ผึ้งพาอาศัย

‘น้ำผึ้งของปารีส’ จุดเริ่มต้นบนชั้น 7 โรงละครโอเปร่า สู่การเลี้ยงผึ้งบนหลังคาทั่วปารีส 

หากเรามองทะลุไปถึงหลังคาหรือดาดฟ้าของตึกสำคัญๆ ในปารีส ไม่ว่าจะมหาวิหารนอเทรอดาม พิพิธภัณฑ์ออแซร์ (Musée d’Orsay) โรงละครโอเปร่า กระทั่งบนหลังคาอพาร์ตเมนต์ เชื่อไหมว่าบนพื้นที่นั้นอาจมีกล่องเลี้ยงผึ้งตั้งอยู่ 

ใครจะไปคิดว่าเมืองหลวงของฝรั่งเศสอย่างปารีสมีการเลี้ยงผึ้งกันอย่างจริงจัง ทั้งยังเป็นการเลี้ยงผึ้งที่แทรกไปกับพื้นที่เมืองที่ผู้คนอาศัยอยู่ ปัจจุบันมีรายงานตัวเลขรังผึ้งที่ขึ้นทะเบียนหลักร้อยรัง บางรายงานระบุว่าปารีสมีรังผึ้งเลี้ยงมากถึง 700 รัง แถมความจริงจังในการเลี้ยงผึ้งของชาวปารีสยังทำให้มี ‘น้ำผึ้งของปารีส’ ที่ซื้อหาได้ในร้านค้าหรือร้านอาหารแนวหน้า ไปจนถึงในร้านค้าของพิพิธภัณฑ์ที่มีผึ้งเลี้ยงของตัวเอง–กระซิบว่าน้ำผึ้งปารีสเป็นอีกหนึ่งน้ำผึ้งราคาสูงชนิดหนึ่ง 

กิจการเลี้ยงผึ้ง หรือโลกของผึ้งซึ่งซ้อนอยู่อย่างเงียบงันและไม่น่าเชื่อของปารีสสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของสวนและพืชพรรณ รสและกลิ่นของน้ำผึ้งปารีสอบอวลไปด้วยประวัติศาสตร์และภูมิทัศน์ สวนสำคัญที่มีทั้งดอกไม้และพืชผลที่บานสลับกันทำให้น้ำผึ้งของเมืองสดใหม่ ทั้งกลายเป็นว่าสภาพของเมืองปารีสกลับดีกับผึ้งเป็นพิเศษ การเลี้ยงผึ้งนอกจากจะเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นแล้ว การมีอยู่ของกิจการและน้ำผึ้งเมืองไม่ใช่แค่การผลิตน้ำผึ้ง แต่คือความพยายามในการรักษาและทำให้เมืองเป็นมิตรกับผึ้ง 

คำถามคือแล้วปารีสเริ่มเลี้ยงผึ้งกันอีท่าไหน? ทรัพย์คัลเจอร์ตอนนี้มีคำตอบ

ผึ้งเมือง กับการอพยพย้ายถิ่น 

ประเด็นเรื่องผึ้งของเมือง เกี่ยวกับข่าวสำคัญที่ล่าสุดมหาวิหารนอเทรอดามน์ ซ่อมเสร็จและเตรียมเปิดสู่สาธารณชนในต้นเดือนธันวาคม 2024 

ย้อนกลับไปในวันที่ไฟไหม้ มีข่าวแปลกประหลาดว่า ‘ผึ้งที่มหาวิหารปลอดภัยจากไฟและควันอย่างมหัศจรรย์’ ทั้งยังพบว่าผึ้งบนมหาวิหารเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเลี้ยงผึ้งที่ผู้เลี้ยงผึ้งนำไปฝากไว้บนหลังคาในอาคารสำคัญของโลก เป็นหนึ่งในกลุ่มรังผึ้งที่กระจายตัวอยู่ทั่วเมืองปารีส 

ที่จริงการเลี้ยงผึ้งของปารีส เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมเก่าแก่ที่แทรกอยู่ในเมือง อยู่ในสวนสำคัญ และอยู่คู่กับคนปารีสตั้งแต่ยุคอพยพเข้าเมือง ร่องรอยอย่างเป็นทางการที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีหลักฐานคือปี 1856 ได้มีการตั้งสมาคมเลี้ยงผึ้งกลาง (Société Centrale d’Apiculture) ขึ้นที่สวน Jardin Du Luxembourg สมาคมเป็นทั้งการรวมตัวและเป็นโรงเรียนสอนการเลี้ยงผึ้งซึ่งโรงเรียนจากร้อยปีก่อนยังดำเนินกิจการมาจนถึงทุกวันนี้ 

นอกจากโรงเรียนเลี้ยงผึ้งแล้ว ในช่วงที่ปารีสขยายตัว ผู้คนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานหางานทำในศตวรรษที่ 19 บางส่วนก็พาเอารังผึ้งจากพื้นที่ชนบทเข้ามาอยู่ในเมืองด้วย การพารังผึ้งเข้ามาอยู่ในเมืองปารีสไม่ใช่กิจกรรมที่ทำกันน้อยๆ มีการประเมินว่าช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 บนหลังคาของเมืองปารีสมีรังผึ้งกว่า 1,000 รัง ก่อนรังผึ้งที่อยู่คู่เมืองจะหายไปในช่วงสงคราม

ผึ้งในโรงละคร เทรนด์การเลี้ยงสัตว์ในที่ทำงานที่มาก่อนกาล

หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 การกลับมาของกระแสการเลี้ยงผึ้งเริ่มจากชายหนุ่มที่ชื่อว่า Jean Paucton ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ช่วงนั้นคุณฌอง ผู้ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายพร็อพของโรงโอเปร่าได้ไปเรียนเลี้ยงผึ้งกับสมาคมเลี้ยงผึ้งของปารีสซึ่งอยู่คู่ปารีสมาอย่างยาวนาน 

หลังร่ำเรียนมา แกสั่งรังผึ้งมาเลี้ยงเอง ช่วงหนึ่งได้เอาผึ้งไปเลี้ยงไว้ที่ระเบียงอพาร์ตเมนต์แต่เพื่อนบ้านไม่สบายใจ Jean Paucton จึงตั้งใจว่าจะเอากลับไปเลี้ยงที่บ้านนอกทางตอนเหนือ รังผึ้งถูกส่งจากสมาคมมาที่โรงละครโอเปร่าเพื่อเตรียมย้าย 

แต่จุดที่ผึ้งมาที่โรงละครคือจุดเปลี่ยนสำคัญ

พนักงานดับเพลิงซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานของแกที่โรงละครเห็นผึ้งที่ถูกห่อไว้และเตรียมขนย้ายของคุณฌอง เพื่อนร่วมงานคนนั้นจึงแชร์กับ Jean ว่าตัวแกเองก็เลี้ยงปลาเทราต์ไว้ในถังน้ำของถังเก็บน้ำใต้อาคารเหมือนกัน งั้นทำไมไม่เอารังผึ้งไปเลี้ยงบนหลังคาชั้นที่ 7 ด้านหลังของโรงละครล่ะ–เรียกว่าเป็นกระแสการนำสัตว์เลี้ยงมาฮีลใจกันตั้งแต่หลายสิบปีก่อน

โชคชะตาที่เล่นตลกซ้ำคือนอกจากจะมีคนแอบเลี้ยงสัตว์ถึงสองคน สองประเภทแล้ว คุณฌอง นักเลี้ยงผึ้ง ดันมีเพื่อนของเพื่อนชื่อ Yann Arthus-Bertrand เดินทางมาถ่ายรูปแกกับรังผึ้งของแก ภายหลังแกถึงพบว่าช่างภาพคนนั้นเป็นช่างภาพชื่อดังและเอาภาพรังผึ้งในโรงละครไปตีพิมพ์ในนิตยสาร Paris Match ซึ่งดังมากๆ

แทนที่จะโดนบทลงโทษ โทษฐานแอบเลี้ยงสัตว์ ชาวปารีสกลับเกิดความฉงนว่า เมืองใหญ่อย่างบ้านเราเลี้ยงผึ้งได้ด้วยหรือ ทั้งยังเกิดกระแสกลับมาเลี้ยงผึ้งกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะอีกครั้ง ส่วนคุณฌองในฐานะเจ้าของรังผึ้งแรกก็เป็นที่รู้จัก กลายเป็นผู้เลี้ยงผึ้งอาชีพ ตัวผึ้ง และน้ำผึ้งของโรงละครกลายเป็นสินค้าของฝากขายคู่กับของที่ระลึกอื่นๆ ภายหลังคุณฌองยังร่วมมือกับ Nicolas Geant ก่อเกิดเป็นธุรกิจเลี้ยงผึ้งและผู้ผลิตน้ำผึ้งเมืองปารีส 

หลังจากที่การเลี้ยงผึ้งเริ่มบูมก็เริ่มมีการเสนอความร่วมมือกับอาคารสำคัญๆ เช่น ขอตั้งจุดเลี้ยงผึ้งที่อาคาร Grand Palais สุดยอดอาคารโดมกระจกที่เป็นตัวแทนของฝรั่งเศสสมัยใหม่ ไปจนถึงวิหารนอเทรอดามน์ กลุ่มเกษตรกรเริ่มรวมตัวกัน มีการสนับสนุนการเลี้ยงผึ้ง เพื่อจำหน่าย ผลักดันทั้งในแง่ผลิตผลทางการเกษตร และการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม เป็นกิจกรรมพิเศษที่โรแมนติก

อย่างรังผึ้งและน้ำผึ้งที่อาคาร Grand Palais จะติดตรา Grand Palais Honey การเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งครั้งแรกมีการถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์ นึกภาพร้านค้าของเหล่าพิพิธภัณฑ์ อาคารต่างๆ ที่มีน้ำผึ้งของตัวเอง อธิบายว่าสวนซึ่งเป็นมรดกสำคัญทั้งของอาคาร ของย่าน และของเมืองอุดมไปด้วยดอกไม้และไม้ผลอะไร น้ำผึ้งที่พิเศษจริงๆ มีราคาค่อนข้างสูงจึงเป็นอีกหนึ่งสุดยอดของที่ระลึก 

พิพิธภัณฑ์และอาคารสำคัญที่ร่วมมือเลี้ยงผึ้งกับเกษตรกร มักถือว่ามีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ผึ้ง ทั้งยังได้สินค้าและความสนใจพิเศษจากผลผลิตน้ำผึ้งของตัวเอง ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่อาคารและหน่วยงานสำคัญร่วมผลักดันคือการปรับเปลี่ยนเมืองที่เป็นมิตรและการอนุรักษ์ผึ้งในพื้นที่เมืองของมนุษย์

ตัวอย่างสำคัญเช่นการเริ่มกลับมาสร้างกระแสการเลี้ยงผึ้งของ Jean Paucton และ Nicolas Géant เล่าย้อนว่าในช่วงแรกพอเกิดกระแส ผู้คนก็เอารังผึ้งจากชนบทเข้ามาเลี้ยงกันในเมือง ก่อนจะพบว่าผึ้งในเมืองนั้นมักจะตายไปราว 30% 

แต่กระแสการเลี้ยงผึ้งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน สิบปีให้หลัง ปารีสกลายเป็นเมืองที่แบนการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงในพื้นที่ธรรมชาติและพื้นที่สวนของเมือง

ผึ้งเมืองที่เฟื่องฟู

ความเข้าใจทั่วไปของเราคือผึ้งไม่น่าเติบโตในเมืองได้ดี แต่สิ่งมหัศจรรย์คือคุณฌองบอกว่ากรุงปารีสกลับเป็นเมืองที่เหมาะกับผึ้งมาก 

เขาให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ‘อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอยู่ที่ 13 องศา และปารีสมีสวนที่ดีมากมายเช่น สวนตุยเลอรี (Tuileries), สวนลุกซ็องบูร์ (Luxembourg Garden), อ่างเก็บน้ำบาสแซ็ง เดอ ลา วิแยตต์ (Bassin de la Villette)’ รวมถึงไม้ยืนต้นที่ทั้งให้ดอกและผลอีกมากมาย 

ความเข้าใจอีกข้อคือประชากรผึ้งค่อนข้างมีอยู่อย่างหนาแน่นในเขตเมือง เนื่องด้วยดอกไม้ในพื้นที่ชนบทมักมีแนวโน้มปนเปื้อนจากสารเคมีทั้งยาฆ่าแมลงและสารฆ่าเชื้อราและสัตว์รำคาญอื่นๆ เกษตรกรเลี้ยงผึ้งในชนบทอาจได้น้ำผึ้งราว 10-15 กิโลกรัม ส่วนการเก็บผลผลิตของผึ้งในเมืองอาจเก็บได้มากถึง 50 กิโลกรัม สูงกว่าถึง 3-4 เท่า

ในทำนองเดียวกัน ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ Mile Factory บริษัทและร้านน้ำผึ้งสำคัญ ระบุในลักษณะเดียวกันว่าด้วยพืช ดอกไม้ สวน และพื้นที่สีเขียวที่หลากหลายและกระจายตัว รวมถึงการเป็นเขตเมืองปลอดสารฆ่าแมลง ภูมิอากาศเมืองปารีสยังทำให้ดอกไม้ในเมืองมีแนวโน้มบานยาวนานกว่า ด้วยเงื่อนไขทั้งหมดนี้ทำให้ผึ้งในเมืองมีชีวิตที่ปลอดภัย หาอาหารและผลิตน้ำผึ้งได้มากกว่า ทางบริษัทระบุว่าผึ้งในเมืองให้น้ำผึ้งมากกว่าราว 3-5 เท่า

จากการค้นพบว่าปารีสก็เลี้ยงผึ้งได้ กลายเป็นว่าร้านอาหารหรูๆ ในปารีสยังเสิร์ฟน้ำผึ้งราคาแพงที่อัดแน่นด้วยเรื่องราวของเมือง ร้านค้าของที่ระลึกก็ชวนให้เราเก็บเอาน้ำผึ้งซึ่งถือเป็นผลผลิตจากบางส่วนของสวน ที่เหล่าผึ้งเก็บน้ำหวานมา

ในที่สุด กิจกรรมการเลี้ยงผึ้งของเมืองพาเราไปมองเห็นประวัติศาสตร์การก่อตัวของผู้คนในปารีส ที่มองเห็นความสำคัญของสวน มองเห็นเงื่อนไขและการมีชีวิตของเหล่าผึ้งซึ่งสำคัญและสัมพันธ์กับเมืองเท่าๆ กับเรา นำไปสู่การอนุรักษ์ ปรับเปลี่ยนเมืองให้ดีกับทุกสิ่งมีชีวิต

อ้างอิง 

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

ชื่อกล้วยค่ะ banana blah blah เป็นนักวาด บางวันจับเม้าส์ปากกา บางวันจับลูกกลิ้งทำภาพพิมพ์ สนใจ Art therapy และการวาดภาพเพื่อ Healing เชื่อว่าการทำงานที่ดีต้องทำให้เราอิ่มทั้งกายและใจ ได้มองเห็นตัวเองเติบโตภายใน

You Might Also Like