Awesome Factory

AWESOME.SCREEN แบรนด์เสื้อยืด OEM ที่อยากช่วยปั้นแบรนด์คนรุ่นใหม่ และเชื่อว่าความโปร่งใสคือคีย์สำคัญ 

ทันทีที่ก้าวเข้ามาในโรงงานไซส์กะทัดรัดของ AWESOME.SCREEN พรมปูพื้นที่สกรีนคำว่า Transperency is Trending (ความโปร่งใสกำลังมา!) ก็ต้อนรับเราตั้งแต่ทางเข้า

ไม่มีใครบอกก็รู้ว่าโรงงานนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรอยู่ และเมื่อพบหน้า แพรว–พรรณระพี โกสิยพงษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท AWESOMEDOUGH และผู้ก่อตั้งแบรนด์ เธอก็ยืนยันว่าเราคิดถูก

“เวลาที่ลูกค้าถามเรื่องโรงงานที่ทอและทำ, ใบ certificate มีไหม, ช่างเย็บได้คุณภาพไหม, มีความเป็นธรรมกับแรงงานหรือเปล่า เหล่านี้ควรเป็นสิ่งที่ต้องตอบลูกค้าให้ได้”

จากแบรนด์สกรีนเคสมือถือที่เธอเปิดตอนอายุ 15 AWESOME.SCREEN ในวันนี้กลายเป็นแบรนด์ที่ให้บริการ OEM  ครบวงจรตั้งแต่ให้คำปรึกษา ตัด เย็บ สกรีน แพ็ก และส่งของ เรียกว่าลูกค้าไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากออกแบบลายมาให้ 

ที่สำคัญ ไม่ว่าออร์เดอร์จะเล็กหรือใหญ่ AWESOME.SCREEN ก็รับทั้งหมด นั่นเพราะในอดีต แพรวก็เคยเป็นเด็กที่มีฝันอยากทำเสื้อแต่ไม่มีโรงงานใหญ่ๆ โรงงานไหนจะรับคำสั่งซื้อเสื้อล็อตจิ๋วของเธอ หญิงสาวจึงปวารณาตัวว่าถ้ามีโอกาสได้ทำแบรนด์ของตัวเองบ้างจะทำให้ลูกค้าทั้งหมด นั่นคือสาเหตุที่ AWESOME.SCREEN กลายเป็นชื่อแรกๆ ที่ค่ายเพลง ดารา อินฟลูเอนเซอร์ บริษัทห้างร้าน ดีไซเนอร์หน้าใหม่ และใครก็ตามที่อยากทำเสื้อยืดเท่ๆ ของตัวเองนึกถึง

แน่นอนว่ายิ่งป๊อปปูลาร์  คุณภาพและการตอบโจทย์ลูกค้าได้ดังใจคือสิ่งสำคัญ ซึ่งเบื้องหลังของสิ่งเหล่านั้นไม่เพียงแต่เป็นเครื่องจักรที่ได้มาตรฐาน  แต่ผู้ก่อตั้งอย่างแพรวเชื่อว่า หัวใจสำคัญคือการวางระบบการทำงานให้พนักงานได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ ภูมิใจกับสิ่งที่ทำ มากกว่านั้นคือการทำโรงงานให้โปร่งใสทั้งเรื่องแรงงานและวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีให้ลูกค้าเลือกอย่างหลากหลาย

อะไรทำให้แพรวแห่ง AWESOME.SCREEN ใช้ความเชื่อนี้ขับเคลื่อนโรงงานเล็กๆ ของเธอ In Good Company ตอนนี้ขอพาไปทัวร์พร้อมหาคำตอบไปพร้อมกันในบทสนทนาของเรา

T-Shirt is Awesome 

ความสัมพันธ์ของคุณกับผ้าเริ่มต้นตั้งแต่ตอนไหน

เราก่อตั้งแบรนด์ AWESOMEDOUGH ตั้งแต่อายุ 15 ปี  ตอนนั้นเรามีความสามารถในการวาดรูป จึงเริ่มหาเงินด้วยการวาดเคสมือถือ กระทั่งตอนเรียนมหาวิทยาลัยปี 3 นั่นเป็นปีแรกที่จดทะเบียนเป็นบริษัท ช่วงนั้นคนนิยมเคสมือถือแบบสกรีนมาก เราจึงเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการสกรีนแทน ทำธุรกิจได้สักพักก็มีหน้าร้านที่สยามและเซ็นทรัลเวิลด์ ได้ไปออกอีเวนต์เยอะ

เราได้ไปแตะเรื่องผ้าในปีนั้นเช่นกัน ด้วยความที่ตอนนั้นยังบริหารธุรกิจไม่เป็น เงินเก็บทั้งหมดจากธุรกิจจึงไม่มีเหลือ บังเอิญว่าเรามีโอกาสได้ไปดูแฟชั่นโชว์หนึ่งของ POEM ซึ่งพี่ชายไปช่วยวาดรูปให้เขา ตอนนั้นมีพี่คนหนึ่งเป็นผู้บริหารแบรนด์แฟชั่นที่ Gaysorn Village ชวนไปทำงานด้วย นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเข้ามาวนเวียนอยู่ในวงการแฟชั่น

จากธุรกิจสกรีนเคสมือถือ กลายเป็นธุรกิจสกรีนเสื้อยืดได้ยังไง

หลังจากเข้าไปทำงานให้แบรนด์แฟชั่นได้ไม่นาน มันมีช่วงที่เคสซิลิโคนจากจีนกำลังได้รับความนิยม ทุกคนเปลี่ยนไปใช้เคสซิลิโคนกันหมด เราจึงรู้สึกว่าเราต้องเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ

บังเอิญว่าเครื่องสกรีนที่เรามีสามารถใช้สกรีนผ้าได้ เพราะมันใช้ความร้อนในการทำเหมือนกัน  เราจึงเริ่มรับงานสกรีนเสื้อควบคู่ไปกับการสกรีนเคสไอโฟน รับงานหลากหลาย ใช้เครื่องจักรของเราให้เต็มรูปแบบ ปรากฏว่าตอนนั้นขายดี 

ขายดีแค่ไหน

ถ้าเทียบกับสเกลธุรกิจทุกวันนี้ถือว่าน้อย (หัวเราะ) แต่นับว่ามีคนให้ความสนใจเยอะ แล้วก็มีคนด่าเยอะเช่นเดียวกัน

เพราะตอนนั้นเราทำธุรกิจในสเกลสตูดิโอเล็กๆ ไม่ได้เป็นสเกลโรงงาน แต่ปรากฏว่าลูกค้าของเราไม่ได้เล็ก เราได้ลูกค้ากลุ่มธนาคาร ทำเสื้ออีเวนต์ ตามมาด้วยค่ายเพลงที่อยากทำเสื้อให้วงดนตรีอินดี้ ตอนนั้นเราก็ทำไปแบบโบ้ๆ เบ้ๆ ของเรา ปรากฏว่างานมีปัญหาเรื่องการคุมคุณภาพ ตอนนั้นมีคำสั่งซื้อเยอะแต่เราได้กำไรน้อยมาก เพราะทุกวันเราต้องรับมือกับความผิดพลาดอยู่ตลอด 

ทั้งๆ ที่เพิ่งเริ่มธุรกิจสกรีนเสื้อผ้า คุณหาลูกค้ามาจากไหน

ยุคที่เราเริ่มทำเป็นยุคอินเทอร์เน็ตกำลังมา เราลงงานทุกอย่างไว้ในบล็อก กลุ่มลูกค้าที่เข้ามาหาเราก็จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ จริงๆ ยุคนั้นเป็นยุคทองของการทำสิ่งทอเลย โรงงานมีเยอะมาก แต่ลูกค้าอาจจะไม่รู้ว่าต้องไปหาคนทำจากไหน พอเสิร์ชหาก็เจอเรา

อีก pain point หนึ่งคือโรงงานสมัยก่อนไม่เหมือนสมัยนี้ เขาจะเข้าถึงยาก อย่างช่วงแรกที่เราลองทำเสื้อยืด ตลาดแรกที่เราจะไปคือตลาดโบ๊เบ๊ เพราะคนจะรู้ว่าถ้าจะไปหาเสื้อยืดเปล่าต้องไปที่โบ๊เบ๊ แต่พอไปถึง เราพบว่าไม่มีใครที่อยากจะค้าขายกับเด็ก เพราะจำนวนไม่มากพอ และคงจะไม่มีความต่อเนื่อง เวลาซื้อเสื้อก็คละสี ไม่ใช่สั่งสีขาวร้อยตัว สีดำร้อยตัว 

เราจึงเริ่มติดต่อโรงงานตัดเย็บเพื่อตัดเสื้อให้ แต่ปรากฏว่าเขาก็ไม่คุยด้วยอยู่ดี เรารู้สึกว่าไม่ควรจะเป็นแบบนี้ไหม การรับเงินลูกค้า ไม่ว่าจะรูปแบบใด จะออร์เดอร์ใหญ่หรือเล็กมันควรจะง่ายกว่านี้ เราเห็นช่องว่างตรงนี้เลยคิดธุรกิจขึ้นมา ถ้าโรงงานอื่นเข้าถึงยากก็อยากให้ลูกค้ามาหาเรา

อาจเพราะเราจบด้านดีไซน์มาด้วยจึงทำให้เราทำงานกับลูกค้าง่ายมากขึ้น เพราะส่วนมากคนที่วิ่งเข้าหาโรงงานคือดีไซเนอร์หรือแผนก merchandise ของบริษัท ส่วนมากคนเหล่านี้ก็จบสายดีไซน์มา พอเขาวิ่งเข้ามาก็คุยกันง่าย ซึ่งที่ AWESOME.SCREEN เรารับทำแบบครบวงจร (full service) ตั้งแต่ปรึกษาแบบ เลือกผ้า วัดไซส์ แก้ไฟล์ ตัด เย็บ สกรีน พับ แพ็ก ขนส่ง เอาง่ายๆ ลูกค้าไม่ต้องทำอะไรเลย มีอย่างเดียวที่เราไม่ได้ทำให้คือออกแบบลาย

Quality Control is Awesome

ในการทำสินค้าทุกชิ้น คุณให้ความสำคัญกับอะไรที่สุด

การคงคุณภาพ ตอนเราทำโรงงานแรกๆ แล้วมีคนมารุมสั่งซื้อ พอทำจริงๆ ประสบการณ์ลูกค้าแย่มาก เราไม่สามารถคงคุณภาพได้ เสื้อออกมาขนาดไม่ตรง สีเพี้ยน ถึงเรื่องเหล่านี้ถือเป็นเรื่องเนิร์ดๆ แต่เป็นเรื่องสำคัญ 

พอเราทำโรงงาน เราไม่ได้ผลิตเสื้อ 10 ตัวอีกต่อไปแล้ว บางออร์เดอร์เราต้องทำเป็นพันตัว และพันตัวนั้นต้องเหมือนกัน การคุมคนเยอะๆ เพื่อควบคุมคุณภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ

คำว่าคุณภาพของคุณหมายถึงอะไร

จริงๆ โรงงานของเราเรียกว่าเป็นโรงงานปลายทางนะ และในอุตสาหกรรมสิ่งทอมันใหญ่มาก ก่อนจะได้ผ้ามาตั้งแต่ต้น มันผ่านกระบวนการปั่นฝ้าย ทอ ย้อม ตัด เย็บ และมาจบที่การพิมพ์แล้วค่อยแพ็ก เมื่อก่อนเราตีความคำว่าคุณภาพของเราคือแค่เรื่อง garment แค่ตัดเย็บและพิมพ์ให้สวยแล้วจบ แต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่ คุณภาพคือความคุ้มค่าเงินที่ลูกค้าต้องจ่าย เสื้อตัวนี้จะอยู่กับเขาได้อีกกี่ปี

ช่วงปีหลังๆ คุณภาพที่เรามองหาจึงไม่ใช่แค่กลางน้ำ แต่มองตั้งแต่ต้นน้ำ เรามองหาโรงทอและโรงย้อมที่ใช้ผ้าคอตตอน 100% และรับ small order ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับลูกค้าของเราด้วยว่าเขาต้องการอะไร  

อย่างลูกค้าที่เป็นวงดนตรี เขาต้องการเสื้อที่หนา กระด้าง แข็ง และใช้คอตตอนจากอเมริกาเท่านั้น สุดท้ายเราก็ไปเลือกเส้นใยที่อ้วน ตอนทอจะได้หนา ย้อมสีที่เฟดง่ายๆ แต่ถ้าเป็นลูกค้าเกาหลี เขาอาจจะชอบเสื้อที่นุ่มมาก เราก็เลือกเส้นใยที่ฟูขึ้นมาหน่อย

แล้วในบริษัทของคุณล่ะ ควบคุมคุณภาพได้ยังไง

เมื่อก่อนเราจะเริ่มจากมายด์เซต  สิ่งที่บอกกับพนักงานเสมอคือเราจะไม่ทำงานโหล ไม่ทำงานเหมา แต่ทำแค่งานคุณภาพดีเท่านั้น การปรับมายด์เซตของพนักงานช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่วันที่บริษัทเราโตขึ้น มีคนเยอะขึ้น มายด์เซตช่วยไม่ได้ (หัวเราะ) เพราะมันยากที่จะทำให้ทุกคนคิดว่าสิ่งที่เขาทำคือการทำเพื่อลูกค้า ให้ลูกค้าไปเดินรันเวย์ 

เพราะฉะนั้น เราจึงต้องวางระบบให้ดี ซึ่งเราใช้ระบบรีเช็กไป-กลับคล้ายๆ CRM แต่เราทำแบบแมนนวล สมมติมีคำสั่งซื้อเข้ามา เราจะออกใบสั่งซื้อหนึ่งใบ ซึ่งใบนี้จะเป็นใบที่ลูกค้าและพนักงานทุกคนจะใช้ดูร่วมกัน ใบนี้จะผ่านทุกๆ แผนก เพราะฉะนั้นเราจะมั่นใจว่างานจะตรงปกแน่นอน ถามว่างานมันมีพลาดไหม มันก็มีพลาด แต่มันน้อยลงมากทันทีที่มีระบบ

นอกจากลูกค้าที่เป็นค่ายเพลง อินฟลูเอนเซอร์ และบริษัทต่างๆ   AWESOME.SCREEN ยังสนับสนุนกลุ่มดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่อยากทำแบรนด์ของตัวเองด้วย  การได้ผลักดันพวกเขามีความหมายกับคุณยังไง

เราได้คอนเซปต์นี้มาเพราะตอนแรกเราเคยเป็นเด็กคนหนึ่งที่ทำเสื้อให้แบรนด์แค่ 10-20 ตัว แต่ตอนนี้ทำเป็นหมื่นตัวต่อเดือน เราเลยรู้สึกว่าเด็กๆ เหล่านี้อาจจะเคยเป็นเราที่ไปหาโรงงานอื่นแล้วเขาไม่รับทำ small order แต่มาที่นี่เรารับหมด ไม่ว่าจะแบรนด์เล็กหรือใหญ่ เราพยายามฉายภาพไปตามช่องทางต่างๆ ของเราตลอดว่าอยากเป็นเจ้าของกิจการต้องมา AWESOME.SCREEN  

สิ่งนี้สำคัญนะ เชื่อไหมเวลาที่ลูกค้ามาสั่งของ เราจะชอบเข้าไปดูไอจีเขาว่าเป็นแบรนด์เปิดใหม่หรือเปล่า เราซัพพอร์ตเขาได้ในแง่ไหน เด็กหลายคนเริ่มทำแบรนด์เสื้อผ้ากันตอนอยู่มัธยมหรือมหาวิทยาลัย บางคนมีความรู้เป็นศูนย์เลย เราเลยอยากให้ความรู้พวกเขา ในขณะที่อีกกลุ่มเป็นแบรนด์ที่เปิดมานาน เราก็อยากนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับพวกเขาเหมือนกัน 

การได้เฝ้าดูการเติบโตของเขาจนถึงวันที่เขาแมส ดังขึ้นมา บอกตรงๆ ว่าเราก็ภาคภูมิใจนะ เพราะหลายแบรนด์ทำให้ได้เห็นว่ามีเด็กรุ่นใหม่ที่เก่งๆ เยอะมาก 

Transparency is Awesome

ตอนเดินเข้าโรงงานมา เราเห็นพรมที่สกรีนคำว่า Transparency is Trending ทำไมโรงงานของคุณถึงให้ความสำคัญกับความโปร่งใสด้วย

เรายึดมั่นถือมั่นในเรื่องความโปร่งใสมากๆ อาจเพราะก่อนหน้านี้เคยโดนคนหลอกว่าผ้าที่ใช้เป็นผ้าคอตตอน 100% แต่จริงๆ มันไม่ใช่ เราเลยรู้สึกว่าเวลาที่ลูกค้าถามเรื่องโรงงานที่ทอและทำ, ใบ certificate มีไหม, ช่างเย็บได้คุณภาพไหม, มีความเป็นธรรมกับแรงงานหรือเปล่า เหล่านี้ควรเป็นสิ่งที่ต้องตอบลูกค้าให้ได้ ซึ่งจริงๆ โรงงานในต่างประเทศเขาก็ทำเรื่องความโปร่งใสกันเยอะมาก แต่ในประเทศไทยยังมีความคลุมเครืออยู่ เราจึงอยากเป็นโรงงานแรกๆ ที่ทำเรื่องความโปร่งใส 

เราให้ความสำคัญกับแรงงานมาก ถ้าเกิดดูคลิปของเราใน TikTok จะเห็นว่าเรามีการแจกของขวัญพนักงานรายบุคคลทุกปี เพราะเราได้แรงงานหลายคนมาจากชุมชน ที่โรงงานเราไม่ได้รับเด็กจากวุฒิ ไม่ว่าจะมีวุฒิหรือไม่มีเรารับหมดเลย ค่าแรงเท่ากันกับปริญญาตรี เราให้ความเป็นธรรมกับเรื่องนี้มากๆ และให้เกียรติช่างทุกคนในโรงงาน มีเด็กหลายคนที่เราปั้นจากเด็กพับผ้า แพ็กของ จนทุกวันนี้กลายเป็นฝ่ายควบคุมคุณภาพ (QC) เป็นหัวหน้าไปเลย การได้ดูแลเด็กพวกนี้มีความหมายกับเรา

ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อม เราเริ่มจากต้นน้ำก่อน วัสดุต่างๆ ที่เราเอามาขอแค่มี certificate ที่ชัดเจน โปร่งใส ตัวไหนเป็นออร์แกนิกต้องเป็นออร์แกนิกจริง มีใบเซอร์ฯ ว่าใครปลูก ฟอก ย้อม ทอ ซึ่งเอาจริงๆ โรงงานเราเล็กมากเกินกว่าจะมีทางเลือกด้านความยั่งยืนให้ลูกค้าด้วยซ้ำ แต่เราก็เลือกทำ ทั้งๆ ที่มันเสียพลังงาน เสียเงินทุน เสียทุกอย่าง ซึ่งสุดท้ายแล้วลูกค้าอาจจะไม่ได้เลือกใช้ขนาดนั้นหรอก แต่สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นค่าเริ่มต้น (default) ไป

ยากไหมกับการต้องผลักดันเรื่องความโปร่งใสและความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในโรงงาน

ยากมาก แต่เราก็คิดว่าถ้าไม่ทำวันนี้ สุดท้ายก็ต้องทำอยู่ดี เราไม่อยากเอาเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือแรงงานมาเป็นมาร์เก็ตติ้งของโรงงานเรา แต่การที่เราโพสต์ทุกอย่างลงไปในโซเชียลมีเดีย เราแค่ต้องการให้ลูกค้ารู้ว่าเขามีทางเลือกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมอยู่และใช้ได้จริง มันก็เหมือนเป็นโปรดักต์ธรรมดาที่ราคาก็ไม่ได้สูงขนาดนั้น ส่วนเรื่องคน เราแค่แฮปปี้กับการซัพพอร์ตคนมากๆ ทำให้พนักงานมีรายได้และสวัสดิการที่ดี เราโอเคกับสิ่งนั้น

จนถึงตอนนี้ AWESOME.SCREEN ได้สร้างอิมแพกต์ต่อชุมชนยังไงบ้าง

มีเรื่องหนึ่งที่เราจำฝังใจมาก สมัยก่อนเรายังเป็นตึกแถวเล็กๆ หนึ่งห้อง เมื่อก่อนชุมชนเคยมองและตั้งคำถามว่าโรงงานเราทำอะไร แต่เรารู้ลึกๆ ว่าเราไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองกับคนในชุมชนหรอก แค่เราให้ความสำคัญกับคนในโรงงานเรามากกว่าว่าเขาคาดหวังอะไร และเราพาเขาไปได้ไกลแค่ไหน

จุดที่เราคิดว่าเราทำได้ดีมากๆ คือเราเคยรับช่างเย็บผ้าคนหนึ่งเข้ามาทำงานตั้งแต่ตอนทำในตึกแถว ซึ่งปัจจุบันเขาเป็นหัวหน้าช่างของเรา วันหนึ่งเขาเดินมาบอกเราว่า “คุณแพรว พี่ขอบใจนะ เพราะว่าทำงานกับคุณแพรวนี่แหละ พี่ส่งลูกพี่เรียนจบได้แล้ว” (ยิ้ม) เรารู้สึกว่าสิ่งที่เขาได้ไปอาจไม่ใช่เงินมหาศาล แต่เป็นวิชาชีพที่เขารัก และส่งเสียครอบครัวได้ เรารู้สึกว่าอิมแพกต์มากๆ

มีเด็กหลายคนที่เติบโตมาจากสายงานโรงงานมาก่อนแต่เปลี่ยนมาทำงานออฟฟิศ หลายคนเห็นก็ถามเราว่าจะปั้นเด็กพวกนี้เพื่ออะไร เขาองค์ความรู้น้อย ไม่ได้จบปริญญาตรี ทำให้บริษัทโตไม่ได้ แต่เวลาเราไปไหนแล้วมีคนชมทีมงานเราให้ฟังว่าเขาเก่ง มันก็เป็นความภาคภูมิใจของเรานะ

คุณมองอนาคตของ AWESOME.SCREEN ไว้ยังไง

เราอยากเป็นสตูดิโอสเกล SME สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เขาจะเข้ามาหาเราได้ทุกเมื่อ ไม่ว่างานเล็กหรือใหญ่เราจะรับ เราปฏิญาณกับตัวเองไว้แบบนี้เสมอ แต่เป้าสำคัญที่เราอยากได้คือเรื่องสิ่งแวดล้อม เราอยากทำให้เป็น default ของโรงงานเราจริงๆ และเราอยากเห็นแบรนด์เล็กๆ ได้ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง ไม่ใช่แค่โรงงานใหญ่ 

อีกสิ่งที่อยากเห็นคือความลีนในการทำงาน ดึงประสิทธิภาพของคนออกมาให้มากที่สุด ไม่ใช่เพราะอยากประหยัดต้นทุนแรงงานนะ แต่เราเชื่อว่าคนหนึ่งคนมีศักยภาพเยอะมาก

3 คำแนะนำสำหรับคนทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนจาก AWESOME.SCREEN 

1. หนึ่ง สิ่งแวดล้อมคืองานหิน ไม่ง่าย เสียเวลา และเปลืองแรงมาก แต่เราคิดว่า ไม่ว่าโรงงานจะใหญ่หรือเล็ก วันหนึ่งทุกโรงงานจะทำกันหมด เพราะฉะนั้นให้เวลากับมันมากๆ 
2. สอง การตั้งลูกค้าเป็นศูนย์กลางเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก โรงงานส่วนใหญ่อาจจะไม่ทำหรอก แต่มันทำให้เห็นว่าขีดจำกัดของเรามีเท่าไหน เราทำอะไรได้
3. นำมาสู่ข้อสาม เราต้องมีขีดจำกัดของตัวเองอย่างชัดเจน อย่างโรงงานเราจะเย็บเฉพาะเสื้อยืดอย่างเดียว เราพยายามจะเป็น specialty ด้านนี้ เพราะเรารู้สึกว่าเราพยายามลึก และไม่ต้องกว้างมากก็ได้ในบางเรื่อง

Writer

นักอยากเขียนผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

ทำงานให้งานมันท้อเรา ig : chinnakanc

You Might Also Like