What’s up BROOO
หลักการสร้างแบรนด์ของ Brooo แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาไทยแบรนด์แรกที่ได้ไป Ultra-Trail Village
สำหรับคุณแล้ว ถุงเท้าถือเป็นเครื่องแต่งกายที่สำคัญลำดับไหนของเสื้อผ้าทั้งหมด
เชื่อว่าน้อยคนนักจะยกให้สิ่งนี้เป็นเครื่องแต่งกายที่สำคัญอันดับแรกๆ หากเทียบกับเสื้อ กางเกง และรองเท้า ที่เป็นเครื่องแต่งกายชิ้นใหญ่ กระทั่งแว่นตา หมวก หรือนาฬิกาเองก็ตามที่ดูเป็นเครื่องแต่งกายที่ระบุรสนิยมและตัวตนได้มากกว่า
แต่สำหรับ อ๋อง–กษิดิศ ดวงวราภรณ์ และ เฟียต–ธนพงศ์ พานิชชอบ เขากลับเชื่อว่าถุงเท้าเป็นเครื่องแต่งกายที่ชวนให้ผู้สวมใส่ ‘แอบแซ่บ’ ได้ ทั้งยังสามารถระบุตัวตนได้ในทุกสถานการณ์ ทั้งทางการ ไม่ทางการ รวมถึงในชุดวิ่งก็ตาม
ทั้งคู่จึงปั้น Brooo แบรนด์ชุดกีฬาที่ตั้งใจผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ทั้งฟังก์ชั่นและแฟชั่นในการวิ่ง โดยมีจุดมุ่งหมายคืออยากเสาะหาคนที่ชื่นชอบการสวมใส่ alternative brand มองหาแบรนด์กีฬาทางเลือกมาแต่งตัว ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ในปัจจุบัน
บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ กษิดิศและธนพงศ์บอกเล่าถึงเส้นทางของแบรนด์ Brooo ตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร วางแผนธุรกิจแบบไหน จน Brooo ได้เป็นแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาไทยแบรนด์แรกที่ได้เข้าร่วม Ultra-Trail Village งานแสดงสินค้าในงานมหกรรมวิ่งเทรลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เมืองชาโมนิกส์ ประเทศฝรั่งเศส
สำหรับพวกคุณ การวิ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตั้งแต่เมื่อไหร่
ธนพงศ์ : พวกเราสองคนเป็นเพื่อนสนิทกันตั้งแต่ช่วงมัธยม ตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็เรียนที่เดียวกัน ทำงานก็ยังที่เดียวกันอีก คือในชีวิตทั่วไปเราแทบจะเป็นพี่น้องกันอยู่แล้ว
ส่วนเรื่องวิ่งที่มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา สำหรับผมคิดว่าน่าจะเริ่มตั้งแต่ตอนที่ไปวิ่งแก้บนช่วงมัธยม ที่เราไปไหว้กันว่าอยากสอบติดมหาวิทยาลัยที่เดียวกัน ตอนนั้นก็อธิษฐานเลยว่า ถ้าเจ้าแม่มีจริง ขอให้พวกเราสอบติด แล้วเดี๋ยวจะไปวิ่งรอบสนามหลวงเป็นการแก้บนให้
สุดท้ายก็ได้เข้ามหาวิทยาลัยที่เดียวกันจริงๆ ผมเลยต้องไปวิ่งเป็นจำนวน 10 รอบ ส่วนอ๋อง (กษิดิศ) เขาบนไว้ 80 รอบเยอะกว่าหน่อย แล้วหลังจากนั้นพวกเราก็ไม่เคยหยุดเลย การวิ่งก็เข้ามาอยู่ในชีวิตอยู่ตลอด
กษิดิศ : คือหลังจากวิ่งในวันนั้น ผมพบว่าการวิ่งมันให้อะไรบางอย่างกับตัวเรา อย่างในช่วงแรกแน่นอนว่ามันคืออาการ runner’s high ที่วิ่งแล้วจะรู้สึกดี รู้สึกสนุก อยากทำต่อเรื่อยๆ มันเลยกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน
อะไรที่ทำให้รู้สึกว่า ‘การวิ่ง’ คือสิ่งสำคัญในชีวิตคุณ
ธนพงศ์ : ผมว่าการวิ่งมันเราไปอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า ‘ภวังค์’ เพียงช่วงขณะ และเราไม่ต้องคิดอะไรเลย มันปิดสวิตช์ความคิดไม่ให้เตลิดออกไป เพราะแค่กำหนดลมหายใจ และแบกสังขารก็เหนื่อยแล้ว
ถึงเมื่อไหร่ที่การวิ่ง เริ่มกลายเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการวิ่ง
ธนพงศ์ : ตอนนั้นเป็นช่วงโควิด-19 ระบาด ทำให้ทุกอย่างชะงักลง ซึ่งนอกจากไม่มีอะไรทำแล้ว เรายังไม่มีงานทำด้วย ก็เลยได้เริ่มโปรเจกต์หนึ่งขึ้นมา
ผมคิดมาตลอดว่าอยากทำธุรกิจอะไรสักอย่างเกี่ยวกับการวิ่ง รวมถึงอะไรก็ตามที่เป็นถุงเท้า เพราะเราสองคนเป็นพวกบ้าการใส่ถุงเท้ามาแต่ไหนแต่ไร สำหรับผมถุงเท้ามันคือเครื่องแต่งกายที่สามารถ express ตัวตนในแบบที่แอบแซ่บได้ คือมันจะไม่โดดเด่นเกินไป มันสามารถซ่อนอยู่ในชุดที่อาจจะทางการหน่อยในบางเวลาก็ได้
จนวันหนึ่งได้มานั่งคุยกับอ๋องที่บ้านเขา ก็นั่งกินข้าวอยู่ด้วยกัน จู่ๆ ผมก็พูดขึ้นมาว่ากูอยากทำถุงเท้าว่ะ ถุงเท้าวิ่งมันไม่มีแบบแซ่บๆ ที่เราชอบบ้างเลยเหรอพอพูดจบอ๋องก็เดินขึ้นไปบนบ้าน ไปหยิบถุงเท้าวิ่งทั้งหมดที่มีในบ้าน แล้วโยนลงบนโต๊ะ พร้อมบอกว่า
ไม่มี
จากคำว่า ‘ไม่มี’ พวกคุณคิดว่าจะทำอะไรกับมันต่อ
ธนพงศ์ : วันนั้นสุดท้ายก็ไม่ได้คุยอะไรกันต่อนะ มันจบกันไปแบบมีคำถามอยู่ในใจ แต่อีกสองวันต่อมา อ๋องโทรศัพท์มาหาผม เขาบอกว่านัดโรงงานถุงเท้าเอาไว้นะ ให้เตรียมคิดชื่อแบรนด์เลย เลยกลายเป็นว่าเราต้องเริ่มทำธุรกิจรองเท้าโดยปริยาย
ตอนนั้นสิ่งที่คิดว่าต้องมีอันดับแรกเลยคือชื่อแบรนด์ ซึ่งผมก็ได้ไอเดียประมาณว่า เวลาพวกเราสองคนจะคุยกัน เรามักจะมีคำที่เอาไว้เรียกกันและกันแบบติดปากว่า โบร (Bro,Brother) ส่วนเหตุผลที่ต้องมีตัว O ถึงสามตัวคือ เพราะเราจะสมัครอีเมลสำหรับทำธุรกิจให้เป็นกิจจะลักษณะ กลายเป็นว่าเราใช้ [email protected] ไม่ได้ มันบอกถูกใช้ไปแล้ว จะใช้ Broo เพิ่ม o ขึ้นมาอีกตัวก็ไม่ได้
สุดท้ายมาจบที่ Brooo มี o ทั้งหมดสามตัว ซึ่งพวกเราก็โอเค เอาชื่อนี้แหละ คือตอนนั้นไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าจะดีกับการทำการตลาด หรือ SEO ในการค้นหาชื่อแบรนด์ของเราไหม มันเป็นเพียงแค่ความรู้สึกที่อยากจะใช้คำนี้ แต่พอมามองตอนนี้ก็ดีนะ เหมือนมันเป็นจุดที่ทำให้คนสนใจว่าทำไมต้องมี O ตั้งสามตัว แล้วมันอ่านว่าอะไร
กลายเป็นว่าคนที่ไม่ใช่ตัวตั้งตัวตีอย่างคุณอ๋องเป็นคนเริ่มนับหนึ่งก่อน
กษิดิศ : ตั้งแต่ผมเริ่มวิ่ง ผมจะได้ใส่ถุงเท้า กางเกง เสื้อผ้า ที่ตอนนั้นก็ธรรมดาเหมือนกัน ไม่ได้มีสีสันอะไร ผมเลยมีความรู้สึกอยู่ในใจว่าอยากมีถุงเท้าในแบบและสีที่ชอบของตัวเอง แต่ก็เป็นความฝันไกลๆ เพราะผมเป็นสถาปนิกที่ไม่มีความรู้เรื่องแฟชั่นและธุรกิจ จนวันที่เฟียตมานั่งคุยกันเลยกลับมาลุยกับฝันตรงนี้จริงจัง
ส่วนสาเหตุที่เรารีบนัดโรงงานเหลือเกิน คือด้วยความที่ผมวิ่งมาเยอะ ใส่ถุงเท้าวิ่งมาก็หลายแบบ ผมก็มีความเข้าใจวัสดุ องค์ประกอบถุงเท้าวิ่ง จนได้รู้ว่าแบรนด์ใหญ่ๆ จำนวนหนึ่ง เขาก็มีฐานการผลิตที่ประเทศไทยเหมือนกัน เราเลยเห็นโอกาสที่จะทำแบรนด์ของตัวเองให้มีคุณภาพแบบแบรนด์ที่เคยได้ใส่มา
ธนพงศ์ : เขาเนิร์ดขนาดไหนรู้ไหม ขนาดที่เอากล่องสินค้าของแบรนด์ใหญ่ๆ แล้วเอาป้ายมาดูว่าตัวเลขแต่ละตัวมันหมายถึงอะไรบ้าง จนได้ค้นพบว่า มีตัวเลขบางอย่างที่มันคล้ายคลึงกัน และมันนำไปสู่ที่ตั้งของโรงงานผลิตว่าอยู่ประเทศไหน
แล้วการทำแบรนด์แบบ Brooo โดยคนที่ไม่เคยทำธุรกิจมันเป็นยังไง
ธนพงศ์ : ช่วงแรกๆ สิ่งที่เราทำคือการสื่อสารว่า performance sock มันคืออะไร มันมีฟังก์ชั่นที่แตกต่างจากถุงเท้าทั่วไปยังไงบ้าง ที่สำคัญ เราพยายามบอกว่าถุงเท้ามันคือ ‘Little Big Thing’ คือมันอาจเป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งของเครื่องแต่งกายในการวิ่ง แต่มันก็เป็นส่วนสำคัญทั้งในแง่การป้องกันอาการบาดเจ็บ หรือระบุถึงแฟชั่นและตัวตนของผู้สวมใส่
เราเลยพยายามตะโกนบอกสิ่งนี้ออกไปในวงกว้าง พร้อมทั้งออกสินค้าชิ้นแรกๆ ที่มีสีสันเหมาะกับรองเท้าวิ่งในตอนนั้น คือเราทำกันถึงขนาดที่ไปดูว่าหลังจากนี้อีก 6 เดือนจะมีรองเท้าสีไหน แบบใด ออกมาบ้าง เพื่อที่จะได้ทำถุงเท้าที่มันสามารถใส่กับรองเท้าพวกนั้นได้
คุณโฟกัสไปที่นักวิ่งเลยใช่ไหม
ธนพงศ์ : ที่จริงหนึ่งในแผนของเราคือทำให้ Brooo เป็นถุงเท้าที่ใส่ได้ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่ตอนวิ่ง เพราะพวกผมสองคนก็เป็นคนชอบแต่งตัวอยู่แล้ว เลยอยากใส่ถุงเท้าของตัวเองตลอดเวลา ดังนั้นเราให้ความสำคัญเรื่องการออกแบบถุงเท้าให้ทั้งใส่วิ่งได้ ใส่ในวันสบายๆ ได้ รวมถึงมันต้องมีความฉูดฉาดที่กำลังพอดี สามารถใส่ในสถานการณ์อื่นๆ ได้
ถุงเท้าของเรามันเลยกลายเป็น function & fashion ในเวลาเดียวกัน
แล้วนิยามเสื้อกีฬา และถุงเท้ากีฬาที่ดีของพวกคุณเป็นแบบไหน
กษิดิศ : แน่นอนว่ามันคือเรื่องประสิทธิภาพในการวิ่ง แต่ถ้าให้ตอบโจทย์กับทุกคน ผมว่าคำหนึ่งที่จะสรุปได้ชัดเจนคือ ใส่แล้วต้องมั่นใจ ทั้งในการวิ่ง นำเสนอตัวตน รวมถึงการซัพพอร์ตเท้าของเราทุกคน
ธนพงศ์ : ผมเชื่อว่าสินค้าที่ดีไม่มีวันตาย ถ้าวัสดุดี การออกแบบดี แพ็กเกจจิ้งดี การจัดส่งดี การถูกนำเอาไปใช้ที่ดี ทั้งถุงเท้าและตัวแบรนด์นั้นก็จะดี
มองว่าแบรนด์กีฬาประเทศไทยสามารถสู้แบรนด์ต่างชาติในระดับโลกได้หรือยัง
ธนพงศ์ : เรื่องนี้น่าสนใจ คือสิ่งหนึ่งที่เราทำในช่วงแรกคือ การไม่เคยประกาศว่านี่คือแบรนด์ไทย เพราะผมไม่อยากให้เกิดการตั้งแง่กับแบรนด์ไทย ผมเลยทำแบบนี้เพราะอยากรู้ว่าถ้าไม่มีเงื่อนไขของคำว่าแบรนด์ไทย แล้วทำของที่มีคุณภาพ คนจะยอมรับสินค้าชิ้นนี้ไหม
ส่วนเหตุผลที่ราคาต้องสูงขนาดนี้ เพราะพวกเราทำชาร์ตออกมาจนเห็นแล้วว่า ราคาถุงเท้าในตลาดโลกมันเท่าไหร่ เราเลยตั้งราคาเอาไว้ที่ตรงนั้น เราอยากให้คนมองว่าเป็น global brand เราฝันใหญ่ไว้ก่อน แต่ถ้าตกม้าตายก็อย่าว่ากันนะ (หัวเราะ)
สำหรับแบรนด์เล็กที่เพิ่งก่อตั้ง มีวิธีหาตลาดหรือกลุ่มลูกค้ายังไงบ้าง
ธนพงศ์ : มีรุ่นพี่ที่ผมเคารพรักคนหนึ่งเขาบอกว่า เฟียตรู้ไหมว่าคนที่วิ่งหรือออกกำลังกายในประเทศมีจำนวนเท่าไหร่ ทั้งหมดมันคือ 10-20 ล้านคน แต่ผมไม่ขอทั้งหมด ผมขอ 0.01 ของประเทศนี้ก็ได้ ซึ่งก็คือหนึ่งแสนถึงสองแสนคน ซึ่งถ้าหนึ่งแสนคนนี้ มันมีอีกในประเทศอื่นๆ ล่ะ เป็นหนึ่งแสนในไทย แสนในสิงคโปร์ แสนในมาเลเซีย
ถ้าเราปักแนวคิดแบบนี้ ก็จะเห็นว่ามีถุงเท้าอีกแสนคู่ มันก็จะมีถุงเท้าอีกห้าแสนคู่ มันมีถุงเท้าอีกร่วมล้านคู่ที่คนรอใส่อยู่ ถ้าคิดแบบนี้ เราจะไม่ตั้งคำถามว่าคนไทยจะใช้ของไทยไหม เพราะเราได้คำตอบแล้วว่า ไม่ว่าชาติไหนเราจะมีกลุ่มลูกค้าในแบบของเราอยู่ในทุกประเทศ
แสดงว่า Brooo เริ่มมองหากลุ่มลูกค้าในต่างประเทศบ้างแล้ว
ธนพงศ์ : ตอนนี้เรามีจัดจำหน่ายในต่างประเทศคือมาเลเซีย และสิงคโปร์ในเร็วๆ นี้ อีกทั้งยังหวังว่าจะได้ไปลุยตลาดในยุโรปด้วย เพราะปีที่ผ่านมาพวกเรามีโอกาสไปเมืองชาโมนิกซ์-มงบล็อง ในการแข่งขัน UTMB World Series Finals ก็ได้ไปเปิดบูทขายสินค้า หลังจากจบงานเราก็ไปกันตามร้านรีเทลต่างๆ ทั้งในเมืองชาโมนิกซ์และปารีส ซึ่งอยู่ในช่วงมหกรรมโอลิมปิกและพาราลิมปิก ด้วยวิธี door-to-door sales เลย เพราะอยากแนะนำตัวให้กับคนวิ่งและวิ่งเทรลฝั่งยุโรปใด้รู้จัก
เราก็เอาของทุกอย่างใส่กระเป๋าสีม่วง แล้วเดินไปทุกร้านที่ขายสินค้ากีฬา และแนะนำตัวว่าเราเป็นใคร แล้วก็บอกว่าขอโอกาสแนะนำสินค้าของเรา ที่ต้องทำแบบนี้ เพราะรู้สึกว่าในเมื่อได้มาอยู่ตรงนี้แล้ว โอกาสมันมาถึงแล้ว ถ้าไม่ทำตอนนี้เราจะทำตอนไหน
แล้วหลังจากนี้คุณมีเป้าหมายอื่นๆ อีกไหม
ธนพงศ์ : อันดับแรกคือเราอยากตีตลาดโกลบอล และอยากเสนอความเป็นไทยให้คนต่างชาติเห็น ที่สำคัญคือหมุดหมายหลังจากนี้คือ LA28 หรือมหกรรมโอลิมปิกปี 2028 ที่หากเป็นไปได้เราอยากสนับสนุนนักกีฬาวิ่งทีมชาติไทย อย่างน้อยขอในกีฬาที่เกี่ยวกับการวิ่งเทรลก็ยังดี
รวมถึงอยากมีแฟล็กชิปสโตร์ในประเทศใหญ่ๆ ของโลก มี BroooAthlete หรือทีมนักกีฬาเป็นของตัวเอง เพราะแน่นอนว่านักกีฬามันเป็นส่วนหนึ่งของการตลาด การที่แบรนด์เราไปปรากฏบนโพเดียมหรือในสื่อต่างๆ แต่ที่อยากเสริมคือ เราอยากสนับสนุนคนที่มีความสามารถในวงการวิ่งแต่ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักขนาดนั้น เราก็อยากช่วยผลักดันเขา
รวมถึงด้านการพัฒนาสินค้าเช่นกัน เพราะหลังจากนี้ หากอนาคตผมไม่ได้เป็นนักวิ่งสายเพอร์ฟอร์แมนซ์อีกแล้ว คนกลุ่มนี้ก็จะเป็นคนมาร่วมพัฒนาสินค้ากับ Brooo ต่อไป
What I’ve Learned
1. ธนพงศ์ : ผมว่าการทำธุรกิจมันต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ธรรมนูญ’ ให้ชัดเจนตั้งแต่วันแรก เพราะการทำธุรกิจที่มีผู้ก่อตั้งมากกว่า 1 คน ยังไงมันต้องปะทะกัน มันต้องมีปัญหากันแน่นอน มันเหมือนการที่เราอยู่บนสนามมวย แต่คู่ต่อสู้อยู่ฝั่งเดียวกับเรานะ แปลว่าเมื่อไหร่ที่กระดิ่งดัง เราต้องวางทุกอย่าง
2. กษิดิศ : ผมว่าการทำธุรกิจ เราต้องรู้จักถ่อมตนเข้าไว้ คืออย่าไปหยิ่งผยอง จองหอง เฟี้ยวไม่เฟี้ยว มันออกมาที่สินค้า ออกมาที่ผลงาน ที่สำคัญต้องเป็นคนรับฟังความเห็น ที่สำคัญคือเราต้องค่อยๆ ไป รู้จังหวะของตัวเอง มีแผนไว้เสมอ แต่อย่าไปกดดันว่าจะได้ไม่ได้ อย่างน้อยถ้าผิดพลาดก็ได้เรียนรู้ และวางแผนก้าวต่อไป