Climb to Success

Stonegoat ยิมปีนผาที่ทำให้การปีนผาปลอดภัย เป็นมิตร จนมีผู้ใช้บริการตั้งแต่เด็กยันผู้สูงอายุ

ในวันที่เทรนด์รักสุขภาพกำลังได้รับความนิยม ผู้คนต่างเริ่มหากิจกรรมที่ได้ขยับเขยื้อนร่างกาย กระตุ้นหัวใจให้เลือดได้สูบฉีด และที่สำคัญคือต้องสนุก สามารถทำร่วมกับเพื่อนหรือคนที่รักได้ 

หากพิจารณาจากเงื่อนไขเหล่านี้ ‘กีฬาปีนผา’ ถือเป็นคำตอบที่ใช่สำหรับกิจกรรมที่ผู้คนกำลังมองหา แม้ว่าครั้งหนึ่ง หลายคนอาจมีภาพจำว่าการปีนผาต้องใช้แรงมหาศาล ต้องมีมัดกล้ามเนื้อที่แข็งแรง และที่สำคัญคือต้องมีความโลดโผน กล้าเสี่ยงอันตราย ตามสไตล์กีฬาประเภทเอกซ์ตรีม

แต่ในวันนี้ Stonegoat Climbing Gym ยิมปีนผาใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร ได้พิสูจน์แล้วว่า การปีนผาแบบ Bouldering (การปีนผาแบบไม่ใช้เชือกบนหน้าผาที่ไม่สูงมาก โดยมีเบาะนิรภัยรองรับ) กลายเป็นกิจกรรมที่เหมาะกับเทรนด์รักสุขภาพของคนเมือง 

นอกจากนี้ ภายในยิมยังมีพื้นที่ขนาดย่อมให้คนแฮงเอาต์ระหว่างพักเบรก เช่น คาเฟ่ และโคเวิร์กกิ้งสเปซ และยังมีอีเวนต์ไม่ขาดสาย เช่น Jazz Night ที่มีดนตรีแจ๊สเปิดคลอให้คนจอยกับการปีนผา ตรงนี้เองที่ทำให้มีผู้คนเข้ามาใช้บริการหลากหลาย ตั้งแต่เด็กเล็กยันผู้สูงอายุ 70 ปี รวมไปถึงนักปีนหน้าใหม่หรือคนที่เพียงแต่อยากจะหากิจกรรมใหม่ๆ ทำ ก็สนุกไปกับการปีนผาครั้งแรกของพวกเขาได้ 

น่าสนใจไม่น้อยว่า สนธเยศ อัศวเหม, จัสติน ธารทอง และกฤษกร ธงพานิช ผู้ร่วมก่อตั้งยิมแห่งนี้ ทำยังไงในการลบภาพจำเดิมๆ ทำให้การปีนผากลายเป็นกิจกรรมที่สนุก เหมาะกับทุกเพศวัย และทำยังไงให้ Stonegoat Climbing Gym กลายเป็นสปอร์ตคอมมิวนิตี้แห่งใหม่ของคนที่รักสุขภาพได้ในปัจจุบัน

ภาพจำของกีฬาและธุรกิจปีนผาในประเทศไทยก่อนหน้านี้เป็นยังไง

จัสติน : ต้องเกริ่นก่อนว่าผมเป็นลูกครึ่งไทย-อังกฤษ ที่ย้ายมาอยู่ที่ประเทศไทยประมาณ 10 ปีที่แล้ว ในวันนั้นวงการปีนผาในประเทศไทยเล็กมากๆ คือแทบไม่มีคำว่าปีนผาในวงพูดคุยของคนทั่วไปเลย ยิ่งคนที่เป็นนักปีนผาเองนี่นับได้เลยว่ามีกี่คน แล้วแต่ละคนก็รู้จักกันหมด

ส่วนยิมปีนผาจำลองนี่ยิ่งแล้วใหญ่ คือมันน่าประหลาดตรงที่ประเทศไทยมีพื้นที่ในการปีนผาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเลยนะ โดยเฉพาะที่หาดไร่เลย์ หาดอ่าวต้นไทร ในจังหวัดกระบี่ ที่ช่วงปลายปีจะมีชาวต่างชาติหลายร้อยคนเดินทางมาปีนหน้าผาที่กระบี่ สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดนี้มาตลอด 

แต่มันก็น่าแปลกใจที่คนไทยเองกลับไม่ได้สนใจเรื่องนี้เท่าไหร่นัก แล้วยิ่งได้ลองคุยเรื่องการปีนผากับพวกเขา ก็จะเต็มไปด้วยความคิดประมาณว่า มันต้องน่ากลัว ต้องเป็นกำแพงชันสูงๆ เท่านั้น ส่วยเรื่องยิมปีนผาจำลองในร่มนั้น พวกเขาก็แทบไม่เข้าใจเลยว่าคืออะไร

หมายความว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยถือเป็นสถานที่สำหรับปีนผาที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติมาก แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากคนไทยเท่าไหร่นัก 

จัสติน : ใช่ แต่ผมว่าเรื่องนี้มันต้องใช้เวลา เพราะการปีนผาที่เกิดขึ้นในกระบี่ก็ก่อตั้งโดยคนต่างชาติที่สนใจการปีนผา โดยมีคนไทยบางส่วนเท่านั้นที่มาร่วมเป็นไกด์ กิจกรรมและสถานที่ตรงนี้ในตอนแรกมันเลยออกแบบมาสำหรับชาวต่างชาติมากกว่า ไหนจะเรื่องค่าใช้จ่าย เรื่องภาพจำต่างๆ ที่ปีนผาต้องเป็นคนแข็งแรง ต้องดูพร้อมลุย มีกล้าม ซึ่งมันก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้หลายคนรู้สึกว่าการปีนผาเข้าถึงยาก

ส่วนการปีนผาจำลองในยิมนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาโดยกลุ่มคนปีนหน้าผาที่เขาอยากจะมีสถานที่เอาไว้ใช้สำหรับฝึกซ้อม เขาจึงไม่ได้ตั้งใจเปิดยิมเพื่อจะดึงดูดนักปีนหน้าใหม่เข้ามาในวงการหรือมองว่าจะทำเป็นธุรกิจ เขาแค่มียิมเอาไว้ปีนกันเองในกลุ่มเงียบๆ เท่านั้น

สน : ในวันนั้นยิมปีนผามันคือการจำลองหินยากๆ ในหน้าผาจริงมาให้นักปีนผาได้ฝึกซ้อม ผมจำได้เลยว่าช่วงแรกที่ปีน คนในยิมก็มีแต่พวกฮาร์ดคอร์กันทั้งนั้น รูต (เส้นทางการปีน) ที่ต้องปีนก็มีแต่ยากๆ ตัวจับแย่ๆ คือเป้าหมายของยิมมีไว้สำหรับฝึกความแข็งแรงเพียงเท่านั้น เลยไม่เหมาะกับมือใหม่เลย 

ในวันนั้นคนไทยยังมีความเชื่อที่ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับการปีนผายังไงบ้าง

สน : อันตรายจัง ทำไมสูงขนาดนี้ ผมคงปีนไม่ไหว ขอไปฟิตร่างกายก่อน หลายคนยังมองว่าเป็นกีฬาเอกซ์ตรีมที่เข้าถึงยากอยู่

กร : ถ้าเกิดในเชิงชักชวนคือไม่ ผมยังไม่พร้อม ขอไปลดน้ำหนักก่อน แม้กระทั่งคนที่แข็งแรง กล้ามใหญ่มากๆ ก็ตาม ทั้งที่จริงทุกการปีนผาใครๆ ก็สามารถปีนได้ ถ้าเข้าใจวิธีการปีนที่ถูกต้อง

การปีนผายังเป็นกิจกรรมเฉพาะกลุ่ม 

สน : ใช่ ตอนนั้นนักปีนผาส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ

จัสติน : แต่ผมว่าที่น่าสนใจคือยิมปีนหน้าผาจำลองที่เริ่มพัฒนาให้เข้าถึงง่ายมากขึ้น ถ้าย้อนกลับไปช่วงยุค 80s ยิมปีนหน้าผาจำลอง ก็ออกแบบมาเพื่อคนเฉพาะกลุ่มอย่างที่กล่าวไปนั่นแหละ แต่ในเวลาต่อมา มันมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดนะ 

การปีนหน้าผาจำลองเริ่มกลายเป็นกีฬา ถูกบรรจุในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก เริ่มมีคนจากแวดวงอื่นให้ความสนใจ ยิมปีนผาก็เริ่มมีวิธีนำเสนอที่แตกต่างออกไปจากการปีนหน้าผาจริง เริ่มทำให้มันง่ายขึ้น รู้สึกสนุก เป็นกิจกรรมที่ทำได้ทุกคน 

พวกคุณเห็นโอกาสอะไรในตลาดนี้จึงคิดเปิด Stonegoat Climbing Gym  

จัสติน : ต้องเล่าก่อนว่าตอนย้ายมาประเทศไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมก็มีความคิดที่อยากมียิมปีนผาของตัวเองอยู่ตลอด ส่วนหนึ่งเพราะผมมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่คนส่วนใหญ่พร้อมจะจ่ายเงินและใช้เวลาไปกับกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบกัน 

กรุงเทพฯ เองก็เป็นเมืองที่ระบบขนส่งมวลชนค่อนข้างดี เข้าถึงได้แทบทุกพื้นที่ ดังนั้นผมเลยมองว่าถ้าทำให้คนมองว่า การปีนผาเป็นอีกกิจกรรมที่พวกเขามาใช้เวลากับมันได้ เหมือนกับโยคะ เดินเที่ยวห้าง หรือไปคาเฟ่ ก็น่าจะเป็นโอกาสของเรา 

อีกอย่างคือ 10 ปีที่ผ่านมาผมเห็นเทรนด์การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมบางอย่างของคนกรุงเทพฯ คือถ้าก่อนหน้านี้เราพูดถึงการออกกำลังกายหรือฟิตเนส จะเป็นกิจกรรมที่คนให้ความสนใจน้อยมาก แต่ปัจจุบันเทรนด์รักสุขภาพกำลังได้รับความนิยม ผู้คนเริ่มให้ความสนใจเรื่องรูปร่างหรือสุขภาพที่ดีกันมากขึ้น จนปัจจุบันกีฬาหลายชนิดก็กลายเป็นไลฟ์สไตล์หรืองานอดิเรกของพวกเขาไปแล้ว 

ผมเลยเชื่อว่ายิมปีนผาจำลองจะเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ที่เข้ามาตอบโจทย์กระแสตรงนี้  

กร : ส่วนผมกับสน ด้วยความที่เป็นคนชอบการปีนผาทั้งคู่ ในวันนั้นเราก็คุยกันว่าอยากทำธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองรัก ให้มันเป็นเหมือนสิ่งหล่อเลี้ยงจิตใจพวกเรา อย่างตัวผมเองก็ทำงานเกี่ยวกับการเงิน ทำบัญชีมาทั้งชีวิต พอได้มาทำอะไรแบบนี้มันก็ได้ตอบสนองแพสชั่น ตอบโจทย์ความเป็นตัวเรา

แล้ว Stonegoat Climbing Gym จะเปลี่ยนภาพจำการปีนผาของคนไทยไปยังไง

จัสติน : คำว่าปีนหน้าผา ไม่ได้แปลว่าการฝึกพละกำลังให้แข็งแกร่งอย่างเดียว มันหมายถึงกิจกรรมสนุกๆ ระหว่างกลุ่มเพื่อนก็ได้ ดังนั้นยิมของเราก็จะมีรูต หรือเส้นทางปีนผาที่เหมาะสำหรับมือใหม่ ปีนไม่ยาก แต่ก็ยังรู้สึกสนุกได้ ซึ่งบางรูตก็ไม่ได้ใช้พละกำลังมากมาย แต่จะใช้ความสมดุลหรือความยืดหยุ่นของร่างกาย ซึ่งมันทำให้การปีนผามีรสชาติหลากหลายและสนุกยิ่งขึ้น

คือกีฬาปีนผามันพิเศษตรงที่ การปีนแต่ละรูตเราใช้ทักษะร่างกายไม่ซ้ำกันเลย สังเกตสิ เวลาคุณต้องวิ่ง ต้องตีเทนนิส หรือปั่นจักรยาน กีฬาเหล่านี้จะใช้ทักษะหรือกลุ่มกล้ามเนื้อเดิมๆ ตลอด แต่การปีนผาจำลองนี่มันแตกต่างอย่างมาก ผมปีนมา 16 ปีแล้ว ก็ยังรู้สึกท้าทาย และได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอด

สน : แล้วพอมีเรื่องของระดับความยากในการปีนเข้ามา (grading system) ก็จะทำให้คนที่ปีนรู้สึกท้าทาย ได้เห็นพัฒนาการ ทำให้เขาอยากมาพิชิตรูตปีนผายากๆ ที่เขาอยากจะเอาชนะ

ถึงจะทำให้เหมาะกับนักปีนมือใหม่มากๆ แล้ว แต่ยังมีปัญหาหรือความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้นกับนักปีนผามือใหม่บ้างไหม

สน : มีเยอะเลย โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย สิ่งสำคัญที่พวกเราอยากสื่อจึงคือการปีนผาไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด คือถึงจะจัดอยู่ในหมวดหมู่กีฬาเอกซ์ตรีมก็จริง แต่เราทำให้ Stonegoat Climbing Gym มีความปลอดภัยมากที่สุด 

เรามีการสอนวิธีปีนผา วิธีลงจากหน้าผา คำนึงถึงความปลอดภัยพื้นฐาน รวมไปถึงใช้อุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานระดับโลกเพื่อทำให้เห็นว่า การปีนมันปลอดภัยและไม่ได้น่ากลัว ผมคิดว่าถ้าใครก็ตามได้มาลองปีนผาสักครั้งที่ยิมของเรา ก็จะเข้าใจว่ามันค่อนข้างปลอดภัยระดับหนึ่งเลย 

จัสติน : คำว่ากีฬาเอกซ์ตรีม มันทำให้ภาพลักษณ์ของกีฬาปีนผาดูโลดโผนเกินควร รวมถึงภาพจำในอดีตที่ผ่านมา ที่จะเห็นคนปีนผาสูงตระหง่าน ไต่ยอดเขา เอเวอเรสต์ หรือกระทั่งเคยดูสารคดีของอเล็กซ์ ฮาโนลด์ (Alex Honnold) ที่ปีนผาแบบ free solo ไม่ใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ ซึ่งเหล่านี้มันเป็นอีกส่วนหนึ่งของกีฬาปีนผาก็จริง แต่ไม่ใช่สิ่งที่ Stonegoat Climbing Gym เป็น เราออกแบบมาให้ปลอดภัยและเหมาะกับมือใหม่มากกว่า 

นอกจากรูตที่ไม่ยากเกินไป อีกสิ่งที่น่าสนใจของ Stonegoat Climbing Gym คือสถานที่ที่สวยงามเหมาะกับการถ่ายรูป มีความ instagramable รวมถึงมีพื้นที่ให้นั่งแฮงเอาต์ ทำไมยิมปีนผาต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

สน : เรามองว่ารูตปีนผามันก็เหมือนเมนูอาหารจานหนึ่ง คือถ้าหน้าตาไม่น่ากิน คุณก็ไม่อยากจะกินมัน ถูกไหม ดังนั้นนอกจากอร่อยแล้วต้องดูดีด้วย รูตปีนผาก็เช่นกัน นอกจากจะปีนสนุกแล้ว การจัดวางก็ต้องสวยงาม การเคลื่อนไหวของร่างกายระหว่างปีนก็ต้องดูสวย ดูโฟลว์ สนุก ไม่อึดอัด  

กร : เรื่องแสงสว่างก็สำคัญ ต้องไม่มีมุมไหนที่เงาตกลงมา ถ่ายรูปลงอินสตาแกรมได้ทุกมุม ซึ่งทั้งหมดก็เพื่ออยากให้ทุกคนรู้สึกว่ากีฬานี้มันไม่รู้สึกอึดอัด ปีนแล้วต้องมีกล้าม เหงื่อออกเยอะ อยู่ในไฟสลัว น่ากลัว อะไรแบบนั้น ซึ่งความเป็นจริงมันไม่ใช่ 

จัสติน : ส่วนเรื่องรายละเอียดต่างๆ ที่ไม่ได้มีแค่รูตปีนผาแต่มีพื้นที่เล็กๆ ให้คนได้มาพูดคุยกัน มันมาจากการที่พวกเราคิดกันว่าเราต้องแตกต่างจากยิมปีนผาจำลองที่เคยมีมา คือมันต้องเป็นสถานที่ที่ทุกคนอยากใช้เวลาอยู่ที่นี่นานๆ ต้องมีพื้นที่กว้างขวาง สะอาด เดินทางสะดวก มีสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ทำให้ยิมปีนผาเป็นมากกว่ายิมที่คนเดินเข้ามาเพื่อปีนหน้าผาจำลอง แล้วกลับบ้านไป 

สน : เราเคยจัดอีเวนต์ Jazz Night เอาดนตรีแจ๊สมาเล่นสดในยิมปีนผา ซึ่งก็เป็นอะไรที่แปลก แต่ประสบความสำเร็จ ผู้คนให้ความสนใจเป็นอย่างดี 

เป้าหมายหลักของ Stonegoat Climbing Gym คือทำให้ยิมปีนผาเป็นพื้นที่ในเชิงไลฟ์สไตล์ให้คนเข้ามาทำกิจกรรมได้หลากหลายมากกว่าแค่การปีนผา 

กร : ใช่ คือมาแล้วไม่ปีนผายังได้เลย มาแค่มาพูดคุยกับเพื่อนๆ แล้วก็ไปกินข้าวกันต่อก็ได้

สน : อยากให้ Stonegoat Climbing Gym เป็นสถานที่ซึ่งมอบประสบการณ์การปีนผาจำลองที่ดีให้กับเขา เป็นพื้นที่ให้พบเจอคนที่ชอบกีฬาปีนผาเหมือนกัน หรืออย่างน้อยที่สุด เป็นสถานที่ให้ผู้คนได้มารวมกลุ่มและเริ่มลองทำกิจกรรมสนุกๆ อย่างการปีนหน้าผา

จัสติน : การปีนผาจำลองไม่ใช่สินค้าเดียวที่เราขายใน Stonegoat Climbing Gym แต่มันคือประสบการณ์ทุกอย่างตั้งแต่คุณเดินเข้ามาในที่แห่งนี้เลย เพื่อให้ลูกค้าที่เข้ามากลับไปด้วยรอยยิ้ม และความรู้สึกว่าอยากจะกลับมาปีนผาที่นี่อีกครั้ง 

กลับกัน คนกลุ่มนี้ก็อาจไปนั่งจับกลุ่มในร้านกาแฟ หรือเจอเพื่อนในสถานที่แห่งอื่นก็ได้ คำถามคือทำไมพวกเขาจึงต้องมานัดเจอกันใน Stonegoat Climbing Gym

กร : ผมมองว่าเป็นเรื่องลักษณะของผู้คนที่เขายังมองหาพื้นที่แบบนี้อยู่นะ ในมุมหนึ่งพวกเขาก็อาจจะไปนัดเจอกันในร้านกาแฟก็ได้ แต่คำถามคือถ้าสมมติพวกเขาเหล่านั้นเป็นคนชอบปีนผาจำลองเหมือนกันล่ะ ดังนั้นการที่เรามียิมปีนผาจำลองที่มีพื้นที่ให้นั่งแฮงเอาต์ด้วย มันจะไม่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้มากกว่าเหรอ ผมมองแบบนี้นะ 

สน : เพราะในยิมของเราเองก็มีคาเฟ่ มีอาหารให้กิน ก็สามารถมารวมกลุ่มที่นี่ได้ หรือจะมาปีนผา เลือกรูตง่ายๆ ที่ไม่ยาก ระหว่างปีนก็ถ่ายรูป เซลฟี่เล่นกัน ปีนเสร็จถ่ายภาพหมู่ แล้วค่อยแยกย้ายกลับบ้านด้วยรอยยิ้ม อะไรแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยใน Stonegoat Climbing Gym 

แล้วคุณมีวิธีการสร้างคอมมิวนิตี้ของกลุ่มคนที่รักปีนผาขึ้นมายังไงบ้าง

จัสติน : ผมว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างคนที่เข้ามาปีนในยิมของเราด้วยกันเอง ผมคงตอบคำถามส่วนนี้โดยตรงไม่ได้ แต่สิ่งที่พวกเราพอทำได้คือการสร้างสังคมการปีนผาที่ดีผ่านพนักงาน ผ่านตัวพวกเราเองก่อน ที่ต้องปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นมิตร ยิ้มแย้ม แจ่มใส ยินดีต้อนรับทุกคน

ที่พยายามทำสิ่งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประสบการณ์ก่อนหน้าที่ผมเจอมาด้วย คือเมื่อก่อนเวลาไปปีนผาจำลองในยิมต่างประเทศ แม้ยิมนั้นจะมีอุปกรณ์ที่ดี มีมาตรฐานที่สูง แต่ในบางครั้งเรากลับพบว่าบรรยากาศภายในยิมไม่ค่อยต้อนรับนักปีนหน้าใหม่เท่าที่ควร หลายครั้งผมสัมผัสได้ถึงการแข่งขัน และการพยายามเอาชนะกันและกัน ซึ่งผมไม่อยากให้เกิดอะไรแบบนี้ใน Stonegoat Climbing Gym 

ผมอยากให้ทุกครั้งที่ใครสักคนเริ่มปีนขึ้นไป สิ่งที่พวกเขาจะได้ยินคือเสียงเชียร์ที่คอยให้กำลังใจจากด้านหลัง

ในวันที่เปิดให้บริการ ลูกค้าเข้าใจและตอบรับความตั้งใจตรงนี้ของพวกคุณไหม

จัสติน : หลังจากเปิดได้ไม่นาน ก็ต้องปิดให้บริการตามมาตรการของรัฐบาลในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด แต่ในอีกมุมหนึ่งเราก็ได้รับความเห็นจากคนที่เคยปีนผามาก่อนหน้านี้ ว่ายิมของเราสร้างมาตรฐานใหม่ของวงการปีนผา

สน : อันนี้สาบานเลย ว่าได้รับคำตอบมาแบบนั้นจริงๆ คือเขาไม่คิดว่าประเทศไทยจะมีอะไรแบบนี้ 

คำว่า ‘มาตรฐาน’ ที่พูดถึงคือเรื่องอะไรบ้าง

จัสติน : เริ่มตั้งแต่สิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างเลย เรื่องแสงสว่าง อากาศ ขนาดพื้นที่ รวมไปถึงการออกแบบกำแพงสำหรับการปีน มีหลายมุม หลายรูปแบบ

บอกกันตามตรงว่าพวกเราวางแผน ออกแบบ และทำงานในส่วนนี้กันหนักมาก เพื่อให้ยิมออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด

อะไรคือความท้าทายของการเปิดยิมปีนผาจำลอง 

จัสติน : ผมว่ายังมีความยากอยู่ในการที่จะสมดุลคำว่าธุรกิจกับแพสชั่น คือจะทำยังไงให้ยิมปีนผาของเรายังคงสนุก ตอบสนองความเป็นนักปีนในตัวเรา 

แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงผลลัพธ์ในเชิงธุรกิจด้วย คือจะทำเอาสนุกอย่างเดียวไม่ได้ แต่หลายๆ สิ่งก็ต้องยอมลดทอนไปเพื่อแลกกับรายได้และผลกำไร ก็เป็นเรื่องที่ยังคงต้องหาจุดตรงกลางต่อไป

สำหรับใครที่ยังลังเลและรู้สึกกลัวกับการปีนผาอยู่ มีอะไรอยากจะบอกพวกเขาบ้าง 

จัสติน : ที่ยิมของเรามีนักปีนผาอายุ 70 ที่มาเป็นประจำ และยังคงสนุกกับการปีนในทุกครั้ง ดังนั้นผมเลยคิดว่าถ้าเขายังคงปีนผาได้อย่างต่อเนื่องมาถึงตอนนี้ ก็คงเป็นข้อพิสูจน์แล้วว่ามันสนุกและปลอดภัยมากๆ 

แต่ผมเข้าใจว่าพูดไปมันก็ไม่เท่ากับได้ลองสัมผัสเอง ดังนั้นมาลองกันเถอะ จะได้รู้ว่ามันเหมือนกับที่ผมพูดจริงๆ หรือไม่

แม้ในวันนี้วงการปีนผาในประเทศไทยกำลังเติบโต แต่ก็ต้องยอมรับว่าหากเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น หรือเกาหลี อยากรู้ว่าจะมีโอกาสที่ประเทศไทยจะพัฒนาไปไกลถึงขั้นนั้นไหม

จัสติน : เรื่องนี้ยากที่จะเปรียบเทียบกันนะ เพราะแต่ละที่ก็มีลักษณะและรูปแบบที่แตกต่างกันไป อย่างในญี่ปุ่นเอง ครั้งล่าสุดที่ผมไปคือมียิมปีนผาเกือบ 400 ที่ในโตเกียว คือกีฬานี้มันยอดนิยมมาก ซึ่งจะเอามาเทียบกับไทยผมว่ามันยังคงแตกต่างในเรื่องของความนิยมในกีฬา 

หรืออย่างในสิงคโปร์เองเขาก็ส่งเสริมเรื่องการปีนผาเข้าไปในหลักสูตรการศึกษาด้วย ดังนั้นมันจึงเป็นความแตกต่างในเชิงเป้าหมายของแต่ละประเทศว่าอยากให้กีฬาปีนผาเติบโตในทางไหน ด้านธุรกิจ หรือการผลิตนักกีฬา ของประเทศไทยเองก็ต้องตอบคำถามและกำหนดเป้าหมายตรงนี้ก่อน

สำหรับผม ในประเทศไทยยังมีโอกาสในการเติบโตอีกมากมาย ผมคิดว่าพื้นที่ส่วนอื่นๆ นอกจากกรุงเทพฯ ยังมีบุคลากรที่มีศักยภาพและสนใจการปีนผาอยู่ไม่น้อย ดังนั้นจึงเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจว่าจะทำยังไงต่อ จึงจะขยายเทรนด์เกี่ยวกับการปีนผาทั้งในเชิงกีฬาและธุรกิจให้ครอบคลุมประเทศไทยได้มากยิ่งขึ้น

กร : เราก็อยากให้กีฬาปีนผาเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ อยากเห็นคนให้ความสนใจเยอะๆ เพราะมันก็หมายถึงการค้นพบเพชรเม็ดงามที่อาจกลายเป็นนักกีฬาที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคตก็ได้ ถ้ากีฬาปีนผามันได้รับความนิยมจนทุกคนเข้าถึงได้ ไม่แน่ว่าวันหนึ่งลูกเด็กเล็กแดง ที่วิ่งหกล้มอยู่หน้าปากซอยก็อาจเป็นตัวแทนทีมชาติไปแข่งกีฬาปีนผาก็ได้ ใครจะไปรู้ 

หลังจากนี้ Stonegoat Climbing Gym มีแผนทางธุรกิจยังไงบ้าง

จัสติน : ผมคิดว่าหลังจากนี้ก็ยังคงพัฒนายิมของเราตามแนวทางที่วางไว้ต่อไปให้เติบโตขึ้น แต่สิ่งที่อยากทำต่อคืออยากขยายความเป็น Stonegoat Climbing Gym ไปยังพื้นที่อื่น ที่ต้องใหญ่และทะเยอทะยานกว่าในอนาคตข้างหน้า 

ในฐานะที่พวกคุณเป็นคนชื่นชอบกีฬาปีนผา จนได้มาเปิดยิมปีนผาของตัวเอง ความสุขในการได้ทำธุรกิจที่ชื่อ Stonegoat Climbing Gym คืออะไร

สน : ของผมนี่เป็นเรื่องที่สามัญที่สุดเลย คือการได้เห็นรอยยิ้มของลูกค้าที่ปีนรูตที่เราตั้งใจเซตเอาไว้ แล้วเขาก็โพสต์ในโซเชียลมีเดียว่าชอบรูตนี้ ได้เรียนรู้อะไร ได้สนุกกับส่วนไหนของเส้นทาง

จัสติน : สำหรับผมคือการได้สร้างสังคมของคนที่สนใจการปีนผา ได้เห็นผู้คนมาใช้ชีวิต มาพูดคุย มามีความสุขในยิมของเรา มันก็ทำให้เห็นว่าความพยายามอันหนักหน่วงที่ทำมาของพวกเรา มันเริ่มออกดอกผลแล้ว คุณรู้ไหมมีคนแต่งงานเพราะมาเจอกันที่ยิมของเราด้วยนะ

กร : สุดท้ายมันไม่ใช่แค่เรื่องการได้มาใช้พละกำลังหรือเจอผู้คนนะ แต่มันยังรวมไปถึงเรื่องการเอาชนะตัวเอง หรือเพิ่มพูน self-esteem สำหรับใครบางคนด้วยซ้ำ มันหมายถึงการตอบคำถามถึงคุณค่าการใช้ชีวิตเลย

ผมมีเรื่องหนึ่งอยากจะเล่า คือมีน้องคนหนึ่งที่เขาป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ตัวเอง เลยมีตัวเลือกกีฬาให้เล่นได้ไม่เยอะ แต่วันที่เขาได้รู้จักการปีนผา และได้เริ่มลองปีนมาเรื่อยๆ มันกลับทำให้เขาร่างกายดีขึ้น หายจากอาการต่างๆ จนวันนี้เขาแข็งแรงพอและกลับไปเรียนต่อเป็นหมอ เพื่อจะเอาความรู้มารักษาคนที่ป่วยเป็นโรคนี้ต่อไป 

เรื่องนี้มันก็ทำให้ผมรู้สึกว่า เออ คุ้มค่าแล้วล่ะที่เราเปิดยิมที่ชื่อ Stonegoat Climbing Gym ขึ้นมา

Writer

KFC ฟิลเตอร์สตอรี่ไอจี และ Tame Impala คือสิ่งที่ทำให้ทุกวันนี้อยากมีชีวิตอยู่

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like