อินไซต์คือการยอมรับว่าชีวิตแค่โดนปัดซ้าย

‘ชีวิตแค่โดนปัดซ้าย’ เบื้องหลังงาน Salmon House x Tinder ที่วิชัยเริ่มต้นจากความไม่เชื่อ

โลกอินเตอร์เน็ตทุกวันนี้เถื่อนนะครับ ไม่รอบคอบอยู่ไม่ได้หรอก

ขั้นตอนหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นกับหนังของแซลมอนเฮาส์ คือการทำตัวใจร้ายกับบทตัวเองแล้วไล่ยิง ไล่ฟันอย่างดุร้าย ตรงไหนที่ไม่ใช่ ไม่โอเคจะโดนตัดทิ้ง ตรงไหนที่ไม่แน่ใจ จะต้องหาเหตุผลให้ได้ว่าทำไมถึงไม่แน่ใจ แล้วในความไม่แน่ใจนั้นเราจะกล้าเสี่ยงกับมันมั้ย แล้วผลลัพธ์ที่แย่ที่สุด จะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง

เพราะไม่ว่าคุณทำอะไรลงไปในโซเชียล คุณจะโดนด่าเสมอ สิ่งเดียวที่ทำได้คือ ทำงานให้คนชอบ ให้มากกว่าคนเกลียดเยอะๆ แล้วทุกอย่างจะดีเอง 

ต้องยอมรับว่า ในการคิดงาน บางชิ้นมันก็ง่าย เพราะเราเจอสารตั้งต้นที่ดี บางชิ้นก็ยาก 

เพราะเราไม่รู้เลยว่าจะจับอะไรมาเจอกับอะไร แล้วมันก็มีหลายงานมากๆ ที่สารตั้งต้นดีมาก แต่จบไม่ลง เราก็ต้องยอมทิ้งมันไป 

แต่สถานการณ์ที่แย่ที่สุดคือ สารตั้งต้นดี มีทางจบแล้ว แต่ระหว่างทางมันไม่ได้เลย 

อันนี้ยากสุด มันมีบั๊กที่ต้องแก้เยอะไปหมด หนึ่งในงานที่ฟัคอัพในลักษณะนี้คืองาน Tinder

Tinder เป็นแอพหาคู่ มีชื่อเสียงส่วนใหญ่มาจากการที่หลายคนใช้มันเป็นแอพที่ใช้หาคู่นอน ทางเอเจนซี่ (Wunderman Thompson TH) อยากแก้ปัญหาจุดนี้ จึงคิดเป็นแคมเปญชื่อว่า ‘เพื่อนสัมพันธ์’ ประมาณว่า Tinder เป็นแอพหาเพื่อนได้นะ 

แนวคิดของทางเอเจนซี่คือ ความสัมพันธ์คนมันควรเริ่มจากการเป็นเพื่อนกันก่อน ค่อยๆ คุยกัน รู้จักกัน จากนั้นคุณจะไปทำอะไรต่อ ก็แล้วแต่ดุลยพินิจของคุณแล้ว

ซึ่งพวกผมฟังครั้งแรกก็…อะไรวะ หาเพื่อนอะไรวะ หาที่จะหาคู่ ก็หาคู่ไปเลย แมนๆ จะมาหาเพื่อนทำไม (นั่นแหละ…อะไรดีๆ พอมาอยู่ในห้วงความคิดคนชั่วมันก็เป็นแบบนี้แหละ) บอกตรงๆ ว่าตอนแรกไม่เชื่อโจทย์เลย คิดว่าแบรนด์ฝืนธรรมชาติของผู้บริโภคอยู่ เรียกว่าคิดงานอย่างไม่มีความสุข เพราะใจไม่เชื่อแบบนั้น

แต่ระหว่างที่คิดงาน ไปคุยกับน้องๆ ในออฟฟิศ แล้วก็เจอข้อเท็จจริงที่เซอร์ไพร์สมากๆ ว่า น้องๆ ในออฟฟิศก็ใช้บริการ Tinder เยอะมากเหมือนกันว่ะ แล้วแต่ละคนก็ใช้เพื่อไปหาเพื่อนจริงจังด้วย กลายเป็นว่า Tinder ที่ดังจากการเป็นแอพหาคู่นอน อีกด้านนึงที่มันดังมาก (แต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง) คือการหาเพื่อนที่มีความสนใจเหมือนกัน (ซึ่งเอาจริงๆ การหาคู่นอนก็คือการหาเพื่อนที่มีความสนใจเหมือนกัน แค่ความสนใจนั้นคือเรื่องบนเตียงนั่นเอง) และที่สำคัญน้องๆ ที่ใช้งาน ต่างบอกว่ามันก็ได้ผลดีมากกว่า facebook เสียด้วยซ้ำ แน่นอนไปกว่า มันมีคนกระทั่งไปหางานใน Tinder แล้วได้ มีคนไปหาร้านอาหารใน Tinder

หรือพูดให้เข้าใจมากกว่านั้น Tinder ไม่ได้เป็นแค่แอพหาคู่ แต่มันคือแอพ ‘หาคน’ ที่สามารถพลิกแพลงการใช้ได้อีกเยอะ

อ่ะ อ่ะ ยอมละ ผมมันคนชั่วเอง 555555

โอเค ถึงจะเคลียร์ใจตัวเองได้ ก็ไม่ได้ลดความยากของโจทย์ลง เพราะหนังที่เราต้องคิด จะเป็นหนังส่วนขยายคอนเซปต์ ‘เพื่อนสัมพันธ์’ โดยที่ทางเอเจนซี่จะมีหนังโฆษณาขายของหรือที่เราเรียกว่า ‘หนัง Themetic’ ปล่อยล่วงหน้าเราหนึ่งตัว

ดังนั้นโจทย์ของเราจะกว้างๆ แต่มีสิ่งที่อยากให้เล่าเช่น วิธีตั้งรูปโปรไฟล์ให้เหมาะสม วิธีตั้ง Bio ให้เหมาะ หรือวิธีการแชทกับเพื่อน ไม่ให้ดูหื่นเกินไป โดยที่ทั้งหมดฟังๆ ดูแล้ว ก็เหมือนจะเป็น how to use Tinder properly กลายๆ เหมือนกัน

ดูผิวเผินไม่มีอะไร แต่เมื่อมาพิจารณาด้วยแว่นของชาวเนตแล้ว คอนเทนต์ลักษณะแบบนี้โคตรอันตราย

เพราะลักษณะการทำงานของแอพคือการเลือก และถูกเลือก

ถ้างั้นถ้าเรากำลังจะทำคอนเทนต์สอนการใช้แอพเพื่อให้ถูกเลือก มันค่อนข้างสุ่มเสี่ยงอยู่เหมือนกันนะ เช่นการตั้งรูปโปรไฟล์ที่มีเนื้อหาทำนองว่า ถ้าไม่อยากให้คนมาเลือกเพื่อหาคู่นอน ก็อย่าใช้รูปเซ็กส์ซี่ หรือชุดว่ายน้ำที่ให้คนอื่นชวนคิดไปแบบนั้น ฟังดูก็มีเหตุผล ถ้าไม่อยากให้คนอื่นคิดว่าเราเป็นคนเซ็กส์ซี่ก็ไม่ต้องลงรูปเซ็กส์ซี่ แต่น้องๆ ผู้หญิงในออฟฟิศก็มีความคิดเห็นว่า เขาจะตั้งรูปโปรไฟล์แบบไหนยังไงก็ได้ รูปโปรไฟล์มันก็ไม่ได้บ่งบอกนิสัยเขา

หรือพูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้น กูจะใช้รูปโปรไฟล์ยังไง มันเรื่องของกูนี่ คนที่ควรจะไปบอกให้ปรับปรุงตัวคือผู้ชายที่ไปคิดไม่ดีกับคนอื่นมากกว่า

โอเค เริ่มต้นมาก็ยากละ

อีกอย่างที่น่ากลัวสำหรับงานนี้คือ เมื่อไหร่ที่เราอยู่กับแนวคิด เลือก กับถูกเลือก มันจะมีกระแสลบจากคนที่ไม่ถูกเลือกเสมอ

และมันก็มีความเป็นไปได้ที่สร้างกระแส beauty standard ด้วย เช่น คนสวยก็ต้องถูกเลือกก่อนมั้ย อะไรประมาณนั้น

เพราะงั้นในการคิดเรื่อง เราต้องคิดอย่างถี่ถ้วนจริงๆ และไม่สามารถเขียนกันแค่ผมกับเบนซ์ได้ ต้องมีน้องผู้หญิงเป็น indicator หลักๆ ของการทำงาน

เบื้องต้นไอเดียที่เข้ารอบสุดท้ายคือ เราจะทำหนังอยู่บนเวทีสัมนาอบรมการใช้ทินเดอร์ ลองคิดถึงเวทีสัมมนาเชยๆ ที่มีแผ่นโฟมตัดๆ แปะไว้บนผ้าม่านแก่ๆ อะไรแบบนั้นเลย และให้ป้าใส่ชุดไหมเชยๆ ทำผมทรงกระบัง แต่เป็น ‘นักเลงทินเดอร์’ มาเป็นคนสอน โดยให้วัยรุ่นกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้เข้ารับการสัมมนา

ที่คิดให้เป็นเวทีสัมนา เพื่ออนุญาตตัวเองให้พูดเนื้อหาแนว how to ได้อย่างไม่เคอะเขิน และทำให้การสอนนี้ไม่ได้มาจาก ปากของสินค้า แต่เป็นปากของป้า และปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น ก็มาจากตัวละครที่เป็นตัวแทนของกลุ่มเป้าหมายจริงๆ ทุกอย่างดูดีมาก มีมุกนั่นนี่อย่างเพียบ

เอเจนซี่ซื้อ ฮาแน่นอน

ทินเดอร์ประเทศไทยก็ซื้อ ฮาชัวร์ๆ

ไปขายทินเดอร์ที่อเมริกา…มีขอปรับนิดเดียว คือ ไม่เอาป้าใส่ชุดไหม เพราะป้า ไม่ relate กับ Tinder

ฮากริบมั้ยล่ะมึง

พี่จะเปลี่ยนนิดเดียวแบบนี้ไม่ได้โว้ยยยยยยยยยย

สาเหตุที่ตัวละครตัวนี้ต้องเป็นป้าเท่านั้นคือ คนวัยป้าไม่น่าจะรู้จัก Tinder (หรือรู้จักแต่มีความเป็นไปได้ที่จะแอนตี้แอพหาคู่) มาสอนวัยรุ่นใช้แอพจีบกัน มันดูน่าสนใจกว่าเยอะ

แต่ถ้าเราเปลี่ยนคนวัยป้า เป็นวัยรุ่น มันจะกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายสอนกันเอง มันจะไม่มีอะไรใหม่

แต่บั๊กที่ใหญ่ที่สุดคือ หนังแนวสัมนา มันไม่ได้ขับเคลื่อนคอนเซปต์เพื่อนสัมพันธ์ที่เป็นธีมหลักของโฆษณาตัวนี้

เราก็เลยยอมรับแบบแมนๆ หล่อๆ ว่า เอ้ย ไม่เป็นไรพี่ คอมเมนต์เมคเซนส์ครับ เดี๋ยวเราคิดใหม่

Leave meeting ใน zoom, พับจอคอม

ไอสัดดดดดดดดดดดดดดดดดด ชิบหายยยตัวเท่าบ้าน

BREAKING NEWS

เราต้องคิดหนังใหม่ ให้เสร็จภายในเวลาไม่ถึง 18 ชั่วโมง ก็คือคืนนั้น และเช้าวันพรุ่งนี้

เพื่อขายเอเจนซี่ตอนเย็นพรุ่งนี้ แล้วขายลูกค้าตอนมืดวันเดียว

และต้องผ่านในครั้งเดียว เพราะทีมอื่นๆ รอบทเพื่อไปทำงานต่อในวันรุ่งขึ้น (ทีมแคสติ้ง, สไตลิสต์, โลเกชั่น ฯลฯ)

งาน Tinder น่าจะเป็นไม่กี่งาน ที่ต้อนเราจน ‘หลังพิงฝา’ เพราะทุกทีเราจะขายหนังผ่านในครั้งแรกแบบพริ้วๆ (อาจจะมีแก้นิดหน่อย) แต่เจ้างานนี้เราปรับไปหลายแบบมาก ทั้งที่เราไม่ให้ผ่านเอง และโดนตีตกจากเอเจนซี่

ไม่เป็นไร เหลือเวลาอีกตั้งเยอะแยะ

กูไปเติม M-150 เข้าเลือดก่อน

โอเค ยังไงนะ?

เรามาเริ่มต้นวิเคราะห์ก่อนว่า ทำไมไอเดียสัมนา ถึงไม่ผ่าน Tinder อเมริกา?

นอกจากคาเร็คเตอร์หญิงกลางคนที่ไม่ relate แล้ว ธรรมเนียมสัมมนา ป้ายโฟมใดๆ คนเมืองนอกอาจจะไม่อินด้วยมั้ง

ทำให้การคิดงานรอบใหม่ ที่ต้องผ่านในทีเดียวจะต้องมีสมการดังต่อนี้

ไม่มีป้า + ตัวเดินเรื่องเป็นวัยรุ่น + คนเมกาดูแล้วเก็ท

พอไฟลนตูดมากๆ เข้า พลังแฝงมักจะมาครับ

เราก็มักจะคิดอะไรที่แอบนอกกรอบนิดหน่อย ไอเดียรอบนี้เรามาคิดกันว่า กลุ่มเป้าหมายของ Tinder คือคนที่จะเข้าไปหาคู่ แต่โจทย์ที่เอเจนซี่ให้มา ที่เป็นลักษณะ How to ใช้ทินเดอร์ ถ้าเรามาเบรคดาวน์จริงๆ มันคือการสอนใช้ทินเดอร์เพื่อให้คุณถูกเลือกใช่มะ ดังนั้นคนที่ต้องการดูเนื้อหาประเภทนี้คือคนที่เล่นทินเดอร์แล้วยังไม่ถูกเลือกมากกว่าป่ะ?

งั้นสมมุติว่า คนที่ไม่ถูกเลือกมาอยู่ด้วยกันเยอะๆ เขาจะคุยอะไรกันนะ เขาน่าจะมาปรับทุกข์กัน คุยกัน บ่นกัน

ทำให้นึกถึงการ์ตูน Wreck-It Ralph ที่มีซีนที่ตัวโกงจากในเกมหลายๆ ตัวมานั่งล้อมวงบำบัดกัน ซึ่งเป็นซีนที่โดดเด่นมากในหนัง

ทีนี้ลองมาคิดๆ ต่อไปอีกนิด ก็พบว่า หนังหลายๆ เรื่องที่มีซีนนั่งล้อมวงบำบัด มักจะเป็นซีนที่น่าจดจำเสมอ เพราะทุกคนจะเอาปัญหาตัวเองมาเล่าให้ฟัง แล้วก็จะมีคนอื่นมาปลอบประโลม

อ่ะแล้วถ้า…มันจะมี ‘กลุ่มบำบัดของคนที่ไม่ถูกเลือกจากทินเดอร์’ มันจะเป็นยังไงกันนะ

จากเดิมที่เป็นงานสัมนา ที่มีป้ามาสอน แล้วให้วัยรุ่นมาถามคำถาม พอมันกลายเป็นกลุ่มบำบัด ปัญหาต่างๆ จะถูกเล่าอย่างสนุกขึ้น เพราะพออยู่กลุ่มบำบัดแต่ละเคสมันจะประหลาดขึ้นได้ (แปลว่ามันจะสนุกขึ้น) และที่สำคัญ เราไม่จำเป็นต้องพึ่งคาแร็กเตอร์ป้าเป็นคนเดินเรื่องแล้ว เราให้ moderator เป็นคนวัยทำงานได้ เพราะความน่าสนใจทั้งหมดไปอยู่กับพิธีกรรมการบำบัด (จำพวกล้อมวงกันจับมือแล้วพูดคำขวัญของกลุ่ม) และความสนุกโดนย้ายไปอยู่กับเคสของแต่ละคน

และเพื่อลดความเป็นไปได้ของการเกิดดราม่าเราเลยให้ตัวละครที่มีปัญหาทั้งหมดในหนังเป็นผู้ชาย และเจือประเด็นที่อาจจะดราม่าด้วยการถือโอกาสใช้เรื่องนี้เล่าประเด็น toxic masculinity ที่เหล่าเพศชายชอบพูดจาลามกกับผู้หญิง เพื่อเรียกร้องความสนใจ ผ่านมุก low self-esteem, self-doubt และ mental breakdown

พอไปขายเอเจนซี่ ก็ได้อีกประเด็นจากทีมเอเจนซี่ที่ดีมากคือ ประเด็น Sexual harrasment ที่ผู้หญิงกระทำต่อผู้ชาย

เคยเห็นใช่มั้ยครับ ในโซเชียลเวลามีรูปผู้ชายหล่อๆ กล้ามโตๆ มักจะมีคอมเมนต์จากสาวๆ ทำนองว่า “ถ้าได้เป็นแฟนนะ จะไม่ได้หลับได้นอนเลย” หรือที่เถื่อนกว่านั้น “จะเลียให้ล้มทั้งยืนเลย”

ดังนั้นตอนนี้ในหนังจะประกอบด้วย ผู้ชายที่มีกิจกรรมชีวิตที่น่าเบื่อ เพราะชอบส่องนก, ผู้ชายที่คนคุยด้วยค่อยๆ หายไปทีละคนสอง โดยที่เขาไม่รู้ตัวว่าจริงๆ แล้วตัวเองนั่นแหละที่ชอบพูดจาลามก และสุดท้าย ผู้ชายหล่อที่มักจะโดนผู้หญิงพูดจาแทะโลม

เอเจนซี่เข้ามาเหลาไอเดียอีกนิดหน่อย ปรับให้กลุ่มบำบัดนี้ชื่อว่า ‘Swipe Left Club’ กลุ่มบำบัดของคนถูกปัดซ้าย ก่อนที่กลายเป็นชื่อคลิปว่า ‘ชีวิตแค่โดนปัดซ้าย’ 

หนังถูกคิดอย่างหนีตายตอนกลางวัน ขายเอเจนซี่ตอนเย็น ปรับแก้เดี๋ยวนั้นแล้วขายลูกค้าตอนค่ำ ผ่าน ในทีเดียว

ตัวหนังยาว 7 นาทีกว่า แต่พอมันได้ big idea ว่า Swipe left club แล้ว ทุกอย่างก็ลงตัว เราจะหยอดมุกยังไงก็ได้หมดแล้ว

ทำให้ค้นพบสิ่งหนึ่งจากงานนี้ หนังโฆษณาออนไลน์ ควรจะกระชับ เข้าเรื่องขายของ อันนี้จริง เห็นด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่า บางเส้นเรื่องมันต้องการเวลาในการเล่าจริงๆ ดังนั้นเมื่อไหร่ที่เราจะทำหนังยาว 2-3 นาที จงทำให้กระชับ มุกและจังหวะต้องคม ถึงตอนจบก็ต้องจบ ห้ามย้วย

แต่เมื่อไหร่ที่หนังคุณตัดยังไงก็ไม่สามารถทำให้สั้นกว่า 4-5 นาทีแล้ว 

จงทำให้อิ่มไปเลย แต่ไม่ได้แปลว่าให้ลืมความกระชับนะ

กระชับน่ะยังไงก็ต้องมี แต่ตรงไหนต้องดึงอารมณ์ก็ปล่อยไหลเลย เอาให้สนุกสุดๆ แล้วทุกอย่างจะดีเอง

เอาจริงๆ ต้องยอมรับว่า ตอนเขียนบทเรื่องนี้ก็ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะจบได้อย่าง feel good แบบนี้ ทั้งหมดต้องยกความดีความชอบให้กับ เม้ง คนตัดต่อเรื่องนี้ ที่เลือกเอาเพลง score เพลงนั้นในองก์สุดท้ายของหนัง ที่มัน uplift อารมณ์ได้ feel good รู้สึกดีได้อย่างบอกไม่ถูก

นิดนึงสำหรับคนไม่รู้…ในการตัดต่อน่ะครับ ขั้นตอนที่ยากและใช้เวลานานที่สุดเสมอคือการหาเพลงที่ใช่

หนังโฆษณาเนี่ยครับ ภาพ การตัดต่อ และเสียงพูด คือการให้ข้อมูล แต่เพลงคือตัวกำหนดอารมณ์คนดู เพราะงั้นเพลงจึงสำคัญเสมอ เอาจริงๆ ในหลายครั้งเพลงที่เลือกใช้เป็นตัวกำหนดความเร็วของหนังเสียด้วยซ้ำ

ดังนั้นถ้าดูตัดต่องานไหน แล้วได้เพลงที่ถูกต้องตามอารมณ์ในตั้งแต่ครั้งแรก ถือว่าเป็นปาฏิหารย์

และ Tinder งานนี้ก็เป็นปาฏิหารย์เช่นกัน ทั้งในแง่เอาตัวรอดมาได้ และการพลิกให้หนังมัน feel good ตอนจบได้

Tagged:

Writer

Co-Founder, Creative Director ของ Salmons Group, นักโฆษณาที่คิดงานไม่ค่อยออก และไม่เคยแย่งซื้อ Sneaker ทันชาวบ้าน

You Might Also Like