Embroidery Factory

คุยกับโรงปัก A.P. Embroidery ถึงเส้นทางการปั้นโรงงานจากศูนย์จนมีลูกค้าเป็นแบรนด์ระดับโลก

A.P. Embroidery (เอ.พี. การปัก) เป็นธุรกิจครอบครัวที่เชื่อว่าการปักเป็นมากกว่าแค่การตกแต่ง 

แต่เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านฝีจักรด้วยความเอาใจใส่และพิถีพิถัน

ศิริชัย และบุญศรี บวรกีรติโรจน์ ก่อตั้งโรงงานโดยเริ่มจากเครื่องปัก 2 เครื่องเมื่อราว 30 ปีก่อน พวกเขาสังเกตเห็นช่องว่างทางตลาดว่างานปักส่วนใหญ่ตามสำเพ็งและโบ๊เบ๊ขายในราคาถูก จึงตัดสินใจไม่เข้าไปแข่งในสงครามราคาและหันมาผลิตงานปักที่เน้นคุณภาพจนเติบโตเป็นโรงปักเจ้าใหญ่ที่มีคอนเน็กชั่นกับเหล่าโรงงานการ์เมนต์และมีลูกค้าเป็นแบรนด์ระดับโลกมากมาย เช่น COACH, Lacoste, Levi’s, Mc JEANS, Lee, Nike, Disney, Wrangler, Timberland ฯลฯ  

เอ็ม–วรธรรม บวรกีรติโรจน์ ทายาทของ A.P. Embroidery บอกว่าชื่อ ‘เอ็ม’ ของเขามาจาก ‘Em’ ในคำว่า embroidery ซึ่งแปลว่าการปัก  

ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีในการดำเนินกิจการ เอ็มมองว่าช่วงก่อตั้งยุคแรกของธุรกิจอยู่ในเฟส survival mode คือช่วงที่ต้องเอาตัวรอดให้ได้ เมื่อธุรกิจดำเนินมาถึงครึ่งทางและเริ่มอยู่ตัว นอกเหนือจากคุณภาพงานปักและกำไร A.P. Embroidery เข้าสู่เฟสที่เริ่มต่อยอดสร้างมาตรฐานใหม่ให้โรงงาน นั่นคือการตั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs–Sustainable Development Goals) ทั้งในมุมพนักงาน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นมาตรฐานที่ทำให้แบรนด์ดังอยากร่วมงานด้วย

คอลัมน์ Brand Belief ครั้งนี้ Capital ชวนคุยกับเอ็มถึงเส้นทางการสร้างโรงปักตั้งแต่ศูนย์ของครอบครัวและปั้นให้เป็นธุรกิจที่ผู้คนรัก นึกถึง และสบายใจที่ได้ร่วมงานด้วยในรุ่นของเขานั้นทำยังไง 

ย้อนกลับไป Day 1 ของธุรกิจ ทำไมครอบครัวคุณถึงก่อตั้งโรงปักขึ้นมา

แต่เดิมทางครอบครัวแม่ผมเป็นคนจีนที่มาอยู่ไทย เขาก็เย็บผ้าเป็นโรงงานการ์เมนต์ (garment) เล็กๆ ตั้งแต่รุ่นอาม่าแล้ว ลูกแต่ละคนก็ช่วยกันเย็บมาตั้งแต่เด็กจนโต โดยมีลูกของอาม่าคนนึงมาทำโรงงานเสื้อผ้าอย่างจริงจัง

วันหนึ่งเขาก็มาบอกพ่อแม่ผมว่าโรงงานเขาไม่มีแผนกปักเลย อยากมาลองทำไหม ลงทุนไม่

เยอะ แค่เครื่องจักรตัวสองตัว ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่มาลองทำ สมัยนั้นคือไปฝังตัวอยู่ในโรงงานเขาก่อน พอเวลาผ่านไปสักพักนึง โรงงานการ์เมนต์แห่งนั้นก็เลิกทำไปตามความเหนื่อยของเขา 

พ่อแม่ผมเก็บเงินได้ก้อนนึงเลยตัดสินใจว่างั้นเรามาตั้งโรงงานเองตรงนี้กันเถอะ วันที่ตั้งโรงงานก็คือ 30 ปีที่แล้วตรงกับช่วงที่ผมเกิดพอดี 

พอตั้งโรงงานเองแล้วเริ่มต้นหาลูกค้ายังไง 

สิ่งที่พ่อแม่ผมทำนั้นง่ายมากคือเดินห้างเหมือนคนทั่วไป แล้วดูเสื้อผ้าแต่ละตัวว่ามียี่ห้อไหนออกคอลเลกชั่นงานปักบ้าง หรือแบรนด์ไหนทำงานปักแต่ยังไม่ได้ทำที่โรงงานของเราก็จดไว้ แล้วก็กลับมาหาคอนเนกชั่น ไล่โทรหา พยายามเข้าไปให้บริการเรื่อยๆ 

สมัยนั้นจะใช้การขายตรง ไม่ได้มีเซลล์วิ่งออกไปขายงานข้างนอก ใช้การบอกปากต่อปาก พอเราเริ่มชัดกับตัวเองแล้วว่าจะจับแบรนด์ห้างก็ต้องเน้นสินค้าคุณภาพสูง ซึ่งลูกค้าก็จะบอกต่อกันว่าโรงปักที่ไหนคุณภาพดี เขาก็จะแนะนำเราไป
มียุคนึงที่เราเคยเน้นผลิตงานราว 70-80% ให้ลูกค้าหลักเจ้าเดียวแล้วอยู่สบายๆ แต่อยู่มาวันนึงลูกค้าหลักเจ้านี้ก็เลิกทำธุรกิจไป กลายเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เราต้องดิ้นรนหาฐานลูกค้าใหม่เยอะขึ้น จนเริ่มมีงานออร์เดอร์จากต่างประเทศเยอะขึ้น โดยหลักเราจะมีทั้งลูกค้าแบรนด์ที่รู้จักกับเราโดยตรงและลูกค้าต่างประเทศที่ติดต่อกับโรงงานการ์เมนต์ในไทยที่ผลิตเสื้อผ้า 

สำหรับคุณ งานปักที่มีคุณภาพเป็นแบบไหน

ผมมองว่า ‘คุณภาพที่ดี’ ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อันดับแรกเราจะทำการแบ่งกลุ่มและทำความรู้จักลูกค้าก่อน หรือเรียกว่า KYC (know your customer) ถ้าเป็นลูกค้าแบรนด์ไฮเอนด์จะคาดหวังคุณภาพการปักที่ตำแหน่งห้ามพลาดแม้แต่มิลลิเมตรเดียว แบบนี้คือคุณภาพดีของเขา แต่ถ้าเป็นแบรนด์ไทยที่มีราคาลงมาหน่อย คำว่า ‘คุณภาพ’ ของเขาคือสวย กำลังดี
ถ้าเราไปเอาคุณภาพระดับลักชูรีมาทำให้เขา บางทีลูกค้าก็ไม่ได้ต้องการขนาดนั้นและต้นทุนก็ไม่ไหว หรือถ้าเราทำเสื้อโปโลที่เป็นเสื้อพนักงานสำหรับองค์กร ลูกค้าก็จะมีคุณภาพที่คาดหวังอีกแบบนึง 

หน้าที่ของเราคือดูว่าลูกค้าคาดหวังแบบไหนแล้วก็ส่งมอบให้เกินความคาดหมายของลูกค้าทุกกลุ่มไปนิดนึง แต่มันจะมีสิ่งที่เป็นคุณภาพพื้นฐานที่ต้องมีครบหมด เช่น งานต้องเนี้ยบ สวย เก็บงานให้เรียบร้อย ห้ามไหมหลุด 

แล้วคุณตอบโจทย์ด้านความสวยงามให้ลูกค้าที่มีความชอบไม่เหมือนกันยังไง 

ผมเทียบการปักเหมือนเวลาเราระบายสีที่สามารถทำได้ทั้งระบายสีแบบอิสระ ถม หรือเป็นเส้นๆ แล้วแต่จินตนาการของเรา ดีไซเนอร์จากฝั่งลูกค้าจะคิดภาพมาแบบนึง เขาก็จะมีรูปในใจและมีฟีลลิ่งที่อยากได้อยู่ แต่จะไม่เห็นภาพว่าถ้าปักออกมาแล้วหน้าตาจะเป็นแบบไหน หน้าที่ของเราคือเลือกเทคนิคการปักรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สุดท้ายแล้วงานออกมาเป็นฟีลลิ่งที่ลูกค้าอยากได้

สมมุติว่าอยากปักรูปหมีตัวนึง ถ้าปักแบบธรรมดาจะเรียกว่าใช้เทคนิคการปักแบบทาทามิ (Tatami) ซึ่งถ้าเราปักถมด้วยเทคนิคนี้เป็นรูปหมี หมีก็จะมีหน้าตันและตึงๆ หน่อย เราก็ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้หมีดูมีชีวิตขึ้นมา ไปดูว่ารูปตุ๊กตาหมีให้ความรู้สึกแบบไหน แล้วแผนกดีไซน์ของเราก็จะเลือกเทคนิคที่ให้ฟีลลิ่งเข้ากับรูปและมาเดินฝีเข็ม

ในมุมผู้ผลิต งานปักมีความท้าทายยังไงบ้าง

ขอเล่าผลงานที่พ่อแม่ผมภูมิใจคือแก๊งแบรนด์เสื้อโปโลซึ่งเป็นกลุ่มที่เน้นการปักค่อนข้างเยอะในการปักโลโก้รูปม้า ความสนุกและท้าทายคือแต่ละปีแบรนด์จะมีคอลเลกชั่นที่พัฒนารูปม้าเวอร์ชั่นออริจินัลไปเรื่อยๆ ให้ม้าดูมีชีวิตชีวาหรือมีกล้ามเนื้อขึ้นมา งานพวกนี้เราจะคุยกับเขาทุกปีว่าปีนี้เขาอยากให้ฟีลลิ่งของม้าเป็นแบบไหน 

หรือถ้าเป็นกลุ่มเสื้อผ้าแบรนด์เด็กที่ทำลายตัวการ์ตูนลิขสิทธิ์น่ารัก เช่น ดิสนีย์ เขาจะเข้มงวดกับการตรวจงานกว่าแบรนด์อื่นๆ ต้องระวังว่าดึงไหมแล้วหลุดไหม เผื่อเด็กดึงแล้วเอาเข้าปากไป มีสีตกไหมหรือว่ามีสารเคมีหรือเปล่า

โจทย์แบบไหนจากลูกค้าที่คุณรู้สึกว่าท้าทายเป็นพิเศษ 

ช่วงหลังงานของลูกค้าแบรนด์ไฮเอนด์ที่เราได้ทำจะยากขึ้น รวมถึงงานจากแบรนด์ของดีไซเนอร์ไทยที่ไม่เน้นขายสินค้าแมสก็จะเน้นลายที่ยากขึ้นเช่นกัน เช่น งานปักบนเสื้อ down jacket, trench coat, เสื้อ gore-tex กันน้ำ บางครั้งผ้าที่ใช้ปักจะบางซึ่งยากในการปักไม่ให้แตก ปักให้สวยแล้วไม่ย่น ซักแล้วยังดีอยู่ 

ตัวอย่างผลงานสำคัญที่เราภูมิใจคือ โจทย์จากแบรนด์ลักชูรีแบรนด์นึงที่อยากให้เราทำผลงานชิ้นใหญ่ในหมวดสินค้าสำหรับเด็ก โดยปกติแล้วเราก็คิดว่าเราทำงานแนวนี้ไม่ได้ เพราะว่างานนี้มีขนาดใหญ่และมีดีเทลละเอียดมากชนิดห้ามพลาดเลยแม้แต่มิลลิเมตรเดียว 

เราก็ตั้งทีม R&D (research and development) ขึ้นมาเพื่อทดลองเลยว่าเครื่องจักรของเราทำอะไรได้บ้าง สุดท้ายผลงานชิ้นนี้ก็ทำให้ทีมรู้สึกมั่นใจและภาคภูมิใจจริงๆ ว่าเราก็มีความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานใหม่ด้วยตัวเองได้นะ

สำหรับโรงปัก คุณต้องพัฒนาและคิดค้นสิ่งใหม่มากน้อยแค่ไหน 

หลังจากผลงานแบรนด์ลักชูรีชิ้นนั้น เราก็รักษาโมเมนตัมของทีมในการพัฒนาสิ่งใหม่ไว้ นอกจากงานลูกค้า ทุกๆ 6 เดือนเราจะทำพอร์ตโฟลิโองานใหม่ และมีโปรเจกต์สนุกๆ ที่เรามาคิดกันเองว่าสามารถทำอะไรกับงานปักได้บ้าง อย่างที่ผ่านมาเราเคยมีปัญหาว่าทุกปีใหม่ไม่รู้จะแจกของขวัญอะไรให้ลูกค้าดี ถึงจุดนึงเลยดีไซน์สินค้างานปักเองสำหรับแจกเป็นของขวัญให้ลูกค้าแต่ละปี 

สุดท้ายบางอย่างมันก็เรียนรู้จากประสบการณ์ สมมติว่าอยากปักลายสัตว์ มันก็ไม่มีกระบวนการหรือโปรแกรมตายตัวที่บอกว่าถ้าทำออกมาแล้วจะได้แบบนี้เสมอ ก็ต้องมาลองผิดลองถูกคล้ายเวลาวาดรูป เราก็จะอัพเดตเรื่อยๆ ทั้งเทคนิคใหม่ในฝั่งโปรแกรมดีไซน์และเทคนิคพิเศษของเครื่องปัก เช่น ปักเลื่อม 

คิดว่าอะไรที่มัดใจแบรนด์ระดับโลกให้ผลิตงานกับโรงปักของคุณจนถึงทุกวันนี้  

ความเอาใจใส่ในงาน 

ลูกค้ากลุ่มนี้เขาค่อนข้างจะเชื่อใจเรามาก เชื่อใจในระดับที่บางทีถ้าเราทำงานผิดไปเขาก็ไม่ตรวจ เพราะเขาคิดว่าเราตรวจให้เขาดีมากแล้ว มันเลยเป็นหน้าที่ที่เราต้องรับผิดชอบว่าต้องให้ความสำคัญกับการเอาใจใส่ เวลาเราทำงานให้แบรนด์เราจึงต้องคิดเสมอว่าเราคือลูกค้า งานไหนที่เรายังรู้สึกว่าไม่สวย ตัวเราเองยังไม่ซื้อ เราก็จะไม่ทำงานแบบนั้นออกไป 

อีกสิ่งนึงที่ผมสัมผัสได้ตอนเข้ามาทำคือพี่ๆ พนักงานมีความเป็นกันเองกับลูกค้าแต่ขณะเดียวกันเขาก็ทำงานแบบมืออาชีพ เขาจะคุยกับลูกค้าเหมือนเพื่อน มีอะไรคุยกันได้ ถามไถ่ว่าวันนี้เป็นยังไงบ้าง พอเราสร้างความสัมพันธ์แบบนี้กับลูกค้า เวลามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ผมรู้สึกว่ามันค่อนข้างง่ายในการดีลงาน

เรียกว่าไม่ใช่แค่งานต้องดี แต่พนักงานที่ดีก็สำคัญ

แม่จะบอกเสมอว่าพนักงานมีส่วนตัดสินใจเรื่องความสวยงามของงานลูกค้า ถ้าพนักงานที่นี่ปักแล้วรู้สึกว่ามันไม่สวย เขาสามารถเดินมาบอกเราได้ว่ามันไม่สวยหรือมันแปลกๆ ทุกคนถูกฝึกมาให้รู้ว่างานนี้ดีหรือไม่ดีเพราะทำงานที่โรงงานเรามา 30 กว่าปี พนักงานส่วนใหญ่เกิน 50% น่าจะอยู่มาเกิน 10-20 ปีตั้งแต่รุ่นแม่

พ่อแม่เคยเล่าไหมว่าเขาทำยังไงให้พนักงานรักบริษัทและอยู่มายาวนานขนาดนี้

แม่ผมเป็นคนที่ดูแลพนักงานดีมากๆ สมัยที่เริ่มโรงงานมา ตอนนั้นแม่กับพ่อขับรถไปต่างจังหวัดแล้วไปถามในหมู่บ้านว่าพวกเรามีโรงงาน มีใครอยากมาช่วยไหม พอเราไปรับเขามาแล้วก็ต้องเลี้ยงดูเขา ไม่ว่าจะไม่มีบ้าน ไม่มีค่าน้ำ-ค่าไฟ ป่วย แม่ก็ช่วยเท่าที่จะทำได้

ตอนหลังพอไปเรียนที่อเมริกา ผมถึงเพิ่งสังเกตว่ามันมีคอนเซปต์ที่เรียกว่า DEI (diversity, equity, inclusion) ที่รู้สึกว่าจริงๆ แม่เราก็ทำสิ่งนี้มานานมากแล้วนะ ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติไหนที่มาทำงานกับเรา แม่เราก็ดูแลดีมาก 

สมัยที่ผมเริ่มเข้ามาทำงานในโรงปักก็พบว่าไม่ได้มีการตั้งเป้าให้เซลล์ว่าต้องทำยอดให้ได้เท่าไหร่ในแต่ละปี ผมก็ถามพ่อกับแม่ว่าทำไม เขาบอกว่าไม่ได้อยากให้เซลส์ตีกัน ถ้าเราตั้งยอดไว้ เวลาลูกค้ามา เซลล์แต่ละคนจะแย่งกันขายลูกค้าเจ้าใหญ่ เขาอยากสร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนช่วยกันขายมากกว่า เราก็เลยหาวิธีอื่นแทนว่าทำยังไงถึงจะกระตุ้นให้เซลล์ออกไปรับลูกค้ามากขึ้น 

ดูเหมือนว่าการดูแลพนักงานให้ดีถือเป็นอีกหน้าที่ที่คุณต้องสานต่อไม่แพ้การบริหารธุรกิจ

ต้องเล่าก่อนว่าความยากอย่างนึงของลูกค้าแบรนด์เสื้อผ้าไฮเอนด์ต่างประเทศคือเขาจะมีเงื่อนไขที่เราต้องปฏิบัติตามเยอะมาก ในยุคนึงแบรนด์เหล่านี้ตกเป็นเป้าโจมตีว่าผลิตเสื้อผ้าโดยใช้แรงงานเด็กหรือใช้วัตถุดิบไม่ดีที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เขาเลยตามหาซัพพลายเออร์ที่ทำตามที่เขาต้องการได้ ซึ่งมันยากมาก ถ้ามองในแง่ธุรกิจ การปรับตัวตามแนวทางเหล่านี้ มันคือการเพิ่มต้นทุนทั้งหมดเลย

ตัวอย่างเช่น แต่เดิมเราผลิตงานอะไรก็ตามให้แบรนด์ไทย เขาก็รับหมด เราจะซื้อด้ายจากที่ไหนเขาก็ไม่ว่าอะไร แต่พอมาเป็นแบรนด์เสื้อผ้าไฮเอนด์หน่อย เขาก็จะเริ่มมาดูแล้วว่ากระบวนการผลิตคุณเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไหม คุณเลี้ยงพนักงานดีแค่ไหน คุณให้พนักงานทำโอทีเกินเวลาไหม 

พอแบรนด์เหล่านี้มีเงื่อนไขเยอะ โรงงานไทยก็ต้องเริ่มปรับตัวด้วย เรามองจุดนี้ว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ทำให้ไปต่อได้ดี ก็เลยพยายามยกระดับมาเรื่อยๆ ช่วงแรกก็จะมีแบรนด์ต่างประเทศที่เข้ามาช่วยจับมือเราสอนว่าถ้าคุณจะเป็นโรงงานที่ดีคุณจะต้องทำอะไรบ้าง 1 2 3 4 เราก็ค่อยๆ เรียนรู้จากเขา แล้วก็ปรับไปเรื่อยๆ แต่ก่อนเราก็เหมือนโรงงานทั่วไป เช่น ให้พนักงานทำงาน 2 กะ ภายหลังพอปรับเวลาทำงานโดยคำนึงถึงสวัสดิการมากขึ้นและมีวันหยุดวันอาทิตย์ ก็รู้สึกว่าทำแล้วดี พนักงานแฮปปี้

แล้วคุณปรับตัวให้โรงงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นยังไง

เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำที่มีตัวเลือกวัสดุให้ลูกค้าเพิ่มมากขึ้น เช่น ไหมที่ย้อมด้วยสีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ไม่ใช่ลูกค้าทุกคนในไทยจะอยากได้แบบนี้เพราะทุกสิ่งตามมาด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น แต่เราก็พยายามบอกลูกค้าและทำให้หลายคนเปลี่ยนมาใช้วัสดุแบบนี้ 

กระบวนการปักของเรายังมีการตรวจสอบมาตรฐานสิ่งทอออร์แกนิก (GOTS – Global Organic Textile Standard) เพื่อให้เป็นออร์แกนิกแบบไม่มีสารเคมีเจือปน ซึ่งถือว่าเป็นข้อโชคดีของการปักด้วยตรงที่ว่ามันไม่ได้มีการปล่อยของเสียอะไรออกมาเลย 

หลักคิดสำคัญในการทำธุรกิจที่ครอบครัวส่งต่อให้คุณคืออะไร 

ผมรู้สึกว่าพ่อแม่ผมเป็นนักธุรกิจก็จริง แต่เขาไม่ได้ทำธุรกิจเหมือนกับธุรกิจที่เราเรียนมา เขาจะมีหลักคิดตอนตั้งโรงงานที่บอกผมไว้ 2 ข้อ  

หนึ่งคือห้ามมีหนี้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ห้ามกู้เป็นอันขาด ซึ่งอาจจะเป็นความคิดแบบธุรกิจคนจีนโบราณคือมีเท่าไหร่ ทำเท่านั้น เก็บเบี้ยผสมน้อยไป เราก็ทำแบบนี้มาตลอด ซึ่งมันก็ดีตรงที่ในช่วงโควิด-19 หรือวิกฤตอะไรก็ตามที่ผ่านมา เราก็ประคองไปได้ เพราะเราไม่ได้ต้องดิ้นรนเพื่อไปจ่ายหนี้ใคร

สองคือทำธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป จุดนี้รู้สึกว่าต่างกับบริษัทที่ผมเคยไปทำงานข้างนอกที่ทุกปีต้องโตหรือต้องตั้งเป้าว่าแต่ละปีได้กำไรเท่าไหร่ ในขณะที่พ่อแม่ผมจะดูว่าปีนี้สถานการณ์เป็นแบบไหนแล้วทำให้ดีที่สุด ให้เพียงพอจ่ายเงินเดือนพนักงานและเราอยู่ได้ ถ้ามีโอกาสดีก็ค่อยปรับตัวไปให้เติบโต 

แล้วคุณคิดว่าความเสี่ยงที่ดิสรัปต์ธุรกิจโรงปักที่สุดในตอนนี้คืออะไร 

ผมมองว่าตอนนี้ธุรกิจเสื้อผ้าในไทยน่าจะเกือบถึง sunset (ช่วงหมดอายุ) แล้วถ้าเทียบกับ industry life cycle (วงจรของอุตสาหกรรม) คือมันเคยโตมาแล้วมากๆ ประมาณรุ่นพ่อแม่เราเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว สมัยนั้นใครๆ ก็ทำการ์เมนต์เพราะมันบูมมาก 

ความยากคือแบรนด์ต่างชาติที่จะมาเลือกฐานผลิตในไทยลดลงเรื่อยๆ ทุกวันเพราะมีฐานการผลิตประเทศอื่นที่ต้นทุนถูกกว่าเรา แต่ก่อนเราอาจจะได้ผลิตเสื้อยืด เสื้อกีฬา แต่วันนี้สิ่งที่หลงเหลือผลิตในไทยก็จะเริ่มเป็นงานที่ยากขึ้น 

เหมือนเราไม่รู้ว่าวันไหนลูกค้าจะเดินมาบอกว่าวันนี้พอแล้วนะ หรือวันนี้ไปผลิตที่ต่างประเทศแล้ว เราก็ต้องหาวิธีอยู่ให้ได้

คำถามสุดท้าย คุณเติบโตขึ้นยังไงบ้างหลังจากเข้ามาช่วยธุรกิจและมองเห็นอุปสรรคเหล่านี้  

แต่ก่อนผมเรียนสายบัญชีมาและคิดว่าธุรกิจต้องแสวงหากำไร ต้องลุยให้โตทุกปี เคยรู้สึกว่ามันจะได้เหรอถ้าพ่อทำอย่างนี้ สุดท้ายก็พบว่าธุรกิจก็อยู่ได้ ทุกธุรกิจย่อมมีขาขึ้นและขาลงเป็นธรรมดา เราอาจจะไม่ได้รวยที่สุดหรือเป็นโรงปักที่ใหญ่ที่สุด แต่ว่าก็มีพื้นที่ให้เราอยู่ได้และเติบโตขึ้น 

มุมที่ประทับใจคือพ่อแม่ผมจะบอกว่า ให้คิดเสียว่าที่นี่เป็นเหมือนสนามเด็กเล่นที่พ่อแม่สร้างไว้ เราก็ลองมาดูแล้วกันว่าอยากจะเล่นอะไร เขาเปิดให้ผมทำอะไรใหม่ๆ ค่อนข้างเยอะ ไม่ได้ถึงขั้นตั้งเป้าว่าจะต้องทำให้ได้แบบไหน ไม่ต้องดิ้นรนว่าปีนี้จะต้องสร้างรายได้เป็นร้อยล้าน เราได้กำไรเท่าไหร่ก็จ่ายเงินพนักงานให้ธุรกิจอยู่ได้ 

เราแค่คิดว่าอยากอยู่ให้ได้เป็นคนสุดท้ายของวงการนี้ คอยเซอร์วิสวงการการ์เมนต์และทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด


Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like