ล้อหมุนด้วยความรัก

‘LUCI’ ผู้สร้างนวัตกรรมประหนึ่งเทสล่าของรถเข็นที่เกิดจากความรักของพ่อต่อลูกสาว

ในการทำแบบสำรวจผู้ใช้งานรถเข็นคนพิการไฟฟ้า (Power Wheelchair) ที่รัฐโนวาสโกเชีย (Nova Scotia) ประเทศแคนาดากว่า 2,055 คน สถิติบ่งบอกว่ากว่า 57% เคยประสบอุบัติเหตุที่รถเข็นพลิกคว่ำและร่วงหล่นจากรถเข็นจนบาดเจ็บอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต แบบสำรวจอื่นๆ ที่ทำในอเมริกาก็รายงานใกล้เคียงกัน โดยเฉลี่ยแล้วอย่างน้อยๆ 54% เคยเกิดอุบัติเหตุกับรถเข็น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกรณีสะดุดแล้วล้มพลิกคว่ำจนร่วงหล่นลงมาบาดเจ็บ

สาเหตุของการสะดุดก็มีตั้งแต่พื้นต่างระดับ ชนสิ่งกีดขวาง ก้อนหินใหญ่ โดนคนอื่นชนและหยุดไม่ทัน ฯลฯ พูดอีกอย่างคืออุบัติเหตุในการใช้ชีวิตประจำวันสำหรับผู้พิการที่ใช้รถเข็นไฟฟ้านั้นเป็นเรื่องที่เกิดได้ทุกเมื่อและที่สำคัญคือมันอันตรายมากเพราะคนพิการหลายคนที่ใช้รถเข็นไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ถ้าเกิดร่วงหลุดออกมาจากรถเข็น

นั่นคือสิ่งที่ แบร์รี่ ดีน (Barry Dean) และจาเร็ด ดีน (Jered Dean) สองพี่น้องที่ก่อตั้งบริษัท LUCI อุปกรณ์เสริมสำหรับรถเข็นเพื่อเพิ่มความสามารถในการขับเคลื่อนอัตโนมัติให้กับอุตสาหกรรมรถเข็นผู้พิการที่ถูกมองข้ามและไม่ได้รับความสนใจมาหลายทศวรรษ 

เหตุผลที่แบร์รี่เริ่มทำคือเพื่อช่วยให้แคทเธอรีน ลูกสาวของเขาที่มีภาวะสมองพิการให้ใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยและไปไหนมาไหนเองได้อย่างมีอิสระมากขึ้น

tennessean.com

แคทเธอรีนตอนนี้อายุประมาณ 20 ปี ที่ผ่านมาเธอต้องใช้ชีวิตชีวิตกับรถเข็นไฟฟ้าทั่วไปมาตลอด แบร์รี่เล่าว่าครั้งแรกที่แคทเธอรีนได้รถเข็น หลังจากที่คลีนิคปรับจูนความเร็วของรถเข็นเพื่อให้เข้ากับความสามารถทางร่างกายของแคทเธอรีนเรียบร้อย แคทเธอรีนขึ้นนั่งปุ๊บแล้วลองบังคับ รถเข็นก็พุ่งไปชนกำแพงคลีนิคเลยทันที กว่าจะปรับตัวให้ควบคุมรถเข็นไฟฟ้าได้ก็ใช้เวลานานพอสมควร

แบร์รี่ผู้เป็นพ่อกับจาเร็ดซึ่งเป็นคุณลุงของแคทเธอรีนเชื่อว่ามันควรมีวิธีที่ดีกว่านี้ พวกเขาหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ไปงานโชว์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์มากมายแต่ก็ไม่เจอส่ิงที่ตามหา จึงตัดสินใจร่วมมือกันสร้าง LUCI ขึ้นมา โดยจาเร็ดมีพื้นฐานเป็นวิศวกรอยู่แล้วจึงดูแลในส่วนของเทคโนโลยีทั้งหมดเลย ส่วนแบร์รี่ก็ดูภาพรวม การตลาด และส่วนอื่นๆ

พวกเขาตั้งชื่อบริษัทว่า LUCI ขึ้นมาตามชื่อเพลง Lucy In The Sky With Diamonds ของ The Beatles ซึ่งเป็นเพลงโปรดของแคทเธอรีน ระหว่างสร้างพวกเขารู้ข้อมูลว่ารถเข็นไฟฟ้าเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ด้วยน้ำหนักของมันที่สูงถึง 180 กิโลกรัม สามารถทำให้ร่างกายของคนที่ขับขี่บาดเจ็บได้หากเกิดพลิกคว่ำมาทับ และรายงานจากโรงพยาบาลบอกว่ามีการเข้ามารักษากว่า 175,000 ครั้งต่อปีที่เป็นอุบัติเหตุเกี่ยวเนื่องกับรถเข็นไฟฟ้า

denverpost.com

หลังจากนั้นพวกเขาเริ่มทดสอบความรุนแรงของการชนของรถเข็นไฟฟ้า (เหมือนการทดสอบสมรรถภาพการชนรถยนต์) ด้วยตัวหุ่นทดลอง พวกเขาพบว่าการชนแต่ละครั้งมีความเสี่ยงในการบาดเจ็บบริเวณหัวเข่าโดยตรงเพราะมันอยู่ด้านหน้า และมีอันตรายไม่ต่างจากการอุบัติเหตุจากรถยนต์เลย และนั่นเป็นที่มาของอุปกรณ์ที่พวกเขาสร้างขึ้น

โดยอุปกรณ์ตัวนี้ถูกสร้างขึ้นมาด้วยโปรเซสเซอร์ ARM เพื่อประมวลผลข้อมูลจากกล้องหลายตัวสำหรับจับภาพสภาพแวดล้อม สิ่งของ และบุคคลอื่นรอบตัว พร้อมทั้งยังมีเซนเซอร์ที่ใช้เรดาร์และคลื่นอัลตราโซนิกเพื่อวัดระยะทางสำหรับความแม่นยำมากขึ้นอีกด้วย

อุปกรณ์เสริมตัวนี้สามารถใช้กับรถเข็นไฟฟ้าได้เกือบทุกรุ่น หลังจากที่ซื้อมาสามารถติดตั้งได้ด้วยตัวเองที่บ้านโดยทำตามขั้นตอนในวิดีโอสาธิต โดยเจ้าอุปกรณ์ตัวนี้จะช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน ตั้งแต่การชน ที่ระบบจะหยุดรถเองเมื่อใกล้กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า, การพลิกล้ม ที่อุปกรณ์จะตรวจสอบระดับความสูงของพื้นที่ไม่เท่ากัน อย่างขอบถนน, การทับก้อนหินหรือสิ่งของกีดขวางจนทำให้รถเข็นเสียการทรงตัว ที่อุปกรณ์จะมีเซนเซอร์เพื่อประมาณระยะห่างของสิ่งกีดขวางต่างๆ

fastcompany.com

นอกจากนั้นยังสามารถเชื่อมต่อกับลำโพงอัจฉริยะในบ้าน อย่างพวก Google Home หรือ Amazon Echo เพื่อเช็กระดับแบตเตอรี่ของรถเข็นไฟฟ้าได้ด้วย การสั่งก็จะถามประมาณว่า ‘Alexa ตอนนี้รถเข็นไฟฟ้าแบตเตอรี่เหลือเท่าไหร่’ ตัว LUCI ที่เชื่อมต่อกับรถเข็นไฟฟ้าก็จะส่งข้อมูลไปยังลำโพงอัจฉริยะเหล่านั้นด้วย

จาเร็ดบอกว่า “ผู้ใช้งาน LUCI ควรได้รับการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่คนอื่นๆ สามารถเข้าถึงได้เช่นเดียวกัน ตอนที่เราพัฒนา LUCI เราก็ไปศึกษาว่าระบบการขับเคลื่อนรถยนต์ที่มีเทคโนโลยีอันทันสมัยนั้นทำงานยังไง ซึ่งสิ่งที่ LUCI ทำได้ตอนนี้ก็เหมือนกับรถยนต์ที่มีเทคโนโลยีระดับแถวหน้าของตลาดมีเลย สามารถมองรอบด้านได้ 360 องศา”

รถเข็นไฟฟ้าที่ใช้ LUCI จะสามารถตรวจสอบได้รอบคันว่าตอนนี้มีอะไรอยู่รอบๆ บ้าง โดยเทคโนโลยีนี้จะประมวลผลสภาพแวดล้อมรอบๆ และแปลงค่าให้มันเป็นโซนที่ปลอดภัยและอันตราย มีความคล้ายคลึงกับรถยนต์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยอย่างเทสล่า LUCI สามารถบอกได้เลยว่า ตรงไหนไปได้บ้าง ตรงไหนควรหลีกเลี่ยง ควรเลี้ยวซ้ายขวา ชะลอความเร็ว ฯลฯ 

ข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูกนำมาแสดงบนแอพพลิเคชั่นของ LUCI บนมือถือ สำหรับคนที่ยังพอบังคับรถเข็นไฟฟ้าเองได้บ้างมันก็ช่วยอำนวยความสะดวก แต่สำหรับใครที่บังคับไม่ได้ดีนัก มันจะช่วยบังคับล้อและทิศทางของรถเข็นไฟฟ้าให้ได้ด้วย หรือถ้าไปเจอพื้นที่อันตราย (ต่างระดับ) แล้วไม่ทันระวังก็จะเบรกให้เองด้วย 

แบร์รี่มีอาชีพเป็นนักดนตรีและตอนที่เริ่มสร้างบริษัทคนรอบๆ ตัวต่างบอกว่าอย่าทำเลย แบร์รี่กลับไปเล่าถึงช่วงเวลานั้น

“ผมเป็นนักดนตรี คนแต่งเพลง และคนก็บอกกับผมว่า ‘เฮ้ย นายไม่อยากเข้าไปในพื้นที่ตรงนั้นหรอก นายไม่อยากสร้างบริษัทหรอก แค่รอให้อุตสาหกรรมพัฒนาขึ้นดีกว่าและก็กลับไปมีความสุขกับการเขียนเพลง’ แต่ก่อนที่ผมจะมาอยู่ในอุตสาหกรรมเพลงผมเคยทำงานอื่นมาก่อนและก็หาข้อมูลมาแล้วด้วย”

ด้วยความรักที่มีต่อลูกสาวและความช่วยเหลือจากน้องชาย (จาเร็ด) คุณลุงของแคทเธอรีน แบร์รี่กัดฟันเดินหน้าต่อแม้จะถูกต่อต้านจากคนรอบข้าง

“ผมรู้เลยว่าการพัฒนาของเทคโนโลยีประเภทนี้อาจใช้เวลานานถึง 20 ปี และผมก็ไม่พร้อมจะแลกชีวิตของแคทเธอรีนเพื่อรอให้อุตสาหกรรมหันมาสนใจทำหรอก”

LUCI ได้รับรางวัล ‘Best Inventions of 2020’ ของนิตยสาร Time  และเปิดขายไปในช่วงต้นปี 2021

เสียงตอบรับของ LUCI ในตลาดถือว่าเป็นที่น่าพอใจ ราคาขายอยู่ที่ราว 8,445 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 320,000 บาท ซึ่งถ้าเทียบกับรถเข็นไฟฟ้าที่ขายกันในตลาดที่ราวๆ ล้านกว่าบาทถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคุณและคนที่คุณรักได้อย่างมาก และแน่นอนว่าเมื่อเทคโนโลยีได้ถูกนำไปใช้มากขึ้นและพัฒนาให้ดีขึ้น ราคาจะค่อยๆ ถูกลงเรื่อยๆ 

fortune.com

แบร์รี่บอกว่าคนเรียก LUCI ว่าเป็น ‘disruptor’ หรือสตาร์ทอัพที่มาเขย่าวงการอุตสาหกรรมรถเข็นไฟฟ้า แต่เขาเห็นว่า LUCI เป็น ‘catalyst’ หรือตัวเร่งปฏิกิริยามากกว่า และเงินที่ได้มาเขาก็จะเอากลับมาพัฒนาเทคโนโลยีนี้ต่อ ทำให้มันดีที่สุด มากขึ้นเรื่อยๆ และหวังว่าจะเป็นตัวดึงดูดให้บริษัทอื่นเข้ามาทำด้วย

เพราะเขาทราบดีว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ใช่เพียงเพื่ออนาคตที่ปลอดภัยและมีความสุขมากขึ้นของผู้ใช้งานของ LUCI เท่านั้น แต่เป็นอนาคตที่ปลอดภัยและเต็มไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขของคนที่เขารักที่สุด

นั่นก็คือแคทเธอรีนนั่นเอง

อ้างอิง

Writer

คุณพ่อลูกหนึ่งจากเชียงใหม่ที่รักการเขียน การอ่าน และการดองหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ หลงใหลเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจและเป้าหมายการทำงานที่เป็นมากกว่าแค่ผลกำไรและทำงานหนักจนลืมความหมายของการมีชีวิตอยู่

You Might Also Like