Fall in Passion All Over Again  

Horse Unit & Woot Woot ร้านวินเทจในโกดังของคู่รักนักสะสมที่เปลี่ยนแพสชั่นเป็นธุรกิจ

การตกหลุมรักในแพสชั่นเดิมซ้ำๆ จนสร้างธุรกิจที่มีสไตล์เฉพาะจากความชอบของตัวเองนั้นทำยังไง น่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนสงสัยและใฝ่ฝัน

Horse Unit ของ บาส–ธรรมนูญ ใหม่พิมพ์ กำลังเดินทางสู่ขวบปีที่หก

Woot Woot ของ ตวง–พันธ์นันท์ ธนินเตชพัฒน์ มีอายุก้าวย่างสู่ปีที่สี่ในปีนี้

โกดังวินเทจที่ Warehouse 30 ย่านเจริญกรุงน่าจะเป็นที่สะดุดตาของใครหลายคนที่ได้ไปเยือน แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าข้าวของที่สะสมด้วยความรักในโกดังแห่งนี้มาจากความหลงใหลที่ผสมกันของชายหญิงสองคน

ทั้งคู่เป็นคู่รักที่เริ่มพบกันจากความชอบในของวินเทจ ขยับขยายจากการเป็นนักสะสมสู่การขายเป็นงานอดิเรกก่อนปักหลักเปิดร้านโดยแบ่งพื้นที่ให้โกดังชั้น 1 ขายงานวินเทจสไตล์ Military, Workwear, Tool ของบาสและชั้น 2 เป็นที่ที่มีกลิ่นอายของงานคราฟต์และเต็มไปด้วยของกระจุกกระจิกอย่างเครื่องเขียน เครื่องประดับ เซรามิก ฯลฯ ที่ตวงชื่นชอบ แบ่งปันจักรวาลแห่งสมบัติที่แต่ละคนหลงใหลแก่เหล่าคนรักของวินเทจ

‘ถ้าเรารักอะไรสักอย่าง มันจะพาเราไปสักที่’ ประโยคนี้ไม่เกินจริงสำหรับบาสและตวงที่แพสชั่นในของวินเทจเปิดทางให้เจอโอกาสทางธุรกิจและความรัก 

เนื่องในเดือนกุมภาพันธ์ ขอชวนคนที่ใฝ่ฝันถึงการเปลี่ยนสิ่งที่ตกหลุมรักมาเป็นธุรกิจหรือคนที่มีพาร์ตเนอร์เป็นคู่รักมาฟังเรื่องราวความรักที่บาสและตวงมีแด่ข้าวของแต่ละชิ้นรวมถึงการดูแลโกดังของหัวใจที่ทั้งคู่อยู่ดูแลเคียงข้างกันมายาวนานพอๆ กับระยะเวลาที่ดูแลความสัมพันธ์

แรกรักของนักสะสม

เวลารู้จักคนที่มีแพสชั่นหลงใหลคลั่งไคล้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างจริงจัง คำถามที่อยากชวนคุยคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้หวั่นไหวในสิ่งนั้นคืออะไร

สำหรับบาส รสนิยมจากการทำงานในสายกราฟิกดีไซเนอร์ของเขาทำให้เริ่มต้นค้นพบความชอบของวินเทจจากความประณีตของตัวอักษรที่สลักไว้บนสิ่งของหลากหลายแบบทั้งกล่องไม้ กล่องอาหาร กล่องเหล็ก ป้ายแบรนด์ ป้ายโฆษณา ร่มโฆษณาสมัยเก่า กระป๋องน้ำมัน ฯลฯ 

“เมื่อก่อนเคยออกแบบตัวอักษรด้วยเลยชอบงาน typography เวลาไปเดินตามตลาดของเก่าแล้วไปเห็นตัวอักษรที่อยู่บนสิ่งของและบรรจุภัณฑ์ต่างๆ รู้สึกว่าสวยดี ชอบเลยซื้อมาเพราะผูกพันกับตัวหนังสืออยู่แล้ว”

เสน่ห์ของงาน typography คือการออกแบบฟอนต์และลวดลายที่บาสยกตัวอย่างว่ากระป๋องน้ำมันยุคก่อนจะมีความโดดเด่นของอัตลักษณ์แบรนด์ ใช้โลโก้และคู่สีที่สวยเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละยี่ห้อ เช่น โลโก้โมบิลรูปม้าบิน โลโก้เชลล์รูปหอย ทำให้เป็นที่จดจําง่าย แม้ดูเรียบง่ายและคลาสสิกแต่ถูกออกแบบการจัดวางองค์ประกอบไว้หมดซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานออกแบบสำหรับเขาด้วย

จากความชื่นชอบในลวดลาย typography นี้เองทำให้บาสชอบเดินตลาดวินเทจและแตกความชอบเป็นเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือช่างวินเทจเพิ่มขึ้นอีกมากมายในภายหลัง 

ส่วนตวงเรียนออกแบบเครื่องประดับที่มหาวิทยาลัยศิลปากร จากความหลงใหลในแร่หินดิบที่ไม่ได้ผ่านการเจียระไนสำหรับนำไปทำเครื่องประดับทำให้เธอค้นพบความชอบอื่นๆ จากการหาวัสดุและของตกแต่งสำหรับทำเป็นพร็อพสำหรับเครื่องประดับในโปรเจกต์สมัยมหาวิทยาลัย 

“นอกจากหินแล้วเราเจอของเล็กๆ น้อยๆ ที่เจ้าของร้านสะสมหรือใช้ตกแต่งร้าน เริ่มจากแท่นวางหินและเครื่องราง ทำให้เปิดมุมมองใหม่ของเราว่ายังมีของที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง”
ตวงเริ่มต้นซื้อพินหรือเข็มกลัด 2-3 อันจากการไปเดินตลาดวินเทจในช่วงแรกด้วยความรู้สึกที่น่าจะคล้ายกับคนที่หลงใหลในสิ่งของที่ผ่านกาลเวลามายาวนาน

“เราคิดว่าถ้าไม่ซื้อของชิ้นนี้ต้องเสียดายแน่ เลยซื้อมาสะสมไว้ พินแต่ละอันมีเสน่ห์ไม่เหมือนกันและเก็บความทรงจำทำให้นึกถึงมุมต่างๆ เวลาเราไปเที่ยว”

พรหมลิขิตที่เกิดจากแพสชั่น

จากความชอบแบบงานอดิเรกในฐานะผู้สะสมงอกงามเป็นความอยากแบ่งปันข้าวของที่หลงรักแก่คนที่ถูกใจในสิ่งเดียวกัน

พอซื้อของวินเทจมาเยอะแยะเราก็เอามากองไว้ เพื่อนเห็นแล้วสนใจ เริ่มมีคนขอซื้อ จังหวะพอดีกับได้เจอพี่ที่จัดงาน Made by Legacy เขาเห็นผมมีของอยู่แล้วเลยชวนไปขาย เป็นงานที่ได้ผลตอบรับดีเลยเป็นจุดเริ่มต้นแรกจากตอนนั้น” บาสย้อนเล่าถึงหมุดหมายที่เป็นจุดเปลี่ยน

หลังจากขายของตามตลาดวินเทจไปสักพัก บาสก็ได้รับการชักชวนให้มาเปิดร้านที่ Warehouse 30 ซึ่งตอนแรกร้านของเขายังไม่ใช่โกดังขนาดใหญ่เท่าปัจจุบันแต่เริ่มจากโซนหนึ่งในโกดัง

ส่วนตวงที่ชื่นชอบการเดินเล่นตลาดของเก่าทำให้มีโอกาสได้เจอบาสหลายครั้งจนได้เริ่มบทสนทนาในแพสชั่นที่ทั้งคู่มีตรงกัน เราไปเดินงาน Union Camp ที่พี่บาสไปออกบูทขายของ วันรุ่งขึ้นก็ชวนเพื่อนมาเดินเล่นที่ Warehouse 30 ตอนนั้นเป็นโกดังเพิ่งเปิดใหม่ที่คนยังรู้จักไม่เยอะเท่าไหร่ มาซื้อของพี่บาสเหมือนลูกค้าทั่วไป รู้สึกว่าคนนี้หน้าคุ้นเป็นคนที่เราเพิ่งเจอเมื่อวานที่งานวินเทจ” 

บทสนทนากับคนรักงานวินเทจที่แต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกันเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้เจ้าของร้านอย่างบาสได้รู้จักลูกค้าแต่ละคนมากขึ้น ส่วนใหญ่ลูกค้าผม ถ้ามาคุยกันแล้วเราจะรู้ว่าคนนี้ชอบของวินเทจจริง ตวงเปิดรูปให้ดูว่าสะสมพินอยู่ ผมคิดว่าของน่าสนใจ เป็นอะไรที่แปลกใหม่สำหรับร้านผม เลยชวนว่าอยากลองมาฝากขายที่ร้านไหม”

ร้านวินเทจของบาสจึงมีของสะสมเพิ่มเป็นพินนับตั้งแต่นั้น ทั้งคู่ชวนกันไปเดินหาของดิสเพลย์สำหรับวางขายพินที่ตลาดและเริ่มพัฒนาความสัมพันธ์ทั้งในแง่พาร์ตเนอร์คนขายของและคู่รักจากจุดนั้น    

ตวงเล่าที่มาที่ไปในการแตกร้านเป็นแบรนด์ของตัวเองว่า พอความชอบของเรามีเยอะขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มปะปนกับเขาเยอะเกินไป ก็เริ่มเกรงใจพี่บาสเลยแยกเป็นสัดส่วนของตัวเองไปเลย”  

หากใครเป็นแฟนตัวยงที่มีโอกาสได้มาเยี่ยมเยียนร้านเมื่อสมัยเปิดใหม่จะจำได้ว่าใกล้ๆ กับโซนสินค้าทหารและเครื่องมือช่างมีบ้านหลังเล็กสีขาวที่เต็มไปด้วยแร่หินและพินซึ่งเป็นพื้นที่ของตวง

หลังจากขายมาราวสามปีทั้งคู่ก็ขยับขยายมาเป็นโกดังใหม่ที่กว้างขว้างขึ้นที่ Warehouse 30 แห่งเดิมซึ่งเป็นที่ปัจจุบันโดยวางแผนกันไว้ตั้งแต่แรกว่าจะแบ่งพื้นที่กันชัดเจนเป็นชั้นล่างในนาม Horse Unit ของบาสและชั้นบนในนาม Woot Woot ของตวง

“จังหวะมันได้ โกดังนี้ว่างพอดี พอพื้นที่ใหญ่ขึ้น ของก็ค่อยๆ เยอะขึ้นตามไปด้วย เราต้องมาคิดว่าจะทำยังไงให้ของเติมเต็มพื้นที่ได้” หลายครั้งที่บาสเล่าว่าโอกาสที่ได้มาเพราะจังหวะเป็นใจแต่พรหมลิขิตคงไม่อาจเกิดขึ้นได้หากเขาและเธอไม่มีแพสชั่นอย่างจริงจังจนความหลงใหลนั้นดึงดูดโอกาสเข้ามา

การออกแบบในยุคสงครามผ่านความสนใจของ Horse Unit 

Horse Unit เป็นชื่อแบรนด์ที่บาสตั้งให้คล้องจองกับ Duck Unit บริษัทออกแบบที่เขาเคยตั้งชื่อไว้กับเพื่อน “อยากเก็บคำว่า unit ไว้ให้เชื่อมโยงกัน อยากได้ชื่อสัตว์ที่เป็นพยางค์เดียวเลยนึกถึงม้าที่วิ่งเร็วปราดเปรียว กระฉับกระเฉง”

ทุกวันนี้บาสนิยามสไตล์ของวินเทจในความชอบของเขาชัดเจนเป็น Vintage, Military, Workwear, Tool มีของหลายประเภททั้งเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน อุปกรณ์ช่าง ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นของจากอเมริกาเป็นหลัก เบื้องหลังความชอบงานวินเทจของเขาไม่ใช่แค่รูปลักษณ์แต่เป็นเสน่ห์เบื้องหลังการออกแบบเหมือนเมื่อครั้งเริ่มต้นชอบงาน typography

หมวด Military มีความโดดเด่นคือลายพรางของชุดทหารเรียกว่า camouflage ซึ่งมีชื่อลายเฉพาะของแต่ละลายแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศและฤดูกาลรบ บาสบอกว่าลาย camouflage นั้นลึกซึ้งมากและมีหนังสือที่เล่าเรื่องราวการออกแบบอย่างละเอียด

“ลวดลายและลักษณะของแถบที่อยู่บนเสื้อจะบอกประวัติหมดว่ามาจากปีไหน ประเทศไหน ดีไซเนอร์จะคิดมาเลยว่าตอนนั้นทหารไปรบที่ประเทศอะไร สภาพภูมิอากาศเป็นยังไง ควรใช้ผ้าแบบไหน ถ้าอากาศหนาวหน่อย ผ้าก็จะหนา ถ้าต้องพรางตัวอยู่ในป่า ควรเป็นลายแบบไหนที่เอามาใช้งานจริงได้ บางทีมีลายแตกต่างกันอยู่สองฝั่งของเสื้อตัวเดียวกันด้วยสำหรับสลับใช้ในสนามรบแต่ละที่”

ความชอบสินค้าในหมวด Military ทำให้บาสบอกว่ามีของกระจุกกระจิกที่เกี่ยวพันกับยุคสงคราม
เยอะมากทั้งหนังสือพิมพ์ แฟ้มทหาร ถุงผ้า โปสเตอร์ และแผนที่สมัยเก่า ปฏิทินเก่าแฝงฟังก์ชั่นคลาสสิกที่สมัยนี้ไม่มีคนทํา

กระดุมและเข็มกลัดวินเทจส่วนใหญ่ก็เป็นเครื่องประดับที่ใช้กับเสื้อทหารด้วยเช่นกัน บางส่วนผลิตสำหรับเป็นที่ระลึกเพื่อสะสม ได้มาจากทั้งฝรั่งเศสและอเมริกา บาสชี้ให้ดูว่าเขาคัดเลือกของมาเองจากความชอบไม่ว่าจะเป็นตรายูเอฟซีเมอร์ลินของทหาร เข็มกลัดรูปจักรยานจากความชอบยานพาหนะ

เขาสรุปประวัติศาสตร์ผ่านของสะสมให้ฟังว่าสไตล์งานวินเทจของแต่ละยุคมีความแตกต่างกัน

“ยุคที่คนนิยมเล่นของวินเทจกันคือยุค ’40 ช่วงสงครามโลก, ยุค ’50 เป็นสงครามเกาหลี, ยุค ’60 คือสงครามเวียดนาม เสื้อผ้ายุคสงครามโลกครั้งที่สองจะป๊อปปูลาร์เป็นพิเศษ” 

ช่างซ่อมหนุ่มที่รู้จริงในฟังก์ชั่นและการจัดดิสเพลย์ 

เฟอร์นิเจอร์อย่างเก้าอี้และโต๊ะของ Horse Unit ส่วนมากนําเข้าจากอเมริกา พระเอกเด่นในร้านคือเก้าอี้โทเลโดสำหรับใช้เขียนแบบในสมัยก่อนที่มีเอกลักษณ์ของทรงเก้าอี้ที่คนเห็นแล้วจดจำได้ทันที 

ข้าวของที่มีจำนวนเยอะขึ้นและชิ้นใหญ่ขึ้นทำให้บาสมีอุปกรณ์ซ่อมมากขึ้นตามมาโดยปริยาย

“หมวดช่างจะเป็นอุปกรณ์ช่างเก่าๆ สำหรับใช้มิกซ์กับเสื้อผ้า workwear เวลาเราซื้อเก้าอี้มาจะได้อุปกรณ์สำหรับซ่อมมาด้วย เลยทําแผงเครื่องมือช่างไว้สำหรับใช้เองให้พร้อมหยิบใช้ง่าย บางทีก็ใช้เครื่องมือช่างซ่อมของที่ร้าน เวลาได้โคมไฟเก่ามาก็ซ่อมแซมเพื่อเซอร์วิสให้ใช้งานได้ก่อนที่จะขาย”

ดิสเพลย์เครื่องมือช่างที่เรียงรายอัดแน่นเหมือนโรงช่างไม้สมัยเก่าเกิดจากไอเดียของบาสที่อยากเรียงของให้เป็นระเบียบเพื่อหยิบใช้งานง่าย มองเห็นของที่อยากหยิบใช้ได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องเปิดกล่องว่ามีของอะไรบ้าง

บาสบอกว่าของหลายหมวดล้วนเชื่อมโยงกันหมด เครื่องมือช่างอย่างผ้ากันเปื้อน ผ้าช่างสมัยเก่า สินค้าช่างไม้ กล่องไม้ ลังไม้ รวมถึงตะกร้า กล่องใส่ขวดนม ต่างก็มีเสน่ห์ของการเล่น typography ที่เป็นความชื่นชอบแรกของเขาในสายตาของนักออกแบบ เมื่อเริ่มสะสมกระป๋องน้ำมันลายคลาสสิก สิ่งที่ซื้อตามมาก็แตกออกไปเป็นตู้หัวจ่ายน้ำมันที่อยู่ตามปั๊มสมัยเก่า เครื่องเล่นแผ่นเสียงมาคู่กับแผ่นเสียงไวนิลจากเพื่อนที่เป็นคอเพลงสายแอนะล็อก โต๊ะวินเทจมาพร้อมกับการซื้อเครื่องประดับบนโต๊ะอย่างโคมไฟวินเทจที่ปรับระดับได้และลูกโลกแก้วเรืองแสงที่ตั้งโชว์ไว้แต่ไม่ได้ขาย

บรรยากาศในร้านที่ร้อยเรียงเป็นสไตล์เดียวกันคือสิ่งที่บาสพยายามทำ เขาเลือกรางแขวนเสื้อผ้ารุ่น Dry Cleaning – Storage Conveyors by White Mach. Co. Kenilworth, N.J., U.S.A จากร้านซักรีดสมัยเก่าที่เลื่อนรางได้และมีตัวเลขที่รางคล้ายไม้วัดเพื่อให้เข้ากับสไตล์ของเสื้อผ้าวินเทจที่แขวนไว้

เมื่อตัดสินใจว่าอยากเอาตู้ถ่ายรูปสติ๊กเกอร์มาตั้งในร้าน บาสกับตวงยังให้เพื่อนผู้สร้างสรรค์ผลงานออกแบบตัวอักษรอย่าง บึก–สุชาล ฉวีวรรณ มาเพนต์ตู้ให้เป็นสไตล์วินเทจเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศร้าน 

“พอเอาตู้มาตั้งก็คิดว่าจะทำยังไงให้ตู้มีความวินเทจเหมือนร้าน เราไปรีเสิร์ชเรฟเฟอร์เรนซ์มาจากหนังเก่าที่มีตู้โฟโต้บูทแล้วรู้สึกว่าถ้าติดสติ๊กเกอร์ตกแต่งตู้จะไม่ได้ฟีลลิ่ง เลยเพนต์สดด้วยมือซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกับการเพนต์ชื่อร้านแบบปิดทองที่หน้าร้าน” ตวงเล่าถึงรายละเอียดที่คิดมาอย่างดี

การขุดสมบัติที่เจียระไนผ่านสายตาของ Woot Woot

ส่วน Woot Woot เป็นพื้นที่สะสมงานคราฟต์ที่เกิดจากความชอบในงานแฮนด์เมดและของที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติจากศิลปินท้องถิ่นที่ตวงเล่าว่าเริ่มสะสมตั้งแต่สมัยเรียนออกแบบเครื่องประดับ 

“ตอนนั้นเรียนทุกอย่างตั้งแต่วาด ออกแบบ ขึ้นรูป เชื่อม ขัด ดุน ปั้น เคาะ ฝังเพชร ที่เป็นพื้นฐานของการทําจิวเวลรีทั้งหมด ช่วยเปิดโลกเรื่องความคิดสร้างสรรค์ การจัดวางคอมโพส การเลือกวัสดุต่างๆ พอเรียนเองเลยรู้ว่างานคราฟต์ที่ไม่ได้ผ่านโรงงานอุตสาหกรรมทำยากมาก กว่าจะออกมาเป็นของแต่ละชิ้น เลยสนใจงานพวกนี้เป็นพิเศษ”  

การเรียนออกแบบทำให้ตวงมีสายตาเฉียบคมที่มองเห็นความพิเศษและรายละเอียดในข้าวของสิ่งละอันพันละน้อย แม้ทุกวันนี้เธอไม่ได้สร้างสรรค์ผลงานเองแล้วแต่ก็รวบรวมผลงานเครื่องประดับของเพื่อนพ้องที่ออกแบบเองมาวางขายที่ร้าน ผลงานจิวเวลรีที่เธอคัดสรรมามีทั้งงานออกแบบที่เป็นงานอดิเรกและวางขายในจำนวนจำกัดไปจนถึงแร่หินธรรมชาติที่ลูกค้าต่างชาตินิยมซื้อพกไว้ด้วยความเชื่อเรื่องพลังงานบำบัดและโชคลาง

ทั้งนี้ตวงบอกว่านิยามคำว่า ‘สมบัติ’ ของเธอยังรวมถึงของอีกหลายหมวดนอกเหนือจากเครื่องประดับ

“ตอนเห็นโกดัง เรานึกถึงคําว่า cabinet of curiosity อยากให้ทุกมุมของร้านเรามีสมบัติต่างๆ ที่ซ่อนอยู่และรอให้คนมาค้นหา บางทีลูกค้าบอกว่าเขาตามหาของชิ้นนี้มานานและไม่คิดเลยว่าจะได้เจอที่นี่ มาที่ร้านแล้วดีใจมากเลยที่เจอ บางครั้งคนอเมริกามาเจอของวินเทจจากเมืองเขาแล้วรู้สึกขอบคุณมาก ข้าวของเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ทําให้รู้สึกมีความสุขได้”

ความสามารถพิเศษของเธอคือการมองเห็นมูลค่าในของเก่าที่หลายคนอาจมองผ่านไป ทั้งหนังสือและรูปภาพอาร์ตพรินต์ที่รวบรวมใบไม้และดอกไม้นานาพันธ์ุ รังไหมและเส้นใยจากโรงงานทอผ้า หรือแม้แต่กรอบรูปเก่า 

“อย่างกรอบรูปไม้นี้ได้มาจากโรงงานกรอบรูปเก่า โรงงานเขาคิดว่าไม่มีใครชอบและเก่าแล้วเลยอยากโละทิ้งแต่เรามองเห็นว่ามันคือสมบัติ เลยเอามาทํากระดานใหม่แต่ยังคงลวดลายของกรอบรูปวินเทจที่คงโครงไม้ดั้งเดิมและมีความคลาสสิก ด้วยเทคนิคการทำที่ละเอียด คงหาใครมานั่งทำกรอบรูปแบบนี้ในสมัยนี้ยากแล้ว พอเราเห็นก็ตื่นตาตื่นใจมาก บางทีไม่ได้เจอของพวกนี้จากตลาดวินเทจแต่บังเอิญเจอจากชาวบ้าน ต้องหมั่นสังเกต สอบถาม พูดคุยกับเขา หลายที่มักมีของซ่อนไว้ข้างหลัง”   

หากมาเดินเล่นที่ร้านจะพบว่าสมบัติของ Woot Woot ถูกซุกซ่อนไว้ทุกมุม ด้วยการตกแต่งร้านที่เน้นความคราฟต์ไปในทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะที่ดิสเพลย์สินค้ามีทั้งโต๊ะจากช่างไม้ไทยและเคาน์เตอร์ตัดเย็บสมัยเก่าที่ตวงบอกว่าลูกค้าขอซื้อเยอะแต่ไม่ได้ขาย หรือมุมหนึ่งของร้านที่มีอุปกรณ์ลักษณะคล้ายเครื่องมือช่างวางอยู่ที่พื้น ซึ่งตวงเฉลยว่าเป็นที่ทําสมุดซึ่งเธอเอามาประยุกต์ใช้เป็นที่ทับดอกไม้แห้ง  

คิวเรเตอร์สาวที่ชวนเพื่อนมาแสดงผลงานที่รัก

ความตั้งใจหนึ่งของตวงคืออยากสร้างคอมมิวนิตี้ art & craft ด้วยการชวนนักสร้างสรรค์มาขายของ
ด้วยกัน

“เราชวนเพื่อนและพี่ที่ทำแบรนด์น่าสนใจมาวางขายที่ร้านเรา เขาอาจไม่ได้จำเป็นต้องมีชื่อเสียงมากหรือโปรโมตมากมายอะไร แต่เรามองเห็นเอกลักษณ์ของแบรนด์เหล่านี้ มองเห็นโอกาสที่เราสามารถเป็นสื่อกลางในการทําให้ลูกค้าเห็นและสามารถต่อยอดให้เขาได้ไปต่อ”

คณะมัณฑนศิลป์ที่ตวงเรียนแตกออกเป็นหลายภาควิชา เธอจึงมีเพื่อนที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของตัวเองในหลายศาสตร์ นอกจากเครื่องประดับแล้วยังมีเซรามิก ประยุกต์ศิลป์ เพนต์ และอีกมากมาย สามารถทำความรู้จักผลงานของพวกเขาได้ที่ Woot Woot 

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจก็อย่างเช่น สีน้ำธรรมชาติ craft colour ที่ศึกษาวิธีการทำสีน้ำธรรมชาติขึ้นมาเองจากการแพ้สีเคมี, printwood stamp ตัวปั๊มที่ออกแบบลายเส้นเองตามเทคนิคการทำตัวปั๊มผ้าสมัยโบราณของอินเดีย มีความพิเศษคือคอลเลกชั่นตัวปั๊มที่ออกตามฤดูกาล ช่วงคริสต์มาสมีรูปต้นคริสต์มาส เกล็ดหิมะ ช่วงฮัลโลวีนมีรูปหัวกะโหลก มีรูปช้างที่เป็นที่นิยมสำหรับชาวต่างชาติที่อยากซื้อเป็นที่ระลึก, แบรนด์เซรามิก mamo & things ที่ปั้นเซรามิกชิ้นต่อชิ้นด้วยมือทำให้แต่ละชิ้นออกมาไม่เหมือนกันเลย, สมุด dibdee.binder ของเพื่อนจากเชียงใหม่ที่เย็บสมุดเอง ทํามือเองหมดทุกขั้นตอน มีทั้งปกหนังและปกไม้สักโดยแต่ละเล่มมีเทคนิคการเย็บที่แตกต่างกัน, ไม้กวาด Baan Boon (บ้านบูรณ์) ที่ชวนมาขายเป็นที่แรกในช่วงโควิด-19 และเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่เป็นงานอดิเรกของคุณลุงบ้านบูรณ์  

นอกจากของกระจุกกระจิกทำมือจากเพื่อนแล้ว ตวงยังนำเข้าเครื่องเขียนสไตล์วินเทจจากต่างประเทศ ทั้งหมดนี้ทำให้เธอนิยามความเป็น Woot Woot จากแง่มุมที่เธอประทับใจในของวินเทจด้วยคำว่า nostalgia

“เวลาคนมาที่ร้านแล้ว ของวินเทจมักทำให้นึกถึงความทรงจำในอดีต บางทีสมาชิกครอบครัวสามเจเนอเรชั่น คุณตาคุณยาย คุณพ่อคุณแม่และรุ่นหลานมาด้วยกัน พอมาที่ร้านแล้วคุณตาคุณยายเห็นของที่รู้สึกเชื่อมโยงและนึกถึงเรื่องราวความทรงจำในอดีต เขาก็เล่าสตอรีของชิ้นนั้นให้หลานฟัง รู้สึกว่าสิ่งของชิ้นหนึ่งเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างวัยได้ เราว่าสตอรีเหล่านี้เป็นความพิเศษที่น่าสนใจ”

อยากเป็นตัวเองที่คลาสสิกมากกว่าวิ่งไล่ตามเทรนด์ 

เมื่อถามตวงและบาสว่ามีวิธีตามเทรนด์ของวินเทจยังไง ทั้งคู่ตอบอย่างใจตรงกันว่าอยากตั้งใจเลือกของที่ชอบและสื่อตัวตนของแบรนด์เป็นหลักมากกว่าตั้งใจตามเทรนด์หรือตามกระแส

ตวงมองว่าแม้บางช่วงจะมีสินค้าฮิตที่คนนิยมแต่ก็ไม่จำเป็นต้องตามเทรนด์เสมอไป “ถ้าตามกระแสทุกครั้งจะทำให้เหนื่อยและไม่มีคาแร็กเตอร์ของตัวเอง การมีจุดยืนที่ชัดเจนของตัวเองในการพรีเซนต์สินค้าทำให้เวลาคนเห็นในในโซเชียลมีเดียแล้วรู้เลยว่าสไตล์นี้คือ Woot Woot” 

ส่วนบาสมองว่าของวินเทจคือความคลาสสิกที่อยู่ได้เรื่อยๆ ความนิยมในสินค้ามีขึ้นและลงขึ้นอยู่กับว่าช่วงนั้นคนนิยมเล่นอะไรกัน ชิ้นที่ผู้คนชอบสะสมเยอะจะมีราคาแพง หากจำนวนผลิตน้อยและหาซื้อยาก ราคาจะยิ่งพุ่งสูงขึ้น ส่วนชิ้นไหนที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยม ราคาก็จะถูกลง แฟนคลับงานวินเทจนั้นมีความชอบจำเพาะของแต่ละคน การมีของหลายหมวดและแบ่งพื้นที่เป็นหลายโซนทำให้ตอบโจทย์ลูกค้าที่มีความชอบหลากหลาย

ทั้งนี้การไม่เน้นตามกระแสเทรนด์ไม่ได้แปลว่าแบรนด์หยุดนิ่งหรือไม่เสาะหาของใหม่ ทั้งคู่ต่างมีความชอบที่สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลาและหมั่นศึกษาเรื่องราวเบื้องหลังข้าวของแต่ละชิ้นเพิ่มเติมเพื่อเล่าสตอรีเหล่านั้นให้ลูกค้าฟัง 

สำหรับบาสการได้สัมผัสงานวินเทจอย่างลงลึกเหมือนได้เรียนประวัติศาสตร์ รายละเอียดเบื้องหลังของแต่ละชิ้นที่ไม่เหมือนกันทำให้ตกหลุมรักซ้ำๆ ในขณะที่ตวงก็ประทับใจเสน่ห์และสตอรีของแต่ละแบรนด์ที่ตั้งใจนําเสนอความพิเศษในแบบของตัวเอง  

จากวันแรกที่หลงใหลของวินเทจจนถึงวันนี้ เมื่อถามว่าการตกหลุมรักในสิ่งเดิมซ้ำๆ มันเป็นยังไง ความชอบในสิ่งเดิมที่ชอบมานานหลายปีเปลี่ยนไปยังไงบ้างไหม ทั้งคู่ต่างบอกว่าความชอบโดยพื้นฐานยังเหมือนเดิม ตวงบอกว่าทุกวันนี้ยังพบสิ่งที่ชอบเพิ่มขึ้นเวลาออกเดินทางแล้วเจอสิ่งที่น่าสนใจ 

“เราสองคนชอบเที่ยวญี่ปุ่นเพื่ออัพเดตสินค้าใหม่และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเดินทางเพราะญี่ปุ่นมีความเร็วเรื่องแฟชั่นวินเทจ พอเห็นอะไรน่าสนใจก็กลับมาศึกษาต่อ”

โกดังของหัวใจ

ตวงบอกว่าการตัดสินใจย้ายมาอยู่โกดังที่ใหญ่ขึ้นเป็นอีกสเตปหนึ่งของการเติบโตที่ทำให้ทั้งคู่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในการทำงานและรู้จักกันมากขึ้นทั้งในแง่พาร์ตเนอร์แบบคู่รักและธุรกิจซึ่งเป็นการรู้จักกันในคนละมุม

“ถ้าไม่ได้ทำธุรกิจด้วยกันจะไม่ได้รู้จักอีกฝ่ายในเรื่องการตัดสินใจ มุมมองเวลาต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า วิธีการดีลกับลูกค้า” 

ทั้งคู่บอกว่าแม้จะอยู่ในโกดังเดียวกันแต่สไตล์การทำงานและความชอบของแต่ละคนแตกต่างกันตั้งแต่สไตล์การจัดดิสเพลย์ในร้าน ความชอบในสินค้าคนละหมวด ไปจนถึงคาแร็กเตอร์และสิ่งที่แต่ละคนถนัด

สิ่งเล็กๆ ที่ต่างทำให้กันทุกวันคือการช่วยสนับสนุนกันทุกเรื่องในโกดังหลังใหญ่แห่งนี้ โดยตวงยกตัวอย่างให้ฟังว่า “เวลาได้เฟอร์นิเจอร์มาเพิ่มจะช่วยกันคิดว่าวางตรงไหนดี บางทีของขนาดใหญ่มาเพิ่มชิ้นหนึ่งก็ต้องจัดวางของใหม่ทั้งร้าน เป็นความสนุก หรือเวลาตู้ชิ้นหนึ่งขายไป ทุกอย่างก็ต้องถูกจัดใหม่หมดว่าอะไรจะขึ้นมาอยู่แทนที่เดิม เราจัดร้านใหม่กันเกือบทุกเดือน เวลาทำคอนเทนต์ออนไลน์ การถ่ายและตัดต่อวิดีโอก็จะช่วยกันทำ พี่บาสเป็นคนถ่าย เราเป็นฝ่ายตัดต่อ นามบัตรของทั้งสองแบรนด์และตู้โฟโต้บูทก็ช่วยกันออกแบบ”  

ทั้งนี้บาสบอกว่าแม้ Horse Unit และ Woot Woot มีความแตกต่างกันแต่มีความเชื่อมโยงกันอยู่

“ส่วนที่แยกกันชัดเจนคือชื่อแบรนด์และเพจในโซเชียลมีเดียเพราะแยกกันทําสินค้าคนละหมวด แต่มีกลุ่มลูกค้าที่ผสมกันและเชื่อมโยงกันอยู่ อย่างเคาน์เตอร์จ่ายเงินเราก็ใช้ร่วมกัน”

สำหรับคนที่ได้เจอกันทุกๆ เวลาตวงบอกว่า “เวลากลับบ้าน เราสองคนต้องมีช่วงเบรกที่หยุดพูดเรื่องงานก่อน ไม่คุยและคิดเรื่องงานตลอด 24 ชั่วโมง มีช่วงรีแลกซ์ ใช้ชีวิตและมีเวลาส่วนตัวของแต่ละคนบ้าง”  

เมื่อเป็นตัวของตัวเองจึงช่วยเติมเต็มกันและกันให้เป็นจักรวาลแห่งสมบัติที่กว้างใหญ่ขึ้น สร้างโกดังของหัวใจที่มีความหมาย รวมความหลงใหลในของวินเทจเป็นฝันเดียวกัน

Add to cart
6 สินค้าภูมิใจนำเสนอของ Horse Unit & Woot Woot 

Horse Unit :

  1. 1940s Vintage O.C. White Desk Lamp โคมไฟวินเทจปรับระดับได้จากอเมริกา 
  2. 1950s Coca Cola Vending Machine Cavalier CM-51V ตู้เย็นแช่โค้กที่ใช้งานได้จริง
  3. 3. Toledo Chair เก้าอี้โทเลโด เป็นเก้าอี้ที่นิยมใช้เขียนแบบในยุคก่อน 

Woot Woot : 

  1. Baan Boon’s Broom ไม้กวาดบ้านบูรณ์ ไอเทมที่คนนิยมซื้อ
  2. Printwood Stamp ตัวปั๊มแสตมป์รูปดอกไม้ ต้นไม้ สัตว์ ผีเสื้อ และอื่นๆ
  3. Ceramic from Mamo & Things เซรามิกที่ทุกชิ้นมีความพิเศษของตัวเอง

Writer

Craft Curator, Editor-in-Cheese, Chief Dream Weaver, Wicker Expressionist, Design Researcher, Entrepreneur Crybaby 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like