‘เลย์ออฟ’ และ ‘กักตุน’ พนักงาน วิกฤตเรื่องคนที่หลายบริษัทกำลังเผชิญ ท่ามกลางเศรษฐกิจอันไม่แน่นอน

เงินเฟ้อ เศรษฐกิจถดถอย นโยบายช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ เริ่มหมดลงหลังโควิดคลี่คลาย เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในช่วงปลายปี 2022 ถึงต้นปี 2023 ที่ผ่านมา เราจึงเห็นบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ปลดพนักงานกันระนาว ไม่ว่าจะเป็น Meta, Spotify, Paypal หรือ Microsoft ก็ตาม 

ทว่าวิกฤตการปลดคนไม่เพียงเกิดขึ้นแค่ในวงการเทคโนโลยี แต่ยังลามมาถึงธุรกิจรีเทลด้วยเช่นกันไม่ว่าจะเป็น

Gap–แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นชื่อดังเตรียมเลิกจ้างพนักงานเพิ่มอีกกว่า 1,800 ตำแหน่ง หลังจากเมื่อเดือนกันยายนในปี 2565 Gap ได้ปลดพนักงานไปแล้วกว่า 500 คน

Whole Foods–เชนร้านขายสินค้าออร์แกนิกที่ Amazon ได้ไปซื้อธุรกิจมาเป็นของตัวเมื่อ 5 ปีก่อน ก็เตรียมที่จะปลดพนักงานอีกหลายร้อยคน ซึ่งกระทบไปถึงพนักงานที่อยู่ในตำแหน่งผู้จัดการระดับภูมิภาคด้วย 

Walmart–บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ก็ได้เลิกจ้างพนักงานในร้านค้าหลายแห่ง รวมๆ แล้วเกือบพันตำแหน่ง ทั้งพนักงานที่อยู่หน้าร้าน รวมไปถึงพนักงานในฝั่งของ e-Commerce 

3 บริษัทนี้เป็นเพียงการยกตัวอย่างแบรนด์ที่คนไทยพอจะคุ้นหูมาให้เห็นภาพเท่านั้น ซึ่งอันที่จริงแล้วยังมีธุรกิจรีเทลอีกมากมายที่ปลดพนักงานออกเป็นหลักร้อยทั้ง Blue Nile บริษัทเครื่องประดับที่เตรียมเลย์ออฟพนักงาน 119 คน, Zulily ร้านค้าปลีกออนไลน์ลดพนักงานจำนวนเกือบ 2,000 คนเพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัท, Stitch Fix ร้านค้าแฟชั่นออนไลน์ที่มีสไตล์ลิสต์ส่วนตัวเป็นบริการเสริม ก็ได้ตัดพนักงานออกจำนวน 1,700 ตำแหน่งด้วยเหตุผลยอดขายที่ชะลอตัวและฐานลูกค้าที่หดตัวลง 

ที่น่าตกใจคือทั้งหมดทั้งมวลที่ได้เล่ามานี้เป็นเหตุการณ์ปลดพนักงานที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งหากรวมกับการเลย์ออฟพนักงานในวงการบิ๊กเทค นั่นหมายความว่าในระยะเวลาเพียง 4 เดือน มีพนักงานเป็นแสนชีวิตที่ต้องตกงาน

ท่ามกลางสถานการณ์การเลย์ออฟคนออกของหลายบริษัททั่วโลก ยังมีคำคำนึงที่มีความหมายตรงกันข้ามผุดขึ้นมา นั่นคือคำว่า ‘labor hoarding’ หรือหมายถึงการกักตุนแรงงาน

คำว่า labor hoarding ถูกบัญญัติขึ้นมาในปี 1960 โดยนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อว่า Arthur Okun โดย labor hoarding หมายถึงแม้จะมีภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่บริษัทก็ยังไม่ไล่พนักงานออก ยังเลี้ยงพนักงานเอาไว้ เพราะกลัวว่าจะขาดแคลนพนักงานเมื่อธุรกิจฟื้นตัวในที่สุด อย่างในช่วงโควิดที่หลายบริษัททยอยปลดพนักงาน แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้าน เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว หลายธุรกิจกลับไม่สามารถหาพนักงานมาตอบสนองการฟื้นตัวของธุรกิจได้ทัน ก็ทำให้เสียโอกาสต่างๆ ในธุรกิจไปไม่น้อย 

เช่นเดียวกับคำอธิบายของ Heidi Shierholz นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันนโยบายเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาที่เธอได้พูดถึงคำว่า labor hoarding เอาไว้ว่า

 “พวกเขาจะให้คนงานทำงานต่อไปเพราะพวกเขาเห็นคุณค่าของการแข่งขัน พวกเขาลงทุนในคนงานเหล่านั้น พวกเขาไม่ต้องการปล่อยพวกเขาไปและต้องทำการฝึกอบรมใหม่ราคาแพง โดยจ้างใหม่อีกครั้งเมื่อสิ่งต่างๆ ดีขึ้น”

ตัวอย่างบริษัทที่ได้ทำการกักตุนแรงงานก็อย่างเช่น CarMax บริษัทขายรถยนต์มือสองในอเมริกาที่แม้บริษัทจะมียอดขายลดลง แต่ก็จะไม่ลดจำนวนช่างเทคนิค เพราะหากสถานการณ์เศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น พนักงานเหล่านี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน

หรืออย่าง LVMH บริษัทที่เป็นเจ้าของแบรนด์หรูอย่าง Louis Vuitton, LOEWE, Rimowa, CELINE และอีกมากมายหลายแบรนด์ก็ได้ลงทุนกับพนักงานเป็นเงินจำนวนกว่า 200 ล้านยูโร คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 7 พันกว่าล้านบาท เพื่อฝึกสกิลต่างๆ ให้กับพนักงาน

ท่ามกลางปีแห่งความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจทั่วโลก จะมีบริษัทไหนออกมาปรับลดหรือกักตุนพนักงานกันอีกบ้าง แล้วนอกจากเทคโนโลยีและรีเทล ในอนาคตเหตุการณ์นี้จะลุกลามไปยังอุตสาหกรรมอื่นอีกหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองกันต่อไป 

อ้างอิง

Writer

บรรณาธิการธุรกิจ มีความสนใจเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาด และชื่นชอบการเข้าโรงงานเพื่อดูเบื้องหลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง

You Might Also Like