427
July 20, 2023

Bible of Biblio

9 วิธีคิดในการทำธุรกิจหนังสือให้ขายดีติดอันดับตามแบบฉบับของ Biblio

หากเป็นอดีต หนึ่งในสิ่งบันเทิงที่เป็นที่นิยมก็คือ ‘หนังสือ’ แต่ในยุคโซเชียลมีเดียที่เต็มไปด้วยคอนเทนต์ และมีสารพัดกิจกรรมบันเทิงให้เสพ แน่นอนว่าการมีตัวเลือกที่มากขึ้น และโลกเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อมูลค่าตลาดหนังสือ ซึ่งธุรกิจสิ่งพิมพ์เหล่านี้ก็ต้องปรับตัวเพื่อหาทิศทางให้หนังสือเดินต่อไปได้

แม้ตลาดหนังสือที่ถูกท้าทายด้วยหลายปัจจัย แต่ Biblio กลับเป็นสำนักพิมพ์ที่หนังสือเกือบทุกเล่มขึ้นชั้นขายดี ที่สำคัญคือเป็นสำนักพิมพ์ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2563 ปีที่มีการระบาดของโควิด ที่ร้านหนังสือต้องปิดชั่วคราว และไม่มีงานหนังสือประจำปีเช่นทุกๆ ปี

Capital List ตอนนี้จะพาไปถอด 9 วิธีคิดของ จีระวุฒิ เขียวมณี บรรณาธิการบริหารและหนึ่งในผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Biblio ผู้ที่อยู่เบื้องหลังยอดขายและการพาหนังสือไปอยู่บนชั้นหนังสือขายดีทั้งในร้านหนังสือออนไลน์และออฟไลน์

1. วางลำดับการปล่อยหนังสือเล่มแรกให้ดี เพราะเป็นการสะท้อนตัวตนของแบรนด์

นอกจากคอนเซปต์ของสำนักพิมพ์ที่ต้องชัดเจนว่าเราคือใคร มีคาแร็กเตอร์แบบไหน อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือการวางลำดับการปล่อยหนังสือเล่มแรก วิธีนี้จะทำให้ผู้อ่านรับรู้ได้ว่าเราคือใคร เป็นสำนักพิมพ์ที่มีความเชื่อแบบไหน สื่อสารเรื่องอะไร กับใคร 

2. วางแผนเส้นทางช่วง 5 ปีแรกของบริษัทให้ชัดเจน

โดยเส้นทาง 5 ปีแรกของ Biblio นั้นในปีที่ 1 เป็นการกำหนดให้ชัดว่าจะเป็นบริษัทขนาดไหน เป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ หรือใหญ่ ปีที่ 2 หาว่าจะเป็นบริษัทที่ทำอะไรบ้าง เมื่อเข้าสู่ปีที่ 3 ต้องแตกไลน์โปรดักต์ จึงจะเห็นว่าหลังจากเปิดตัวไปสักพัก Biblio เปิดตัว BiLi สำนักพิมพ์ที่มีนิยายแปลหลากแนวหลายอารมณ์ในแวดวง Boy’s Love ปีที่ 4 จะเป็นยังไงต่อ และปีที่ 5 จะต้องเห็นภาพที่ชัดเจน เช่นจากสำนักพิมพ์ขนาดเล็กจะก้าวไปสู่สำนักพิมพ์ขนาดกลางที่มีหนังสือออกใหม่ต่อเนื่องทุกๆ เดือน

3. มองหาและมองให้เห็นทิศทางของผู้อ่าน

ต้องดูฟีดแบ็กผู้อ่านว่าเป็นยังไง ไปในทิศทางไหน เพราะการมองเห็นทิศทางที่ชัดเจนของผู้อ่านสำคัญมาก วิธีที่ Biblio ทำคือวิเคราะห์ข้อมูลยอดขายจากต่างประเทศ พฤติกรรมการสั่งซื้อหนังสือของคนอ่าน และดูข้อมูลตัวเลขว่าผู้อ่านมีปฏิกิริยาหรือมีความสนใจกับคอนเทนต์ประเภทใดที่นำเสนอไป ซึ่งการดูข้อมูลจะช่วยให้ประเมินผู้อ่านและตลาดหนังสือได้

4. ทำหนังสือให้เข้าถึงคนอ่านให้ง่ายที่สุด

เข้าถึงคนอ่านให้ง่ายที่สุดของ Biblio คือการทำหนังสือที่สังเคราะห์ง่ายหรือย่อยง่าย ขณะเดียวกันก็ให้ความบันเทิง และไม่เคร่งเครียดชนิดตำราเรียน เพื่อให้คนอ่านสามารถหยิบขึ้นมาอ่านได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการมองหาพล็อตเรื่องใหม่ๆ เลือกหยิบประเด็นที่เชื่อมโยงกับสังคม ไปจนถึงการบรรจงกับดีไซน์ของหน้าปกหนังสือ 

5. มองหนังสือให้รอบด้าน มองให้ครบ 360 องศา 

ในหนึ่งปีมีไม่กี่สัปดาห์เท่านั้นที่สำนักพิมพ์จะได้เจอกับผู้อ่านโดยตรง และอีกสามร้อยกว่าวันคือหน้าที่ของร้านหนังสือและตัวแทนขาย ดังนั้นต้องมองหนังสือให้รอบด้านว่าน่าสนใจยังไง นำเสนอมุมไหนได้ เพื่อทำให้ฝ่ายขายเห็นศักยภาพของหนังสือและสื่อสารต่อไปยังผู้จัดการร้านหนังสือ เพราะคนเหล่านี้คือตัวแปรสำคัญที่จะนำข้อมูลนั้นไปขายให้กับลูกค้า และมันยังทำให้พาร์ตเนอร์ทำงานง่ายขึ้น และทำให้หนังสือแต่ละเล่มไปต่อได้ในเชิงธุรกิจ

6. มองต้นทางจนถึงปลายทางของหนังสือด้วยมุมธุรกิจ 

คล้ายกับทุกๆ ธุรกิจที่ต้องมองเส้นทางและส่วนประกอบอื่นๆ นอกจากมองเห็นองค์ประกอบว่าโปรดักต์เป็นยังไง ต้องพัฒนาโปรดักต์ด้วยวิธีแบบไหน หรือช่องทางการจัดจำหน่ายที่ทำอยู่เหมาะสมหรือไม่ สำหรับธุรกิจหนังสือที่เป็นเหมือนผลงานศิลปะเชิงพาณิชย์ก็ต้องตรวจสอบเหมือนกันว่าหนังสือที่ทำอยู่มีคุณค่าเพียงพอแก่ผู้อ่านแล้วหรือยัง  เพราะหากมองหนังสือเป็นเพียงสินค้าประเภทหนึ่งมากเกินไป ก็อาจจะไม่ได้ใส่ใจลงไปมากพอ มันก็จะกลายเป็นสินค้าที่กินอิ่มแต่ไม่ประทับใจ

7. เปลี่ยนมุมในการนำเสนอหนังสือรวมถึงวิชวลต่างๆ

แน่นอนว่าหนังสือหนึ่งเล่มมีหลายมุมมอง ทั้งดราม่า อบอุ่น ฟีลกู๊ด ฯลฯ ดังนั้นในการนำเสนอเนื้อหาและวิชวลต่างๆ จึงต้องครอบคลุมและปรับเปลี่ยนเสมอๆ เพราะจากหนังสือที่อาจอยู่นอกสายตาคนอ่าน เมื่อจับแต่งตัวใหม่ก็อาจน่าสนใจขึ้นได้เช่นกัน 

8. ทำหนังสือให้คนอ่านรู้สึกอยากหยิบหนังสือของสำนักพิมพ์เรามาพิจารณา

ธรรมชาติของตลาด เมื่อโปรดักต์หรือหนังสือเล่มไหนขายดี ทุกคนก็จะนำเสนอโปรดักต์ที่หน้าตาคล้ายๆ กัน หรือตอบโจทย์คนอ่านในลักษณะเดียวกัน ดังนั้นทำยังไงให้หนังสือยังมีคาแร็กเตอร์ที่คนอ่านมองแล้วรู้สึกว่า ต่อให้มีหนังสือ 10-20 ปกในเดือนนั้นที่ใกล้เคียงกัน เขาก็ยังอยากหยิบหนังสือของเรามาพิจารณาอยู่ ถ้าทำแค่หนังสือที่ปกสวย แต่ไม่สามารถสื่อสารรายละเอียดที่อยู่เบื้องหลังปกออกมาได้ ไม่สามารถสร้างการรับรู้กับคนอ่านได้ มันก็จะกลายเป็นแค่หนังสือที่ปกสวย

9. หาแนวทางใหม่หรือมองหาเซกชั่นใหม่ของหนังสือที่จะนำเสนอ

คนอ่านเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด สำนักพิมพ์ต้องปรับตัวตาม โดยที่นี่ทำโดยขยายประเภทหนังสือผ่านสำนักพิมพ์ย่อยๆ ในเครือ นอกจากนี้ด้วยมุมมองที่มองว่า Biblio เป็นมากกว่าหนังสือ แต่สามารถเป็นแบรนด์เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในอนาคตแบรนด์จึงวางเป้าหมายไว้ว่าอาจจะมีร้านหนังสือของตัวเอง หรือเป็นพื้นที่สร้างประสบการณ์การอ่านให้กับเหล่านักอ่าน 

You Might Also Like