Know HOW

‘House of Wisdom’ คลับแห่งความรู้ไม่รู้จบที่ทำให้หัวใจ ‘โจ้ ธนา’ และ ‘กระทิง’ เต้นแรงอีกครั้ง

“ตอนนี้ผมอายุ 45…หมอบอกผมจะมีอายุถึง 67” กระทิง–เรืองโรจน์ พูนผล บอกประโยคนี้ในช่วงหนึ่งของการสนทนาระหว่างเรา

เปล่า, เขาไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงอะไร หมอเพียงประเมินเพื่อเตือนให้เขาหันมาดูแลร่างกายให้ดีขึ้น เพราะหากยังปล่อยปะละเลยด้วยการทำงานหนักเหมือนที่เป็นมาคำเตือนของหมอก็อาจมีเค้าความจริง

ส่วนงานที่เขาทำหนักแค่ไหนน่ะเหรอ ปัจจุบันเขาต้องทำงานบริหารในฐานะ Group Chairman แห่ง Kasikorn Business-Technology Group (KBTG) เป็นผู้ออกแบบและผู้สอนหลักสูตรสำหรับผู้นำที่ชื่อ CXO (Chief Exponential Officer) และดูแลกองทุนที่เป็นบริษัทสตาร์ทอัพพร้อมกัน 6 แห่ง

ในวันและวัยที่คาดเดาอะไรได้ยาก เขาเฝ้าถามคำถามสำคัญกับตัวเอง

“อีก 10 ปีข้างหน้าผมถามตัวเองเสมอว่าอยาก commit ชีวิตตัวเองกับอะไร”

แล้ววันหนึ่งคำตอบของคำถามข้างต้นก็เดินทางมาถึงพร้อมชายที่ชื่อ โจ้–ธนา เธียรอัจฉริยะ

ในแวดวงธุรกิจไม่น่าจะมีใครไม่รู้จักชายผู้นี้ เขาคือนักการตลาดและผู้บริหารที่ขยับตัวครั้งใดมักสร้างแรงกระเพื่อมได้แทบทุกครั้ง เรื่องราวสมัยเขาอยู่เบื้องหลังการปั้นแบรนด์ Happy ยังคงถูกเล่าขานไม่รู้จบ หรือการเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันแพลตฟอร์มอย่าง Robinhood ให้เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 ก็เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

ที่สำคัญเขาคือหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งหลักสูตร ABC (Academy of Business Creativity) ร่วมกับ สรกล อดุลยานนท์ (หนุ่มเมืองจันท์) ที่ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามตั้งแต่เริ่มจนถึงวันประกาศหยุดการทำหลักสูตร

ล่าสุดเขาส่งข่าวคราวว่ากำลังเริ่มต้นสิ่งใหม่ที่ทำให้หัวใจกลับมาเต้นแรงอีกครั้ง และเป็นสิ่งเดียวกับสิ่งที่กระทิงบอกว่า “ผมอยาก commit ชีวิตของผม แพสชั่นที่ผมมี ความรู้ที่มี คอนเนกชั่นที่ผมมี เพื่อทุ่มเทกับสิ่งนี้”

สิ่งนั้นมีชื่อว่า ‘House of Wisdom’ หรือ HOW ที่ทั้งสองเป็นผู้ก่อตั้งร่วมกัน

คำสั้นๆ ที่พวกเขาใช้นิยามสิ่งที่กำลังทำคือคำว่า ‘คลับ’ หากแต่คลับที่ว่ามีความต่างจากภาพจำของ social club ในต่างประเทศที่เราคุ้นเคยไม่น้อย เพราะที่นี่ไม่ใช่เพียงสถานที่พบเจอเพื่อทำกิจกรรมเท่านั้น หากแต่เป็นคลับที่ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่แบ่งปันความรู้สร้างปัญญา

พวกเขาหวังให้คลับ เคลื่อนชีวิต ธุรกิจ และสังคม

HOW เป็นโครงการใหม่ที่น่าตื่นเต้นและเป็นไอเดียที่เกิดขึ้นและพัฒนาจากความสำเร็จของหลักสูตรระยะสั้นที่เราได้ทำมาตลอดระยะเวลาหลายปี  ตอนนี้เรากำลังเริ่มสร้าง ‘บ้าน’ หลังใหม่ที่จะเป็นศูนย์กลางของสังคมที่อุดมด้วยปัญญาและมิตรภาพร่วมกันในรูปแบบสมาชิกรายปีและสมาชิกระยะยาว HOW จะเป็นบ้านที่มีแขกรับเชิญเป็นผู้รู้ในสาขาต่างๆ จากทั่วภูมิภาค เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ตั้งแต่วิทยาการสมัยใหม่ ปรัชญา ความคิดสร้างสรรค์และวิถีชีวิต มาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนพูดคุยกับเราตลอดทั้งปี

ข้อความข้างต้นคือส่วนหนึ่งในร่างจดหมายที่พวกเขาใช้อธิบายสิ่งที่ทำแก่สมาชิก

ความพิเศษอีกประการของ HOW คือคลับแห่งนี้ไม่ได้เปิดรับสมาชิกทั่วไป หากแต่เริ่มด้วยการใช้วิธีเรียนเชิญโดยคณะกรรมการ ซึ่ง 300 คนแรกจะเลือกจากคนที่พวกเขารู้จักเท่านั้น

เชื่อว่าเพียงบอกว่านี่คือโปรเจกต์โดย โจ้ ธนา และ กระทิง เรืองโรจน์ ก็น่าสนใจเพียงพอที่จะดึงดูดให้คนในแวดวงธุรกิจสนใจอยู่แล้ว หากแต่เมื่อได้ฟังวิธีคิดเบื้องหลังและความตั้งใจของพวกเขาก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่า HOW พิเศษยิ่งกว่าเดิม

ส่วนความพิเศษที่ว่าจะเป็นยังไง ขอเชิญก้าวเท้าเข้าสู่บ้านแห่งปัญญา

เจ้าบ้านทั้งสองมารอต้อนรับอยู่แล้ว

ตอนนี้ถ้าสังเกตจะเห็นว่ามีหลักสูตรต่างๆ เกิดขึ้นเยอะมาก พวกคุณคิดว่ามันสะท้อนภาพอะไรในสังคมยุคนี้

โจ้ : ข้อแรกสะท้อนว่าคนไม่มั่นใจกับความรู้และเครือข่ายที่ตัวเองมี เมืองไทยมี 2 perspective ความรู้ส่วนหนึ่ง เครือข่ายอีกส่วนหนึ่ง ความสำเร็จก็เกิดจากหลายปัจจัยทั้ง know-how และ know who

ข้อสองคือ ชุดหลักสูตรเดิม เช่น Mini MBA ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ แล้ว ระบบการศึกษาที่เป็นทางการค่อนข้างล้าสมัยโดยตัวเอง เพราะว่าหนึ่ง–ไม่มีใครอยากเรียนยาวๆ แบบนั้น สอง–เขาไม่อยากเรียนแค่ทฤษฎีแล้ว ดังนั้นมันเลยเกิดนวัตกรรมการเรียนรู้ อย่างพวกหลักสูตร 4 เดือนก็เป็นแบบหนึ่ง

กระทิง : อย่างที่พี่โจ้บอก มันคือ knowledge gap เพราะระบบการศึกษามันตามไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก อันนี้ชัดมาก มันเลยมีช่องว่างมหาศาล แล้วตอนนี้ช่องว่างจะยิ่งกว้างขึ้นเรื่อยๆ เพราะพัฒนาการของโลกมันไปเร็วมาก แล้วฉันจะทำยังไงกับชีวิต ความรู้ที่เกิดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มันมากกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นช่องว่างของความรู้และทักษะความสามารถมันมีมากเกินกว่าที่ระบบการศึกษาจะ feed ได้ คนถึงต้องไปนั่งเรียนหลักสูตรนั้นหลักสูตรนี้

พวกคุณน่าจะได้เจอคนเยอะ คุณเห็นจุดร่วมอะไรที่เป็นปัญหาของคนทำธุรกิจยุคนี้บ้าง

โจ้ : ที่ขาดเลยคือเดิมนักธุรกิจไม่ได้คิดว่าตัวเองแคบ ที่ผ่านมาเราก็เก่งของเราไปเรื่อยๆ ถ่ายทอดรุ่นต่อรุ่นมาเรื่อยๆ แต่พอโลกมันหมุนเร็ว เปลี่ยนเร็วขนาดนี้ กลายเป็นว่าเราทำอะไรเหมือนเดิมหรือเก่งขึ้นในสายงานที่ตัวเองอยู่มันไม่พอ นักธุรกิจขาด perspective ใหม่ๆ ขาดคนที่ปรึกษาได้ ขาดเคสที่มีคนเคยเจอแบบนี้มาก่อนแล้วมาเล่าให้ฟัง

ถ้าจะบอกอันหนึ่งก็คือว่า ความไม่รู้ที่น่ากลัวที่สุดของนักธุรกิจปัจจุบันคือไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ อันนี้คือหัวใจที่เป็นจุดตายตัวของธุรกิจ คือไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้เรื่องนี้ เพราะฉะนั้น เขาต้องเอาตัวเองหลุดออกมาจากอาณาจักรเขาเพื่อมาเจออะไรที่เขาไม่คุ้น มาเจออะไรที่เขาไม่ชิน แล้วเขาจะเริ่มรู้ว่าตัวเองไม่รู้

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ นักธุรกิจส่วนใหญ่ไม่รู้จักซีรีส์วาย ซึ่งมันเหมือนโลกมัลติเวิร์สมาก จริงๆ ตลาดมันใหญ่มากเลยนะ งบประมาณมหาศาล แต่เราไม่เข้าใจ แล้วนักธุรกิจจะเข้าใจและใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้นจากตรงนั้นได้ยังไงถ้าเขาไม่รู้ ถ้าเขาไม่เคยเห็น เขาไม่เคยฟัง เขาก็จะด่วนตัดสินเลยว่าตลาดซีรีส์วายมันเล็ก อันนี้เป็นตัวอย่างความไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ของคนทำธุรกิจปัจจุบัน

กระทิง : สำหรับผม หลายเรื่องที่ผมเรียนรู้เมื่อมกราคมตอนนี้ใช้ไม่ได้แล้ว หรืออย่างบางเรื่องรู้เมื่อสองอาทิตย์ที่แล้ววันนี้ก็ใช้ไม่ได้แล้ว แล้วโลกสมัยนี้คุณดูสิ มันมี Black Swan มี disruption เกิดขึ้นทุกสัปดาห์ สัปดาห์นี้คุณรู้หรือเปล่าว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น สัปดาห์ที่แล้วก็ไม่มีใครรู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น อย่าง 3 แบงก์ที่ล้ม ทั้ง SVB (Silicon Valley Bank), Silvergate แล้วก็ Signature Bank มันทำให้อิมแพกต์มหาศาล

ผมเลยบอกว่าจริงๆ วิธีการที่ดีที่สุดคืออย่างที่พี่โจ้บอก เราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต แล้วอีกอันที่ผมคิดว่าสำคัญคือ สุดท้ายโลกหลังโควิดการที่มนุษย์จะอยู่รอดได้เราต้องคอนเนกต์ซึ่งกันและกัน

แล้วอะไรคือเหตุผลที่ทำให้พวกคุณลุกขึ้นมาทำสิ่งที่เรียกว่า House of Wisdom (HOW)

โจ้ : ตอนที่ทำหลักสูตรเราชอบสองอย่าง 

อย่างแรกคือ เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา มันทำให้เราไม่เชย แล้วยิ่งโลกยุคนี้ คนที่เก่งก็คือคนที่มี ability to learn นี่คือคนที่เป็นเผ่าพันธุ์ที่จะรอด ดังนั้น ความสามารถในยุคใหม่คือการเจอคนใหม่ๆ เจอคนที่เราไม่คุ้น เจอคนที่เก่งกว่าเรา ตอนที่เราทำหลักสูตรมันให้เรื่องนี้

อย่างที่สองที่การทำหลักสูตรให้เราคือ พอเราจัดคนเก่งๆ หรืออาจจะมีฐานะ มีพลังมากกว่าคนอื่นๆ มาอยู่ด้วยกัน แล้วพยายามให้เขาเป็น giver เป็นผู้เสียสละ ค่อยๆ ปรับวิธีคิดเขา มันทำให้เรารู้สึกว่าเราได้ทั้งเรียนรู้และได้สร้างคนด้วย รู้สึกมีความเป็นคุณครู ทำให้เรารู้สึกว่าดีจังเลย มีคนมาอยู่ด้วยกัน แล้วเราสามารถเรียนรู้จากเขาด้วย เราได้อะไรจากเขาด้วย

สุดท้ายพอจบหลักสูตรแล้วเรามานั่งทบทวน เรายังอยากมี ability to learn เรายังอยากเจอคนใหม่ๆ ตลอดเวลา เราอยากฟังอะไรดีๆ ตลอดเวลา แต่หลักสูตรมันเจอแล้วจบไป แล้วต้องเริ่มใหม่ แต่เราอยากทำอะไรให้มันยั่งยืน ทำอะไรที่เป็นวงจรการเรียนรู้ยาวๆ โดยที่เราไม่ต้องเริ่มหลักสูตรใหม่ ทำยาวๆ ไป เราคิดจากมุมนี้ แล้วถ้าได้คนกลุ่มหนึ่งมาอยู่ด้วยกัน แล้วช่วยกันเรียนรู้ และช่วยกันพัฒนาตัวเองไปด้วย ก็คิดว่ามันน่าจะเจ๋งดี

เราเลยลองคิดใหม่ เหมือนตอนเด็กๆ ที่เราอยากมีชมรมของตัวเอง เป็นชมรมที่พวกเรามาเจอหน้าค่าตากัน อยากรู้อะไรก็มาอัพเดตด้วยกัน แล้วเป็นคนที่เราคุ้นเคย เป็นคนที่เรารู้ว่าเป็นคนนิสัยดีแน่ๆ เป็นคนที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แน่ๆ เป็นคนมั่นใจได้ว่าเรากล้าที่จะแนะนำเขาให้อีกคนรู้จักได้โดยไม่เคอะเขิน แล้วถ้ามีสถานที่หนึ่งที่มาเจอกันได้บ่อยๆ ว่างก็มาเจอกัน ก็เลยคิดไอเดีย HOW ขึ้นมา

แล้วคุณทั้งสองมาทำโปรเจกต์นี้ร่วมกันได้ยังไง

โจ้ : ตอนที่คิดเรารู้สึกว่าเรายังมีไม่ครบ เรามีแค่ครึ่งเดียว อารมณ์เหมือนตอนชวนพี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์ มาทำ ABC ด้วยกัน ครั้งนี้เราก็คิดว่าจะชวนใครดีที่มีด้านที่เราไม่มี แล้วเราก็นึกถึงกระทิง 

กับกระทิงเรารู้จักกันอยู่แล้ว เรารู้ว่ากระทิงเป็นส่วนที่เราไม่มี ดูจากความรู้ที่กระทิงมาพูดที่ ABC เขาจะมีโลกที่เป็น global perspective ซึ่งเราจะเป็น local มากกว่า เวลาเราฟังสิ่งที่กระทิงบรรยายถือเป็นอาหารสมองเรา ผมก็เลยชวนเขา ซึ่งกระทิงก็อยากทำอยู่แล้ว

กระทิง : ผมรู้จักกับพี่โจ้มาสิบกว่าปี พี่โจ้เป็นคนเปลี่ยนชีวิตผมในหลายมิติมาก พี่โจ้เป็นไอดอลในการทำงานของผม และเป็นคนที่ทำให้ผมได้เจอกับภรรยา เป็นคนที่เปิดประตูทุกอย่างในจักรวาลให้ผม ตั้งแต่เรื่องส่วนตัว เรื่องงาน และเรื่องครอบครัว สำหรับผมมีหลักสูตรเดียวในประเทศไทยที่ผมไปพูดทุกครั้ง ต่อให้ยุ่งแค่ไหนผมจะเคลียร์ตารางเพื่อให้ตัวเองได้ไปพูดที่ ABC เพราะว่าพี่โจ้เป็นคนเปลี่ยนชีวิตผม มีช่วงที่ห่างกันไปก็คือช่วงที่ทำคนละธนาคารแค่นั้น จนกระทั่งพี่โจ้มาชวนทำ HOW

แล้วตอนที่ชวน อธิบายกันว่าจะมาทำอะไร

กระทิง : ตอนนั้นที่พี่โจ้ชวนมาทำก็บอกผมว่าเรามาทำเป็นคลับกัน ให้ลองจินตนาการว่าเราเอา 3 หลักสูตรที่พวกเราเคยทำมารวมกัน ทั้ง ABC, CXO และ WING (ผู้ก่อตั้งหลักสูตรคือ วรินดา เธียรอัจฉริยะ ภรรยาของ โจ้ ธนา) แล้วก็ทำเป็นคลับ แล้วทุกคนในคลับจะมาแชร์กัน ทุกๆ สัปดาห์จะมีกิจกรรมประมาณ 2 ครั้ง หรือมากกว่านั้น มีทั้งเวิร์กช็อป มีคอมมิวนิตี้ มี discussion บางวันเราก็เชิญสปีกเกอร์มา

vision ของผมกับพี่โจ้คือทำยังไงให้เราคอนเนกต์กับ leader หรือ change maker ที่มีความสำคัญในภูมิภาคนี้ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ผมมองว่ามันจะเป็นอะไรที่เป็นรูปแบบใหม่ของประเทศไทย เพราะว่าถ้าคุณดูที่อื่นจะเป็นโซเชียลคลับเสียส่วนใหญ่ แต่อันนี้เป็น academic and social club คือเป็นคลับที่เน้นเรื่องการเรียนรู้แล้ว social club ตาม

โจ้ : อย่างที่บอกว่าเราตั้งด้วยความเป็นคลับ แต่คลับของฝรั่งเขาจะค่อนข้างเป็นโซเชียลคลับ ส่วนของเราเราพยายามคิดว่าทำยังไงให้มันมีความเป็น academic 

จินตนาการว่าเราจะมีสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งหวังว่าเป็น 800-1,000 ตารางเมตร เป็นสถานที่ที่ดูดี มีวิวสวยๆ มานั่งแล้วเพลิดเพลิน มียิมให้ใช้สำหรับคนที่มาแล้วอยากมีสถานที่ออกกำลัง แล้วเราจะทำหน้าที่คิวเรตความรู้ให้คนที่มาคลับนี้ได้เรียนรู้ แต่ละสัปดาห์จะมีหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจ ถ้าไม่เป็นเรื่อง wisdom ของคนที่เป็น legend ก็เป็นเรื่อง trendy สมัยใหม่หรือเป็นเรื่องไลฟ์สไตล์ที่คนสนใจ กระหายใคร่รู้ 

คนที่เป็นสมาชิกคลับนี้ใครสนใจอยากฟังก็มาลงชื่อ มีทั้งคลาสเล็ก คลาสกลาง คลาสใหญ่ และคลาสใหญ่มาก ระดับต้องใช้ฮอลล์เป็นหลายร้อยคน นอกจากนั้นจะมีกิจกรรมเวิร์กช็อป มีงานกลางคืนที่เป็น networking activity และอีกหลายกิจกรรม อันนี้คือพาร์ตสถานที่และวิชาการ ที่คล้ายเป็นบุฟเฟต์ความรู้ให้คนในคลับมาตัก ใครชอบมากก็ตักมาก

กระทิง : ผมว่าเหมือนบุฟเฟต์มิชลินสตาร์ทางด้านความรู้ เหมือนผมเอาร้านมิชลินสตาร์สามดาวของทั่วโลกที่ไม่ใช่แค่ในไทย มารวมกันที่ HOW นั่นคือสิ่งที่จะเกิดขึ้น

HOW จะต่างจากหลักสูตรต่างๆ ที่พวกคุณเคยทำมายังไง

โจ้ : ข้อแรก academy ที่เราเคยทำเป็นการเรียนรู้ที่ถูกคิวเรตมาเฉพาะช่วงเวลานั้น พอเวลาผ่านไป 6 เดือนมันก็เปลี่ยนแล้ว คนรุ่นเดิมก็ไปเรียนหลักสูตรเดิมไม่ได้แล้ว มันเปลี่ยนรุ่นไปเรื่อยๆ academy ได้ประสบการณ์แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ของ continuous learning มันเหมือนจะเป็น current learning ที่ดี แต่มันไม่ต่อเนื่อง

ข้อที่สองคือมันไม่ได้ตอบเรื่อง lifelong relationship เพราะว่ามันมีจางหาย อย่าง HOW เราหวังว่าคนในคลับจะได้อยู่สนิทกันจนแก่ แล้วก็ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน 

ข้อที่สามคือหลังจากจบหลักสูตรมันไม่มีสถานที่ ซึ่งจริงๆ มันสำคัญทั้ง place และ people

กระทิง : แล้วผมว่า academy จะโฟกัสแค่มุมเดียวสำหรับหลักสูตรนั้นเสมอ อย่าง CXO ที่ผมทำก็เน้น exponential เน้นสกิลเทค สตาร์ทอัพ ในขณะที่มุมอื่นๆ ไม่มีเลย แต่ละหลักสูตรมีจุดอ่อนจุดแข็ง มีเสน่ห์ของมัน และผมมองว่า HOW ตัวผู้เรียนเป็นคนสำคัญ

ผู้เรียนสำคัญยังไง ปกติแล้วเมื่อพูดถึงหลักสูตรเรามักโฟกัสกันที่ผู้สอน

กระทิง : คีย์ที่สำคัญคือ นักเรียนแต่ละคนก็เหมือนเป็นเชฟเองด้วย คือมาช่วย cook knowledge ให้กัน คนที่จะอยู่ในคลับเราล้วนเป็นคนมีของและพร้อมจะแชร์สิ่งที่เขาเรียนรู้และผิดพลาดเสมอ

ผมว่า HOW มันจะไม่ได้เป็นคลับที่เน้น relationship แค่บางๆ หรือผิวเผิน แต่มันเป็นคลับที่แต่ละคนจะได้ sharing and learning แล้วช่วยให้แต่ละคนรู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไร ผมว่าอันนี้สำคัญ แล้วเรียนรู้ไปด้วยกัน แล้วคนใน HOW จะไม่ใช่แค่นักธุรกิจ แต่จะมีศิลปิน จะมีนักวิทยาศาสตร์ จะมีหลายๆ คนจากหลายๆ วงการที่มาคอนเนกต์แล้วเชื่อมโยงกันโดยเน้นการเรียนรู้เป็นหลัก

แล้วพวกคุณมีวิธีหาหรือคัดเลือกคนมาเข้าร่วม HOW ยังไง

โจ้ : เราจะเลือกและเชิญคนที่เรารู้จักเท่านั้นมาเป็นคณะแรกที่เป็นสมาชิก HOW Club อาจจะสัก 300-400 คน โดยแบ่งเป็นหลายช่วงวัย

วงแรกอาจจะเป็นวงผู้ใหญ่ประสบความสำเร็จ มี wisdom และความเมตตา ซึ่งเราก็มีรู้จักอยู่หลายท่าน คงจะเรียนเชิญมา วงที่สองน่าจะเป็นกลุ่มวัยกลางๆ ที่กระหายใคร่รู้ กำลังเติบโต ซึ่งเราก็รู้จักหลายคน และวงที่สาม เราอยากชวนกลุ่ม young generation ที่กำลังอยู่บนเส้นทางการเรียนรู้ ที่กำลังเติบโต หรือเป็นยูนิคอร์นแล้ว หรือกำลังทำสิ่งที่เราได้ยินแล้วตื่นเต้นว่ามีสิ่งนี้ด้วยเหรอ เราอยากมีกลุ่มนี้ด้วย

แต่ทั้งหมดทั้งปวงเราอยากได้คนที่เป็น giver ตั้งแต่รุ่นใหญ่ รุ่นกลาง อย่างรุ่นใหม่ มันจะได้เกิดการเรียนรู้จากหลายเจเนอเรชั่น หลากหลายธุรกิจ แต่ที่มั่นใจคือต้องเป็นคนที่เรารู้จักเท่านั้น

ทำไมถึงเลือกชวนแต่คนรู้จักแทนที่จะเปิดรับสมัครแบบไม่จำกัดตัวเอง เพราะมันก็น่าจะเต็มอย่างรวดเร็ว

โจ้ : เราตั้งใจรับคนที่เรากล้าแนะนำให้คนอื่นรู้จัก เพราะเราเอาชื่อเสียงเราเป็นประกัน ที่สำคัญพาร์ตคนเราพยายามให้เกิด activity ระหว่างกัน เพราะว่าจริงๆ ความรู้ที่อาจจะได้มากที่สุดคือการเป็น networking ด้วยกันนี่แหละ ต้องหาทางที่ทำให้เขาสามารถทำให้พบปะกัน พูดคุยกัน แชร์กัน ให้ความรู้กัน แล้วก็พยายามจะสอดแทรกวิธีคิดของ giver เสียสละช่วยเหลือกันเข้าไปในกลุ่ม ดังนั้นถ้ามีคนเข้ามาแล้วเราไม่รู้จัก แล้วพยายามขายของหรือทำอะไรที่คนที่มาเขาไม่ได้ต้องการแบบนั้นตั้งแต่แรก เขาก็จะอึดอัดกันหมดโดยธรรมชาติ เราจึงพยายามจะคัดเลือกจากคนที่เรารู้จัก ซึ่งหมายความว่าเราจะทำหน้าที่คิวเรตทั้งความรู้และคน ถามว่าแบบนี้ยากกว่าไหม ก็ยากกว่าเปิดง่ายๆ แน่นอน แต่เราคิดว่ามันจะยั่งยืนมาก

กระทิง : ความคิดของผมคืออยากให้มันมั่นคง ยั่งยืน เราไม่ได้เน้น profit maximization

ไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้งว่าต้องได้กำไรเยอะๆ ตั้งแต่แรก

โจ้ : ใช่ แต่ขอไม่ขาดทุนนะ (หัวเราะ) คลับนี้เราจะเก็บสมาชิกรายปีไปเรื่อยๆ ตอนนี้คำนวณต้นทุนอยู่ว่าจะทำยังไงให้เราพออยู่ได้ คลับของเราจะได้อยู่ได้ด้วย

กระทิง : ผมมองว่า HOW ต้องสร้างรากแก้วให้ได้ มันถึงจะยั่งยืน ต้นไม้ถึงจะโต เรื่อง wisdom รากมันต้องลึกจริงๆ ดังนั้น คนที่เข้ามาต้องสามารถสร้างอะไรดีๆ ได้ ต้องเป็นสังคม giver คอมมิวนิตี้ต้องมี diversity สเตปแรกเราเลยอยากเริ่มจากการชวนคนที่เรารู้จักและมั่นใจจริงๆ

โจ้ : สเตปสองอาจจะคิดแบบคลับทั่วโลก สมมติมีสมาชิก 300 คนแล้วเราเข้าใจกันดีแล้ว เขาอาจจะเป็นคน recommend ได้ เราอาจจะเปิดหลังจากนั้น เป็นอีกสเตปหนึ่งได้ อาจจะต้องมีสองคน recommend มา จะได้ช่วยยืนยันว่าถ้ามีเรื่อง คนที่แนะนำต้องรับผิดชอบ มันเป็นการสร้าง trust กันต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

ในวันที่สังคมพูดกันเยอะถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำต่างๆ คุณกังวลไหมว่าคนจะมองว่านี่เป็นพื้นที่ของกลุ่มคนที่เป็นชนชั้นนำเท่านั้น

โจ้ : ผมก็คิดว่าน่าจะมีคนคิดเหมือนกันว่าอันนี้มันคือการยิ่งทำให้มีกลุ่มอีลีต ประเทศไทยจะมีช่องว่างหนักเข้าไปอีกไหม ต้องมีคนถามเรื่องนี้แน่นอน

ผมตอบได้เลยหลังจากเราทำหลักสูตรต่างๆ มา ผมคิดว่ากลุ่มคนที่มีพลังเยอะๆ ถ้าหากเรามีโอกาสเอาเขามารวมกัน แล้วสามารถถ่ายทอดสิ่งดีๆ ให้เขา ให้เขาแข็งแรง ให้เขาเป็น giver ยังไงเขาก็มีพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ คือยังไงเขาก็ต้องปล่อยแสง แทนที่เราจะให้เขาปล่อยแสงอยู่ตรงนั้นตรงนี้ ทำไมเราไม่เอามารวมกัน

คืออีลีตมีอยู่ทุกสังคมตั้งแต่โรมันจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นเราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถ shape เขาได้ ทำให้เขารู้จักเสียสละ รู้จักมองด้านเพื่อส่วนรวม มีสำนึกสาธารณะ

ที่สำคัญ ประเทศไทยเล็กมากนะ ประเทศอื่นแข็งแรงกว่าเราเยอะ แต่ถ้าคนเหล่านี้มารวมกันได้ เรามีโอกาสจะสร้างความสามารถในการแข่งขันสู้กับประเทศอื่นได้ด้วย อันนี้ถือเป็นกลไกหนึ่ง คือในที่สุดยังไงอีลีตก็ยังมี เพียงแต่เราสามารถทำให้ที่นี่เป็นโรงเรียนที่ทำให้เป็นอีลีตที่ดี ผมคิดว่ามันเป็นบทบาทหนึ่งของเรา

สร้างทัศนคติที่ดีให้คนกลุ่มนี้

โจ้ : ใช่ๆ ให้มีจิตสาธารณะ

กระทิง: ผมเคยอ่านเหนังสือและบทความหลายๆ ชิ้นที่พูดถึงอนาคตของประเทศว่า ประเทศที่จะพัฒนา มีอนาคตได้ มันต้องเป็นยังไง มันมี learning หลายๆ เรื่องทั้ง public policy, macro economics, political system, education, infrastructure แต่มีข้อนึงที่ผมอ่านแล้วค่อนข้างเซอร์ไพรส์

มันคือเรื่องของการที่ประเทศนั้นต้องมีระบบที่คอยสร้าง good billionaire ซึ่งคำว่า good billionaire คือ billionaire ที่เป็น giver ที่เขาเป็นผู้ให้ในสังคม และเป็น good leader ที่นอกจากสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มีการสร้างงาน สร้างโอกาสให้ผู้คน แล้วยังเป็น giver ให้สังคม ถ้ายกตัวอย่างก็อย่าง เช่น Warren Buffett ที่เขาชวนมหาเศรษฐีทั่วโลกให้มาบริจาค 90% ขึ้นไปของ wealth เพื่อให้การกุศลหรืออะไรทั้งหลายแหล่ หรืออย่าง Bill Gates ที่สร้าง Bill & Melinda Gates Foundation และเขาคือคนที่เซฟโลกมากที่สุดคนหนึ่งเพราะมูลนิธิของเขามอบเงินเป็นหมื่นๆ ล้านเพื่อคิดวัคซีนรักษาโรคต่างๆ แก้นู่นนั่นนี่เต็มไปหมด

คลับนี้เราอยากให้ทุกคนมี commitment to sharing และมี passion for giving ด้วย หนึ่งคือเขาต้องให้ time ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุด สองคือเขาต้องแชร์ wisdom ยกตัวอย่าง สมมติผมสรุป wisdom ของตัวเองออกมา 10 ข้อ คิดดูสิผมผิดพลาดไม่รู้เท่าไหร่ แล้วผมแชร์ wisdom ที่เกิดจากการทำ innovation ที่ยากโคตรๆ เลยใน cooperate แล้วผมเล่าทุกมิติว่าตัวเองพลาดอะไรมาบ้าง นั่นคือ wisdom จากการที่ผมพลาด หลายเรื่องผมพลาดมา 45 ปี คนในคลับที่ฟังผมก็ไม่ต้องไปพลาดจนถึง 45 ปี ซึ่งนั่นหมายถึงคุณประหยัดเวลาไป 16,000 วัน

แล้วผมว่ามันอาจจะไม่ใช่แค่ในคอมมิวนิตี้ของ HOW แต่ผมคิดว่าอยากให้เขามีมิติของการให้ที่ไปไกลกว่าแค่ในคอมมิวนิตี้ของ HOW ด้วย ถ้าทำได้แบบนั้นผมว่าดีมากเลย 

คุณทั้งสองพูดถึงคำว่า ‘ความรู้’ บ่อยครั้ง แต่ทำไมตอนตั้งชื่อถึงเลือกใช้คำที่แปลว่า ‘ปัญญา’ ใช้ชื่อว่า ‘House of  Wisdom’

โจ้ :  เราคิดภาพง่ายๆ ว่าเหมือนในสมัยโบราณตั้งแต่ยุคกรีกคนเก่งๆ เขามานั่งคุยกัน เอาคนที่มีความรู้มารวมกัน แล้วนั่งคุยกัน ถกกัน จนนำไปสู่ปัญญา

ถ้าจะเรียงลำดับจริงๆ มันเริ่มจากดาต้า แล้วพัฒนาเป็น knowledge แล้วพอ knowledge มันไปสังเคราะห์ด้วยตัวเอง มันจะกลายเป็น wisdom แล้ว wisdom มันเป็น ultimate goal ของทุกอย่าง พอเป็น wisdom มันเหมือนเป็นท่ากระบี่ไม้ตาย เรารู้แล้วว่า อ๋อ เวลามี crisis เราต้องรับมือแบบนี้ ต้องใช้ knowledge แบบนี้ ต้องตัดสินใจแบบนี้ มันเป็น wisdom ที่สั่งสมมาจากประสบการณ์ของตัวเองและจากของคนอื่น จากความรู้ที่เราได้รับมา แล้วเราเอามาสังเคราะห์และ make decision บางอย่าง

wisdom เลยเป็นคำที่เหมาะสุดที่สุดเท่าที่นึกออก แล้วที่ใช้คำว่า house ก็เพื่อให้มันดู cozy มันเหมือนบ้านที่อยู่ด้วยกัน

กระทิง : ผมว่าเหมือนที่พี่โจ้บอก ถ้าภาษาไทยมันคือความหยั่งรู้ หยั่งรู้นี่คือที่สุด เพราะอย่างแรกคือคุณจะได้ข้อมูล แต่มันไม่ใช่แค่นั้น เราจะมี analysis คือการวิเคราะห์นู่นนี่นั่น นำไปสู่อินไซต์หรือความรู้เชิงลึก เสร็จแล้วถ้าคุณเอาไปปฏิบัติก็กลายเป็น knowledge และกลายเป็น skill competency หรือ capability คือทักษะ ความสามารถ เสร็จแล้วขั้นต่อไปคือ intelligence ซึ่งก็คือ wisdom

เราอยากให้นี่เป็น vision ของทุกคนที่เป็นสมาชิก เพราะเรามองว่าทุกคนมีความสามารถในการที่จะบรรลุถึงขั้น wisdom

สำหรับพวกคุณ ยุคสมัยนี้ wisdom หรือปัญญา สำคัญกว่ายุคอื่นยังไง

กระทิง : ถ้าคุณดู ระดับล่างสุดคือข้อมูล คือสิ่งที่เราเห็นเต็มไปหมดเลย เราเห็นนู่นนั่นนี่ คุณอยู่กับมันนานแต่สุดท้ายคุณไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะมันเป็นแค่ข้อมูล มันเหมือนเม็ดทรายในท้องทะเล คุณต้องการแสงที่ชี้ทาง wisdom คือการมอง beyond สิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า ณ ปัจจุบัน มอง beyond กระทั่งพายุที่พัดเข้ามาตรงหน้าว่าเราจะรอดพายุนี้ไปยังไง แล้วข้างหน้านี้ที่รออยู่คืออะไร 

ความสำคัญของ HOW คือเราช่วยสร้าง curation ขึ้นมาให้คุณมองเฉพาะสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ตรงหน้า แต่มองว่าถัดไปคุณจะอยู่ใน 10 ปีข้างหน้ายังไง สิ่งที่จะเจอมันคืออะไร

อย่างที่ผมบอก มันคือ wisdom คือการที่คุณเห็นแง่มุมบางอย่างท่ามกลางหาดทรายที่ข้อมูลเต็มไปหมด

โจ้ : ถ้าพูดถึงปัญญา มันมีตัวอย่างตอนที่เราเจอ crisis เยอะๆ แล้วนอนไม่หลับ แล้วประสบการณ์ที่เรามีมันไม่สามารถช่วยแก้ได้ แล้วตอนนั้นเราได้หนังสือเกี่ยวปัญญามาจากพี่ตุ้ม (หนุ่มเมืองจันท์) ซึ่งพี่ตุ้มน่าจะได้มาจากหลวงพ่อ เขาบอกว่าปัญหามีสองแบบ แบบหนึ่งแก้ได้ กับอีกแบบแก้ไม่ได้ แบบที่แก้ไม่ได้ไม่ใช่ปัญหา เพราะมันแก้ไม่ได้ แบบที่แก้ได้ก็แก้ แค่นี้เอง ฟังดูเหมือนง่าย เซนมากเลย แต่เป็นปัญญาที่ไม่รู้คนคนนั้นต้องเจอประสบการณ์กี่อย่าง แล้วดิ้นรนกับปัญหาที่แก้ไม่ได้จนบอบช้ำ จนรู้แล้วว่าแก้ไม่ได้ก็คือแก้ไม่ได้ เราก็แก้ที่เราแก้ได้ดีกว่า

ซึ่งการไปถึงระดับปัญญาขนาดนั้นจนมาสอนคนได้ มันต้องผ่านกระบวนการมาเยอะมาก แต่ถ้ามีปัญญาแบบนั้น สมมติเจอวิกฤตจากการที่ SVB ล้ม ปัญญาก็จะทำให้เราแยกปัญหาที่แก้ได้กับแก้ไม่ได้ แล้วเราก็จัดการแก้เฉพาะปัญหาที่แก้ได้ ที่แก้ไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ ซึ่งผมคิดว่าการที่ได้ปัญญาขนาดนั้นมันต้องเกิดจากการที่มีคนที่มีประสบการณ์มาอยู่ด้วยกันและช่วยเหลือกัน ให้คำปรึกษากัน ซึ่งใน HOW จะมีคนที่มีปัญญาในหลายๆ เรื่องอยู่แล้ว ก็มาแชร์กัน อาจจะทำให้เราไม่ต้องผ่านกระบวนการอันเจ็บปวดนั้นอย่างโดดเดี่ยว

คุณเขียนไว้ว่า HOW จะมีทั้งผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาการสมัยใหม่ ปรัชญา ความคิดสร้างสรรค์ มาให้ความรู้ด้วย ศาสตร์อื่นๆ เหล่านี้สำคัญกับโลกธุรกิจด้วยหรือ

โจ้ : ใช่ๆ เพราะวิถีชีวิตเดี๋ยวนี้ ในโลกธุรกิจสมัยใหม่ creativity คือหัวใจของการอยู่รอด ทุกคนน่าจะเห็นด้วย แล้ว creativity เกิดจากอะไร มันเกิดจากการที่เรารู้อะไรอยู่ของเรา แล้วเราได้องค์ความรู้อื่นๆ มาผสมกัน ถามว่านักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลเกือบทั้งหมดทำไมมีความสามารถพิเศษที่ไม่ได้มีแค่ทางด้านวิทยาศาสตร์เสมอ เช่น บางคนสีไวโอลินได้ แต่งเพลงได้ เพราะว่าในการรู้ศาสตร์ที่สอง ผมมองว่าเป็น multidisciplinary skill หรือสหวิทยาการ อย่าง creativity ของยุคดาวินชีก็คือการเป็น renaissance man ที่รู้ทุกอย่างแล้วเอามาผสมกันได้

ยกตัวอย่างหนึ่ง ถามว่าทำไมไทยประกันชีวิต ในช่วงหนึ่งถึงทำหนังโฆษณาดีมาก เพราะคุณไชย ไชยวรรณ ที่เป็นเจ้าของ เขาเรียนวิชารองเป็นละครที่อังกฤษ แล้วเขาชอบมาก ดังนั้นเขารู้กระบวนการการทำ storytelling แบบ dramatic ก็เลยเอามาผสมกับไทยประกันชีวิต เลยออกมาเป็นงานหนังโฆษณาที่ดีมาก ดังนั้นถ้าเรารู้อะไรหลายๆ ศาสตร์ สมมติถ้าเราขายผลไม้อบแห้ง ถ้าเราเล่าเรื่องเก่ง เทคโนโลยีก็รู้ สุนทรียะทางการออกแบบก็รู้ รวมถึงอาจจะได้คุยกับคนที่มีความชำนาญเรื่องโรงงาน เมื่อเอาอะไรหลายๆ อย่างมารวมกัน เราก็น่าจะทำธุรกิจผลไม้อบแห้งได้เจ๋งมากเลย แต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน มันคือการ connecting the dot ผมเลยคิดว่าเราต้องรู้ให้เยอะที่สุด หลากหลายที่สุด

กระทิง : การรู้หลายๆ ศาสตร์มันสำคัญกับผู้นำสมัยใหม่ ตอนทำหลักสูตรผมถึงเรียกว่ามันต้องเป็น CXO อันนี้ผมได้แรงบันดาลใจมาจากพี่โจ้ ที่พี่โจ้บอกว่านักธุรกิจต้องเป็นตัว X ซึ่ง X คือการ cross exponential ถ้าเกิดคุณจมในศาสตร์เดิมๆ เวลาคิดมันก็เหมือนเดิม ดังนั้นคุณต้องมี inspiration ที่ถูกจุดประกาย มันถึงเกิดการ breakthrough คุณต้องเกิด break กล่องเก่าๆ ก่อน แล้วถึง through ออกไปได้ แล้วคนที่จะ break กล่องของคุณได้ดีที่สุดคือคนที่คิดไม่เหมือนคุณเลย

ยุคนี้เราพูดกันเยอะมากเรื่องการ reskill, unlearn, relearn จนมันเฝือไปหมดแล้ว แต่ถามว่ามันจะทำได้จริงยังไง ผมว่ามันคือการทำให้แต่ละคนมาเปิดซึ่งกันและกัน HOW ถึงต้องใช้คนข้ามศาสตร์ ที่สำคัญอีกอย่างคือสมัยนี้มันยากมากๆ ที่คุณจะรู้แค่หนึ่งอย่าง คุณอยู่ไม่ได้ถ้าคุณรู้แค่สิ่งที่คุณรู้ แล้วทำอย่างที่คุณทำ สมัยนี้คุณต้องรู้ก่อนว่าไม่รู้อะไร แล้วถัดไปก็คือรู้ในสิ่งที่ไม่รู้ และทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าเมื่อตอนทำ ABC คุณเริ่มทำด้วยความไม่รู้ แต่ตอนทำ HOW เท่าที่ฟังเหมือนคุณรู้แล้วว่าต้องทำยังไง มันทำให้ยาก-ง่ายต่างกันไหม

โจ้ : จริงๆ ตอนทำอันนี้ก็ไม่รู้นะ เพราะเราไม่เคยทำ มันไม่มีต้นแบบในโลกเลย แล้วด้วยความไม่รู้ พอคิดเสร็จแล้วเรารู้สึกว่าเราคนเดียวทำไม่รอดแน่นอน เลยต้องมีกระทิง มันมี element ที่เราไม่รู้ กระทิงมีสิ่งที่เราไม่มี แต่ถ้ามีแค่กระทิงคนเดียวมันก็แคบไป มีแบบผมแบบเดียวก็แคบไป พอมารวมกันเราก็ตื่นเต้น เพราะไม่เคยทำ มันเป็นสิ่งใหม่

คือถ้าเอาชัวร์เราทำหลักสูตรของตาย 4 เดือน ซึ่งถ้าทำตอนนี้นี่หมูมากเลย เพราะเรารู้หมดแล้วว่าต้องทำยังไง เราทำมันจนชินแล้ว แต่ HOW เราทำด้วยความไม่รู้ มันเป็นฟอร์แมตที่ใหม่มาก แต่ถามว่าทำไมเราเลือกทำท่านี้ เพราะเราคิดว่ามันน่าตื่นเต้นกับการที่เราจะได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ เราต้องเริ่มใหม่ 

ไม่รู้นะ อาจจะมีคนสมัครน้อยก็ได้ คือในโลกแบบนี้ถ้าคนสมัครไม่น้อยไปเลยก็เยอะเกิน ไม่มีพอดีหรอก ถ้าไม่ล้นก็ขาด (หัวเราะ)

กระทิง : ผมเลยรู้สึกว่าจริงๆ มันมี element of surprise แล้ว many unexpected คือตอนนี้ชีวิตผมยุ่งโคตรๆ ผมต้องบริหาร 6 กองทุน ทำหลักสูตร CXO บริหารบริษัท KBTG แล้ววันเสาร์ผมทุ่มพลังสอนจน 4 ทุ่ม 5 ทุ่มทุกวัน แต่พอมาประชุมเรื่อง HOW ทุกอาทิตย์ผมได้พลังงานกลับมาตลอด ผมรู้สึกว่าทุกครั้งเรากลับมาเป็นเด็กอีกครั้ง 

ถึงวันนี้ภาพของ HOW เริ่มชัดแล้ว คุณคาดหวังว่าสิ่งนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง

โจ้ : ของผมแค่ฝันเล็กๆ คือผมอยากจะให้ HOW เป็นพื้นที่ที่เรารู้แน่ๆ ว่าถ้าพรุ่งนี้เราตื่นแล้วมาที่นี่ เรารู้ว่าเราจะดีขึ้น อันนี้เป็นเป้าหมายเล็กๆ แต่กระทิงเขามองไปถึงการขยายไประดับ regional เขามองระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คือเรามีทั้ง tomorrow plan กับมี big plan ซึ่งพอดีกัน

กระทิง : อย่างที่พี่โจ้บอก ทุกวันตื่นมาต้องดีขึ้น ทุกครั้งที่เขามาที่นี่เขาต้องเปลี่ยนแปลงเป็นมนุษย์ที่ดีกว่าเดิม แล้วสุดท้ายสิ้นปีจะเป็น exponential แล้วประเด็นคือสุดท้ายเขาจะไม่ได้เรียนรู้แค่ในประเทศไทย เพราะ vision ของเรา เรามองไปถึงระดับ regional สมมติมี 10 เมืองในภูมิภาค อาจจะมี HOW ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในจีน ในญี่ปุ่น หรือในอินเดีย แล้วคอนเนกต์เอเชียทั้งหมดเข้าด้วยกัน

ผมชอบประโยคหนึ่งที่ว่า explore maximum possibility of humanity คือทำให้มนุษย์คนหนึ่งเป็นมนุษย์ที่ดีที่สุดเท่าที่เขาจะเป็นได้ ลองคิดดูว่าถ้าเป็นแบบที่ว่าภูมิภาคนี้มันจะดีขึ้นขนาดไหน แล้วถ้าภูมิภาคนี้ดีขึ้น โลกนี้มันก็ดีขึ้นทั้งโลก

สุดท้ายแล้วสิ่งที่กำลังทำมีความหมายกับคุณในวัยนี้ยังไงบ้าง

กระทิง : สำหรับผม ตอนนี้ผมอายุ 45 อีก 10 ปีผมก็ 55 ผมคิดว่าถ้า 55 ผมคง pass the torch แล้ว 

คือสุขภาพผมแย่กว่าพี่โจ้เยอะ หมอบอกผมจะมีอายุถึง 67 ผมเลยคิดว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาของชีวิตผมผมได้สร้าง start up ecosystem สร้าง education ecosystem แล้ว อีก 10 ปีข้างหน้าผมถามตัวเองเสมอว่าอยาก commit ชีวิตตัวเองกับอะไร และนี่คือสิ่งที่ผมอยากทำ

ผมอยาก commit ชีวิตของผม แพสชั่นที่ผมมี ความรู้ที่มี คอนเนกชั่นที่ผมมี เพื่อทุ่มเทกับสิ่งนี้ กับคนเหล่านี้ เพื่อให้คนเหล่านี้ไปเปลี่ยนแปลงโลก เปลี่ยนแปลงประเทศ 10 ปีข้างหน้า ถ้า vision ผมไม่ใหญ่เท่านี้ผมจะไม่ตื่นเต้น ผมจะไม่รู้สึกว่าอยากทำ

นี่คือ 10 ปีข้างหน้าของผม ทำให้บ้านเรา สังคมเรา ภูมิภาคเรามันดีขึ้นกว่าสิ่งที่มันเป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน แทนที่อนาคตมันจะเป็นแบบนี้ ผมเปลี่ยนอนาคตได้ ผมว่าไม่มีอะไรยิ่งใหญ่กว่านั้นแล้ว เหมาะที่ผมจะทุ่มเทชีวิตเข้าไป

สิ่งที่ดีที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงกลุ่มคนที่จะไปเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งในภาคการเมือง ภาคเศรษฐกิจ ภาคสังคม สมมติประเทศไทยมีคนเป็นสมาชิก 500 คน แล้ว HOW ใหญ่ขึ้น ต่อไปทั้งภูมิภาคมี 5,000 คน หรือต่อไปทั้งหมด 10,000 คน

แค่ 10,000 คนแต่ถ้าทุกคนเป็น good billionaire ทั้งหมด ถ้าโลกไม่เปลี่ยน ถ้าประเทศนี้ไม่เปลี่ยน ถ้าสังคมนี้ไม่เปลี่ยนให้มันรู้ไป นี่คือ fucking change

Writer

บรรณาธิการบริหาร Capital เจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 6 เล่ม เล่มล่าสุดชื่อ Between Hello and Goodbye ครู่สนทนา

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like