สารคดีชุด

ชุดทำงานของ ‘กรุณา บัวคำศรี’ สู่ TARA แบรนด์ที่อยากสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านเสื้อผ้า

ในวันฟ้าโปร่งที่เรานัดพบกับ กรุณา บัวคำศรี ณ บ้านพักส่วนตัวของเธอ กรุณาผู้เรียกแทนตัวเองว่า ‘พี่นา’ ปรากฏตัวในชุดเสื้อยืดสบายๆ กับกางเกงคาร์โก้ขายาว เป็นลุคเท่ๆ ที่เธอใส่รายงานข่าวภาคสนามมาแล้วบ่อยครั้ง 

กรุณาในหน้าจอที่เราเห็นเป็นยังไง ตัวจริงของเธอก็เป็นอย่างนั้น ดูติดดิน คุยสนุก พูดจาชัดถ้อยชัดคำ และหากเสื้อผ้าจะสะท้อนตัวตนของใครสักคนได้จริงๆ ชุดที่กรุณาเลือกใส่ก็คงไม่ได้สะท้อนอะไรไปมากกว่าบทบาทนักข่าวที่เธอรักสุดใจ 

เป็นคำว่า ‘ชุด’ และ ‘งานข่าว’ อีกเหมือนกันที่พาให้เรามาเจอเธอที่นี่ อีกคำสำคัญไม่แพ้กันคือ ‘ธุรกิจ’ เพราะนอกจากบทบาทการเป็นนักข่าวอิสระที่หลายคนคุ้นหน้า เมื่อเร็วๆ นี้ กรุณาเพิ่งก่อตั้งแบรนด์ TARA ขายเสื้อผ้าเดดสต็อกและของใช้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป้าหมายในการหารายได้ไปทำข่าวกับคอนเทนต์ที่ตัวเองเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ ทั้งกับคนดูข่าวและโลกใบนี้

ในบ้านพักที่เงียบสงบของ ‘พี่นา’ เราชวนเธอย้อนรำลึกถึงเส้นทางการทำงานข่าว บทเรียนสำคัญที่ได้เรียนรู้จากการงาน และไม่พลาดที่จะแวะคุยถึงยูนิฟอร์มสุดเท่ รวมถึงธุรกิจที่เธอเพิ่งก่อตั้งหมาดๆ

Work by กรุณา บัวคำศรี

ย้อนกลับไปในจุดแรกเริ่ม อะไรทำให้คุณอยากทำงานในวงการข่าว

ง่ายมาก พี่ไม่ชอบทำงานออฟฟิศ ไม่ชอบอยู่ในชีวิตวนลูป และไม่ชอบความมีแพตเทิร์น พี่ชอบงานที่ทำให้เรารู้สึกได้เจออะไรใหม่ๆ ทุกวัน ซึ่งมันมีสักกี่อาชีพกัน 

พี่เคยอยากเป็นเจ้าหน้าที่ UN ทำงานภาคสนามแต่มันไกลตัวไป เพราะเราไม่ได้เกิดและโตมาในครอบครัวที่สามารถส่งให้เราอยู่ในสถานศึกษาดีๆ เพื่อจะได้คะแนนดีๆ แล้วไปสอบเข้าองค์กรระหว่างประเทศได้ โดยรวมแล้วพี่อยากทำงานอะไรก็ได้ที่ทำให้ได้ออกไปเจอคนและได้เดินทาง พี่จึงเริ่มต้นด้วยการเป็นนักข่าว

ตอนเป็นนักข่าว องค์กรที่พี่สังกัดส่วนใหญ่ค่อนข้างให้อิสระเยอะ อยากไปทำอะไรก็ได้ ไม่ค่อยมีกฎเกณฑ์จุกจิกเท่าไหร่ เพราะพอเป็นองค์กรที่มีความเป็นพี่เป็นน้องกันจึงค่อนข้างยืดหยุ่น สิ่งที่พี่ชอบทำที่สุดคือตื่น 6 โมงเช้า บางวันขับรถ 6 ชั่วโมงไปเจอแหล่งข่าว บางวันตื่นเที่ยง นั่งเครื่องบินไปอีก 1 ชั่วโมง มันเป็นความไม่เหมือนกันทุกวัน 

หลายคนรู้จักคุณจากรายการ รอบโลก By กรุณา บัวคำศรี แต่เส้นทางการทำงานของคุณก่อนหน้านั้นเป็นยังไง 

งานแรกหลังจบมหาวิทยาลัย พี่ทำที่บางกอกโพสต์ เป้าหมายในตอนนั้นคือการหาที่ทำงานสักที่เพื่อเริ่มชีวิตเป็นนักข่าว ตอนนั้นรู้สึกว่าสิ่งที่จะทำให้ไปได้ไกลและเข้าถึงข้อมูลได้เยอะคือภาษาอังกฤษ ซึ่งเวลานั้นภาษาอังกฤษยังไม่ค่อยดี พี่จึงเรียนด้วยการลงมือทำ (learning by doing) ด้วยการกระโดดเข้าไปทำงานที่บังคับให้เราต้องทำ สิ่งที่ทำคือวิ่งข่าวแล้วต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมันก็ท้าทายพอสมควรแต่เรามีแรงขับอยากเอาชนะอุปสรรคตรงนี้ให้ได้ 

พอได้เขียนบทความมันก็ทำให้เราคิดเป็นระบบมากขึ้น ได้ฝึกรวบรวมข้อมูลและประกอบร่างมัน ได้เรียนรู้วิธีการทำโครงสร้างการเล่าเรื่อง ถึงเราจะใช้เวลาทำงานเยอะกว่าเพื่อน แต่รู้สึกว่านี่คือการลงทุนให้เรามีพื้นฐานที่มั่นคง และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่ได้ซีเรียสเรื่องเงินเดือนด้วย ให้เท่าไหร่เอาเท่านั้น 

เราทำอยู่ 2 ปี ตอนนั้นมีความฝันว่าอยากไปเรียนต่างประเทศสักระยะหนึ่ง ก็เลยขอทุนไปเรียนต่ออังกฤษ พอไปอยู่ที่นั่นก็เห็นวิธีการทำสื่อของอังกฤษที่มีความหลากหลายมากกว่า โดยเฉพาะข่าว เราเปิดดูแล้วรู้สึกว่ามันคูลมากเลย เราอยากเดินทางไปที่นั่นที่นี่แล้วรายงานกลับมาที่สถานีเหมือนเขา พอเรียนใกล้จะจบก็รู้ว่าอยากทำงานทีวี 

ตอนนั้นไทยมีช่อง 3 5 7 9 และเริ่มมี ITV เนื่องจากเป็นช่วงหลังพฤษภาทมิฬ ไอทีวีเป็นสถานีโทรทัศน์ที่เฟี้ยวมากเพราะเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ฉีกกรอบการรายงานข่าว ทั้งรูปแบบ ความเป็นทางการ ภาษาที่ใช้จากการรายงานข่าวแบบเดิม ต้องบอกว่ายุคนั้นข่าวไม่ได้ถูกให้ความสำคัญเท่าไหร่ เพราะรายงานข่าวนายกฯ ผบตร. หรือ ผอ.องค์กรต่างๆ มันไม่มีเรื่องคน เรื่องชาวบ้านอย่างเรา และเป็นแบบนั้นเรื่อยมา 

แต่ไอทีวีมีการรายงานข่าวนอกพื้นที่เป็นครั้งแรก เราเห็นก็ตื่นเต้น อยากไปทำ บวกกับพี่เคยเป็นผู้นำนักศึกษาสมัยพฤษภาทมิฬด้วย เราก็รู้สึกว่าเรามีความเชื่อมโยงกับสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ เพราะเราเชื่อในเรื่องสื่อที่เป็นอิสระ และสามารถรายงานเรื่องของประชาชนได้จริงๆ 

แต่พอกลับมายังไม่ได้ไปทำไอทีวีเสียทีเดียว เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงปี ’40 มีวิกฤตต้มยำกุ้ง เขาไม่ได้มีแผนจะจ้างคนใหม่ เพื่อนนักข่าวที่รู้จักกันเลยชวนไปทำงานให้สถานีโทรทัศน์แห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งมีสาขาที่เมืองไทยด้วย พี่ไปทำงานกับเขาอยู่ปีหนึ่ง พอไอทีวีมีตำแหน่งว่าง เป็นตำแหน่งนักข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศ เราก็สมัครเข้าไป ช่วงนั้นเป็นช่วง IMF ทำให้เรามีโอกาสไปเจอนักลงทุนต่างประเทศมากมาย และได้เรียนรู้กลไกในองค์กรระหว่างประเทศ แต่ไม่ใช่เท่านั้น บางทีเวลามีภัยพิบัติ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ช่องก็ส่งพี่ไปเพราะพูดภาษาอังกฤษและพอจะเอาตัวรอดได้ 

อยู่ไอทีวีได้เกือบสามปีก็ถูกไล่ออก พี่ก็กลับไปทำงานกับเพื่อนฝรั่ง เป็นโปรดักชั่นเฮาส์ของคนแคนาดาที่เขาทำให้ลูกค้าทั่วโลก ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการทำงานของฝรั่งทั้งการทำงานข่าวและสารคดี ทำอยู่ได้สามปีก็มีโอกาสกลับไปทำฟรีแลนซ์อ่านข่าวต่างประเทศที่ช่อง 11 จนกระทั่งเกิดรัฐประหารของพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ไอทีวีก็ถูกปิดและเปลี่ยนไปเป็น ThaiPBS เขาก็ชวนพี่ไปทำงานในยุคก่อตั้ง 

พี่ทำอยู่ได้ปีนึงแล้วลาออกเพราะการเมืองมันแรงมาก เครียดมาก เลยออกมาขอพักแป๊บนึง ประจวบเหมาะกับตอนนั้นช่อง 3 ติดต่อมา บอกว่ามาเถอะ ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่อ่านข่าวอย่างเดียว ตอนแรกสัญญาแค่ 2 ปีแต่ต่อไปเรื่อยๆ เพราะอยู่แล้วรู้สึกสบายใจ จนเข้าปีที่ 5-6 พี่รู้สึกว่าไม่ไหว ชีวิตเราไม่ได้เกิดมาเพื่อนั่งอ่านข่าว จังหวะนั้น PPTV เขาอยากเน้นเรื่องข่าวต่างประเทศ พอมาที่นี่ก็ได้โอกาสทำในสิ่งที่อยากทำมานานคือการลงพื้นที่ นั่นคือที่มาของ รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี 

การเป็นนักข่าวที่ดีเรียกร้องทักษะอะไรบ้าง

(นิ่งคิด) มี 2 อย่าง ทักษะที่หนึ่งคือดูว่าประเด็นไหนน่าสนใจและเป็นประโยชน์กับคน เวลาพี่พูดคำว่าน่าสนใจมันตีความได้เยอะ ถ้าเราอยู่ในสถานีที่เน้นเรื่องเรตติ้ง ความน่าสนใจคือเรื่องอะไรก็ได้ที่คนดูเยอะๆ แต่สำหรับพี่ ความน่าสนใจไม่ได้อยู่แค่คนดูเยอะอย่างเดียว พี่มองว่ามันน่าจะต้องมีอะไรที่มันยึดโยงกับหน้าที่ที่แท้จริงของสื่อมวลชน นั่นคือ สื่อสารสิ่งที่เป็นประโยชน์กับคน อาจไม่ใช่ประโยชน์ในแง่ที่ว่าเขาเอาไปทำมาหาเลี้ยงชีพได้แต่เป็นประโยชน์ในแง่ที่ว่า เขาได้รับรู้อะไรเพิ่มขึ้นมาอีกอย่าง ซึ่งเขาไม่เคยรู้มาก่อน และอาจเป็นประโยชน์ในแง่ใดแง่หนึ่งในอนาคต สิ่งนี้เราเรียกว่าความรู้

ทักษะที่สองคือ storytelling skill ทักษะการอธิบายความ หาวิธีอธิบายให้ได้ว่าจะทำยังไงให้คนเข้าใจว่าข่าวที่เราจะพูดคืออะไร และสื่อสารให้กับเขาอย่างมีประสิทธิภาพ

ความสนุกของการเป็นนักข่าวคืออะไร

ได้เจอคนใหม่ๆ และได้ทำอะไรที่ไม่ได้อยู่ในโปรแกรม สำหรับพี่ พี่คิดว่ามันเป็นห้องเรียนของพี่ เวลาพี่เจอคนนั่งอ่าน นั่งดูอะไร แล้วพี่ได้ยินอะไรใหม่ๆ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มันเป็นความตื่นเต้นในชีวิต 

ในเมื่อเป็นห้องเรียน บทเรียนสำคัญที่คุณได้เรียนรู้จากการเป็นนักข่าวคืออะไร

ห้องเรียนที่เราไปเจอ เราได้เจอคนหลากหลาย แต่ชีวิตคนมันมีบทสรุปเหมือนกันหมดแหละ มันมีทั้งวันที่เราทำได้ดี วันที่เราทำได้ไม่ดี วันที่เราได้ยิ้มหัวเราะเพราะได้นู่นได้นี่ กับวันที่เราต้องร้องไห้เพราะต้องเจอสิ่งที่เราไม่อยากเจอ มันคือชีวิตนั่นแหละ 

การได้เจอชีวิตคนที่มีหลายมิติทำให้มองเห็นความแตกต่าง หลากหลาย แต่เราจะพยายามเข้าใจเขายังไง พี่อยากเข้าใจว่าทำไมบางคนในบางพื้นที่ ทำไมเขาต้องทำแบบนี้ ณ เวลานี้ หรือเวลาเราเจอคนแย่ๆ เราจะจัดการความรู้สึกยังไง มันคือการเรียนรู้ชีวิต

ทุกวันนี้คุณทำงานไปเพื่ออะไร

เพื่อที่ตัวเองยังรู้สึกมีประโยชน์อยู่ 

ถ้าเป็นเมื่อสัก 20 ปีก่อนพี่อาจจะบอกว่าทำงานเพื่อหาเงิน เพื่อจะได้อยู่ในจุดที่เราได้ใช้ชีวิตอย่างที่อยากใช้ ถึงตอนนี้ถามว่าเป้าหมายในชีวิตยังเป็นเงินอยู่ไหม ใช่ แต่มันลดลงมาเยอะแล้ว เพราะเราก็พอจะมีอะไรบางอย่างที่จะทำให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างที่อยากใช้ไปจนตาย ถ้าเอาเฉพาะเรื่องเงินก็ไม่ต้องทำงานแล้วก็ได้ พูดอย่างนี้คนจะหมั่นไส้ไหม (หัวเราะ) แต่ทุกวันนี้พี่ live modestly ไม่ซื้ออะไรแพงๆ ไม่ได้ซื้อข้าวของเยอะ แค่มีเงินใช้ไปเป็นเดือนๆ ก็พอแล้ว

แต่ที่ยังทำงานอยู่ พี่คิดว่าเป็นเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ความหมายของชีวิตมนุษย์–ไม่ว่าเราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม–เราจะรู้สึกอิ่มเอม มีพลัง ถ้าเรารู้ว่าสิ่งที่เราทำมีประโยชน์กับคนอื่นบ้าง หรือกับอะไรก็ตามที่เขาคู่ควรจะได้ เช่น สัตว์ สิ่งแวดล้อม อะไรแบบนี้

Uniform by กรุณา บัวคำศรี

ปกตินักข่าวมีกฎในการแต่งตัวไหม

จริงๆ ก็มีนะ เพราะในที่สุดแล้วเราก็ต้องมีกาลเทศะ ถ้าพี่ไปสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี เจ้าหน้าที่ หรือเจอใครที่ต้องเคารพสถานที่หรือตัวบุคคล พี่ก็ต้องใส่กางเกงที่สุภาพเรียบร้อย ใส่สูท รองเท้าหุ้มส้น แต่งให้เหมาะสมกับกาลเทศะ

และถ้าเราออกภาคสนาม ต้องคิดว่าให้คล่องตัวในการทำงานมากที่สุด ขาสั้นและรองเท้าแตะจะไม่ใส่เพราะเราต้องเคารพสถานที่ ต่อให้เราไปสงครามหรือบ้านนอกคอกนา เราต้องเคารพคนที่เราไปเจอ ถ้าออกพื้นที่พี่ก็จะใส่กางเกงที่ใส่ของได้เยอะๆ เช่น ปากกา กระดาษ โทรศัพท์ ยา ลูกอม ฯลฯ ไม่ต้องเปิดกระเป๋าไปๆ มาๆ เพราะถ้าเกิดหลงพลัดกับใคร พี่ก็ยังมีข้าวของพวกนี้ติดตัว นี่คือความมั่นคงของพี่

ส่วนเสื้อ ถ้าออกพื้นที่จะเป็นเสื้อยืด แต่พี่ก็จะเตรียมเสื้อแจ็กเก็ตหรือเสื้อคลุมที่ไม่ยับง่ายไว้เพื่อใส่รายงานข่าว เพราะข่าวคือความน่าเชื่อถือ ใส่แค่เสื้อยืดไม่ได้ มากกว่านั้น ในบางกรณี สมมติเราเดินทางไปเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อไปทำเรื่อง ISIS ตอนที่อยู่กับทหารพี่อาจถอดเสื้อนอกออกได้ แต่ถ้าไปเจอกับคนที่เป็นขั้วการเมือง พี่จะแต่งแบบนั้นไม่ได้ 

โดยสรุป ชุดที่ใส่คือต้องทำให้มันสามารถไปหาทุกคนได้ เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะเจอใครบ้าง

คุณมีสไตล์การแต่งตัวที่ชอบหรือเปล่า

ส่วนใหญ่ที่จะใส่ชุดที่สีไม่ฉูดฉาด เป็นเอิร์ทโทน เพราะถ้าฉูดฉาดไปบางทีมันกระอักกระอ่วน เช่น เราไปสัมภาษณ์คนที่เขาเพิ่งเสียลูกไปจากระเบิด เราจึงจะใช้สีเซฟๆ ไว้ มากกว่านั้นคือมันง่ายต่อการดูแลด้วย บางทีที่ที่เราไปเอาของไปเยอะไม่ได้ เช่น เราอาจไม่ได้เปลี่ยนเสื้อผ้าเพราะอยู่ในเหตุการณ์แผ่นดินไหว 2-3 วัน ใส่สีเอิร์ทโทนคนก็ไม่รู้ว่าสกปรกหรือเปล่า (หัวเราะ) 

นอกจากเสื้อผ้า มีไอเทมติดตัวในการทำข่าวภาคสนามบ้างไหม

กระป๋องน้ำ โทรศัพท์มือถือ สมุดจดข่าว ปากกา และพี่ก็จะมีบ๊วยเค็ม เพราะบางทีเดินทางนานแล้วง่วง ต้องการพลังงาน อีกอย่างคือ Power Gel หรืออาหารเหลวติดตัว เพราะบางทีเราออกพื้นที่แล้วเราไม่รู้ว่าจะกลับมาได้หรือเปล่า เราต้องมีอาหารเหลวติดตัวไว้ ให้ประทังชีวิตได้สัก 2-3 วัน 

พวกนักข่าวภาคสนามก็จะมี survival kit อยู่ใน running bag หรือกระเป๋าเล็กๆ ที่ใส่อาหาร ยาสามัญ ตัวห้ามเลือด ส่วนใหญ่เป็นของที่จะช่วยชีวิตเราถ้าเกิดอะไรขึ้น โชคดีที่ยังไม่เคยมีเหตุการณ์ประมาณนี้เกิดขึ้น 

อีกอย่างที่ต้องมีสำหรับบางพื้นที่คือขวดน้ำที่กรองน้ำได้ เช่นเราไปเฮติที่เจอน้ำโคลน ขวดน้ำนี้ก็จะสามารถกรองน้ำโคลนให้ใสจนดื่มได้ 

TARA by กรุณา บัวคำศรี

ก่อนหน้านี้เคยคิดหรือเปล่าว่าจะทำแบรนด์ของตัวเอง

เคยคิดแต่มันเป็นวุ้นๆ และมาคิดมากขึ้นตอนที่สื่อเกิดขึ้นเยอะ แลนด์สเคปของสื่อเปลี่ยน สื่อออนไลน์มากขึ้น แน่นอนว่าการแข่งขันเยอะขึ้น แต่เรารู้ว่าเราอยากทำอะไร พี่ก็มองอนาคตว่าถ้าการแข่งขันเยอะมากแล้วเราต้องไปประนีประนอมกับอะไรบางอย่างเพื่อจะได้ทำงานที่เราอยากทำ 

เช่น ถ้าเราอยากทำเรื่องสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและสิ่งแวดล้อม แล้วพี่อยากจะพูดว่าหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมคือการทำเกษตรแบบพืชเชิงเดี่ยว แต่พี่จะต้องไปขอเงินจากบริษัทใหญ่ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้มันก็ดูตลก พี่จึงคิดว่าเราควรจะต้องหาวิธีที่จะยืนด้วยขาของตัวเอง

ไม่ได้ทำคนเดียวแต่เราอยากสื่อสารกับคนดู กับประชาชนโดยตรง ถ้าเรามีความเชื่อว่าสิ่งที่เราทำจะเป็นประโยชน์กับสังคม เราเชื่อว่าคนพร้อมจะสนับสนุน ในขณะเดียวกัน พี่ก็ไม่ได้อยากทำในลักษณะว่าขอเงินประชาชนมาทำ มันควรมีเครื่องมืออะไรบางอย่างที่เราตอบแทนเขา 

เพราะพี่ทำเรื่อง climate change พี่เลยทำสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขาย ใช้ทรัพยากรคุ้มค่า และเป็นของที่จำเป็น เพื่อคนที่สนับสนุนพี่จะได้รับไปเป็นการตอบแทนและเขาสามารถใช้ได้จริง ที่สำคัญคือพี่ไม่อยากทำอะไรที่ตีหัวเข้าบ้าน ผลิตของอะไรมาก็ได้แล้วขาย พี่เลยเริ่มต้นด้วยการทำแบรนดิ้ง สร้างตัวตนของมันขึ้นมา ไม่ผูกติดกับพี่มาก เพื่อวันหนึ่งที่พี่ไม่อยู่แล้ว คนอื่นจะทำต่อได้ 

พี่อยากทำแบรนด์ที่ลงทุนกับเรื่องการออกแบบและหนักแน่นกับปรัชญาของมันชัดเจนว่ามันมีขึ้นเพื่ออะไร ถ้ามันอยู่ได้ พี่คิดว่าในอนาคตน้องๆ นักข่าวที่อยากทำคอนเทนต์เรื่องสิ่งแวดล้อมต่อเขาอาจจะได้ประโยชน์จากตรงนี้

ปรัชญาของ TARA คืออะไร

TARA เชื่อว่าเรามีทรัพยากรที่เพียงพอสำหรับทุกคน แต่เราไม่ได้มีทรัพยากรสำหรับกลุ่มคนที่บริโภคเกินความจำเป็น เพราะฉะนั้น เราอยากสื่อสารเรื่องการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่า ไม่ได้แปลว่าเราต้องรีไซเคิลอย่างเดียวแต่หมายถึงการใช้เฉพาะสิ่งที่จำเป็นกับชีวิต

พี่ไม่ได้บอกว่าคนที่ใช้เกินความจำเป็นไม่ถูก มันเป็นวิธีคิดของคนคนนั้น แต่พี่อยากสื่อสารว่าเราอยู่ในจุดที่โลกของเรามีบางสิ่งบางอย่างที่ถูกใช้ไปและหวนคืนไม่ได้แล้ว เราเรียกมันว่าจุด tipping point ยกตัวอย่างป่าแอมะซอน ต่อให้เราฟื้นฟูยังไงมันก็กลับมาเหมือนเดิมไม่ได้ หรือน้ำแข็งในกรีนแลนด์ที่ละลายทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 

เรียกว่าเรากำลังอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงที่ระบบนิเวศของโลกหลายจุดสำคัญกำลังเปราะบาง เพราะเราไม่ดูแลมัน ถ้าถึงจุดที่ล่มสลายแล้วมันจะส่งผลกระทบต่อคนทุกคนที่อยู่บนโลกนี้ พี่เลยอยากทำ TARA เพื่อเอากำไรส่วนหนึ่งมาทำคอนเทนต์ที่อธิบายเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งมันต้องใช้ทรัพยากรเยอะ เพราะบางครั้งเราต้องเดินทางไปยังจุดต่างๆ ในโลกเพื่อได้ข้อมูลเชิงประจักษ์ 

สอง–TARA จะเป็นเครื่องมือในการอธิบายกับคนเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผ้าเดดสต็อกคืออะไร กำไรที่ได้จากการทำแบรนด์ก็จะนำมาทำคอนเทนต์เหล่านี้ด้วย

คุณหยิบความชอบเรื่องสไตล์ของตัวเองมาใส่ในโปรดักต์ของ TARA บ้างไหม

พี่ชอบอะไรง่ายๆ แต่ใช้งานจริง simple but practical ชอบของที่เรียบแต่เรียบไม่ได้แปลว่าไม่มีอะไร จริงๆ แล้วความเรียบง่ายทำยากมาก ดูอย่างญี่ปุ่น เวลาเราเห็น MUJI เรารู้เลยว่าเป็นมูจิ แต่มันทำไม่ง่ายนะ หรือเฟอร์นิเจอร์ของสแกนดิเนเวีย มันเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ พี่ก็อยากให้ของตัวเองเป็นแบบนั้น

เสื้อของเราทำจากผ้าเดดสต็อกทุกตัว ซึ่งเราทำงานกับ Moreloop ที่ช่วยเรื่องดีไซน์ลายเสื้อผ้า นอกจากเสื้อ TARA ก็จะมีแชมพู สบู่ พวกของใช้ในชีวิตประจำวันที่เราร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ที่มีแนวคิดตรงกัน ธีมของมันคือรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด สินค้าเหล่านี้เลยไม่มีสารที่จะทำลายปะการังหรือน้ำ เราไม่ได้ตั้งราคาสูงมากด้วย เพราะเราไม่ได้อยากได้กำไรเยอะแยะ 

เป้าหมายของ TARA นอกจากเอากำไรไปทำคอนเทนต์ เรายังอยากทำให้เกิดการสนทนากันว่าทำไมสารบางตัวถึงทำลายสิ่งแวดล้อม ทำไมผ้าเดดสต็อกถึงโดนคนทิ้งขนาดนี้ ทำไมน้ำที่ใช้ปลูกฝ้ายมีปริมาณเทียบกับน้ำที่เรากิน 2 ปี ทำไมเราต้องรีไซเคิล พี่อยากสร้างวงถกเถียงเรื่องเหล่านี้

นักข่าวกับคนทำธุรกิจดูเป็นการสวมหมวกคนละใบ สำหรับคุณสองบทบาทนี้มีความท้าทายต่างกันยังไง

ไม่ต่าง เพราะพี่จะไม่ทำอะไรที่ทำแล้วรู้สึกขัดแย้งกับตัวเอง เวลาเราพูดถึงการทำธุรกิจ พี่จะเลือกทำอะไรที่พี่สบายใจและไม่อิหลักอิเหลื่อที่จะทำมัน ถ้าให้พี่ไปนั่งขายอะไรที่พี่ไม่เชื่อ พี่ก็จะอะไรดีวะ (เสียงอ่อน) แต่ถ้าเป็นผ้าเดดสต็อก มันเป็นสิ่งที่เราคุยได้เป็นวันๆ เพราะมันไม่ได้ขัดกับตัวตนและสิ่งที่เราเชื่อ

พี่มองว่าท้ายที่สุด ทุกอย่างมันคือธุรกิจนั่นแหละ การทำคอนเทนต์ก็คือธุรกิจเพราะเราขายข้อมูล แต่เราไม่อิหลักอิเหลื่อเพราะข้อมูลที่เราทำเป็นสิ่งที่เราเชื่อ แค่รูปแบบสินค้าไม่เหมือนกัน

กับการทำธุรกิจอย่าง TARA กำไรสำคัญที่สุดสำหรับคุณหรือเปล่า

ปรัชญาสำคัญที่สุด เราต้องไม่ทิ้ง พี่ไม่ได้บอกว่าเรากรีน 100% นะเพราะตอนนี้ยังทำไม่ได้ ยากมาก เพราะสเกลการผลิตมันเล็กมากถ้าเทียบกับเจ้าใหญ่ กำไรน้อยแต่พี่ก็ไม่ได้คิดกำไรสูงสุด พี่อยากได้กำไรแค่จ่ายเงินคนทำงานได้และนำกำไรส่วนหนึ่งกลับมาทำคอนเทนต์ เพราะฉะนั้นปรัชญาของมันสำคัญที่สุด

ผลตอบรับหลังจากปล่อยสินค้าออกไปเป็นยังไงบ้าง

ก็ดีนะ คนชอบ แต่พี่ก็รู้สึกว่ามันเป็นอาณาเขตใหม่สำหรับพี่ สิ่งที่เราทำคือเราเต็มที่ล่ะ พยายามมอบสิ่งของที่มีคุณภาพออกไป ฟีดแบ็กที่รับมาก็พยายามเอามาอุดรอยรั่ว แต่จนถึงตอนนี้ก็ not bad นะ 

การได้ทำแบรนด์ TARA ที่อยากสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อม และอยากสนับสนุนนักข่าวรุ่นต่อไปในอนาคตให้สื่อสารเรื่องนี้ต่อ สิ่งเหล่านี้มีความหมายกับคุณยังไง

พูดเหมือนนางเอกนะ แต่พี่ไม่ได้อยากได้อะไรในชีวิตแล้ว สมมติพี่ไม่ได้ทำตรงนี้ พี่คงนั่งอยู่บ้าน อ่านหนังสือ เล่นกับหมา ปลูกต้นไม้ แต่พอมานั่งดูชีวิตตัวเองแบบนั้น พี่รู้สึกว่ามันน่าจะว่างเปล่าจนเกินไป 

พี่ยังอยากใช้เวลาที่เหลือส่วนหนึ่งทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เคยทำมาก่อน และรู้ว่าถ้าทำสำเร็จมันจะทำให้คนในทีมหรือน้องๆ ที่สนใจเรื่องนี้ได้ประโยชน์จากมันในอนาคต ตอนนี้พี่อยู่ในสภาพที่อยู่ก็ได้ ตายก็ดี ตายพรุ่งนี้ก็ไม่เสียดายเพราะรู้สึกว่ายังไม่มีอะไรค้างคา และไม่ได้อยากทำอะไรไปมากกว่านี้แล้ว

Youniform – Karuna Buakamsri

ชื่อ : กรุณา บัวคำศรี
ตำแหน่ง : นักข่าว
ที่ทำงาน : อิสระ

แอบส่องเสื้อผ้าลุคทำงานในโอกาสต่างๆ ที่กรุณา บัวคำศรี บอกว่าเป็นตัวของตัวเองที่สุด

ลุคแรกคือชุดทำงานสำหรับการทำข่าวนอกสนาม วันนี้กรุณาใส่เสื้อยืดที่ทำจากผ้าเดดสต็อกของ TARA และกางเกงคาร์โก้ multi-purpose ผ้าคอตตอนใส่สบาย แห้งเร็ว เหมาะสำหรับการใส่ลุยทุกพื้นที่ 

“นี่คือลุคที่พี่แต่งสบายๆ เป็นลุคที่พร้อมที่จะเจอใครก็ได้ที่ไม่เป็นทางการมาก พี่ไม่มีชุดทำงาน เนี่ย ส่วนใหญ่ก็ใส่เป็นเสื้อยืด กางเกงแบบนี้ แต่กางเกงต้องมีกระเป๋าเยอะ เพราะพี่มีของเยอะ กางเกงจะต้องสามารถล้วงได้ง่ายๆ”

ลุคที่สอง อัพเกรดให้ดูทางการขึ้นมาอีกหน่อย

“สมมติไปเจอชาวบ้าน พี่อาจจะใส่เสื้อยืดธรรมดา แต่ถ้าไปเจอ maire หรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พี่ก็จะใส่แจ็กเก็ตให้ดูเรียบร้อยขึ้น ซึ่งเป็นแจ็กเก็ตผ้าร่มที่ไม่ยับ น้ำหนักเบา กันน้ำได้ มีฮู้ดที่ใส่สำหรับตอนแดดแรง และทุกตัวจะมีกระเป๋าเยอะ”

ลุคที่สาม คือลุคทางการสำหรับใส่ออกงานสังคม 

“เวลาไปงานก็จะมีสูทเบลเซอร์ รองเท้าส้นสูง และกางเกงที่ดูเรียบร้อย”

Writer

นักอยากเขียนผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like