J.League Mascot

‘J.League Mascot’ ตัวนำโชคที่โลกต้องรัก

Match : ฟูจิซูเปอร์คัพ 2024 วิสเซล โกเบ 0-1 คาวาซากิ ฟรอนตาเล
Date : 17 กุมภาพันธ์ 2024

ในทุกปีก่อนจะเริ่มฟุตบอลเจลีกฤดูกาลใหม่  ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่เคร่งครัดของฟุตบอลญี่ปุ่น จะต้องมีการเชิญทีมแชมป์มาชนแชมป์เพื่อเป็นเกมเปิดม่านการแข่งขันเสมอ ซึ่งในปีนี้เป็นการพบกันระหว่างวิสเซล โกเบ แชมป์เจ 1 ลีก ปะทะกับคาวาซากิ ฟรอนตาเล แชมป์เอ็มเพอเรอร์คัพ (ซึ่งมีศักดิ์ศรีเท่ากับเอฟเอคัพ) 

เกมในสนามจบลงด้วยชัยชนะของฟรอนตาเล ทีมรักเก่าของชนาธิป สรงกระสินธ์ นักฟุตบอลเบอร์หนึ่งของแฟนชาวไทย ที่เฉือนเอาชนะไปได้ 1-0 

เพียงแต่สงครามที่ดุเดือดไม่ได้จบลงแค่เกม 90 นาทีเท่านั้น เพราะความสนุกของจริงตามมาหลังจากนั้น เมื่อเหล่าตัวนำโชคหรือ ‘มาสคอต’ ของทุกสโมสรในเจลีกต่างลงมาวาดลวดลายเหลือร้าย ส่ายไปส่ายมาดุ๊กดิ๊กบ้าง ยียวนกวนโมโหบ้าง เพื่อเตรียมที่จะมาชิงความเป็นหนึ่งในการประกวดมาสคอตประจำปีนี้

นั่น! หมี น้องหมา ปลาโลมา เทพเจ้าสายฟ้า เล่นอะไรกันไม่รู้ปั่นป่วนไปหมดแล้วข้างสนาม

ที่ประเทศญี่ปุ่นเราจะได้เห็นบรรดาตัวการ์ตูนน่ารักน่าเอ็นดูมากมายปรากฏกายอยู่เต็มไปหมด ไม่ว่าจะตามสถานีรถไฟ ในห้างสรรพสินค้า ตามแหล่งช้อปปิ้งต่างๆ โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่เพียงในเขตเมืองใหญ่เท่านั้น เพราะเมืองเล็กก็มีเหมือนกัน เรียกได้ว่าไปที่ไหนก็จะได้เห็นอยู่เสมอ แม้กระทั่งคุกก็มีเหมือนกัน!

ตัวการ์ตูนเหล่านี้คือ ‘มาสคอต’ หรือตัวนำโชค ที่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้นำมาเพียงแค่โชคลาภ แต่ยังนำมาซึ่งชื่อเสียงและเงินทองด้วย โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นที่โอบกอดเหล่าตัวนำโชคเหล่านี้ด้วยความรักและความยินดี

พวกเขายอมรับและยอมรักมากจนทำให้เกิดวัฒนธรรมมาสคอตเฉพาะของญี่ปุ่นเองที่เรียกว่า ‘Yuru-Chara’ ซึ่งมีกฎ 3 ข้อง่ายๆ ด้วยกัน

1. มาสคอตจะต้องเป็นตัวแทนความรักของเมืองบ้านเกิดหรือภูมิภาคบ้านเกิด

2. มาสคอตจะต้องมีท่าทางหรือพฤติกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ต้องไม่นิ่ง ดูแตกต่าง

3. มาสคอตจะต้องไม่จริงจังหรือเป็นพวกสบายๆ 

สิ่งที่จุดประกายกระแสนี้ขึ้นมาคือ ‘โดโมคุง’ (Domo-Kun) มาสคอตประจำสถานีโทรทัศน์ NHK ที่เกิดขึ้นมาฉลองครบรอบ 10 ปีของสถานีในปี 1998 และ Hello Kitty ตัวละครดังที่เป็นมาสคอตของการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นในปี 2008

แต่ถ้าถามถึงมาสคอตที่โด่งดังที่สุด หลายคนน่าจะรู้จักคือ ‘คุมะมง’ (Kumamon) เจ้าหมีสีดำตากลมแก้มแดง ที่ยียวนกวนประสาทเป็นที่สุด แต่ก็น่ารักจนกลายเป็นตัวละครที่มีคนรู้จักทั่วโลก และทำให้คนได้รู้จักกับเมืองคุมาโมโต (Kumamoto) เมืองบ้านเกิดของเจ้าคุมะมงไปด้วย

แถมให้อีก 2 ตัวคือเจ้า ‘ดองเพน’ (Donpen) กับ ‘ดองโกะ’ (Donko) เพนกวินน้อยที่ใครไปห้างดอง ดอง ดองกิ ต้องเคยเห็นอย่างแน่นอน

แต่ความจริงแล้วก่อนหน้าจะมีตัวละครเหล่านี้ ในประเทศญี่ปุ่นมีกลุ่มอัศวินมาสคอตผู้โด่งดังและยืนอยู่แถวหน้าของวงการมาโดยตลอด (ฟังดูเท่ชะมัด!) นั่นคือเหล่ามาสคอตของสโมสรฟุตบอลเจลีก

‘โดเลคุง’ นกฮูกแห่งทีมคอนซาโดล ซัปโปโร 

‘ชิคาโอะ’ กวางเขาเหล็กแห่งทีมคาชิม่า แอนต์เลอร์ส

‘กัมบะบอย’ เด็กสายฟ้าแห่งทีมกัมบะ โอซาก้า

‘แกรมปัสคุง’ เจ้าวาฬเพชฌฆาตแห่งทีมนาโกย่า แกรมปัส เอต

เจ้านกนางนวล ‘มาริโนสุเกะ’ แห่งทีมโยโกฮาม่า เอฟ. มารินอส

และเจ้ากระต่ายสีส้ม ‘พัลจัง’ แห่งทีมชิมิซุ เอส-พัลส์

เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายคนน่าจะเคยได้เห็นผ่านตากันมาบ้าง หรือดีไม่ดีอาจจะมีตุ๊กตา ของใช้ ของที่ระลึกเก็บสะสมกันบ้างใช่ไหม

แต่ถ้ายังไม่รู้จักก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร ขอเวลาสักไม่เกิน 10 นาทีนับจากตัวอักษรนี้ เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังนะครับ 🙂

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักและเข้าใจกับสิ่งไม่มีชีวิตแต่มีชีวาอย่าง ‘มาสคอต’ กันพอสังเขปครับ

มาสคอตนั้นไม่ได้เป็นสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมใหม่อะไรของโลก แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ตามบันทึกประวัติศาสตร์ มาสคอต (mascot) นั้นแท้จริงแล้วมาจากคำว่า ‘mascotte’ ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศส มีความหมายถึง ‘ตัวนำโชค’

ที่มาที่ไปนั้นจริงๆ แล้วเป็นคำสแลงที่คนเมืองน้ำหอมเขาใช้กันในเวลาเล่นพนัน (เพราะคำว่า masco นั้นหมายถึงผู้วิเศษหรือแม่มด) 

คำว่า mascotte มีการบันทึกว่าถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี 1867 โดย เอ็ดมงด์ โอดราน (Edmond Audran) ที่แต่งบทประพันธ์ La mascotte และมีการนำมาแสดงเป็นละครโอเปราในปี 1880 ก่อนที่อีกหนึ่งปีถัดมาคนอังกฤษได้มีการบัญญัติคำว่า mascot ขึ้น โดยให้ความหมายถึงสิ่งมีชีวิตที่เป็นตัวแทนขององค์กรในรูปของสัญลักษณ์หรือโลโก้ที่มีชีวิต

ในยุคแรกนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตจริงๆ เช่น สัตว์นำโชค หรือในอังกฤษมีธรรมเนียมปฏิบัติที่ยังมีถึงทุกวันนี้คือเด็กนำโชคที่จะเดินนำทีมฟุตบอลลงสนาม

ก่อนที่วงการมาสคอตจะค่อยๆ พัฒนาขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับอิทธิพลจากการแสดงหุ่นกระบอกดังอย่าง จิม เฮนสัน (Jim Henson) ผู้สร้าง ‘The Muppets’ และซิดแอนด์มาร์ตีครอฟต์ (Sid and Marty Krofft) จนนักการตลาดเกิดปิ๊งไอเดียนำมาต่อยอดจนกลายเป็นตัวนำโชคที่น่ารักสดใสในแบบปัจจุบัน

เพราะนักการตลาดมองเห็นพลังในตัวของมาสคอตที่สามารถเป็นตัวแทนในการถ่ายทอดเรื่องราวได้ดีและแยบยลที่สุดอย่างหนึ่ง

และแน่นอนว่าวงการที่เอามาใช้สร้างสีสันกันอย่างแพร่หลายที่สุดก็คือวงการกีฬานั่นเอง ซึ่งถ้าใครเคยดูอเมริกันเกมอย่างอเมริกันฟุตบอล NFL, บาสเกตบอล NBA หรือเบสบอล MLB ก็จะเห็นความป่วนมันฮาของเหล่ามาสคอตที่เล่นใหญ่ระดับจ้างร้อยเล่นล้านเสมอ

แต่สำหรับที่ญี่ปุ่น โดยเฉพาะในฟุตบอลเจลีกแล้วมาสคอตของพวกเขามีความแตกต่างและมีอิทธิพลที่มากกว่านั้น

สำหรับฟุตบอลเจลีก มาสคอตถูกมองว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญสำหรับการสร้างแบรนด์เจลีกตั้งแต่วันเริ่มก่อตั้งเลยทีเดียว

เรื่องราวต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 90 หรือร่วม 30 ปีที่แล้ว หลังจากที่มีการประกาศว่าจะมีการก่อตั้งลีกฟุตบอลอาชีพอย่างจริงจังในประเทศญี่ปุ่น โดยในรูปแบบและโครงสร้างได้ส่งคนไปศึกษาที่บุนเดสลีกาในประเทศเยอรมนี อีกสิ่งที่ถูกมองว่าสำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของแบรนด์

เพื่อให้เจลีกสะดุดตาและสะดุดใจผู้ชม ได้มีการว่าจ้างมืออาชีพเข้ามาดูแลเรื่องของการสร้างภาพลักษณ์ ซึ่งนอกจากจะมีการกำหนดธีม (theme) สีสันของแต่ละทีม ที่จะต้องสอดคล้องเข้ากับเมืองที่ตั้งของทีมอันเป็นหัวใจของลีกฟุตบอลอาชีพ เพราะเดิมสโมสรฟุตบอลญี่ปุ่นก็คือสโมสรของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ แต่หลังการศึกษาแล้วพวกเขาเชื่อว่าทีมฟุตบอลอาชีพควรเป็นทีมของท้องถิ่น เป็นสมบัติของชาวเมืองจึงจะยั่งยืน

แต่เพื่อจะสร้างความผูกพันระหว่างสโมสรกับแฟนฟุตบอลเข้าด้วยกัน จำเป็นที่จะต้องมีสิ่งที่จะเป็นสะพานประสานใจ คนที่นอกจากจะเป็นตัวแทนภาพลักษณ์ของสโมสรที่ต้องการจะสื่อออกไปแล้ว ยังต้องเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นที่รักของทุกคน 

หรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็นส่วนหนึ่งที่จะมาช่วยสร้างประสบการณ์ (brand experience) การรับชมฟุตบอลเจลีก ซึ่งสิ่งนั้นคือมาสคอตหรือตัวนำโชคนั่นเอง

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้การออกแบบมาสคอตของเจลีกจึงเป็นวาระใหญ่ระดับชาติทันที และงานนี้คนที่มาออกแบบก็ต้องเป็นยอดฝีมือระดับซามูไรขั้นเทพเหมือนกัน

หนึ่งในคนที่ได้มาร่วมออกแบบมาสคอตของ 10 สโมสรแรกในเจลีกที่เรียกกันว่า ‘The Original 10’ คือกาย กิลคริสต์ (Guy Gilchrist) ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมออกแบบตัวละครให้ The Muppets รายการหุ่นเชิดขวัญใจเด็กๆ ทั่วโลก และมีส่วนร่วมในการออกแบบ Teenage Mutant Ninja Turtles หรือ ‘เต่านินจา’ (หรือจะนินจาเต่าก็ได้) 

จริงๆ การมีส่วนร่วมของกิลคริสต์กับเจลีกก็ถือเป็นเรื่องบังเอิญ เพราะในปี 1991 เขาเดินทางมาญี่ปุ่นเพื่อขายผลงานหนังสือเด็กชุด ‘Tiny Dinos’ และพบกับสมาคมเบสบอลญี่ปุ่นเพื่อหารือเกี่ยวกับการร่วมมือกันสร้างผลงาน แต่ปรากฏว่าไปๆ มาๆ กลับได้มีโอกาสพบกับทีมการตลาดของ Dentsu และฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญาของ Sony แทน

“ช่วยออกแบบตัวละครสำหรับทีมฟุตบอลใหม่ที่จะตั้งในเมืองชิซูโอกะให้พวกเราหน่อยได้ไหม” คือคำขอที่กิลคริสต์ก็ไม่ได้คาดไว้

ทาง Dentsu และ Sony ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง เหมือนทุกสโมสรที่จะมีบริษัทยักษ์ใหญ่ช่วยในแต่ละเมือง มีโจทย์ในใจเอาไว้ก่อนแล้วว่าพวกเขาอยากได้ตัวละครที่เป็นผู้ชาย วาดลายเส้นในสไตล์แบบเดียวกับมังงะแนวโชเน็น 

กิลคริสต์ฟังแล้วก็คิดในใจ แค่ตอบตกลงไปก็รับเงินก้อนโตสบายๆ แล้ว แต่เขาเลือกที่จะปฏิเสธไป

“ไม่ ไม่ ไม่”

ทางฝ่ายญี่ปุ่นถึงกับอุทานว่า “เหหหหหห”​ ด้วยความงุนงงว่าทำไมถึงเป็นไปไม่ได้ ก่อนที่นักออกแบบชาวอเมริกันที่เป็นหนึ่งในศิษย์ของปรมาจารย์อย่างจิม เฮนสัน ได้พยายามอธิบายให้เข้าใจถึงคอนเซปต์การดีไซน์มาสคอตที่ยั่งยืนในใจคน

“ถ้าคุณออกแบบตัวละครแบบนั้น เด็กผู้หญิงก็จะแยกไม่ออก แล้วก็ผู้คนมีความหลากหลายและหลากสีสันนะ” กิลคริสต์พยายามอธิบาย ซึ่งบุญรักษาที่ล่ามช่วยแปลสิ่งที่เขาต้องการจะบอกได้อย่างครบถ้วน

“เหตุผลที่บักส์บันนี่ (Bugs Bunny) และมิกกี้เมาส์ (Mickey Mouse) ได้รับความนิยมก็เพราะพวกเขาไม่มีอายุ ไม่แบ่งเพศด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ทุกคนรักมัน เพราะมันน่ารัก กล้าหาญ และแสดงความเข้มแข็งได้ในเวลาที่ต้องการ ฉลาด และมันก็เหมือนกับพวกเราทุกคนนี่แหละ มันก็ต้องพยายามเหมือนกัน”

กิลคริสต์ปิดท้ายว่า ถ้าจะให้เขาออกแบบตัวละครนี้ นี่คือสิ่งที่เขาอยากจะใส่มันลงไปในตัวละครนั้น

“ผมอยากจะสร้างมิกกี้เมาส์ในแบบของพวกเราเอง”

และมิกกี้เมาส์สำหรับเจลีกในแบบของกิลคริสต์ก็คือ ‘พัลจัง’ (Pul-chan) มาสคอตของทีมชิมิซุ เอส-พัลส์ ซึ่งเป็นกระต่ายสีส้มมีหูเป็นปีก และมีรอยยิ้มที่สดใส

สีส้มคือสีประจำสโมสร 

หูที่ยาวเหมือนปีกมีความหมายถึงการพาทีมโบยบิน

ส่วนคำว่า ‘พัล’ ก็มาจากคำว่า ‘S-Pulse’ ชื่อของทีม และคล้องจองกับคำว่า ‘Pal’ ที่แปลว่าเพื่อนนั่นเอง

พัลจังกลายเป็นหนึ่งในมาสคอตที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ด้วยบุคลิกความน่ารักสดใส ทำให้ไม่ใช่เฉพาะแฟนทีมชิมิซุ เอส-พัลส์เท่านั้นที่หลงรัก แต่ยังได้รับความรักจากแฟนบอลทีมอื่นๆ และลามไปถึงแฟนฟุตบอลในต่างประเทศด้วย

ในขณะที่มาสคอตที่เหลืออีก 9 ตัวของเจลีกในตอนนั้นก็ได้รับความนิยมเช่นกัน เพราะมีความโดดเด่นในแบบที่แตกต่างกันออกไป มีทั้งความน่ารักและความเท่ในเวลาเดียวกัน 

สีสันจากมาสคอตเหล่านี้เป็นหนึ่งในแรงดึงดูดสำคัญที่เชิญชวนให้แฟนๆ มาเชียร์ฟุตบอลในสนามกัน แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือการผลิตสินค้าที่ระลึก (merchandise) ของมาสคอตเหล่านี้ออกมาวางจำหน่ายอย่างมากมาย ซึ่งเป็นของถนัดของชาวญี่ปุ่นอยู่แล้ว

ของที่ทำออกมาล่อลวงเงินในกระเป๋าของพวกเรานั้นมีทุกอย่างจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นของพื้นฐานอย่างเสื้อ กระเป๋า ตุ๊กตา ไปจนถึงปากกา ดินสอ ยางลบ พวงกุญแจ แม่เหล็กติดตู้เย็น ธงราว รองเท้า ของเล่น กาชาปอง อะไรก็ตามที่ผลิตขายได้ก็จะถูกนำมาผลิตขายให้แฟนๆ ได้จับจ่ายสนุกสนานที่หน้าสนาม 

แน่นอนใครไปเจลีกก็อดใจไม่ไหวที่จะซื้ออะไรติดไม้ติดมือกลับมาบ้าง แม้กระทั่งตัวผู้เขียนเองก็เคยมีประสบการณ์ตรงที่เคยไปชมเกมฟุตบอลเจลีกมา 2 ครั้ง และล้มละลายหน้าสนามทุกครั้งไป (แต่ก็สนุกมาก และบันเทิงมากกับการเดินหาของกินหน้าสนาม)

เงินรายได้จากการจำหน่ายสินค้าเหล่านี้จะกลับมาช่วยเหลือสโมสร และจะเป็นการช่วยเหลือเมืองในทางอ้อมเพราะเกมฟุตบอลที่ได้รับความนิยมหมายถึงการจ้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ชาวเมืองตามไปด้วย (ซึ่งในเวลาต่อมากระแสเครซีมาสคอต เกิดมาสคอตประจำเมืองขึ้นมากมายรวมถึงคุมะมงผู้โด่งดังด้วย ) 

โดยในปี 2022 มีการเปิดเผยข้อมูลรายได้จากการจำหน่ายสินค้าอย่างเดียวสามารถสร้างรายได้ให้แก่สโมสรฟุตบอลในระดับ เจ 1 (ดิวิชั่นสูงสุด) ได้ถึง 7.51 พันล้านเยน หรือร่วม 1,800 ล้านบาทเลยทีเดียว 

และหากรวมกับในระดับเจ 2 และ เจ 3 ที่ทำรายได้อีก 2.58 พันล้านเยน (617 ล้านบาท) และ 0.92 พันล้านเยน (220 ล้านบาท) หมายถึงมีเงินสะพัดจากการจำหน่ายสินค้าที่ระลึกมากกว่า 1.1 หมื่นล้านเยน หรือ 2,630 ล้านบาทเลยทีเดียว

เพียงแต่หน้าที่ของมาสคอตไม่ได้มีแค่นี้ เพราะยังสามารถใช้ในการโปรโมตกิจกรรมต่างๆ ของสโมสร ซึ่งรวมถึงกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) และใช้ในการการดูแลแฟนบอล (CRM) ได้ด้วย

หนึ่งในเรื่องเล่าน่ารักๆ คือเรื่องราวของโคยานง (Koyanon) มาสคอตเสริมของทีมซานเฟรซเซ ฮิโรชิม่า ที่เป็นรูปหน้าชายหนุ่มแนวๆ ซาลารีมังหรือมนุษย์เงินเดือน ซึ่งเป็นมาสคอตที่แฟนบอลของทีมซานเฟรซเซรักอย่างยิ่ง

นั่นเพราะโคยานง มาจากตัวตนของคาโอรุ โคยาโนะ อดีตหนุ่มธนาคารที่ผันตัวมาเป็นผู้จัดการทั่วไปของสโมสรฟุตบอลซานเฟรซเซ ซึ่งแม้จะเคยได้แชมป์เจลีกในปี 2012 แต่หลังจากนั้นผลงานตกต่ำ ความนิยมดำดิ่ง รายรับนิ่งไม่ไหวติง สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะถูกถอนใบอนุญาต

เพื่อช่วยเหลือทีมโคยาโนะ จึงพยายามพบปะและพูดคุยกับแฟนฟุตบอลเสมอ ไม่ว่าจะช่วงก่อนเกม ที่สถานีรถไฟ ซึ่งแม้จะไม่ได้รับความร่วมมือนักแต่โคยาโนะซังไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ตามตื๊อจนได้ข้อมูล (insight) ถึงเหตุผลที่แฟนๆ ไม่ยอมซื้อตั๋วชมแบบปีของสโมสรที่เป็นรายได้หลัก

ความเอาใจใส่และตั้งใจจริงของโคยาโนะชนะใจแฟนบอลได้ในที่สุด และกลายเป็นการกำเนิดมาสคอตเสริมของทีมที่เรียกว่าโคยานง ซึ่งไม่ว่าจะผลิตของอะไรออกมาขายก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างสโมสรกับแฟนบอลกลับมาดีอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เรียกได้ว่ามาสคอตคือผู้ช่วยดูแลแบรนด์ของสโมสรฟุตบอลที่ทรงพลังทางใจเป็นอย่างยิ่ง

มาสคอตเหล่านี้จึงช่วยเพิ่มสีสันและความสนุกสนานให้กับแฟนๆ และเป็นสตาร์ในตัวของพวกเขาเองด้วย เพราะแฟนๆ เองก็อยากเจอ อยากถ่ายรูปคู่ อยากเล่นกับมาสคอต ซึ่งบางตัวดังยิ่งกว่านักเตะในสโมสรเสียอีก

ในภาพใหญ่มาสคอตยังเป็นหมุดเล็กๆ ที่ช่วยวางรากฐานที่มั่นคงให้กับวงการฟุตบอลญี่ปุ่นได้อย่างน่ามหัศจรรย์ 

เพราะหากย้อนไปที่แผนยุทธศาสตร์ 100 ปีของเจลีก (J.League 100 Year Vision) ซึ่งนอกจากจะต้องการยกระดับวงการฟุตบอลญี่ปุ่นให้ครองโลกให้ได้ในอนาคต ยังมีเป้าหมายที่สำคัญอีกอย่างคือ “ต้องการทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีความสุขมากยิ่งขึ้นผ่านเกมกีฬา”

เจลีกเองจึงไม่ได้เป็นแค่เกมกีฬา แต่เป็นมากกว่านั้น เป็นเรื่องของเมือง เรื่องของชุมชน ที่ครอบครัวจะได้ใช้เวลาที่มีความหมายร่วมกันในช่วงสุดสัปดาห์ 

ปัจจุบันมาสคอตของเจลีกไม่ได้มีแค่ 10 ตัว เพราะจากวันแรกในปี 1993 จนถึงวันนี้ (ที่ผ่านการต่อสู้อย่างหนักไม่น้อย) ปัจจุบันมีมาสคอตของสโมสรฟุตบอลใน 3 ดิวิชั่นของเจลีกรวมกันถึง 55 ตัวด้วยกัน 

โดยที่มาสคอตเหล่านี้ก็มีการเติบโตตามวันเวลา หลายสโมสรไม่ได้ยึดติดกับมาสคอตดั้งเดิม บางตัวก็เกษียณตัวเองไปเป็นมาสคอตกิตติมศักดิ์แทน เช่น เวอร์ดี้คุง มาสคอตของทีมโตเกียวเวอร์ดี้ หรือบางทีก็มีการสร้างเรื่องสร้างราวเข้าไปให้สนุกขึ้น เช่น บางตัวก็มีแฟน บางตัวมีลูก หรือบางตัวก็ปรับหน้าตาให้เป็นมิตรขึ้น เช่น เจ้าหมีซานเซ (Sancce) ของทีมซานเฟรซเซ ฮิโรชิม่า ที่เดิมมีหน้าตาเหมือนหลุดมาจากหนังสยองขวัญไปหน่อย ตอนนี้หน้าตาน่ารักประหนึ่งหมีแคร์แบร์เลย

ทีนี้เพื่อให้เรื่องราวมันสนุกและจริงจังขึ้นอีกนิดก็เลยเกิดไอเดียให้มีการจัดประกวดความนิยมกันปีละครั้งว่ามาสคอตของใครจะโดนใจแฟนบอลที่สุด คนที่โหวตก็คือแฟนๆ นี่แหละที่จะร่วมกันส่งคะแนนให้โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นทีมตัวเองเท่านั้น (แต่ก็แน่นอนแหละว่างานนี้ไม่มีใครอยากให้สโมสรตัวเองเสียหน้าอยู่แล้วถูกไหม!)

มาสคอตตัวไหนได้ที่ 1 ก็จะได้รับเกียรติให้อยู่ตรงกลางภาพหมู่ประจำปีที่จะถ่ายร่วมกัน โดยพิธีการประกาศอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในเกมฟูจิซูเปอร์คัพ ที่นอกจากจะเป็นการเปิดม่านฤดูกาล ก็ยังถือเป็นการพบปะสังสรรค์กันระหว่างมาสคอตกับมาสคอต และมาสคอตกับแฟนฟุตบอลไปด้วย

เป็นสีสันความน่ารักแบบญี่ปุ๊นญี่ปุ่นที่หาไม่ได้จากที่ไหน 

ใครอยากรู้ว่ามาสคอตเจลีก ‘สุโก้ย’ จริงไหม อยากแนะนำให้ลองหาโอกาสแวะไปดูสักนัดนะครับ! (พกเงินไปเยอะๆ ด้วยนะ!)

Match facts

  • ในบรรดามาสคอตของ 10 สโมสรผู้ก่อตั้งเจลีก มีเพียงแค่โทบิมารุ (Tobimaru) มาสคอตของทีมโยโกฮาม่า ฟลูเกลส์ ที่ไม่ได้ไปต่อ เพราะสโมสรถูกยุบรวมเข้ากับทีมโยโกฮาม่า มารินอส (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโยโกฮาม่า เอฟ. มารินอส ที่ใช้จนถึงปัจจุบัน)
  • ส่วนใหญ่แล้วมาสคอตของทีมเจลีกจะเป็นสัตว์ประจำท้องถิ่น (เช่น ชิคาโอะ ของทีมคาชิม่า แอนต์เลอร์ส) แต่มาสคอตที่เหนือชั้นที่สุดคือ คิซูรุ (Kizuru) ของทีมอิวาเตะ กรุลลา โมริโอกะ ที่เป็นนกกระเรียนกระดาษที่พับในแบบโอริกามิ
  • มาสคอตตัวที่เข้าถึงยากที่สุดคือ เรเดีย (Redia) สุนัขนำโชคของทีมอุราวะ เรด ไดมอนด์ส ซี่งมีนโยบายเข้มๆ ว่าสนามฟุตบอลเป็นที่ที่จริงจัง! ทำให้นานๆ เรเดียจะโผล่มาทีนึง และต่อให้โผล่มาก็จะไม่ยอมทำกิจกรรมร่วมกับแฟนๆ ด้วย จริงจัง!

ที่มา

Writer

นักเตะสมัครเล่นที่พอเขียนหนังสือได้นิดหน่อย เชื่อในพลังของตัวหนังสือที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้ มีเพจเล็กๆของตัวเองชื่อ Sockr และเคยแปลหนังสือ เมสซี vs. โรนัลโด: คู่ปรับฟ้าประทาน

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like