นักสร้างโอกาสบนกระดาษเปล่า
นามบัตรสามใบที่ใส่คำว่า ‘สนุก’ ของ ‘หนุ่มเมืองจันท์’
ใครที่เป็นแฟนหนังสือของ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ ย่อมรู้ดีว่าลีลาการเล่าเรื่องที่ให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจสอดแทรกเกร็ดความรู้บนสำนวนที่อ่านแล้วอารมณ์ดีและเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจของเขานั้นสนุกสนานเพียงใด ใครอ่านแล้วเป็นต้องติดใจจนทำให้ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ กลายเป็นหนึ่งในนักเขียนขายดีและมีผู้อ่านติดตามมากที่สุดอีกคนหนึ่งของเมืองไทย
แต่รู้หรือไม่ว่า นอกเหนือจากนามปากกา ‘หนุ่มเมืองจันท์’ ซึ่งมีหนังสือระดับเบสต์เซลเลอร์หลายสิบเล่มเป็นเสมือนนามบัตรในฐานะนักเขียนแล้ว ในชีวิตการทำงานของ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ หรือสรกล อดุลยานนท์ อดีตกรรมการบริหาร บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และผู้ก่อตั้งสถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ หรือ ‘ABC’ (Academy of Business Creativity) นั้นเปลี่ยนนามบัตรเกือบ 10 ใบตามตำแหน่งที่เปลี่ยนไปในองค์กรมติชน แต่ตลอดชีวิตการทำงาน 36 ปีของเขานั้น ‘พี่ตุ้ม’ สรกล ก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับตำแหน่งหน้าที่บนนามบัตรมากนัก
วันนี้เราชวน ‘หนุ่มเมืองจันท์’ มาพูดคุยถึงนามบัตรสามใบจากหลายๆ ใบตลอดการทำงานยาวนานของเขาเพื่อย้อนดูแนวคิดและย่างก้าวในการทำงานของ สรกล อดุลยานนท์ ที่เมื่อเราถามว่าถ้าไม่อยากให้ความสำคัญกับตำแหน่งบนนามบัตรแล้ว เขาอยากสรุปการทำงานสามทศวรรษกว่าด้วยประโยคเดียวว่าอย่างไร
หลังจากครุ่นคิดอยู่นาน ‘หนุ่มเมืองจันท์’ บอกเราอย่างเรียบง่ายว่าเขาเป็นคนที่ทำงานด้วยความสนุก
สรกล อดุลยานนท์
ผู้สื่อข่าว
หนังสือพิมพ์ประชาชาติ
“ตอนนั้นผมอายุ 22 เพิ่งเรียนจบจากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานแรกของผมคือเป็นนักข่าวในปี 2529 จุดเริ่มต้นต้องย้อนไปตอนเรียนมหาวิทยาลัย ผมเป็นพวกชอบทำกิจกรรม ไม่เน้นการเรียนมากนัก (หัวเราะ) ทำกิจกรรมนักศึกษาเยอะ พอทำกิจกรรมเยอะมันก็ต้องอ่านหนังสือพิมพ์ ทำให้สนใจเรื่องการเมือง สนใจเรื่องบ้านเมืองไปโดยอัตโนมัติ บังเอิญตอนที่ผมเรียนจบที่ มติชน เขาเปิดรับนักข่าว พี่วสันต์ (วสันต์ ภัยหลีกลี้) รุ่นพี่ที่ อมธ. (องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เขาเป็นคนชวน บอกว่าที่ มติชน เปิดรับสมัครนักข่าวของหนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ ผมก็เลยไปสมัคร แต่ก็ตลกดีที่ถึงแม้ว่าผมจะอ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ รู้ทุกข่าว เรื่องการเมือง การศึกษา เรื่องต่างประเทศ เรื่องกีฬา แม้แต่ข่าวบันเทิงผมรู้เรื่องหมด ยกเว้นเรื่องเดียวที่ผมไม่ได้อ่าน ไม่รู้เรื่องเลยคือเรื่องเศรษฐกิจ แต่ผมก็ไปสมัครงานที่หนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ว่าด้วยเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ผมไม่รู้อะไรเกี่ยว ประชาชาติธุรกิจ เลย
“ที่ผมตัดสินใจแบบนั้นเพราะเหตุผลสองข้อ หนึ่งคือมันเป็นงานที่อยากทำ ผมชอบอยู่กับข่าวสาร ต่อให้เป็นข่าวสารที่ผมไม่สนใจมาก่อนแต่ผมเชื่อว่าผมเรียนรู้ได้ เหตุผลข้อที่สองคือผมเชื่อว่าผมพอทำได้ เพราะการทำกิจกรรมนักศึกษาสอนให้ผมมีทักษะการจับประเด็นได้ดี เวลาเราพูดหรือทำอะไรเราต้องจับประเด็นแล้วค่อยไปเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง ผมเชื่อว่าถ้าเล่าให้เพื่อนฟังได้รู้เรื่องก็น่าจะเรียบเรียงข่าวได้
“ส่วนเรื่องการเขียนข่าว หรือแม้แต่การเขียนหนังสือเป็นสิ่งที่ผมไม่รู้ตัวมาก่อนว่าทำได้ สมัยอยู่มหาวิทยาลัย ผมไม่ได้เขียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลยนะ มีแค่เขียนรายงาน แต่ผมเขียนรายงานค่อนข้างดี เรามีวิธีการเขียนที่น่าสนใจ ทักษะนี้ผมมีมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมที่จันทบุรีแล้ว ผมเขียนการบ้านภาษาไทยให้เพื่อน เพื่อนทำไม่ได้ผมก็เขียนให้ ไม่ซ้ำกันด้วย แถมสนุกด้วย ก็รู้ว่าชอบเขียน แต่ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาเขียนอะไรจริงจัง
“ผมก็ไปสมัครงานแล้วก็สัมภาษณ์กับพี่ชลิต (ชลิต กิติญาณทรัพย์) คนนี้เป็นอาจารย์หนังสือพิมพ์คนแรกของผม กับพี่ปิยะชาติ (ปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์) สองคนนี้เป็นบรรณาธิการของ ประชาชาติธุรกิจ พี่เขาก็สัมภาษณ์คุยเรื่องประเด็นข่าวต่างๆ เราก็พอรู้เรื่อง ผมเลยได้รับเลือกเข้าทำงานเป็นผู้สื่อข่าวที่ ประชาชาติธุรกิจ โต๊ะข่าวอุตสาหกรรม นั่นคืองานแรกของผม
“บอกตามตรงว่าตอนนั้นไม่ได้คิดไกล คิดอย่างเดียวคือมีเงินเดือน จากเดิมที่ต้องรับเงินที่บ้าน ตอนนี้ก็มีเงินเดือนเป็นของตัวเอง แม้เงินเดือนผมตอนนั้นคือ 3,300 บาทก็ตามนะครับ (หัวเราะ) แต่ก็เป็นสิ่งที่ผมภูมิใจมาก
“งานแรกของเรามันยาก แต่มันยากเพราะว่าเราไม่เคยทำ มันก็เลยต้องขลุกอยู่กับงาน ทุ่มเทมากหน่อย พยายามหาทางทำยังไงก็ได้ให้เรามีความรู้ในเรื่องที่เราทำให้ได้ ที่ มติชน เขาจะมีศูนย์ข้อมูลมติชนที่คอยเก็บแฟ้มข่าวเก่าๆ เอาไว้เป็นหมวดหมู่ ตอนนั้นผมรับผิดชอบข่าวอุตสาหกรรมสุรา ข่าวปูนซีเมนต์ ปิโตรเคมี แล้วก็ข่าวอะไรอีกสองสามข่าว ผมก็หาเวลาไปนั่งอ่านข่าวย้อนหลังเพื่อให้รู้ที่มาที่ไปของแต่ละเรื่อง ต่อมาเรื่องสัมภาษณ์ เราไม่เคยทำมาก่อน ผมก็เรียนรู้เอาจากรุ่นพี่ สังเกตว่าเขามีวิธีถามยังไง คำถามแรกยิงยังไง เรียนรู้การคุยโทรศัพท์กับแหล่งข่าว วิธีเอาข้อมูลมาจากแหล่งข่าว วิธีเอาคำตอบอย่างนุ่มนวล เทคนิคพวกนี้เรามีความรู้เป็นศูนย์เลย แต่ก็เรียนรู้เอา เรียนรู้จากการทำงานนี่แหละ
“แม้แต่การพิมพ์งาน ผมก็ทำไม่เป็น เชื่อไหมตอนนั้นผมพิมพ์ดีดไม่เป็น ผมขอให้เพื่อนชื่อนก เธอพิมพ์ดีดเก่งมาก มาช่วยพิมพ์ข่าวให้ผม ตอนแรกเราแอบๆ กันก่อน (หัวเราะ) แต่พี่ชลิตเขารู้ว่าผมแอบให้คนอื่นพิมพ์ให้ เขาก็จะมาคอยจิกผมสั่งว่า “เฮ้ย มึงต้องพิมพ์เอง” ผมก็เริ่มหัด จิ้มๆๆ นี่ก็เรียนรู้จากศูนย์เหมือนกัน
“พี่ชลิตเป็นคนที่สอนบทเรียนสำคัญอย่างหนึ่งให้กับผมในตอนที่เขียนข่าวช่วงแรกๆ ตอนนั้นเวลาสัมภาษณ์แหล่งข่าวผมก็จะจดชอร์ตโน้ตในสมุด แล้วก็มาร่างเป็นเนื้อข่าว นายคนนี้กล่าวว่าอะไร พอร่างเสร็จค่อยมาพิมพ์อีกที แต่พี่ชลิตสอนว่า “ถ้าเอ็งจดชอร์ตโน้ตตอนสัมภาษณ์ แล้วมาร่างเป็นเนื้อหาข่าว เสร็จแล้วก็ค่อยเอาไปพิมพ์ เอ็งทำสามขั้นตอน แล้วเอ็งก็จะทำอย่างนี้ไปทั้งชีวิต เพราะฉะนั้นให้บายพาสจากหนึ่งไปสามเลย อย่าร่าง มึงเขียนชอร์ตโน้ตไว้นี่ มึงก็วงเอาไว้ จะเอาอะไรก่อน 1-2-3 จำแล้วมึงพิมพ์เลย”
“หลังจากนั้นเป็นต้นมาในการทำงาน ผมจะตั้งคำถามอยู่เสมอว่าเรื่องนี้เราข้ามได้ไหม ถ้าข้ามครั้งที่หนึ่ง มันจะข้ามได้เรื่อยๆ จนวันนี้ผมไม่ต้องแล้ว ผมนั่งคุยกับคุณแบบนี้ เสร็จแล้วผมเขียนได้เลย หรือผมอาจจะวงๆ นิดเดียวสามประเด็นแล้วผมก็เขียนได้เลย
“นั่นแหละงานแรกของผมที่เริ่มจากไม่รู้อะไรเลย แต่หลังจาก 3-4 เดือนผมก็พบว่าไม่มีอะไรยากเกินเรียนรู้ สิ่งที่เราไม่รู้เพราะว่าเรายังไม่เคยทำเท่านั้นเอง”
สรกล อดุลยานนท์
คอลัมนิสต์, นักเขียน นามปากกา ‘หนุ่มเมืองจันท์’
ผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน และผู้จัดการศูนย์ข้อมูลมติชน
“สิบปีแรกในการทำงานของผมก็วนเวียนอยู่กับข่าว ประชาชาติธุรกิจ ตอนนั้นคนน้อย โฆษณาก็เข้าน้อยด้วย โดยเฉพาะช่วงปีใหม่ ช่วงวันหยุดยาวจะมีพื้นที่เยอะมากที่เป็นหน้าว่าง มันต้องใส่เนื้อหาถมให้เต็ม ช่วงนั้นหลายคนรู้สึกว่าภาษาในการเขียนของผมดี เรื่องราวที่ผมนำเสนอใช้ได้ พี่ๆ เขาก็เลยเสนอว่าให้ผมเขียนสกู๊ป ผมก็เลยได้โอกาสลองเขียนสกู๊ปต่างๆ ซึ่งมันต่อยอดการเป็นคอลัมนิสต์และนักเขียนให้ผมได้ด้วยในเวลาต่อมา
“ซึ่งตอนนั้นถ้าผมกลัวผมก็คงจะปฏิเสธ เขียนข่าวแบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว แต่ผมมองว่าเวลาที่เขาโยนงานมาให้เรา มันมีสองมุมมอง หนึ่งมองว่ามันเป็นปัญหา เขาถึงโยนมาให้เรา สองคือมองว่ามันเป็นโอกาสในการเรียนรู้ ผมมองแบบที่สอง ผมก็รับงานเขียนสกู๊ปนี้มา เมามันไปกับสองหน้าหนังสือพิมพ์ ต้องเขียนให้เต็ม ต้องคิดว่าทำยังไงให้คนอ่านตามเราไปจนจบ ต้องหาเทคนิคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งเรื่องเพื่อให้ตามต่อ การใช้รูปมาประกอบ การใช้ตารางมาประกอบ การล้อมกรอบเพื่อให้เรื่องมันดูสั้น แต่พาผู้อ่านไปถึงบรรทัดสุดท้ายได้ ทั้งที่เนื้อหาจริงๆ มันยาวแต่เขารู้สึกว่าไม่ยาว
“ทั้งหมดนี้ผมเรียนรู้จากงานคนอื่น งานคนอื่นเป็นครูที่สำคัญที่สุดของการเขียน คุณต้องดูว่างานชิ้นนี้มันดีเพราะอะไร พอเลาะตะเข็บเจอว่ามันดีเพราะอะไร ก็เอาเทคนิคนั้นมาใช้ งานเขียนผมมีครูจริงๆ อยู่สามคน คนแรกคือพี่เสถียร จันทิมาธร ของ มติชน พี่เสถียรนี่เป็นเทคนิคของการใช้วรรณกรรมกำลังภายในมาใช้ในการวิเคราะห์การเมือง คนที่สองคือคุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผมชอบการขยี้ขยายของเขา การขุดลึกไปในจิตใจคน พรรณนาโวหารหรือคำที่บัญญัติขึ้นมา มีความคมคาย คนที่สาม ผมชอบคุณสนธิ ลิ้มทองกุล สมัยเขาทำหนังสือ ผู้จัดการรายเดือน เขามีสำนวนการเขียนสกู๊ปที่กระชากและสนุกมาก สิ่งที่ผมใช้ในการเขียนสกู๊ปคือผมใช้ลีลากระชากจากเขา ในแง่การเขียนบทความ เขียนสกู๊ปอะไรต่างๆ ก็จะใช้สามคนนี้เป็นครู
“แต่นับจนถึงวันนี้ ความสุขผมคือการเป็นนักข่าวมากกว่านักเขียน ยังเมามันกับงานข่าวอยู่ จนถึงวันนี้ผมก็ยังเป็นนักข่าว มองอะไรเป็นมุมข่าว แต่วันนั้นผมรู้ว่าผมเขียนได้แล้วก็รู้สึกว่าเริ่มเขียนดี เวลาเราเขียนแล้วรู้สึกว่าเราเอาอยู่ เราก็จะรู้สึกแฮปปี้กับมัน เหมือนเราหาข่าวเอกซ์คลูซีฟแล้วเราได้ข่าวก่อนใคร แบบเดียวกันเลย
“จากเป็นนักข่าว ผมก็เป็นผู้ช่วยหัวหน้าข่าว เป็นหัวหน้าข่าวโต๊ะการตลาด เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวที่ ประชาชาติ แล้วก็ช่วงนั้นเองเป็นช่วงที่พี่เสถียร บรรณาธิการบริหารนิตยสาร มติชนสุดสัปดาห์ ชวนผมไปเขียนใน มติชนสุดสัปดาห์ ไปเขียนสกู๊ปประวัติชีวิต คือพี่เสถียรแกอยากจะนำเสนอเรื่องราวของนักธุรกิจรุ่นใหม่ เพราะรู้สึกว่ามติชนสุดสัปดาห์น่าจะมีเรื่องธุรกิจ นักธุรกิจใหม่ๆ ที่มาแรงๆ บ้าง แกก็ชวนผมไปเขียน
“ผมก็เลยเขียนเรื่อง ‘ทักษิณ ชินวัตร อัศวินคลื่นลูกที่สาม’ ลงใน มติชนสุดสัปดาห์ ตอนหลังเอาไปรวมเล่มเป็นหนังสือด้วยนะ แต่ถือว่านั่นเป็นชิ้นแรกที่ผมเขียนในมติชนสุดสัปดาห์ ตอนนั้นน่าจะหลังปี 2535 พอเขียนแล้วปรากฏว่ามันเวิร์ก พี่เถียรก็ขอคนที่สอง ผมก็เขียนเรื่อง ‘เจริญ สิริวัฒนภักดี จอมยุทธ์น้ำเมา’ พอดีผมทำเรื่องข่าวเรื่องเหล้า ก็เลยเอาเรื่องนี้มาเขียน แล้วก็ช่วงนั้นแหละที่พี่เถียรเขาอยากได้คอลัมน์ที่เป็นคอลัมน์ธุรกิจแบบง่ายๆ ในมติชนสุดสัปดาห์ เขาก็เลยขอให้ผมเขียน นั่นคือที่มาของคอลัมน์ ‘ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ’ โดย ‘หนุ่มเมืองจันท์’
“พี่เถียรบอกว่าคอลัมน์นี้ก็คือคอลัมน์ธุรกิจแบบง่ายๆ เพราะต้องการให้มติชนสุดสัปดาห์มันเป็นเหมือนร้านโชห่วย มีทุกอย่าง ตอนนี้คนสนใจเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องธุรกิจ ให้เขียนเรื่องธุรกิจแบบง่ายๆ ได้ไหม ผมก็เลยบอกว่า โอเคพี่ พอไปยื่นต้นฉบับพี่เถียรถามว่า แล้วชื่อคอลัมน์อะไร ผมก็นึกว่าพี่เถียรจะตั้งให้ (หัวเราะ) ผมก็เลยคิดง่ายๆ เร็วๆ ว่า ‘ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ’ เพราะตอนนั้นคนนิยมกินอาหารฟาสต์ฟู้ดเพราะมันง่าย เร็ว ผมก็เอาง่ายๆ แบบนี้แหละ ส่วนเรื่องนามปากกาหนุ่มเมืองจันท์นี่ง่ายยิ่งกว่า คือในตอนนั้นเลย์เอาต์หนังสือด้านล่างจะมีคอลัมน์หนึ่งชื่อว่า ‘แวะห้องโฆษณา’ โดย ‘สาวระยอง’ ผมก็เล่นเลย อ้าว สาวระยองก็เจอหนุ่มเมืองจันท์ จบ ไม่ครีเอตอะไรทั้งสิ้น “ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ โดยหนุ่มเมืองจันท์” จบ บางเรื่องก็ไม่ต้องไปซับซ้อน
“เขียนไปสักพักหนึ่งผมก็รู้สึกว่า เอ๊ะ มันยังมีเรื่องตลกอีกเยอะมากเลย เรื่องมันสนุก เสียดายที่ผมมีคอลัมน์แค่คอลัมน์เดียว ผมก็เลยต้องพยายามใส่มันเข้าไปให้ได้ ก็เลยลองสร้างเรื่องจากเรื่องที่ฟังมาให้มันอิงกับธุรกิจสักหนึ่งประโยค แล้วก็ใส่ตัวละครเข้าไป ตอนแรกก็ไม่มีตัวละครเท่าไหร่ ตอนหลังก็ใส่ไป เฮ้ย คนก็ชอบนี่หว่า “อมร ติ๊น สมชาย” มันเลยเกิดขึ้นจากตรงนั้น คนก็ชอบกัน ชื่อผมก็เอามาจากเพื่อนๆ อย่างติ๊นพอไปทำข่าว คนที่ให้สัมภาษณ์รู้ว่าชื่อติ๊น เขาก็ถามว่า “นี่ใช่ติ๊นในฟาสต์ฟู้ดหรือเปล่า?” (หัวเราะ)
“ช่วงนั้นผมมักจะบ่นกับพี่เถียรอยู่เรื่อยๆ ว่า มติชน มีต้นฉบับเยอะแยะเลย โดยเฉพาะ มติชนสุดสัปดาห์ ทำไมเราไม่ทำสำนักพิมพ์ของเราเอง มติชน น่าจะมีสำนักพิมพ์ เพราะเรามีทั้งฝ่ายจัดจำหน่ายของเราเอง เรามีแท่นพิมพ์ของเราเอง เรามีต้นฉบับ และมีสื่อในมือที่ช่วยโฆษณาหนังสือ พร้อมหมดเลย ตอนนั้นสำนักพิมพ์มติชนมีอยู่แล้วแต่ส่วนใหญ่เป็นงานฝากให้พี่เถียรช่วยดูแล ปีหนึ่งออกสักเล่ม สองเล่ม ผมก็พูดๆ บ่นๆ เขาคงรำคาญก็เลยย้ายผมไปทำให้จบเรื่องไป (หัวเราะ) พอดีพี่ธรรมเกียรติ กันอริ ที่ดูแลสำนักพิมพ์ต่อจากพี่เสถียรเขาลาออก พี่ช้าง–ขรรค์ชัย บุนปาน ก็เลยโยกผมไปทำสำนักพิมพ์ ไปบุกเบิกสำนักพิมพ์มติชนอย่างจริงจัง แล้วก็ไปทำศูนย์ข้อมูลมติชนเป็นตำแหน่งพ่วง เป็นผู้จัดการทั้งสองที่มันทำให้ผมรู้อย่างหนึ่งว่าความมืดไม่น่ากลัวเท่ากับจินตนาการในความมืด เวลาที่เราอยู่ในความมืดเราจะรู้สึกกลัว ที่เรากลัวไม่ใช่เพราะมันมืดแต่เพราะว่าเรามักจินตนาการว่ามันมีสิ่งที่เรากลัว ทั้งๆ ที่เรายังไม่เห็นอะไรเลย เวลาผมทำอะไรใหม่ๆ ผมจึงมักจะบอกตัวเองว่ากลัวให้น้อยและสนุกไปกับมันให้มากที่สุด
“ในตอนนั้นสำนักพิมพ์ยังไม่มีอะไรเลย แต่ศูนย์ข้อมูลมีหมดแล้ว ผมก็ได้เรียนรู้ว่าศูนย์ข้อมูลเป็นทรัพยากรที่ใหญ่มาก แล้วก็เวลาทำงานที่ไม่รู้ผมก็เอาวิธีการแบบนักข่าวมาใช้ คือผมไม่รู้เรื่องศูนย์ข้อมูล ไม่รู้กฤตภาคคืออะไร แต่ถ้าผู้ช่วยผู้จัดการอีกท่านนึงที่จบบรรณารักษ์กับที่ปรึกษาศูนย์ข้อมูลที่เป็นผู้บริหารห้องสมุดที่ธรรมศาสตร์ ถ้า 2 คนนี้พูดตรงกันเมื่อไหร่แปลว่าเรื่องนี้ถูกต้อง ผมอย่าไปขัดหรือไปยุ่ง แต่ถ้าความเห็นไม่ตรงกัน ผมก็จะใช้วิชานักข่าว ตั้งคำถาม จับประเด็น และตัดสินใจ งานมันก็เดินไปได้
“ที่ศูนย์ข้อมูลมันเป็นองค์กรของรายจ่าย ไม่เคยมีรายได้ เพราะเป็นห้องสมุด ผมเป็นนักข่าวผมเลยรู้ว่า pain point ของมันคือการทำแฟ้มข่าว ข่าวมันโคตรช้า ช้าไปเดือนนึง แล้วผมก็รู้ว่าถ้าเรายังเป็นองค์กรที่มีรายจ่ายไปเรื่อยๆ พอถึงเวลาวิกฤตเศรษฐกิจ น้องๆ เราจะโดนจิ้มออกเป็นกลุ่มแรก ผมไม่อยากเจอสถานการณ์แบบนั้น จะทำยังไงให้เป็นองค์กรรายได้ นั่นคือที่มาของการขายข้อมูล ผมรู้ว่าสมัยก่อนฝ่ายประชาสัมพันธ์ทุกคนต้องมาตัดข่าว หนังสือพิมพ์ ซื้อมาทีสิบฉบับ ตัดข่าวเสียบๆ ส่งให้ กว่าเจ้านายจะอ่านก็เที่ยงบ่าย ขณะที่ของเรามีฝ่ายที่ทำตรงนี้อยู่แล้ว ผมก็แค่เปลี่ยนระบบการทำงานใหม่ก็คือให้ฝ่ายตัดปะที่เดิมเข้างาน 7 โมงเช้า เปลี่ยนมาเข้าตี 4 เพื่อให้แฟ้มข่าวเสร็จประมาณ 10 โมงเช้าเป็นอย่างช้า ส่งสินค้าให้กลุ่มเป้าหมายได้เร็วขึ้น ลูกค้าคือพวกพีอาร์ก็ยิ้มเลย หนึ่ง–คุณไม่ต้องซื้อหนังสือพิมพ์ทั้งหมด สอง–คุณไม่ต้องตัดปะเอง มีคนแยกให้เรียบร้อยแล้วยื่นได้เลย เอเจนซีโฆษณาชอบมาก ตอนนั้นก็ได้ล้านกว่าบาท ก็ทำให้ที่นี่กลายเป็นแหล่งทำรายได้ จากองค์กรรายจ่ายด้วยกระบวนการปกติ พอปรับระบบงานนิดหน่อย เอาดีมานด์-ซัพพลาย เอา pain point ของแต่ละจุดมาจับเท่านั้นเองก็ทำรายได้ขึ้นมา เวลาองค์กรมีปัญหาน้องๆ จะได้ไม่เป็นคนที่ถูกผู้บริหารจิ้มให้ออก เพราะยูนิตนี้ไม่ทำเงิน
“ส่วนสำนักพิมพ์นั้นสนุกมากตรงที่ว่ามันเป็นงานบุกเบิก ทุกครั้งที่ได้งานบุกเบิกผมจะโคตรสนุกเลย เพราะมันเป็นที่ดินว่างเปล่า คุณปลูกต้นไม้ก็ได้ต้นไม้ ปลูกบ้านก็ได้บ้าน ฉะนั้นผมก็สนุกกับมัน ผมรู้ว่าแต่ก่อนต้นฉบับจาก มติชน มีหลายสำนักพิมพ์จะเอาไปพิมพ์รวมเล่ม ทุกคนก็ขอ นักเขียนก็ไปพิมพ์กับที่อื่น คราวนี้เราก็เลยทำเองทั้งหมด จะไปให้คนอื่นเขาทำไม เรามีของเราเองแล้ว ต้นฉบับต่างๆ ก็มีอยู่ ปรับระบบการทำงานนิดนึงเพราะว่าคนส่วนใหญ่ของ มติชน คุ้นชินกับหนังสือพิมพ์และนิตยสาร เราก็ปรับความสวยความงามต่างๆ สำนักพิมพ์ก็เกิดได้ แล้วตอนนั้นประมาณปี 2537-2549 เป็นยุครุ่งเรืองของสำนักพิมพ์ต่างๆ ด้วยก็เลยโชคดีไป จากเดิมเคยพิมพ์ปีนึงสองเล่ม พอผมตั้งหลักได้ก็พิมพ์เดือนละสิบกว่าเล่ม พีคสุดคือ 30 เล่มต่อเดือน แทบจะออกรายวันเลย ช่วงนั้นผมก็เอาผลงานตัวเองมารวมเล่มด้วย
“ปีสุดท้ายที่ผมบริหารสำนักพิมพ์ ปีนั้นผมทำรายได้ 134 ล้านบาท แล้วก็ทำกิจกรรมเยอะ กิจกรรม Happy Book Day ที่ตระเวนไปตามต่างจังหวัด ส่วนหนึ่งก็คือการสร้างแบรนด์สำนักพิมพ์มติชนให้ผู้อ่านทั่วประเทศได้รู้จัก เพราะส่วนใหญ่จะรู้จัก มติชน ในฐานะของหนังสือพิมพ์ อีกส่วนหนึ่งคือการระบายสต็อกหนังสือเก่า มันเป็นช่องทางระบายที่ดีมากครับ และได้รู้จักกับผู้อ่านถึงที่ด้วย การทำสำนักพิมพ์มติชนของผมมันเต็มไปด้วยความสนุกจริงๆ ใช้ ‘ความสนุก’ เป็นตัวขับเคลื่อน เริ่มจากไม่มีอะไรเลย แต่ไม่ใช่ไม่มีข้อผิดพลาดนะ มีแหละ แต่ผมเป็นคนขี้ลืม นี่คือข้อดีเลย จำอะไรไม่ได้ ถ้าเราใช้เวลาเหลียวหลังมองนานหรือมากเกินไป มันจะไปข้างหน้าได้ช้า แต่ผมรู้สึกว่าข้างหน้ามันมีความสนุกรออยู่ ปัญหามันก็เลยผ่านเร็ว คือเวลาทำงานด้วยความสนุก ปัญหาที่มันเคยมีมันจะผ่านไปได้เร็ว สักพักหนึ่ง โอ้โห มันไปสิบไมล์แล้ว มันไม่มีเวลาไปจมอยู่กับอดีต มันต้องไปต่อ”
สรกล อดุลยานนท์
ผู้ก่อตั้ง สถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ
ABC (Academy of Business Creativity)
“หลังจากทำงานที่มติชนมาตั้งแต่ปี 2529 ทำเกือบทุกอย่าง ย้ายงานไป 8 หน่วยงาน แม้กระทั่งฝ่ายโฆษณาและบุกเบิกดิจิตอลทีวีให้มติชน ประมาณปี 2556 ผมก็เริ่มอิ่มตัว ความรู้สึกสนุกในการทำงานหายไป ประกอบกับภรรยาตรวจเจอมะเร็ง ผมอยากใช้เวลาดูแลครอบครัวมากขึ้น ผมเลยลาออกจาก มติชน คือตอนลาออกนี่ผมคิดในใจว่ารายได้มันคงจะพออยู่ได้ ตอนนั้นผมเริ่มมีงานบรรยายข้างนอก มีรายได้ระดับหนึ่ง สอง–ผมมีรายได้ประจำจากการเขียนคอลัมน์ประจำใน มติชนสุดสัปดาห์ และของ ประชาชาติธุรกิจ อยู่ คาดว่าถ้าผมออกเมื่อไหร่ก็จะคงมีงานเขียนอื่นเข้ามา สาม–ผมมีรายได้จากพ็อกเก็ตบุ๊กซึ่งตอนนั้นพิมพ์ซ้ำปีละ 2-3 เล่ม ผมคำนวณรายได้แล้วว่าแบบนี้น่าจะรอด เลยลาออก ออกไปปุ๊บ หลังจากนั้นผ่านไปธุรกิจสิ่งพิมพ์ก็เริ่มลง (หัวเราะ) ไอ้ที่พิมพ์ซ้ำปีละ 2-3 เล่มก็เริ่มลดลง คือสิ่งที่คาดการณ์ไว้ว่ารายได้จะมาจากทางนี้ก็จบ ถ้าไม่มีงานบรรยายเข้ามาก็แย่แน่ แต่โชคดีที่งานบรรยายมีเยอะ (หัวเราะ) โชคดีที่ผมอาจจะมีชื่อเสียงอยู่บ้างในเรื่องของการเขียนแนวธุรกิจ ก็ได้ไปบรรยายเรื่องนี้ก็มีรายได้
“แล้วสักพักหนึ่ง โจ้–ธนา เธียรอัจฉริยะ และ ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุมที่เรียนหลักสูตรธุรกิจเดียวกับโจ้ คิดว่าวันหนึ่งอยากทำหลักสูตรธุรกิจขึ้นมา อยากให้โจ้มาช่วยทำ โจ้ก็คิดว่าเขาอยากทำหลักสูตรที่มีสมองซีกซ้าย-ซีกขวา คือหลักสูตรธุรกิจส่วนใหญ่จะมีสมองซีกเดียว แต่เขาอยากได้สมองซีกขวาที่มีความคิดสร้างสรรค์ด้วย เขาก็คิดถึงผมขึ้นมา เพราะผมกับโจ้เคยทำงาน Happy Book Day มาด้วยกัน เพราะดีแทคเป็นสปอนเซอร์หลัก เราคุ้นเคยกันในการทำงาน โจ้ก็เป็นตัวละครของผมด้วย ผมเขียนเรื่องโจ้บ่อยมาก (หัวเราะ)
“ผมบอกว่าผมไม่เคยทำหลักสูตรนะในชีวิตนี้ โจ้ก็บอกเขาก็ไม่เคยทำเหมือนกัน ก็มาร่วมกันทำ ผมก็ทำด้วยความสนุก สนุกขนาดที่ตอนคิดรายละเอียดหลักสูตรเสร็จเราอยากเป็นนักเรียน ไม่อยากเป็นผู้อำนวยการหลักสูตรแล้ว
“หลักสูตร ABC คือหลักสูตรที่เอาวิทยากรด้านธุรกิจและความคิดสร้างสรรค์มาให้ความรู้ อย่างเช่นวันหนึ่งคุณได้ฟัง อนันต์ อัศวโภคิน คนที่สองอาจจะเป็นประภาส ชลศรานนท์ คนหนึ่งเป็นเศรษฐา ทวีสิน อีกคนหนึ่งอาจจะเป็นพี่สุรชัย พุฒิกุลางกูร อย่างนี้ครับ เราก็สร้างหลักสูตร แล้วปิดท้ายด้วยสิ่งที่เขานึกไม่ถึงคือการทำหนังสั้น (หัวเราะ)
“คนที่มาเรียนส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจที่พร้อมจ่ายเงิน แล้วเขาก็ไม่รู้เรื่องทำหนังเลย เราให้เขาทำหนังสั้น โดยคนที่สอนคือเก้ง–จิระ มะลิกุล GDH นะครับ เรามักจะนึกว่าหนังสั้น 5 นาทีมันทำง่าย เรียนสอนแป๊บเดียวเดี๋ยวก็ทำได้ แต่หลักสูตรหนังสั้นคณะนิเทศฯ เขาเรียนเทอมหนึ่ง หนึ่งเทอมกับเด็กนิเทศฯ ที่รู้เรื่องทำภาพยนตร์มาแล้ว แต่นักธุรกิจที่ไม่เคยรู้เรื่องเลย แล้วมาสอนบรรยายเพียงแค่หนึ่งวัน เขียนบทแล้วก็ถ่ายทำ แล้วก็มาเป็นหนัง พอเล่าให้พี่เก้งฟัง พี่เก้งก็สนุก บอกว่าโอเค ผมทำ ผมก็สนุก แล้วแทบทุกคนก็มาเล่นด้วยกันเต็มที่ ก็กลายเป็นหลักสูตรหนึ่งที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จครับ ตอนนี้ก็รุ่นที่ 12 แล้ว
“ถึงวันนี้ผมทำงานมา 30 กว่าปี ผมก็ยังพยายามผลักดันงานด้วยความสนุกอยู่นะ พอสนุกแล้วมันมีพลัง งานจะออกมาดี แต่ถ้า เออ ทำๆ ไปเถอะ อันนี้จะออกมาไม่ดี เราจึงพยายามขับเคลื่อนงานด้วยความสนุก แต่ถ้างานไหนที่ไม่สนุกเราก็ยังพอมีความเก๋าที่ช่วยทำให้มันผ่านไปได้ ความเก๋ามันช่วยได้เหมือนกัน ผมเขียนบทความวันแรกๆ ผมอยากตายนะ แต่ถ้าผมเขียนวันนี้ผมสบาย มีสกิลเอาตัวรอดไปได้ (หัวเราะ)
“พอมาถึงวันนี้ ผมก็ไม่ใช่หนุ่มๆ ผมเลยเบางานตัวเองแล้วนะ ทำงานที่เลือกมากขึ้น วัยหนุ่มน่ะเราจะเห็นโอกาสอยู่เสมอ แต่วัยนี้เนี่ยเรารู้แล้วว่าโอกาสมาพร้อมกับความเหนื่อย ฉะนั้นอย่าเห็นมันบ่อย (หัวเราะ) มันจะเหนื่อย วัยนี้เราไม่ได้ต้องการโอกาสขนาดนั้นแล้ว แต่โอกาสสำหรับตอนนี้บางทีมันคือโอกาสที่จะบอกคนอื่นให้ทำแล้วถ้าทำสำเร็จเรามีความสุขก็จบแล้ว ความสุขเราไม่ต้องทำเองทุกเรื่อง เห็นโอกาสไม่ต้องทำเองทุกเรื่อง มันเป็นเรื่องของวัย ถ้าวัยนี้ยังกระหายโอกาส ยังตื่นเต้นเหมือนหนุ่มๆ อยู่ มันเหนื่อยมากเลยนะเพราะเข่าเราไม่เหมือนเดิมแล้ว ฉะนั้นเราต้องรู้ว่าจังหวะไหน เวลาไหน ที่พอเหมาะพอควร”