Move the City

MuvMi ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าสัญชาติไทยที่อยากพิชิตปัญหารถติดด้วยเทคโนโลยีและ ride sharing

พูดถึงกรุงเทพฯ ไม่มีปัญหาอะไรน่าปวดหัวไปกว่าเรื่องรถติด

ด้วยผังเมืองอันเปราะบางและถนนหนทางที่เต็มไปด้วยซอยเล็ก ลึก และตัน นอกจากในช่วง peak hours เพียงเกิดอุบัติเหตุขึ้นในจุดเดียว ต้องปิดถนนหนึ่งเลนเพื่อซ่อมฝาท่อ หรือฝนเกิดตกหนักกว่าปกติ เท่านั้นหางแถวก็พร้อมจะยาวเป็นกิโลฯ

ในบรรดาคนที่ต้องต่อสู้กับท้องถนนกรุงเทพฯ มีคน 4 คนที่อยากลองแก้ปัญหาก่อนจะสายไปกว่านี้ แล้ว MuvMi บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ride sharing ก็เกิดขึ้น

เรียกว่าตุ๊กตุ๊กแต่นอกจากมีสามล้อเหมือนกัน MuvMi ก็แทบไม่มีอะไรเหมือนตุ๊กตุ๊กแบบดั้งเดิมเลย พวกเขาพัฒนารถเองโดยเปลี่ยนจากระบบแก๊สเป็นไฟฟ้า ขยายขนาดให้มั่นคงแข็งแรง วิ่งในเฉพาะย่านที่กำหนดไว้ โบกเรียกไม่ได้ต้องใช้บริการผ่านแอพฯ และแทนที่เรียกรถแล้วจะได้ไปคนเดียว พวกเขาก็ใช้ระบบ ride sharing เพื่อให้ค่าโดยสารต่อคนถูกลง

MuvMi

จากที่ทดลองวิ่งในย่านจุฬาลงกรณ์-สยาม MuvMi ค่อยๆ ขยายพื้นที่ให้บริการสู่ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์, เกาะรัตนโกสินทร์, บางซื่อ, ชิดลม-ลุมพินี และอื่นๆ รวมทั้งหมด 10 ย่านในเวลาเพียง 5 ปี มีแผนจะขยับไปเปิดในย่านใหม่ๆ อยู่เสมอ และยังกำลังทดลองใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์อีกด้วย

5 ปีนานพอให้ธุรกิจเกิดใหม่และล้มหายตายจากโดยเฉพาะธุรกิจขนส่งในกรุงเทพฯ ที่ว่ากันว่าโหดหิน ยิ่งเป็น ride sharing ที่คนไทยไม่คุ้นชินยิ่งทำยากเข้าไปใหญ่ แต่ MuvMi ก็ขับเคลื่อนมาถึงจุดนี้ด้วยความเชื่อว่ารถติดแก้ไขได้ด้วยขนส่งชนิดที่เหมาะกับเมืองนี้และเทคโนโลยีที่ใช้อย่างถูกวิธี

เทคโนโลยีจะแก้รถติดได้ยังไง? พวกเขาพาธุรกิจให้รอดมาด้วยวิธีการอะไร? กรุงเทพฯ ควรมูฟไปสู่ปลายทางแบบไหน? กระโดดขึ้นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าไปคุยกับ ศุภพงษ์ กิติวัฒนศักดิ์ หัวหน้าฝ่าย Business Development และ พิพัฒน์ ตั้งสิริไพศาล Chief Engineering ของ MuvMi กัน

ป.ล. อย่าลืมว่าต้องเรียกผ่านแอพฯ เท่านั้น

MuvMi

ทำไมอยู่ๆ เพื่อน 4 คนถึงลุกขึ้นมาทำบริการขนส่งซึ่งว่ากันว่าเป็นธุรกิจที่โหดหิน

พิพัฒน์ : เราเริ่มจากอยากสร้างอะไรที่มีอิมแพกต์ก่อน แน่นอนปัญหามันมีให้แก้เยอะมากแต่เราอยากทำอะไรที่มีอิมแพกต์แล้วเราก็มีแพสชั่นด้วย ประกอบกับเทคโนโลยีมันก็พัฒนาไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่เราคิดว่าอยากจะรวมเทคโนโลยีแล้วทำเป็นนวัตกรรมขึ้นมาสักอย่างนึง 

ศุภพงษ์​ : ทีม founder 4 คนรู้จักกันอยู่แล้วเราเลยเลือกสิ่งที่จะทำจากความเชี่ยวชาญของแต่ละคน อั๋น (พิพัฒน์ ตั้งสิริไพศาล) เขาเคยทำรถบัสไฟฟ้าที่วิ่งในจุฬาฯ, มิก (ดร. กฤษดา กฤตยากีรณ) จบปริญญาเอกด้านวิศวกรรมยานยนต์ ทำเรื่อง autonomous car หรือรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ, เมฆ (เมธา เจียรดิฐ) เขาทำงานเกี่ยวกับระบบ optimization เรื่องซอฟต์แวร์ ส่วนตัวผมเป็นฝ่ายมวยวัด ทำธุรกิจมามากกว่า สมการมันก็ลงตัวว่าสิ่งที่เราเชี่ยวชาญก็น่าจะเป็นเรื่องขนส่งนี่แหละ

จริงๆ คนที่ผลักดัน MuvMi ไม่ได้มีแค่เราแต่ยังมีพาร์ตเนอร์อีกมากที่ต้องขอบคุณ อย่างบริษัทบ้านปู ซึ่งเป็น angel investor ลงทุนกับเราตั้งแต่แรกและตอนนี้ก็ยังสนับสนุนให้เราพัฒนาระบบชาร์จไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ หรือไทยรุ่งซึ่งเป็นผู้ผลิตรถให้เรา

MuvMi
MuvMi

ปัญหาของการขนส่งและการเดินทางที่เห็นตอนนั้นคืออะไร

ศุภพงษ์ : การเดินทางในกรุงเทพฯ มันไม่มีประสิทธิภาพ มันเป็นความสูญเสียทั้งในสเกลของบุคคล สังคม จนถึงประเทศ ไม่ว่าคุณจะต้องเสียเวลากับรถติดทำให้ศักยภาพ ประสิทธิภาพของคนลดลง พลังงานที่นำเข้ามาต้องเผาทิ้งไปเปล่าๆ ตอนรถติด รวมถึงมลภาวะที่เกิดขึ้น

ปัญหาคือจำนวนรถบนท้องถนนมันเยอะเกินไปไม่ว่าจะเกิดจากผังเมืองที่ไม่ถูกต้อง เกิดจากการจราจรที่ไม่มีการจัดการที่ดี แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามประเด็นคือรถกับถนนไม่สัมพันธ์กัน ฉะนั้นเราต้องเอารถออกจากถนนแต่จะเอาออกยังไงในเมื่อคนยังต้องเดินทาง ก็ต้องโน้มน้าวให้คนใช้ขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น แต่ขนส่งสาธารณะที่มีอยู่ก็ยังไม่ตอบโจทย์อีกเพราะว่าไม่มีอะไรให้คนขึ้นเพื่อไปเชื่อมต่อกับเขา คนสักกี่เปอร์เซนต์ที่สามารถมีบ้านอยู่ติดรถไฟฟ้าได้

ทำไมทางออกจึงกลายเป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ride sharing

พิพัฒน์ : คิดแบบง่ายๆ เราแบ่งการเดินทางได้เป็น 2 แบบคือ mass transit หรือขนส่งมวลชนและ microtransit คือการเดินทางระยะสั้นๆ เช่น สองแถว วินมอเตอร์ไซค์ จริงๆ การเดินทางในเมืองมันมีหลายโซลูชั่น คนคิดไว้เยอะแยะมากมายเลย ทั้งสกูตเตอร์ จักรยาน แต่ที่เราเลือกใช้รถสามล้อเพราะเราคิดว่าผังเมืองของเมืองไทยไม่ได้ถูกดีไซน์มาอย่างดี หลายๆ ที่ประสบปัญหาซอยเล็กมาก ซอยลึก ทางเท้ายังไม่มี การที่เราจะเสิร์ฟคนให้ได้ถึงเส้นเลือดฝอยก็ต้องใช้ยานพาหนะที่ค่อนข้างคล่องตัว มีความสามารถที่จะเลี้ยว กลับรถ ซอกแซกไปมาได้

ส่วนนึงเราทำยานพาหนะที่ปลอดภัยและไม่มีมลภาวะ อีกส่วนคือระบบ ride sharing มันทำให้ค่าโดยสารมีราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้

MuvMi

ตอนนั้นคุณรู้ได้ยังไงว่า MuvMi มีดีมานด์จริงๆ

พิพัฒน์ : อันนี้โจทย์ยาก แน่นอนการเริ่มทำธุรกิจใหม่ที่ไม่เคยมีคนทำมาก่อนเราไม่รู้หรอกว่าทำไปแล้วจะตอบโจทย์ผู้ใช้บริการหรือเปล่า ตอนเริ่มต้นเราเลยทำ Tuk Tuk Hop ขึ้นมาก่อน เป็นบริการรถตุ๊กตุ๊กที่เรียกผ่านแอพ นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการเดินทางในย่านเมืองเก่าได้ เขาจ่ายเงินทีเดียวแล้วก็ใช้ได้ทั้งวัน

ศุภพงษ์ : ก่อนทำ MuvMi เราทำ Tuk Tuk Hop อยู่ถึง 2 ปีนะเพื่อเทสต์ไอเดีย เทสต์ดีมานด์ เทสต์ business เทสต์ตัวแอพที่เราเขียนขึ้นเอง ระบบหลังบ้าน เทสต์คอนเซปต์ของเรารวมถึงรีเสิร์ชเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเมืองและการเดินทาง เราอยากรู้ว่าเวลาคนขึ้นลงใช้งานยานพาหนะสามล้อจริงๆ มันมีข้อจำกัดอะไรบ้าง เขาเกิดประสบการณ์ยังไง มีคำติชมอะไร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าเรากำลังจะแนะนำธุรกิจรูปแบบใหม่ เซอร์วิสรูปแบบใหม่ เราก็อยากรู้ว่าลูกค้าหรือว่ายูสเซอร์รู้สึกยังไง

ยูสเซอร์เราไม่ใช่แค่ลูกค้าด้วยซ้ำ ยูสเซอร์ที่เป็นกลุ่มใหญ่ๆ เลยก็คือคนขับเราก็ต้องเรียนรู้เหมือนกันเพื่อจะสื่อสารให้เขาเข้าใจว่าเขาต้องไปที่ไหน ยังไง พฤติกรรมของเขาเป็นยังไงเพราะเราดีไซน์ทั้งระบบ ทำตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

ตอนทำ Tuk Tuk Hop เราได้ทุนจาก NIA มาพัฒนารถสามล้อไฟฟ้าไปด้วย ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะพัฒนาโปรโตไทป์เสร็จ ระหว่างนั้นเราก็ใช้รถตุ๊กตุ๊กแก๊สวิ่งไปก่อน หลังๆ พอได้รถไฟฟ้ามาเราถึงเริ่มเอาออกไปทดลองวิ่งดูว่าลูกค้ารู้สึกยังไงกับรถรูปแบบใหม่

อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่ได้เรียนรู้จาก Tuk Tuk Hop

ศุภพงษ์ : ทุกอย่าง (หัวเราะ)

พิพัฒน์ : 2 ปีถามว่านานไหม นานนะ แต่ถามว่าคุ้มมั้ยเราคิดว่าคุ้ม อย่างการเทสต์แอพสำคัญมากเพราะเป็นวินโดวส์ใหม่ซึ่งยูสเซอร์ยังไม่คุ้นเคย หรือการที่อยู่ดีๆ เราเรียกรถแล้วต้องไปนั่งข้างๆ กับคนอื่นก็เป็นประสบการณ์ที่เราก็ต้องเก็บข้อมูลว่าคนนั่งรู้สึกยังไง รวมถึงข้อมูลว่าคนเรายอมนั่งอ้อมเส้นทางหลักแค่ไหน ยินยอมที่ระยะเวลาเท่าไหร่เพื่อที่จะทำให้การ sharing มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราเก็บข้อมูลมาเพื่อปรับปรุงให้ระบบเราใช้ได้จริงๆ

MuvMi

หลังจากทำ Tuk Tuk Hop จนมั่นใจพอเปิดตัว MuvMi จริงๆ ได้ค้นพบอะไรอีกไหม

พิพัฒน์ : พื้นที่แรกที่เราเริ่มให้บริการคือจุฬาฯ มหาวิทยาลัย เขาเองมีปัญหาภายในว่าเขามีรถประจำทางวิ่งฟรี (รถ ปอ.พ หรือ CU Pop Bus) แต่มันก็ยังไม่ตอบโจทย์ คนยังต้องการการเดินทางรูปแบบอื่น เขาเห็นว่าเราน่าจะเป็น solution นึงได้ก็เลยให้เราไปทดลองวิ่งดู

ศุภพงษ์ : การทดลองครั้งนั้นมันมันตอบในความเชื่อเราว่าการเดินทางที่ดี คำว่า future mobility หรือ smart mobility คืออะไร สำหรับเรา การลองวิ่งที่จุฬาฯ ทำให้เราเข้าใจเลยว่าการเดินทางที่ดีไม่ใช่การเดินทางรูปแบบใดรูปแบบนึงแต่มันคือการเดินทางที่คุณสามารถเลือกวิธีอะไรก็ได้ที่เหมาะสมกับคุณ วันนี้คุณรีบคุณก็เดินทางแบบนึง วันนี้คุณไม่รีบคุณเดินทางอีกแบบ วันนี้คุณจะไปท่องเที่ยวคุณก็อยากเดินทางแบบนึง และคุณสามารถเลือกได้โดยรู้สึกว่ามันตอบโจทย์คุณจริงๆ ไม่ได้ถูกบังคับให้เลือก การเดินทางที่ดีมันควรจะต้องเป็นอย่างนั้น

การไปรันในพื้นที่ที่มีรถให้บริการฟรีแบบนี้ในเชิงธุรกิจก็คงดูงงๆ เนอะ คุณจะไปเก็บเงินในพื้นที่ที่มีรถฟรีทำไมแต่มันก็ทำให้เห็นว่าสิ่งที่คนต้องการไม่ใช่แค่ฟรี ถ้าคุณสร้างทางเลือกให้คนได้แล้วมันตอบโจทย์คนก็จะเลือกจริงๆ เราเห็นว่าคนต้องการอิสรภาพในการเดินทางทำให้เราก็พุ่งเป้าได้ถูก เราไม่อยากเป็น the winner takes all มันไม่ใช่ตลาดแบบนั้น สิ่งที่เราจะสร้างคือการทำให้คนรู้สึกมีทางเลือก เวลาคนเรามีทางเลือกแปลว่าเขารู้สึกว่าเขามีอำนาจของตัวเอง เป็นการเพิ่มศักยภาพชีวิต เพิ่มคุณภาพชีวิต ทำให้เขาเข้าถึงชีวิตที่เขาต้องการได้มากขึ้น 

MuvMi

เคยมีหลายคนเสนอเรื่องการแก้รถติดด้วย ride sharing แต่คอนเซปต์นี้ก็ดูยังไม่เกิดในไทยขนาดนั้น คุณมีวิธียังไงที่ทำให้คนไทยยอมรับ ride sharing

ศุภพงษ์ : ต้องกลับไปพูดเรื่องสำคัญมากคือเรื่องรถ เหตุผลที่เราทำยานพาหนะรูปแบบนี้ขึ้นมาเพราะว่าฮาร์ดแวร์ที่มีอยู่ในตลาด ณ ตอนนั้น ไม่ว่าจะเป็นรถเก๋งหรือว่าตุ๊กตุ๊กมันทำให้เกิด ride sharing ไม่ได้ ลองไปนั่งแท็กซี่แล้วต้องเจอกับใครไม่รู้ ไหล่เกย หรือต่อให้ไหล่ไม่เกยแต่ต้องอยู่ในที่ปิดกัน 2 คน ความรู้สึกมันก็ไม่ค่อยปลอดภัยใช่ไหม รวมถึงคนไทยก็เป็นคนที่ค่อนข้างมี personal space ถ้าใช้ยานพาหนะแบบเก่าเขาก็จะรู้สึกไม่ comfortable เราถึงดีไซน์ตัวรถเองเพราะว่ารถจะเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ของลูกค้าที่สำคัญมากเลย

พิพัฒน์ : ถ้าให้กลับไปมองว่าอะไรที่ทำให้ธุรกิจนี้เกิดขึ้นได้ เราพบว่ามีสองประเด็นหลักที่ทำให้คนอยากเดินทาง หนึ่งคือ accessibility คือความรวดเร็ว เรียกปุ๊บมาปั๊บ คนให้ความสำคัญกับเวลา สองคือเรื่องราคาที่เข้าถึงได้ ถ้ามีส่วนประกอบหลักๆ 2 อย่างนี้ก็ตอบโจทย์แล้ว ลองคิดดูว่าทำไมคนถึงใช้รถสองแถวทั้งๆ ที่มันก็เบียด หรือเล็กไปกว่านั้นอีกก็คือกระป๊อ ทำไมคนถึงเข้าไปนั่งได้ถึง 9 คนทั้งๆ ที่มันก็ไม่น่าจะนั่งได้ ก็เพราะว่ามันมีองค์ประกอบ 2 อย่างนี้นี่แหละ เราเองอยากจะตอบโจทย์ของการเดินทางโดยที่โฟกัส 2 จุดนี้เหมือนกัน

MuvMi

ตุ๊กตุ๊กของ MuvMi พิเศษยังไง

พิพัฒน์ : เราใส่เทคโนโลยีลงไป อย่างหนึ่งคือระบบไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แล้วก็พยายามดีไซน์ให้โครงสร้างของรถสามล้อแข็งแรงขึ้น เบาขึ้น จุดศูนย์ถ่วงของรถต่ำจะได้อันตรายน้อยลงเทียบกับรถสามล้อแบบดั้งเดิม

ศุภพงษ์ : สามล้อปกติมันก็ดูจะขึ้นยาก นั่งยาก ลงยาก แล้วก็แน่นอนมันดูแล้วไม่ค่อยเซฟเท่าไหร่ เราปรับขนาดพื้นที่ในการนั่ง ความโปร่ง มุมมองการมองเห็นเพราะความรู้สึกของคนเรามันเกิดจากทุกประสาทสัมผัส ตามอง ผิวสัมผัส จมูกดม หลักการของเราคือทำรถให้คนนั่งรู้สึกว่าเขาปลอดภัยที่สุด มีพื้นที่มากที่สุด มันก็เป็นส่วนที่ทำให้เขายอมรับเราได้ง่ายขึ้น ไม่อย่างนั้นมันก็จะเป็นการบังคับให้เขาต้องมาใช้ในสิ่งที่เขารู้สึกไม่เซฟ

เอาจริงๆ ตอนแรกลูกค้าจะไม่รู้สึกถึงความต่างหรอกจนกระทั่งเขากลับไปใช้รถสามล้อแบบเดิมอีกครั้งเขาถึงจะรู้สึก เราเคยลองเอารถสามล้อแก๊สมาวิ่งเทียบกับรถไฟฟ้าที่ออกแบบเอง ฟีดแบ็กชัดเจนมากว่าลูกค้าอยากได้รถไฟฟ้ามากกว่า

พูดถึงย่านที่ให้บริการ คุณมีหลักเกณฑ์ในการเลือกย่านยังไง

ศุภพงษ์ : เราพยายามมองลูกค้าเป็นหลักว่าย่านไหนมีความต้องการ microtransit บ้าง แต่ทุกที่ก็ต้องการหมดแหละดังนั้นความหนาแน่นจึงเป็นเรื่องสำคัญสุด ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้มีทรัพยากรรถเหลือเฟือฉะนั้นเราต้องเลือกพื้นที่ที่มีความจำเป็นมากที่สุดก่อนโดยที่เราทำไหว

ถ้าจำนวนรถไม่พอมันก็จะไม่เกิดอิมแพกต์ต่อพื้นที่นั้น หรืออาจจะเป็นด้วยรูปแบบถนนที่รถติดมากจนกระทั่งรถทุกคันมันติดอยู่บนถนนเฉยๆ ต่อให้มีเราก็ไม่ช่วยอะไร เราก็ต้องวิเคราะห์จากตรงนั้นด้วย

เช่นย่านอะไรบ้าง พอยกตัวอย่างได้ไหม

พิพัฒน์ : ทุกที่ในกรุงเทพฯ แหละครับ (หัวเราะ)

ศุภพงษ์ : อย่างพื้นที่อโศกมันชัดเจน ใครๆ ก็รู้มันเป็น CBD (central business district) ความหนาแน่นสูง มีความต้องการในการเดินทางมาก แต่เราก็ไม่ไปแตะเพราะด้วยจำนวนรถที่มีเราคิดว่าเราไม่น่าจะสามารถเติมเต็มพื้นที่นั้นได้ เพิ่มรถลงไปเท่าไหร่ก็ไปติดอยู่ที่แยกเดียวกันหมด มันก็ไม่มีประโยชน์

MuvMi

ทำไม MuvMi เลือกให้บริการเป็นย่าน มันคือส่วนหนึ่งของการทำ Ride Sharing หรือเปล่า

พิพัฒน์ : ถูก การที่เราควบคุมพื้นที่ได้ ควบคุมการเดินทางของรถเราได้ เราก็สามารถที่จะการันตีได้ว่ารถของเราจะอยู่ในพื้นที่ตรงนั้นกี่คัน เรียกปุ๊บกี่นาทีจะมา ที่เราคำนึงถึงความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่เพราะการ sharing ต้องการประชากรในระดับนึง ถ้าการเดินทางหนาแน่นไม่พอการ sharing มันจะไม่เกิดซึ่งไม่ใช่เป้าหมายของเราเพราะเราอยากจะทำให้ทุกๆ การเดินทางราคาไม่แพง

บริษัทของพวกคุณมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Urban Mobility Tech นอกจากการใช้แอพพลิเคชั่นเรียกรถแล้วเทคโนโลยีอยู่ตรงไหนของเซอร์วิสบ้าง

พิพัฒน์ : มันเริ่มจากการที่เรามีรถพลังงานไฟฟ้าที่ต้องมีวิธีจัดการเรื่องการเติมพลังงาน การ optimization แอพฯ แล้วก็แน่นอนเรื่องของการบริหารคนขับ เราเอาเทคโนโลยีมา manage คนขับที่เคยขับตุ๊กตุ๊ก อิสรภาพค่อนข้างสูง เขาอยากจะขับ อยากจะไม่ขับ อยากจะรับลูกค้าหรือจะไม่รับลูกค้าเป็นสิทธิ์ของเขา เราพยายามจัดให้มีระบบมากขึ้น เรื่องการบริหาร fleet รถก็ต้องใช้ข้อมูลมหาศาลที่เราเก็บมาวิเคราะห์ว่าทำยังไงให้รถของเราไปหาลูกค้าให้ได้ทันเวลา

ศุภพงษ์ : สำหรับพวกเราสิ่งสำคัญมันอยู่ที่การตั้งคำถามว่าเป้าหมายของเราคืออะไร อย่างเราต้องการให้เกิดอิมแพคต์ เราต้องการให้เกิดขนส่งที่ดีต่อลูกค้า เราเชื่อว่าเทคโนโลยีที่ดีคือเทคโนโลยีที่นำมาใช้แล้วทำให้ไปถึงเป้าหมาย มันอาจจะไม่ใช่เทคโนโลยีที่ดีที่สุดหรือแอดวานซ์ที่สุดแต่คือเทคโนโลยีที่เหมาะสม

คนมักจะบอกว่าสตาร์ทอัพต้องใช้เทคโนโลยีมา disrupt เปลี่ยนแปลง ล้างบาง อันใหม่มาอันเก่าต้องสูญพันธุ์แต่เราไม่ได้มองอย่างนั้น เรามองว่าเราใช้เทคโนโลยีในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ยกระดับ ecosystem เดิมที่มีอยู่ ทำให้ขนส่งอื่นๆ ทำงานของเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อยู่ใน market fit ของเขาได้ดีขึ้น

MuvMi

ที่บอกว่าเอาเทคโนโลยีมาบริหารระบบคนขับ คุณทำยังไง

ศุภพงษ์ : ต้องจินตนาการว่าตอนนี้เรามีคน 200 คนบนถนน อยู่คนละที่กันหมดเลย จะรู้ได้ยังไงว่าเขาอยู่ตรงไหน แค่นี้ก็ยากแล้ว แล้วใครจะต้องไปรับใคร ทั้งหมดนี้เป็นการตัดสินใจตลอดเวลาซึ่งไม่สามารถจะเอาคนมาตัดสินใจได้ มันต้องอาศัยข้อมูล บวกอัลกอริทึม บวกคำสั่งเพื่อที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งคำว่าดีที่สุดก็อาจจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เช่น ตอนแรกถนนยังโล่งๆ ขับๆ ไปดันเจอรถติด หรือขับๆ ไปแล้วเกิดรถชนหรือปิดถนนขึ้นมามันเปลี่ยนไปทุกๆ วินาที และทุกวินาทีก็มีความหมาย เช่น แยกสะพานควาย การที่คุณขับผ่านหรือไม่ผ่านไฟเขียวครั้งนี้อาจทำให้ไปถึงจุดหมายต่างกัน 20 นาที

พิพัฒน์ : เราอยากใช้เทคโนโลยีมาทำให้ชีวิตคนขับดีขึ้นด้วย สโลแกนของเราคือ happy driver, happy customer เราต้องใช้ทุกอย่างทำให้คนขับมีความสุข ให้เขาไปทำงานกี่โมง เลิกงานกี่โมง พักงานกี่โมง พวกนี้ก็ต้องเอาดาต้ามาดู

ศุภพงษ์ : คนขับมีผลมากๆ เซอร์วิสของเรามีความเป็นคอมมิวนิตี้สูง หมายถึงว่าลูกค้ามีโอกาสที่จะเจอคนขับคนนี้ประจำเพราะเขาวิ่งในย่านนี้แหละ นอกจากนี้เขาเป็นแชนแนลแรกของเราที่ลูกค้าเห็น สัมผัส รู้สึกได้ ฉะนั้นเขาเป็นคนสำคัญมากที่จะทำให้เซอร์วิสดีหรือไม่ดี

MuvMi

ขนส่งหลายแห่งใช้วิธีแบ่งเปอร์เซ็นต์รายได้กับคนขับ ในขณะที่ MuvMi ให้เป็นเงินเดือนซึ่งทำให้มี fixed cost สูงมาก ทำไมถึงยังเลือกวิธีนี้

พิพัฒน์ : โมเดลมันมีได้หลายแบบเนอะ ตอนเริ่มต้นเราเองเป็นใครก็ไม่รู้ถ้าจะชวนคนมาขับแล้วแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้แบบแอพขนส่งใหญ่ๆ มันไม่มีคนมาร่วมกับเราหรอก เราก็ต้อง secure อะไรบางอย่างกับเขาแล้วก็ทำให้ธุรกิจมันเกิด พอเกิดปุ๊บ เราอาจจะไม่ได้กับฟิกซ์กับโมเดลนี้โมเดลเดียว

เซอร์วิสของพวกคุณเปิดมา 5 ปี ขยายได้ถึง 10 ย่านแล้ว คิดว่าอะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้สเกลได้ค่อนข้างเร็ว

ศุภพงษ์ : ผมว่ามันเป็นจังหวะและเวลาด้วยแหละ อั๋นเคยพูดว่าเขาทำรถไฟฟ้ามาสิบกว่าปีถ้าจังหวะเวลาไม่ใช่มันก็คือไม่ใช่ 7 ปีที่แล้วตอนเราเริ่ม Tuk Tuk Hop เราบอกว่าจะทำรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ายังมีคำสบประมาทว่าจะใช้ไฟฟ้าจริงหรือเปล่า วันนี้มันไม่มีใครถามแล้ว ฉะนั้นมันคือจังหวะและเวลา การที่พฤติกรรมคนเริ่มเปลี่ยน การเข้ามาของแอพขนส่งทั้งหลายทำให้คน adopt เราได้เร็วขึ้น

พอพฤติกรรมคนเปลี่ยนความต้องการก็จะเปลี่ยน ฉะนั้นโซลูชั่นที่มันปรับตัว เปลี่ยนแปลงให้เข้ากับความต้องการได้ทันก็จะอยู่ได้เทียบกับโซลูชั่นที่เหมือนเดิมมาตลอด 10-20 ปี จะเปลี่ยนเวลาวิ่งยังยากเลย เพิ่มจำนวนรถก็ยาก ลดจำนวนก็ยาก จะเพิ่มราคาก็ยาก ความยากเหล่านั้นทำให้มันไม่สามารถเปลี่ยนได้ทันความต้องการของคนขณะที่เราสามารถจะเปิด-ปิดให้บริการได้ ยืดเวลาก็ได้ ตรงนี้รถเมล์ไม่วิ่งเราก็วิ่งได้ ทำได้ทันที ทำให้คนเลือกเราเพราะเขาไม่มีทางเลือกอื่นด้วยซ้ำ

แปลว่าความยืดหยุ่นสำคัญมาก

ศุภพงษ์ : ใช่ อย่างช่วงโควิดคนเปลี่ยนแปลงเวลาเข้า-ออกจากบ้านตลอดเวลา มีการล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว ผู้ให้บริการขนส่งต่างๆ ก็ต้องเปลี่ยนเวลาให้บริการหรือวิธีการปล่อยสายรถ บางทีคนเลิกงานดึกขึ้นรถเมล์รอบสุดท้ายไม่ทันเราก็ต้องเป็นคนไปรอเก็บตก หรือบางที่คนเดินทางน้อยลงจนกระทั่งสายรถเมล์หยุดวิ่ง โรงเรียนเลยไม่มีรถไปส่งนักเรียนไปที่ป้ายรถเมล์ใหญ่ เราก็ต้องไปรับคนเหล่านั้นเพื่อให้เขาเชื่อมต่อกับระบบใหญ่ได้ ระบบที่เปลี่ยนไปได้ตามความต้องการของลูกค้าคือคีย์เวิร์ดเลย

ได้ยินว่า MuvMi พาร์ตเนอร์กับธุรกิจอื่นๆ ในลักษณะ B2B เหมือนกัน เล่าให้ฟังถึงโปรเจกต์เหล่านั้นได้ไหม

ศุภพงษ์ : เราเริ่มทำงานร่วมกับภาคธุรกิจมากขึ้น เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์หรือคอมมิวนิตี้มอลล์ เขาเริ่มมองเห็นศักยภาพว่าถ้าการเดินทางดี มีทางเลือก หรือมีเทคโนโลยีเข้ามาจับ มันจะเพิ่มศักยภาพของเขาขนาดไหน เช่น เพิ่มความสะดวกกับลูกค้าของเขา เดินทางง่ายลูกค้าแฮปปี้ สถานที่ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างที่จอดรถเพิ่ม รถติดรอบพื้นที่ศูนย์การค้าน้อยลงลดผลกระทบต่อสังคมไปด้วย

นอกจากนี้ก็มีบางที่ชวนเราไปพูดคุยเรื่องการสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่กับเขาก็มี ด้วยความที่งานของเรามันยืดหยุ่นอยู่แล้วเราก็ยินดีที่จะเป็นเครื่องมือให้เขาลองเพราะแค่มีรถไฟฟ้าที่อยู่บนถนนมากขึ้นมันก็ดีต่อสังคมแล้ว หรือการมีรถสาธารณะที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้รถออกไปจากถนน ตอบเป้าหมายของเรา อะไรก็แล้วแต่ถ้ามันดีต่อลูกค้าของเรา ดีต่อยูสเซอร์ ดีต่อเป้าหมายของเราเราก็ยินดี

MuvMi

อย่างที่พวกคุณบอก ขนส่งเป็นบริการที่เกี่ยวข้องกับคนหลายฝ่ายตั้งแต่ระดับนโยบายรัฐไปจนถึงผู้บริโภค เราคุยเรื่องการแก้โจทย์กับผู้บริโภครวมถึงธุรกิจอื่นๆ ไปแล้ว กับฝั่งนโยบายยังมีความท้าทายอะไรอีกไหม

ศุภพงษ์ : กฎหมายที่เกี่ยวข้องบางอันก็เป็นกฎหมายเก่าที่อาจไม่เข้ากับบริบทปัจจุบันแล้ว ซึ่งเข้าใจได้นะ ณ วันที่ออกกฎหมายมันตีความบริบทเดิม เทคโนโลยีเดิมเขาก็ต้องเขียนอย่างนั้นแหละ เช่น บอกว่ารถสามล้อเป็นรถที่ไม่ปลอดภัย มลภาวะเยอะ วันนี้เราปรับแก้เปลี่ยนทุกอย่างแล้วแต่กฎหมายที่ใช้ครอบคลุมมันก็ยังเป็นกฎหมายชุดเดิม ถามว่าเราควรจะเปลี่ยนมันไหม รัฐก็รับรู้แล้วแต่อยู่ระหว่างกระบวนการเปลี่ยนข้อกำหนด

พิพัฒน์ : ต้องบอกว่าจริงๆ แล้วทุกวันนี้หน่วยงานต่างๆ เขาก็ปรับตัวนะ เช่น ก่อนหน้านี้รัฐไม่เปิดให้จดทะเบียนรถสามล้อเพิ่มด้วยเหตุผลเรื่องของความปลอดภัย มลภาวะและอื่นๆ แต่ทุกวันนี้กฎหมายก็ปรับให้มีช่องในการจดทะเบียนทดแทนรถสามล้อเก่าอยู่  รวมถึงสำนักมาตรฐานอุตสาหกรรมก็พยายามตั้งมาตรฐานเรื่องของสามล้อไฟฟ้าขึ้นมา สถาบันยานยนต์ก็เพิ่มการทดสอบรถสามล้อไฟฟ้า มีการปรับเปลี่ยนเพื่อที่จะรองรับการพัฒนาในอนาคต

MuvMi

ศุภพงษ์ : เทคโนโลยีมันเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ เราอยู่กับรถ ICE (Internal Combustion Engine หรือรถยนต์สันดาป) มา 40 ปี เดิม 100% บนถนนคือรถที่ใช้น้ำมัน วันนี้เราอยู่ในช่วงที่เริ่มมีรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาอยู่บนถนน อาจจะ 0.1% 5% 10% รถเหล่านี้จะเริ่มมีสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ วิธีการที่รับมือ กฎหมายที่จะรองรับมาตรฐานต่างๆ มันควรจะเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งถามว่ากรมการขนส่งทางบกรู้ไหม เขารู้ เขาก็กำลังปรับอยู่

พิพัฒน์ : ปัจจุบันเราสามารถจดทะเบียนรถได้ถึง 200 คันแล้วถือว่าดีขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่แน่นอนเราไม่ได้อยากจะหยุดอยู่แค่นี้ เราอยากจะให้เขาเห็นว่าบริการนี้มีความสำคัญแล้วก็ปรับกฎหมายต่อเนื่องเพื่อรองรับธุรกิจในอนาคตมากขึ้น

ท้ายที่สุดแล้วจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมด คุณคิดว่าการเดินทางที่ดีคืออะไร

ศุภพงษ์ : ความปลอดภัยเป็นเรื่องแรก เรามองว่าถ้าเราจะทำขนส่งสาธารณะที่ดีต้องปลอดภัยเพราะถ้าคุณขึ้น 2 วันแล้วหัวแตกคุณก็จะไม่ขึ้นแล้ว สอง เข้าถึงได้ง่าย หมายถึงว่าทุกคนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้ ใช้มันได้ทุกวัน รวมถึงมีความสะดวกสบายพอที่จะทำให้เขารู้สึกว่ามันยกระดับชีวิตเขาได้ นั่นคือการเดินทางที่ดีในคอนเซปต์ของเรา

ตอนนี้เป้าหมายของ MuvMi อยากจะ move ไปสู่จุดไหน

ศุภพงษ์ : เราอยากให้คนไทยหรือคนในโลกมีการเดินทางที่ดี วันนี้เราเพิ่งเริ่มเฟสการแนะนำบริการของเราเข้าไปในตลาดแต่เราก็เชื่อว่ามันจะสามารถเป็นอิมแพกต์ให้กับยูสเซอร์หรือใครก็ตามที่อยากจะเข้ามาในตลาดได้ ตอนเริ่มมันยากสุดแหละ แต่พอเริ่มแล้วมันมีคนเห็นคุณค่าของมันเขาก็เริ่มมาร่วมกับเรา ให้การสนับสนุน หรือทำให้เขารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ทำได้ 

ผมเชื่อว่ามีคนมากมายที่อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างแต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรพอเขาเห็นว่าสิ่งที่เราทำมันดีเขาก็ช่วยเหลือเรา เราก็พิสูจน์แล้วว่าสิ่งนี้มันไม่ได้ดีแค่กับเราหรือผู้ใช้ของเรา แต่คนที่ได้จริงๆ มันคือสังคมนะ ถ้าเราสร้างการเดินทางที่ดีได้คนที่อยู่บนท้องถนนมันได้ประโยชน์หมด ไม่ว่าคุณจะรวยจนแค่ไหน คุณปหนีจากถนนเส้นนี้ไม่ได้หรอกจริงไหม

MuvMi

Writer

Lifestyle Editor ชอบคุย ชอบรู้จัก และชอบอุดหนุนแบรนด์สร้างสรรค์ที่รัก

Photographer

ช่างภาพและ baker ฝึกหัด

You Might Also Like