Impact Investing of Venture Capital
Disrupt Health Impact Fund กองทุนไทยด้าน HealthTech ที่อยากเซฟชีวิตผู้ป่วยหลักร้อยล้านคน
ในแวดวงสตาร์ทอัพไทย หลายคนน่าจะรู้จัก ‘ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์’ (Disrupt) ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำกองทุน Venture Capital ซึ่งก่อนหน้านี้มุ่งเน้นลงทุนในสตาร์ทอัพหมวดการศึกษาและธุรกิจหมวดอื่น ๆ มาก่อน
ปีนี้นับเป็นก้าวสำคัญก้าวใหม่ของทีม Disrupt ที่ก่อตั้งกองทุนใหม่ในชื่อ Disrupt Health Impact Fund ซึ่งมุ่งลงทุนในหมวดเฮลท์แคร์โดยเฉพาะ ทั้งนี้เพราะทีมบริหารอย่างกระทิง พูนผล ประธาน Disrupt Technology Venture, ยุ้ย–จันทนารักษ์ ถือแก้ว กรรมการผู้จัดการ Disrupt Technology Venture และแพท–ณรัณภัสสร์ ฐิติพัทธกุล Fund Partner ของ Disrupt Health Impact Fund มองว่าอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์กำลังเติบโตอยู่ในช่วงขาขึ้นและจะเป็นเมกะเทรนด์ใหญ่อันดับ 3 ของโลกภายในปี 2043 รองจากอุตสาหกรรมหมวดพลังงานและการเงิน
ในโอกาสที่กองทุนเพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน เราขอชวนทีมผู้บริหารซึ่งนำทัพโดยกระทิงมาเล่าถึงนวัตกรรมแห่งอนาคตให้ฟังว่าทำไมการลงทุนใน HealthTech ถึงเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ทั้งในแง่การสร้างอิมแพกต์ที่ตอบโจทย์เทรนด์อนาคต การผลักดันประเทศไทยให้เป็น medical hub ไปจนถึงเรื่องราวประสบการณ์เจ็บไข้ได้ป่วยของครอบครัวที่ทำให้รู้สึกว่าแค่รักษาชีวิตได้เพิ่มอีกหนึ่งคนก็สามารถขยายผลการสร้างอิมแพกต์ได้ถึงหลักร้อยล้านคน
Save One More Life
กระทิงทำกองทุนมาหลายกองทุน แต่จุดตั้งต้นที่ทำให้เขาสนใจกองทุนด้านสุขภาพคือปัญหาสุขภาพส่วนตัวของตนเองและครอบครัว
“ผมเองก็มีทั้งความดันโลหิตสูง มีน้ำตาลสูงจนใกล้เป็นเบาหวาน แล้วก็มีปัญหาสุขภาพทางต่อมลูกหมากอีก ที่บ้านของผมป่วยเป็นโรคตับกันตลอด คุณพ่อผมเป็นตับแข็งและมะเร็งตับ ต้องรักษาด้วยการเจาะน้ำออก ผมไปนั่งเฝ้าเขาที่ห้องไอซียู 2 ปี จนสุดท้ายต้องรอเปลี่ยนตับ
“แม้กระทั่งคุณแม่ก็หยุดหายใจ 6 ครั้งในชีวิตจากหอบหืด มีอยู่ครั้งหนึ่งตัวม่วงเลย ผมกับน้องชายต้องอุ้มแล้วพาไปเสียบออกซิเจน แต่ก่อนหมอบอกเลยว่าคุณแม่ผมขึ้นเครื่องบินไม่ได้ แต่ความฝันชั่วชีวิตของคุณแม่เป็นเรื่องเล็กมาก คืออยากบินไปอิตาลีเพราะแม่ผมชอบศิลปะ เขาแค่อยากเห็นหอเอนเมืองปิซา จนสุดท้ายคุณพ่อคุณแม่ผมได้รับการรักษาที่ดีที่โรงพยาบาลศิริราช คุณพ่อเปลี่ยนตับแล้วมีชีวิตที่มีความสุขต่ออีก 2 ปี
“ล่าสุดคือหลานผมอายุ 10 ขวบ เป็นเด็กแอ็กทีฟ มีพลังบวก น่ารักมากๆ เขาไปบ้านเกิดผมที่กำแพงเพชร อยู่ดีๆ ก็ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่แล้วเชื้อไปกระตุ้นภูมิต้านทานซึ่งส่งผลให้ไปกินเซลล์ตับอ่อนอีกที สุดท้ายกลายเป็นเบาหวานเฉียบพลัน (เบาหวานประเภทที่ 1) ที่หายาก เพราะคนส่วนใหญ่ทั่วโลกเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 โรคนี้เป็นตลอดชีวิตและต้องรักษาตลอดชีวิต
“เลือดจะเหนียวเหมือนน้ำเชื่อมเพราะร่างกายดูดซึมน้ำตาลไม่ได้ ต้องเจาะเลือดเป็นสิบๆ จุด แล้วเด็กก็ร้องไห้เพราะว่าเจาะแล้วเลือดออกไม่ได้ หมอก็บอกว่าต้องเข้าไอซียูสามชั่วโมง ตอนนั้นนั่งรถฉุกเฉินย้ายมารักษาที่พิษณุโลกเป็นสามชั่วโมงที่วิกฤตถึงชีวิต สุดท้ายรอดกลับมาได้ เด็กก็สู้สุดชีวิตเลย ซึ่งตอนนี้ก็ต้องติดอุปกรณ์เพื่อวัดน้ำตาลตลอด ต้องฉีดอินซูลินเพื่อปรับน้ำตาลตลอดชีวิต
“สำหรับผมที่โตมาจากการเห็นที่บ้านป่วยกันค่อนข้างเยอะก็เลยรู้สึกว่าการรักษามันเปลี่ยนชีวิตคนอย่างแท้จริง” เหตุการณ์เหล่านี้เองที่ทำให้กระทิงตั้งคำถามถึงการนำเทคโนโลยีมาสร้างอิมแพกต์ในการรักษาชีวิตผู้คน
Scaling Impact
“เราเชื่อว่าความจริงแล้วหลายโรคที่ผู้ป่วยเป็นจำนวนหลักร้อยล้านคนมันรักษาหรือป้องกันได้ นิตยสาร The Economist บอกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ทั่วโลกอิจฉาเพราะเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขและระบบเฮลท์แคร์ที่ดีที่สุดในโลก
“เราก็เลยคิดว่าเราน่าจะเปิดกองทุนขึ้นมาเพื่อประเทศไทยอันดับแรกเลย ลงทุนใน HealthTech เพื่อช่วยเหลือคนไทยให้เข้าถึงเทคโนโลยีและสนับสนุนการสเกลไประดับโลก เพราะว่าเทคโนโลยีบางตัวเซฟชีวิตคนได้เป็นร้อยล้านคนเลยนะ”
สตาร์ทอัพตัวแรกที่ Disrupt Health Impact Fund ลงทุนชื่อ DiaMonTech เป็นนวัตกรรมวัดน้ำตาลโดยไม่ต้องเจาะเลือด ซึ่งจะเปลี่ยนชีวิตคนได้อย่างมากโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวและต้องตรวจน้ำตาลเป็นประจำ เช่น เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงวัย
หนึ่งในความตั้งใจอันยิ่งใหญ่ในการเริ่มกองทุนคือการปั้นประเทศไทยให้เป็น medical hub ทั้งการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่สร้าง ecosystem ให้ผู้ป่วยมาพักรักษาตัวที่ไทยอย่างสะดวกสบาย ผู้ป่วยสามารถพัก long stay ในไทยได้แบบมีความสุขขณะป่วย ผ่านการออกแบบสถานที่ให้ patient-friendly หรือเป็นมิตรกับผู้ป่วย สามารถนั่งรถเข็นได้สะดวกและปลอดภัย เคลมประกันในประเทศนี้ได้ เมื่อรักษาโรคทางกายแล้วยังได้รับการสนับสนุนการรักษาทางจิตใจไปด้วยได้ในช่วงพักฟื้นยาว
ทั้งหมดนี้จะทำได้เมื่อสร้างระบบนิเวศทางการแพทย์ในประเทศให้แข็งแรง ทั้งนำเทคโนโลยีไปช่วยยกระดับโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐทั้งหมด สร้างบุคลากรและ infrastructure ทางการแพทย์ เช่น ระบบ emergency การรักษาฉุกเฉินที่ฉับไว
“คำถามสำคัญในการลงทุนคือ Why now? ทำไมถึงต้องลงทุนเทคโนโลยีนี้ในตอนนี้ เพราะการเลือกลงทุนที่ดีคือลงทุนใน timing ที่เหมาะสม ไม่เร็วไป ไม่ช้าไป และเป็นเทคโนโลยีที่พร้อมนำไปใช้สู่ตลาดได้จริงถึงจะน่าลงทุน” กระทิงแชร์ประสบการณ์ให้ฟัง
Mega Trend of HealthTech
นอกจาก DiaMonTech ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ตอนนี้เลือกลงทุนเพียงตัวเดียวจากสตาร์ทอัพ 1,000 ตัว กระทิงยังมองถึงการลงทุนในนวัตกรรมที่เจาะตลาดระดับโลกได้และมีขนาดตลาดที่ใหญ่ระดับหลายล้านคนรองรับ เน้น deep technology ที่มีการวิจัยลงลึกและลอกเลียนแบบได้ยาก มีทีมผู้ก่อตั้งและโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจ รวมถึงมี exit path ในการทำสตาร์ทอัพที่ชัดเจน สามารถแก้โจทย์ปัญหาของประเทศไทยได้ด้วย
แพทเสริมถึงแลนด์สเคปนวัตกรรมในวงการเฮลท์แคร์ตอนนี้ว่า “เรามองว่าช่วงนี้เป็น timing ที่ดีที่จะลงทุน ก่อนหน้านี้วงการเฮลท์แคร์ยังไม่มีเรื่องดิจิทัลเข้ามาเยอะมากนัก แต่ว่าตอนนี้เป็นจุดหลังโควิด-19 ที่เกิดดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เราอยู่ในช่วงที่คนส่วนใหญ่มีอุปกรณ์ของตัวเอง มีสมาร์ตโฟนที่เข้าถึงข้อมูลสุขภาพได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
“ฝั่งของโรงพยาบาลและทางการแพทย์เองก็มีระบบดิจิทัลใช้กันแทบจะทุกโรงพยาบาลไม่ว่าจะรัฐหรือเอกชน มันทำให้ปลดล็อกดาต้าจำนวนมากขึ้นมาว่าเราสามารถเอาดาต้าเหล่านี้ไปพัฒนาเพื่อทำให้เกิดโซลูชั่นด้านเฮลท์แคร์ให้ฉลาดขึ้น”
Disrupt Health Impact Fund จึงมีนโยบายที่สนใจลงทุนใน 5 ด้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นนวัตกรรมที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลกด้านสุขภาพ ตั้งแต่ self-care (การดูแลสุขภาพด้วยตนเอง) และ preventive care (เวชศาสตร์ป้องกันโรค) ซึ่งหมายถึงการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรค อาทิ หากดูแลการคุมน้ำหนักได้ด้วยตัวเองก็ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้หลายอย่าง ทั้งความดันโลหิตสูง เบาหวาน ซึ่งทุกวันนี้มีเทคโนโลยี personalization และ AI assistant in healthcare ที่เข้ามาช่วยมอนิเตอร์ข้อมูลสุขภาพมากมาย
อีกหมวดสำคัญที่แพทกล่าวถึงซึ่งกองทุนสนใจลงทุนคือ Holistic Wellness (การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม)
“เรามองว่าในการดูแลสุขภาพมันควรจะเป็นองค์รวม ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพกายอย่างเดียว เรามองด้วยว่าในช่วงที่เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะ จะมีอะไรที่เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตด้วยได้ไหม ก่อนที่คนจะเป็นซึมเศร้า เราทำอะไรที่ป้องกันล่วงหน้าก่อนได้ไหมเพื่อให้คนเป็นน้อยลงหรือมีวิธีการดูแลสภาพจิตใจตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะในโลกยุคใหม่ที่มีความท้าทาย ความกดดันเยอะ เราก็คิดว่าถ้ามีเทคโนโลยีลักษณะนี้ที่ช่วยเหลือผู้คน ก็คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ”
อีกธีมสำคัญที่จะพลาดลงทุนไปไม่ได้ในประเทศไทยที่มีสังคมสูงวัยคือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Silver Age (ผู้สูงวัย) โดยจะมองหานวัตกรรมจากการตั้งต้นคิดว่าจะทำยังไงให้คนแก่ Age Well หรือแก่แบบสุขภาพดีได้ ปิดด้วยหมวดสุดท้ายคือ Smart Hospital หรือโรงพยาบาลอัจฉริยะ เช่นการนำเอานวัตกรรมต่างๆ อย่าง AI มาทำงานร่วมกับโรงพยาบาลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้คนไข้
Endless Possibilities from Partnership
จากการมีประสบการณ์ในการทำกองทุน VC มาแล้วถึง 7 กองซึ่งลงทุนในธุรกิจหลายอุตสาหกรรม กระทิงบอกว่ากองทุนด้านเฮลท์แคร์มีความท้าทายที่แตกต่างจากการทำกองทุนธุรกิจหมวดอื่นตรงที่การรักษาสุขภาพเป็นสิ่งเกี่ยวพันกับชีวิตผู้คนทำให้ต้องคำนึงถึงหลายสิ่งมากกว่า เช่น เทคโนโลยีต้องผ่านมาตรฐาน FDA (Food and Drug Administration)
ทั้งนี้เพราะการนำ HealthTech มาใช้จริงควรผ่านการประเมินจากหลายฝ่าย เช่น แพทย์ ผู้ป่วย บริษัทประกัน ผู้บริหารโรงพยาบาล ฯลฯ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่ได้ลงทุนในเทคโนโลยีที่เพ้อฝันแต่เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่มีโอกาสเติบโตสูง คุณหมอและพยาบาลในโรงพยาบาลรู้สึกว่าน่าสนใจ ใช้งานได้จริง
หนึ่งในความร่วมมือสำคัญของ Disrupt Health Impact Fund คือการร่วมมือกับโรงพยาบาลสมิติเวช ทำให้เกิดการผสานความเชี่ยวชาญระหว่างโรงพยาบาลระดับแนวหน้าและฝั่งกองทุนที่มีศักยภาพด้านการลงทุนโดยมุ่งส่งเสริมการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง ทั้งนี้สิ่งที่โรงพยาบาลสมิติเวชจะได้ประโยชน์คือการได้ทดสอบเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในโรงพยาบาลรวมถึงโอกาสขยายธุรกิจทางสุขภาพเพิ่มเติม
นอกจากโรงพยาบาลแล้ว กองทุนยังมีพาร์ตเนอร์สำคัญหลายรายทั้งที.แมน บริษัทผลิตยารายใหญ่ของประเทศที่มองหาการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ บริษัท FMCG (fast-moving consumer goods) อื่นๆ รายใหญ่ของประเทศ ไปจนถึงเครือข่ายอาจารย์แพทย์จากหลายมหาวิทยาลัยทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล ไปจนถึง Harvard Medical School เพื่อให้มั่นใจว่าได้เลือกลงทุนในเทคโนโลยีที่มีคุณภาพและความน่าเชื่อถือสูง
กระทิงเปรียบการลงทุนด้านเฮลท์แคร์เหมือนกับ ‘หนูจับแมว แมวไล่จับหนู’ ซึ่งหมายถึงการที่มีโรคใหม่อุบัติขึ้นและเกิดเทคโนโลยีใหม่ไม่สิ้นสุด ทำให้ต้องปรับตัวเร็วอย่างต่อเนื่อง การป่วยเป็นโรคหนึ่งยังมักจะเชื่อมโยงอีกหลายโรคทำให้การลงทุนในธุรกิจวงการนี้มีความสลับซับซ้อน แต่แน่นอนว่าเมื่อมีความท้าทายเยอะก็มีโอกาสทางธุรกิจสูงเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อดีลการซื้อกิจการ (M&A) ในวงการเฮลท์แคร์เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นทำให้มีแนวโน้มเกิดโอกาสน่าสนใจสำหรับลงทุนในอนาคตอีกเยอะ
Women-led VC
ก่อนหน้านี้ กองทุน VC มักมีแต่ผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ทั้งในเอเชีย อเมริกา ยุโรป และมีผู้หญิงน้อยมาก สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการตัดสินใจลงทุน เช่น การตัดสินใจเลือกลงทุนทีมที่มีผู้ก่อตั้งคาแร็กเตอร์คล้ายกันหรือเป็นผู้ชายด้วยกัน การให้ความสำคัญกับการมีสมาชิกทีมเป็นผู้หญิงจึงถือเป็นจุดแตกต่างในวงการเทคโนโลยี ความน่าสนใจของกองทุนนี้จึงคือการมีทีมบริหารสำคัญเป็นผู้หญิงซึ่งแพทบอกว่าเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างในการลงทุน
“ทีมเราเริ่มต้นมาด้วยการรวมตัวของผู้หญิงที่มีความตั้งใจและอยากทำสิ่งที่เปลี่ยนแปลงสังคม เราทุกคนทำงานด้วยความเชื่อที่ว่าเราอยากสร้างอิมแพกต์โดยทุกคนต่างมีมิชชั่นในใจ แล้วเราก็ดึงดูดคนที่คล้ายๆ กัน”
การมีความหลากหลายในทีมและให้ความสำคัญกับผู้หญิงในวงการเฮลท์แคร์จะส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนในเทคโนโลยีที่เปิดกว้างมากขึ้นและไม่ตกหล่นในปัญหาสุขภาพของผู้หญิง เช่น ภาวะด้านฮอร์โมนผู้หญิง ภาวะวัยทองหมดประจำเดือนซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ซึ่งคนที่จะมองเห็นโซลูชั่นทางการแพทย์เพื่อผู้หญิงเหล่านี้ได้ย่อมต้องเป็นผู้หญิงด้วยกัน ทั้งนี้ทีมไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นแค่ผู้หญิงเท่านั้นและไม่ได้ปิดกั้นผู้ชายในการทำงานแต่อยากให้โอกาสผู้นำหญิงในไทยให้โลดแล่นในวงการ VC มากขึ้นเช่นวงการอื่น
ยุ้ยยังปิดท้ายว่าเบื้องต้นแผนการลงทุนในขณะนี้มองตั้งแต่การลงทุนในสตาร์ทอัพ Series A และ Series B โดยมองถึงการลงทุนระดับโลกไม่จำกัดแค่เฉพาะในไทย โดยพิจารณาถึง synergy และ return ของธุรกิจในการลงทุน ในระยะแรกตั้งเป้าหมายการลงทุน 10-15 บริษัทในเงินลงทุนตั้งแต่ 5 แสน – 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากเลือกลงทุนในบริษัทที่มั่นใจเท่านั้นแล้ว สิ่งสำคัญคือถึงแม้จะมองการลงทุนในสเกลระดับโลกแต่ก็มีความตั้งใจสนับสนุนสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีของคนไทยให้ไม่แพ้ชาติใดในโลกให้สมกับที่เป็นกองทุนโดยคนไทย