Music X Change

สุเมธ ยอดแก้ว แห่ง Minimal Records ผู้ฝันเปลี่ยนแปลงวงการดนตรีเชียงใหม่ด้วยการจัด LABBfest.

สิบกว่าปีที่ผ่านมาวงการเพลงอินดี้บ้านเราได้ต้อนรับผลงานเพลงจากวงดนตรีในจังหวัดเชียงใหม่ที่พลัดกันผลิตผลงานออกมาอยู่บนส่วนยอดของชาร์ตเพลงอย่างสม่ำเสมอจนถึงปัจจุบัน

ศิลปินอย่าง Solitude is Bliss, Ska Rangers ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น POLYCAT, electric.neon.lamp, NAP A LEAN, Derdamissyou, Yonlapa, Harmonica Sunrise, Boy Imagine, Migrate to the Ocean, สภาพสุภาพ, Sustainer, Vega, อินธนูและพู่ถุงเท้า ฯลฯ กลายเป็นชื่อที่อยู่ในความจดจำของแฟนเพลง

เพลงจำนวนมากจากศิลปินเชียงใหม่ที่ผลัดกันขึ้นมาอยู่บนชาร์ตเพลงไทยเหล่านี้ เปรียบคล้ายกับปรากฏการณ์ The British Invasion ในช่วงปี 1960 ที่ผลงานเพลงของศิลปินจากเกาะอังกฤษพากันข้ามทะเลขึ้นบกมาเป็นที่นิยมในแผ่นดินอเมริกา

นี่ก็คือ The Northern Invasion ของวงการเพลงไทย

ปรากฏการณ์นี้ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นโดยมีจุดกำเนิดสำคัญหนึ่งอยู่ที่ร้านบาร์ผสมแกลเลอรีและค่ายเพลงเล็กๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีชื่อว่า minimal โดยมี เมธ–สุเมธ ยอดแก้ว ชายผู้เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่คอยช่วยสนับสนุนศิลปินเชียงใหม่ได้ผลิตผลงานคุณภาพออกมา

4 ปีที่ผ่านมานี้เมธยังเข้ามารับผิดชอบในอีกบทบาทกับการเป็นผู้จัดเทศกาลดนตรี LABBfest. งาน International Music Showcase ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง CEA (Creative Economy Agency), และเครือข่ายคนในวงการดนตรี เพื่อจัดงานที่สามารถรวบรวมคนจากอุตสาหกรรมดนตรีจากทั่วทั้งโลกมาไว้ภายในงาน และให้ LABBfest. เป็นเหมือนประตูที่เชื่อมโอกาสให้กับวงดนตรีจากไทยได้ไปแสดงงานที่ต่างประเทศ 

จากความความสำเร็จอย่างมากที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบัน LABBfest. กำลังจะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ในปีนี้ และมีการขยายโอกาสและรวบรวมเครือข่ายอุตสาหกรรมดนตรีจากทั่วโลกให้มาร่วมจำนวนมากกว่าขึ้น

ตลอด 17 ปีที่เมธเคลื่อนไหวในแวดวงดนตรีภายใต้นาม Minimal ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักดนตรีจำนวนมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เขาทำตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวงการดนตรีของไทยไปไม่มากก็น้อย 

เราเชื่อว่าเรื่องราวของเมธ มุมมอง ความคิด และบทบาทของเขาต่อวงการดนตรีตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบันจะเป็นความรู้ที่มีประโยชน์ต่อนักดนตรี คนที่สนใจในอุตสาหกรรมดนตรี รวมถึงแฟนเพลงไทยทุกคน

ตามเราขึ้นเหนือมาที่จังหวัดเชียงใหม่ และฟังเรื่องราวของเมธไปด้วยกัน

กำเนิด Minimal

เราเดินทางมากันที่ย่านสันติธรรมในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งปัจจุบันของบาร์และค่ายเพลง Minimal โดยมีเมธยืนคอยให้บริการอยู่ด้านหลังบาร์คอยเสิร์ฟทั้งเครื่องดื่ม ให้คำปรึกษา และพูดคุยเฮฮา กับนักดนตรีและนักฟังเพลงที่เข้ามา

เมธเริ่มต้นเล่าเรื่องราวของเขาภายหลังจากรินเครื่องดื่มเป็นของแกล้มการสนทนา

มินิมอลแต่แรกเกิดขึ้นมาจากความคิดร่วมกันกับเพื่อนๆ ว่าอยากจะหาร้านนั่งดื่มเงียบๆ กินกันในหมู่เพื่อนฝูง เพราะย้อนไปสมัยนั้นมันมีแต่ร้านผับแข่งกันเสียงดัง ก็เลยพากันขับรถไปหาที่เช่า แล้วก็มาได้ที่ตรงนิมมานเหมินทร์ซอย 13 คือสมัยก่อนนิมมานฯ ยังไม่ดังและมีราคาแพงแบบทุกวันนี้ ตรงที่เราเช่ามันจะเป็นซอยที่เงียบๆ ค่าเช่าก็ไม่แพง ก็เลยตัดสินใจทำร้านที่ตรงนี้เป็นที่แรก เช่าเสร็จอีกเดือนก็เปิดเลยแบบงงๆ วางคอนเซปต์คร่าวๆ กันไว้ว่าเป็นบาร์และแกลเลอรีละกัน เบียร์ที่ขายก็ขายแบบขวดเล็กนะ อย่าไปกินขวดใหญ่มันไม่เท่ (หัวเราะ) ก็เลยเกิดเป็น minimal gallery & bar

“ทีนี้ด้วยความที่เพื่อนฝูงเราส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มนักดนตรี คนทำงานศิลปะ งานสร้างสรรค์ด้านต่างๆ ตัวร้านก็เลยเป็นเหมือนศูนย์รวม เป็นที่แฮงเอาต์ให้ได้มานั่งพูดคุยกันทุกคืน แล้วจู่ๆ ตอนปี 2551 คลื่น Fat Radio ก็ประกาศว่าจะมาจัดคอนเสิร์ต Fat Festival 8 ‘โชว์เหนือ’ ซึ่งจัดที่เชียงใหม่เป็นครั้งแรก พวกเราชาวนักดนตรีก็คุยกันว่าอยากจะทำอัลบั้มไปวางขายในงาน ในเมื่อแฟตมาจัดที่เชียงใหม่นักดนตรีเชียงใหม่มันก็ต้องโชว์ของกันหน่อยสิวะ (หัวเราะ) ก็เลยชวนนักดนตรีต่างๆ มาทำเพลงกันแล้วรวมเป็นอัลบั้ม ชื่อ No Signal Input 2 (2551)”

No Signal Input กลุ่มพี่น้องนักดนตรี
ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้ซีนดนตรีเชียงใหม่มีสีสัน

No Signal Input คือชื่อของโปรเจกต์และกลุ่มนักดนตรีเชียงใหม่ ที่เริ่มต้นมาจากกลุ่มพี่น้องนักดนตรีในชมรมดนตรีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่อยากรวบรวมผลงานเพลงของแต่ละคนมาทำเป็นอัลบั้ม และเกิดเป็นอัลบั้มแรก No Signal Input 1 ในปี 2546 และต่อมาเมื่อ Fat Festival เทศกาลคอนเสิร์ตของคลื่นวิทยุเพลงทางเลือก Fat Radio มาจัดที่เชียงใหม่เป็นครั้งแรก พวกเขาก็รวบรวมผลงานมาจัดทำเป็นอัลบั้มอีกครั้งเพื่อนำไปเผยแพร่และวางขายภายในงาน จนเกิดเป็นอัลบั้ม No Signal Input 2

“หลังจบจากงาน Fat Festival ครั้งนั้นไป กลุ่มนักดนตรีก็เริ่มจะมาประชุมกันที่ร้านมินิมอลกันทุกๆ สัปดาห์ ก็กลายเป็นฐานบัญชาการไป คือพอพวกเราได้ปัดฝุ่นทำเพลงมาขายกัน มันก็เริ่มสนุก ก็มาคุยกันว่าจะทำยังไงกันต่อดี ตอนนั้นพี่โหน่ง (สมชาย ขันอาสา) เจ้าของ HIP Magazine (นิตยสารแจกฟรีในเชียงใหม่) ก็มาชวนกลุ่ม No Signal Input ให้ไปเล่นที่ร้าน Khan A Sa ของเขา เป็นที่แรก ทำให้พวกเราได้มีที่สำหรับเล่นเพลงของตัวเอง และก็ค่อยๆ มีที่อื่นๆ ชวนตามมา

“หลังจากนั้นแต่ละวงก็เริ่มมีผลงานเพลงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการตั้งกติกากันในกลุ่ม No Signal Input ว่า เวลาไปเล่นที่ไหนจะต้องมีเพลงใหม่ ดีไม่ดีไม่รู้ ถ้าไม่เล่นมึงโดนปรับเป็นค่าเบียร์นะ (หัวเราะ) แล้วก็ให้เพื่อนๆ ที่ไปตามเชียร์ตามดูการแสดงคอยช่วยกันคอมเมนต์ แล้วมาปรับกันให้ดีขึ้น พอมีเพลงเยอะขึ้นก็เลยชวนกันทำอัลบั้ม No Signal Input 2.2 (2551)

“ที่เป็นเลข 2.2 เพราะในกลุ่มตกลงกันไว้ว่า No Signal Input จะทำกันเป็นรุ่นๆ แล้วทีนี้มันดันเป็นชื่อวงเดิมที่เคยทำมาแล้ว ก็เลยคิดกันว่างั้นเป็น 2.2 ละกัน และต่อมาก็เกิดไอเดียจัดงานรับสมัครคัดเลือกหาวงดนตรีจากเชียงใหม่ที่มีผลงานเพลงของตนเองให้มาเข้าร่วมกลุ่มเป็น No Signal Input ในแต่ละปี ก็เลยเกิดเป็น No Signal Input รุ่น 3 4 5 กันต่อมาเรื่อยๆ”

การเกิดขึ้นของกลุ่ม No Signal Input ที่ขยายรับสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้ทำให้กลุ่มนักดนตรีในจังหวัดเชียงใหม่มีความแน่นแฟ้น และคอยช่วยเหลือสนับสนุนการทำผลงานเพลงของแต่ละวงออกมา เป็นช่วงเวลาที่วงดนตรีอินดี้จากเชียงใหม่เบ่งบานที่สุด 

No Signal Input นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้โอกาสวงดนตรีหลายวงจากเชียงใหม่ได้แสดงผลงานเพลงของตนเอง และต่อมาก็มีชื่อเสียงโด่งดังมีแฟนเพลงจำนวนมากถึงปัจจุบัน เช่น Ska Rangers ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อและโด่งดังอย่างมากในนาม POLYCAT, Solitude is Bliss, Derdamissyou, Harmonica Sunrise, Migrate to the Ocean, อินธนูและพู่ถุงเท้า, มัชฌิมา, Sirimongkol, สภาพสุภาพ, Vega, Vels, สหายเขียว, สมปอง, Echo Resort และอีกจำนวนมาก

Minimal Records
ค่ายเพลงที่ทำให้วงดนตรีเชียงใหม่ได้ทำอัลบั้มที่บ้านเกิดของตนเอง

เมธเล่าย้อนให้ฟังว่า ต่อมาหลังจากที่กลุ่ม No Signal Input ขยายขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันแต่ละวงในกลุ่มก็เริ่มผลิตผลงานเพลงของตนเองออกมาจนมีจำนวนเพียงพอที่จะสามารถจัดทำเป็นอัลบั้มของวงนั้นๆ เองได้ แต่ก็พบว่าการทำอัลบั้มของแต่ละวงนั้นกลับไม่ใช่เรื่องง่ายเลย 

  “ตอนนั้นสมาชิกในกลุ่มอย่างวง Derdamissyou กับ Harmonica Sunrise ที่มีผลงานของตนเองพอที่จะรวบรวมออกอัลบั้มของตัวเองได้ เราก็เห็นการทำงานของเพื่อนๆ แล้วพบว่าทำไมการจะทำอัลบั้มมันยากจัง เวลาที่เราทำรวมกันในนาม No Signal Input มันง่ายก็เอาเงินทุกคนมารวมกันทำ ขอสปอนเซอร์ก็ง่าย แต่พอเป็นหนึ่งศิลปินกลับขอสปอนเซอร์ได้ยากมาก ช่วงนั้นหลายวงก็เริ่มตัดสินใจย้ายกันไปที่กรุงเทพฯ หาค่ายเพลงอยู่เพื่อที่จะได้ทำอัลบั้มของตนเอง หาโอกาสที่จะทำให้คนรู้จัก”

ณ วันนั้นที่โซเชียลมีเดียยังไม่เป็นที่ใช้กันแพร่หลายอย่างปัจจุบัน บันไดก้าวถัดไปของวงดนตรีที่อยากจะมีชื่อเสียง และได้ทำงานดนตรีของตนเองต่อไป ต่างก็ต้องเลือกเดินทางเพื่อไปหาค่ายเพลงที่กรุงเทพฯ แต่เมื่อเมธได้คุยกับเพื่อนๆ นักดนตรีหลายคนก็พบว่า มันเป็นความจำเป็นที่ต้องไปแม้ว่าจริงๆ แล้ว หลายวงก็ยังอยากที่จะอยู่เชียงใหม่ที่เป็นบ้านเกิดของพวกเขา 

“เราเกิดคำถามขึ้นมาในใจขึ้นมาว่า มันจะมีวิธีไหนไหมที่จะทำให้นักดนตรีเชียงใหม่สามารถทำงาน ทำอัลบั้มกันโดยที่ยังอยู่เชียงใหม่ได้ ทำไมวงดนตรีจากเชียงใหม่หลายวงต้องไปเป็นวงกรุงเทพฯ ถึงจะมีชื่อเสียงล่ะ เราก็มาคิดทบทวนกับตัวเองอยู่พักใหญ่ๆ นะ ว่าแล้วทำยังไงถึงจะทำให้เพื่อนๆ นักดนตรีเราเนี่ยไม่ต้องลำบากในการไปหาสปอนเซอร์มาผลิตอัลบั้ม มันมีวิธีอื่นอีกไหมที่สามารถลงทุนไปแล้วจะได้เงินคืน ไอ้เราก็อยากจะช่วยสนับสนุนเพื่อนแต่เงินกูก็ไม่ค่อยมี”

ระหว่างที่เมธคิดหาวิธีอยู่นั้น เมธก็พบถึงจุดเด่นหนึ่งของความเป็นเชียงใหม่ในเวลานั้น เป็นความสัมพันธ์ของผู้คนในต่างจังหวัดที่ทุกคนแทบจะรู้จักกันหมด เวลาวงดนตรีของเพื่อนๆ ไปเล่นกันที่ไหน ก็จะมีเพื่อนของวงนั้นวงนี้ตามไปดู ไปเชียร์กันจำนวนมาก 

“เราคิดง่ายๆ เลยว่า ถ้าเพื่อนของแต่ละวงช่วยกันสนับสนุนมันก็น่าจะขายได้พอไม่ขาดทุนแล้วนิหว่า ก็เลยเกิดความมั่นใจ และปิ๊งไอเดียขึ้นมา เอาไปบอกพวกเพื่อนๆ 

“เอางี้! เดี๋ยวกูตั้งค่ายเพลง Minimal Records เอามาจากชื่อร้านเลย ทีนี้เราไม่มีเงินเยอะใช่ไหม งั้นกูจะทำเป็นโมเดลสหกรณ์ คือมีเงินกองกลางเป็นทุนให้วงเอาไปทำอัลบั้ม สมมติวงแรกเอาทำอัลบั้มออกมาขายได้คืนทุน ก็เอาเงินนั้นมาคืนส่วนกลางและส่งให้วงอื่นได้ทำอัลบั้มต่อ 

“นี่เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการทำค่ายเพลง Minimal Records ขึ้นมาแบบงูๆ ปลาๆ เมื่อ 12 ปีที่แล้ว”

แจ้งเกิด Minimal ค่ายเพลงเล็กๆ จากเชียงใหม่สู่วงการเพลง

“ช่วงที่เรากำลังก่อตั้งค่าย ตอนนั้นก็ให้วงสภาพสุภาพ กับ Migrate to the Ocean ไปทำเพลงกันเพื่อทำอัลบั้ม แล้วเผอิญว่าน้องๆ Solitude is Bliss ก็เอาเพลงมาเสนอกับเราพอดี เราเห็นศักยภาพของพวกน้อง และตอนนั้นมันก็มีเพลงจำนวนครบทำได้แล้ว ก็เลยตัดสินใจว่างั้นเราจะเดบิวต์กันด้วย Solitude is Bliss ก่อนเลยละกันเป็นอีพีชื่อ Montage (2556) แล้วปรากฏว่าพอปล่อยเพลงออกไปได้รับผลตอบรับที่ดีมากๆ 

“เราเลยได้เงินทุนคืนมาให้สภาพสุภาพ และ Migrate to the Ocean ทำผลงานตามออกมา และจัดงานเปิดตัวค่ายที่ผับแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ขายบัตร 200 สามารถเลือกหนึ่งแผ่นไปได้เลย พวกเพื่อนๆ ของแต่ละวงก็จะมาช่วยกันซื้อและคืนทุน ก็ได้กองกลางส่งให้วงอื่นได้ทำอัลบั้มต่อไป

“เราทำโมเดลขายเพื่อนกันเองไปสักพัก เหมือนเพื่อนมันก็เริ่มเบื่อละ” เมธหัวเราะสนุกก่อนเล่าต่อ “เราเลยต้องเริ่มหันมาลงทุนกับการทำเอ็มวีโปรโมตมากขึ้น โพสต์ทางยูทูบ ทางเฟซบุ๊กต่างๆ และก็เริ่มให้วงไปเล่นตามเทศกาลดนตรีต่างๆ ไปให้คนอื่นๆ นอกจากเชียงใหม่ได้รู้จักมากขึ้น ตอนนั้นก็เลยเกิดงานที่เรายกศิลปินทั้งค่ายไปเล่นกันที่ร้าน Play Yard ที่กรุงเทพฯ อยู่ครั้งหนึ่ง ก็เริ่มมีคนมาเห็น มารู้จักศิลปินจากค่าย Minimal กันมากขึ้น แล้วก็มีคนชวนให้เราไปเล่นที่เทศกาลดนตรี Big Mountain

“ขณะเดียวกันตอนนั้นเป็นยุคที่ร้านผับต่างๆ กำลังเฟื่องฟู มีร้านเกิดขึ้นใหม่ตามจังหวัดต่างๆ เยอะมาก ซึ่งเจ้าของร้านก็เป็นเด็กๆ ที่ชอบฟังเพลงอินดี้ เคยมานั่งเล่นที่ร้านมินิมอลของเรามาก่อน มันก็เลยเป็นคอนเนกชั่นตามต่างจังหวัดที่มาชวนให้วงจากค่ายไปเล่น คนก็เริ่มรู้จักเรามากขึ้นเรื่อยๆ มีงานให้ได้ไปแสดง ได้ไปขายแผ่น”

การมาถึงของกระแสเพลงอินดี้จากเชียงใหม่

ช่วงที่ศิลปินจากค่าย Minimal Records กำลังมีผลงานเป็นที่รู้จักอยู่นั้นเอง วงดนตรีจากเชียงใหม่ที่ย้ายไปหาโอกาสที่กรุงเทพฯ เองก็เริ่มมีผลงานเพลงออกมาในนามค่ายต่างๆ และกลายเป็นเพลงฮิตแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นวง POLYCAT, Musketeers, NAP A LEAN, electric.neon.lamp ทำให้ช่วงนั้นเกิดเป็นกระแสที่นักฟังเพลงจำนวนมากหันมาสนใจวงดนตรีจากเชียงใหม่ขึ้นมา

ช่วงเดียวกันนั้นเอง เลเล่เล้ นักวิจารณ์เพลงที่โด่งดังจากการโพสต์จัดอันดับอัลบั้มเพลงไทยยอดเยี่ยมในแต่ละปีลงบนเว็บ Pantip ก็ได้เลือกให้อัลบั้ม Montage ของ Solitude is Bliss เป็นอันดับ 1 และปีถัดมาอัลบั้มของ Migrate to the Ocean ก็ติดอันดับตามมา แถมทางค่าย Minimal ก็ได้ปล่อยโปรเจกต์อัลบั้มอะคูสติก Minimal’s less (2557) ออกมา ซึ่งเพลง Archimedes ของ Boy Imagine ได้รับเลือกเป็นเพลงยอดเยี่ยมจากสีสัน อะวอร์ดส์ วง Solitude is Bliss เองก็ได้รับรางวัลจากเวทีต่างๆ

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่เมธแค่อยากแก้ไขปัญหาให้กับเพื่อนๆ นักดนตรีเชียงใหม่ ความสำเร็จและเสียงชื่นชมที่มาพร้อมๆ กัน ทำให้ชื่อของ Minimal Records และศิลปินภายในค่าย รวมถึงศิลปินจากเชียงใหม่ได้รับความสนใจขึ้นมาอย่างมาก ถึงขั้นช่วงหนึ่งเคยมีการพยายามหาเหตุผลของกระแสนิยมนี้ และนิยามสิ่งที่เรียกว่า Chiangmai Sound ขึ้นมา 

นับเป็นช่วงเวลาที่วงการดนตรีอินดี้จากเชียงใหม่เบ่งบานที่สุด

ก้าวต่อไปของเมธจึงฝันที่จะขยายการทำงานของค่ายเพลง Minimal ให้สามารถผลักดันศิลปินจากเชียงใหม่ออกมาอีกจำนวนมาก แต่ความฝันนั้นก็ต้องมาสะดุดลง จากสถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น

การล็อกดาวน์ช่วงโควิด
ที่ทำให้เสียงดนตรีจากค่าย Minimal ถูกกดปุ่ม Pause

จากจุดเริ่มต้นที่ทำค่ายขึ้นมา กระแสตอบรับที่เราได้มาในช่วงนั้นมันเกินกว่าที่เราฝันไปมาก กระแสตอนนั้นมันพีคมากๆ เราเห็นแล้วว่า Solitude is Bliss สามารถอยู่ เป็นที่นิยมอย่างมากแล้ว วงอื่นๆ ในค่ายก็มีคนรู้จัก มีคนคอยติดตามผลงาน ตอนนั้นเราก็เลยคิดว่าจะต้องนำเงินทุนมาสนับสนุนศิลปินเชียงใหม่ให้ได้ผลิตผลงานอัลบั้มออกมาเพิ่มเรื่อยๆ ช่วงนั้นทางค่ายก็เลยเริ่มมีวงอย่าง Vels, Vega, Sirimongkol ผลิตผลงานออกมา

“ตอนนั้นเราตั้งใจเอาไว้ว่า ค่ายจะต้องหาอีกสักวงที่สามารถมีผลงานได้รับความนิยมแบบ Solitude is Bliss เพื่อที่ค่ายจะได้มีเงินทุนมาผลักดันวงอื่นๆ ให้ได้ไปต่อได้ยิ่งขึ้น เพราะพูดกันตามตรงว่า ค่ายเราก็ไม่ได้มีกำลังมากมาย พอเราขยายโปรเจกต์การทำงานของค่ายมากขึ้น มีจำนวนศิลปินในค่ายเยอะขึ้น ค่าใช้จ่ายต่างๆ มันก็เพิ่มขึ้นตามมา เราก็ค่อยๆ หาวิธีจัดการไป ตอนนั้นเราก็เลยมีการฟอร์มทีมทำเพลงขึ้นมาเพื่อทำวงดนตรีวงหนึ่งขึ้นมา โดยชวนน้องผู้หญิงคนหนึ่งที่มาเล่นโฟล์คซองอยู่ที่ร้าน Minimal เป็นประจำให้มาเป็นนักร้อง จนเกิดเป็นโปรเจกต์วง Yonlapa ขึ้นมา”

เมธหยุดนิ่งไปชั่วครู่ ก่อนจะพูดต่อด้วยน้ำเสียงที่หม่นขึ้น

“ขณะที่เรากำลังวาดฝันและกำลังลงมือทำก้าวถัดไปของค่าย Minimal อยู่นั้นเอง จู่ๆ ก็เกิดฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมา…”

สายฟ้าฟาดที่เปรี้ยงลงมาใส่ค่าย Minimal Records ที่เมธหมายถึงนั้นก็คือ การมาถึงของโรคระบาดโควิด 19 ที่มาพร้อมกับการประกาศล็อคดาวน์ทั้งประเทศ ไม่ให้มีการจัดงานคอนเสิร์ตหรือกิจกรรมที่มีการรวมคนเป็นหมู่มาก

“ข้อห้ามต่างๆ ที่ประกาศออกมา มันปิดทุกช่องทางการทำมาหากินของนักดนตรีไปเลย นักดนตรีทั้งประเทศตกงานกันเป็นแถบๆ ตอนระลอกแรกเราคิดว่ามันคงจะไม่นานมากหรอก เราก็เลยพยายามหาวิธีที่จะช่วยโปรโมตผลงานเพลงของน้องๆ ในค่าย ก็ไปเห็นว่าที่กรุงเทพมีการทำคอนเสิร์ตออนไลน์กัน ก็เกิดอารมณ์แบบว่าถ้ากรุงเทพมี เชียงใหม่มันก็ต้องมีบ้างสิวะ ก็อยู่ดีไม่ว่าดีหมดเงินไปอีกหลายหมื่นจุดคอนเสิร์ตออนไลน์ให้กับศิลปินในค่าย แต่ตอนจัดมันสนุกมากเลยนะ ขายบัตรได้แล้วก็ส่งโค้ดให้คนเข้ามาชม มีคนนั่งกินหมูกระทะและชมศิลปินเล่นไปด้วย โคตรเปิดมิติใหม่เลย 

“แต่เราไม่ทันคิดว่ามันจะมีระลอกสอง ระลอกสามตามมาที่กินเวลายาวนานมาก ก็เรียบร้อย ล่มจมสิครับ” เมธหัวเราะเจื่อนๆ

จากความพยายามแรกของเมธที่ตั้งใจจะขยับขยายการทำงานของค่าย เปิดรับวงดนตรีเข้ามาในค่ายเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะช่วยสนับสนุนวงดนตรีเชียงใหม่ยิ่งขึ้น พอเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ฝันที่เมธวาดไว้ให้เป็นก้าวถัดไปก็เหมือนโดนตัดตอน

“จากที่มีแผนจะทำโปรเจกต์นั้นนี่ พอระลอกสองมันเริ่มยืดยาว กลายเป็นว่าตัวค่ายเราลำบากอย่างมาก แต่เดิมเราก็ไม่ได้มีทุนจำนวนมากอยู่แล้ว ทุกคนก็เริ่มมาทบทวนกันแล้วว่าจะเอายังไงกันต่อดี ตอนนั้นก็เลยได้มีการพูดคุยกับหลายวงที่อยู่ในค่าย บางวงก็ตกลงกันว่างั้นเราแยกย้ายกันดีกว่า ส่วนหนึ่งเพราะโควิดที่เข้ามาทำให้ตัวเราไม่มีกำลังพอที่จะช่วยสนับสนุนเขาได้ อีกส่วนหนึ่งก็เพราะความคาดหวังของตัวศิลปินเขามีสูงขึ้น มันก็เป็นก้าวถัดไปของพวกเขา ซึ่งค่ายเรา ณ วันนั้นไม่มีกำลังพอที่จะตอบสนองให้กับเขาได้ เราเองก็เข้าใจน้องๆ ก็ตกลงแยกย้ายกันไป ไม่ได้ทะเลาะอะไรกันสักวงเลยครับ”

แผนการก้าวถัดไปของค่ายที่เมธวางไว้ เมธจึงต้องจำใจพับไป และทำให้เสียงเพลงจากค่ายเพลงเล็กๆ ในเชียงใหม่ที่กำลังส่งเสียงดนตรีเป็นกระแสนิยมอยู่ขณะนั้นถูกบีบให้ต้องกดปุ่ม Pause

Replay การเริ่มต้นใหม่และทิศทางที่เปลี่ยนไป
ของ Minimal ภายหลังโควิด

“มันเหมือนกับว่าเราต้องเริ่มต้นกันใหม่…” เมธเปรยขึ้นมา 

ช่วงสถานการณ์โควิดเมธอธิบายว่าตัวเขาผ่านมาได้ด้วยความสะบักสะบอม เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เขาได้กลับมาทบทวนตัวเองและตัวค่าย Minimal อย่างจริงจัง และพบว่าที่ผ่านมาตัวเขาทำค่ายเพลงไปแบบเกินกำลัง หลังจากที่ผลงานศิลปินในค่ายที่นำเสนอออกไปประสบความสำเร็จ ได้รับความนิยม ด้วยความหวังดีต่อแวดวงดนตรีเชียงใหม่เขาก็เผลอแบกเอาความคาดหวังของดนตรีเชียงใหม่ไว้กับตนเอง และเผลอทำเกินกำลังตนเอง

“หลังสถานการณ์โควิด เรากลับมาทบทวนตัวเองใหม่อย่างจริงจัง ก็คิดได้ว่าเราจะกลับไปเป็นค่ายเล็กๆ แบบตอนแรก ร่วมงานกับเฉพาะวงดนตรีของพี่ๆ น้องๆ ที่สนิทสนมกันเหมือนเดิม กลับมาทำเท่าที่เราจะไหว ไม่ต้องทุ่มเงินลงไปเกินกำลัง เราพบว่าตัวเองไม่ใช่คนขับเคลื่อนวงการดนตรีเชียงใหม่ เราไม่ได้มีกำลังมากพอที่จะสามารถยื่นมือไปพยุงช่วยทุกคนในวงการดนตรีเชียงใหม่ได้ เราแค่เป็นคนที่ชอบในสิ่งที่ทำเฉยๆ แล้วมันดันไปขับเคลื่อน ไปผลักดันบางส่วน เรายินดีที่จะช่วยในส่วนที่กำลังเราไหว”

ทิศทางต่อไปของค่าย Minimal เมธเล่าให้ฟังว่า เขาจะคัดศิลปินมากขึ้น โดยศิลปินนั้นต้องมีเอกลักษณ์ ขณะเดียวกันก็มีความป๊อปอยู่ เพื่อที่จะมีโอกาสขายได้มากขึ้น และเป็นที่มาของศิลปินของค่าย Minimal ในยุคปัจจุบัน อย่าง Anyside, Beyano, Lawin, Howwhywhenyou และ Pod เป็นต้น

นอกจากนั้นบริษัทที่คอยดูแลด้านสตรีมมิ่งของค่าย Minimal ยังได้ร่วมลงทุนกับเมธลองทำค่ายเพลงป๊อปขึ้นมาในจังหวัดเชียงใหม่ในนามค่าย Mintz! เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางตลาด

“ค่าย Mintz! เกิดขึ้นมาเพื่อทำเพลงตลาดมากขึ้น เป็นโมเดลเหมือน Bakery เคยทำ Dojo City ทางค่ายอาร์เอสมี Kamikaze ตัวค่าย Mintz! จะทำงานเพลงแนว T-pop เป็นหลัก เพราะหลังจากช่วงโควิดมากระแสดนตรีในบ้านเรามันเปลี่ยนไป และพวกสตรีมมิ่งต่างๆ ก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างมาก กลายเป็นช่องทางที่คนฟังเพลงเยอะที่สุด วงดนตรีจะเกิดไม่เกิดตอนนี้ขึ้นอยู่กับยอดวิว ยอดฟังบนสตรีมมิ่งเป็นหลัก ศิลปินต้องเรียกยอดวิว ทำให้เราเริ่มเห็นศิลปินหันมาทำคอนเทนต์ลงบนโซเชียลของตัวเองกันมากขึ้น

“เราเลยลองมุ่งหวังที่จะทำศิลปินที่มีความป๊อป สดใส ขายยอดวิวยอดฟังจากสตรีมมิ่งให้ได้ร้อยล้านวิวอะไรต่างๆ แต่ยังคงคอนเซปต์พื้นฐานอยู่ที่เชียงใหม่ครับ แต่พูดกันตามตรงว่าปัจจุบันมันยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งเพราะเราก็ใหม่กับแนวเพลงแบบนี้ด้วย แต่เราเห็นความเป็นไปได้ และยังอยากหาไอเดียใหม่ๆ ในการทำงานของค่าย Mintz! อยู่ ยังไงก็ขอฝากติดตามกันด้วยนะครับ”

LABBfest.
เทศกาลดนตรีที่เปิดโอกาสให้ศิลปินไทยได้ไปเล่นในเทศกาลดนตรีทั่วโลก

LABBfest. คืองาน International Music Showcase ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นโปรเจกต์ล่าสุดของเมธที่ทำร่วมกับ CEA (Creative Economy Agency) และเครือข่ายคนในวงการดนตรี

Labb Fest. เกิดขึ้นมาจากการพูดคุยระหว่างเมธกับทีมของ CEA ภายหลังจากที่มองเห็นปัญหาจากการจัดงานจับคู่ทางธุรกิจของวงการดนตรีเชียงใหม่ (business matching) 

“พวกเราเห็นปัญหาร่วมกันว่า งานจับคู่ฯ ที่เคยจัดกันมานั้นไม่เวิร์ก โดยเป็นการเชิญเอาฝั่งคนในวงการดนตรี เช่น ค่ายเพลง Minimal ของผม ไปเจอกับออร์แกไนเซอร์จัดอีเวนต์ต่างๆ ในจังหวัด ที่มันไม่เวิร์กเพราะว่า ความต้องการของทั้งสองฝั่งนั้นมันไม่ได้ตรงกัน ออร์แกไนเซอร์เวลาเขาได้เงินมาจ้างศิลปินเขาก็เลือกที่จะจ้างศิลปินที่ดังๆ เพราะเป็นประโยชน์ต่องานเขามากกว่า ในฐานะคนที่ทำค่ายเพลงมีศิลปินผลิตผลงานเพลงของตนเอง สมมติว่าค่าจ้างทางศิลปินค่ายผมคือ 7,000 แต่เฮาส์แบนด์ที่เล่นเพลงคัฟเวอร์ศิลปินดังๆ ราคา 15,000 ออร์แกไนเซอร์ก็จะเลือกจ้างทางเฮาส์แบนด์มากกว่า เพราะจ้างวงจากทางค่ายผมที่เล่นเพลงตัวเองคนที่มางานเขาก็ไม่รู้จัก งานของเขาก็จะออกมาไม่ดี ไม่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย

“พอเกิดปัญหาเช่นนี้ ผมเลยเสนอให้ถอยกลับมาตั้งหลักกันใหม่ ถ้าหากอยากจะให้เกิดงานจับคู่ที่ทำให้ค่ายเพลงหรือศิลปินวงดนตรีในเชียงใหม่ได้ประโยชน์ คู่ตรงข้ามที่ควรถูกเชิญมาก็คือผู้จัดหรือโปรโมเตอร์คอนเสิร์ตหรือเฟสติวัลต่างๆ โดยตรงเลยมากกว่า เอาผลงานเพลงของศิลปินแต่ละวงมาให้ทางเขาดูเลยว่าจะเอาหรือไม่เอา เราจะเป็นศิลปินได้ไหม ถ้าเขาชอบ เอาเราไปเล่นในงานเฟสติวัล ให้คนเห็น ให้คนรู้จักก่อน แล้วถ้าหากผลงานเป็นที่นิยม ดังขึ้นมา หลังจากนั้นแหละเดี๋ยวออร์แกไนซ์ก็จะมาจ้างเราต่อเอง แบบนี้ถึงเป็นการเลือกคู่ที่ได้ประโยชน์ต่อวงการเพลงที่สุด ซึ่งทาง CEA ก็เห็นด้วย”

ต่อมาเมธกับทาง CEA เลยร่วมมือกันพัฒนาโปรเจกต์ Business Matching ของวงการดนตรีเชียงใหม่ขึ้นมาใหม่ เป็นงาน Music Show Case ในรูปแบบของมิวสิกเฟสติวัลในชื่อ LABBfest. ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเชียงใหม่ดีไซน์วีค (Chiangmai Design Week) และจัดเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น

ทางทีมงานของ LABBfest. จะทำหน้าที่เป็นคนกลางเชิญผู้จัดคอนเสิร์ต เฟสติวัล เจ้าของไลฟ์เฮาส์ และคนที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมดนตรีจากทั่วโลกมาร่วมงาน เพื่อรับชมโชว์ของศิลปินและวงดนตรีที่มีสิทธิ์ได้ขึ้นแสดงบนเวทีในงาน จากการสมัครเข้าร่วมโครงการและผ่านการคัดเลือกจากทางคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงดนตรี ศิลปินที่มีผลงานเข้าตาผู้จัดท่านใดก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับเลือกให้ไปแสดงในเฟสติวัลต่างๆ ทั่วโลก ซึ่ง LABBfest. ทั้งสามครั้งที่ผ่านมาก็มีศิลปินไทยได้รับโอกาสไปเล่นที่เฟสติวัลในต่างประเทศทุกๆ ปี และสามารถต่อยอดเส้นทางดนตรีของตัวเองในระดับสากลต่อไป

“ปีแรกที่จัด เราใช้ชื่อว่าเป็น Chiangmai Music Showcase เพราะอยากจะให้โอกาสวงดนตรีในเชียงใหม่ แล้วปีถัดมาเราก็ขยายเป็น Northern and Chiangmai Music Showcase เอาทั้งภาคเหนือ ปรากฏว่ามีวงดนตรีที่สนใจอยากเข้าร่วมเป็นจำนวนมากทั้งจากในประเทศรวมถึงต่างประเทศ ปีนี้เราเลยเปลี่ยนเป็น International Music Showcase เปิดโอกาสให้กับทุกๆ คนได้มาเข้าร่วมแลกเปลี่ยนกันไปเลย ในงาน LABBfest. ของเราในปัจจุบันจึงมีทั้งวงจากพม่า มาเลเซีย กรุงเทพฯ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน สมัครมาเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

“ทุกปีที่จัด LABBfest. เราจะขยายโอกาสและเพิ่มเติมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อศิลปินให้มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างในปีนี้ เรามีการเพิ่มกิจกรรม conference ให้ศิลปินที่สมัครเข้ามามีโอกาสได้เข้ามาพูดคุย ปรึกษากับผู้จัด และคนในอุตสาหกรรมดนตรีที่เราเชิญมาได้โดยตรงเลย ใครอยากรู้เรื่องไหน ผมควรไปเล่นเทศกาลไหน ควรขายงานยังไง พัฒนาตรงไหน ตลาดต่างประเทศเป็นยังไง ทุกคนมีโอกาสสามารถเข้าไปถามได้เลย

“ผมหวังไว้ว่างานนี้จะช่วยทำให้เกิดความหลากหลายทางดนตรีในเชียงใหม่รวมถึงประเทศไทยมากยิ่งขึ้น การแลกเปลี่ยนกับผู้คนในแวดวงดนตรีจากทั่วโลกน่าจะเป็นประโยชน์ทำให้เรามองเห็นว่าตลาดของวงการดนตรีทั่วโลกเป็นยังไง ในฐานะคนที่รักดนตรีคนหนึ่ง ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์มากต่อวงการดนตรีของบ้านเราให้พัฒนาขึ้นได้มากๆ แฟนเพลงเองก็จะได้ผลงานดีๆ จากศิลปิน

“โลกทุกวันนี้มันเชื่อมกันหมดแล้ว เราในฐานะคนจัดงาน LABBfest. คือผู้ที่พาโอกาสนั้นมาให้ ก็ขึ้นอยู่ที่แต่ละคนจะก้าวออกไปแล้ว”

ติดตามรายละเอียดของ LABB Fest. ได้ผ่านช่องทาง www.facebook.com/LABBfest
และติดตามผลงานจากศิลปินของค่าย Minimal Records และ Mintz! ได้ทาง www.facebook.com/MinimalRecords และ www.facebook.com/mintzrecords

Writer

นักเขียนและช่างภาพอิสระในจังหวัดเชียงใหม่ ที่อยากนำเสนอเรื่องราวเจ๋งๆ ของคนต่างจังหวัด

Photographer

ชีวิตผม ชอบการเดินทาง ชอบทำอาหาร และรักการบันทึกความทรงจำด้วยภาพถ่าย

You Might Also Like