Transformer
เส้นทางการทำงานจาก Orange, Google, LINE, ช่อง 3 จนถึงนามบัตรใบปัจจุบันของ ‘อริยะ พนมยงค์’
ด้วยผลงานการเป็น country head ของ Google ในไทยคนแรก, เป็นผู้ตัดสายสะดือ YouTube ในบ้านเรา, เป็น MD คนแรกของ LINE ประเทศไทย เป็นผู้นำที่ทำให้เกิดบริการอย่าง LINE MAN ทำให้เมื่อพูดชื่อ บี๋–อริยะ พนมยงค์ ออกไปแทบไม่มีคนในแวดวงธุรกิจคนไหน–โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวงการเทคโนโลยีไม่รู้จักเขา
และด้วยประสบการณ์การทำงานที่น่าสนใจ อริยะจึงถูกสื่อเชิญให้ไปสัมภาษณ์ หรือได้รับคำชวนไปเป็นสปีกเกอร์บนเวทีสัมมนาหลายต่อหลายงาน โดยประเด็นที่เขาแชร์ส่วนใหญ่มักจะว่าด้วยเรื่องของโลกเทคโนโลยี การทรานส์ฟอร์มธุรกิจ และเรื่องดิจิทัล
เช่นเดียวกับการพูดคุยระหว่าง Capital และอริยะในครั้งนี้ ทว่านี่ไม่ใช่บทสนทนาที่ว่าด้วยประสบการณ์การทำงานด้านดิจิทัลเท่านั้น แต่เรายังคุยกันถึงประสบการณ์การทำงานของอริยะตั้งแต่นามบัตรใบแรกที่ออเร้นจ์มาจนถึงนามบัตรใบปัจจุบัน ตั้งแต่การเป็นผู้บริหารในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เทคโนโลยี จนไปถึงวงการสื่อ ว่าอะไรคือเหตุผลในการตัดสินใจทรานส์ฟอร์มตัวเอง ด้วยการลาออกและเริ่มใหม่ในการทำงานแต่ละครั้ง
แล้วประสบการณ์แบบไหนที่หล่อหลอมให้ชื่อของ ‘อริยะ พนมยงค์’ กลายเป็นอีกหนึ่งผู้บริหารแถวหน้าของไทยได้อย่างทุกวันนี้ได้
01
Head of Customer Management
Orange Romania
“ผมเกิด โต และเรียนที่ฝรั่งเศส จบโทใบแรกที่ฝรั่งเศสด้านคณิตศาสตร์กับไอที หลังจากนั้นก็ไปต่อโทอีกใบนึงที่อังกฤษด้านบริหาร พอเรียนจบก็ต้องหางาน ซึ่งยุคนั้นความฝันของหลายคนที่เรียนจบที่อังกฤษคือทำงานต่อที่ลอนดอน แล้วผมเองก็ได้งานที่ลอนดอนด้วยเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ไม่เลือก ผมเลือกจะไปอยู่ออเร้นจ์ที่โรมาเนียแทน (ภายหลังออเร้นจ์ในไทยได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น True)
“ทั้งพ่อแม่ทั้งคนใกล้ตัวก็บอกว่าบี๋บ้าหรือเปล่า เพราะตอนนั้นโรมาเนียเพิ่งจะเปิดประเทศเอง คือถ้าให้เลือกทำงานที่อังกฤษกับโรมาเนีย คนส่วนใหญ่ก็เลือกอังกฤษมากกว่า แต่ที่ผมตัดสินใจไปเพราะคิดว่าประเทศนี้ถ้าไม่ได้ทำงานยังไงก็คงไม่ได้ไปแน่ๆ
“คงเพราะความเป็นเด็กด้วยแหละเลยคิดแบบนั้น อยากรู้อยากลองอะไรใหม่ๆ เต็มไปหมด แต่จะว่าไปแล้วมันก็เป็นการเลือกที่กำหนดทิศทางชีวิตของเราในระดับนึงเลยนะ เพราะนับแต่นั้นเป็นต้นมาผมก็เดินสายโทรคมนาคม-เทคโนโลยีมาโดยตลอด
“ผมไปแบบไม่มีความคาดหวังอะไรเลย เป็นเหมือนกระดาษเปล่าขาวๆ งานแรกที่ทำคือไปเป็น Network Engineer หนักไปทางสายวิศวกรรมเลย ทำงานอยู่ที่นี่ 2 ปีแต่ความรู้สึกเหมือน 4 ปีเพราะงานเยอะมาก ตั้งแต่ระบบ CRM Call Center แล้วก็อะไรอีกมากมาย ตอนนั้นเราไฟแรงมาก ทำงานเสร็จตีสองตีสามนี่เป็นเรื่องปกติเลย
“คิดดูอีกทีถ้าเราอยู่ฝรั่งเศสหรืออังกฤษอาจจะไม่ได้ทำงานใหญ่ๆ แบบนี้ก็ได้เพราะเขาคิดว่าเราเป็นเด็กเป็นมือใหม่ อะไรยากๆ เขาอาจจะโยนไปให้คนอื่นที่มีประสบการณ์ทำมากกว่า แต่ที่โรมาเนียมีคนทำอยู่ไม่เยอะมาก ดังนั้นสำหรับการทำงานครั้งแรกในชีวิตผมได้ทำอะไรเยอะมาก ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่ผมว่าดีมากเลย ถึงบอกว่าทำไม 2 ปีมันเหมือนกับ 4 ปี
“จากโรมาเนียเราก็ย้ายกลับมาฝรั่งเศส มาทำบริษัทซอฟต์แวร์เล็กๆ ได้สักระยะนึง แล้วออเร้นจ์ก็กำลังจะมาเปิดตัวที่ไทย ซึ่งมันเป็นจังหวะที่ดีมากๆ เพราะผมคิดมานานอยู่แล้วว่าอยากกลับไทย และอีกเหตุผลนึงซึ่งเอาจริงๆ ก็เป็นเหตุผลหลักด้วยซ้ำ (หัวเราะ) ก็คือแฟนซึ่งตอนนี้คือภรรยา เขาเป็นคนไทย พอประจวบเหมาะทั้งเรื่องงานทั้งเรื่องแฟน ก็เลยตัดสินใจสมัครออเร้นจ์ที่ไทยไป
“ด้วยความที่ผมไม่เคยใช้ชีวิตอยู่ไทยเลย อย่างมากก็แค่ไปเที่ยวแป๊บเดียวแล้วก็กลับ ทำให้ตอนที่จะย้ายไปทำงานที่ไทย คนรอบข้างก็ถามว่าผมจะอยู่รอดไหม อยู่ไหวหรือเปล่า เพราะผมไม่มีเพื่อนที่ไทยเลย
“แต่ก็แน่นอนว่าสุดท้ายแล้วผมก็ตัดสินใจเดินทางมา”
02
Chief Commercial Officer
True Corporation
“17 พฤษภาคม 2001 คือวันที่ผมบินกลับเมืองไทย ที่จำวันแม่นขนาดนี้เพราะพอเครื่องลงตอนเช้า ตอนบ่ายของวันนั้นผมเข้าออฟฟิศเพื่อประชุมทันที และเป็นวันแรกที่ได้เรียนรู้ว่าเราจะเอาวิธีการทำงานแบบตอนอยู่ที่เมืองนอกมาทำแบบเดียวกับที่ไทยไม่ได้นะ
“ตอนนั้นในห้องประชุมก็มีอยู่ประมาณสิบกว่าคน แล้วพอดีมีซัพพลายเออร์เจ้านึงที่ทีมเลือกใช้ ซึ่งด้วยความที่อยู่วงการนี้มานาน ผมรู้ว่าซัพพลายเออร์เจ้านี้เขามีชื่อเสียงที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ ก็เลยถามกลางห้องประชุมไปเลยว่าใครเป็นคนเลือกเจ้านี้
“ถามปุ๊บห้องเงียบปั๊บ ผมก็เอ๊ะขึ้นมาในใจ นี่เราทำอะไรผิดไปหรือเปล่า จนเดินออกจากห้องประชุมถึงได้มีคนมาบอกว่าสิ่งที่เราพูดมันให้ความรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังจะจับว่าใครผิดพลาด ใครเป็นคนเลือกเจ้านี้ ซึ่งจริงๆ แล้วเจตนาของผมไม่ใช่แบบนั้นเลย ก็เลยเป็นเหตุการณ์ที่เตือนตัวเองตั้งแต่วันแรกที่มาทำงานว่าเราต้องปรับตัว จะมาชี้หน้าด่าเลยแบบฝรั่งไม่ได้นะ เพราะแต่ละที่ก็มีวัฒนธรรมที่ทั้งดีและไม่ดีแตกต่างกันออกไป
“เรียกได้ว่าปีแรกเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด ทั้งเรื่อง working culture ไหนจะต้องเจอรถติดเกือบทุกวัน เกือบจะอยู่ไม่รอดเหมือนที่คนเขาบอกเราก่อนจะมาแล้ว แต่สุดท้ายผมก็ทำงานอยู่กับเครือนี้มาได้ 11 ปี ตั้งแต่ออเร้นจ์มาจนถึงทรูฯ ตั้งแต่เป็น customer support ขยับมาเป็นมาร์เก็ตติ้ง เป็นรองผู้อำนวยการ จนตำแหน่งสุดท้ายที่ทรูฯ ก็คือ Chief Commercial Officer
“ตอนอยู่ที่ทรูฯ ผมได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เยอะมาก ทั้งเรื่องของงานและเรื่องของคน อย่างเรื่องคนคือมีคนนึงในทีมเขามาลาออก เราก็ถามว่าทำไมถึงออกล่ะ คุยไปคุยมาเขาก็พูดว่า “บี๋ คุณเป็นหัวหน้าที่แย่มาก และก็ไม่ค่อยฟังใคร” ไหนบอกคนไทยไม่พูดตรงไง (หัวเราะ)
“แต่เอาจริงๆ ตอนนั้นที่ได้ยินก็หัวเราะไม่ออกนะ รู้สึกเสียศูนย์เหมือนกัน เพราะเราคิดว่าเราน่าจะเป็นหัวหน้าที่ดีมาโดยตลอด คอยรับฟังดูแลเทคแคร์ แต่พอพนักงานคนนั้นมาพูดแบบนี้เลยทำให้ต้องนั่งคิดว่าเป็นเพราะอะไร เลยทำให้เราฉายหนังย้อนกลับไปดูตัวเองว่าทำอะไรผิดพลาดไป จนมาเจอจุดนึงที่รู้สึกว่า ที่เราบอกว่าเรารับฟัง เราฟังนะ แต่สุดท้ายก็ยังทำตามสิ่งที่เราคิดว่าถูกอยู่ดี
“ซึ่งทุกวันนี้ก็ต้องขอบคุณเขานะ เพราะเขาทำให้เราฝึกที่จะมี empathy มากขึ้น ฝึกให้เรารับฟังมากขึ้น ไม่ใช่แค่ฟังแล้วแต่ยังเอาแต่ความคิดของตัวเองอยู่เหมือนเดิม”
03
Country Manager
Google Thailand
“จริงๆ แล้วมันไม่ง่ายเลยนะ เพราะผมอยู่กับทั้งออเร้นจ์และทรูฯ รวมๆ กันแล้วก็ประมาณ 11 ปี แต่มันมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ Apple เพิ่งจะมาในไทย ถ้าจำกันได้เราจะเห็นภาพของคนต่อคิวยาวเหยียดเพื่อซื้อไอโฟน และไอโฟนเป็นเหมือนทองคำที่คนค่อยๆ แกะกล่องออกมาอย่างทะนุถนอม ดูแล้วดูอีก เป็นยุคที่สมาร์ตโฟนกำลังมาและทำให้เราเห็นภาพที่อินเทอร์เน็ตมาอยู่บนมือถือ
“แม้ภาพของสมาร์ตโฟนและอินเทอร์เน็ตในตอนนั้นจะยังไม่ชัดเจนอย่างทุกวันนี้ แต่ด้วยความที่ทำงานอยู่ในวงการเทคโนโลยี คลุกคลีกับเรื่องเหล่านี้มานาน จึงทำให้ผมสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของการเปลี่ยนแปลง ว่าโลกของเรากำลังจะเปลี่ยนไปแล้วนะ
“เลยรู้สึกว่าถ้าเราได้ไปอยู่กับกูเกิลซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่คอยขับเคลื่อนเรื่องนี้ เป็นเหมือนผู้ที่สร้างอินเทอร์เน็ตขึ้นมาก็น่าจะเป็นอะไรที่น่าสนใจไม่น้อย ก็เลยตัดสินใจย้ายจากทรูฯ ไปกูเกิล ซึ่งถือเป็นจังหวะชีวิตที่สนุกมาก เพราะผมได้ลองทำอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง และได้เป็นคนแรกที่ปักธงกูเกิลในประเทศไทย
“วันที่ 30 มิถุนายน ผมทำงานที่ทรูฯ วันสุดท้ายจนเสร็จหมดเรียบร้อย คืนนั้นก็ไปขึ้นเครื่องบิน ถึงออสเตรเลียวันที่ 1 กรกฎาคม เพราะกูเกิลจะให้พนักงานทั่วโลกไปเทรนกันที่นั่นก่อน
“เห็นออฟฟิศของกูเกิลครั้งแรก ความรู้สึกที่ผุดขึ้นมาในตอนนั้นคือมันสวยมาก เป็นอะไรที่ว้าวสุดๆ สำหรับผม เป็นที่ที่เต็มไปด้วยความเป็นกูเกิล ทั้งผู้คน ทั้งที่นั่งทำงาน ทั้งแคนทีน มีคนระดับท็อปๆ จากหลายประเทศมารวมอยู่ด้วยกัน พอได้ไปอยู่ตรงนั้นแวบนึงเราแอบรู้สึกว่าตัวเองโง่เพราะมีแต่คนเก่งจริงๆ (หัวเราะ)
“ไปออฟฟิศกูเกิลที่ออสเตรเลียว่าเซอร์ไพรส์แล้ว แต่พอกลับมาออฟฟิศกูเกิลที่ไทยนี่เซอร์ไพรส์ยิ่งกว่า ตอนนั้นกูเกิลเช่า service office ที่เซ็นทรัลเวิลด์ไว้ให้ วันแรกไขกุญแจเปิดประตูเข้าไปสิ่งที่เห็นมีแค่โต๊ะของผมตั้งอยู่ตัวเดียวแล้วก็จบ แค่นั้นเลย
“ความรู้สึกตอนนั้นคือเหวอเล็กน้อยเพราะผมมาจากทรูฯ บริษัทที่มีพนักงาน 16,000 คน พอเจอแบบนี้เข้าไปก็แปลกๆ อยู่เหมือนกัน ไม่มีใครให้คุยด้วยตอนนั้น ทั้งออฟฟิศมีแค่โต๊ะตัวนึงกับเราคนเดียว ก็เลยเกิดคำถามขึ้นมาในหัวทันทีว่า เอ๊ะ…แล้วหน้าที่ของเราคืออะไรกัน สักพักถึงเพิ่งจะรู้ว่าการทำงานในแบบของกูเกิลไม่ได้มีเจ้านายมาสั่งว่าต้องทำอะไรยังไง เราเองต่างหากที่ต้องเป็นคนไปหาแผนธุรกิจ หาวิธีที่จะทำให้กูเกิลในไทยเติบโตแล้วเอาไปนำเสนอเจ้านาย เป็นการทำงานแบบ buttom-up ไม่ใช่ top-down แบบที่เราคุ้นชินกัน
“เมื่อวิธีการทำงานเป็นแบบนี้ สิ่งที่เราทำก็คือบินไปหลายๆ ประเทศ ไปดูกูเกิลประเทศอื่นใน South East Asia ว่าเขาทำอะไรกันบ้าง เหมือนเป็นการหาเพื่อนเหมือนกันนะ (หัวเราะ) แล้วก็เป็นช่วงที่เราต้องสร้างทีมขึ้นมา ซึ่งจะไปประกาศว่ารับสมัครดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งเลยก็คงไม่ได้เพราะสมัยก่อนยังไม่มีคำนี้
จนสุดท้ายก็ได้ไปรวบรวมคนไทยที่มีประสบการณ์ทำงานที่สิงคโปร์มาอยู่ด้วยกัน และกลายเป็นทีมงานชุดแรกของกูเกิลประเทศไทยที่มีอยู่ประมาณ 6-7 คน
“งานนึงในกูเกิลที่ยังอยู่ในความทรงจำจนมาถึงวันนี้คือตอนเปิดตัว YouTube ในไทย เป็นงานใหญ่มาก จัดกันที่พารากอนฮอลล์ อารมณ์เหมือนจัดคอนเสิร์ตเลย มีพาร์ตเนอร์ มียูทูบเบอร์มากมายเต็มไปหมด แล้วพอเราเปิดตัวยูทูบวันที่ 19 วันถัดมาก็ปฏิวัติพอดี คือตอนนั้นยังคุยกับทีมงานอยู่เลยว่าถ้าช้าไปอีกแค่วันเดียวไม่ได้จัดแน่
“4 ปีที่อยู่ในกูเกิลมา ผมได้เรียนรู้อะไรต่อมิอะไรเยอะมากทั้งมายด์เซตการทำงานแบบ buttom-up คือไม่ได้รอหัวหน้ามาสั่ง แต่เรามีหน้าที่ไปเสนอหัวหน้า หรือเรื่องของ performance-based culture คือหลายคนอาจจะเห็นว่าออฟฟิศของกูเกิลสวย มีอาหารให้กิน มีห้องนั่งเล่น มีสวัสดิการต่างๆ ให้ใช้ชีวิตอยู่ในนั้น แต่เบื้องหลังของมันคือการคิดแบบ performance-based คิดง่ายๆ ทำไมกูเกิลมีโรงอาหารให้พนักงาน เพราะถ้าไม่มีพนักงานก็ต้องเดินทางออกไปกินข้างนอก เสียเวลาในการเดินทางออกไปอีก แต่ถ้ามีโรงอาหารนอกจากจะทำให้ไม่เสียเวลาทำงานแล้ว ยังทำให้พนักงานได้พูดคุยเรื่องงานกันในบรรยากาศที่ไม่เคร่งเครียดเท่ากับในห้องประชุม เผลอๆ การคุยกันแบบสบายๆ ยังทำให้ได้ไอเดียที่ดีออกมาอีกด้วย
“พออยู่มาถึงปีที่ 4 ด้วยความที่เราเป็นคนชอบทำอะไรใหม่ๆ ก็รู้สึกว่าอยากจะไปแตะในฝั่งของโปรดักต์แล้ว อยากเป็นคนทำฟีเจอร์ใหม่ๆ ออกมา แต่ด้วยความเป็นบริษัทระดับโลกถ้าจะออกโปรดักต์อะไรใหม่เขาไม่ให้ทำแค่สำหรับ 1 ประเทศเท่านั้น แต่ต้องเป็น 60 ประเทศ ยกเว้นแต่ประเทศนั้นมีจำนวนประชากรเยอะมากจริงๆ
“มันก็เลยเกิดความรู้สึกคันไม้คันมือ เพราะด้วยความเป็นคนเติบโตมาในสายเทค เราอยากออกโปรดักต์ ออกฟีเจอร์ใหม่ๆ ประกอบกับตอนนั้นไลน์มาคุยด้วยพอดี แล้วสิ่งที่เขาต้องการก็ตรงกับสิ่งที่เราต้องการ คือให้ไปสร้างบริการใหม่ออกมา บวกกับตอนนั้นเรารู้สึกว่าแอพแชตจะเป็นสิ่งสำคัญในอนาคต เพราะมันอยู่ใกล้ชิดกับผู้คนมาก แล้วแต่ละคนก็ล้วนมีแอพแชตในมือถือมากกว่าหนึ่งแอพฯ
“ในที่สุดก็เลยตัดสินใจไปทำงานที่ไลน์”
04
Managing Director
Line Thailand
“จำได้เลยว่างานแรกหลังเข้าไปเป็น MD ในไลน์คือเข้าไปจัดทัพใหม่ จากเดิมที่ทีมงานจะต้องคุยกับเจ้านายที่ญี่ปุ่นบ้างที่เกาหลีบ้าง ผมก็เลยทำให้ทีมมีความเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น แล้วก็สร้างทีมเพื่อเอาไลน์มาบุกตลาดในไทยอย่างเป็นจริงเป็นจัง
“ที่ไลน์มีงานนึงที่ผมรู้สึกว่ามันเป็นความทรงจำที่ดีมากๆ คือผมและทีมได้ทำปล่อยโปรดักต์ใหม่อย่างไลน์แมนออกมา เป็นโปรเจ็กต์ที่เอาไปเสนอกับ CEO และ Fouder ในเกาหลี ซึ่งนี่เป็นโปรดักต์ที่ MADE IN THAILAND 100% ไลน์ประเทศอื่นไม่มีแบบนี้
“พอทำงานอยู่ในไลน์ไปได้ 4 ปี ก็เกิดความรู้สึกว่าที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นกูเกิลหรือไลน์ เราอยู่ในฝั่งเทคโนโลยี ฝั่งที่เป็นผู้ดิสรัปต์คนอื่นมาโดยตลอด เลยมีความคิดขึ้นมาว่าถ้าอย่างนั้นเราลองไปอยู่อีกฝั่งที่เป็นธุรกิจดั้งเดิมดีไหม เผื่อจะได้เอาความรู้ที่มีมาช่วยทรานส์ฟอร์มองค์กรไทยได้บ้าง ประจวบเหมาะกับ BEC World หรือที่หลายคนรู้จักกันในนามของช่อง 3 มาชักชวนพอดี ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้ทำงานที่ช่อง 3”
05
President
BEC World
“ตอนช่อง 3 มาชักชวน ตอนแรกก็แอบคิดในใจว่าจะดีหรอ เพราะมันเป็นธุรกิจที่ดั้งเดิมมากๆ แล้วเราเป็นมนุษย์สายเทคมาโดยตลอด แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจไปอยู่ เพราะอย่างที่บอก ผมอยากลองเอาความรู้ด้านเทคโนโลยีที่มีไปช่วยองค์กรไทยดูบ้าง
“ก็อยู่ไปได้ปีนึง แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ได้สำเร็จอย่างที่เราคิดไว้ ด้วยแนวทางในการทำงานที่ต่างกันออกไป การบริหารองค์กรในช่วงวิกฤตที่ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งยังเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่นอกจากจะต้องบริหารภายในองค์กร ก็ยังต้องบริหารนักลงทุนด้วย
“แต่ทุกงานที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ผมถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีทั้งนั้น เพราะทุกที่ที่เราไปทำให้เราได้ติดอาวุธให้กับตัวเองเพิ่มอีกหนึ่งชิ้น และการทำงานที่ช่อง 3 ก็ยังเป็นอีกแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมได้ทำบริษัทของตัวเองขึ้นมา”
06
CEO & Founder
ทรานส์ฟอร์เมชั่นนอล จำกัด
“ตัวผมเองเคยฝันว่าอยากจะสร้างบริษัทเป็นของตัวเองขึ้นมา ประจวบเหมาะกับตอนที่ออกจากช่อง 3
ทำให้ผมได้ลองมานั่งตกผลึกกับตัวเองว่าคนที่อยู่ข้างในมักจะทรานส์ฟอร์มได้ยากกว่าคนที่อยู่ข้างนอก เพราะคนเรามักจะรับฟังคนนอกมากกว่าคนที่อยู่ใกล้ตัว หรือถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ก็เหมือนการที่บางบริษัทต้องมีที่ปรึกษาธุรกิจที่เป็นคนนอก ถามว่าคนในจะไม่รู้หรอ เขารู้แต่พอคนในพูดด้วยกันเองก็ไม่มีใครฟัง เหมือนต้องให้คนข้างนอกมาบอกว่า อ่อ คุณป่วยนะ แล้วต้องรักษายังไง
“อีกอย่างคือผมคิดว่าถ้าเราไปอยู่ในองค์กรนึง เต็มที่เราก็ช่วยได้แค่องค์กรเดียว แต่ถ้าเราตั้งบริษัทขึ้นมา คราวนี้เราช่วยได้หลายๆ องค์กร และการที่เป็นคนนอกจะทำให้ผมสามารถพูดตรงๆ ใส่ได้เต็มที่มากกว่า ก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นโมเดลธุรกิจที่เหมาะกับตัวเอง จึงตัดสินใจทำทรานส์ฟอร์เมชั่นนอลขึ้นมา เป็นบริษัทที่เอาดิจิทัลเอาเทคโนโลยีไปปรับใช้ในองค์กร เพื่อทำให้ธุรกิจก้าวทันโลกยุคใหม่มากขึ้น
“แม้จะเคยทำงานบริหารมา แต่พอได้มาเป็นเจ้าของเองด้วย ต้องบอกว่ามันเป็นเรื่องที่ต่างกันมาก บอกเลยว่าเป็นอะไรที่โคตรเหนื่อย เพราะทำเองแทบทุกอย่าง งาน back office ทั้ง HR เอกสารต่างๆ ไฟแนนซ์ กฎหมาย ตกมาอยู่ที่เราคนเดียวหมดเลย
“แต่มันก็เป็นความเหนื่อยในทางที่ดีนะ”
07
Co-CEO
ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน)
“เดิมที CMO เป็นบริษัทที่เน้นทำอีเวนต์เป็นหลัก แล้วพี่ๆ ที่ CMO ก็เลยมาเทคโอเวอร์ทรานส์ฟอร์เมชั่นนอลไป เพราะอยากจะปรับทิศทางบริษัทจากอีเวนต์ให้เป็น tech company
“พอเห็นแบบนี้ผมก็เลยตัดสินใจมาเป็น Co-CEO ที่นี่ เพราะงานที่ทำก็เหมือนกับตอนทำที่ทรานส์ฟอร์เมชั่นนอลนั่นแหละ และอีกมุมหนึ่งการเข้าไปอยู่กับ CMO ก็ทำให้ทรานส์ฟอร์เมชั่นนอลขยายตัวได้อย่างแข็งแรงมากขึ้นด้วย
“ผมเพิ่งจะเข้ามาเป็น Co-CEO เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง ดังนั้นอนาคตจะเป็นยังไง ก็ต้องรอดูกันต่อไป”
“จากที่ทำงานด้านบริหารมาในหลายองค์กร แต่ละที่ก็ล้วนมี working culture ต่างกันออกไป แต่ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนทักษะที่สำคัญของคนทำงานด้านบริหารก็จะมีสองข้อหลักๆ ด้วยกัน
“หนึ่งคือการบริหารคน ซึ่งผมว่านี่เป็นสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการเป็นผู้บริหารเลยนะ เพราะเรื่องนี้มันไม่มีสูตรตายตัว แต่ละคนล้วนต่างกันออกไป มีความหลากหลายทั้งเรื่องอายุ ความคิด ความรู้สึก การบริหารคนให้เป็น จึงเป็นทักษะที่สำคัญอย่างมาก
“ส่วนทักษะที่สองที่สำคัญไม่แพ้กัน คือผู้บริหารจะต้องมีวิสัยทัศน์ มันคือการที่ต้องมองหาอนาคต ไม่ใช่แค่อนาคตขององค์กร แต่ยังหมายรวมไปถึงอนาคตของสิ่งต่างๆ ที่อาจมีผลกับธุรกิจหรือการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย เพราะถ้าเราอ่านถูกก็จะทำให้เรารู้เลยว่าจะต้องปรับองค์กรยังไง หันเข็มทิศองค์กรไปทางไหน
“ซึ่งการจะมีวิสัยทัศน์ได้ผมว่าเราต้องตัดอีโก้ออกไปก่อนอย่างแรกเลย เมื่อเราไม่มีอีโก้ คนก็ยินดีที่จะมาพูดมาคุยมาโค้ชเรา และทำให้เราเป็นผู้บริหารที่มองเห็นวิสัยทัศน์ได้มากขึ้น”