The Stylish Local High Fashion

หลัก 4P+1 ของ PIPATCHARA แบรนด์แฟชั่นที่พางานหัตถกรรมจากขยะพลาสติกไปแฟชั่นวีคระดับโลก

แค่เห็นชื่อแบรนด์ PIPATCHARA ก็คงเดาได้ไม่ยากว่าเป็นแบรนด์ไทย 

เพชร–ภิพัชรา แก้วจินดา เรียนจบแฟชั่นดีไซน์และร่วมก่อตั้งแบรนด์กับพี่สาว ทับทิม–จิตริณี แก้วจินดา ด้วยความหลงใหลในงานอาร์ตและคราฟต์เธอเริ่มจากการนำมาคราเม่ ศาสตร์การมัดและถักเชือกให้เป็นลวดลายมาทำกระเป๋าหนังและยังออกคอลเลกชั่นกระเป๋าไฮเอนด์และแฟชั่นโอต์กูตูร์จากขยะพลาสติก

จากงานหัตถกรรมในชุมชนสู่การพาแบรนด์ไทยโกอินเตอร์ไปแฟชั่นวีคระดับโลกทั้งที่ปารีส นิวยอร์ก ดูไบ ฯลฯ เปิดป๊อปอัพโชว์รูมและขายสินค้าทั้งในไทยและต่างประเทศ สร้างแบรนด์ให้มีมูลค่าโดยเปลี่ยนมาคราเม่ให้มีราคาหลายหมื่นและขยะพลาสติกให้มีราคาถึงแสน 

เพชรบอกว่าทุกวันนี้ความเป็นแบรนด์ชื่อไทยที่ยาวและอาจจะออกเสียงยากสำหรับคนต่างชาติไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับเธอ เพราะลูกค้าชื่นชอบผลงานจากดีไซน์และเรื่องเล่าของสินค้า 

วันนี้เราไม่ได้เพียงคุยกับเพชร ผู้ก่อตั้งของ PIPATCHARA ถึงการออกแบบเท่านั้น เพราะเรื่องราวที่น่าสนใจของแบรนด์มีทั้งการมองหาแรงบันดาลใจในการออกแบบ การตั้งราคาแบรนด์เนมในวงการดีไซน์ วิธีคิดในการพาแบรนด์โกอินเตอร์ ไปจนถึงการสร้างโมเดลชุมชนและโมเดลธุรกิจที่ไม่เหมือนใคร 

Product
Inspired from Macrame Moroccan  

แบรนด์ PIPATCHARA เปิดตัวด้วยคอลเลกชั่นกระเป๋าหนังที่โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ลายถักจากมาคราเม่ในชื่อสไตล์โมร็อกโคอย่าง Sama Box Bag, Amu, Maya, Jade ฯลฯ

ด้วยความตั้งใจอยากเปลี่ยนงานหัตถกรรมให้กลายเป็นแฟชั่นที่เนี้ยบและดูมีราคา เพชรนำลายมาคราเม่ที่มีอยู่แล้วของโมร็อกโคมาออกแบบเป็นสไตล์ของตัวเอง ประยุกต์เป็นลายดอกไม้และลายต่างๆ 

งานถักทุกชิ้นทำจากมือโดยชุมชนที่เชียงรายและใช้หนังจากอิตาลี เพชรเข้าไปสอนการถักให้คนในชุมชนเอง ออกแบบกระบวนการถักให้เข้าใจง่ายอย่างประเภทของลายถักมาคราเม่ที่เรียกกันเองง่ายๆ ว่าลายครองแครงและตัวหนอน ฯลฯ รวมถึงยังคัดหนังเกรดดีจากอิตาลีที่สร้างความน่าเชื่อถือในการส่งออกเพราะตั้งใจบุกตลาดต่างประเทศตั้งแต่แรก 

จาก Sama Box Bag คอลเลกชั่นแรกที่เพชรเริ่มทำเพียง 30 ใบและใช้เวลาออกแบบ 7-8 เดือน เพชรนำมาคราเม่รูปแบบเดิมไปอยู่ในกระเป๋าหลากหลายแบบ ทั้ง mini bag กระเป๋าถือขนาดเล็กและขนาดใหญ่ กระเป๋าสตางค์ โดยยึดลายถักสไตล์เดิมและเปลี่ยนรูปทรง สี ไซส์ของกระเป๋า เก็บรายละเอียดความเนี้ยบในแต่ละคอลเลกชั่น เช่น ลายถักทรงกากบาทที่แม้สะพายตรงไหล่ก็ไม่ทำให้เจ็บ การออกแบบให้กระเป๋าสามารถจุของได้เยอะและมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร มองเห็นแล้วก็รู้เลยว่าคือแบรนด์ PIPATCHARA 

เมื่อถึงช่วงที่กระเป๋าทรงไหนฮิต เช่น ช่วงที่มีเทรนด์ฮิตในทรง mini bag ก็จะทำให้คอลเลกชั่นของกระเป๋าทรงนี้อย่าง Mini Amu ฮิตขึ้นมาจนทำให้แบรนด์แมสมากขึ้นด้วย  

Make Plastic Trash Not Look Like Trash  

จากวัสดุหนังพรีเมียมของอิตาลี แฟนคลับแบรนด์หลายคนในช่วงแรกอาจคาดไม่ถึงว่าวัสดุในคอลเลกชั่นต่อมาของ PIPATCHARA คือขยะพลาสติกที่นำมาร้อยต่อกันในชื่อคอลเลกชั่นว่า Infinitude ด้วยความตั้งใจอยากสนับสนุนด้านความยั่งยืน to infinity 

ทับทิม พี่สาวของเพชรมีประสบการณ์ทำงานด้านความยั่งยืนมาก่อนจึงมีความรู้เกี่ยวกับขยะพลาสติก ทำให้ได้ไอเดียนำขยะกำพร้าจากโรงงานขยะซึ่งเป็นขยะที่ไม่สามารถกำจัดทิ้งได้นอกจากฝังหรือเผามาทำกระเป๋า ซึ่งใช้เวลาในกระบวนการทำตั้งแต่ปี 2020-2022 

หากมองแวบแรกอาจเดาไม่ออกเลยว่ากระเป๋าแฟชั่นตรงหน้าทำมาจากขยะพลาสติกซึ่งเป็นความตั้งใจของเพชรที่อยากทำสินค้าที่คนไม่รู้ว่าทำมาจากขยะ

“มันใช้ระยะเวลา 2 ปีเต็ม เพราะทดลองทั้งเรื่องทรงและสี ซึ่งเราก็คาดว่าขยะส่วนใหญ่จะไปอยู่ในทะเลด้วย เลยอยากให้รูปทรงของกระเป๋าเหมือนปะการังเพื่อให้คนรีเลตถึงทะเล ที่จริงขยะพลาสติกจะเป็นปัญหาของบริษัทใหญ่ๆ อยู่แล้ว เขาไม่รู้ว่าจะเอาขยะพวกนี้ไปไว้ที่ไหน เพราะฉะนั้นเราเลยเลือกเอาพลาสติกเหล่านี้มาใช้ ซึ่งสีที่เห็นอยู่ไม่ได้ใส่สีอะไรเข้าไปเลย เป็นสีจริงตามพลาสติก” 

ขยะจากบริษัทอย่างยาคูลท์ มิเนเร่ เนสท์เล่ เมจิ ฯลฯ ที่เป็นฝาขวดและภาชนะที่มีสีสันต่างๆ จะถูกนำมาผสมกับสีใสจากช้อนส้อมพลาสติก ทัพเพอร์แวร์ ทำให้กลายเป็นเฉดสีหลากหลายของกระเป๋าซึ่งจะขึ้นอยู่กับสีจริงของขยะในช่วงเวลานั้นๆ 

“สิ่งที่ชอบที่สุดคือเวลาปั๊มออกมา พลาสติกแต่ละชิ้นไม่มีทางมีทรงเหมือนกันและการกระจายของสีจะไม่เท่ากันเลย บางส่วนจะมีความใส บางส่วนจะมีเม็ดสีเข้มกว่า เวลาอยู่ในแสงมันก็จะสะท้อนต่างกันนิดนึง หลายครั้งจะมีคนถามเราว่าไปคอลแล็บหรือสปอนเซอร์กับแบรนด์อะไรหรือเปล่า แต่เราเลือกทุกบริษัทที่ทำงานด้วยในตอนแรกจากสีของขยะจริงๆ จนกระทั่งวันเปิดตัวคอลเลกชั่น เราถึงค่อยชวนแบรนด์ต่างๆ มาดูว่าสินค้าของเขาอยู่ในดีไซน์ของเรา แล้วถึงค่อยมีการคอลแล็บกับแบรนด์ตามมาอย่างแบรนด์สิงห์” 

นอกจากกระเป๋าจากขยะพลาสติก เพชรยังออกแบบ ready-to-wear สไตล์โอต์กูตูร์ ในคอลเลกชั่นชื่อ
Crystallization No.4 ที่รับทำแบบ made to order เท่านั้น เพื่อให้พอดีกับไซส์ของแต่ละคน หลักคิดของเธอคล้ายกับตอนทำกระเป๋าจากมาคราเม่คือยึดเทคนิคซิกเนเจอร์ของการถักและร้อย ทำตัวอย่างแพตเทิร์นสำหรับร้อยพลาสติกขนาด 1:1 เท่าไซส์จริงให้ชุมชนสามารถเรียนรู้ได้ง่าย ลักษณะเหมือนการต่อเลโก้ที่มีเลขกำกับโดยให้ร้อยตามลำดับเลขแบบง่ายๆ แล้วนำเทคนิคการร้อยนี้มาออกแบบเป็นสินค้าหลากหลายประเภท หลายสีสันและรูปทรง

Price
Reference to Market 

เมื่อถามว่าราคาของอยู่ที่เท่าไหร่ เพชรบอกว่า “ราคาถูกที่สุดคือกระเป๋าตังค์ ประมาณ 5,000-6,000 บาท ราคากระเป๋าถือที่ถูกที่สุดไปจนถึงแพงที่สุดอยู่ที่ประมาณ 9,000-50,000 บาท เพราะเป็นมาคราเม่ใบใหญ่ทั้งใบ ส่วนเสื้อผ้า ready-to-wear มีราคาประมาณ 5,000-12,000 บาท แต่ถ้าเราไปดูไบ เสื้อผ้าจะขายได้ราคาสูงขึ้นถึงราว 40,000 กว่าบาท เสื้อตัวท็อปจะมีราคาตั้งแต่ 29,000 ไปจนถึง 100,000 บาท ที่เป็นตัวฟินาเล่แบบชุดยาว” 

สำหรับเพชรหลักคิดในการตั้งราคาคือการอิงราคาตลาด โดยเฉพาะตลาดอินเตอร์ 

“ถ้าเราอยู่แค่ตลาดไทยในตอนแรก เวลาขายกระเป๋าในไทย ราคาที่ขายได้ง่ายๆ จะอยู่ที่ประมาณ 8,000-9,000 บาท แต่เวลาไปตลาดเมืองนอกและเอาไปตั้งเทียบกับแบรนด์อื่นๆ ห้างและลูกค้าจะเปรียบเทียบว่าราคาของเราน้อยกว่าหรือเยอะกว่าแบรนด์อื่น พอกระเป๋าเราราคาถูกกว่าคนอื่นเยอะ ในมุมมองของห้างที่ต่างประเทศก็จะไม่รู้ว่าควรเอากระเป๋าเราไปตั้งไว้ตรงไหน เขาก็จะมองว่าทำไมแบรนด์เราถูกกว่า สมมติว่ากระเป๋าของเราใช้หนังทั้งใบแต่แบรนด์อื่นที่แพงกว่าใช้ผ้าแคนวาสทั้งใบ ก็จะเกิดคำถามว่าทำไมแบรนด์เราถึงขายราคาแค่นี้ ใช่หนังร้อยเปอร์เซ็นต์หรือเปล่า การตั้งราคาจึงขึ้นอยู่กับว่าคนข้างเราคือใครด้วย

“เราจึงต้องดูตั้งแต่แรกว่าเราจะอยู่ตรงไหนในตลาด จะอยู่ระดับแมส กึ่ง luxury หรือ luxury ไปเลย ราคาก็จะปรับตามโพซิชั่นของแบรนด์ ส่วนตัวอยากทำกระเป๋าที่มีดีไซน์พิเศษของตัวเองที่คนสามารถเก็บตังค์แล้วซื้อได้ ไม่แพงเกินไปแต่ก็ไม่ได้ถูกเกินไปจนลดคุณค่าของมัน” 

ทั้งนี้เพชรบอกว่าเวลาธุรกิจเติบโตขึ้นก็หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงด้านราคาไม่ได้เพราะโพซิชั่นของแบรนด์ก็ต้องเติบโตขึ้น

“ตอนแรกที่เริ่มขายกระเป๋าราคาอยู่ที่ 8,000-9,000 ตอนนี้จะขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาทในตัวเดียวกัน ซึ่งตอนนี้แบรนด์กำลังเข้าปีที่ 5 แล้ว ด้วยวิธีการทำสินค้าที่เราทำออกมาทำให้เรนจ์ของแบรนด์เราตอนนี้จะขึ้นไปถึงเกือบๆ luxury แล้ว บางอย่างเราก็ไม่ได้อยากขายราคานั้น แต่ด้วยสังคมและตลาดเป็นแบบนั้น ก็ต้องนำราคาตลาดมาพิจารณาด้วย”  

แต่ในบางคอลเลกชั่นเพชรก็ยอมรับว่าไม่มีราคาตลาดให้เทียบ และนั่นขึ้นอยู่กับมุมมองของแบรนด์เองในการประเมินคุณค่าของสิ่งนั้น

“เรามองว่าอาร์ตพีซอย่าง Infinitude ไม่มีคู่แข่ง ถามว่ากระเป๋าพลาสติกรีไซเคิลมีราคาแพงไหม ก็อาจจะแพง คือพอคนไม่รู้ว่ามันคืออะไรและไม่มีราคาเทียบเลยทำให้เราอยู่ตรงไหนก็ได้ พอมันสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นได้ก็เลยทำให้ Infinitude บางใบราคาไปถึง 60,000-70,000 บาทแล้ว”  

ราคาที่สูงมาจากการเพิ่มมูลค่าให้ขยะดูไม่เหมือนขยะ เลือกทำโอต์กูตูร์เพราะเป็นไฮเอนด์แฟชั่น เมื่อเพิ่มมูลค่าด้วยการร้อยขยะผสมกับลูกปัดจึงสามารถทำให้มูลค่าราคาของการออกแบบของชุดบางตัวอยู่ที่หลักแสนบาท

ทีมดีไซน์ใช้เวลาค่อนข้างนานเพื่อดูว่าอะไรที่เราทำออกมาแล้วดูไม่เป็นขยะเลยตั้งแต่แรก ตอนแรกเราไม่ได้เล่าว่าเป็นขยะด้วยซ้ำ เราทำกระเป๋าออกมาก่อนแล้วถามลูกค้าว่าเป็นยังไง ชอบไหม โดยที่เขาไม่รู้เลยว่ามันเป็นขยะพลาสติก เพื่อให้คนมองเห็นคุณค่าในราคาเท่านี้” 

Place
Go Inter to Fashion Capital 

PIPATCHARA เริ่มจากการขายผ่านช่องทางออนไลน์ล้วนทั้งในเว็บไซต์และอินสตาแกรม โดยไม่มีช่องทางออฟไลน์เลยในตอนแรก เริ่มจากตลาดต่างประเทศในฝั่งยุโรป ญี่ปุ่น ก่อนจะขยายไปหลายประเทศอย่างดูไบและสิงคโปร์

“ถ้าเข้าเว็บไซต์ก็จะไม่มีขอบเขตในการขาย เราเลยขยายไปหลายประเทศ คนให้ความสนใจค่อนข้างเยอะตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เราเปิดตัว แต่พอเจอโควิด-19 ที่ทำให้ส่งออกไม่ได้เลยก็เหมือนกลับมาศูนย์ใหม่” 

จากสถานการณ์ที่ว่าเป็นโอกาสที่ทำให้แบรนด์ได้กลับมาเปิดตลาดในไทยและทำให้ตอนนี้มีสัดส่วนลูกค้าไทยสูงถึง 80% และเมืองนอก 20%

สิ่งสำคัญในการขยายช่องทางการขายสำหรับงานดีไซน์คือการร่วมงานแฟร์ด้านแฟชั่นและดีไซน์ระดับโลก โดยล่าสุดเพชรพา PIPATCHARA เดินทางไปงาน Dubai fashion week 

“fashion capital ในโลกนี้มีประมาณ 5 ประเทศ คือมิลาน, นิวยอร์ก, ลอนดอน, ปารีส ส่วนดูไบเป็นศูนย์รวมในฝั่งเอเชียและอาหรับทั้งหมด ในงานแฟชั่นวีคจะมีองค์กรแฟชั่นมาดูว่าจะซัพพอร์ตดีไซเนอร์ยังไงได้บ้าง สิ่งที่เราได้กลับมาคือโอกาส คนชอบกระเป๋ารีไซเคิลของเรามากทำให้ได้ offer ไปร่วมแฟชั่นโชว์ที่ดูไบ” โอกาสจากงานนี้ทำให้เพชรทำคอลเลกชั่นชุดโอต์กูตูร์ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ โดยในปีนี้ไปดูไบแฟชั่นวีคเป็นครั้งที่ 2 แล้ว

ในช่วงแฟชั่นวีค PIPATCHARA จะเปิดป๊อปอัพโชว์รูมเฉพาะช่วงนั้นในประเทศนั้นๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าที่มาดูงานดีไซน์จากทั่วโลก เช่น ที่ปารีส 

“การที่เราเปิดโชว์รูมที่ต่างประเทศเพื่อที่จะบอกว่าเราเป็น international brand และเราสามารถมาเปิดขายที่นี่ได้ ช่วงแฟชั่นวีคคนจะต้องรวมตัวกันอยู่ที่นั่น ข้อดีคือมีคนทั่วโลกเข้ามาให้ความสนใจ แต่กำลังซื้อที่สูงจะอยู่ที่คนบางกลุ่มเช่นคนจากฝั่งอเมริกาและตะวันออกกลางมากกว่ายุโรป”  

เพชรบอกว่าการนำแบรนด์ไปอยู่ที่ต่างประเทศทำให้ผลงานของสินค้าโดดเด่นกว่าเชื้อชาติของแบรนด์

“เราเคยเข้าไปเรียน business school แล้วมีคนบอกว่า การใช้แบรนด์เป็นชื่อไทยจะทำให้ยากขึ้นในการไปทุกที่ คนจะไม่เข้าใจเรื่องราคาหรือลำบากในการจำชื่อยาวๆ แต่มีคนหนึ่งในคลาสพูดว่า คุณต้องไปสร้างแบรนด์ที่เมืองนอกแล้วทำให้มันง่าย จนตอนนี้คนไม่ได้สนใจขนาดนั้นว่าเราจะชื่ออะไร งานของเราชัดกว่าชื่อ คิดว่ามันดีกว่าที่คนจำเราได้จากชิ้นงานของเรา ไม่ได้มองว่าเป็นแบรนด์ไทยหรือแบรนด์นอก”

ส่วนในไทยมีโชว์รูมถาวรที่ 111 ประดิษฐ์มนูธรรม มีหน้าร้านที่สยามดิสคัฟเวอรี่และเซ็นทรัลชิดลม โดยเน้นการทำร้านป๊อปอัพโดยเปลี่ยนคอนเซปต์และสถานที่ไปเรื่อยๆ เพื่อให้ลูกค้าเห็นไอเดียของแบรนด์ในแต่ละคอลเลกชั่น 

เพชรบอกว่าการเลือกสถานที่มีผลต่อการแจ้งเกิดของสินค้า เช่น สินค้าบางคอลเลกชั่นที่คนไทยไม่สนใจแล้ว พอไปปารีสกลับขายดี ในขณะที่ถ้าเลือกเปิดตัวถูกที่ก็จะได้รับความสนใจล้นหลามอย่างสถานที่ของร้านป๊อพอัพในไทยที่แรกที่ทำให้แบรนด์แจ้งเกิดคือ theCOMMONs ทองหล่อโดยเลือกจากกลุ่มคนที่น่าจะมีไลฟ์สไตล์ใกล้เคียงกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ 

“ตอนนั้นจากที่คนตามแบรนด์เราประมาณ 800 คน คนที่มาก็ซื้อแทบทุกคน วันนั้นวันเดียวขายได้ 70-80 ใบ ตอนนั้นยังไม่มีบริษัทเลย จากนั้นก็เลยเริ่มจริงจังขึ้นและเริ่มขยาย กลายเป็นคอมมิวนิตี้ใหญ่ขึ้นโดยไม่รู้ตัว” 

Promotion
Storytelling for Fashion Community 

นอกจากพาแบรนด์ไปอยู่ในงานแฟชั่นวีคที่สปอตไลต์ส่องถึงแล้ว เพชรบอกว่าสิ่งที่ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักและมีมูลค่าคือการเล่าเรื่อง

“จุดที่ทำให้คนรู้จักคือโดยรวมในทุกอย่างที่เราทำ แต่สิ่งที่เน้นที่สุดคือ communication (การสื่อสารข้อมูลข่าวสาร) เช่น ที่ผ่านมาคนรู้จักแฟชั่นพลาสติกจากการบอกปากต่อปากมากกว่ารู้จักจากอินฟลูเอนเซอร์” 

อีเวนต์เปิดตัวคอลเลกชั่นใหม่เป็นสื่อที่แบรนด์ใช้เล่าเรื่องอย่างงานเปิดตัวของคอลเลกชั่น Infinitude “ตอนนั้นเราทำป็อปอัพให้เป็นเหมือนทะเลทรายแล้วมีขยะบนพื้นเพื่อให้คนเข้าใจว่าเอาขยะมาทำความสะอาดกลายเป็นกระเป๋า”  

“ส่วนใหญ่อีเวนต์เกิดจากการที่เรามีข้อมูลมากเกินไปและต้องการบอกให้คนอื่นรับรู้ เช่น เรามีคอลเลกชั่นใหม่ ซึ่งต้องการการอธิบายค่อนข้างเยอะทั้งเรื่องของสีและกระบวนการทำ การที่มีอีเวนต์คือการบอกข่าวสารข้อมูลของเราออกไป ถ้าเจอกันในงานก็สามารถถามคำถามกับแบรนด์ได้เลย เลยอยากเรียกว่าเป็น fashion for community มากกว่าจัดอีเวนต์ อยากให้ทุกคนมารวมกันแล้วมีคอมมิวนิตี้ที่ใหญ่ขึ้น”

นอกจากอีเวนต์เปิดตัวสินค้าแล้ว บางครั้งเพชรยังจัด thank you party อย่างงานที่โรงแรมคีรีมายา เขาใหญ่ ที่เชิญลูกค้า สื่อและผู้สนับสนุนแบรนด์มาร่วมงานในชุดจากพลาสติก ทั้งเป็นการขอบคุณผู้ซัพพอร์ตและเล่าเรื่องราวการเดินทางของแบรนด์ตลอด 4 ปี ทั้งสิ่งที่ผ่านมาและโปรเจกต์ที่อยากทำต่อไปในอนาคต 

“ตอนแรกที่เราทำเสื้อจากพลาสติก ไม่มีใครเข้าใจเลย จนกระทั่งงานที่เขาใหญ่ที่ทุกคนใส่ชุดนี้ไป thank you party พอหลังจากนั้นก็เปิดตลาดเลย เราต้องอยู่กับมันพอสมควรในการขายของ มันอยู่ที่ว่าคนถือกระเป๋าแล้วอยากพูดถึงกระเป๋าของเราว่าอะไร ถ้าคนเห็นคุณค่าและรู้สึกรีเลตว่ามันเป็นกระเป๋ารีไซเคิลเขาก็จะพูดถึง มันเลยไม่ใช่การสื่อสารทางเดียวแต่เป็นสองทาง” 

two-way communication หรือการสื่อสารสองทางคือหนึ่งในผลลัพธ์ที่พิสูจน์ได้ว่ามีลูกค้าที่พูดถึงแบรนด์ ซึ่งการผลักดันคอมมิวนิตี้ของแบรนด์ให้สำเร็จได้เกิดจากการรู้จักสื่อและสไตลิสต์จากงานแฟร์ระดับโลกหลากหลาย ทั้ง Paris และ Newyork Fashion Week ซึ่งบางครั้งก็จะให้เหล่าดาราและอินฟลูเอนเซอร์สามารถยืมกระเป๋า PIPATCHARA สำหรับออกงานอีเวนต์ได้

ดาราที่มีชื่อเสียงของต่างประเทศที่เคยถือกระเป๋า PIPATCHARA คือ Anne Hathaway ที่ออกงานอีเวนต์โดยถือกระเป๋า PIPATCHARA และติดธงสัญลักษณ์ทรานส์เจนเดอร์ เพื่อซัพพอร์ตกลุ่ม LGBTQ+ ที่กระเป๋า ทำให้เป็นข่าวไปทั่วโลก สำนักข่าวต่างเขียนถึงแบรนด์กระเป๋าที่ Anne Hathaway ถือ และการซัพพอร์ต ทรานส์เจนเดอครั้งนี้โดยออร์แกนิกทำให้คนรู้จักแบรนด์มากขึ้น 

Primary
Pioneer of Original Design and Model  

P สุดท้ายของ PIPATCHARA คือ primary หมายถึงการเริ่มต้นบุกเบิกสิ่งที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ กระบวนการออกแบบสินค้า การคิดค้นแพตเทิร์นการถักด้วยมาคราเม่และพลาสติก 

ข้อดีของการเป็นผู้บุกเบิกคือความออริจินัล อย่างกระเป๋าจากขยะพลาสติกล้วนที่ใช้สีของขยะพลาสติกจริงเป็นสิ่งที่เพชรมองว่าตลาดโลกยังไม่ค่อยมีแบรนด์ที่ทำสไตล์นี้อย่างจริงจัง เพราะแบรนด์ส่วนใหญ่มักผสมขยะกับวัสดุอื่น เช่น ผ้า แต่อุปสรรคของผู้บุกเบิกก็มีสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการต้องคิดวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

“แม้ว่าจะเคยยอมแพ้กับมันหลายรอบแล้วทั้งตัวโรงงานด้วยหรืออะไรก็ตาม แต่เราก็ทำสิ่งที่เป็น primary ให้เกิดขึ้นได้จริงๆ ด้วยศักยภาพของเราเอง เราเริ่มต้นเรียนรู้ด้วยตัวเองทั้งหมดว่าอะไรที่ทำแล้วเวิร์กหรือไม่เวิร์ก ศึกษาด้วยตัวเองแล้วอยู่กับมัน หรือการทำงานกับชุมชนต่างๆ มันยากมากที่เราจะส่งของขึ้นไป บางทีอุณภูมิทำให้เชือกเน่าเยอะมาก เราก็ต้องเข้าไปเป็น primary ในการรีเสิร์ชว่าจะทำยังไงให้เชือกไม่เน่าและไม่เปลี่ยนสี ให้เป็นเชือกที่เรายังสามารถใช้ได้อยู่”

 ในขณะที่แบรนด์คราฟต์แบรนด์อื่นมักเลือกช่างฝีมือจากชุมชนที่มีทักษะอยู่แล้ว PIPATCHARA เลือกถ่ายทอดศาสตร์การถักร้อยให้ครูที่โรงเรียนตามชุมชนต่างๆ เพราะเพชรและทับทิมเชื่อว่าครูเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบในการคุมคุณภาพสินค้า โมเดลของ PIPATCHARA เป็นการสร้างโรงเรียนสอนหัตถกรรมในชุมชนให้ครูโดยไม่ต้องสร้างอาคารเรียน 

สร้างคอมมิวนิตี้การมีส่วนร่วมกับชุมชนและลูกค้าในแบบของตัวเอง เกิดเป็นโมเดลธุรกิจที่เหมาะกับกลุ่มลูกค้าและสินค้าของตัวเอง 

“ไม่ได้มีธงเป็นพิเศษว่าต่อไปต้องเป็นอะไร แค่เราสามารถรักษาสิ่งที่ทำได้ต่อไปหลังจากนี้ ผลิตขึ้นมาแล้วขายได้ทำให้ชุมชนยังอยู่กับเราได้ต่อไปเรื่อยๆ”

What I’ve Learned

  • Original การหยิบสิ่งที่มีอยู่แล้วรอบตัวมาสร้างสรรค์ให้มีความออริจินอลทำให้มีมูลค่าและเกิดเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ อย่างการนำมาคราเม่และขยะพลาสติกซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่นานแล้วมาออกแบบเป็นสินค้า
  • Reference Positioning from Global Market การหา positioning ในตลาดทั้งระดับความพรีเมียมของแบรนด์และราคาด้วยการเทียบกับงานดีไซน์ในตลาดโลก
  • Storytelling Activities เล่าคอนเซปต์ของแบรนด์ให้คนเข้าใจที่มาที่ไปด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจและเข้าใจง่าย อย่างงานอีเวนต์ งานปาร์ตี้
  • Writer

    Part-Time Columnist, Full-Time Villager ผู้คราฟต์สตอรี่และสิ่งของ Ig : rata.montre

    Photographer

    ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

    You Might Also Like