เบื้องหลัง ‘ความหวังครั้งที่สอง’ หนังสือของผู้บริหาร TQM กับวิธีรักษาความหวังยามเจอวิกฤต

“ต่อให้ล้มครั้งที่สาม สี่ หรือห้า หรือล้มมาไม่รู้กี่รอบ ก็ขอให้สำเร็จสักครั้งหนึ่งเถอะ” อู๊ด–อัญชลิน พรรณนิภา ประธานกรรมการแห่ง TQM บอกว่าความหมายของชื่อหนังสือ ‘ความหวังครั้งที่สอง’ คือการมีความหวังครั้งใหม่และลุกขึ้นสู้อีกครั้งในยามที่แสงแห่งความหวังยังมืดมิด  

ในช่วงวัยรุ่น อัญชลินเคยใฝ่ฝันอยากเป็นศิลปิน แต่เพราะสอบเข้าคณะสายศิลป์ไม่ติดหลายครั้งหลายครา จึงเบนทิศทางชีวิตไปทางอื่น ก่อนสานต่อธุรกิจประกันภัยของครอบครัวเขารับบทบาทนักขายและทำธุรกิจบริษัทออร์แกไนเซอร์จัดงานแฟร์ ธุรกิจจัดจำหน่ายเหล็กและวัสดุสำหรับงานก่อสร้าง จนกระทั่งเจอช่วงเศรษฐกิจซบเซาและวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ทำให้ต้องล้มเลิกกิจการเหล่านี้ไปและมีหนี้สิน จนเหลืออาชีพเดียวที่ไม่อยากทำในตอนแรก แต่โชคชะตาก็บังคับให้ต้องทำในที่สุดเพราะไม่มีทางเลือกอื่นในการชำระหนี้ คืองานขายประกัน

อัญชลินบอกว่าภาพบอลลูนบนหน้าปกหนังสือเปรียบเหมือนการคิดไกล ถ้าเราอยู่ในที่สูงอย่างบนบอลลูนจะสามารถมองเห็นวิวได้ไกลกว่าตอนมองจากพื้นราบ เพราะเวลามองความผิดหวังหรือล้มเหลวจากพื้นราบอาจเห็นแค่สิ่งที่อยู่ตรงหน้าแล้วจมกับมัน หรือถ้าใครมาว่าเราตอนยืนอยู่ชั้นล่าง เราก็อาจจะรู้สึกโกรธเพราะได้ยินเสียงนั้นชัดเจน ในทางกลับกัน ถ้ายิ่งบินสูงขึ้นไปเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นวิวทิวทิศน์ได้กว้างไกลและเสียงที่ว่าเราก็จะยิ่งเบาลงไปเรื่อยๆ จนไม่ได้ยินเสียงรบกวนใดๆ อีกเลย

ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกลของอัญชลินทำให้เขาเชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไรที่แก้ไม่ได้ในระยะยาว ความหวังครั้งที่สองของเขาจึงเป็นการอดทนซื่อสัตย์ในการชำระหนี้ให้หมดและมีความหวังในการหันมาทำธุรกิจครั้งใหม่อย่างธุรกิจประกันที่ทำให้ลุกขึ้นยืนอย่างแข็งแกร่งจนกลายเป็นเบอร์หนึ่งของวงการในเวลาต่อมา  

“สำคัญที่สุดคือมายด์เซต” อัญชลินบอกว่าจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ TQM ไปได้ไกลคือการเปลี่ยนความคิดว่าการขายประกันคือการตื๊อลูกค้าและขายเพื่อคอมมิชชั่น ประสบการณ์ที่เคยเจอผู้คนเดือดร้อนจากภัยต่างๆ เช่น อัคคีภัย แต่เพราะทำประกันไว้ทำให้มีเงินไปตั้งตัวใหม่ได้ทำให้อัญชลินเลิกคิดว่าตัวเองต้องเข้ามาทำธุรกิจนี้เพราะไม่มีทางเลือก แล้วหันมามองเห็นคุณค่าของธุรกิจครอบครัวว่า ธุรกิจประกันเป็นธุรกิจที่ดี ไม่ใช่แค่ขายประกันแต่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินไปจนถึงธุรกิจให้ลูกค้า

การไม่ยึดติดกับวิธีการทำงานและความเชื่อแบบเดิมๆ ทำให้ TQM โตแบบก้าวกระโดด จากขายแบบ face-to-face มาเป็นเทเลเซลส์ โทรศัพท์หาลูกค้า และขยายช่องทางออนไลน์ทางแอพพลิเคชั่นทำให้เข้าถึงคนได้มากขึ้นเป็นเท่าตัว โดยใช้ทรัพยากรเวลาและกำลังคนน้อยลง จนสามารถโตขึ้นจากหลักร้อยล้านไปหมื่นล้านอย่างรวดเร็ว นอกจากคิดไกลแล้วยังลงมือทำเต็มที่และบากบั่นระหว่างทางตั้งแต่เดินสายขับรถไปขายประกันทีละจังหวัดและค่อยๆ สร้างอาณาจักรใหม่ขึ้นมา

แม้ธุรกิจตัวกลางที่ขายประกันจะดูเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขและสถิติอย่างมาก แต่อัญชลินที่ชื่นชอบความสุนทรีในศิลปะและดนตรีบอกว่าความหวังใหม่สามารถเกิดขึ้นได้ในธุรกิจประกันด้วยความคิดสร้างสรรค์และการคิดนอกกรอบ “ศาสตร์ทำให้มีกรอบ ส่วนศิลปะเป็นจินตนาการทำให้เราคิด beyond จากสินค้าประกันรูปแบบเดิม”

หลักของการทำธุรกิจประกันคือการมองเห็นว่าอะไรเป็นความเสี่ยงบ้าง ซึ่งในโลกนี้มีภัยใหม่และโรคระบาดใหม่รวมถึงปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายอุบัติขึ้นมาใหม่ตลอด และจินตนาการก็ทำให้เกิดไอเดียการป้องกันความเสี่ยงในรูปแบบใหม่ ตัวอย่างเช่น กระแสความฮิตในสเกตบอร์ดซึ่งเป็นเครื่องเล่นที่มีราคาสูงทำให้เกิดแพ็กเกจประกันสำหรับโปรเสกตบอร์ดโดยเฉพาะ, ‘ประกันรถสีขาว’ เกิดจากการสังเกตเห็นจากดาต้าว่ารถสีขาวเป็นรถที่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนน้อยที่สุดเพราะสีที่เด่นชัด ทำให้เกิดประกันที่มีราคาถูกลงมาสำหรับผู้ใช้รถที่เสี่ยงน้อย  

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่อัญชลินบอกว่าทำให้ผ่านวันที่มืดมนมาได้คือคู่ชีวิต ตุ๊ก–นภัสนันท์ พรรณนิภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารที่ร่วมบุกเบิก TQM มาด้วยกัน “ถ้าผมคนเดียว ยังไม่แน่ บางทีพอเหงา มันก็ท้อแท้ แต่พอมีคนช่วยคิด ช่วยทำ ช่วยลุย ช่วยกันปลอบใจ มันก็ไม่เหงา” 

คำว่าความหวังสำหรับอัญชลินจึงไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องธุรกิจและกำไรเสมอไป บางทีก็เป็นเรื่องเล็กๆ อย่างการซื้อที่ดินแปลงหนึ่งไว้ปลูกเป็นบ้านหลังเล็กยามแก่เฒ่า ความหวังว่าพอกลับบ้านไปแล้วจะได้กินอาหารอร่อยๆ หรือแม่ครัวจะทำผัดกะเพราให้กิน มีใครสักคนที่พูดหวานอย่างภรรยา ลูก เพื่อน ลูกน้องอยู่เคียงข้าง

สิ่งที่ช่วยจุดประกายให้ยังมีความหวังในแต่ละวันต่อไปได้และอัญชลินก็บอกว่าเป็นวิธีที่ทำให้รับมือกับความหวังผิดได้ดีขึ้นเรื่อยๆ คือประสบการณ์การเผชิญอุปสรรคทั้งหนักและเบาซึ่งกลายเป็นวัคซีนที่ทำให้มีภูมิคุ้มกันและความมั่นใจมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป 

เรื่องราว ‘ความหวังครั้งที่สอง’ ของอัญชลินเล่าเส้นทางความสำเร็จของ TQM กว่าจะเติบโตเป็นบริษัทนายหน้าประกันภัยรายแรกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้สำเร็จ และทำให้เข้าใจว่า ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ ชีวิตก็ยังมีความหวังให้ก้าวเดินต่อไปเสมอ

You Might Also Like