ปลั๊กอิน

คุยกับ Anitech เครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติไทย กับวิธีทำให้ปลั๊กไฟของแบรนด์ เป็นของใช้สามัญประจำ (หลาย) บ้าน

ลองมองไปรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ทำงาน เชื่อว่าหลายคนน่าจะพบเจอกับสินค้าของ Anitech เป็นแน่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องครัว แก็ดเจ็ตทั้งหลายบนโต๊ะทำงาน หรือของใช้ที่ในอดีตหลายคนคิดว่าไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่มีแบรนด์ก็ได้อย่าง ‘ปลั๊กไฟ’

ด้วยดีไซน์ของสินค้าประกอบกับชื่อรวมถึงภาษาญี่ปุ่นที่อยู่ด้านล่างของโลโก้ หลายคนจึงยังอาจไม่รู้ว่าอันที่จริงแล้ว Anitech คือแบรนด์ของคนไทยขนานแท้ที่ก่อตั้งโดย พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี มาตั้งแต่ปี 2006

Anitech

จากจุดเริ่มต้นที่เดินทางไปฝรั่งเศสตอนอายุ 22 โดยการชักชวนของคนรู้จักให้ไปทำงานเกี่ยวกับด้าน computer engineering ที่ปารีส กระทั่งอายุ 24 จึงบินกลับบ้านเกิดเพื่อทำธุรกิจ OEM (original equipment manufacturer คือการรับจ้างผลิตสินค้าให้คนอื่นเอาไปขายในแบรนด์ของตัวเอง) ที่ผลิตการ์ดรีดเดอร์ เมาส์ คีย์บอร์ด และแก็ดเจ็ตต่างๆ ส่งให้กับหลายแบรนด์ดัง จนมาถึงอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือเมื่อตอนอายุ 27 ที่ได้ขยับขยายมาทำแบรนด์ของตัวเองที่ใช้ชื่อว่า ‘Anitech’ ซึ่งมาจากคำว่า Any Technology โดยมีเมาส์เป็นสินค้าชิ้นแรกของแบรนด์ แล้วจึงต่อยอดมาเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกมากมาย จนมาถึงของใช้สามัญประจำหลายบ้านอย่างปลั๊กไฟที่สุดท้ายเป็นสินค้าที่ขายไปแล้วไม่น่าจะต่ำกว่า 5 ล้านชิ้น

จากเรื่องราวข้างต้นที่เดินทางไปฝรั่งเศสตอนอายุ 22 ทำ OEM ตอนอายุ 24 ทำแบรนด์ของตัวเองตอน 27 ไม่แปลกถ้าใครจะคิดว่าเขาน่าจะเกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่มีเงินถุงเงินถังจนกลายเป็นต้นทุนสำคัญผลักดันให้เขาเดินมาถึงทุกวันนี้ได้ ทว่าความจริงไม่ใช่อย่างนั้น

พิชเยนทร์บอกกับเราว่าเขาคือเด็กธรรมดาที่เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางทั่วไป พ่อเป็นข้าราชการเป็นอาจารย์สอนด้านวิศวะ ส่วนแม่เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ เรียนในโรงเรียนไทยทั่วไป และจบมาได้ด้วยการที่แม่ของเขากู้สหกรณ์มาส่งเขาเรียน

แต่ต้นทุนสำคัญที่ผลักดันให้เขาเดินมาถึงทุกวันนี้คือการได้เห็นอุปกรณ์เทคโนโลยีล้ำๆ ซึ่งเป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการสอนของพ่อ รวมถึงเหล่าลูกศิษย์ลูกหาที่มักจะแวะเวียนมาที่บ้านและพูดคุยในภาษาคอมพิวเตอร์กับพ่ออยู่บ่อยครั้ง เด็กชายพิชเยนทร์จึงซึมซับสิ่งเหล่านี้เข้ามาทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นส่วนสำคัญที่หล่อหลอมให้เขาชื่นชอบและสนใจเรื่องเทคโนโลยีมาตั้งแต่วัยเด็ก

ส่วนที่เขาได้เดินทางไปทำงานที่ฝรั่งเศสเมื่อตอนอายุ 22 ก็เกิดขึ้นเพราะเพื่อนของแม่ชาวฝรั่งเศสซึ่งทำงานเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์มาเที่ยวที่ไทย พิชเยนทร์จึงได้รับหน้าที่เป็นไกด์ และด้วยนิสัยบวกกับพื้นเพความสนใจในเรื่องเทคโนโลยีเป็นทุนเดิมของพิชเยนทร์ ทำให้ทั้งสองคนรู้สึกจูนกันติดจนเพื่อนของแม่คนนั้นชวนเขาไปทำงานที่ปารีสด้วย

ด้วยความเป็นคนฐานะปานกลางพิชเยนทร์จึงบอกกับเพื่อนแม่คนดังกล่าวว่าเขาคงไม่มีเงิน 4-5 หมื่นบินไปหรอก ถ้าอยากให้ไปทำงานด้วยก็ส่งตั๋วมา เพื่อนของแม่ก็ทำตามคำขอของเขา 

ในวันนั้นที่ไม่มีใครรู้เลยว่ามันจะเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางของ Anitech

Anitech

ย้อนกลับไปคิดว่าทำไมตอนนั้นเขาจึงชวนคุณไปทำงานที่ฝรั่งเศส แล้วทำไมคุณจึงกล้าตัดสินใจไป

นาทีที่เขาชวนผมไปมันเกิดจากการที่ผมเรียนรู้อะไรบางอย่างเกี่ยวกับเทคโนโลยีได้ไวในระดับหนึ่ง ส่วนที่ตัดสินใจไปเพราะคิดแค่ว่าได้ไปปารีสก็เป็นอะไรที่ดีมากแล้ว ตอนนั้นอายุ 22 อยู่ในช่วงเรียนจบใหม่ๆ มีโอกาสอะไรก็คว้าไว้หมด

ตอนทำงานที่ฝรั่งเศสเหมือนภาพที่คิดไว้ก่อนไปไหม

ภาพที่เราวาดฝันถึงปารีสไว้คือความสวยหรู แต่พอไปถึงจริงผมเป็นปลาช็อกน้ำเลย คือเพื่อนแม่ที่เป็นชาวฝรั่งเศสคนนั้นนิสัยเขาเหมือนคนไทย มีความเห็นอกเห็นใจ มีน้ำใจต่างๆ นานา 

แต่พอไปเจอคนอื่นๆ นี่ไม่ใช่เลย พวกเขาเย็นชาเหมือนสภาพอากาศ เล่นมุกอะไรไปก็ไม่มีใครตอบ ตอนไปถึงแรกๆ เขาไม่เรียกชื่อผมนะ เขาเรียกไอ้เอเชีย คือเขาไม่สนใจอะไรไปมากกว่าการจะทำยังไงให้โปรเจกต์มันสำเร็จ เพราะไม่ได้มีแค่ผมคนเดียวเท่านั้นที่มาจากต่างที่ คนอื่นก็เช่นกัน และจุดมุ่งหมายที่ทำให้ทุกคนมาร่วมตัวกันที่นี่ก็เพื่อไขว้คว้าหาความสำเร็จ

เพื่อนแม่คนที่ชวนมาก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ช่วยเหลือนะ แต่พอไปอยู่ตรงนั้นจริงๆ เราไม่สามารถให้ใครมาช่วยเหลือได้ตลอดเวลา เพราะถ้ายิ่งร้องขอความเห็นใจมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้รับการดูถูกมากเท่านั้น

Anitech

แล้วคุณปรับตัวยังไง 

ผมว่ามันก็เหมือนทีมฟุตบอล ดูว่ามีตำแหน่งตรงไหนที่ว่างพอจะให้เราลงไปเล่นได้ พอมองไปกองหน้าก็เก่ง ปีกก็เก่ง งั้นเราเล่นแบ็กได้ไหม 

วันที่ไปถึงผมก็เห็นว่ามันมีคนโค้ดดิ้ง มีคนเก่งๆ กี๊กๆ อยู่หมดแล้ว เขาทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเองหมด แต่ไอ้การทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเองหมดนี่แหละ เป็นช่องว่างให้ผมแทรกตัวลงไปเล่นได้

แทรกตัวยังไง

เพราะมนุษย์เรามีแรงมีเวลาที่จำกัด การทำเองทุกอย่างตั้งแต่โค้ดดิ้งเอง บัดกรีเอง เอาของขึ้นเว็บไซต์เอง ส่งของเอง วางบิลเอง มันทำให้ไม่ให้สามารถขยายธุรกิจได้

แล้วเมืองไทยเรามีข้อดีตรงนี้ มีเอาต์ซอร์ซที่เราเก่งมาก ผมเลยบอกกับทีมว่าสิ่งที่ยูทำอยู่เนี่ย ไอจะเอากลับมาผลิตที่เมืองไทยเอง สุดท้ายมันก็โตสิบเท่า เพราะพอเปลี่ยนมาผลิตที่ไทยต้นทุนถูกลงจากหลักพันเหลือประมาณหลักสิบ แถมทำได้ในปริมาณที่เยอะขึ้นด้วย

ไปๆ กลับๆ ฝรั่งเศสได้อยู่สองปีเพราะผมไม่มีวีซ่าทำงาน ก็กลับมาไทยมาทำงานในบริษัทสินค้าอุปโภค บริโภค ซึ่งผมทำงานเป็นพนักงานประจำมาสิบกว่าปีเลยนะ

Anitech

แล้วคุณเริ่มทำ OEM ตอนไหน

ก็ทำตอนที่ทำงานประจำไปด้วยนั่นแหละ เราเอาความรู้ที่สั่งสมมาทำ OEM ที่ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการ์ดรีดเดอร์ เมาส์ หูฟัง คีย์บอร์ด ส่งให้กับแบรนด์ดังทั้งหลาย ซึ่งต้องบอกว่าการทำ OEM ของผม ไม่ได้เป็นการสร้างโรงงานขึ้นมาหรือลงทุนซื้อเครื่องจักรด้วยตัวเองนะ เพราะถ้าผมทำโรงงานเองมันจะผลิตสินค้าได้แค่แบบเดียว แต่ถ้าไปผลิตที่จีนเขามีซัพพลายเชนครบ จะทำอะไรที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ก็มีให้เราหมดเลย เห็นแล้วตาเบิกโพลงมาก เอาเป็นว่าโรงงานเล็กๆ ของเขาเนี่ยใหญ่กว่าโรงงานใหญ่ๆ ในบ้านเราอีก คือมีเงินเยอะแค่ไหนก็สู้จีนไม่ได้หรอก เพราะ capacity เขาสูงมาก บางโรงงานใหญ่จนผมนึกว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรม 

ผมก็เลยเลือกไปผลิตที่จีนแล้วให้โรงงานที่จีนทำตามสเปกแบบที่เรากำหนดไว้ ส่วนเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดก็เอาไปทุ่มกับส่วนที่เป็น R&D เอาไปพัฒนาสินค้าแทน ผมไปจีนตั้งแต่ประมาณ 20 ปีที่แล้ว ไปตั้งแต่การเดินทางจากเซินเจิ้นไปกว่างโจวใช้เวลาตั้ง 3 ชั่วโมง เพราะสมัยนั้นถนนหนทางยังไม่ดีเท่าไหร่ 

จากนั้นก็ใช้วิธีไปเสนอขายให้กับแบรนด์ต่างๆ ด้วยความที่ผมทำงานในบริษัทเกี่ยวกับสินค้าอุปโภค บริโภค ก็เลยทำให้มีความเข้าใจในธุรกิจ และทำให้จับจุดได้ว่าเราต้องสื่อสารยังไงที่จะทำให้ฝ่ายจัดซื้อรู้สึกว่าเราสามารถผลิตสินค้าที่เหมาะกับความเป็นแบรนด์ของเขาได้ บวกกับตอนนั้นยังไม่มีบริษัทไทยที่ไหนทำ OEM แบบเดียวกับที่ผมทำ เลยทำให้ผมได้เกือบทุกงานที่เอาไปนำเสนอ

Anitech

ถึงจะไม่ได้ลงทุนทำโรงงาน ไม่ได้ซื้อเครื่องจักรด้วยตัวเอง แต่การทำ OEM ก็ดูไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนวัย 24 ตอนนั้นเอาความกล้ามาจากไหน

ผมว่ามันคือความเป็นสปิริตของคนหนุ่มสาว คือความไม่รู้ ไม่รู้ว่าจะต้องวางบิลยังไง ไม่รู้ว่าต้องจัดการแคชโฟลว์แบบไหน เรารู้แค่ในสิ่งที่เราคิดไปเองว่ามันจะเป็นแบบโน้นแบบนี้ เรื่องความกลัวในตอนนั้นมีน้อยมากๆ โดยเฉพาะคนที่ไม่มีอะไรแบบผมเนี่ย มันนึกไม่ออกว่าถ้าผิดพลาดแล้วจะมีอะไรแย่ไปกว่าที่เป็นอยู่ หรือแย่ไปกว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน

จริงๆ ตอนนั้นไม่มีคำว่าถ้าแย่กว่านี้แล้วจะเป็นยังไงด้วยซ้ำ มันมีแต่คำว่าถ้าทำได้นะเราจะได้ถอยรถใหม่ จะซื้อนู่นซื้อนี่ ตอนนั้นคิดแค่นั้นเลยจริงๆ

เมื่อ OEM ไปได้สวย แล้วทำไมถึงหันมาทำแบรนด์ Anitech ของตัวเอง 

ตอนทำ OEM นี่เหมือนถังน้ำมันเลย ออร์เดอร์หลักล้านถือเป็นเรื่องปกติ จนมีอยู่ช่วงนึงที่เห็นว่าแบรนด์ที่ผมทำ OEM ให้เขาค่อยๆ ลดราคาขายลงเรื่อยๆ อย่างคอมพิวเตอร์จากเดิมขายอยู่ที่ 7 หมื่น ก็ค่อยๆ ลดลงมาเหลือ 5 หมื่น สุดท้ายลงมาอยู่ที่ 3 หมื่น เห็นแบบนี้ก็เลยทำให้รู้สึกว่า เฮ่ย ถ้าเขาลดราคาขาย แล้วสุดท้ายเขาจะไม่มากดราคากับเราหรือ มันเป็น logic ปกติมากๆ และคิดว่าสักวันมันจะกระทบกับเราแน่ๆ 

แล้วสารพัด pain point อะไรที่คนทำ OEM เขาเจอกันผมก็เจอหมด ทั้งโดนกดราคา สั่งสินค้าแล้วยังไม่เอา สั่งของไว้เยอะๆ แล้วยังไม่เรียกใช้ ในที่สุดเงินก็จม แคชโฟลว์ก็เริ่มไม่โฟลว์ เลยต้องหาทางออกว่าจะทำยังไง สุดท้ายก็ได้คำตอบว่าต้องสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองขึ้นมา

ทำ OEM กับทำแบรนด์แตกต่างกันมากน้อยขนาดไหน 

ต่างกันมาก (เน้นเสียง) แค่เรื่องคุยกับลูกค้าก็ต่างกันมากแล้ว อย่างตอนทำ OEM คนที่ผมต้องดีลด้วยคือฝ่ายจัดซื้อขององค์กร แม้เขาจะไม่ชอบเราขนาดไหน แต่ด้วยหัวโขนความเป็นพนักงานจากองค์กร ยังไงแล้วเขาก็จะพูดจาดีกับเรา จะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้

ซึ่งพอมาถึงวันที่ผมทำแบรนด์เป็นของตัวเองแล้วเดินไปตามตู้ตามร้านค้าต่างๆ ในตึกไอทีทั้งหลายมันเป็นอีกโลกนึงเลย ถ้าเขาไม่โอเคเขาโยนนามบัตรเราทิ้งต่อหน้าเลยก็มี แต่ก็ถือเป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องของโลกธุรกิจในมิติที่หลากหลายมากขึ้น

สินค้าแรกภายใต้แบรนด์ Anitech คืออะไร 

เมาส์ แล้วก็ตามมาด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยีทั้งหลายที่เคยทำตอนเป็น OEM

Anitech

แล้วสินค้าที่ขายดีที่สุดคืออะไร 

ปลั๊กไฟ คิดเป็น 30% ของยอดขายทั้งหมดในตอนนี้ ปีนึงขายไปประมาณ 5-6 แสนชิ้นได้

ตอนนั้นทำไมถึงเริ่มอยากขายปลั๊กไฟ มองเห็นโอกาสอะไร

มันมาจากความคิดที่ผมอยากจะสร้างการเติบโตในธุรกิจ ซึ่งการออกสินค้าใหม่ช่วยเรื่องนี้ได้ จนกระทั่งวันหนึ่งหันไปเห็นปลั๊กไฟในบ้านแล้วก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่า เอ๊ะทำไมมันเป็นของที่มีปัญหาเยอะจัง ดีไซน์ก็ไม่ค่อยสวย บางทีก็ลัดวงจร เสียบไปก็มีไฟสปาร์กออกมา มันก็เลยสปาร์กความคิดผมว่าถ้าไม่มีใครทำปลั๊กดีๆ ขาย งั้นเดี๋ยวผมทำเอง พอคนรอบข้างรู้ว่าจะทำปลั๊กไฟขาย เขาก็บอกผมว่าอย่ามาบ้าทำเลย เพราะไอ้ที่ขายอยู่ในท้องตลาดมัน 80-90 บาท แล้วผมจะเอาอะไรไปสู้กับเขา

แต่เวลาจะปล่อยสินค้าใหม่แต่ละครั้งจะต้องมีการคำนวณว่ามีจำนวนผู้ใช้เท่าไหร่ มาร์เก็ตไซส์เท่าไหร่ ซึ่งปลั๊กไฟเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์เรื่องนี้ มาร์เก็ตไซส์ขนาดใหญ่มาก เพราะไม่ว่าบ้านไหนก็ต้องใช้ปลั๊กกันทั้งนั้น

สุดท้ายเลยตัดสินใจทำมันขึ้นมา ใช้เวลาในการ R&D นาน 2 ปี ที่ใช้เวลานานขนาดนี้เพราะคนอื่นไม่ได้อินกับผมมากเท่าไหร่ (หัวเราะ) ก็เลยต้องนั่งทำคนเดียวทั้งหมด อย่างที่บอกไม่มีใครคิดว่าปลั๊กราคาเกือบ 300 จะขายได้ เลยต้องทำเองทุกอย่างตั้งแต่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ดีไซน์ให้มีความโค้งมนมีสีสันต่างๆ แล้วก็พัฒนามาเรื่อยๆ จากปลั๊กที่มีสวิตช์อันเดียว เป็นสวิตช์หลายอัน เพิ่มช่องเสียบ USB หรือปลั๊ก IOT ที่สั่งเปิด-ปิดจากมือถือได้

Anitech

คิดว่าอะไรที่ทำให้สินค้าแสนธรรมดาอย่างปลั๊กไฟ กลายเป็นของขายดีที่สุดของแบรนด์

อาจเป็นเพราะความธรรมดาของมันนี่แหละ ตำราธุรกิจหลายเล่มบอกว่าถ้าอยากประสบความสำเร็จจะต้องทำแบรนด์ทำสินค้าให้เข้าไปอยู่ในใจผู้คนให้ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไรหรอก เพียงแต่ความสำเร็จในความหมายของ Anitech มันอาจจะแตกต่างออกไป เป็นความเรียบง่ายธรรมดา ไม่ต้องหวือหวา ไม่ต้องอยู่ในใจ แต่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนได้ก็เพียงพอ

เปรียบเทียบให้เห็นภาพก็เหมือนเวลาซื้อมือถือใหม่มาที่จะต้องดูแล้วดูอีกเป็นของที่ทะนุถนอมสุดๆ แต่ปลั๊กไฟของ Anitech ไม่ใช่แบบนั้น เรารู้ดีว่ามันเป็นแค่องค์ประกอบในชีวิตของผู้คน คือไม่ได้เห่อ ไม่ได้ดีใจเวลาซื้อมาใหม่ เพียงแต่เวลาใช้แล้วรู้สึกปลอดภัย อยู่ในชีวิตประจำวันทั่วไป เวลาใช้ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่พออยากได้ของใหม่ก็จะมาซื้อของเราซ้ำอีก

อีกอย่างมันอาจเป็นเพราะตัวสินค้าสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันของผู้คนได้ คือก่อนหน้าที่ Anitech จะทำปลั๊กออกมา ต้องบอกว่าคนไทยส่วนใหญ่คุ้นชินกับปลั๊กสีขาว-ดำ ไม่เคยรู้จักว่าปลั๊กมันสามารถเป็นสีชมพูเป็นสีสันต่างๆ ได้

สังเกตหลายๆ บ้านวางเครื่องเสียงตัวละแสน วางทีวีจอบางเป็นหมื่นไว้ที่ห้องรับแขก แต่ปลั๊กซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อทั้งสองอย่างกลับถูกเอาไปซ่อนอยู่ข้างหลังเพราะมันไม่สวย ผมก็เลยเลือกที่จะทำให้มันสวย ให้มันเป็นของตกแต่งบ้านได้

การที่ปลั๊กไฟสำเร็จแบบที่เราเชื่อ ความรู้สึกเป็นยังไง

ผมว่ามันมีทั้งสองด้านนะ ด้านแรกคือเวลาเราจะทำโปรเจกต์ใหม่ๆ แล้วมีความไม่มั่นใจบางอย่าง เราก็จะใช้ปลั๊กเป็นตัวเปรียบเทียบว่าเราก็เคยทำสิ่งใหม่ๆ สำเร็จมาแล้วนะ มันเป็นสิ่งที่ใช้อินสไปร์ทีมงานได้ 

ส่วนอีกมุมนึงมันก็เป็นกับดักความสำเร็จที่ทำให้พอเราทำโปรเจกต์ใหม่ๆ ก็อาจจะมีการ์ดตกไปบ้าง ตอนปล่อยออกมาตลาดก็อาจจะไม่ได้ยอมรับเหมือนอย่างที่เราคาดไว้ ถามว่าเฟลไหม ก็คงไม่ได้เฟลอะไรมาก แต่แค่รู้สึกว่าเรื่องปลั๊กเรื่องเดียวมันสอนเราทั้งสองแง่มุมเลย

เมื่อปลั๊กไฟไม่ใช่สิ่งที่คนซื้อกันบ่อยๆ คุณทำยังไงให้ปลั๊กไฟเป็นสินค้าขายดีอันดับ 1 ของแบรนด์ 

เมื่อก่อนแต่ละบ้านจะมีทีวีไม่กี่เครื่อง มีเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่กี่อย่าง แต่ปัจจุบันที่ราคาของเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ถูกลง บวกกับยุคอินเทอร์เน็ตที่ทำให้คนๆ นึงมีอุปกรณ์ไฟฟ้ามากกว่าหนึ่งอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ และอะไรต่างๆ อีกมากมาย ฉะนั้นการมีปลั๊กพ่วงจำนวนเท่าเดิมมันไม่เพียงพออีกต่อไป ก็เลยทำให้ความต้องการในการใช้ปลั๊กไฟมีมากขึ้นตามไปด้วย

อะไรคือจุดร่วมที่ทั้งปลั๊กไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าหลายๆ อย่างของ Anitech มีร่วมกัน 

จริงๆ มีอยู่ทั้งหมด 3 ข้อด้วยกัน ข้อแรกคือเรื่องดีไซน์ที่สวยงามและใช้งานในชีวิตประจำวันได้แบบง่ายๆ ยกตัวอย่างตอนเริ่มทำเมาส์ ถ้าจำกันได้เมื่อก่อนเมาส์ที่มีวางขายในท้องตลาดมีแต่ตัวใหญ่ๆ ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะมันถูกผลิตมาจากตะวันตกก็เลยต้องดีไซน์ให้เข้ากับมือและการใช้งานของชาวตะวันตก 

แต่ลองคิดดูดีๆ คนทำงานวันๆ นึงจับเมาส์มากกว่าจับมือแฟนอีกนะ ผมก็เลยมาทำเมาส์ให้มันดูเล็กลง เหมาะกับมือคนไทยมากขึ้น หรืออย่างปลั๊กไฟเองก็ทำดีไซน์ให้มันสวยงามจากที่เคยเป็นของที่หลบอยู่มุมห้อง ก็เอาขึ้นมาโชว์บนโต๊ะทำงานได้

ข้อสองคือการันตีที่สินค้าของเราสามารถเคลมได้ เพราะการมีการันตีก็ถือเป็นการยืนยันคุณภาพของสินค้าไปได้โดยปริยาย ที่กล้ามีการันตีเพราะสินค้าแต่ละชิ้นใช้เวลา R&D กับมันนานมาก ซึ่งตั้งแต่แบรนด์มา 15 ปี เรามีปริมาณการเคลมสินค้าอยู่แค่ประมาณ 0.7% ติดต่อกันมาจะ 10 ปีแล้วคิดง่ายๆ สินค้า 1,000 มีของส่งกลับมาเคลมแค่ 6-7 ชิ้นเท่านั้น 

ข้อสุดท้ายคือความหลากหลาย เพราะผมตั้งใจอยากจะทำให้ Anitech เป็นสินค้าที่ยกระดับชีวิตของผู้คน ซึ่งถ้าจะทำแบบนั้นได้จำเป็นต้องมีสินค้าที่หลากหลายอยู่รอบตัวของเขา ไม่ใช่ทำแค่อย่างเดียวแล้วก็จบ

และในมุมธุรกิจการทำสินค้าที่หลากหลายก็สามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้ด้วย ดูอย่างหลายแบรนด์ในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ เขาไม่ได้ขายของอย่างเดียวแล้วก็จบ เขาทำสินค้าหลายอย่าง มีของหลากหลาย SKU เพื่อสร้าง ecosystem ของแบรนด์ให้กับผู้คน

ทุกวันนี้เวลาเห็นผู้คนใช้ของ Anitech ในชีวิตประจำวันคุณรู้สึกยังไง 

เหมือนได้รางวัล

Writer

บรรณาธิการธุรกิจ มีความสนใจเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาด และชื่นชอบการเข้าโรงงานเพื่อดูเบื้องหลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง

Photographer

ช่างภาพและ baker ฝึกหัด

You Might Also Like