Mycelium Coffin
ฝากความคิดถึงผ่าน Mycelium Coffin โลงศพจากเห็ดที่เปลี่ยนสัตว์เลี้ยงแสนรักให้กลายเป็นปุ๋ย
ในฐานะคนที่เลี้ยงสัตว์เป็นเหมือนลูก เราต่างเลือกซื้ออาหารให้เหมาะสมกับเจ้าตัวน้อย เลือกของใช้ที่ตอบโจทย์การใช้งาน และซื้อของเล่นที่จะมาเอนเตอร์เทนพวกเขาได้ แต่เรื่องหนึ่งที่เชื่อว่าหลายบ้านแทบไม่หยิบยกมาพูดคุยกัน ด้วยเหตุผลที่ว่าทำใจพูดถึงไม่ได้ ยังไม่อยากให้วันนั้นมาถึง หรือด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่
คือในวาระสุดท้ายของเจ้าขนปุย เราควรจะต้องทำยังไงดี
ในยุคที่ผู้คนเริ่มหันมาวางแผนการเดินทางสู่สุคติอย่างเป็นสุข ในฐานะมนุษย์ที่รักสัตว์เลี้ยงสุดหัวใจก็สามารถวางแผนส่งน้องกลับดาวได้เช่นกัน และจะดีสักแค่ไหนถ้าเลือกใช้วิธีที่เป็นมิตรต่อสัตว์ เป็นมิตรต่อโลกได้
‘Mycelium Coffin’ คือโลงศพจากเห็ด ที่เปลี่ยนวาระสุดท้ายของเจ้าขนปุยให้กลายเป็นปุ๋ยสำหรับต้นไม้ เพื่อให้เหล่าทาสรู้สึกว่าน้องหมาน้องแมวยังไม่จากไปไหน ถ้าคิดถึงก็แค่กลับมาหาต้นไม้ต้นนั้น และยังช่วยสร้างระบบนิเวศให้สมดุลอีกด้วย
ไอเดียรักษ์โลกของ มล–จิราวรรณ คำซาว หรือที่หลายคนรู้จักกันในนามผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘ถิ่นนิยม’ ในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมจัดจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น เพื่อพัฒนาชุมชน ให้คนในท้องที่มีรายได้ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน

“เราพูดบ่อยมากตอนพาคนไปเรียนรู้ระบบนิเวศ ว่าผู้ย่อยสลายเป็นเหมือนผู้ช่วยชีวิตจากความตาย ถ้าไม่มีเขา ระบบนิเวศจะไม่เกิดสิ่งใหม่ เมล็ดก็จะไม่งอก ต้นไม้ก็จะไม่มีปุ๋ย แล้วเห็ดก็ถือเป็นผู้ย่อยสลายที่แข็งแกร่งและอยู่ได้ในทุกฤดู”
เธอจึงนำความรู้เรื่องไมซีเลียมหรือเส้นใยจากเห็ดตั้งแต่สมัยที่เป็นนักวิจัยมาปัดฝุ่นใหม่ ประกอบกับในช่วงนั้นเธอช่วยเลี้ยงหมาของน้องชายที่ชื่อทองหยอด และเห็นภาพหมาไปนอนอยู่ใต้ต้นไม้ ใกล้ๆ กันมีเห็ดงอกขึ้นมา และมีกองซากไม้
“ภาพที่เราเห็นมันเป็นช็อตที่สปาร์กจอยมาก” มลบอกกับเราพร้อมรอยยิ้ม และย้ำว่าถึงแม้การพูดเรื่องวาระสุดท้ายของสัตว์เลี้ยงจะแสนเศร้า แต่ก็ทำให้เธอคิดได้ว่าถ้าบั้นปลายชีวิตของทองหยอดเป็นประโยชน์ แล้วกลายเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ก็น่าจะดี
จากใจที่รักษ์โลกและรักสัตว์เลี้ยงจึงเกิด Mycelium Coffin ขึ้นมา และทำให้เราได้มาสนทนากับมลถึงไอเดียนี้อย่างลงลึก เสมือนพาทุกคนไปเดินป่าเก็บเห็ด มาขึ้นรูปเป็นโลงศพ ก่อนจะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย และพูดคุยถึงกลยุทธ์ที่เธอวาดฝันให้โลงศพเห็ดสำหรับสัตว์เลี้ยงเป็นทางเลือกใหม่ในวันที่เทรนด์ pet parents และเทรนด์รักษ์โลกมาแรงอย่างต่อเนื่อง

เส้นใยที่ 1 ถักทอจากใจที่รักษ์โลก
แรกเริ่มเดิมทีมลเป็นนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับยารักษาโรคมาก่อน ทำให้เธอค้นพบว่าสุขภาพดีที่แท้จริงอยู่ที่อาหารการกิน จึงนึกย้อนไปถึงต้นกำเนิดของวัตถุดิบที่ดี ก็ต้องมาจากการทำเกษตรอินทรีย์ เธอจึงขยับมาทำวิจัยเรื่องนี้
“ช่วงนั้นตลาดเกษตรอินทรีย์กำลังบูมเลย เราสามารถสุขภาพดีได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมี ดีทั้งคนปลูก ดีทั้งคนกิน แต่พอเราไปบอกแบบนี้ เกษตรกรก็ไม่เชื่อไง เพราะเขาคิดว่าปลูกแล้วไปขายที่ไหน ปลูกให้ใคร ใครจะรับซื้อ แล้วช่วงนั้นน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพด้วย เราก็ไม่มีอะไรทำ เลยคิดว่ากลับบ้านเกิดที่เชียงดาวไปพัฒนาเรื่องนี้อย่างจริงจังดีกว่า เพราะที่นั่นเขาก็ทำการเกษตรกันอยู่แล้ว”
เธอเริ่มจากทำให้เกษตรกรเห็นว่าการทำเกษตรอินทรีย์ต้องเป็นยังไง และหาช่องทางการขายที่คุ้มค่าเหนื่อย จึงเปิด ‘ถิ่นนิยม’ เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น ซึ่งต้องปลูกหรือผลิตมาโดยไม่เบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติ ใช้วิธีการปลูกแบบออร์แกนิกหรือใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ยังมีการทำถิ่นนิยมคลาสรูม เป็นการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าป่ามาศึกษาเรื่องระบบนิเวศอีกด้วย

“เราชอบเล่าให้คนที่มาเที่ยวฟังถึงเรื่องระบบนิเวศหมุนเวียน ว่าจะต้องมีทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ย่อยสลาย ผู้ผลิตก็คือพวกพืช ให้ผู้บริโภคที่เป็นสัตว์ได้กิน แล้วเราก็กินทั้งพืชและสัตว์เข้าไปด้วย พอผู้ผลิตกับผู้บริโภคตายก็กลายไปเป็นซาก
“แล้วจะมีกลุ่มผู้ย่อยสลายนี่แหละ ที่ทำหน้าที่แตกโครงสร้างเหล่านั้นให้กลับไปเป็นผู้ผลิตและหมุนเวียนไปแบบเดิม เราพูดบ่อยมากว่าผู้ย่อยสลายเป็นเหมือนผู้ช่วยชีวิตจากความตาย ถ้าไม่มีเขา ระบบนิเวศจะไม่เกิดสิ่งใหม่ เมล็ดก็จะไม่งอก ต้นไม้ก็จะไม่มีปุ๋ย”
สิ่งที่มลพูดกับนักท่องเที่ยวตลอด ทำให้เธอฉุกคิดได้ว่าหากผู้บริโภคบางกลุ่มอย่างสัตว์ที่ไม่ได้อยู่ในป่าหรือแม้กระทั่งคนเราที่กินอาหารรับพลังงานไปมากมาย ถ้าลมหายใจสุดท้ายกลายไปเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศคล้ายกับวงโคจรที่เธอเห็นในป่าก็คงจะดี
“เรามองย้อนกลับมาที่การตายของเรา ถ้าเผาศพก็สร้าง carbon footprint สร้างมลพิษอีก สมัยก่อนไม่ค่อยรู้สึกเท่าไหร่ แต่หลังๆ ข้อมูลเรื่องโลกร้อน PM2.5 ก็มีออกมาเยอะ เราก็พยายามศึกษาเรื่องการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์
“ตอนนั้นเลยเริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด อย่างการทำเกษตรอินทรีย์ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ไปช่วยชุมชนปลูกต้นไม้ ไปช่วยเรื่องไฟป่า แล้วก็คิดว่าถ้าการตายของเรามันสามารถทำได้อีกจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต มันก็เจ๋งดีนะ”

เส้นใยที่ 2 จากเยื่อใยสานต่อให้ภาพฝันเป็นจริง
ด้วยหัวใจที่รักษ์โลกเป็นแรงบันดาลใจแรกที่ทำให้เธออยากทำโลงศพจากเห็ดออกมา และมลยังเล่าอีกว่าตัวกระตุ้นสุดท้ายที่ทำให้ไอเดียนี้เกิดขึ้นได้จริง มาจากตอนที่เธอช่วยเลี้ยงหมาของน้องชายตัวหนึ่งที่ชื่อทองหยอด
“มีวันหนึ่งเราพาทองหยอดไปเดินเล่น เห็นเขาล้มตัวนอนใต้ต้นจำปา ตรงนั้นมีเห็ดงอกขึ้นมา แล้วก็เป็นซากไม้ที่กองๆ อยู่ มันเป็นช็อตที่สปาร์กจอยมาก ทุกอย่างที่เราอยากทำมันเห็นภาพเลย มีทั้งเห็ดเป็นผู้ย่อยสลาย มีซากไม้ที่รอถูกย่อย
“แล้วหมาที่เราเลี้ยงวันหนึ่งก็ต้องกลายเป็นซากที่ถูกย่อยสลายไปเหมือนกัน มันฟังดูเศร้าเนาะ แต่เราคิดว่าถ้าวันที่เขาตาย แล้วกลายเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้สักต้นหนึ่ง การตายของเขาก็จะเป็นประโยชน์ต่อโลกใบนี้”
มลเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าเหมือนกับนิทานปลาบู่ทอง ที่แม่ของเอื้อยตายไปกลายเป็นปลาบู่ทอง แล้วถูกจับมาทำอาหาร เธอจึงนำเกล็ดปลาของแม่ไปฝัง จนเกิดเป็นต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทอง เวลาคิดถึงแม่ก็แค่มาหาต้นไม้นี้ เปรียบกับตัวเธอเองถ้าวันใดวันหนึ่งเธอคิดถึงทองหยอด ก็สามารถกลับมาหาต้นไม้ที่ได้รับปุ๋ยจากร่างของทองหยอดได้เช่นกัน

เส้นใยที่ 3 ก่อร่างสร้างโลงศพจากเห็ด
“เรานำความรู้เรื่องไมซีเลียมสมัยที่เป็นนักวิจัยมาปัดฝุ่นใหม่ ซึ่งไมซีเลียมเป็นคำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ หมายถึงเส้นใยจากเห็ด เราก็ไปดูว่าต่างประเทศเขาชอบใช้พวกเห็ดหูหนู จัดอยู่ในกลุ่มเห็ดกระด้าง เราก็คิดว่าในป่าบ้านเรามีเห็ดกลุ่มนี้เยอะ แล้วถ้าใช้เห็ดป่าก็จะสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านที่ดูแลป่าด้วย”
มลเริ่มเข้าป่าไปเก็บเห็ดมากกว่า 30 ชนิด เพื่อนำมาเข้าแล็บวิจัยว่าเห็ดชนิดไหนย่อยสลายเก่งและทนต่อสภาพอากาศในไทยได้ทุกฤดู จนเธอค้นพบว่าเห็ดที่เรากินกันนั้นไม่สามารถนำมาทำโลงศพได้ แต่เห็ดป่าที่กินไม่ได้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะนำมาทำโลงศพจากเห็ดมากกว่า
“เราใช้เห็ดมาทำโลงศพแล้วก็ใช้ซังเข้าโพดด้วย เพราะจากที่เราอยู่ในวงการเกษตรมา ก็อยากจัดการเรื่อง waste ให้ได้มากที่สุด ไม่อยากให้เหลืออะไรที่ต้องไปเผาให้เกิดมลพิษอีก แล้วก็อยากสร้างรายได้ให้ชาวบ้านให้ได้มากกว่าผลผลิตที่ปลูก
“หลังจากเรารู้แล้วว่าวัตถุดิบไหนใช้ได้ ก็ขึ้นรูปทรงต่างๆ แล้วดูว่าต้องใช้ระยะเวลาเวลาขึ้นรูปกี่วัน ทำความหนาเท่าไหน ถึงจะดูดซึมน้ำได้ดี มีความแข็งแรง มีความยืดหยุ่น และย่อยสลายได้ดี จนเจอว่าใช้เวลาขึ้นรูป 10-20 วันดีที่สุด แต่ก็ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิด้วย ถ้าอากาศร้อนก็ขึ้นรูปได้เร็วหน่อย ถ้าอากาศหนาวก็ช้าหน่อย ซึ่งนี่เป็นความยากตอนขึ้นรูป”

อีกหนึ่งความท้าทายคือเธอใช้บล็อกในการขึ้นรูป ซึ่งมีต้นทุนทำบล็อกที่สูง และในการทำโลงศพหนึ่งโลง ต้องขึ้นรูปในบล็อกทิ้งไว้เป็นเวลานาน และต้องใช้พื้นที่วางบล็อกทิ้งไว้ค่อนข้างเยอะ จึงทำให้ในช่วงแรก มลตัดสินใจทำโลงศพเพียง 2 แบบ เป็นโลงสำหรับใส่สัตว์เลี้ยงขนาดใหญ่อย่างสุนัข และสัตว์เลี้ยงขนาดเล็กอย่างแมว
อีกเหตุผลหนึ่งคือหลังจากได้มาศึกษาพบว่ากฎหมายในไทยยังไม่อนุญาตให้ใช้วิธีการย่อยสลายซากศพคนได้เหมือนในบางประเทศ จากตอนแรกที่อยากทำโลงศพคนด้วย จึงเปลี่ยนเป็นโลงขนาดเล็กที่บรรจุกระดูกของคนได้แทน
“โลงศพเห็ดของเราสามารถใส่สัตว์เลี้ยง แล้วขุดหลุมฝังแบบไม่ต้องลึกมาก ประมาณ 40 เซนติเมตร หรือเอาแค่ไม่มีอะไรไปขุดได้ก็พอ เพราะถ้าขุดลึกมาก รากของต้นไม้จะลงไปไม่ถึง แล้วก็ปลูกต้นไม้ลงไป ใช้เวลา 1 เดือน เห็ดก็จะย่อยสลายสัตว์ที่อยู่ในโลงจนหมด และจะค่อยๆ เปลี่ยนซากเป็นปุ๋ย ใช้เวลาประมาณ 1 ปีก็จะย่อยสลายจนหมด”
มลบอกว่าวิธีนี้เหมือนกับการให้อาหาร 5 หมู่กับต้นไม้ เพราะมีทั้งซากสัตว์เลี้ยงที่เคยกินอาหารรับพลังงานเข้าไป และมีซังข้าวโพดที่เคยได้รับสารอาหารจากการเพาะปลูก นอกจากนี้เธอยังแนะนำให้เลือกปลูกในดินที่ดี ไม่มีสารพิษ เพื่อให้ต้นไม้ได้รับสารอาหารได้มากที่สุด

เส้นใยที่ 4 เปิดประตูสู่ตลาด pet parents และเทรนด์รักษ์โลก
กว่า 3 ปีที่มลทดลองทำโลงศพเห็ด จนเป็นรูปเป็นร่างและออกสู่สายตาประชาชนเมื่อต้นปี 2568 เธอไม่คิดว่าจะมีคนให้ความสนใจขนาดนี้ บางคนมาถามราคาไว้ก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ ซึ่งก็ถือเป็นก้าวแรกที่ทำให้คนได้รู้จักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลังจากนั้นก็เริ่มมีออร์เดอร์เข้ามาเรื่อยๆ
“เราเปิดขายแบบพรีออร์เดอร์ไปก่อน เพราะถ้าทำรอไว้เลย เรายังไม่รู้ว่าขนาดไหนจะขายดี แต่ลูกค้าบางคนก็เริ่มวางแผนการตายให้น้องๆ ไว้แล้ว มีคนที่สัตว์เลี้ยงป่วย เขารู้ตัวว่าน้องจะอยู่ได้อีกไม่นานก็สั่งทำโลงศพไว้เลย
“ตอนนี้เราเน้นไปที่การออกบูทตามงานต่างๆ เพื่อให้คนรู้จักเราก่อน หลายคนก็เข้ามาถามว่าใช้เวลาทำนานไหม อยากได้เลยมีพร้อมส่งไหม คนให้ความสนใจเยอะ ถึงแม้วันนี้บางคนจะรู้สึกว่ามันแพงยังไม่ซื้อ แต่อย่างน้อยเขาก็สนใจแล้ว ถ้าวันข้างหน้าเรามีพาร์ตเนอร์มาช่วยกันทำให้ราคาถูกลง มีสินค้าพร้อมส่ง วันนั้นคนก็จะเข้าถึงโลงศพเห็ดของสัตว์เลี้ยงได้มากขึ้น”
มลวาดฝันไว้ว่าเธออยากจับมือกับโรงพยาบาลสัตว์ เพื่อนำโลงศพเห็ดไปวางขาย ให้เหล่าทาสสามารถซื้อได้ทันที แต่ก็มีโจทย์ใหม่ที่ต้องจัดการคือเรื่องเชลฟ์ไลฟ์ เพราะด้วยวัสดุที่นำมาทำเป็นเห็ด หากโดนแสงที่เข้มมากไป ก็จะเปลี่ยนสีไปตามธรรมชาติทำให้มีสีที่เข้มตามไปด้วย

“สีที่เปลี่ยนไปไม่มีผลกระทบต่อการใช้งาน แต่บางคนอาจจะอยากได้โลงศพสีขาวมากกว่าโลงศพที่มีสีเข้ม เราก็คิดว่าอาจจะทำแค็ตตาล็อกให้ลูกค้าดู เช่น รุ่นที่ทำมา 4 เดือนแล้ว สีจะเข้มนะ คุณรับได้ไหม หรือถ้าอยากได้สีขาวอาจจะต้องรอรุ่นใหม่นะ
“อีกข้อจำกัดของธุรกิจเราคือเรื่องโลจิสติกส์ เวลาขนส่งมารับเขาชอบบอกให้ห่อบับเบิลให้มากขึ้น เราก็บอกว่าเราจะรักษ์โลก ให้มาห่อบับเบิลอะไร เราก็เลยเอาโลงศพเห็ดทำแพ็กเกจจิ้งในการขนส่งด้วย พยายามคัสตอมให้เป็นเหมือนแพ็กเกจจิ้งห่อพวกทีวี ที่เรายัดแต่ละชิ้นส่วนไปล็อกมุมสินค้าให้พอดี ไม่ขยับเขยื้อน และในอนาคตเราก็อยากพัฒนาแพ็กเกจจิ้งจากเส้นใยเห็ดมาขายให้คนอื่นได้ใช้ด้วย”
มลทิ้งท้ายว่า ในมุมธุรกิจ การที่เธอเลือกใช้วัสดุไม่เหมือนใครอย่างเส้นใยเห็ดและซังข้าวโพดมาทำโลงศพเห็ด ถือเป็นการเปิดตลาดใหม่ๆ ด้วยการทำสินค้าที่แตกต่างไม่เหมือนใคร
ในอีกมุมหนึ่งเธอก็มองเห็นโอกาสจากเทรนด์ pet parents ที่ทำให้แม้ในวาระสุดท้ายก็อยากส่งสัตว์เลี้ยงไปสู่สุคติเสมือนบอกลาคนในครอบครัว ประกอบกับเทรนด์รักษ์โลก ที่ทำให้คนตื่นตัวแม้แต่เรื่องการตาย ที่ไม่ใช่แค่การเผาศพหรือฝังศพเฉยๆ อีกต่อไป แต่ต้องไม่เมินเฉยเรื่องผลกระทบต่อโลก และสร้างประโยชน์อย่างที่มลตั้งใจไว้