นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

Family Business

Keziah แบรนด์เสื้อผ้าของเด็กหญิงวัย 10 ขวบที่กำลังจะไปแสดง New York Fashion Week 2022

Keziah (เคสิยาห์) คือแบรนด์ผ้าพิมพ์ลายของ วินนี่–ด.ญ.เคสิยาห์ ชุมพวง ศิลปินภาพวาดแนวแอ็บสแตรกต์ วัย 10 ปี และครอบครัว

สามปีที่แล้ว ผู้เขียนมีโอกาสเล่าเรื่องของวินนี่ และ ฮีโร่–ด.ช.วจนะ ชุมพวง พี่ชายที่อายุมากกว่า 1 ปี เรื่องที่ทั้งสองคนเป็นผู้ประกอบการที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของงานแสดงสินค้า Style Bangkok นั่นหมายความว่า วินนี่และฮีโร่มีแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเองตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ

ด้วยผลงานที่โดดเด่น เต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาทำให้ Keziah เป็นแบรนด์ที่ได้รับความรักจากทุกคนที่พบเจอ ตลอดสามปีที่ผ่านมา

Capital กลับมาพบกับวินนี่ ฮีโร่ พ่อโพ–กรกมล ชุมพวง และแม่มุ้ย–ยุภวัลย์ ย่องภู่ อีกครั้ง ในวาระที่แบรนด์ Keziah กำลังจะไปแสดงงานที่ New York Fashion Week 2022 ระหว่างวันที่ 8-11 กันยายนนี้ 

ไม่ใช่แค่พวกเขาที่ตื่นเต้น เราที่ติดตามครอบครัวนี้มานานก็ตื่นเต้นไม่แพ้กัน

ก่อนจะไปพูดคุยถึงที่มาและการเตรียมพร้อมสำหรับงานแฟชั่นระดับโลก Capital ขอเล่าย้อนไปที่จุดเริ่มต้นของแบรนด์และวิธีทำธุรกิจครอบครัว ที่ทั้ง พ่อ แม่ และลูกๆ มีส่วนร่วมในทุกการคิดและตัดสินใจ

ฮีโร่และวินนี่เกิดและเติบโตในครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่เป็นทนายความผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายธุรกิจ หากแต่เป็นเรื่องการทำธุรกิจ 101 นั้น ทั้งสี่คนจับมือกันทำแบรนด์และเขียนตำราธุรกิจ (ครอบครัว) แบบลองผิดลองถูกเองบ้านๆ เมื่อ 3 ปีก่อน โดย Keziah เป็นแบรนด์ที่เกิดขึ้นมาเพื่อสนับสนุนความสุขของลูกๆ จากการทำงานศิลปะ 

พ่อโพเล่าว่า ฮีโร่เริ่มต้นวาดภาพสีน้ำ ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้เรียนทฤษฎีสีหรือการวาดรูปทรงใดๆ มาก่อน แต่ใช้วิธีสังเกตธรรมชาติรอบตัวที่เติบโตในจังหวัดตรัง มองใบไม้ ท้องฟ้า และทะเล ก่อนผสมสีและวาดภาพตามความรู้สึก ขณะที่วินนี่ซึ่งโตตามกันมาสนใจการใช้สีอะคริลิกวาดภาพแอ็บสแตรกต์ลงบนเฟรมซึ่งไม่ถูกบังคับด้วยรูปทรงใดๆ 

“เราไม่เคยวางแผนว่าเด็กๆ จะต้องเป็นศิลปิน แต่เมื่อเขาบอกว่าเขาอยากเป็นศิลปิน เราก็เชื่อว่าเขาเป็นศิลปิน หลังจากพวกเขาเขียนรูป เราก็นำไปใส่กรอบและจัดแสดงต่อสาธารณะ เราเล่นกับเขาจนพวกเขาได้ชื่อว่าเป็นศิลปินเด็ก ส่วนเรื่องธุรกิจหรือการทำแบรนด์มาจากวินนี่ เขาชอบเสื้อผ้า ชอบแต่งตัว ชอบแฟชั่น ขณะที่เขาทำงานศิลปะอยู่เขาก็มาบอกว่าถ้าป่าหิมะ (ชื่องานศิลปะ) กลายมาเป็นกระโปรงหรือเสื้อผ้าให้เขาใส่ต้องสวยแน่ๆ เราก็นึกภาพตามไอเดียที่เขาบอก และคิดว่ามันก็น่าจะดีนะ แต่เราทำยังไงล่ะ ด้วยความที่ทุกคนไม่รู้ก็เรียนรู้ไปพร้อมกัน” พ่อโพเล่าที่มาของการเล่นสนุกซึ่งวันหนึ่งได้กลายเป็นเวทีและสนามทดสอบความสามารถอันยิ่งใหญ่

หลังจากที่พ่อและแม่หาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต พวกเขาก็ได้เจอโรงงานพิมพ์ผ้า ซึ่งปกติการจะผลิตลายผ้านั้นต้องมีขั้นต่ำในการผลิต 1,000-10,000 หลา แต่เพราะเจ้าของโรงงานที่พวกเขาได้พบชอบงานศิลปะของวินนี่และฮีโร่มากๆ จึงยอมผลิตผ้าในจำนวน 3-5 หลาต่อลาย จากนั้นก็ให้ช่างตัดเสื้อในจังหวัดตรังช่วยตัดเย็บชุดให้ โดยที่สองพี่น้องรับบทนักออกแบบควบตำแหน่งนายแบบนางแบบ โพสท่าถ่ายรูปลงในเฟซบุ๊กที่พ่อและแม่สร้างไว้สำหรับให้แฟนๆ ติดตามผลงาน โดยเสียงชื่นชมและกำลังใจจากบรรดาแฟนคลับทั้งใกล้และไกลก็ทำให้เด็กๆ และครอบครัวตัดสินใจลุกมาทำแบรนด์เสื้อผ้าอย่างจริงจัง

พวกคุณแบ่งหน้าที่กันยังไง ในวันที่ตัดสินใจทำแบรนด์ Keziah 

พ่อโพ : เริ่มจากวินนี่และฮีโร่ตกลงกันเป็นหุ้นส่วน โดยฮีโร่ทุบกระปุกนำเงินเก็บ 4,000 บาทไปจ้างนักออกแบบโลโก้ โดยคำว่า Keziah เป็นภาษาฮิบรู แปลว่า cinnamon หรืออบเชย ทุกคนก็ลงความเห็นว่ารูปเด็กผู้หญิงที่มีกิ่งอบเชยเสียบอยู่ในโลโก้ดูเหมือนวินนี่ที่สุดตรงกับคาแร็กเตอร์หวาน มัน หอม เผ็ด ของเขา 

เมื่อมีแบรนด์ มีผลิตภัณฑ์ หลายคนก็แนะนำให้เราไปออกร้าน จึงเป็นที่มาของการสมัครและได้รับคัดเลือกให้ออกร้านที่งาน Style Bangkok ในฐานะผู้ประกอบการหน้าใหม่ ทางผู้จัดงานก็จัดอบรมให้ความรู้เรื่องการตั้งราคาสินค้า เรียนรู้วิธีการนำเสนอของเพื่อเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้า เด็กๆ ก็นั่งเรียนจริงจังเลยนะ แต่เขาทำได้แค่บวกเลข ยังคูณและหารไม่เป็น โชคดีเพื่อนนักเรียนข้างๆ เขาคิดและแชร์สูตรลัดแบบง่ายๆ พวกเราก็เลยได้ความรู้ไปด้วย ซึ่งวันงานบรรยากาศค่อนข้างจริงจัง เพราะเป็นงานเจรจาธุรกิจ ซึ่งมีกฎว่าห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเข้างาน เราก็ไปคุยกับผู้อำนวยการจนได้บัตรผ่านพิเศษมา

ผลประกอบเป็นยังไง เหมือนหรือต่างจากที่คิดไว้แค่ไหน

พ่อโพ : หลังจากวันเจรจาธุรกิจ 2 วันสุดท้ายของงานเป็นวันค้าปลีก ทำให้เราเจอกลุ่มเป้าหมายของเราโดยไม่รู้ตัว ตอนแรกเรายังไม่รู้เลยว่าจะขายอะไร เราเอารูปวาดไปแต่พอใครจะขอซื้อก็บอกว่าไม่ขาย เอาผ้าม้วนไป แต่ก็เก็บไว้ด้านหลังร้าน พี่บูทข้างๆ ซึ่งทนดูมาหลายวัน ก็เลยช่วยเอาผ้าม้วนของเราพาดตกแต่งบูทใหม่ ทีนี้ลูกค้ามาขอซื้อผ้ากันใหญ่ ตอนนั้น 1 หลาเท่ากับกี่เซนติเมตรเรายังคิดไม่ค่อยถูก ตัดผ้าก็ยังแหว่งๆ

แม่มุ้ย : ก่อนจะมาออกร้าน เราเชื่อมั่นว่าคนต้องชอบแน่ๆ ปรากฏเงียบมากเพราะปีนั้นธุรกิจซบเซา เราเองก็จัดร้านกันสะเปะสะปะมาก ในใจพ่อแม่คือเราจะรักษาความเชื่อมั่นที่บอกลูกได้ยังไงดี แต่วินนี่ไม่ยอมแพ้ เขาถือโบรชัวร์ของตัวเองไปเดินหาลูกค้า ซึ่งงานมีกฎห้ามคนเดินออกนอกบูทตัวเอง วินนี่ก็ถามว่าทำไมฝรั่งเขาชมแต่ไม่ซื้อของ เราก็ได้แต่ให้กำลังใจลูก แล้วบอกว่า 3 วันแรกเขายังไม่อนุญาตให้ขายของ เราก็หวั่นๆ นะ ว่าถ้ามาออกงานแล้วขายไม่ได้ขึ้นมาลูกจะเสียกำลังใจ ไหม เขาจะกล้าเชื่อมั่นในสิ่งที่มีต่อหรือเปล่า แต่สุดท้ายก็ผ่านมาด้วยดีร่าเริงกันใหญ่เพราะว่าขายของได้ค่ะ

พ่อโพ : จากวันนั้นพวกเราก็ทำแบรนด์ควบคู่กับแสดงงานศิลปะเรื่อยมา ซึ่งงานศิลปะก็ยังขายอยู่ ราคาของวินนี้จะเริ่มต้นที่ 50,000 บาทขึ้นไป ฮีโร่ก็เช่นกัน แต่ไม่ค่อยได้ขาย หม่าม้าป่าป๊าอยากให้ขาย แต่ลูกไม่ขาย

เพราะศิลปินไม่อนุญาต

แม่มุ้ย : เขาจะต้องสัมภาษณ์คนซื้อค่ะ เขาจะขอคุยเอง 

พ่อโพ : ฮีไร่จะขายงานให้กับคนที่รักงานเขาเท่านั้น ถ้าเป็นคนที่ไม่ชอบงานศิลปะเขาจะรู้ เขาไม่ชอบคนที่มาซื้อเพราะเอ็นดูตัวเขา

จุดเริ่มต้นที่ทำให้คิดจะไป New York Fashion Week คือตอนไหน

แม่มุ้ย : ปีที่ผ่านมาเราทั้งครอบครัวได้ย้ายขึ้นมาอยู่ที่กรุงเทพฯ เพื่อนรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยของพ่อแม่ก็มาชวนให้สมัครไป New York Fashion Week เราก็รีบไปถามลูกเลยว่าไปไหม เพราะใจแม่อะไปแล้ว

ขั้นตอนการสมัครและเตรียมตัวเพื่อไป New York Fashion Week มีอะไรบ้าง

พ่อโพ : ขั้นแรกเราต้องทำให้เขาสนใจแบรนด์เรา เพราะผู้จัดเขาจะต้องขายตั๋วชมงาน เราก็ต้องทำให้เขามั่นใจว่าจะมีคนสนใจยอมจ่ายเงินมาดูโชว์นี้ เรารวบรวมผลงานที่ทำ บทสัมภาษณ์ที่เคยออกสื่อทั้งหมด สุดท้ายเขาก็ตอบรับกลับมาว่าโอเค และเหมือนว่าจะจัดให้ Keziah ขึ้นเป็นโชว์เปิดในวันแรก ต้องบอกว่างานนี้มีผู้จัดหลายเวที เราเป็นเพียงโชว์หนึ่งของผู้จัดองค์กรหนึ่งจากทั้งหมด

แม่มุ้ย : หลังจากได้รับคำตอบรับ เขาก็ส่งรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่างๆ มา มีค่าเวที ค่าลิขสิทธิ์ ค่าขึ้นโชว์ ค่านางแบบ และอื่นๆ จำนวน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ แล้วเราก็ต้องมาคุยเรื่องชุด เรื่องการออกแบบ เรื่องธีมงาน ระหว่างที่ปล่อยให้วินนี่ทำงานกับฮีโร่ คนเป็นพ่อเป็นแม่ซึ่งไม่เคยไปก็จะกังวลหน่อยๆ เลยเริ่มเช็กกับเพื่อนที่นิวยอร์ก ซึ่งทำงานเป็นช่างแต่งหน้าในฮอลลีวูดและเป็นแฟนคลับของวินนี่ เขาก็แนะนำให้คุยกับเพื่อนที่ทำงานนิตยสาร จนได้รู้ว่าองค์กรที่ตอบรับโชว์ของวินนี่มีอยู่จริง ไม่ได้มาหลอก ซึ่งแม้ไม่ใช่เวทีหลักของงาน แต่ก็เป็นเวทีที่ให้ประสบการณ์ New York Fashion Week แก่เด็กๆ ได้แน่นอน เราก็เริ่มเบาใจขึ้นที่ไม่ได้โดนหลอก 

สิ่งที่เตรียมไปแสดงประกอบด้วยชุดที่ออกแบบและตัดเย็บใหม่จำนวน 14 ชุด ทำจากผ้าพิมพ์งานศิลปะลายใหม่ ได้แก่ลายน้ำแข็งไสโดยวินนี่ และลายแมลงปอโดยฮีโร่

ดูเหมือนว่าราคาที่ต้องจ่ายก็เป็นโจทย์ใหญ่ของการไป New York Fashion Week ครั้งนี้ของทั้งครอบครัว

แม่มุ้ย : จริงๆ พ่อแม่จะจ่ายเงินซื้อประสบการณ์นี้เลยก็ได้ แต่มันดูไม่เท่เลย ระหว่างเตรียมงาน รุ่นพี่ก็แนะนำให้ลองหาสปอนเซอร์มาช่วยสนับสนุน แต่เป็นเราเองที่กังวลแทนลูกๆ ว่าการมาของสปอนเซอร์อาจผูกมัดหรือมาจำกัดกรอบที่เด็กๆ วางไว้ เคยลองติดต่อแล้วมีเงื่อนไขว่าคอลเลกชั่นที่จะนำไปแสดงต้องเป็นของสปอนเซอร์ เพราะเป้าหมายหลักของเราคือทำให้เด็กๆ ได้เป็นตัวของตัวเอง เราก็เลยไม่เลือกวิธีหาสปอนเซอร์ จนกระทั่งมีรุ่นพี่แนะนำให้รู้จักคุณวิชชุ พูลสงวน จาก Unique & Union ซึ่งเข้ามาในฐานะพาร์ตเนอร์ธุรกิจ

พ่อโพ : ต้องบอกว่าหลังจากที่เราไปขายสินค้าที่งาน Style Bangkok เราก็ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน ทำให้เราขายของได้เยอะมาก แต่เราเป็นครอบครัวไม่ใช่นักธุรกิจ เราไม่เก่งเรื่องการผลิต การตลาด การขนส่ง เราไม่เก่งเลย เด็กๆ ก็ยังต้องเรียนหนังสือ เมื่อโอกาสมาถึงคนทั่วไปอาจจะรู้สึกว่าต้องเก็บเกี่ยว แต่เราไม่สามารถตอบโจทย์ตลาดได้ เพราะเราก็ยังต้องทำงานหลักเพื่อเลี้ยงลูก ทำให้เสียโอกาสอย่างมาก ประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนให้เราต้องหามืออาชีพคนที่ทำธุรกิจเป็นและถนัดเรื่องการจัดการมาช่วย เพราะในเมื่อเรากำลังจะไปนิวยอร์กซึ่งเป็นอีกก้าวหนึ่งของแบรนด์ ก็ไม่อยากให้สิ่งนี้สูญเปล่า จึงเกิดความร่วมมือในลักษณะจัดตั้งบริษัท โดยเรายังได้ทำหน้าที่ของเรา เลี้ยงลูก ส่งเสริมพัฒนาการให้เขาได้สร้างสรรค์และทำงานที่เขารัก ส่วนเรื่องค้าขายเป็นงานของ Unique & Union

อะไรทำให้บริษัทที่ไม่เคยสนใจธุรกิจแฟชั่นมาก่อนอย่าง Unique & Union ตัดสินใจจับมือเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจกับ Keziah

วิชชุ (วิชชุ พูลสงวน บริหารบริษัทยูนีคแอนด์ยูเนียน)  : เมื่อรู้ว่าเด็กๆ กำลังจะไปแสดงงานที่นิวยอร์ก และกำลังต้องการความช่วยเหลือฝั่งของธุรกิจ เราก็อยากเข้ามาช่วยเพราะเชื่อมั่นว่าเด็กๆ จะนำชื่อเสียงมาให้แก่ประเทศของเรา แม้ว่าผมจะผ่านธุรกิจมาบ้างแต่ยอมรับว่าเป็นหน้าใหม่ในอุตสาหกรรมนี้ อาศัยว่าเรามีพันธมิตรในวงการแฟชั่น วงการโฆษณา มีเพื่อนที่เชี่ยวชาญมาช่วยดูแลคุณภาพการผลิตผ้า จึงอยากเข้ามาซัพพอร์ตส่วนนี้ในรูปแบบบริษัทที่ตั้งมาเพื่อสนับสนุนแบรนด์ Keziah โดยเฉพาะ เริ่มจากศึกษาตลาด ดูแลเรื่องการสื่อสาร ขณะเดียวกันก็คิดร่วมกับน้องๆ ค่อยเรียนรู้กันไป แม้ว่าการสร้างแบรนด์ในเวลานี้จะยากแต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาส อย่างน้อยเรื่องราวของน้องๆ ที่นำเสนอออกไปตามสื่อออนไลน์ก็ช่วยสร้างโอกาสให้คนในโลกได้เห็นและรู้จักสิ่งที่เรากำลังจะทำ

การมาของพาร์ตเนอร์ดูจะเป็นวิธีที่ตอบโจทย์และยั่งยืนกว่าการเปิดรับสปอนเซอร์มาสนับสนุน

แม่มุ้ย : จริงๆ ก่อนหน้านี้เคยมีนายทุนเสนอจะลงเงินให้ 10 ล้านบาท แลกกับการให้เราอยู่เฉยๆ ซึ่งเขาจะจัดการแบรนด์เอง แล้วจะให้ส่วนแบ่ง แต่เรารู้สึกว่า Keziah ไม่ใช่แค่ธุรกิจแต่มันคือลูกเรา

พ่อโพ : เราอยากให้เด็กเติบโตและมีความคิดสร้างสรรค์ คือเขาต้องเล่นด้วย ไม่ใช่ได้แค่เงิน แต่เราอยากให้เขาได้เรียนรู้ อย่างที่เห็น งานแฟชั่นที่นิวยอร์ก ทั้งฮีโร่และวินนี่ได้ทำเองหมดทุกขั้นตอน

แม่มุ้ย : เราเข้าใจว่าในโลกของธุรกิจการจะทำให้แบรนด์ไปต่อมันต้องมีระบบระเบียบกว่านี้ แต่ที่ผ่านมา Keziah เดินมาด้วยความรักและความสุข ตราบใดที่ความสุขของพวกเขายังอยู่ เขาได้เล่น ได้จินตนาการ พลังการสร้างสรรค์งานก็จะไม่มีวันหมด

จากวันที่เริ่มต้นเพราะอยากสนับสนุนในสิ่งที่ลูกรัก เมื่อต้องทำให้เป็นธุรกิจมากขึ้น พวกคุณมีวิธีรักษาสมดุลระหว่างครอบครัวและธุรกิจยังไง

แม่มุ้ย : งานของเราคือสนับสนุนเขาในทุกทาง ไม่ว่าจะยังไงเรารักและเป็นห่วงเขา หลายครั้งเราก็กลัวว่าความล้มเหลวจะทำให้เด็กๆ ไม่กล้าไปต่อ สิ่งที่สำคัญคือพ่อแม่ต้องก้าวข้ามความรู้สึกนี้ให้ได้ พ่อแม่ต้องกล้าหาญ ต้องชนะความกลัวในใจของตัวเอง เด็กเขาไม่แคร์หรอกว่าใครจะมองเขายังไง จะล้มเหลวแค่ไหน แต่พ่อแม่อาย บางทีก็กลัวว่าคนจะมองว่าทำอะไรกัน เราก็แค่ต้องรักกันให้พอ ต้องเชื่อมั่นแล้วมันจะชนะความกลัวตรงนี้ไปได้

พ่อโพ : ก่อนจะมีลูกเราสองคนเคยทำธุรกิจกันมาก่อนแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เราเคยโทษกันและกันซึ่งไม่ทำให้อะไรดีขึ้นมา เมื่อมีลูกเราก็เรียนรู้กันใหม่ว่า ถ้าใครออกไอเดียอะไรแล้วเราทำร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดีหรือผิดพลาดล้มเหลว เราจะรับผิดชอบร่วมกัน ไม่มีการโทษกัน แล้วเราก็จะลืมมันไวมาก จะไม่กลับไปย้อนดู แต่เราจะไปทำสิ่งใหม่ เคลียร์ให้ไวที่สุดและไปเริ่มใหม่ให้ไวที่สุด อย่างการไปนิวยอร์กไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ พวกเราก็กล้าไปเลย แต่มันค่อยๆ เป็นไปทีละขั้น เกิดจากความเชื่อที่ค่อยๆ เติบโตและพัฒนา

มีคำแนะนำถึงขั้นตอนหรือวิธีการสนับสนุนลูกในสิ่งที่พ่อแม่เองก็ไม่ได้ถนัดยังไงบ้าง

พ่อโพ : ผมเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนมีสิ่งที่อยากให้ลูกเป็น พวกเราก็เหมือนกัน พวกเราเป็นทนาย เราก็แต่งตัวเต็มยศที่สุดพาเขาเข้าไปที่ศาล สัมผัสบรรยากาศการว่าความ หมายมั่นให้เขาเป็นผู้พิพากษา คิดว่าลูกต้องชอบแน่ๆ สิ่งที่เขาเห็นคือ นักโทษเดินลากโซ่ออกมา จบกัน พยายามบิลด์แค่ไหนเขาก็ไม่รับ ประกอบกับเพื่อนบ้านเราเป็นครอบครัวมิชชันนารีเลี้ยงลูกแบบโฮมสคูล ปล่อยให้เด็กสนุกกับการเป็นตัวเองเต็มที่ เราก็ถามหัวหน้าครอบครัวว่าอาชีพไหนที่จะได้รับการยอมรับในอนาคต ซึ่งคำตอบคือคนที่ทำงานสร้างสรรค์ เราก็เลยกลับใจยอมปล่อยให้เขาเลือกทำสิ่งที่ชอบ แล้วคอยหาโค้ชมาไกด์

อะไรคือสิ่งที่พิสูจน์ว่าแบรนด์ Keziah มาถูกทางแล้ว ไม่ได้กำลังเล่นขายของอยู่ จริงๆ ลูกค้าของ Keziah เป็นใคร

พ่อโพ : ไม่นานมานี้เราเพิ่งได้เรียนรู้ว่า ลูกค้าหรือคนที่ต้องการสินค้าของเราเขาจะไม่ต่อราคาเลย ขณะที่บางคนต่อให้เราลดราคากระหน่ำแค่ไหน ถ้าเขาไม่ต้องการเราก็ไปขายเขาไม่ได้ คนที่ชอบเรา เขาต้องการของที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งเราก็ไม่เหมือนใครจริงๆ

แม่มุ้ย : จริงๆ ข้อเสียของเราคือเราเป็นพ่อแม่ที่ทำงานไปด้วย ขายของไปด้วย ทุกวันนี้ก็มีลูกค้าตามมาในเพจว่าจะขายหรือไม่ขาย บางคนทักมาหลายวันแล้วเราไม่ตอบ แต่ว่าลูกค้าก็น่ารักและยืนยันจะซื้อ นี่คือถึงเหตุผลที่เราอยากให้มีมืออาชีพเข้ามาช่วยแบรนด์ ลูกค้าจะได้ซื้อสินค้าสะดวกและได้รับของเร็วขึ้น ช่วงที่ออกสื่อใหม่ๆ มีลูกค้าขอโอนเงินค่าผ้ามาให้ก่อน บางคนยอมรอเป็นเดือนๆ ลูกค้าทุกคนเอ็นดูเด็กๆ มาก มีหลายเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิด เช่น ตำรวจท่องเที่ยวจัหวัดตรังมาตามพวกเราถึงบ้าน เพราะนักท่องเที่ยวจากเมืองอื่นเป็นแฟนคลับวินนี่และฮีโร่อยากเจอ ถึงบอกว่าแบรนด์เราได้เปรียบเรื่องความเป็นเด็ก

พ่อโพ : เด็กทำธุรกิจไม่เสียเปรียบนะครับ ได้เปรียบมากเลยครับ เราได้รับความรักและการสนับสนุนจากผู้ใหญ่มากมาย

เมื่อเป็นธุรกิจครอบครัว บรรยากาศการทำงานเป็นยังไง ใครตัดสินใจ ใครเป็นผู้นำและผู้ตาม

พ่อโพ : สำหรับพวกเรา พ่อไม่ใช่ผู้นำ แต่เป็นแม่และลูกๆ ผมทำแค่พยายามจะรักษาสมดุล ไม่ได้ห้าม แต่ช่วยทำจินตนาการพวกเขาให้เป็นรูปเป็นร่าง ทั้งๆ ที่ความจริงเรากลัวมาก แต่พวกเขาดึงความเชื่อมั่นในตัวเราออกมาก็ทำให้เราโตไปด้วย ตั้งแต่วันแรก ทุกอย่างเริ่มต้นจากเรื่องเล็กๆ เริ่มจากฮีโร่ชอบวาดรูป จากกระดาษปอนด์แผ่นละ 5 บาท สีตราม้า พู่กัน 5-10 บาท แม่เขาก็จะค่อยๆ พาไปสู่กระดาษและสีที่แพงขึ้น เพราะรู้ว่าจะทำให้งานออกมาดีขึ้น มีคุณภาพ ซึ่งถ้าเป็นพ่อ พ่อคงจะถ่วงเขา หยุดพวกเขาแค่นั้น เขาก็จะไม่เกิดการพัฒนา พอมาทำธุรกิจ ซึ่งเราเห็นลูกความของเราก้าวพลาดมาเยอะ เราก็ไม่กล้า ขณะที่แม่กับลูกๆ กล้าหาญและมองการณ์ไกล จนวันนี้ฮีโร่ได้เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์สีและกระดาษยี่ห้อดังจากการที่เป็นผู้ใช้งานจริง มันทำให้เราเปิดใจว่า ทุกคนเดินไปนะ พ่อจะคอยเดินตามและระวังหลังให้เอง

อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดของการทำธุรกิจครอบครัว

พ่อโพ : เมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำให้เราเสียความเป็นตัวเรา ธุรกิจครอบครัวก็จะเดินต่อไปไม่ได้ อย่าลืมว่าเด็กเนี่ยไม่เข้าใจว่า business คืออะไร เขาพร้อมที่จะเลิก หรือร้องไม่เอาไม่ทำได้ตลอดเวลา เพราะเขาคือเด็ก หน้าที่เราคือสื่อสารกับทุกคนและพาร์ตเนอร์ว่าขอให้เรารักษาตัวตนของเขาไว้ เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่ business มาทำให้เสียตัวตนของเขาไป business ก็จะหายไปด้วย

แม่มุ้ย : ความยากอีกเรื่องคือความต่อเนื่อง เพราะความสุขเป็นเพียงอารมณ์หนึ่ง ไม่ได้อยู่กับเราทุกวัน แถมมีขึ้นๆ ลงๆ ครอบครัวเราก็เหมือนกัน แล้วแต่ละคนบางจังหวะนี้โอเค ช่วงนี้ทุกอย่างราบรื่นหมด มีพลังทำเรื่องดีๆ เยอะแยะเลย ผ่านไปสักพักนึงเจอช่วงวิกฤตชีวิตซึ่งพ่อแม่จะเจอก่อน เราก็ต้องมาคิดว่าทำยังไงไม่ให้กระทบลูก ไม่ใช่ว่าชีวิตลูกจะทุกข์ไม่ได้ แต่ทำยังไงให้เขามั่นใจว่าจะทุกข์จะสุขเดี๋ยวก็ผ่านไปได้ ช่วงนี้ผิดหวังนะลูก ไม่เป็นไร เดี๋ยวมันก็ผ่านไปได้ ซึ่งมากกว่าเรื่องผิดหวังแล้วผ่านไปได้ เรื่องความสร้างสรรค์เนี่ยทำยังไงไม่ให้เขาเลิกหรือหยุดไปดื้อๆ ก็ต้องพลังบวกที่มีอยู่ภายใน ให้แม้แต่ช่วงที่วิกฤตสุดๆ ก็ยังสร้างสรรค์งานได้

ทุกคนเรียนรู้อะไรบ้างจากการทำ Keziah ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

แม่มุ้ย : ไม่มีอะไรไม่มีทางออก ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ถ้าเราเชื่อ ถ้าเราลงมือทำ อย่าไปกลัว ความกลัวเป็นความรู้สึกหนึ่งพอๆ กับความสุขนั่นแหละ กลัวมันมีกันทุกคน มีมาเรื่อยๆ ขนาดเรื่องไปนิวยอร์ก แม่ก็คิดตลอด ไปแล้วจะเจออะไร หรือระหว่างทางก่อนที่จะตัดสินใจไปนิวยอร์ก ระหว่างที่ต้องรอนั่นรอนี่ เยอะแยะไปหมด วิธีชนะความกลัวก็คือก้าวออกไปเลย

อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดเมื่อจะเริ่มต้นทำธุรกิจครอบครัว

แม่มุ้ย : อย่ามองที่เงินเพียงอย่างเดียว

พ่อโพ : ถ้าพูดว่าทำธุรกิจแล้วใช้มายด์เซตแบบผู้ใหญ่ มันคงจะตึงเครียดมาก และแบรนด์ก็คงเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ต้องคิดว่าเงินจะได้มายังไงหรือจะได้มาเมื่อไหร่ แต่ให้คิดถึงเรื่องการเรียนรู้เป็นหลัก ว่าสิ่งนั้นคุ้มค่าสำหรับการเริ่มต้นให้เขาลองผิดลองถูกมากแค่ไหน จงเอาความสุขของพวกเขาเป็นที่ตั้ง แล้วมันจะได้ทั้ง business และความสุขในครอบครัว

Tagged:

Writer

บรรณาธิการ ผู้หลงใหลการเล่าเรื่องธุรกิจ ใช้เวลางานตีสนิทแบรนด์ไทย นอกเวลางานเป็นนักธุรกิจออนไลน์ฝึกหัด จริงจังจนได้ดิบได้ดีในวงการห้องลองเสื้อ

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like