Home of The Monster

เส้นทางสู่ขวบปีที่ 70 ของก็อดซิลล่า ราชันสัตว์ประหลาด และผู้ให้กำเนิดนาม ‘โตโฮ สตูดิโอ’

เท่าที่จำความได้ในฐานะอดีตเด็กน้อยยุค 90s เมื่อตัวอักษรภาษาญี่ปุ่น ‘東宝’ ที่อ่านรวมกันว่า ‘โตโฮ’ ปรากฏขึ้น พร้อมกับแสงรัศมีเปล่งประกายเป็นฉากหลังบนจอโทรทัศน์ นั่นเปรียบเสมือนสัญญาณเตือนว่า อีกไม่กี่อึดใจจะต้องมีเสียงคำรามของราชันแห่งสัตว์ประหลาดอย่าง ‘ก็อดซิลล่า’ (Godzilla) ดังสนั่นกึกก้องตามมาให้ใจเต้นโครมคราม 

จากระบบฉายฟิล์มขาว-ดำสู่ระบบดิจิทัลภาพเสียงคมชัด ชื่อของโตโฮ สตูดิโอ (TOHO STUDIOS) ค่ายหนังเบอร์ต้นของประเทศญี่ปุ่น และแฟรนไชส์คู่บุญอย่างก็อดซิลล่า ได้ผูกโยงข้ามผ่านกาลเวลามายาวนานตลอด 70 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 1954 จนกลายเป็นหนึ่งในตำนานแห่งวงการภาพยนตร์โลก 

อีกนัยหนึ่ง ยังยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์แดนอาทิตย์อุทัยให้เป็นที่รู้จักต่ออารยประเทศ จากเทคนิคการถ่ายทำด้วยชุดยางสุดอลังการ จนกอบโกยรายได้ค่าลิขสิทธิ์มหาศาลจากการออกฉาย และส่งต่อคาแร็กเตอร์ราชันแห่งสัตว์ประหลาดตัวนี้สู่เงื้อมมือการผลิตโดยชาวอเมริกัน

แม้กระทั่งปัจจุบันที่วงการภาพยนตร์รุดหน้าไปไกล ชื่อของโตโฮ สตูดิโอและก็อดซิลล่าได้พิสูจน์ให้เห็นว่า พวกเขาไม่ได้หายไปไหน ไม่ได้เชยล้าสมัย และเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณในทุกๆ เฟรม การันตีผ่านรางวัลเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม ในเวทีรางวัลออสการ์ปี 2024 จากเรื่อง Godzilla Minus One

คอลัมน์ Biztory คราวนี้ ขอพาย้อนสำรวจหน้าประวัติศาสตร์ของโตโฮ สตูดิโอ และแฟรนไชส์ก็อดซิลล่า ที่เปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ประเทศญี่ปุ่นไปตลอดกาล

1. จุดเริ่มต้นของ ‘โตโฮ สตูดิโอ’ รากฐานสำคัญของวงการบันเทิงญี่ปุ่น

ก่อนอื่นต้องเกริ่นว่า ประวัติศาสตร์ของสตูดิโอที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศญี่ปุ่นนี้ มีที่มาที่ไปไม่ชัดเจนสักเท่าไหร่ แต่จากการเปิดเผยผ่านนิตยสารครบรอบ 78 ปี ของโตโฮ ระบุข้อมูลว่า บริษัท โตโฮ ก่อตั้งขึ้นในปี 1932 โดย อิจิโซ โคบายาชิ (Ichizō Kobayashi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ณ เวลานั้น และผู้ก่อตั้งโรงละครทาคาราซึกะ โตเกียว (Tokyo Takarazuka Theater) 

จุดประสงค์ในการสร้างบริษัทโตโฮนั้น ก็เพื่อสร้างสื่อบันเทิงด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทัดเทียมกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก หลังในปี 1927 ฟากฝั่งสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จจากการเปิดตัว The Jazz Singer ภาพยนตร์ขาว-ดำ ที่สามารถบันทึกเสียงเรื่องแรกของโลก นับว่าเป็นการพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลก จากเดิมที่ไม่สามารถบันทึกเสียงได้ในการถ่ายทำและต้องใช้เทคนิคพากย์เสียงแยกอีกที

ปรัชญาในการสร้างบริษัทโตโฮมีใจความสั้นๆ คือ ‘เพื่อมอบความบันเทิงที่สร้างแรงบันดาลใจแก่สาธารณชนในวงกว้าง’ ดังนั้น หัวใจสำคัญของบริษัทจึงเป็นลีลาการแสดงในรูปแบบละครเวที ผสมผสานกับเทคโนโลยีการถ่ายทำของบริษัท Photo Chemical Laboratories ซึ่งเป็นสตูดิโอโปรดักชั่นที่ผลิตภาพยนตร์เป็นเจ้าแรกๆ ในญี่ปุ่น ซึ่งภายหลังทั้งสองบริษัทได้ควบรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ผลงานเรื่องแรกของบริษัทโตโฮ คือ A Musical Comedy: Intoxicated Life (1932) ภาพยนตร์แนวโรแมนติกคอเมดี้ เกี่ยวกับความรักของหญิงสาวนักขายเบียร์ ที่มีบริษัทผู้ผลิตเบียร์เจ้าดังอย่าง ไดนิปปอนเบียร์ (Dai Nippon Beer) เป็นสปอนเซอร์สนับสนุนการถ่ายทำ ก่อนที่ในทศวรรษดังกล่าวจะมีภาพยนตร์ตามมาอีกกว่า 11 เรื่อง อย่าง Three Sisters with Maiden Hearts (1935), Princess Kaguya (1935), Enoken’s Ten Millions (1936), Tokyo Rhapsody (1936), Humanity and Paper Balloons (1937), Tojuro’s Love (1938) และ Chushingura (1939)

ถ้าพูดถึงสิ่งที่โตโฮแตกต่างจากบริษัทผู้ผลิตและโรงภาพยนตร์เจ้าอื่นๆ ที่มีอยู่ในประเทศญี่ปุ่น นั่นคือวิธีการทำมาร์เก็ตติ้งแบบกระจายผลงานสู่สายตาคนดูอย่างทั่วถึง ผ่านการกว้านซื้อโรงละครน้อย-ใหญ่เพื่อเพิ่มโอกาสฉายผลงานของโตโฮ และนั่นทำให้ผู้คนซึมซับวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ แบบเดียวกับที่เคยมีวัฒนธรรมการชมละครเวทีมาก่อน แน่นอนว่าวิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการแบบอาศัย ‘ทุนนิยม’ เข้าว่า แต่อิจิโซ โคบายาชิ มั่นใจว่านี่เป็นทางลัดที่จะทำให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแรง   

อิจิโซ โคบายาชิ ผู้ก่อตั้งบริษัท โตโฮ

2. การกำเนิดของ ‘ก็อดซิลล่า’ อสูรนิวเคลียร์ ที่ช่วยพลิกฟื้นโตโฮกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

หลังกลายเป็นบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่น โตโฮได้ดึงดูดคนมีฝีมือเข้าสู่สังกัดมากมาย โดยเฉพาะ โทโมยูกิ ทานากะ (Tomoyuki Tanaka) โปรดิวเซอร์มือทอง และอากิระ คุโรซาวะ (Akira Kurosawa) ผู้กำกับระดับบรมครู ที่เคยฝากผลงานการกำกับไว้ อย่าง Sanshiro Sugata (1943), The Most Beautiful (1944) และ The Men Who Tread on the Tiger’s Tail (1945) 

อย่างไรก็ตาม แม้โตโฮจะผลิตผลงานออกมาไม่ขาดสาย แต่ด้วยผลจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กินระยะเวลาเกือบ 7 ปี (1939-1945) ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ญี่ปุ่นซบเซาถึงขีดสุด ถึงขั้นที่สถานะการเงินของโตโฮ ณ เวลานั้นสั่นคลอนไม่น้อย

เพื่อกอบกู้โตโฮจากช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน โทโมยูกิ ทานากะ จึงผุดไอเดียสร้างหนังสัตว์ประหลาดยักษ์ หรือไคจู (Kaiju) ซึ่งไม่เคยมีค่ายหนังค่ายใดในประเทศญี่ปุ่นทำมาก่อน เพื่อตามรอยฝั่งสหรัฐฯ ที่ประสบความสำเร็จจากภาพยนตร์เรื่อง คิงคอง (King Kong) เมื่อปี 1933 แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ หนังสัตว์ประหลาดเรื่องนี้ต้องมีความสมจริง น่าสะพรึงกลัว และอิงกับบาดแผลความเจ็บปวดจากระเบิดนิวเคลียร์ อาวุธที่ฝั่งสหรัฐฯ นำมาใช้ปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2

โปรเจกต์ดังกล่าว โทโมยูกิ ทานากะ ได้ดึงตัว อิชิโระ ฮอนดะ (Ishirō Honda) มานั่งเก้าอี้ผู้กำกับ เสริมด้วย เอจิ สึบูรายะ (Eiji Tsuburaya) มาร่วมพัฒนาบทและออกแบบเทคนิคการถ่ายทำ ให้ต่างไปจากหนังสัตว์ประหลาดยักษ์ทั่วไปที่ส่วนใหญ่ยังใช้เทคนิคสต็อปโมชั่นเพื่อขยับร่างกายทีละเฟรม 

บทสรุปสุดท้าย พวกเขาตั้งชื่อสัตว์ประหลาดตัวดังกล่าวว่า โกจิระ (Gojira) ซึ่งมาจากการผสมคำระหว่าง โกะริระ (Gorira) ที่หมายถึงกอริลล่า และคุจิระ (Kujira) ที่หมายถึงปลาวาฬ โดยหน้าตาของมันถูกดีไซน์ให้มีลักษณะคล้ายไดโนเสาร์กินเนื้อ มีส่วนสูง 50 เมตร ผิวหนังสีดำหยาบกร้านคล้ายกับผิวหนังของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกัมมันตรังสี ตาขวาง เขี้ยวแหลมคม ครีบหลังคล้ายกับปะการัง และสามารถพ่นลมหายใจปรมาณูทำลายล้าง หรือ Atomic Breath ออกจากปาก  

ด้านเนื้อเรื่องนั้น โปรดิวเซอร์อย่างโทโมยูกิ ทานากะ ตั้งใจให้สอดคล้องกับเหตุการณ์จริงของลักกี้ดราก้อน หมายเลข 5 (Lucky Dragon No. 5) เรือประมงสัญชาติญี่ปุ่นที่ประสบอุบัติเหตุจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ บริเวณหมู่เกาะบิกินี จนทำให้ลูกเรือทั้ง 23 รายต้องประสบเคราะห์กรรมจากการถูกกัมมันตภาพรังสีแบบเฉียบพลัน (Acute Radiation Syndrome) เจ้าโกจิระเองก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีจนมีร่างกายผิดเพี้ยนเช่นกัน และตั้งใจขึ้นฝั่งกลับมาล้างบางมนุษย์ด้วยแรงอาฆาตพยาบาท

หน้าตาของก็อดซิลล่า เวอร์ชั่นปี 1954
ฮารุโอะ นากาจิม่า สตันท์แมนผู้สวมชุดก็อดซิลล่าเป็นคนแรก

แน่นอนว่าการที่เจ้าอสูรโกจิระได้รับคำวิจารณ์ในเชิงบวกล้นหลาม ไม่ได้แค่มาจากเนื้อเรื่องที่จริงจัง เพราะส่วนของสเปเชียลเอฟเฟกต์ที่ดูแลโดยเอจิ สึบูรายะ ก็ทำได้สมจริงกับการนำเทคนิค ‘ชุดยาง’ หรือที่ภายหลังถูกบัญญัติชื่อเรียกว่า ‘โทคุซัทสึ’ (Tokusatsu) มาใช้ โดยให้สตันท์แมนอย่าง ฮารุโอะ นากาจิม่า (Haruo Nakajima) สวมใส่ชุดเจ้าโกจิระที่มีน้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัม พลางเดินเหยียบย่ำบ้านเรือนจำลอง ท่ามกลางอุณหภูมิร้อนระอุภายในชุด (ต่อมา สึบูรายะนำเทคนิคชุดยางนี้ไปใช้กับแฟรนไชส์อุลตร้าแมนจนโด่งดัง และยังเป็นรากฐานสำคัญแก่วงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นจวบจนปัจจุบัน) 

ขณะที่ดนตรีประกอบและเสียงคำรามอันเป็นเอกลักษณ์ของโกจิระนั้นได้ อากิระ อิฟุคุเบะ (Akira Ifukube) ปรมาจารย์นักประพันธ์เพลง ที่เคยฝากผลงานชิ้นโบว์แดงจากภาพยนตร์เรื่อง Snow Trail ในปี 1947 มาเป็นผู้ออกแบบ และกลายเป็นเพลงประกอบคลาสสิกระดับตำนานในเวลาต่อมา

ซาวนด์แทร็กที่ใช้ประกอบภาพยนตร์ก็อดซิลล่าแทบทุกยุคสมัย โดย อากิระ อิฟุคุเบะ

3. ต่อยอดสู่มหกรรมมวยปล้ำสัตว์ประหลาด 

2 ปีต่อมาหลังออกฉายและประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ฟากฝั่งผู้ผลิตจากอเมริกาอย่าง Jewell Enterprises ได้ยื่นซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่อง โกจิระ ไปออกฉายในสหรัฐฯ ด้วยราคา 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยใช้ชื่อเรื่องว่า Godzilla: King of the Monsters! (1956) พร้อมปรับเปลี่ยนเนื้อหาความยาวจากเดิม 96 นาที ให้เหลือเพียง 86 นาที โดยลดทอนฉากสัญญะที่เกี่ยวกับระเบิดนิวเคลียร์จนเกือบหมด และเพิ่มฉากของสตีฟ มาร์ติน นักข่าวหนุ่มที่รับบทโดย เรย์มอนด์ เบอร์ (Raymond Burr) เป็นตัวเอกดำเนินเรื่องเข้าไปแทน

ด้วยเทคนิคการถ่ายทำชวนตื่นตาตื่นใจ นั่นทำให้กระแสของ Godzilla: King of the Monsters! ถูกพูดถึงปากต่อปาก ก่อนจะกวาดรายได้ในบอกซ์ออฟฟิศราว 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่โตโฮจะจำหน่ายภาพยนตร์เรื่องนี้ไปออกฉายในอีกหลายประเทศทั่วโลก 

แต่เหนือสิ่งอื่นใด การออกอาละวาดบนจอเงินบนผืนแผ่นดินลุงแซม ทำให้ชื่อเสียงของก็อดซิลล่าฮิตติดลมบน จนฝั่งบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ซื้อลิขสิทธิ์ไปต่อยอดสร้างเป็นสินค้าอื่นๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ของเล่น วิดีโอเกม และแอนิเมชั่นซีรีส์ที่ผลิตโดยสตูดิโอ ฮันนา-บาร์เบรา (Hanna-Barbera) ซึ่งออกฉายจำนวน 26 ตอนทางช่อง NBC ระหว่างปี 1978-1979 

ดังสุภาษิตที่ว่า ‘น้ำขึ้นให้รีบตัก’ ในเวลาต่อมาโตโฮเดินหน้าสร้างภาพยนตร์ของอสูรกายนิวเคลียร์ตัวนี้ตามออกมานับสิบๆ เรื่องในยุคโชวะ รวมไปถึงสร้างคาแร็กเตอร์อสูรกายระดับไอคอนิกอีกหลายตัว เช่น แองกิรัส สัตว์ประหลาดเกราะหนาม, คิงกิโดราห์ มังกรสามหัวอวกาศ, มอธร่า ผีเสื้อผู้พิทักษ์, โรแดน นกยักษ์ดึกดำบรรพ์, ไกแกน อสูรจักรกลจากต่างดาว ฯลฯ จนผู้คนขนานนามว่านี่เป็นยุคทองของวงการภาพยนตร์แนวโทคุซัทสึ

ภาพยนตร์ Godzilla: Ghidorah, the Three-Headed Monster
ภาพยนตร์ Godzilla vs. Mothra

อย่างไรก็ตาม ด้วยความตั้งใจของโตโฮที่มุ่งเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายคนดูที่เป็นเด็ก ทำให้เนื้อหาแฟรนไชส์ก็อดซิลล่าต่อจากปี 1954 กลายเป็นมหกรรมมวยปล้ำสัตว์ประหลาด เน้นต่อสู้เพื่อความบันเทิง และลบโทนซีเรียสออกไป ส่วนหน้าตาของก็อดซิลล่าแต่เดิมที่มีความน่ากลัวตามหนังสไตล์แนว terror ก็ถูกปรับแต่งให้ดูเป็นมิตรมากขึ้น ทั้งครีบหลังที่เล็กลง เขี้ยวแหลมคมที่หายไป ดวงตากลมโต และเปลี่ยนสถานะจากผู้รุกรานสู่ฮีโร่ผู้ปกป้องโลก

อิชิโระ ฮอนดะ ผู้ให้กำเนิดเทคนิคโทคุซัทสึ และก็อดซิลล่าในเวอร์ชั่นที่เป็นมิตรมากขึ้น

4. เมื่อถึงคราวขาลงจนนำไปสู่ก็อดซิลล่าเวอร์ชั่นอเมริกัน

ทว่าความนิยมของก็อดซิลล่าและผองเพื่อนสัตว์ประหลาดก็เดินมาถึงทางตัน เมื่อความนิยมในหนังสัตว์ยักษ์ถดถอยลง ชนิดที่ Godzilla: Terror of Mechagodzilla (1975) กวาดรายได้ไปเพียง 330 ล้านเยน หรือราว 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ติดลิสต์ภาพยนตร์ลำดับที่ 15 ที่ทำเงินน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ก็อดซิลล่ายุคโชวะ

ในที่สุดแฟรนไชส์ก็อดซิลล่าจึงห่างหายไปจากจอเงินเกือบ 10 ปี ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในปี 1984 ภายใต้ชื่อเรื่องว่า The Return of Godzilla ที่กลับมาดำเนินเรื่องในโทนจริงจังและอิงกับสภาวะตึงเครียดจากสงครามเย็นในขณะนั้น 

The Return of Godzilla นับเป็นการเปิดประตูจักรวาลอสูรนิวเคลียร์ยุคเฮเซอย่างเป็นทางการ โดยผลิตออกมาจำนวนทั้งสิ้น 7 เรื่อง และเป็นครั้งแรกที่จักรวาลก็อดซิลล่ามีการผูกโยงเนื้อเรื่องต่อกัน ซึ่งเรื่องสุดท้ายที่ทางโตโฮตั้งใจให้เป็นการปิดตำนานคือ Godzilla vs. Destoroyah ในปี 1995 ทั้งนี้ ก็เพื่อเปิดทางเจ้าอสูรนิวเคลียร์ไปโลดแล่นสู่โลกฮอลลีวูด ที่อยู่ภายใต้การพัฒนาดูแลโปรเจกต์โดยโซนี่ พิคเจอร์ส (Sony Picture) ก่อนจะคลอดออกมาในปี 1998 ด้วยทุนสร้างราว 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ภาพยนตร์เรื่อง The Return of Godzilla

แม้โปรเจกต์ก็อดซิลล่าฉบับฮอลลีวูดจะสามารถกวาดรายได้ทั่วโลกกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่แฟนเดนตายของเจ้าอสูรนิวเคลียร์กลับสาดเสียเทเสีย โซนี่ พิคเจอร์ส และผู้กำกับโรแลนด์ เอมเมอริช ในข้อหาไม่เคารพบทต้นฉบับ เพราะเปลี่ยนปูมหลังอันน่าเกรงขามของก็อดซิลล่าให้กลายเป็นกิ้งก่าอีกัวน่าอาบกัมมันตรังสี รวมไปถึงดีไซน์ที่ต่างออกไปสิ้นเชิง จนมันไม่ถูกนับรวมอยู่ในวงศาคณาญาติของก็อดซิลล่าและถูกเรียกว่าซิลล่า (Zilla) เท่านั้น 

ก็อดซิลล่าเวอร์ชั่นฮอลลีวูดของโซนี่ พิคเจอร์ส

ฟากโตโฮที่เห็นท่าไม่ดีจึงเปลี่ยนแผน จากเดิมที่จะหยุดผลิตภาพยนตร์เกี่ยวกับก็อดซิลล่าไปจนถึงปี 2005 จึงนำกลับมาทำต่อทันที โชโงะ โทมิยามะ (Shōgo Tomiyama) โปรดิวเซอร์ของโตโฮ ณ เวลานั้นได้ดึงตัว ทาคาโอะ โอกาวาระ (Takao Okawara) กลับมาเป็นผู้กำกับ ซึ่งโชโงะได้นำเทคนิคการถ่ายทำแบบโทคุซัทสึมาผสมผสานกับคอมพิวเตอร์กราฟิก (CGI) ที่กำลังมาแรง และได้ ยูจิ ซาไก (Yuji Sakai) ศิลปินชื่อดังมาดีไซน์ยกเครื่องหน้าตาเจ้าก็อดซิลล่า ก่อนจะออกฉายในชื่อเรื่องว่า Godzilla 2000: Millennium (แต่ออกฉายในปี 1999) 

5. รุ่งอรุณแห่งราชันสัตว์ประหลาด ในฐานะโปรดักต์สำคัญที่ทำให้โตโฮยืนหยัดถึงทุกวันนี้

นับตั้งแต่เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แฟรนไชส์ก็อดซิลล่ายังคงวนเวียนอยู่บนจอเงินแบบไปๆ มาๆ แต่ไม่ดังเปรี้ยงปร้างเท่าเดิม โตโฮผลิตภาพยนตร์ Godzilla: Final Wars ในปี 2004 ก่อนจะทิ้งช่วงหายไปอย่างยาวนาน เพื่อหันไปผลักดันในส่วนของขาธุรกิจอื่นๆ ในเครือ

คาแร็กเตอร์ก็อดซิลล่ากลับมาปรากฏตัวอีกครั้งในปี 2014 ทว่าไม่ใช่ในนามการสร้างของโตโฮ แต่เป็นสตูดิโอเลเจนดารี่ พิคเจอร์ส (Legendary Pictures) ที่อยู่ภายใต้บริษัทวอร์เนอร์บราเธอส์เอ็นเทอร์เทนเมนต์ (Warner Bros. Entertainment Inc.) และสานต่อจนกลายเป็นจักรวาลมอนสเตอร์เวิร์สถึงปัจจุบัน

ในที่สุดปี 2016 โตโฮก็นำก็อดซิลล่าปัดฝุ่นกลับมาทำอีกครั้ง หลังปล่อยให้ฝั่งฮอลลีวูดเดินหน้าสร้างจักรวาลของตัวเอง การกลับมาครั้งนี้มีชื่อเรื่องว่า Shin Godzilla หรือ Godzilla: Resurgence ที่กำกับโดย ฮิเดอากิ อันโนะ (Hideaki Anno) ในเนื้อหาที่ตีความก็อดซิลล่าในฐานะภัยพิบัติทางธรรมชาติ คล้ายกับเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิในปี 2011 ควบคู่กับการจิกกัดวิธีการทำงานของรัฐบาลตลอดทั้งเรื่อง

ภาพยนตร์เรื่อง Shin Godzilla

ในปี 2023 โตโฮก็ได้ปล่อยภาพยนตร์เรื่อง Godzilla Minus One ที่กำกับโดย ทากาชิ ยามาซากิ (Takashi Yamazaki) โดยมีแก่นของเรื่องคล้ายกับก็อดซิลล่าฉบับปี 1954 ที่เล่าถึงความสูญเสียของชาวญี่ปุ่นจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และตราบาปของมนุษย์จากการใช้อาวุธนิวเคลียร์เข้าห้ำหั่นกัน 

หนึ่งในฉากที่เป็นภาพจำจาก Godzilla Minus One

การย้อนกลับสู่รากเหง้าต้นกำเนิดของราชันสัตว์ประหลาดครั้งนี้ นอกเสียจากจะเรียกชื่อเสียงของโตโฮกลับมาอีกครั้ง ขณะเดียวกันก็ยังเป็นครั้งแรกที่แฟรนไชส์ก็อดซิลล่าก้าวไปถึงรางวัลเวทีออสการ์ ในสาขาเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม (Best Visual Effects) ด้วยต้นทุนถ่ายทำเพียง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น อีกทั้งเป็นครั้งแรกที่ตัวก็อดซิลล่าถูกสร้างจากเทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟิกตลอดทั้งเรื่อง ต่างจากเดิมที่ใช้เทคนิคชุดยางหรือหุ่นเชิด (Animatronics)

นอกจากตัวเลขรายได้จำนวน 102 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกหนึ่งสถิติที่บ่งชี้ว่า Godzilla Minus One ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก คือการที่เว็บไซต์ TorrentFreak ออกมาเผยสถิติว่า Godzilla Minus One ขึ้นแท่นภาพยนตร์ที่มีการดาวน์โหลดผิดกฎหมายสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกในต้นปี 2024 เพราะทางโตโฮตัดสินใจออกฉายแค่ในประเทศตัวเอง รวมถึงสหรัฐฯ และทวีปยุโรปบางประเทศ 

ส่วนชาวเอเชียได้แต่ตั้งหน้าตั้งตาคอย ก่อนจะมีการปล่อยฉายทางแพลตฟอร์มสตรีมมิงเน็ตฟลิกซ์เมื่อต้นเดือนมิถุนายน แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไร้สาเหตุที่แน่ชัดว่าเหตุใดจึงมีการล็อกโซนฉาย บางกระแสก็ว่าอาจกระทบต่อความรู้สึกของชาติที่ได้รับผลกระทบจากไฟสงครามในอดีต บางเหตุผลก็ว่าเป็นเพราะเหตุผลด้านธุรกิจ แต่สุดท้ายเวลานี้ผู้คนทั่วทั้งโลกก็น่าจะได้ดูภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวแล้ว

ณ ตอนนี้จึงกล้าพูดได้เต็มปากว่า นี่คือช่วงเวลาแห่งรุ่งอรุณของราชันสัตว์ประหลาดตัวนี้อย่างแท้จริง และเป็นบทพิสูจน์ว่า ต่อให้อาณาจักรโตโฮจะยกระดับยิ่งใหญ่เพียงใด แต่หน้าประวัติศาสตร์จะต้องมีชื่อของก็อดซิลล่าเคียงข้างอยู่ด้วยเสมอ ไม่ใช่แค่ในฐานะสินค้าทำเงิน แต่เป็นจิตวิญญาณและป๊อปคัลเจอร์ที่มิอาจประเมินมูลค่าได้

อ้างอิง

Tagged:

Writer

นักเขียนผู้หลงใหลโลกของฟุตบอล สนีกเกอร์ และกันพลา

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like