหม่ๆ ของเราออกมาตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ อย่างเช่นทำเสื้อสีเอิร์ทโทน หรือทำเสื้อทรงโอเวอร์ไซส์ เป็นต้น

การทำอะไรใหม่ๆ กับธุรกิจดั้งเดิมที่มีคนรุ่นพ่อเคยทำสำเร็จมองดูอยู่ มันยากไหม

จะยากจะง่ายผมว่ามันอยู่ที่ใจเรา ความยากในตอนเข้ามาทำแรกมันเป็นเรื่องความกลัว กลัวว่าเขาจะไม่เห็นด้วย กลัวเขาไม่ชอบ กลัวว่าเราจะทำอะไรเฟลแล้วทำให้รู้สึกเสียหน้า 

แต่ผมว่าไม่ว่าเราจะทำอะไรดีแค่ไหน สุดท้ายมันก็ต้องมีเสียงบางอย่างสะท้อนกลับมายังเราอยู่ดี ดังนั้นผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดในเวอร์ชั่นของตัวเองแล้วหรือเปล่า 

สัญญาณในการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงทำอะไรใหม่ๆ แต่ละครั้งคืออะไร 

ถ้าดูจากตัวเลขมันไม่ได้มีสัญญาณอะไรที่ไม่ดี เพียงแต่มันเป็นสัญญาณมาจากตลาดว่าช่องทางเก่ามันเริ่มหายไปแล้วนะ คนเริ่มหันไปใช้ช่องทางใหม่กันมากขึ้น แล้วส่วนตัวผมก็มีความพารานอยด์ในตัวเองนิดนึงว่า เฮ่ย ถ้าเราไม่เปลี่ยน ยังอยู่แบบเดิมๆ ต่อไปมันก็คงจะไม่ได้

อะไรคือสิ่งที่ห่านคู่ยังยึดถือ แม้จะผ่านการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้งแล้วก็ตาม 

สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนมีอยู่สองเรื่องหลักๆ ด้วยกัน เรื่องแรกคือคุณภาพของสินค้าที่มีความคงทน ใส่ได้นาน ส่วนเรื่องที่สองคือความสัมพันธ์กับลูกค้า เราให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ตั้งแต่ยังไม่มีคำว่า CRM เลยด้วยซ้ำ สมัยก่อนเราจะใช้คำว่า ‘เพ่งอิ้ว’ หมายถึง เพื่อน ส่วนอีกคำคือคำว่า ‘ก่ำเช้ง’ หมายถึงการมีน้ำจิตน้ำใจ

เพราะการรักษาเพื่อนๆ เอาไว้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราคงเดินมาถึงปีที่ 69 ไม่ได้ ถ้าระหว่างทางไม่มีเพื่อน ไม่มีพันธมิตร ไม่มีคู่ค้าที่ดีคอยสนับสนุนมาโดยตลอด 

คิดว่าอะไรคือหัวใจสำคัญที่ทำให้ห่านคู่ยืนระยะมาจนถึงปีที่ 69 ได้

ผมมองว่ามันคือการที่เราไม่เคยยอมแพ้กับมันมาตั้งแต่คนรุ่นปู่รุ่นพ่อ ไม่ยอมแพ้กับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นข้างหน้า แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องตะบี้ตะบันเอาชนะตลอดเวลา ความไม่ยอมแพ้ในที่นี้หมายถึงคือการที่สามารถประคองตัวเองให้อยู่ในเกมได้ แพ้บ้างชนะบ้างไม่เป็นไร แต่ที่สำคัญคือเวลาแพ้คือต้องหาวิธีกลับมาอยู่ในเกมให้ได้ 

ถัดจากขวบปีที่ 69 คุณมองว่าห่านคู่จะเติบโตไปยังไง

ผมอยากให้มันเป็น iconic brand ให้คนรุ่นต่อจากผมสามารถมารับไม้ต่อเพื่อดูแลพนักงานและคนที่ อยู่ในเจเนอเรชั่นของเขาต่อไปได้

Writer

บรรณาธิการธุรกิจ มีความสนใจเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาด และชื่นชอบการเข้าโรงงานเพื่อดูเบื้องหลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst