นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

ความลับของสายลม

‘Air Jordan’ ความมหัศจรรย์ของนักบาสคนหนึ่งและรองเท้าคู่หนึ่งที่เปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบ

นี่ ได้ยินไหม? อ้าว ไม่ได้ยินอะไรงั้นเหรอ

ลองตั้งใจเงี่ยหูฟังใหม่อีกทีสิ พอจะได้ยินไหมว่าสายลมนั้นกำลังกระซิบบอกเรื่องราวของมันให้เราได้ยิน

เรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว และยังคงล่องลอยในสายลมจนถึงวันนี้

เรื่องราวมหัศจรรย์ของนักบาสเกตบอลคนหนึ่ง รองเท้าคู่หนึ่ง ที่เปลี่ยนแปลงโลกได้ทั้งใบ

1.

ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 เวลานั้น Nike ยังไม่ได้เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการกีฬาเหมือนเช่นในวันนี้ 

พวกเขาไม่ได้เป็นเบอร์หนึ่งและไม่ได้ครองแม้แต่เบอร์ 2 ด้วย เพราะเบอร์หนึ่งของวงการในเวลานั้นคือ adidas ยักษ์ตัวพ่อที่ถือแก้วเบียร์ไม่ห่างมือจากเยอรมนี ขณะที่เบอร์ 2 ของวงการคือรองเท้าตราดาว Converse 

Nike บริษัทเครื่องกีฬาที่เริ่มต้นจากการรับสินค้าญี่ปุ่น Onitsuka มาวางขายก่อนจะเริ่มคิดทำรองเท้ากีฬาของตัวเองในชื่อ ‘Blue Ribbon’ (เรียกให้น่ารักก็อาจจะเป็นโบว์รักสีน้ำเงิน) เริ่มประสบปัญหาใหญ่ทางการเงินหลังเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ พวกเขาพบว่าพวกเขายังโตไม่พอ เท่ไม่พอ และดีไม่พอที่จะเป็นเบอร์ต้นของวงการ

ในวงการวิ่งรองเท้าจากสารพันไอเดียของบิล โบเวอร์แมน (หนึ่งในตำนานคือ Waffle รองเท้าที่ปิ๊งไอเดียจากเครื่องทำขนมวาฟเฟิล) ถือว่าพอจะตีตลาดได้บ้างแล้ว แต่ฟิล ไนต์ เชื่อว่าทางรอดที่แท้จริงในตอนนั้นคือการเจาะเข้าตลาดรองเท้าบาสเกตบอลให้ได้ ซึ่งเวลานั้น adidas และ Converse เป็นผู้นำของวงการอยู่

พวกเขาต้องการใครสักคนที่จะมาใส่รองเท้าสักคู่ของ Nike ให้เฉิดฉายอยู่ในสนาม

คำถามชวนปวดหัวคือแล้วใครควรจะเป็นคนนั้นกัน?

คำตอบจากสายลมคือ “ไปถามซอนนี วัคคาโร ดูสิ”

2.

จอห์น พอล วินเซนต์ ‘ซอนนี’ วัคคาโร ไม่ได้เป็นผู้บริหารระดับสูงอะไรในสำนักงานที่ออริกอนของ Nike ความจริงเขามีหน้าที่เป็นเพียงแค่ ‘เซลส์แมน’ คนหนึ่งที่มีหน้าที่ในการตระเวนหาแหล่งปล่อยสินค้าให้ได้มากที่สุดเท่านั้น

แต่เพราะเซลส์แมนคนนี้เองที่นอกจากจะกลายเป็น ‘The Man Who Saved Nike’ แล้วยังเป็นคนที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมรองเท้าสนีกเกอร์ทั่วทุกมุมโลกด้วย 

วัคคาโรเพิ่งจะเข้ามาทำงานกับ Nike ได้ไม่นานในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ซึ่งขณะนั้นพวกเขายังไม่ได้เป็นบริษัทใหญ่โตอะไร ยอดขายทั้งปีมีเพียงแค่ 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น และว่ากันตามตรงสถานการณ์ของ Nike เองก็กำลังมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ลูกผีลูกคนอยู่

มาถึงปี 1984 สิ่งที่ผู้บริหารในระดับสูงของ Nike คิดว่าทางรอดของพวกเขาคือการเจาะตลาดบาสเกตบอลที่เป็นอีกฐานใหญ่ให้ได้ แต่การจะตีตลาดนี้ให้แตกนั้นเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่ายากเพราะคู่แข่งอย่าง adidas และ Converse นั้นรันวงการมานานพอสมควร และจับนักกีฬาดังมากมายเซ็นสัญญาใส่รองเท้าของพวกเขาลงสนาม

Nike ก็อยากมีแผนแบบนั้นเหมือนกัน แต่ด้วยสถานะอันเดอร์ด็อก สุนัขจนตรอกแบบพวกเขาไม่มีสตาร์ที่ไหนมอง ทำให้เกิดไอเดียในการกระจายความเสี่ยงด้วยการเซ็นสัญญากับผู้เล่นอาชีพที่อาจจะไม่ถึงระดับสตาร์หลายๆ คนแทน โดยใช้งบประมาณแต่ละคนไม่มากสำหรับการ endorse สินค้า

ตรงนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องเล่าสุดคลาสสิก

วัคคาโร–ซึ่งเคยอยู่ในวงการบาสเกตบอลในฐานะผู้จัดการแข่งขัน มีเครือข่ายคอนเนกชั่น และยังใช้เวลาว่างในการติดตามเฝ้าชมการแข่งขันในระดับนักเรียน-นักศึกษา–ได้รับมอบหมายงานอีกอย่างในการตามหานักกีฬาที่เหมาะสมจะเป็นหน้าตาของแบรนด์ 

แล้วเขาก็คิดถึงเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ได้ดูในการแข่งขันรายการชิงแชมป์รายการ NCAA ในระดับอุดมศึกษาเมื่อปี 1982 ไอ้หนุ่มที่ชู้ต 3 คะแนนในช่วงนาทีชี้เป็นชี้ตายของเกมคนนั้น

ไมเคิล จอร์แดน 

จอร์แดนในขณะนั้นอายุแค่ 19 ปี เป็นนักศึกษาปี 3 ของมหาวิทยาลัยแคโรไลนา แต่ก็เริ่มฉายแววโดดเด่น มีหลายทีมที่จับจ้องอยู่ และเจ้าตัวเองยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมการดราฟต์​ (ระบบการคัดเลือกเข้าทีมหรือแฟรนไชส์ในภาษากีฬาอเมริกันเกมส์) 

และไม่ใช่แค่ทีมบาสด้วยที่จ้องจะคว้าตัว แบรนด์ใหญ่อย่าง adidas และ Converse เองก็เลียบๆ เคียงๆ ถามไถ่อยู่เหมือนกัน

พ่อเซลส์แมนรู้ว่าถ้า Nike อยากจะได้ตัวจอร์แดน พวกเขาต้องรีบทำอะไรสักอย่าง

และมันต้องเป็นอะไรสักอย่างที่สุดยอดตลอดกาลเท่านั้นด้วย!

ตามพงศาวดารวงการยัดห่วงเล่าว่า วัคคาโรพยายามคัดค้านแผนเดิมในการหว่านงบไปกับนักบาสเกตบอลหลายๆ คน แต่ขอให้เอางบประมาณทั้งหมดมาทุ่มให้กับนักกีฬาดาวรุ่งที่ยังไม่ทันได้แจ้งเกิดในวงการเลยอย่างจอร์แดนแทน

ลองจินตนาการตามดูนะครับว่ามันเป็นเรื่องบ้าบอคอแตกขนาดไหน ที่บริษัทซึ่งมีงบจำกัดจำเขี่ย จะเสี่ยงเอาเงินมหาศาลเพื่อทุ่มให้นักกีฬาที่ยังไม่รู้เลยว่าจะเก่ง จะโด่งดังจริงหรือเปล่า ต่อให้จะมีชื่อเสียงในระดับอุดมศึกษาว่ามีโอกาสจะเป็นซูเปอร์สตาร์คนใหม่ของวงการ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องทุ่มหมดหน้าตักไปกับเรื่องนี้

แต่วัคคาโรคิดว่านี่แหละคือสิ่งที่ Nike ควรทำ พวกเขาต้องทุ่มหมดตัวเท่านั้นหากต้องการเป็นผู้ชนะในดีลนี้

ในด้านหนึ่งเขาต้องพยายามกล่อมผู้บริหารระดับสูงทุกคน โดยเฉพาะบอสใหญ่อย่างฟิล ไนต์ ให้เห็นด้วยกับแผนสุดบ้าบอนี้ ซึ่งแม้จะแทบตายแต่ก็ทำได้สำเร็จ

ทว่าอีกด้านที่ยากกว่าคือเขาจะทำยังไงถึงจะสามารถเอาชนะใจของจอร์แดนได้

ปัญหาใหญ่ในเวลานั้นมีอยู่ว่า จอร์แดนเซ็นสัญญาเป็นนักกีฬาของ Converse มาก่อนแล้ว โดยใส่รองเท้ารุ่น Chuck Taylor (ซึ่งก็เป็นตำนานของวงการ NBA ในรุ่นก่อน) ในการลงแข่งระดับ NCAA

แต่ลึกๆ ในใจแล้วจอร์แดนเป็นสาวกตัวยงของ adidas ใส่รองเท้าของแบรนด์เยอรมันทั้งในเวลาซ้อมและในชีวิตประจำวันด้วย ถ้าคิดจะดึงตัวมาเข้าสังกัดอีกคนก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะยากเกินไปนักสำหรับพวกเขา

ดังนั้น Nike จะทำอะไรก็ต้องรีบทำแล้ว

โชคดีที่การเจรจากับ adidas กับจอร์แดนมีความชะงักงันอยู่บ้างเนื่องจากแบรนด์คิดว่าการเซ็นสัญญากับว่าที่รุกกี้คนนี้ที่แบรนด์ยังไม่เชื่อมั่นหรือคิดว่าเป็นการเลือกนักกีฬาที่จำเป็นนัก

มันจึงเป็นโอกาสสำหรับวัคคาโรที่ใช้ทุกวิถีทางเพื่อจะกล่อมจอร์แดนให้มาใส่รองเท้าของ Nike ให้ได้

การพบกันครั้งแรกของทั้งสองคนเกิดขึ้นที่ภัตตาคารเล็กๆ แห่งหนึ่งซึ่งวัคคาโร มาพร้อมกับแผนการตลาดที่เตรียมไว้ให้เป็นพิเศษ ด้วยข้อเสนอที่ไม่มีใครกล้าจะให้จอร์แดนมากขนาดนี้แน่นอกจาก Nike

ข้อเสนอนั้นไม่ใช่แค่เรื่องเงินจำนวนมหาศาลถึง 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในสัญญาระยะเวลา 5 ปี ซึ่งเป็นจำนวนเงินค่าสปอนเซอร์นักกีฬาที่มากที่สุดในเวลานั้น เพราะสมัยปี 1984 นั้นไม่มีนักกีฬาคนไหนที่ได้เงินค่าสปอนเซอร์เกินกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งจอร์แดนได้มากกว่าถึง 5 เท่า!

นอกจากนี้วัคคาโรยังตบด้วยท่าไม้ตาย ด้วยการบอกว่า Nike จะเปิดไลน์สินค้าเฉพาะของจอร์แดนให้ด้วย โดยเฉพาะรองเท้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

แต่จอร์แดนฟังข้อเสนอแบบผ่านๆ ตัวเขาอาจจะอยู่ตรงนั้น แต่ใจเขาลอยไปไหนไม่รู้

เรื่องนี้ไม่ได้เกินความคาดหมายของวัคคาโร เขาอ่านเรื่องนี้เอาไว้อยู่แล้วหลังจากที่ได้พูดคุยกัน คีย์เวิร์ดสำคัญที่เขาล้วงออกมาได้จากจอร์แดนคือคำตอบของคำถามที่ว่า “ไอ้หนู เธอสนิทกับใครที่สุด” ซึ่งแทนที่คำตอบจะเป็นโค้ชของทีมมหาวิทยาลัย สิ่งที่จอร์แดนตอบคือ “ครอบครัว”

วัคคาโรรู้ว่าคนที่จะช่วยเขาได้คือพ่อและแม่ของจอร์แดนนั่นเอง และนั่นทำให้เขาไปค้นหาเบอร์โทรศัพท์บ้านของไอ้หนุ่มอายุ 19 ปีคนนี้ในสมุดหน้าเหลือง เมื่อได้มาแล้วก็พยายามโทรไปพูดคุยเกลี้ยกล่อมด้วยสกิลสาลิกาลิ้นทองฉบับยอดเซลส์แมน

การกล่อมของวัคคาโร ทำให้พ่อกับแม่ของเขาเริ่มเคลิ้มตามข้อเสนอและคิดว่านี่เป็นข้อเสนอที่ดีเกินกว่าจะปฏิเสธได้ เพราะมองว่าตอนนั้น Nike ยังไม่ได้เป็นแบรนด์ใหญ่ โอกาสที่จอร์แดนจะได้กลายเป็น ‘someone’ ของแบรนด์สูงมาก ดีกว่าเป็นแค่ ‘another one’ ของแบรนด์ใหญ่ ดังนั้นเมื่อถูกนัดเพื่อประชุมร่วมกับผู้บริหารที่ขอนำเสนออย่างเป็นทางการอีกครั้งแล้วจอร์แดนไม่อยากไป สิ่งที่พวกเขาขอเพิ่มมีเพียงเงื่อนไขที่ก็ไม่เคยมีใครทำมาก่อนเหมือนกันอย่างการขอเงินส่วนแบ่งจากการขายรองเท้าทุกคู่ 25%

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณแม่เดอโลริส จอร์แดน ผู้ที่วัคคาโรบอกว่า “ผมสัมผัสได้ว่านี่แหละคนบงการตัวจริง ถ้าจับเขาได้ ทุกอย่างก็จะง่าย” พยายามกดดันให้ลูกชายที่ไม่เคยมอง Nike อยู่ในสายตาเลยไปเจอกับทีมผู้บริหารและฝ่ายการตลาดของ Nike ให้ได้

“ไปก่อนเถอะลูก เดี๋ยวค่อยว่ากัน”

สุดท้ายเมื่อไปถึงที่แล้ว ไม่มีทางที่ Nike จะยอมปล่อยให้จอร์แดนกลับบ้านไปโดยไม่ได้เซ็นชื่อในกระดาษสัญญาแน่นอน

สุดท้ายด้วยความพยายามของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคคาโร ที่แม้จะไม่ได้อยู่ในห้องประชุมใหญ่เวลานั้นด้วย แต่ด้วยวิสัยทัศน์ คำแนะนำ และความพยายามแบบ Never give up ของเขา ทำให้การเซ็นสัญญาระหว่างจอร์แดนกับ Nike เกิดขึ้นจนได้

โดยที่ไม่มีใครสักคนในเวลานั้นที่รู้ว่า มันจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของโลกบาสเกตบอล โลกกีฬา และโลกสนีกเกอร์ในเวลาต่อมา

3.

แต่ไม่ใช่ว่าแค่ตัดสินใจทุ่มเงินได้ตัวจอร์แดนมาแล้วทุกอย่างจะจบ

สิ่งที่มีความสำคัญไม่ได้น้อยไปกว่ากันคือเรื่องของที่จะขาย เพราะต่อให้ endorser ดีแต่ถ้าโปรดักต์ไม่ดีก็เท่านั้น ดังนั้นงานต่อไปของ Nike คือการทำตามคำมั่นที่ได้ให้ไว้กับจอร์แดนว่ารองเท้าที่ออกแบบมาเพื่อเขานั้นจะถูกใจชาวโลกด้วย

เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของปีเตอร์ มัวร์ ครีเอทีฟไดเรกเตอร์คนแรกของ Nike ที่ได้รับมอบหมายในการออกแบบรองเท้าสำหรับจอร์แดน ซึ่งในมุมของนักกีฬาที่ลงสนามเขาอยากได้รองเท้าที่มีคุณสมบัติบางอย่าง เช่น พื้นไม่สูงมากเพื่อให้สัมผัสได้ถึงพื้นสนามในเวลาลงเล่น

ในมุมของการออกแบบผลิตภัณฑ์ มัวร์หยิบเอาเทคโนโลยีการออกแบบของ Nike ใส่เข้าไป

แต่การออกแบบที่ทำให้รองเท้ารุ่นนี้กลายเป็นรองเท้าอมตะตลอดกาลกลับเป็นเรื่องของ ‘สี’

มัวร์ตีโจทย์ว่าเขาอยากจะ ‘ทลายกำแพงเรื่องสีรองเท้า’ ด้วยการเลือกสีให้รองเท้าของจอร์แดน เป็นสีดำ แดง และขาว ซึ่งก็ไม่ได้มาจากอะไรที่ไหน แต่เป็นสีประจำทีมของชิคาโก บูลส์ ที่ดราฟต์ตัวจอร์แดนมาร่วมทีมได้สำเร็จนั่นเอง 

ขณะที่ชื่อของรองเท้ารุ่นนี้นั้น ตามตำนานเล่าว่า เดวิด ฟอล์ก ซึ่งทำหน้าที่เป็นนายหน้านักกีฬาของจอร์แดนในเวลานั้นได้เสนอชื่อว่า ‘Air Jordan’ ซึ่งมาจากท่วงท่าการเหินหาวของจอร์แดนในเวลาจะเล่นลูกดังก์ (dunk–การกระโดดขึ้นไปเอาบอลยัดห่วง ซึ่งเป็นลีลาการทำแต้มที่เร้าใจที่สุดของบาสเกตบอล) 

สีสุดฉูดฉาดนี้ทำให้รองเท้านั้นแตกต่างจากรองเท้าบาสเกตบอลทั่วไปในตลาดทันที เพราะในยุคนั้นรองเท้ากีฬาจะมีเพียงแค่สีขาวหรือสีดำเท่านั้น และตามกฎเครื่องแต่งกายนักกีฬาของ NBA มีข้อบังคับที่เรียกว่า ‘Unify of the uniform’ ซึ่งระบุว่ารองเท้าจะต้องเป็นสีขาว สีดำ คิดเป็น 51% (ไม่รู้วัดยังไงเหมือนกัน) ส่วนที่เหลือให้เป็นสีของทีม

จริงๆ แล้วจอร์แดนเองก็ไม่ปลื้มกับสีดำ แดง และขาวของรองเท้าเลย เขามองว่าสีเหล่านี้เป็นสีของปีศาจ ถ้าเลือกได้อยากใช้สีฟ้าของนอร์ทแคโรไลนา ทีมมหาวิทยาลัยของเขามากกว่า และหนักกว่านั้นมันยังเป็นสีที่ถูกคำสั่งห้ามใช้ลงทำการแข่งขันด้วยเพราะผิดกฎ

ถ้ายังฝืนใส่จะโดนลงโทษปรับเงินนัดละ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ!

แต่ตรงนี้เองที่กลายเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญ เพราะรองเท้าที่ผิดกฎคู่นี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากทุกคน ซึ่งมาจากทั้งเรื่องของสีสันการออกแบบที่สะดุดตา แปลก แหวกแนว และอีกส่วนคือฝีไม้ลายมือของจอร์แดนที่เก่งกาจเกินวัย

ความสนใจนั้นถึงขั้นทำให้เรื่องรองเท้าคู่นี้กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ ใครๆ ก็เมาท์กัน (ถ้าเกิดในเมืองไทยยุคนี้คงได้มีออกรายการโหนกระแส เจอกับพี่หน่วงบ้าง) 

ถ้าเป็นแบรนด์อื่นบางทีอาจจะยอมเปลี่ยนให้จอร์แดนใส่รองเท้าปกติแทนไปแล้ว แต่ Nike กลับมองว่านี่คือโอกาสทองในการโปรโมตรองเท้าแบบฟรีๆ ยิ่งจอร์แดนใส่ลงสนามเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นที่ถูกจับจ้องมากขึ้นเท่านั้น เงินค่าปรับ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐนั้นถือว่าถูกเหมือนได้เปล่า

นับว่าเป็นสุดยอดกลยุทธ์การตลาดเหนือเมฆที่เป็นมาสเตอร์พีซของ Nike ในเวลานั้นเลยในการคิดนอกกรอบ 

เมื่อบวกกับผลงานสุดยอดของจอร์แดน ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในฤดูกาลแรกของการน้องใหม่​ (rookie) ใน NBA ถึงขั้นคว้ารางวัล Rookie of the Year มาครองได้ โดยทำแต้มเฉลี่ยถึง 28.2 คะแนนต่อเกม

รองเท้า “Air Jordan 1” ซึ่งออกวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการครั้งแรกในเดือนมีนาคม 1985 ด้วยรองเท้า 2 แบบคือสีดำ แดง ขาว (The Game Shoe) และสีดำ-แดง (The Outlaw) ในสนนราคาคู่ละ 65 ดอลลาร์สหรัฐ สามารถทำยอดขายในปีแรกได้ถึง 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นตัวเลขมหัศจรรย์ที่เกินกว่าที่ทุกคนคาดคิดเอาไว้มาก เพราะตอนแรก Nike ประเมินยอดขายเอาไว้แค่ 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับ 5 ปีแรกเท่านั้น

และรองเท้า Air Jordan 1 สีดำ/แดง ซึ่งถูกเรียกขานกันว่ารุ่น ‘Banned’ (หรือ ‘Bred’ ซึ่งย่อมาจาก Black & Red) ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานตลอดกาล

4.

จากวันนั้นถึงวันนี้เวลาผ่านมา 40 ปีแล้ว แต่ Air Jordan ยังคงเป็นรองเท้ากีฬาที่ขายดีที่สุดตลอดกาล มีการออกแบบรุ่นใหม่ต่อเนื่องทุกปี และมีการผลิตซ้ำรองเท้าสีในตำนานออกมาเรื่อยๆ เป็นระยะเพื่อให้แฟนๆ ได้ตามสะสมกัน

โดยสิ่งที่ทำให้รองเท้าบาสเกตบอลรุ่นนี้ประสบความสำเร็จนั้น เพราะมันคือรองเท้ากีฬาที่ไม่ใช่รองเท้ากีฬา

ภาพลักษณ์ความขบถที่มีอยู่ในตัวของรองเท้านั้นทำให้รองเท้านี้ไปไกลกว่าแค่คนที่เล่นบาสเกตบอลเท่านั้น Air Jordan กลายเป็นรองเท้าที่ทุกคนใส่ได้ด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจ เพราะมันเท่ด้วยความหมายที่ซ่อนอยู่ในตัวของมันเอง

ดังนั้นรองเท้า Air Jordan จึงไม่ได้อยู่แค่ในสนามบาสเกตบอล แต่ไปปรากฏทุกที่ไม่ว่าจะเป็นตามถนนหนทาง ในการแสดงคอนเสิร์ต งานแสดงศิลปะ และไม่ได้จำกัดวงแค่สหรัฐอเมริกา แต่ความนิยมลุกลามไปทั่วทุกพื้นที่ของโลก และทำให้เกิดวัฒนธรรมรองเท้าสนีกเกอร์ขึ้นมา 

จากอเมริกา สู่ยุโรป สู่เอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งเปิดประตูหัวใจต้อนรับรองเท้า Air Jordan ที่กลายเป็น sub-culture ที่สำคัญที่ต่อมาพัฒนากลายเป็นวัฒนธรรมในแบบของตัวเองที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน (ถ้าใครเคยดูการ์ตูนเรื่อง Slam Dunk น่าจะจำฉากที่ตัวเอกซากุรางิไปร้านรองเท้าแล้วเจ้าของรองเท้าแสดงความปลาบปลื้มกับ Air Jordan ‘Bred’ สุดๆ)

เรียกได้ว่าผลงานการออกแบบของปีเตอร์ มัวร์ ทำได้เกินกว่าความตั้งใจที่อยากให้รองเท้ารุ่นนี้ใครใส่ก็ได้ไม่ว่าจะรักหรือไม่รักบาสเกตบอลก็ไม่เป็นไร

ถ้ารักความอิสระ ถ้ามีความขบถ มีความกล้าหาญที่จะเป็นตัวของตัวเอง Air Jordan คือรองเท้าแห่งแรงบันดาลใจที่คุณควรหามาใส่

ไม่มีรองเท้ากีฬารุ่นไหนในโลกอีกเลยที่จะสร้างปรากฏการณ์ได้ในระดับ 3 โลกคือ โลกกีฬา โลกการตลาด และโลกสนีกเกอร์ โดยที่มูลค่าของแบรนด์ Air Jordan ในเวลานี้เติบโตไปแล้วถึง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.37 แสนล้านบาท) ขายไปแล้วมากกว่า 60 ล้านคู่ (ข้อมูลปี 2022)

นี่คือความลับของ ‘สายลม’ ที่เล่ากันมายาวนานครบ 40 ปีพอดีในปีนี้

และน่าจะเล่าต่อไปอีกนานแสนนาน ตราบใดที่สายลมยังพัดพาความฝันและแรงบันดาลใจ

Match facts

  • โลโก้ ‘Wing’ ของ Air Jordan ปีเตอร์ มัวร์ ได้ไอเดียจากช่วงที่เดินทางด้วยเครื่องบินแล้วได้เห็นลูกเรือมอบเข็มกลัดปีกกัปตันเครื่องบินให้แก่เด็กน้อยคนหนึ่ง จึงปิ๊งไอเดียออกแบบปีกที่มีลูกบาสเกตบอลตรงกลาง
  • อีกหนึ่งโลโก้ของ Air Jordan คือ ‘Jumpman’ ซึ่งออกแบบตามมาในปี 1987 ได้ไอเดียมาจากภาพปกนิตยสาร LIFE ซึ่งเป็นเงาของจอร์แดนกระโดดขึ้นดังก์
  • เรื่องราวของ Air Jordan ยังมีให้ติดตามในแบบภาพยนตร์ในชื่อ ‘Air’ (2023) ซึ่งหยิบเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงการเซ็นสัญญากับจอร์แดนมาฉายเป็นภาพให้เห็น เพียงแต่มีหลายจุดที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

อ้างอิง

Writer

นักเตะสมัครเล่นที่พอเขียนหนังสือได้นิดหน่อย เชื่อในพลังของตัวหนังสือที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้ มีเพจเล็กๆของตัวเองชื่อ Sockr และเคยแปลหนังสือ เมสซี vs. โรนัลโด: คู่ปรับฟ้าประทาน

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: y.pongtorn@gmail.com

You Might Also Like