สมกำเปิ้นเล่า 

‘ลูลู่วิกไทย’ หนึ่งในผู้ผลิตวิกมือทองของเชียงใหม่ที่พาวิกไทยไปเฉิดฉายไฉไลในต่างแดน 

‘ลูลู่วิกไทย’ คือชื่อธุรกิจออกแบบและผลิตวิกผมโดยหนึ่งในช่างทำผมมือทองของเชียงใหม่ ลูลู่–ปรัชญา ยะบุญ ที่รับผลิตวิกผมแบบ custom-made ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าหลากหลาย ตั้งแต่ช่างฟ้อน, นางงาม drag queen, อินฟลูเอนเซอร์ ไปจนถึงผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องโกนผม 

ผลงานของเธอยังถูกใช้ในกองถ่ายละครโทรทัศน์แนวพีเรียดอย่าง เพลิงพระนาง (2560), แดนเซอร์รายการโทรทัศน์ประกวดร้องเพลง ‘ชิงช้าสวรรค์’ รวมถึงยังไปคอมพลีตลุคให้เจ้าหญิงในละครเวทีชื่อดังของดิสนีย์ 

ลูลู่เข้าสู่วงการทำวิกตั้งแต่สมัยเรียนที่สาขาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากการเป็นช่างทำผมให้ช่างฟ้อนของคณะเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ซึ่งเป็นสถานที่ที่เธอค้นพบวิธีการย่นเวลาในการทำผมนับแต่นั้น

“สมัยนั้นช่างฟ้อนของคณะมีโชว์ถี่มาก โชว์ครั้งหนึ่งก็จะมีช่างฟ้อนเป็นสิบคน แต่ละคนเราต้องใช้เวลาทำผมไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง บางงานบริหารเวลาไม่ดี ก็ต้องทำแบบไฟลนก้น 

“ทรงผมที่ต้องทำส่วนใหญ่ในตอนนั้นจะเป็นการเกล้าผมด้านหลังให้มีรูปแบบคล้ายตะกร้อ เราก็มานั่งคิดว่าเวลาที่ใช้ทำผมให้นักแสดงต่อคนนี่อาจน้อยกว่าเวลาที่ใช้ในการแสดงอีก แล้วไหนจะต้องแต่งหน้าด้วย จึงคิดวิธีการย่นระยะเวลาตรงนี้ให้เร็วที่สุด” จากปัญหานั้น เธอพบว่าถ้าทำผมให้เสร็จในรูปแบบวิกสำเร็จรูปให้ช่างฟ้อนสวมเลย น่าจะตอบโจทย์ได้ดีที่สุด

“เราไปซื้อวิกจากร้านขายวิกทั่วไปนี่แหละ แล้วก็มาเกล้าผมจากวิกให้เป็นมวยผม พอถึงเวลาก่อนแสดง เราก็ให้กลุ่มช่างฟ้อนรวบผมตึงเก็บให้เรียบร้อย และสวมวิกนี้เข้าไป จำได้ว่าตอนนั้นเราอยู่หอ 2 ชายของมหาวิทยาลัย ก็นั่งทำวิกหลังขดหลังแข็งที่หอนั้นนั่นล่ะ” ลูลู่เล่า

และไอเดียดังกล่าวก็ประสบผล ซึ่งไม่เพียงลูลู่จะบุกเบิกวิธีการประหยัดเวลาทำผมให้ช่างฟ้อนหรือนางรำทั่วประเทศที่จนทุกวันนี้ช่างฟ้อนส่วนใหญ่ก็ใช้วิกที่ลูลู่ผลิตอยู่ หากสิ่งนี้ยังจุดประกายให้เธอทดลองทำวิกให้เป็นทรงผมอันหลากหลายให้ตอบโจทย์กับการใช้งานรูปแบบอื่นๆ  

“ตอนนั้นเราไม่คิดว่ามันจะเป็นธุรกิจอะไร เพราะพอเรียนจบเราก็ทำอาชีพช่างทำผมเป็นหลัก และทำวิกสำหรับใช้ในการแสดงอย่างเดียว จนปี 2552 ที่มีเฟซบุ๊กแล้ว เราก็แชร์รูปวิกที่เราทำไปเรื่อยๆ จนจู่ๆ ก็มีคนที่เราไม่รู้จักแชตเข้ามา และส่งรูป อาภัสรา หงสกุล มา 

“เขาว่าจ้างให้เราทำวิกผมตามแบบ ตอนนั้นเราทำแค่วิกทรงที่ใช้สำหรับช่างฟ้อนอย่างเดียว พอมาเจอทรงอาภัสราก็เหมือนจุดประกายให้เราอยากทดลองกับแบบอื่นๆ ไปด้วย”

เท่านั้นยังไม่พอ ภายหลังที่ลูลู่หันมาแต่งหญิงออกงาน เธอก็สวมวิกที่เธอทำออกงานไปด้วย สิ่งนี้ทำให้ผู้พบเห็นอยากให้ลูลู่ทำวิกผมทรงเก๋ๆ ให้พวกเธอบ้าง นอกจากเป็นช่างทำผมมืออาชีพ ลูลู่จึงมีธุรกิจใหม่เป็นช่างทำวิกแบบ custom-made เรื่อยมา 

ทรงวิกของลูลู่ครอบคลุมตั้งแต่ทรงพื้นฐานของคนล้านนาที่ถูกเรียกแบบลำลองว่า ‘ทรงแม่อุ้ยไปวัด’ (แม่อุ้ยแปลว่า ย่าหรือยาย) หรือทรงมวยต่ำ เป็นทรงเกล้าหลังแล้วทัดดอกไม้แบบที่แม่อุ้ยนิยมทำเวลาไปทำบุญที่วัด โดยลูลู่ก็ดัดให้มีมิติที่ดูอลังการมากขึ้น รวมถึงการโบกเส้นผมด้านหน้าให้มีความโค้งรับไปกับใบหน้าของผู้สวมใส่

‘ทรงเกล้าแบบญี่ปุ่น’ ซึ่งมีรูปแบบคล้ายการเกล้าผมของเกอิชา ทั้งยังเป็นทรงผมที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีนิยมเซต เป็นอีกทรงที่มีออร์เดอร์ให้ลูลู่ทำอย่างต่อเนื่อง เพราะช่างฟ้อนหรือนางรำในทุกภาคของประเทศไทยนิยมทำทรงนี้เพื่อขึ้นแสดง

เช่นเดียวกับทรงผมยุค 60s แบบ ‘ทรงหม้อตาล’ ของ อาภัสรา หงสกุล รวมถึง ‘ทรงแสกจีรนันท์’ (จีรนันทน์ เศวตนันทน์ นางสาวไทยปี 2508) ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่เข้าประกวดนางงามไปจนถึงลูกค้าทั่วไป เนื่องจากเข้ากันได้ดีกับทั้งชุดไทยและชุดราตรีสำหรับใส่ออกงาน 

ลูกค้าของลูลู่มีหลากหลายดังที่เกริ่นไว้ตอนต้น ซึ่งไม่เฉพาะแค่ในไทย แต่เสียงชื่นชมในผลงานแบบปากต่อปากยังทำให้ลูลู่มีลูกค้าต่างประเทศมากมาย ทั้งคนไทยที่ไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นและชาวต่างชาติที่ได้รับการแนะนำต่อมาอีกที ยังรวมถึงทีมโปรดักชั่นละครเวทีของดิสนีย์ ที่เคยว่าจ้างให้ลูลู่ผลิตวิกผมพิเศษสำหรับให้ตัวละครหลักสวมใส่ในการแสดงมาแล้ว 

“เราใช้เฟซบุ๊กและไอจีเป็นช่องทางในการขายของหลัก ไม่เคยทำการตลาดเลย เพราะวิกแต่ละอันมันต้องทำขึ้นใหม่โดยเฉพาะ จึงต้องใช้เวลาพอสมควร และไม่ว่าลูกค้าจะสั่งทำเพื่อไปใส่ออกงาน ใส่เล่นๆ หรือทำคอนเทนต์ขำๆ เราก็ตั้งใจทำในมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด 

“จริงอยู่ที่วิกผมมันเป็นเครื่องประดับชนิดหนึ่ง บางคนซื้อมาใส่ครั้งเดียวก็ไม่ได้ใช้อีก แต่เราก็ภูมิใจนะที่ได้ทำออกมา เราคิดว่าไม่ว่าลูกค้าจะเป็นอะไรหรือกำลังทำอะไรอยู่ ความมั่นใจคือสิ่งสำคัญ บางทีแค่สวมวิกก็ช่วยเสริมบุคลิกและสร้างความมั่นใจให้กับเขาได้ 

“ยิ่งเราทำอาชีพเกี่ยวกับความงามของเส้นผมด้วย เราจึงรู้ว่าทรงผมมันมีอิทธิพลกับบุคลิกมากแค่ไหน วิกทุกชิ้นเราจึงต้องทำด้วยความตั้งใจเพื่อให้มันออกมาดีที่สุด” ลูลู่กล่าวทิ้งท้าย  

ลูลู่วิกไทย 
instagram.com/luluwigthai 

Writer

นักเขียนและนักแปลอิสระ บางครั้งก็หันมาเขียนวรรณกรรม ทำงานศิลปะ และบทภาพยนตร์บ้าง ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เชียงใหม่

Photographer

ชีวิตผม ชอบการเดินทาง ชอบทำอาหาร และรักการบันทึกความทรงจำด้วยภาพถ่าย

You Might Also Like