ของมัน (ไม่จำเป็น) ต้องมี

‘De-Influencing’ ขั้วตรงข้ามของ Influencer รีวิวสินค้าแบบของมัน (ไม่จำเป็น) ต้องมี

Influencer ถูกขนานนามว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลในโลกออนไลน์ เพราะเมื่อไหร่ที่อินฟลูฯ ทั้งหลายกล่าวถึงสินค้า สาธิตการใช้งาน หรือป้ายยา ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้ติดตาม จนกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนทางการตลาดที่แบรนด์สินค้าขาดไม่ได้ ทว่าการโน้มน้าวให้ซื้อสินค้าในลักษณะการรีวิว อาจเป็นการอวยหรือรีวิวเกินจริง ทั้งๆ ที่ของบางอย่างไม่จำเป็นต้องมีก็ได้

จากรายงาน The Influencer Marketing Benchmark Report 2023 เผยว่า ในปี 2023 มูลค่าตลาดอินฟลูเอนเซอร์จะเติบโตและมีมูลค่าา 21.1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเติบโตมากกว่าปีที่แล้วกว่า 29% ที่มี 16.4 พันล้านดอลลาร์ และ 83% ขององค์กรได้เตรียมงบการตลาดสำหรับ Influencer Marketing ไว้โดยเฉพาะ และอีก 17% เป็นงบสำหรับการประชาสัมพันธ์โดยมีอินฟลูเอนเซอร์เข้ามาเอี่ยวด้วย นั่นหมายความว่าในมุมของแบรนด์และองค์กรต่างๆ อินฟลูเอนเซอร์เป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดอย่างแท้จริง

โดยปกติแล้ว วัฒนธรรมการรีวิวของอินฟลูเอนเซอร์มักส่งเสริมการบริโภคที่มากเกินไปไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ ทำให้เกิดปรากฎการณ์ Overspending หรือการซื้อเกินความจำเป็น เพื่อให้ตนเองไม่ตกเทรนด์ ซึ่งเทรนด์การรีวิวนี้มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวงการแฟชัน และความงาม เช่น แบรนด์ Shein ผู้ผลิตเสื้อผ้ารายใหญ่ของโลกที่ปล่อยคาร์บอนออกสู่โลก 8-10% และสร้างมลพิษทางน้ำถึง 20% (ข้อมูลจาก ResearchGate) เมื่อมีการรีวิวเยอะ ย่อมทำให้เกิดการซื้อมากขึ้นตามไปด้วย สอดคล้องกับรายงานของ GWI ที่เผยว่า นับตั้งแต่ปี 2015 มีอัตราการค้นหาสินค้าบนโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น 43% ดังนั้น ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ก็จะมีอินฟลูเอนเซอร์คอยกระซิบข้างหูคุณอยู่เสมอว่าควรซื้ออะไร และทำไมต้องมี

เมื่ออินฟลูเอนเซอร์เริ่มรีวิวแบบไร้ขอบเขต กล่าวชื่นชม พูดถึงข้อดี หรืออวยจนเกินความเป็นจริง ทำให้ผู้บริโภคเริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นต่อนักรีวิว จึงทำให้เกิดกระแสขั้วตรงข้ามคือ ดีอินฟลูเอนเซอร์ (De-Influencing) เป็นกระแสที่เกิดขึ้นบนโลกโซเชียล ที่เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ต้องการปกป้องผู้ติดตามจากการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น หรือไม่คุ้มค่าเงิน คริส รูบี้ นักวิเคราะห์สังคมออนไลน์ และประธาน Ruby Media Group ได้กล่าวว่า การที่อินฟลูเอนเซอร์รีวิวแบบดึงสติให้ผู้ติดตาม เป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทบทวนว่าจริงๆ แล้วต้องการสิ่งนี้หรือไม่ เพื่อที่จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณา

กระแสดีอินฟลูเอนเซอร์ได้รับความนิยมอย่างมากใน Instagram, TikTok และ YouTube โดยแพลตฟอร์มที่นำพากระแสนี้มาแรงที่สุดคือ TikTok ถ้าคุณเป็น TikToker สามารถเสิร์จหาวิดีโอเหล่านี้ได้ง่ายๆ ผ่านแฮชแท็ก #DeInfluencing ที่มียอดวิวกว่า 233 ล้านครั้ง แล้วจะพบวิดีโอการรีวิวสินค้าที่ไม่จำเป็นต้องซื้อ ไม่ควรซื้อ ซึ่งบางคลิปมียอดวิวหลายล้าน

ด้าน Michelle Skidelsky นักออกแบบและอินฟลูเอนเซอร์ชาวแคนาดา ได้แสดงความคิดเห็นกับผู้ติดตามกว่า 173,000 คนของเธอว่า ทุกคนไม่จำเป็นต้องมีเสื้อผ้าใหม่ทุกคอลเลกชัน และเสื้อผ้าเดี๋ยวนี้ก็เป็น Fash Fashion ที่มีราคาแพง ถ้าคุณจะไปเที่ยว หรือไปคอนเสิร์ต ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อชุดใหม่ทั้งหมด แค่ Mix & Match ของที่มีก็เพียงพอแล้ว

สำหรับในบ้านเรา เริ่มมีอินฟลูเอนเซอร์ที่รีวิวแบบดีอินฟลูเอนเซอร์ เช่น อายตา จากช่อง Eyeta ที่รีวิวสินค้าที่ใช้แล้วไม่ชอบ หรือการแนะนำสินค้าที่แทนกันได้ในราคาที่ถูกกว่า เป็นการรีวิวโดยเปิดโอกาสให้ผู้ติดตามได้พิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจซื้อ

กระแสเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า อินฟลูเอนเซอร์หรือครีเอเตอร์เริ่มทำคอนเทนต์ในแบบที่สอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้น ในยุคที่ต้องผู้คนต้องประหยัด การซื้อสินค้าราคาแพงอาจมากเกินความจำเป็น ดังนั้น แทนที่จะแนะนำของสินค้าหรูหรา เปลี่ยนการแนะนำสินค้าที่คล้ายกัน คุณสมบัติใกล้เคียงกัน เพื่อให้ผู้ติดตามได้ประโยชน์ที่สุด 

แม้ว่าในช่วงหลายปีมานี้ อินฟลูเอนเซอร์จะบอกเราว่า ของมันต้องมี ยังไงก็ต้องซื้อ ทำให้ผู้คนเสพติดการชอปปิ้ง และถือคติว่าของมันต้องมี ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ผู้คนซื้อสินค้าตาม แม้ว่าจริงๆ แล้วพวกเขาแค่รับเงินมาเพื่อกล่าวชมสินค้าโดยไม่ได้ใช้จริง 

จากกระแส #DeInfluencing ที่เกิดขึ้น ทำให้ตอนนี้ผู้บริโภคตื่นตัวกับคอนเทนต์ที่รับชมมากขึ้น มีการคิดไตร่ตรอง ตั้งสติก่อนตัดสินใจซื้อ และการที่อินฟลูเอนเซอร์รีวิวตามกระแสดีอินฟลูเอนเซอร์ ก็ไม่ได้หมายความว่ายุคของอินฟลูเอนเซอร์สิ้นสุดลง หรือเป็นจุดจบของอุตสาหกรรมอินฟลูเอนเซอร์ แต่เป็นเพียงการรีวิวสินค้าในอีกเวอร์ชันหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ในฝั่งของอินฟลูเอนเซอร์ ไม่ว่าจะรีวิวเรื่องไหนก็ตาม ความจริงใจ ความไว้วางใจ เป็นสิ่งสำคัญที่จะมอบให้แก่ผู้บริโภค

อ้างอิงข้องมูลจาก

Writer

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจ การตลาด และความเป็นไปในสังคม

You Might Also Like