จงทำดี

ความเชื่อและการตลาดนอกตำราแสนจริงใจสไตล์หมูทอดเจ๊จง

นอกจากความอร่อยของสารพัดเมนูอาหารที่มาในราคามิตรภาพสุดๆ อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ ‘ร้านหมูทอดเจ๊จง’ ยังคงได้รับความนิยมจนถึงทุกวันนี้คงหนีไม่พ้นความ ‘ใจใหญ่’ ของ ‘เจ๊จง–จงใจ กิจแสวง’

ไม่ว่าจะเป็นบริการเติมข้าวเติมผักฟรี แถมยังมีกล้วยน้ำว้าให้กินตบท้าย หรือในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาเจ๊จงก็เปิดโอกาสให้คนขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ หรือผู้ต้องการมีรายได้สามารถมารับข้าวกล่องไปขายก่อน แล้วค่อยนำเงินที่ขายได้มาจ่ายในตอนเย็น รวมไปถึงการปรับราคาอาหารขึ้น-ลงตามราคาวัตถุดิบ ถ้าหมูแพงก็ขอเพิ่มราคา แต่ถ้ากลับมาเป็นปกติ เจ๊จงก็กลับมาขายราคาเดิม

แม้ว่าแต่ละกลยุทธ์ในร้านอาจไม่ตรงกับสูตรจากตำราธุรกิจสักเท่าไหร่ แต่ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นจากความเชื่อของเจ๊จงที่อยากทำธุรกิจแบบซื่อสัตย์และจริงใจ

“คนเรายังอยากได้เพื่อนแบบนี้เลย ลูกค้าก็ต้องการสิ่งนี้จากร้านเหมือนกัน” คือสิ่งที่เจ๊จงบอกกับเราก่อนจะจบการสัมภาษณ์

ขอพาทุกคนไปสำรวจการตลาดสไตล์หมูทอดเจ๊จง อดีตร้านเล็กๆ ในย่านคลองเตย ก่อนจะขยายสาขาไป 13 แห่งทั่วกรุงเทพฯ และเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศไทย

บทที่ 1
จงเรียนรู้จากอดีต

เจ๊จงเติบโตมาในครอบครัวย่านชุมชนคลองเตยแท้ๆ พ่อเป็นคนขับแท็กซี่ แม่ทำงานโรงงาน เธอเป็นพี่คนโต และมีน้องชายอีก 3 คน

เจ๊จงเล่าด้วยน้ำเสียงสดใสว่าสมัยเรียนตนเองเรียนเก่งเป็นอันดับต้นๆ ของห้อง และชอบเรียนหนังสือมาก แต่ด้วยฐานะทางบ้านที่ยากจน ทำให้เธอต้องออกจากระบบการศึกษาหลังจบ ป.6 เพื่อมาทำงานส่งน้องๆ เรียนต่อ แต่เจ๊จงก็ไม่ยอมแพ้ เพราะยังรักที่จะเรียนรู้อยู่ จึงหาโอกาสเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยจนจบ ม.ปลายมาได้ด้วยตนเอง จากนั้นก็เข้าศึกษาต่อด้านพาณิชย์ ทว่าเรียนได้แค่เทอมเดียวก็ต้องออก เพราะไม่มีเงินมาจ่ายค่าเรียนต่อ

หลังจากนั้นเจ๊จงก็ทำงานสารพัด ก่อนจะแต่งงาน และทางด้านครอบครัวของสามีก็ยกกิจการร้านชำเล็กๆ ในแฟลตคลองเตยให้เจ๊จงดูแลต่อ 

อาจจะเพราะการเป็นคนจริงใจและมักจะเห็นอกเห็นใจคนอื่นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เมื่อเห็นว่าหลายคนในแฟลตลำบากเรื่องเงิน ไปกู้แต่ละทีต้องเสียดอกเบี้ยแพงๆ เจ๊จงจึงชวนกันมาเปิดวงแชร์โดยเธออาสาเป็นเท้าแชร์เอง

ซึ่งนี่คือต้นเหตุของความผิดพลาดที่กลายเป็นปัญหาชีวิตที่ใหญ่ที่สุดของเจ๊จง

“เจ๊ชวนแต่คนแย่ๆ มาอยู่กับเจ๊ พอได้เงินก็หนีกันไปหมด” 

จากคนพอมีพอกินอยู่ได้ไม่ลำบากกลับต้องมาแบกหนี้สินหลักล้าน เจ๊จงยอมรับว่าช่วงนั้นมองไปทางไหนก็มืดแปดด้าน เพราะเธอสูญเสียทั้งเงินทอง บ้านก็ต้องเอาไปจำนอง ครอบครัวก็แตกไปคนละทิศละทาง สิ่งเดียวที่เหลืออยู่คือความคิดที่ว่าไม่ว่ายังไงก็ต้องใช้หนี้ให้หมด

เจ๊จงตัดสินใจเปิดร้านอาหารตามสั่งโดยยืมของใช้เครื่องครัวจากคนในแฟลต ใช้เวลาไม่นานก็มีลูกค้าประจำมากมายเพราะฝีมือการทำอาหารของเจ๊จงไม่เป็นสองรองใคร

แต่ก็ด้วยความเป็นเจ๊จงอีกเช่นกันที่ทำให้เธอตั้งราคาไม่สูงมาก นานวันเข้าพอลูกค้าเยอะก็ยิ่งเหนื่อย ยิ่งทำไม่ทัน เจ๊จงเล่าว่ามีคนมาบอกกับเธอว่า “ถ้าทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เจ๊ได้ตายสักวันแน่ๆ” พร้อมทั้งแนะนำให้เจ๊จงลองขายข้าวแกงบุฟเฟต์ดู 

ตอนแรกเจ๊จงก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร จึงเริ่มไปสำรวจร้านข้าวแกงอื่นๆ พอเห็นว่าการทำอาหารปริมาณมากดูจะไม่ยาก ประกอบกับการได้ไปศึกษาผ่านหนังสือ วันต่อมาเจ๊จงก็เลยเลิกขายอาหารตามสั่ง แล้วเปิดร้านแกงบุฟเฟต์โดยตั้งราคาหัวละ 20 บาทแทน

หลังจากเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ เจ๊จงก็เริ่มมีรายได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะใช้ปลดหนี้ วันหนึ่งเธอไปซื้อข้าวหมูทอดให้ลูกสาว พอเปิดมาเจอหมูสี่ชิ้น ไฟในตัวเจ๊จงก็ลุกโชนขึ้นมาพึ่บพั่บ หันไปบอกลูกสาวว่า “คอยดูนะ เดี๋ยวแม่จะขายบ้าง แล้วจะให้หมูเยอะกว่านี้ด้วย”

วันต่อมาเจ๊จงไปซื้อหมูมา 8 กิโลกรัม เตรียมทอดขายตอนบ่ายหลังขายข้าวแกงเสร็จ แม้ครั้งแรกรสชาติจะยังไม่เข้าที่ แต่เมื่อรู้ว่าพลาดตรงไหนครั้งต่อไปก็มีแต่อร่อยขึ้น เจ๊จงทดลองไปเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นหมูทอดเจ๊จงที่ติดอกติดใจทุกคนในวันนี้ได้สำเร็จ

บทที่ 2
จงหาของที่ดีที่สุดมาให้ลูกค้า

สิ่งสำคัญในการทำร้านอาหาร นอกจากฝีมือดีแล้ว วัตถุดิบก็ต้องดีเช่นเดียวกัน

“เจ๊เป็นคนซื้อของดีแต่ไม่กล้าขายแพง” เจ๊จงหัวเราะหลังพูดถึงนิสัยของตัวเองที่อาจย้อนแย้งกับหลักการทำธุรกิจที่เน้นกำไรเป็นตัวตั้ง

เจ๊จงเล่าว่าเวลาไปตลาด เธอจะขอให้แม่ค้าเลือกของที่ดีที่สุด ไข่ต้องใบใหญ่ หมูต้องคุณภาพดี ตลอดหลายสิบปีที่ทำธุรกิจมาเจ๊จงไม่เคยต่อราคาหรือไปจุ้นจ้านกับการคัดเลือกเลย แต่ถ้าร้านไหนส่งของไม่ดีมาเจ๊จงจะเลิกซื้อทันที

เมื่อเราถามถึงการให้บริการเติมข้าวและผักฟรี เจ๊จงก็อธิบายว่าเวลาไปร้านอาหารแล้วขอลดข้าว ทางร้านก็ไม่ได้ลดราคาให้ ดังนั้นถ้าจะขอเพิ่มข้าว เธอก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องคิดเงินเพิ่ม 

ส่วนเรื่องการเติมผักฟรีนั้นเริ่มจากหลายปีก่อนสามีของเจ๊จงเข้าโรงพยาบาล และแม้จะเป็นวันอาทิตย์แต่เจ๊จงก็สังเกตว่ามีคนไข้มารอเต็มไปหมด 

“เจ๊เลยคิดขึ้นมาว่าถ้าลูกค้ากินแต่หมูทอด สักวันต้องตายแน่ เลยไปหาผักมาให้กินคู่กันด้วย” เจ๊จงเล่าอย่างอารมณ์ดี 

แต่ถ้าคุณคิดว่าทั้งผักและข้าวก็มากพอแล้ว ขอบอกว่ายังไม่หมด! เพราะร้านหมูทอดเจ๊จงมีกล้วยน้ำว้าให้กินหลังจบมื้ออาหารอีกด้วย ซึ่งบริการนี้เกิดจากตอนนั้นเจ๊จงไปตลาดแล้วเจอแม่ค้าขายกล้วย ด้วยความสงสารจึงไปเหมามาหมด พอเอากลับมาร้านก็พบว่ามันเยอะมากจนกินไม่ไหว เลยไปชวนลูกค้ามากินด้วย หลังจากนั้นกล้วยน้ำว้าจึงกลายเป็นอีกหนึ่งบริการของทางร้านไปโดยปริยาย

(เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตอนนี้ร้านหมูทอดเจ๊จงจึงงดให้บริการทานที่ร้าน รวมถึงการเติมผัก ข้าว และกล้วยน้ำว้า)

บทที่ 3
จงบริหารคนให้เป็น

เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น การขยายสาขาก็เป็นอีกโจทย์ของการบริหาร

สำหรับร้านหมูทอดเจ๊จง ไอเดียเรื่องการขยายธุรกิจเริ่มมาจากเหล่าลูกๆ ของเธอ

“เจ๊มีลูก 4 คนก็แบ่งกันไปดูแลคนละ 2-3 สาขา สิ่งที่ปรับไม่ได้คือราคา ต้องเหมือนกับที่สาขาหลัก ยกเว้นสาขาในห้างเพราะมันมีเรื่องค่าที่ด้วย แต่พวกเมนูข้าวแกงต่างๆ อันนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละสาขาเลย ใครถนัดอันไหนก็ทำอันนั้น”

เมื่อบริหารร้านได้ดีแล้ว ก็ต้องบริหารคนเป็นด้วย เจ๊จงเชื่อในเรื่องใจเขาใจเรามาก พนักงานในร้านของเจ๊จงได้รับค่าแรงตามความหนักของเนื้องาน และได้ขึ้นค่าแรงเมื่อเจ๊จงเห็นว่ามีความตั้งใจ ขยัน อดทน และไม่ออกนอกลู่นอกทาง

“เจ๊ให้ใจเต็มที่นะ แต่ใครไม่ดีก็ไม่เลี้ยงไว้ เวลาเจ๊จะขึ้นบ้าน เจ๊จะไปตรวจดูรอบๆ ก่อน มีอยู่วันนึงไปเจออุปกรณ์เสพยา วันต่อมาเจ๊ไล่ออกเลย ถึงจะรักมากก็ไม่เลี้ยงไว้” 

บทที่ 4
จงไม่หยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

ด้วยความที่เจ๊จงทำธุรกิจมา 18 ปี เราจึงทึกทักเอาเองว่าความยาวนานนี้อาจทำให้เจ๊จงคุ้นชินกับโลกแบบเดิมๆ แต่เมื่อได้คุยกันเลยรู้ว่าเจ๊จงปรับตัวอยู่เสมอ 

แม้กระทั่งกับโลกออนไลน์ที่ทุกอย่างอาจดูใหม่สำหรับคนรุ่นเธอ

เจ๊จงเริ่มจากการถามลูกว่าถ้าอยากทำแบบนี้ต้องทำยังไง ถ้าเรื่องไหนที่ลูกช่วยจัดการได้เธอก็จะปล่อยให้พวกเขารับผิดชอบ แต่ถ้าเรื่องไหนที่เจ๊จงเรียนรู้เองได้ เช่น อยากทำน้ำพริกขาย ก็จะเปิดยูทูบแล้วลองทำตามเลย

“เจ๊เป็นคนชอบเรียนรู้มาก และไม่อายที่จะถาม สมัยก่อนจะเล่นทองแล้วมันมีภาษาอังกฤษ เราอ่านไม่ออกก็อาศัยถามลูกค้าที่มาซื้อของว่าคำนี้อ่านว่าอะไร พอได้คำตอบก็จดไว้ กับเรื่องอื่นๆ ก็เหมือนกัน”

ถ้าเราเข้าเพจร้านหมูทอดเจ๊จงตอนนี้ก็จะได้เจอคลิปวิดีโอไลฟ์ย้อนหลังมากมาย เจ๊จงบอกว่าส่วนนี้ก็เริ่มจากการไปหาตัวอย่างดูว่าคนอื่นพูดขายกันยังไง แล้วค่อยๆ นำมาปรับให้เป็นสไตล์ของเรา 

พอเรานึกย้อนกลับไป พฤติกรรมของเจ๊จงเหมือนกับตอนเริ่มเข้าวงการธุรกิจร้านอาหารไม่มีผิด ไม่ว่าจะเป็นร้านข้าวแกงหรือหมูทอด ก็เริ่มจากการเรียนรู้และลงมือทดลองทำทั้งนั้น

บทที่ 5
จงทำธุรกิจที่ดีโดยการให้และแบ่งปัน

เจ๊จงคือหนึ่งในเชฟผู้เข้าร่วมโครงการ Chefs for Chance โครงการที่รวบรวมเชฟผู้มีชื่อเสียงมาเข้าร่วมโครงการจิตอาสา ก่อตั้งโดย ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการ Sustainable Brands ประจำประเทศไทย โดยงานแรกของโครงการคือการไปสอนทำอาหารให้นักโทษในเรือนจำ เพื่อที่เมื่อพ้นโทษออกมาแล้ว พวกเขาจะสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้

เมื่อวิกฤตโควิด-19 รุกคืบเข้ามา โครงการ Chefs for Chance ก็ยังคงให้ความช่วยเหลือผู้คนอย่างต่อเนื่อง 

“ตอนนั้นพี่หนุ่ย (ดร.ศิริกุล) มาชวนทำอาหารส่งให้โรงพยาบาล แต่บอกว่าต้องออกเงินเองนะ เจ๊ก็โอเค ไม่เป็นไร เพราะเราอยากช่วยอยู่แล้ว” แรกเริ่มเจ๊จงควักเงินตัวเองเป็นทุนในการทำอาหารส่งให้บุคลากรทางการแพทย์จริงๆ แต่เมื่อมีข่าวออกไปก็มีคนทักมาขอร่วมสมทบทุน หลังปรึกษากับ ดร.ศิริกุลแล้ว เธอก็ตัดสินใจเปิดบัญชีรับบริจาค จนได้เงินมาหลักล้าน อีกทั้งยังมีเชฟในโครงการ Chefs for Chance อีกหลายคนลงมาช่วยทำด้วย

นอกจากนี้เจ๊จงยังมีโปรเจกต์ที่ทำร่วมกับ ดร.ศิริกุลอีกอย่างคือให้วินมอเตอร์ไซด์และคนขับแท็กซี่มารับข้าวกล่องหมูทอดเจ๊จงไปขาย โดยได้กำไรกล่องละ 7 บาท ขายได้เท่าไหร่ ตอนเย็นค่อยเอาเงินมาจ่ายค่าต้นทุนคืน เรียกได้ว่าเป็นระบบที่ใช้ใจแลกใจจริงๆ

เราเลยอดสงสัยไม่ได้ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เจ๊จงต้องเผชิญปัญหาชีวิตครั้งใหญ่ในตอนนั้นก็เกิดจากความเชื่อใจในเรื่องเงิน ทำไมคราวนี้เจ๊จงถึงยังมั่นใจและกล้าที่จะทำแบบเดิมอีก

“ในบรรดาคนที่มาก็มีทั้งคนที่ดีและไม่ดี ถ้าเราปฏิเสธหมดคนดีก็จะโดนไปด้วย” เจ๊จงอธิบายเหตุผล

จริงอยู่ที่ในโปรเจกต์ดังกล่าวก็มีคนคิดไม่ดีเข้ามาจริงๆ ซึ่งเจ๊จงมองว่าคนเหล่านั้นตัดโอกาสตัวเองที่จะได้ค้าขายโดยไม่ต้องออกทุนเอง ขณะเดียวกันก็มีคนดีๆ อยู่มากเช่นกัน

“เจ๊เป็นพวกชอบรู้เรื่องคนอื่น เวลาใครลำบากก็อดเข้าไปช่วยไม่ได้ ช่วงนั้นมีลุงคนนึงมารับข้าวไปขายทุกวัน เขาบอกว่าเงินที่ขายได้เอาไปจ่ายเงินกู้ 50,000 บาท ซึ่งแค่ดอกเบี้ยก็วันละพันแล้ว เท่ากับว่าเงินต้นไม่ลดเลย เนี่ยพอเรารู้เรื่องเขาแล้วก็เครียด มาคิดว่าจะช่วยยังไงได้บ้าง

“เจ๊เลยเอาเงิน 50,000 บาทให้ลุงไปใช้หนี้ แล้วค่อยมาผ่อนกับเจ๊โดยที่เจ๊ไม่คิดดอกเบี้ยเลย เขาก็รับไป ถามว่าถ้าโดนโกงเจ๊จะทำอะไรได้ สัญญากู้ยืมก็ไม่มี แต่โชคดีที่เขาเป็นคนซื่อสัตย์และขยันมาก 

“ตอนแรกเจ๊ให้ลุงผ่อนวันละพัน แต่คิดไปคิดมาลดเหลือวันละ 800 ก็ได้ จะได้มีเงินเก็บไว้ใช้จ่าย แต่เขาไม่ยอม เพราะอยากใช้หนี้ให้หมด” 

ทั้งนี้เจ๊จงยังเสริมอีกว่าทุกวันนี้ลูกต้องเปลี่ยนประตูห้องทำงานให้เป็นแบบเซนเซอร์เพื่อให้เข้าถึงตัวเจ๊จงยากขึ้น ไม่เช่นนั้นคนที่ลำบากจะอาศัยจังหวะตอนร้านยุ่งๆ เข้ามาหาเธอตลอด เพราะรู้ว่าเจ๊จงใจอ่อนและชอบช่วยเหลือ

ก่อนจะจากกันไป เราถามส่งท้ายว่าอะไรคือหัวใจสำคัญในการบริหารร้านหมูทอดเจ๊จง

“ซื่อสัตย์และจริงใจ แค่สองคำนี้ก็พอ ช่วงที่ผ่านมาหมูขึ้นราคา เจ๊ก็ขอขึ้นราคาที่ร้าน แต่พอมันลดเจ๊ก็ลดกลับมาเป็นราคาเดิม จริงๆ มีคนบอกว่ามันกำลังจะขึ้นอีกรอบ จะปรับลงไปทำไม ก็ในเมื่อตอนนี้มันลง เจ๊ก็ต้องปรับสิ

“คนเรายังอยากได้เพื่อนแบบนี้เลย ลูกค้าก็ต้องการสิ่งนี้จากร้านเหมือนกัน”

Writer

นักอ่าน นักเขียน นักตีป้อม

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like