นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

The Stylish Local High Fashion

หลัก 4P+1 ของ PIPATCHARA แบรนด์แฟชั่นที่พางานหัตถกรรมจากขยะพลาสติกไปแฟชั่นวีคระดับโลก

แค่เห็นชื่อแบรนด์ PIPATCHARA ก็คงเดาได้ไม่ยากว่าเป็นแบรนด์ไทย 

เพชร–ภิพัชรา แก้วจินดา เรียนจบแฟชั่นดีไซน์และร่วมก่อตั้งแบรนด์กับพี่สาว ทับทิม–จิตริณี แก้วจินดา ด้วยความหลงใหลในงานอาร์ตและคราฟต์เธอเริ่มจากการนำมาคราเม่ ศาสตร์การมัดและถักเชือกให้เป็นลวดลายมาทำกระเป๋าหนังและยังออกคอลเลกชั่นกระเป๋าไฮเอนด์และแฟชั่นโอต์กูตูร์จากขยะพลาสติก

จากงานหัตถกรรมในชุมชนสู่การพาแบรนด์ไทยโกอินเตอร์ไปแฟชั่นวีคระดับโลกทั้งที่ปารีส นิวยอร์ก ดูไบ ฯลฯ เปิดป๊อปอัพโชว์รูมและขายสินค้าทั้งในไทยและต่างประเทศ สร้างแบรนด์ให้มีมูลค่าโดยเปลี่ยนมาคราเม่ให้มีราคาหลายหมื่นและขยะพลาสติกให้มีราคาถึงแสน 

เพชรบอกว่าทุกวันนี้ความเป็นแบรนด์ชื่อไทยที่ยาวและอาจจะออกเสียงยากสำหรับคนต่างชาติไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับเธอ เพราะลูกค้าชื่นชอบผลงานจากดีไซน์และเรื่องเล่าของสินค้า 

วันนี้เราไม่ได้เพียงคุยกับเพชร ผู้ก่อตั้งของ PIPATCHARA ถึงการออกแบบเท่านั้น เพราะเรื่องราวที่น่าสนใจของแบรนด์มีทั้งการมองหาแรงบันดาลใจในการออกแบบ การตั้งราคาแบรนด์เนมในวงการดีไซน์ วิธีคิดในการพาแบรนด์โกอินเตอร์ ไปจนถึงการสร้างโมเดลชุมชนและโมเดลธุรกิจที่ไม่เหมือนใคร 

Product
Inspired from Macrame Moroccan  

แบรนด์ PIPATCHARA เปิดตัวด้วยคอลเลกชั่นกระเป๋าหนังที่โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ลายถักจากมาคราเม่ในชื่อสไตล์โมร็อกโคอย่าง Sama Box Bag, Amu, Maya, Jade ฯลฯ

ด้วยความตั้งใจอยากเปลี่ยนงานหัตถกรรมให้กลายเป็นแฟชั่นที่เนี้ยบและดูมีราคา เพชรนำลายมาคราเม่ที่มีอยู่แล้วของโมร็อกโคมาออกแบบเป็นสไตล์ของตัวเอง ประยุกต์เป็นลายดอกไม้และลายต่างๆ 

งานถักทุกชิ้นทำจากมือโดยชุมชนที่เชียงรายและใช้หนังจากอิตาลี เพชรเข้าไปสอนการถักให้คนในชุมชนเอง ออกแบบกระบวนการถักให้เข้าใจง่ายอย่างประเภทของลายถักมาคราเม่ที่เรียกกันเองง่ายๆ ว่าลายครองแครงและตัวหนอน ฯลฯ รวมถึงยังคัดหนังเกรดดีจากอิตาลีที่สร้างความน่าเชื่อถือในการส่งออกเพราะตั้งใจบุกตลาดต่างประเทศตั้งแต่แรก 

จาก Sama Box Bag คอลเลกชั่นแรกที่เพชรเริ่มทำเพียง 30 ใบและใช้เวลาออกแบบ 7-8 เดือน เพชรนำมาคราเม่รูปแบบเดิมไปอยู่ในกระเป๋าหลากหลายแบบ ทั้ง mini bag กระเป๋าถือขนาดเล็กและขนาดใหญ่ กระเป๋าสตางค์ โดยยึดลายถักสไตล์เดิมและเปลี่ยนรูปทรง สี ไซส์ของกระเป๋า เก็บรายละเอียดความเนี้ยบในแต่ละคอลเลกชั่น เช่น ลายถักทรงกากบาทที่แม้สะพายตรงไหล่ก็ไม่ทำให้เจ็บ การออกแบบให้กระเป๋าสามารถจุของได้เยอะและมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร มองเห็นแล้วก็รู้เลยว่าคือแบรนด์ PIPATCHARA 

เมื่อถึงช่วงที่กระเป๋าทรงไหนฮิต เช่น ช่วงที่มีเทรนด์ฮิตในทรง mini bag ก็จะทำให้คอลเลกชั่นของกระเป๋าทรงนี้อย่าง Mini Amu ฮิตขึ้นมาจนทำให้แบรนด์แมสมากขึ้นด้วย  

Make Plastic Trash Not Look Like Trash  

จากวัสดุหนังพรีเมียมของอิตาลี แฟนคลับแบรนด์หลายคนในช่วงแรกอาจคาดไม่ถึงว่าวัสดุในคอลเลกชั่นต่อมาของ PIPATCHARA คือขยะพลาสติกที่นำมาร้อยต่อกันในชื่อคอลเลกชั่นว่า Infinitude ด้วยความตั้งใจอยากสนับสนุนด้านความยั่งยืน to infinity 

ทับทิม พี่สาวของเพชรมีประสบการณ์ทำงานด้านความยั่งยืนมาก่อนจึงมีความรู้เกี่ยวกับขยะพลาสติก ทำให้ได้ไอเดียนำขยะกำพร้าจากโรงงานขยะซึ่งเป็นขยะที่ไม่สามารถกำจัดทิ้งได้นอกจากฝังหรือเผามาทำกระเป๋า ซึ่งใช้เวลาในกระบวนการทำตั้งแต่ปี 2020-2022 

หากมองแวบแรกอาจเดาไม่ออกเลยว่ากระเป๋าแฟชั่นตรงหน้าทำมาจากขยะพลาสติกซึ่งเป็นความตั้งใจของเพชรที่อยากทำสินค้าที่คนไม่รู้ว่าทำมาจากขยะ

“มันใช้ระยะเวลา 2 ปีเต็ม เพราะทดลองทั้งเรื่องทรงและสี ซึ่งเราก็คาดว่าขยะส่วนใหญ่จะไปอยู่ในทะเลด้วย เลยอยากให้รูปทรงของกระเป๋าเหมือนปะการังเพื่อให้คนรีเลตถึงทะเล ที่จริงขยะพลาสติกจะเป็นปัญหาของบริษัทใหญ่ๆ อยู่แล้ว เขาไม่รู้ว่าจะเอาขยะพวกนี้ไปไว้ที่ไหน เพราะฉะนั้นเราเลยเลือกเอาพลาสติกเหล่านี้มาใช้ ซึ่งสีที่เห็นอยู่ไม่ได้ใส่สีอะไรเข้าไปเลย เป็นสีจริงตามพลาสติก” 

ขยะจากบริษัทอย่างยาคูลท์ มิเนเร่ เนสท์เล่ เมจิ ฯลฯ ที่เป็นฝาขวดและภาชนะที่มีสีสันต่างๆ จะถูกนำมาผสมกับสีใสจากช้อนส้อมพลาสติก ทัพเพอร์แวร์ ทำให้กลายเป็นเฉดสีหลากหลายของกระเป๋าซึ่งจะขึ้นอยู่กับสีจริงของขยะในช่วงเวลานั้นๆ 

“สิ่งที่ชอบที่สุดคือเวลาปั๊มออกมา พลาสติกแต่ละชิ้นไม่มีทางมีทรงเหมือนกันและการกระจายของสีจะไม่เท่ากันเลย บางส่วนจะมีความใส บางส่วนจะมีเม็ดสีเข้มกว่า เวลาอยู่ในแสงมันก็จะสะท้อนต่างกันนิดนึง หลายครั้งจะมีคนถามเราว่าไปคอลแล็บหรือสปอนเซอร์กับแบรนด์อะไรหรือเปล่า แต่เราเลือกทุกบริษัทที่ทำงานด้วยในตอนแรกจากสีของขยะจริงๆ จนกระทั่งวันเปิดตัวคอลเลกชั่น เราถึงค่อยชวนแบรนด์ต่างๆ มาดูว่าสินค้าของเขาอยู่ในดีไซน์ของเรา แล้วถึงค่อยมีการคอลแล็บกับแบรนด์ตามมาอย่างแบรนด์สิงห์” 

นอกจากกระเป๋าจากขยะพลาสติก เพชรยังออกแบบ ready-to-wear สไตล์โอต์กูตูร์ ในคอลเลกชั่นชื่อ
Crystallization No.4 ที่รับทำแบบ made to order เท่านั้น เพื่อให้พอดีกับไซส์ของแต่ละคน หลักคิดของเธอคล้ายกับตอนทำกระเป๋าจากมาคราเม่คือยึดเทคนิคซิกเนเจอร์ของการถักและร้อย ทำตัวอย่างแพตเทิร์นสำหรับร้อยพลาสติกขนาด 1:1 เท่าไซส์จริงให้ชุมชนสามารถเรียนรู้ได้ง่าย ลักษณะเหมือนการต่อเลโก้ที่มีเลขกำกับโดยให้ร้อยตามลำดับเลขแบบง่ายๆ แล้วนำเทคนิคการร้อยนี้มาออกแบบเป็นสินค้าหลากหลายประเภท หลายสีสันและรูปทรง

Price
Reference to Market 

เมื่อถามว่าราคาของอยู่ที่เท่าไหร่ เพชรบอกว่า “ราคาถูกที่สุดคือกระเป๋าตังค์ ประมาณ 5,000-6,000 บาท ราคากระเป๋าถือที่ถูกที่สุดไปจนถึงแพงที่สุดอยู่ที่ประมาณ 9,000-50,000 บาท เพราะเป็นมาคราเม่ใบใหญ่ทั้งใบ ส่วนเสื้อผ้า ready-to-wear มีราคาประมาณ 5,000-12,000 บาท แต่ถ้าเราไปดูไบ เสื้อผ้าจะขายได้ราคาสูงขึ้นถึงราว 40,000 กว่าบาท เสื้อตัวท็อปจะมีราคาตั้งแต่ 29,000 ไปจนถึง 100,000 บาท ที่เป็นตัวฟินาเล่แบบชุดยาว” 

สำหรับเพชรหลักคิดในการตั้งราคาคือการอิงราคาตลาด โดยเฉพาะตลาดอินเตอร์ 

“ถ้าเราอยู่แค่ตลาดไทยในตอนแรก เวลาขายกระเป๋าในไทย ราคาที่ขายได้ง่ายๆ จะอยู่ที่ประมาณ 8,000-9,000 บาท แต่เวลาไปตลาดเมืองนอกและเอาไปตั้งเทียบกับแบรนด์อื่นๆ ห้างและลูกค้าจะเปรียบเทียบว่าราคาของเราน้อยกว่าหรือเยอะกว่าแบรนด์อื่น พอกระเป๋าเราราคาถูกกว่าคนอื่นเยอะ ในมุมมองของห้างที่ต่างประเทศก็จะไม่รู้ว่าควรเอากระเป๋าเราไปตั้งไว้ตรงไหน เขาก็จะมองว่าทำไมแบรนด์เราถูกกว่า สมมติว่ากระเป๋าของเราใช้หนังทั้งใบแต่แบรนด์อื่นที่แพงกว่าใช้ผ้าแคนวาสทั้งใบ ก็จะเกิดคำถามว่าทำไมแบรนด์เราถึงขายราคาแค่นี้ ใช่หนังร้อยเปอร์เซ็นต์หรือเปล่า การตั้งราคาจึงขึ้นอยู่กับว่าคนข้างเราคือใครด้วย

“เราจึงต้องดูตั้งแต่แรกว่าเราจะอยู่ตรงไหนในตลาด จะอยู่ระดับแมส กึ่ง luxury หรือ luxury ไปเลย ราคาก็จะปรับตามโพซิชั่นของแบรนด์ ส่วนตัวอยากทำกระเป๋าที่มีดีไซน์พิเศษของตัวเองที่คนสามารถเก็บตังค์แล้วซื้อได้ ไม่แพงเกินไปแต่ก็ไม่ได้ถูกเกินไปจนลดคุณค่าของมัน” 

ทั้งนี้เพชรบอกว่าเวลาธุรกิจเติบโตขึ้นก็หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงด้านราคาไม่ได้เพราะโพซิชั่นของแบรนด์ก็ต้องเติบโตขึ้น

“ตอนแรกที่เริ่มขายกระเป๋าราคาอยู่ที่ 8,000-9,000 ตอนนี้จะขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาทในตัวเดียวกัน ซึ่งตอนนี้แบรนด์กำลังเข้าปีที่ 5 แล้ว ด้วยวิธีการทำสินค้าที่เราทำออกมาทำให้เรนจ์ของแบรนด์เราตอนนี้จะขึ้นไปถึงเกือบๆ luxury แล้ว บางอย่างเราก็ไม่ได้อยากขายราคานั้น แต่ด้วยสังคมและตลาดเป็นแบบนั้น ก็ต้องนำราคาตลาดมาพิจารณาด้วย”  

แต่ในบางคอลเลกชั่นเพชรก็ยอมรับว่าไม่มีราคาตลาดให้เทียบ และนั่นขึ้นอยู่กับมุมมองของแบรนด์เองในการประเมินคุณค่าของสิ่งนั้น

“เรามองว่าอาร์ตพีซอย่าง Infinitude ไม่มีคู่แข่ง ถามว่ากระเป๋าพลาสติกรีไซเคิลมีราคาแพงไหม ก็อาจจะแพง คือพอคนไม่รู้ว่ามันคืออะไรและไม่มีราคาเทียบเลยทำให้เราอยู่ตรงไหนก็ได้ พอมันสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นได้ก็เลยทำให้ Infinitude บางใบราคาไปถึง 60,000-70,000 บาทแล้ว”  

ราคาที่สูงมาจากการเพิ่มมูลค่าให้ขยะดูไม่เหมือนขยะ เลือกทำโอต์กูตูร์เพราะเป็นไฮเอนด์แฟชั่น เมื่อเพิ่มมูลค่าด้วยการร้อยขยะผสมกับลูกปัดจึงสามารถทำให้มูลค่าราคาของการออกแบบของชุดบางตัวอยู่ที่หลักแสนบาท

ทีมดีไซน์ใช้เวลาค่อนข้างนานเพื่อดูว่าอะไรที่เราทำออกมาแล้วดูไม่เป็นขยะเลยตั้งแต่แรก ตอนแรกเราไม่ได้เล่าว่าเป็นขยะด้วยซ้ำ เราทำกระเป๋าออกมาก่อนแล้วถามลูกค้าว่าเป็นยังไง ชอบไหม โดยที่เขาไม่รู้เลยว่ามันเป็นขยะพลาสติก เพื่อให้คนมองเห็นคุณค่าในราคาเท่านี้” 

Place
Go Inter to Fashion Capital 

PIPATCHARA เริ่มจากการขายผ่านช่องทางออนไลน์ล้วนทั้งในเว็บไซต์และอินสตาแกรม โดยไม่มีช่องทางออฟไลน์เลยในตอนแรก เริ่มจากตลาดต่างประเทศในฝั่งยุโรป ญี่ปุ่น ก่อนจะขยายไปหลายประเทศอย่างดูไบและสิงคโปร์

“ถ้าเข้าเว็บไซต์ก็จะไม่มีขอบเขตในการขาย เราเลยขยายไปหลายประเทศ คนให้ความสนใจค่อนข้างเยอะตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เราเปิดตัว แต่พอเจอโควิด-19 ที่ทำให้ส่งออกไม่ได้เลยก็เหมือนกลับมาศูนย์ใหม่” 

จากสถานการณ์ที่ว่าเป็นโอกาสที่ทำให้แบรนด์ได้กลับมาเปิดตลาดในไทยและทำให้ตอนนี้มีสัดส่วนลูกค้าไทยสูงถึง 80% และเมืองนอก 20%

สิ่งสำคัญในการขยายช่องทางการขายสำหรับงานดีไซน์คือการร่วมงานแฟร์ด้านแฟชั่นและดีไซน์ระดับโลก โดยล่าสุดเพชรพา PIPATCHARA เดินทางไปงาน Dubai fashion week 

“fashion capital ในโลกนี้มีประมาณ 5 ประเทศ คือมิลาน, นิวยอร์ก, ลอนดอน, ปารีส ส่วนดูไบเป็นศูนย์รวมในฝั่งเอเชียและอาหรับทั้งหมด ในงานแฟชั่นวีคจะมีองค์กรแฟชั่นมาดูว่าจะซัพพอร์ตดีไซเนอร์ยังไงได้บ้าง สิ่งที่เราได้กลับมาคือโอกาส คนชอบกระเป๋ารีไซเคิลของเรามากทำให้ได้ offer ไปร่วมแฟชั่นโชว์ที่ดูไบ” โอกาสจากงานนี้ทำให้เพชรทำคอลเลกชั่นชุดโอต์กูตูร์ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ โดยในปีนี้ไปดูไบแฟชั่นวีคเป็นครั้งที่ 2 แล้ว

ในช่วงแฟชั่นวีค PIPATCHARA จะเปิดป๊อปอัพโชว์รูมเฉพาะช่วงนั้นในประเทศนั้นๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าที่มาดูงานดีไซน์จากทั่วโลก เช่น ที่ปารีส 

“การที่เราเปิดโชว์รูมที่ต่างประเทศเพื่อที่จะบอกว่าเราเป็น international brand และเราสามารถมาเปิดขายที่นี่ได้ ช่วงแฟชั่นวีคคนจะต้องรวมตัวกันอยู่ที่นั่น ข้อดีคือมีคนทั่วโลกเข้ามาให้ความสนใจ แต่กำลังซื้อที่สูงจะอยู่ที่คนบางกลุ่มเช่นคนจากฝั่งอเมริกาและตะวันออกกลางมากกว่ายุโรป”  

เพชรบอกว่าการนำแบรนด์ไปอยู่ที่ต่างประเทศทำให้ผลงานของสินค้าโดดเด่นกว่าเชื้อชาติของแบรนด์

“เราเคยเข้าไปเรียน business school แล้วมีคนบอกว่า การใช้แบรนด์เป็นชื่อไทยจะทำให้ยากขึ้นในการไปทุกที่ คนจะไม่เข้าใจเรื่องราคาหรือลำบากในการจำชื่อยาวๆ แต่มีคนหนึ่งในคลาสพูดว่า คุณต้องไปสร้างแบรนด์ที่เมืองนอกแล้วทำให้มันง่าย จนตอนนี้คนไม่ได้สนใจขนาดนั้นว่าเราจะชื่ออะไร งานของเราชัดกว่าชื่อ คิดว่ามันดีกว่าที่คนจำเราได้จากชิ้นงานของเรา ไม่ได้มองว่าเป็นแบรนด์ไทยหรือแบรนด์นอก”

ส่วนในไทยมีโชว์รูมถาวรที่ 111 ประดิษฐ์มนูธรรม มีหน้าร้านที่สยามดิสคัฟเวอรี่และเซ็นทรัลชิดลม โดยเน้นการทำร้านป๊อปอัพโดยเปลี่ยนคอนเซปต์และสถานที่ไปเรื่อยๆ เพื่อให้ลูกค้าเห็นไอเดียของแบรนด์ในแต่ละคอลเลกชั่น 

เพชรบอกว่าการเลือกสถานที่มีผลต่อการแจ้งเกิดของสินค้า เช่น สินค้าบางคอลเลกชั่นที่คนไทยไม่สนใจแล้ว พอไปปารีสกลับขายดี ในขณะที่ถ้าเลือกเปิดตัวถูกที่ก็จะได้รับความสนใจล้นหลามอย่างสถานที่ของร้านป๊อพอัพในไทยที่แรกที่ทำให้แบรนด์แจ้งเกิดคือ theCOMMONs ทองหล่อโดยเลือกจากกลุ่มคนที่น่าจะมีไลฟ์สไตล์ใกล้เคียงกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ 

“ตอนนั้นจากที่คนตามแบรนด์เราประมาณ 800 คน คนที่มาก็ซื้อแทบทุกคน วันนั้นวันเดียวขายได้ 70-80 ใบ ตอนนั้นยังไม่มีบริษัทเลย จากนั้นก็เลยเริ่มจริงจังขึ้นและเริ่มขยาย กลายเป็นคอมมิวนิตี้ใหญ่ขึ้นโดยไม่รู้ตัว” 

Promotion
Storytelling for Fashion Community 

นอกจากพาแบรนด์ไปอยู่ในงานแฟชั่นวีคที่สปอตไลต์ส่องถึงแล้ว เพชรบอกว่าสิ่งที่ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักและมีมูลค่าคือการเล่าเรื่อง

“จุดที่ทำให้คนรู้จักคือโดยรวมในทุกอย่างที่เราทำ แต่สิ่งที่เน้นที่สุดคือ communication (การสื่อสารข้อมูลข่าวสาร) เช่น ที่ผ่านมาคนรู้จักแฟชั่นพลาสติกจากการบอกปากต่อปากมากกว่ารู้จักจากอินฟลูเอนเซอร์” 

อีเวนต์เปิดตัวคอลเลกชั่นใหม่เป็นสื่อที่แบรนด์ใช้เล่าเรื่องอย่างงานเปิดตัวของคอลเลกชั่น Infinitude “ตอนนั้นเราทำป็อปอัพให้เป็นเหมือนทะเลทรายแล้วมีขยะบนพื้นเพื่อให้คนเข้าใจว่าเอาขยะมาทำความสะอาดกลายเป็นกระเป๋า”  

“ส่วนใหญ่อีเวนต์เกิดจากการที่เรามีข้อมูลมากเกินไปและต้องการบอกให้คนอื่นรับรู้ เช่น เรามีคอลเลกชั่นใหม่ ซึ่งต้องการการอธิบายค่อนข้างเยอะทั้งเรื่องของสีและกระบวนการทำ การที่มีอีเวนต์คือการบอกข่าวสารข้อมูลของเราออกไป ถ้าเจอกันในงานก็สามารถถามคำถามกับแบรนด์ได้เลย เลยอยากเรียกว่าเป็น fashion for community มากกว่าจัดอีเวนต์ อยากให้ทุกคนมารวมกันแล้วมีคอมมิวนิตี้ที่ใหญ่ขึ้น”

นอกจากอีเวนต์เปิดตัวสินค้าแล้ว บางครั้งเพชรยังจัด thank you party อย่างงานที่โรงแรมคีรีมายา เขาใหญ่ ที่เชิญลูกค้า สื่อและผู้สนับสนุนแบรนด์มาร่วมงานในชุดจากพลาสติก ทั้งเป็นการขอบคุณผู้ซัพพอร์ตและเล่าเรื่องราวการเดินทางของแบรนด์ตลอด 4 ปี ทั้งสิ่งที่ผ่านมาและโปรเจกต์ที่อยากทำต่อไปในอนาคต 

“ตอนแรกที่เราทำเสื้อจากพลาสติก ไม่มีใครเข้าใจเลย จนกระทั่งงานที่เขาใหญ่ที่ทุกคนใส่ชุดนี้ไป thank you party พอหลังจากนั้นก็เปิดตลาดเลย เราต้องอยู่กับมันพอสมควรในการขายของ มันอยู่ที่ว่าคนถือกระเป๋าแล้วอยากพูดถึงกระเป๋าของเราว่าอะไร ถ้าคนเห็นคุณค่าและรู้สึกรีเลตว่ามันเป็นกระเป๋ารีไซเคิลเขาก็จะพูดถึง มันเลยไม่ใช่การสื่อสารทางเดียวแต่เป็นสองทาง” 

two-way communication หรือการสื่อสารสองทางคือหนึ่งในผลลัพธ์ที่พิสูจน์ได้ว่ามีลูกค้าที่พูดถึงแบรนด์ ซึ่งการผลักดันคอมมิวนิตี้ของแบรนด์ให้สำเร็จได้เกิดจากการรู้จักสื่อและสไตลิสต์จากงานแฟร์ระดับโลกหลากหลาย ทั้ง Paris และ Newyork Fashion Week ซึ่งบางครั้งก็จะให้เหล่าดาราและอินฟลูเอนเซอร์สามารถยืมกระเป๋า PIPATCHARA สำหรับออกงานอีเวนต์ได้

ดาราที่มีชื่อเสียงของต่างประเทศที่เคยถือกระเป๋า PIPATCHARA คือ Anne Hathaway ที่ออกงานอีเวนต์โดยถือกระเป๋า PIPATCHARA และติดธงสัญลักษณ์ทรานส์เจนเดอร์ เพื่อซัพพอร์ตกลุ่ม LGBTQ+ ที่กระเป๋า ทำให้เป็นข่าวไปทั่วโลก สำนักข่าวต่างเขียนถึงแบรนด์กระเป๋าที่ Anne Hathaway ถือ และการซัพพอร์ต ทรานส์เจนเดอครั้งนี้โดยออร์แกนิกทำให้คนรู้จักแบรนด์มากขึ้น 

Primary
Pioneer of Original Design and Model  

P สุดท้ายของ PIPATCHARA คือ primary หมายถึงการเริ่มต้นบุกเบิกสิ่งที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ กระบวนการออกแบบสินค้า การคิดค้นแพตเทิร์นการถักด้วยมาคราเม่และพลาสติก 

ข้อดีของการเป็นผู้บุกเบิกคือความออริจินัล อย่างกระเป๋าจากขยะพลาสติกล้วนที่ใช้สีของขยะพลาสติกจริงเป็นสิ่งที่เพชรมองว่าตลาดโลกยังไม่ค่อยมีแบรนด์ที่ทำสไตล์นี้อย่างจริงจัง เพราะแบรนด์ส่วนใหญ่มักผสมขยะกับวัสดุอื่น เช่น ผ้า แต่อุปสรรคของผู้บุกเบิกก็มีสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการต้องคิดวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

“แม้ว่าจะเคยยอมแพ้กับมันหลายรอบแล้วทั้งตัวโรงงานด้วยหรืออะไรก็ตาม แต่เราก็ทำสิ่งที่เป็น primary ให้เกิดขึ้นได้จริงๆ ด้วยศักยภาพของเราเอง เราเริ่มต้นเรียนรู้ด้วยตัวเองทั้งหมดว่าอะไรที่ทำแล้วเวิร์กหรือไม่เวิร์ก ศึกษาด้วยตัวเองแล้วอยู่กับมัน หรือการทำงานกับชุมชนต่างๆ มันยากมากที่เราจะส่งของขึ้นไป บางทีอุณภูมิทำให้เชือกเน่าเยอะมาก เราก็ต้องเข้าไปเป็น primary ในการรีเสิร์ชว่าจะทำยังไงให้เชือกไม่เน่าและไม่เปลี่ยนสี ให้เป็นเชือกที่เรายังสามารถใช้ได้อยู่”

 ในขณะที่แบรนด์คราฟต์แบรนด์อื่นมักเลือกช่างฝีมือจากชุมชนที่มีทักษะอยู่แล้ว PIPATCHARA เลือกถ่ายทอดศาสตร์การถักร้อยให้ครูที่โรงเรียนตามชุมชนต่างๆ เพราะเพชรและทับทิมเชื่อว่าครูเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบในการคุมคุณภาพสินค้า โมเดลของ PIPATCHARA เป็นการสร้างโรงเรียนสอนหัตถกรรมในชุมชนให้ครูโดยไม่ต้องสร้างอาคารเรียน 

สร้างคอมมิวนิตี้การมีส่วนร่วมกับชุมชนและลูกค้าในแบบของตัวเอง เกิดเป็นโมเดลธุรกิจที่เหมาะกับกลุ่มลูกค้าและสินค้าของตัวเอง 

“ไม่ได้มีธงเป็นพิเศษว่าต่อไปต้องเป็นอะไร แค่เราสามารถรักษาสิ่งที่ทำได้ต่อไปหลังจากนี้ ผลิตขึ้นมาแล้วขายได้ทำให้ชุมชนยังอยู่กับเราได้ต่อไปเรื่อยๆ”

What I’ve Learned

  • Original การหยิบสิ่งที่มีอยู่แล้วรอบตัวมาสร้างสรรค์ให้มีความออริจินอลทำให้มีมูลค่าและเกิดเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ อย่างการนำมาคราเม่และขยะพลาสติกซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่นานแล้วมาออกแบบเป็นสินค้า
  • Reference Positioning from Global Market การหา positioning ในตลาดทั้งระดับความพรีเมียมของแบรนด์และราคาด้วยการเทียบกับงานดีไซน์ในตลาดโลก
  • Storytelling Activities เล่าคอนเซปต์ของแบรนด์ให้คนเข้าใจที่มาที่ไปด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจและเข้าใจง่าย อย่างงานอีเวนต์ งานปาร์ตี้
  • Writer

    Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

    Photographer

    ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

    You Might Also Like