นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

What’s NEXT for Lifestyle & Consumer Behavior

วิเคราะห์ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในโลกธุรกิจจากพฤติกรรมผู้บริโภคปี 2024 กับ FutureTales LAB

อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน ผู้ประกอบการหลายคนรู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว แต่จะดีกว่าไหมหากเราในฐานะคนทำธุรกิจสังเกตเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงก่อนเพื่อให้เราสามารถปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยง หรือคว้าโอกาสก่อนล่วงหน้า

สำหรับคนทำธุรกิจ เทรนด์ไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมผู้บริโภคคือสิ่งที่หลายคนให้ความสนใจติดตามอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือข้อมูลจาก FutureTales LAB ศูนย์วิจัยอนาคตที่เผยแพร่งานวิจัยและบทวิเคราะห์เทรนด์ใหม่ๆ สู่สาธารณะอยู่เสมอ

สำหรับใครที่ไม่รู้จักพวกเขา ขอแนะนำอย่างย่นย่อว่า FutureTales LAB คือศูนย์วิจัยอนาคตภายใต้บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เชื่อว่าทุกสรรพสิ่งในโลกสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน (For All Well-Being) งานของ FutureTales LAB จึงเป็นทั้งนักวิจัยที่เฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้คำปรึกษาในการออกแบบและเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์ และเป็นแพลตฟอร์มสาธารณะที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอนาคต เพื่อเผยแพร่ให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชนนำไปใช้ประโยชน์ได้  

การมองอนาคตของพวกเขาไม่ได้ใช้เพียงการพยากรณ์โดยตัวเลข (forecast) เท่านั้น แต่ยังใช้กระบวนการคาดการณ์อนาคต (foresight) อย่างเป็นระบบเป็นเครื่องมือเพื่อวิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยงในการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ณัฐวุฒิ กุลแก้ว นักวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต FutureTales LAB บอกกับเราว่า หลักที่นักอนาคตศาสตร์ (futurist) ใช้คือการยอมรับว่าอนาคตมีความไม่แน่นอน มีความเป็นไปได้หลายรูปแบบ 

สิ่งที่ FutureTales LAB ทำคือการจับสัญญาณหรือการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ทั้งจากเหตุการณ์ วิจัย และข่าวรอบโลกจากแพลตฟอร์มข้อมูลที่มี มองเห็นการเชื่อมโยงสัญญาณเหล่านี้ในอดีตกับปัจจุบัน หากกลุ่มสัญญาณมีรูปแบบและแนวโน้มในการกำหนดทิศทางอนาคต พวกเขาจะเรียกว่า ‘เทรนด์’ และหากผ่านเวลาไปแล้ว ผู้บริโภคเปลี่ยนมุมมอง ภาคธุรกิจปรับกลยุทธ์ และภาครัฐประกาศนโยบาย มันกลายเป็น ‘เมกะเทรนด์’ ทั้งนี้ทีมนักวิจัยจะต้องมีการตรวจสอบและติดตามทั้งภายในทีมและร่วมกับผู้เชี่ยวชาญอยู่เสมอว่าสัญญาณและเทรนด์ใดเด่นชัดมากขึ้น อ่อนลง หรือมีสิ่งใดเกิดขึ้นใหม่ และจะมีนัยที่ส่งผลต่ออนาคตอย่างไรบ้าง

“เวลาที่นักอนาคตศาสตร์คุยกัน เราไม่ได้จะมองแต่เพียงว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง แต่เราพยายามทำความเข้าใจมัน เราพิจารณาข้อมูล แนวโน้ม และปัจจัยที่ไม่แน่นอนว่า อนาคตแต่ละแบบกำลังนำไปสู่โอกาสและความเสี่ยงอย่างไร สิ่งสำคัญจึงเป็นการนำเทรนด์และภาพอนาคตไปใช้งานเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับองค์กร ” เขาบอก

เทรนด์และพฤติกรรมผู้บริโภคในปี 2024 จะเคลื่อนไปในทิศทางไหน นั่นคือเหตุผลที่บ่ายวันนี้ เราหอบความสงสัยทั้งหมดมาหาคำตอบกับณัฐวุฒิ

บทเรียน แผลใจ และ Game Changer จากปี 2023

โดยปกตินักอนาคตศาสตร์ที่ FutureTales LAB มักมองอนาคตผ่าน 6 มิติ ได้แก่ สังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม นโยบาย และค่านิยม หากให้วิเคราะห์ถึงไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมของลูกค้า ณัฐวุฒิจัดว่าเป็นมิติของสังคมและค่านิยมของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป 

ก่อนจะทำความเข้าใจปี 2024 ณัฐวุฒิชวนคิดถึงการทำความเข้าใจทศวรรษ 2020-2030 กันก่อน ทีมนักวิจัยตั้งชื่อทศวรรษนี้ว่า The Great Reset หรือการรีเซตครั้งใหญ่ หลังจากโควิด-19 ระบาดและส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลก ทุกคนคิดใหม่ ทำใหม่ ในทุกมิติของชีวิต

หลังโควิดเป็นต้นมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2023 เป็นช่วงเวลาที่คนทำธุรกิจปรับตัวและเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ผู้ประกอบการหลายคนต้องการลุกขึ้นมายืนให้ได้ด้วยตัวเอง เราสังเกตเห็นวัฒนธรรมการเตรียมความพร้อมเด่นชัดมากขึ้นในสังคมไทย เราได้พบทั้งบทเรียน แผลใจ หมากพลิกเกม (game changer) และประเด็นอื่นๆ ที่ต้องจับตามองกันต่อไป ซึ่งเราขอสรุปมาให้ฟังดังต่อไปนี้

  • โควิดทำให้คนไทยพยายามพึ่งพาตัวเอง และมองอนาคตข้างหน้ามากขึ้น หนึ่งในตัวอย่างนั้นคือการหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ ผลสำรวจล่าสุดระบุว่า 93% ของคนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพเป็นอันดับหนึ่ง มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
  • 58% ของคนไทยใช้อุปกรณ์ติดตามข้อมูลสุขภาพ แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีการเปลี่ยนความคิดจากการมาหาหมอหลังป่วยเป็นการหาทางป้องกันไม่ให้ป่วยมากขึ้น
  • ในปี 2024 การดูแลสุขภาพคงจะถูกยกระดับขึ้นไปอีกเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ที่น่าสนใจ คือเราสังเกตเห็นการกระจายบริการสุขภาพจากโรงพยาบาลใหญ่ออกไป ในช่วงปี 2020-2023 มีคลินิกและโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้น 150% ทั้งยังมีคลินิกขนาดเล็กไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั้งในห้างสรรพสินค้าและชุมชน เช่นเดียวกับเรื่อง Telemedicine และ self-care delivery ที่จะพัฒนาขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัย ‘อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576’ ที่ทีม FutureTales LAB เคยศึกษาไว้ และงานวิจัย ‘อนาคตสุขภาพและสุขภาวะสังคมไทย พ.ศ. 2576’ ที่พวกเขากำลังจะเผยแพร่ในปีนี้
  • คนทั่วโลกใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น 32.5% จากช่วงโควิด ทำให้ปัจจุบันมีคน 8.1 พันล้านคนหรือ 65% ใช้อินเทอร์เน็ต และเป็นที่น่าสนใจมากว่าคนไทยได้รับการจัดอันดับโดย IMD ให้มีความสามารถในการแข่งขันดิจิทัลเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 40 เป็นอันดับที่ 35 และกลายเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนระหว่างปี 2022-2023 และเราติดอันดับประเทศที่ใช้งานโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ กระเป๋าเงินคริปโต และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ 1-5 อันดับแรกอยู่เสมอ
  • นอกจากโควิดจะทำให้คนหันมาสนใจสุขภาพและใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น อีกหนึ่งปรากฏการณ์จาก ‘แผลใจ’ ที่เราต่างประสบจากโควิดคือ การถูกพรากโอกาสในการมีประสบการณ์ชีวิตบางอย่างไป เพราะฉะนั้น experience economy หรือประสบการณ์ใดก็ตามที่ช่วยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจะยิ่งเป็นที่นิยมมากขึ้น
  • หากมองในด้านการท่องเที่ยว เราเห็นปรากฏการณ์เที่ยวล้างแค้น (revenge travel) ซึ่งถือเป็นเรื่องดีสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด และคาดว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวจะกลับมาใกล้เคียงปกติมากขึ้นในปี 2024 และน่าจับตาดูการท่องเที่ยวในกลุ่มเมืองรองเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม จากนโยบายของประเทศจีนที่ต้องการให้คนจีนเที่ยวภายในประเทศเป็นหลัก ปี 2024 อาจเป็นปีที่ผู้ประกอบการในไทยได้มีโอกาสทบทวนกลุ่มเป้าหมายหลักอีกครั้ง เช่นนักท่องเที่ยวภายในประเทศหรือนักท่องเที่ยวจากอาเซียนด้วยกันเอง
  • ปี 2023 เป็นปีที่ธุรกิจต่างๆ ออกสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่น้อย แต่ที่โดดเด่นกว่าคือบริการที่ช่วยสร้างประสบการณ์ เราได้เห็นการสร้างประสบการณ์ที่ทำได้จากที่บ้าน เช่น แอพพลิเคชั่นโยคะ Virtual Fitness ทำสมาธิ เป็นต้น ในปี 2024 มองว่าจะเห็นความสมดุลของการออกผลิตภัณฑ์และบริการมากขึ้น
  • Experience Economy จะไม่ได้จำกัดอยู่แค่เทคโนโลยี VR / AR ที่ตอบโจทย์การมองเห็น งานวิจัยโดย Ericsson คาดการณ์ว่า Internet of Senses หรือการรับประสบการณ์ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 อาจเกิดขึ้นได้จริง ดังที่เห็นกรณีศึกษาและการทดลอง เช่น การสังเคราะห์กลิ่น ตะเกียบเพิ่มรสเค็มในอาหาร ชุดสำหรับสวมใส่เพื่อรับรู้สัมผัสและอุณหภูมิจากในแพลตฟอร์มโลกเสมือน เป็นต้น
  • ถึงแม้คำว่า Metaverse อาจจะเลือนหายไป (และอาจกลับมาเมื่อระบบโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และตลาดพร้อม) แต่แนวคิดเรื่อง extended reality และการผสมผสานประสบการณ์โลกจริงกับโลกเสมือนยังคงอยู่ ปี 2024 จะเป็นปีที่เราเฝ้าจับสังเกตการปล่อยผลิตภัณฑ์ บริการ หรือโมเดลธุรกิจที่ยกระดับประสบการณ์ที่เข้ามามีผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนอย่างแท้จริง เช่น การทำ digital twin สำหรับการออกแบบ ติดตาม และควบคุมการดำเนินการภายในอาคาร ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังสร้างอาคารเสร็จ เป็นต้น
  • เทคโนโลยีจะยังเป็น game changer ที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ ปีที่ผ่านมามีการศึกษา วิเคราะห์ และคาดการณ์ศักยภาพของ AI จนตระหนักแล้วว่ามันทำอะไรได้บ้างและเริ่มวางแผนเกี่ยวกับ AI ปีนี้คงจะเป็นปีที่หลายองค์กรเริ่มดำเนินการเพื่อยกระดับองค์กร ระบบการทำงาน สิ่งแวดล้อมการทำงาน และการจัดการแรงงานใหม่ แน่นอนว่าผู้บริโภคเองก็คาดหวังว่าผลิตภัณฑ์และบริการในตลาดจะเข้าใจความต้องการ สามารถตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลแบบยิ่งยวด (hyper-personalization) และทำให้ชีวิตของพวกเขาสะดวกสบายมากขึ้น FutureTales LAB มองว่า AI จะเป็นทั้งเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพงาน เพื่อนคู่คิด เครื่องมือบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์และคู่ค้า
  • โควิดทำให้คนทั่วไปรู้จักวัคซีนจาก mRNA แต่เทคโนโลยีชีวภาพ โอมิกส์ และพันธุวิศวกรรมเป็นสิ่งที่หลายประเทศเริ่มลงทุนมาพักใหญ่แล้ว เช่นเดียวกับเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมอย่างการดักจับและใช้ประโยชน์จากมลพิษคาร์บอน เทคโนโลยีควอนตัม และเทคโนโลยีอวกาศ แม้ว่าบทบาทของประเทศไทยในปัจจุบันอาจยังไม่ใช่ผู้นำในเทคโนโลยีเหล่านี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผลิตภัณฑ์และบริการจากเทคโนโลยีดังกล่าวจะไม่ได้เข้ามาส่งผลกระทบต่อชีวิตคนไทย และหากมองไกลกว่านั้น เทคโนโลยีเหล่านี้ยังขาดแรงงานเข้ามาเติมเต็ม ปัจจุบันมีบุคลากรที่มีความสามารถทำงานเหล่านี้น้อยมาก จากข้อมูลที่มี ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้เชี่ยวชาญด้าน BioTech เพียง 1,600 คนเท่านั้น ในขณะที่ผลสำรวจของ LinkedIn ในช่วงปี 2015-2021 พบว่ามีความต้องการผู้มีทักษะด้านความยั่งยืนเพิ่มขึ้นถึง 38.5% แต่ทั่วโลกกลับมีผู้มีความสามารถดังกล่าวเพียง 13% 
  • จะเห็นได้ว่าแม้เทคโนโลยีจะเป็น game changer เพราะสามารถเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนไป แต่ยังต้องอาศัยระยะเวลาและการลงมือทำอย่างจริงจัง หากมองกรณีศึกษา เช่น ญี่ปุ่นที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อน หรือกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) ที่กำลังโดดเด่นขึ้นมาในตอนนี้ จะพบว่ายังมีอีกหลายเรื่องมากที่ต้องพูดคุยเกี่ยวกับเทคโนโลยี ทั้งการพัฒนา การกำกับดูแลและจริยธรรม และการนำไปใช้งานต่อยอด
  • ปี 2023 เป็นปีที่คนทำธุรกิจหลายคนจำเป็นต้องลดทุนและการใช้เงินลง ขณะที่ภาคประชาชนก็มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นขึ้นมา ซึ่งบางครั้งเป็นค่าใช้จ่ายที่เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าต้องจ่าย และบางครั้งอาจไม่ใช่ในรูปแบบเงินตรา แต่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่เรามอบให้ผู้อื่น
  • ธุรกิจบางประเภทที่ยึดการทำธุรกิจแบบดั้งเดิมจำเป็นต้องปรับตัว และหากปรับตัวไม่ได้ก็อาจถูกกดดันจนต้องล้มหายตายจากไป อีกประเด็นที่ควรระมัดระวังคือ หลายธุรกิจพยายามเป็นผู้นำโดยการเอาเทคโนโลยีล่าสุดมาใช้ โดยไม่รู้ว่าเหมาะสมกับธุรกิจจริงหรือเปล่า

สิ่งที่น่าจับตามองในปี 2024

เมื่อสนทนากันถึงเรื่องไลฟ์สไตล์และผู้บริโภค เราคงต้องพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องก่อน อย่างไรก็ตาม FutureTales LAB เน้นย้ำว่าไม่อยากให้ผู้ประกอบการละเลยหรือมองข้ามประเด็นอื่นที่จะเข้ามาส่งผลกระทบในทางอ้อมเช่นกัน

  • การจับจ่ายใช้สอยของคนไทยในปี 2024 จะถูกกำหนดโดยสภาพเศรษฐกิจเป็นหลัก แม้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้นจาก 2.5% ในปี 2023 เป็น 3.4% แต่ยังถือว่าเติบโตน้อยกว่าประเทศอื่น และอาจไม่มากพอให้คนไทยกล้าควักกระเป๋าใช้จ่ายอย่างใจป้ำ ยิ่งประกอบกับการพิจารณาหนี้ครัวเรือนในปี 2023 ซึ่งสูงถึง 90-91% ของ GDP ก็ยิ่งน่าเป็นกังวล ผู้ประกอบการยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่น เช่น การคงอัตราดอกเบี้ยที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 2.5% ตลอดปี อัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 2.6% เป็นต้น ทั้งนี้ต้องติดตามนโยบายรัฐและแรงกดดันฝั่งอุปทานโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เช่น เอลนีโญ เป็นต้น 
  • หมากพลิกเกมตัวสำคัญที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคและระบบเศรษฐกิจไทยในปี 2024 คงเป็นโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งมีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นจนได้ แต่หากประสบความสำเร็จ จะเป็นการอัดฉีดเงิน 3 แสนล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เกิดการออกมาใช้จ่าย และคาดว่าจะสามารถยกระดับ GDP เพิ่มขึ้นอีก 1.5-2% ซึ่งมากกว่าการเติบโตเฉลี่ยในรอบ 10 ปีของไทย ขณะเดียวกันก็มีข้อกังวลอีกมากที่จะตามมา เช่น หนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้น เป็นต้น จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
  • นอกจากนี้ อยากให้ผู้ประกอบการจับตาเรื่อง ภูมิรัฐศาสตร์และสงครามอย่างใกล้ชิด ทั้งการเลือกตั้งกว่า 70 ที่รอบโลก เช่น ไต้หวัน สหราชอาณาจักร อินเดีย อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา เป็นต้น และประเด็นเรื่องสงคราม เช่น ยูเครน-รัสเซีย, อิสราเอล-ฮามาส, เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การกีดกันทางการค้า กำแพงภาษี และเส้นทางห่วงโซ่อุปทานที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจของคุณแล้ว อยากให้จับตามองการอพยพของกลุ่มผู้มีรายได้สูงหรือนักลงทุน (high-net-worth Individual) ที่อาจโยกย้ายมาพำนักในประเทศไทยและกลายเป็นคู่ค้ากลุ่มใหม่ ดังเช่นในปี 2022 ที่มีการอพยพของเศรษฐีจำนวนมากกว่า 88,000 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากรัสเซียและจีนไปยังประเทศอื่น หากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นอีกครั้ง ภาคธุรกิจจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร และจะบริหารความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่อย่างไร
  • อีกประเด็นที่ต้องพูดคุยอย่างจริงจังคือ การดำเนินธุรกิจและการจัดการแบรนด์ให้สอดคล้องกับค่านิยมของผู้บริโภค ผู้บริโภค 87% ยินดีจะสนับสนุนแบรนด์ที่มีความเชื่อและผลักดันประเด็นทางสังคมเดียวกันกับพวกเขา ในขณะที่มีคนไทย 28% ประกาศชัดว่าจะบอยคอตแบรนด์ที่ไม่มีจริยธรรมอย่างจริงจัง ทุกวันนี้ผู้บริโภคมีความตระหนักรู้ประเด็นทางสังคมมากขึ้น มีการตรวจสอบแบรนด์ที่ไม่ได้ดูแลสิ่งแวดล้อมจริง (greenwashing) ไม่ได้สนับสนุนกลุ่มผู้มีความหลากหลายอย่างแท้จริง (rainbow-washing) มีการรวบรวมรายชื่อและรณรงค์ให้ผู้บริโภคด้วยกันเองไม่สนับสนุนแบรนด์ที่เป็นแหล่งที่มาทางการเงินของการก่อสงคราม เพราะฉะนั้นนับจากปี 2024 เป็นต้นไป องค์กรและธุรกิจที่มีความคิดต้องการเติบโตหรือเป็นที่ยอมรับในสังคมวงกว้างจะต้องพูดจริงทำจริง หยุดการทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่ฉาบฉวยและไม่โปร่งใส และต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบของการตัดสินใจและการดำเนินธุรกิจของตนเองต่อสังคมในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพียงในกรอบระยะเวลาสั้น ๆ แต่ต้องมองไปถึงผลกระทบในระยะยาว
  • ถ้าถามว่าธุรกิจอะไรน่าลงทุนในปีนี้และปีถัดไป คำตอบที่เรียบง่ายคือธุรกิจที่สามารถแก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตและประสบการณ์ให้กับผู้คนได้ ในระดับเล็กเราสังเกตเห็นการเกิดขึ้นและเติบโตของอาชีพแปลกใหม่ (odd jobs) มากขึ้น หลายสิบปีก่อนตัวอย่างอาจเป็นติวเตอร์สอนพิเศษ ที่ปัจจุบันกลายเป็นตลาดขนาดใหญ่และสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายประการ ปัจจุบันและในอนาคตก็เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น งานรับจ้างกินเจ พาสัตว์เลี้ยงไปเดินเล่น รับจ้างเป็นคู่ควงออกงานในโอกาสสำคัญ อย่างวันรวมญาติ งานเลี้ยงเชิงธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งแพลตฟอร์มหางานในไทยยังไม่มีอาชีพเหล่านี้ นอกจากนี้ ในภาพใหญ่เรากำลังจับตามองการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญขึ้นไปและสามารถกลับมาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน เช่น ระบบฐานข้อมูลเพื่อคาดการณ์ภัยพิบัติอย่าง Urban Hazard Studio 
  • หากผู้ประกอบการจะเรียนรู้อะไรจากเทรนด์เหล่านี้ ณัฐวุฒิให้ความเห็นว่า เรากำลังอยู่ในยุคแห่งความท้าทายและไม่แน่นอน การเรียนรู้และปรับตัวเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ทั้งสำหรับบุคคลและในฐานะองค์กร วิธีการหรือแนวคิดที่เคยใช้ได้ผลในอดีตอาจไม่ประสบความสำเร็จเหมือนเดิมในปัจจุบัน และอาจไม่สามารถนำองค์กรไปสู่อนาคตที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้ สิ่งที่ผู้ประกอบการควรมีคือการครุ่นคิดถึงอนาคตอยู่เสมอ โดยไม่ตื่นตระหนกหรือหวาดกลัว แต่เป็นการพิจารณาความเป็นไปได้เพื่อหาแนวทางการรับมือ และเพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ยังไม่ถูกเขียนขึ้น อนาคตจึงมีทั้งความเสี่ยง ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาส ไม่ใช่สำหรับผู้ที่มองเห็นแล้ววางเฉย แต่อนาคตที่ดีเป็นของผู้ที่ลงมือทำอย่างรอบคอบในปัจจุบัน

Writer

นักอยากเขียนผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

ช่างภาพและ baker ฝึกหัด

You Might Also Like