มิจลักอาจารย์มหาวิทยาลัย

Romance Scam ไม่รัก ไม่แคร์ ไม่ต้องมาหลอกัน

สำหรับบางคน ความรัก เป็นสิ่งสวยงามที่เข้ามาเติมเต็มให้ชีวิตมีความสุข แน่นอนว่าใครๆ ก็อยากมีรักที่ดี รักที่ครองคู่กันไปตลอดชีวิต แต่กับบางคนความรักไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น แถมยังพรากบางสิ่งบางอย่างไปจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ สังคมไทยเริ่มคุ้นเคยกับ Romance Scam หรือ พิศวาสอาชญากรรม ที่ใช้เทคนิคต่างๆ หลอกให้หลงรัก เชื่อใจ ให้ความหวังว่าจะมีบั้นปลายชีวิตที่ดีด้วยกัน โดยหลอกให้โอนเงินหรือใช้ความเชื่อใจแสวงหาผลประโยชน์

และในปี 2565 การหลอกลวงในรูปแบบ Romance Scam ก็ยังมีให้เห็นอยู่มาก มีข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บอกว่าในปี 2566 มีคดีเกี่ยวกับการหลอกให้รักสูงถึง 403 คดี รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 190 ล้านบาท นี่เป็นเพียงตัวเลขที่ผู้เสียหายเข้าแจ้งความ แต่จริงๆ แล้วยังมีผู้เสียหายอีกหลายรายที่เลือกจะเก็บเรื่องเหล่านี้ไว้เป็นความลับ ไม่กล้าบอกใคร นี่จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป

หนึ่งในเคสที่น่าสนใจและเป็นกรณีศึกษาชั้นดีคือเคสของ ดร.เอ (นามสมมติ) อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่สูญเงินไปกว่าครึ่งล้าน 

“มีผู้ชายคนหนึ่งไดเรกต์ไอจีมาหา บอกว่าชื่อ เคอรี่ ชาน เขาทักเรามาด้วยภาษาจีน ซึ่งเราก็สื่อสารภาษาจีนได้อยู่แล้ว เพราะมีลูกศิษย์เป็นคนจีน เราก็รับแอดเพราะคิดว่าอาจเป็นลูกศิษย์ที่ทักมาถามเรื่องเรียน พอเราถามไปว่า Are you my student? เขาก็จะตอบกลับมากวนๆ และรู้ว่าเขาไม่ใช่นักเรียน เลยคุยกันไปเรื่อยๆ ก็เริ่มถูกคอกัน

“ทีนี้เราก็ดูโปรไฟล์ ก็แปลกใจที่ว่าในนั้นมีภาพและข้อมูลที่ตรงกับความสนใจของเราทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภาพลูกบาส การตีเทนนิส และกอล์ฟ เหมือนเขาไปสืบมาก่อนแล้วว่าเราชอบอะไร มีลูกอายุเท่าไหร่ แล้วเขาก็ดันมีลูกที่อายุเท่ากัน เป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว เหมือนกับเราที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ทำให้เรารู้สึกดีกับคนคนนี้ ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าจริงหรือปลอม”

ผู้เสียหายเล่าว่า โปรไฟล์ของมิจฉาชีพดูเป็นคนมีหน้าที่การงานดี ช่วงแรกที่คุยมิจฉาชีพอ้างว่าตนเองทำงานในบริษัทซื้อ-ขายเครื่องมือแพทย์ แล้วเจอช่วงโควิดที่ทำให้ธุรกิจสะดุด หมุนเงินไม่ทัน มิจฉาชีพเลยหันไปเทรดหุ้น USDT ของ JPEX ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำจนสามารถพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมาได้ ซึ่งเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและทำให้เกิดความเชื่อใจ

จากมิตรภาพ สู่มิจฉาชีพออนไลน์ 

“ในระหว่างนั้นเราก็พูดคุยกันเรื่อยมา จนเข้าสู่ช่วงเดือนที่ 6 ความสัมพันธ์เริ่มขยับจากคนคุย สู่คนที่มีความสัมพันธ์พิเศษ เขาพยายามให้เราตั้งชื่อเขาในไลน์ว่า Husband (สามี) เพื่อสร้างความผูกพันให้มากขึ้น แม้จะไม่เคยเจอตัวจริง แต่ในทุกๆ วันที่คุยในไลน์มิจฉาชีพจะมีความเคลื่อนไหวตลอด เช้า กลางวัน เย็น มีการถ่ายภาพเซลฟี่ตัวเอง หรือวิดีโอคอลเพื่อยืนยันว่ามีตัวตนจริง และคอยเล่าเรื่องการเทรดหุ้น วันนี้เทรดอะไร ได้กำไรเท่าไหร่ แต่ไม่เคยชวนเรา แต่เราเห็นแล้วว่าเขาลงทุนแล้วได้เงินมาจริง เลยอยากลองเทรดบ้าง เขาเลยแนะนำเป็น JPEX”

ทั้งนี้ JPEX เป็นแพลตฟอร์มสำหรับแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซี ผู้ใช้สามารถส่งและรับคริปโตจากเพื่อนและครอบครัวผ่านกระเป๋าเงิน JPEX

“ต้องบอกว่าเราไม่เคยลงทุนมาก่อน อาจไม่มีความรู้ความเข้าใจมากพอ พอเห็นคนรู้จักลงทุนแล้วได้กำไร เลยอยากลองบ้าง เงินก้อนแรกที่ลงไปคือ 40,000 บาท ภายใน 1 วัน ได้กำไร 7,000 บาท ซึ่งถอนออกมาได้ แล้วรอบต่อไปเลยเพิ่มเงินอีก 50,000 บาท และ 100,000 บาท ในทุกขั้นตอนเขาจะคอยบอกตลอดว่าให้ลงทุนหุ้นตัวไหน วันไหน ตอนกี่โมง และสอนวิธีดูกราฟต่างๆ พอเราเริ่มได้กำไรแล้วอยากถอนเงินออกมา ระบบก็จะบังคับให้เราเสียภาษี ถ้าเราไม่โอนจ่ายค่าภาษี ก็จะถอนเงินไม่ได้”

มาถึงจุดที่ผู้เสียหายอยากถอนเงินทั้งหมดออกมา แต่ก็ไม่เคยถอนได้สักครั้ง เพราะระบบอ้างว่ามีค่าภาษีที่ต้องจ่าย ซึ่งวิธีเดียวที่จะเอาเงินออกมาได้คือ ต้องลงทุนเพิ่มอีก 

“พอเข้าสู่ช่วงท้ายๆ ตอนนั้นหน้าที่การงานเรากำลังไปได้สวย ได้เลื่อนตำแหน่ง เขามีภารกิจให้เราต้องหาเงินให้ได้ 100,000 บาทภายใน 2 ชั่วโมง ถ้าทำได้เราจะได้เงินคืนทั้งหมด ตอนนั้นเราเข้าตาจนแล้วจริงๆ ก็เลือกที่จะโทรหาเพื่อน 10 คน เพื่อยืมเงินเพื่อนคนละ 10,000 บาท โดยอ้างหลายเรื่อง ทั้งต้องการเงินเพื่อซื้อตั๋วเครื่องบิน หรือมีเรื่องใช้เงินด่วน เราต้องทำให้ได้ เพราะเงินเราจมอยู่ในนั้นเกือบล้าน ด้วยความที่ปกติก็ไม่ค่อยยืมเงินใคร และเครดิตดี เพื่อนก็ให้ยืมมา แต่เมื่อโอนแล้วก็ยังไม่สามารถถอนเงินออกมาได้”

“ซึ่งเขาก็ไม่ได้หายไปไหน แต่เขาหาทางลงด้วยการบอกว่า เขาก็พยายามหาเงินค่าภาษีเหมือนกันแต่ไม่พอ และบอกให้เราหาเพิ่มอีก ตอนนั้นยอดเงินในแอพฯ เกือบ 1 ล้านบาททั้งต้นทุนและกำไร”

เก็บหลักฐาน เข้าแจ้งความ

“พอมาถึงจุดนี้ เรารู้ตัวแล้วว่าโดนหลอกแน่ๆ จึงตัดสินใจเล่าเรื่องนี้ให้ที่บ้านฟัง ที่บ้านแนะนำให้บล็อกไปเลย อย่าติดต่ออีก ซึ่งจริงๆ แล้วเราไม่ควรบล็อก เพราะข้อมูลทุกอย่างจะหายหมด จนเราไม่มีหลักฐานไปให้ตำรวจ

“ตอนเกิดเรื่องใหม่ๆ เราก็ไม่กล้าไปแจ้งความ เพราะตัวเองเป็นอาจารย์ มีหน้าที่การงานที่ดี ก็ไม่อยากโดนด่าหรือเป็นข่าว แต่สุดท้ายเรารู้สึกอยากเป็นกระบอกเสียงให้คนที่โดนเหมือนกัน เลยตัดสินใจโทรหาสายด่วนตำรวจไซเบอร์ 1441 ซึ่งตอนนี้คดีความหมดอายุไปแล้ว บวกกับไม่มีหลักฐานมากพอ จึงไม่สามารถทำอะไรต่อได้มากกว่านี้แล้ว

“หลังเกิดเรื่อง มูลค่าความเสียหายทั้งหมดประมาณ 440,000 บาท เราก็ทยอยใช้หนี้เพื่อนและบัตรเครดิต ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้เพื่อนเลิกคบเราไปเลยก็มี เราไม่ได้แค่เสียเงิน แต่เสียเพื่อน เสียเครดิต เสียทุกอย่าง”

สานต่อความสัมพันธ์เพื่อเก็บประสบการณ์

หลังสูญเงินแล้วใช่ว่าจะจบ เมื่อผู้เสียหายเข้าแจ้งความ จากนั้นไม่นานข้อมูลของผู้เสียหายก็ถูกส่งต่อให้มิจฉาชีพรายอื่นได้เข้ามาพยายามหลอกลงทุนในรูปแบบ Romance Scam อีกหลายครั้ง คราวนี้ผู้เสียหายเล่าว่า ตนเริ่มรู้ทันกลุ่มมิจฉาชีพแล้ว มีบ้างที่รับแอดและพูดคุย ตลอด 1 ปีผู้เสียหายได้คุยกับสแกมเมอร์กว่า 10 คน แต่จะไม่หลวมตัวโอนเงินอีกต่อไป

และจากการคุยกับมิจฉาชีพหลายคน ทำให้ค้นพบรูปแบบกลลวงที่เป็นแพตเทิร์นคล้ายกัน

“ส่วนใหญ่จะเริ่มจากแอดไอจีมาพูดคุย ใช้ภาพโปรไฟล์ของคนหน้าตาดี ดูภูมิฐาน เป็นคนคุยเก่ง อัธยาศัยดี มีประวัติน่าสนใจ หน้าที่การงานมั่นคง ซึ่งบางคนจะศึกษาข้อมูลส่วนตัวเรามาก่อน รู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไร ประวัติครอบครัวเป็นยังไง ในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน และจะเข้าสู่สเตปต่อไปที่เริ่มชวนลงทุน ถ้าเจอแบบนี้ให้รีบถอยห่างทันที”

เมื่อถามว่าจะดูยังไงว่าคนไหนเป็นสแกมเมอร์ คนไหนไม่ใช่ คำตอบคือ ถ้ามีใครทักมาให้ใจเย็นๆ คุยๆ ไปก่อนสัก 2 เดือนแล้วธาตุแท้จะค่อยๆ เผยออกมา เช่น บอกว่าทำงานเป็นวิศวกรแท่นจุดเจาะกลางทะเลที่จะมาๆ หายๆ เมื่อคุยกันสักพักเขาจะเริ่มขอเงินด้วยเหตุผลต่างๆ ทั้งกำลังจะโดนทำร้ายร่างกาย มีเรื่องฉุกเฉินที่ต้องใช้เงินด่วน หรือถ้าไม่จ่ายค่าอุปกรณ์ตอนนี้งานโปรเจกต์ที่คุยจะหลุดทันที ถ้าเจอแบบนี้ ให้คิดเลยว่าอาจโดนหลอกแล้ว ให้ตั้งกฎเหล็กไว้เลยว่า ไม่ว่าจะคุยกับใครก็ตาม ห้ามโอนเงินเด็ดขาด

หลายคนอาจมองว่า Romance Scam เป็นการหลอกลวงในรูปแบบความสัมพันธ์เชิงชู้สาว จริงๆ แล้วกว้างกว่านั้น เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมิจฉาชีพและเหยื่อ ซึ่งมาในรูปแบบการทำให้อีกฝ่ายเชื่อใจ สร้างความผูกพัน บางคนอาจเจอคนที่อายุต่างกันมากๆ โดนหลอกแบบเป็นลูกหลาน หรือมิจฉาชีพอ้างว่าเป็นตัวแทนขององค์กรเพื่อสัตว์ที่ถูกทอดทิ้ง ผู้ที่เป็นเป้าหมายคือ คนรักหมา-แมว ที่เกิดความสงสารและอยากช่วยเหลือ

สุดท้ายการสร้างความสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องมีความระมัดระวังให้มากขึ้น อย่าหลงเชื่อใครง่ายๆ หากไม่อยากตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ หรือหากถูกชวนลงทุนสามารถเช็กรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจ/ผลิตภัณฑ์การลงทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ได้ที่ market.sec.or.th/LicenseCheck/Search หรือแอพพลิเคชั่น SEC Check First

Writer

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจ การตลาด และความเป็นไปในสังคม

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like