มิจลักนักก่อสร้าง

หวังรัก กลับเจอมิจฉาชีพ หนุ่มไทยสูญเงิน 60,000 บาท จาก romance scam

ในอดีตการจะมีความรักหรือเข้าหาใครสักคนอาจต้องลงทุนลงแรงซื้อของขวัญ เดินทางไปหา หรือนัดเดตเพื่อทำความรู้จัก แต่เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก จนทำให้การเข้าถึงความรักง่ายกว่าแต่ก่อน ทว่า เทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายในทุกวันนี้ ก็ไม่ได้การันตีว่าความรักจะสมหวัง เพราะบางครั้งความรักในโลกออนไลน์ก็มาในรูปแบบ romance scam ที่จบด้วยความเสียหายทั้งด้านการเงินและจิตใจ

เรื่องราวจากประสบการณ์ที่กำลังจะเล่าต่อไปนี้เป็น romance scam อีกหนึ่งรูปแบบที่สร้างโปรไฟล์ให้ดูสมจริงและน่าดึงดูด ใช้คารมหว่านล้อมด้วยคำหวาน ตีสนิทให้เกิดความเชื่อใจ ซึ่งในเคสนี้มิจฉาชีพจะมองหากลุ่มคนเหงา คนโสดที่ต้องการหาเพื่อนคุย เหมือนกับ เบิร์ด หนุ่มไทยวัย 37 ที่ทำงานก่อสร้างอยู่ ณ ประเทศญี่ปุ่น ที่ไม่เคยสนใจเรื่องการลงทุน แต่กลับต้องมาเสียเงินกว่า 60,000 บาท จากการหลอกลวงของมิจฉาชีพ

เบิร์ดเล่าว่า ในขณะที่ตนกำลังเล่น TikTok ก็มีหญิงสาวรายหนึ่งทักเข้ามาทาง Direct Message ด้วยความที่เห็นว่าหน้าตาเป็นมิตร น่ารัก บวกกับช่วงนั้นตนกำลังจะกลับไทย เลยอยากคุยกันไว้เผื่อได้นัดเจอหรือไปเที่ยว โดยมิจฉาชีพรายนี้เข้ามาในรูปแบบของ romance scam ที่เข้ามาตีสนิท คุยเล่น หยอกล้อ สร้างความสนิทสนม วางตัวเหมือนเพื่อนหรือมากกว่าเพื่อน เช่น ทำทีว่าจะชวนไปเที่ยว กินข้าว ดูหนัง หรือเล่าสารทุกข์สุกดิบเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวันให้ฟัง เพื่อให้ผู้เสียหายตายใจ และเมื่อเวลาผ่านไปหญิงสาวรายนี้ก็เริ่มชักชวนเบิร์ดให้เข้าสู่โลกการลงทุน

โดยการลงทุนที่ว่าเป็นการลงทุนในหุ้นและกองทุนผ่านธนาคาร BNP Paribas ซึ่งเป็นสถาบันการเงินระดับโลกจากประเทศฝรั่งเศส มิจฉาชีพได้ทำเว็บไซต์ปลอมและใช้กลยุทธ์ล่อลวงว่าเมื่อลงทุนแล้วจะได้ผลตอบแทนสูงในเวลาไม่นาน โดยการันตีผลตอบแทนมากถึง 15% และจ่ายคืนในทุกๆ 3 เดือน เช่น ลงทุน 100,000 บาท ได้กำไร 15,900 บาท และจะลงทุนหุ้นและกองทุนในต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งในอังกฤษ เกาหลี แคนาดา และสิงคโปร์ มิจฉาชีพอ้างว่าจะให้ผลตอบแทนดีกว่าการลงทุนหุ้นในประเทศ พอเป็นเช่นนี้จึงทำให้ผู้คนจากหลายสาขาอาชีพสนใจเข้าร่วมลงทุนด้วย แม้แต่ผู้เสียหายเองก็สนใจเช่นกัน

สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจด้วยข้อมูลที่เชื่อถือได้

จากข้อมูลที่มิจฉาชีพบอกกับผู้เสียหายเกี่ยวกับธนาคาร BNP Paribas เมื่อผู้เสียหายเสิร์ชหาในอินเทอร์เน็ตก็จะเจอข้อมูลที่เชื่อถือได้ มีความถูกต้องตามกฎหมาย และมีหน่วยงานรับรอง ทำให้ผู้เสียหายรู้สึกเชื่อใจและไว้ใจ อีกทั้งมิจฉาชีพยังโน้มน้าวทางอารมณ์มากกว่าการโน้มน้าวด้วยเหตุผล เช่น จำกัดระยะเวลาในการโอนเงิน จำกัดผู้เข้าร่วมการลงทุน ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าจะได้ผลตอบแทนตามที่สัญญาไว้

ตอนนี้หลายคนอาจเริ่มสงสัยว่า ท่ามกลางการประโคมข่าวของสื่อต่างๆ ทำไมยังมีคนหลงเชื่อมิจฉาชีพอย่างสนิทใจ แต่ในมุมมองของผู้ที่ไม่คิดจะลงทุนหรือไม่เคยลงทุนมาก่อน การได้เห็นภาพของนักลงทุนที่ลงเงินไปแล้วได้ผลตอบแทนกลับมาจริงๆ ย่อมสร้างความเชื่อใจได้มากกว่าวิธีไหนๆ และในครั้งแรกมิจฉาชีพได้โชว์ผลประกอบการที่ได้จากการลงทุนให้ผู้เสียหายดู โดยมีเงินลงทุนเริ่มต้น 50,000 บาท ภายในระยะเวลาไม่นานก็ได้กำไรหลักแสน และมิจฉาชีพก็ให้ผู้เสียหายได้ลองลงทุนด้วยตัวเอง โดยจะคอยบอกทุกขั้นตอน จนได้กำไรหลักแสน ทำให้ผู้เสียหายสนใจและอยากลงทุนแบบจริงจัง

“เมื่อเห็นว่าได้กำไรจากการลงทุนก็อยากถอนเงินออก แต่จังหวะนั้นผมใส่เลขบัญชีธนาคารผิด ก็ต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่ เขาบอกว่าต้องโอนเงินเข้าบัญชีให้เท่ากับจำนวนเงินที่จะถอนออก ซึ่งตอนนั้นมีเงินในระบบแสนกว่าบาท ผมก็ตัดสินใจโอนเงินไป 60,000 บาท เพื่อที่จะถอนเงินออกมา แต่พอโอนไปแล้วก็ยังถอนออกมาไม่ได้ เพราะระบบแจ้งว่าต้องจ่ายค่าภาษีอีก 20,000 บาท”

สร้างความกลัวและความกดดัน

นอกจากการการันตีผลตอบแทนที่สูงเกินจริงแล้ว อีกหนึ่งจุดที่ทำให้ผู้เสียหายรู้สึกตัวว่าโดนหลอกคือการกดดัน

มิจฉาชีพอ้างว่าถ้าไม่รีบโอนเงินตอนนี้ จะถอนเงินไม่ได้อีกต่อไป หรืออ้างเหตุผลต่างๆ นานาว่าต้องเติมเงินเพื่อแก้ปัญหา เช่น จะถอนเงินได้ก็ต่อเมื่อเติมเงินเพิ่ม และตัวมิจฉาชีพในฐานะโบรกเกอร์ที่คอยแนะนำการลงทุนก็จะกดดันให้ผู้เสียหายโอนเงินให้เร็วที่สุด มีกำหนดระยะเวลาชัดเจน  ถือเป็นการครอบงำเหยื่อด้วยความกลัว กลัวว่าถ้าไม่โอนตอนนี้จะสูญเงินทั้งหมด 

“หลังจากมิจฉาชีพบอกว่าต้องโอนเงินอีก 20,000 บาทเป็นค่าภาษีสำหรับถอนเงิน ผมก็รู้สึกตัวแล้วว่าโดนหลอกแน่ๆ เลยไม่ได้โอนไป แล้วจึงนำเรื่องทั้งหมดไปโพสต์ในกลุ่มแชร์ประสบการณ์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีในเฟซบุ๊ก สมาชิกในกลุ่มก็พูดเหมือนกันทุกคนว่าโดนโกงแล้ว ให้รีบแจ้งความทันที ตอนที่เกิดเรื่องผมยังอยู่ญี่ปุ่น เลยให้น้องไปแจ้งตำรวจในท้องที่ ซึ่งตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าเรื่องไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว

“ที่น่าเจ็บใจคือ มิจฉาชีพยังตอกย้ำกลับมาอีกว่า ‘ทำไมโอนง่ายจัง สบายใจจังได้เงินฟรีๆ แล้วสักพักก็บล็อกผมไป’ 

ทั้งนี้ ในการลงทุนหรือทำธุรกรรมใดๆ ถ้าเจอประโยคที่ว่า ‘จะถอนเงินได้ต้องเติมเงินก่อน’ ใหัสันนิษฐานไว้เลยว่าเป็นมิจฉาชีพ เพราะถ้าเงินทั้งหมดที่ลงทุนมีอยู่จริง ต้องถอนได้ง่ายๆ ไม่ใช่ต้องเติมเงินเพื่อให้ถอนได้ เพราะในท้ายที่สุดคุณจะเสียเงินมากขึ้น 

“ด้วยความที่ผมทำงานอยู่ต่างประเทศ ย่อมมีความเหงาเป็นธรรมดา พอมีคนเข้ามาคุยเราก็คิดว่าเขาจะจริงใจ ถ้าจะหลอกให้รักไม่ว่า แต่อย่าหลอกให้โอนเงิน” เบิร์ดกล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม 60,000 บาทเป็นเพียงความเสียหายในแง่ตัวเลขเท่านั้น แต่ความเสียหายที่หยั่งลึกลงไปกว่านั้นคือความเสียหายทางด้านจิตใจ เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้เสียหายรู้สึกไม่ดีกับการมีความสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ ที่กลายเป็นความทรงจำแสนเลวร้ายไปตลอดชีวิต

ถ้าไม่อยากมองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป เมื่อมีความสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ และถูกชักชวนให้ลงทุน แต่ยังกังวลหรือไม่แน่ใจว่ากำลังเจออยู่กับมิจฉาชีพหรือไม่ แนะนำให้ตรวจสอบข้อมูลและรายละเอียดอย่างรอบคอบก่อนจะตกลงหรือทำธุรกรรมใดๆ อย่าผลีผลามลงทุน เช็กให้ชัวร์ก่อนว่าบริษัทมีตัวตนไหม หรือหากพบเบาะแสหรือพฤติกรรมไม่น่าไว้ใจ สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการในตลาดทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ได้ที่ market.sec.or.th/LicenseCheck/Search หรือแอพพลิเคชั่น SEC Check First

Writer

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจ การตลาด และความเป็นไปในสังคม

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like