สุรานุกรมไทย

สำมะเลเทเมากับเรื่องราวสุราท้องถิ่นไทยและ 7 แบรนด์ที่น่าจับตา

รู้หรือไม่ว่าถ้าย้อนกลับไปในรอยทางประวัติศาสตร์ มนุษยชาติรู้จัก ‘วิธีการร่ำสุรา’ ก่อนประดิษฐ์ตัวอักษรเสียอีก

เพราะตามหลักฐานที่ปรากฏ ในสมัยอารยธรรมสุเมเรียนเมื่อเกือบหกพันปีก่อนที่ถือเป็นอารยธรรมแรกที่มีการประดิษฐ์ตัวอักษร ผู้คนในสมัยนั้นได้รู้จักสุราแล้ว ผ่านความบังเอิญในการเก็บผลผลิตทางการเกษตรที่ทำให้เกิด ‘การหมัก’ โดยไม่รู้ตัว เกิดเป็นเครื่องดื่มที่ทำให้มนุษย์รู้จักความเมามายตั้งแต่ตอนนั้น

เช่นเดียวกับในประเทศไทย ที่ถึงแม้ไม่ได้ปรากฏหลักฐานเด่นชัด แต่ด้วยความที่ผู้คนในพื้นที่รู้จักการปลูกข้าวมานานกว่าห้าพันปี จึงมีการสันนิษฐานว่าสิ่งที่เราเข้าใจว่าเป็น ‘ภูมิปัญญาเหล้าไทย’ นั้นน่าจะมีรากฐานตั้งแต่ก่อนการเกิดขึ้นของประเทศไทยเสียอีก 

แต่ถ้าแบบที่มีลายลักษณ์อักษรบันทึก จะปรากฏหลักฐานจากบันทึกของชาวจีนว่าเมื่อ พ.ศ. 2493-2495 ได้มีการระบุว่าคนไทยรู้จักการนำ ‘อ้อย’ มากลั่นเป็นสุราตั้งแต่ตอนนั้น ยิ่งพอสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ได้ปรากฏหลักฐานเพิ่มเติมด้วยว่าคนไทยเริ่มรู้จักการกลั่น ผ่านเครื่องดื่มที่คนเรียกว่า ‘เหล้าโรง’ (มาจากคำว่า ‘เหล้าจากโรงงานจีน’) และเมื่อผสมกับการทำการค้ากับตะวันตก จักรวาลความรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยก็เริ่มแผ่ขยายไปไกล

แต่ถึงกระนั้นด้วยความที่สังคมไทยประกอบสร้างจากศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ ความเชื่อเรื่องการอยู่ห่างจากของมึนเมาจึงทำให้วงการสุราในไทยไม่ได้แผ่ขยายไปไกลเท่ากับความรู้เท่าไหร่นัก อย่างในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีบันทึกของลา ลูแบร์ แชรแวส และสังฆราชแห่งเบริธที่กล่าวไว้ด้วยซ้ำว่าสุราได้รับความนิยมน้อยมากในสยาม ถึงแม้รัฐจะเปิดให้มีการผลิตอย่างเสรีจนถึงสมัยของพระเจ้าประสาททองที่เริ่มมีการเก็บอากรสุรา แต่ด้วยหลักของพระพุทธศาสนาที่มีผลต่อสังคมไทย สุราจึงดำรงสถานะเป็นเพียงเครื่องดื่ม ‘ตัวร้าย’ ในระดับหน่วยเล็กอย่างท้องถิ่นเองเลยไม่ได้เกิดการผลิตอย่างจริงจัง

แล้วจุดเปลี่ยนที่สำคัญของสถานการณ์สุราในไทยเกิดขึ้นตรงไหนกัน

ถ้ายึดเป็นช่วงเวลา เป็นตอนสมัยรัชกาลที่ 3-5 ของกรุงรัตนโกสินทร์เลยทีเดียว ที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าความนิยมในสุราของคนไทยพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ไล่เรียงตั้งแต่บันทึกต่างๆ ที่เริ่มมีการกล่าวว่า ‘พบเห็นชาวไทยมึนเมากันอย่างแพร่หลาย’ หรือ ‘คนขี้เมาอยู่กลางถนนเป็นจำนวนมาก’ ไปจนถึงในแง่ของการผลิตที่พบเห็นโรงกลั่นเพิ่มขึ้นหลายเท่า ทั้งหมดนี้นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุ นั่นคือช่วงเวลาที่ตอนนั้นเป็นยุคที่ชาวจีนอพยพเข้ามาหากินในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งเป็นพวกเขานี่แหละ ที่พาความต้องการในตลาดและองค์ความรู้ในการสร้างโรงกลั่นตามมาด้วย

ส่วนอีกสาเหตุนั้นเกิดมาจากสนธิสัญญาเบาว์ริงใน พ.ศ. 2398 ที่ทำให้เกิดการทำสัญญาการค้ากับชาติตะวันตกมากขึ้น รวมถึงการยกเลิกสินค้าควบคุมอย่างสุราด้วย ทำให้สุราต่างชาติหลั่งไหลเข้าไทยจนประชาชนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น เป็นการเสริมปัจจัยให้ผู้คนคุ้นชินมากเข้าไปอีก

แต่ในเวลาเดียวกันนี้เอง ท่ามกลางความนิยมในสุราของประชากรไทยที่พุ่งสูงขึ้น การผลิตสุราท้องถิ่นกลับเติบโตไปด้วยอัตราที่ช้ากว่ากันมากเพราะข้อจำกัดในแง่ของการจัดเก็บภาษี 

จากก่อนหน้านี้ที่การเก็บภาษีอากรสุราปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมของยุคสมัย แต่ในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา รัฐส่วนกลางในสมัยนั้นเริ่มตั้งตนเป็นผู้เก็บภาษีอากรสุราด้วยตัวเอง ทำให้เกิดการส่งเสริมการขายเพราะอยากสร้างรายได้มหาศาลให้กับรัฐ เพียงแต่แทนที่จะทำให้วงการนี้เติบโตไปได้ทั้งปึกแผ่น รัฐไทยกลับเลือกวิธีการที่มุ่งเน้นผู้ค้าชาวต่างชาติและโรงงานผลิตสุราของภาคเอกชนรายใหญ่เป็นหลัก ผ่านการเอื้อประโยชน์ในแง่ของภาษีและการตัดตอนผู้ผลิตระดับท้องถิ่น จนเกิดเป็นการ ‘ผูกขาดสุรา’ ที่ค่อยๆ สั่งสมเรื่อยมาจนปัจจุบัน

อย่างในตอนนี้ ด้วยพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 รัฐได้กำหนดให้ผู้ที่มีการผลิตสุราในปริมาณมากเท่านั้น ที่จะสามารถขออนุญาตผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกฮอลล์ได้ อันเป็นการผูกขาดการค้าเสรีและปิดประตูโอกาสของคนรักสุราท้องถิ่นไปโดยปริยาย จนทำให้ที่ผ่านมา ผู้ผลิตพยายามหาทางออกโดยวางผลิตภัณฑ์ของตัวเองเป็น ‘สินค้าแปรรูป’ ทางการเกษตรแทน แต่ถึงกระนั้นด้วยความไม่ชัดเจนก็ทำให้วงการสุราท้องถิ่นไม่เติบโตไปอย่างที่ควรจะเป็นอยู่ดี

จนในช่วงปีที่แล้วและปีนี้นี่เอง ที่ดูเหมือนสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงกำลังจะมาถึง

ในวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565 จากการนำเสนอ ‘ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า’ เข้าสภาโดย ส.ส.เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ดูเหมือนภาคประชาชนและส่วนกลางจะเริ่มเห็นความสำคัญของเรื่องนี้กันมากขึ้นแล้ว ยิ่งการมาถึงของคณะทำงานของรัฐบาลใหม่ ร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้าจึงเริ่มดูใกล้ความจริงมากขึ้นไปอีก โดยประเด็นของร่างกฎหมายฉบับนี้คือการกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ให้ครอบคลุมผู้ประกอบการรายย่อยทุกรายด้วย ไม่ใช่ผูกขาดสิทธิการผลิตและจำหน่ายให้กับกลุ่มนายทุนใหญ่เหมือนอย่างที่เคยเป็น

 นอกจากนี้ คณะทำงานที่ผลักดันร่าง พ.ร.บ.นี้ยังได้กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าการแก้ไขให้เกิดผู้ประกอบการรายย่อยจะสร้างผลประโยชน์ทางอ้อมอีกนานานัปการ ตั้งแต่การเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร กระตุ้นการท่องเที่ยวไปสู่ท้องถิ่น ไปจนถึงสร้างบรรยากาศแห่งความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในประเทศ

ดังนั้นในวาระความเปลี่ยนแปลงที่ใกล้จะมาถึง รวมถึงเมื่ออาทิตย์ที่แล้วที่ว่าที่นายกฯ อย่างพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้กล่าวถึงสุราท้องถิ่นผ่านรายการโทรทัศน์ เราจึงรวบรวมแบรนด์สุราท้องถิ่น 7 แบรนด์มาให้ทุกคนได้ลองดื่มด่ำเรื่องราวกัน เพื่อเป็นการเปิดประตูโลกสุราให้กว้างขึ้นกว่าเดิม

สังเวียน / สุพรรณบุรี

สุรากลั่นจากสุพรรณบุรีที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบหลักในหมักให้เกิดแอลกอฮอล์ ก่อนนำไปกลั่นเกิดเป็นสุราท้องถิ่นชั้นดี โดยชื่อแบรนด์ ‘สังเวียน’ มาจากชื่อคุณปู่เจ้าของแบรนด์ ที่เป็นคู่ชีวิตของคุณย่าที่ผลิตสาโทขายเมื่อครั้งอดีต ดังนั้นนี่จึงเป็นการตั้งชื่อเพื่อระลึกถึงคนที่คุณย่ารักและสิ่งที่คุณย่าอยากทำมาตลอดแต่กฎหมายไม่สนับสนุน

Kilo Spirits / กระบี่

แบรนด์สุรากลั่นจากกระบี่ ที่เริ่มต้นจากการหาทำของสามีชาวอังกฤษและภรรยาชาวไทยในช่วงล็อกดาวน์ จนเกิดเป็นแบรนด์สุราท้องถิ่นที่มีสองผลิตภัณฑ์ในเครือ นั่นคือจินและวอดก้า และอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาอย่างรัม ซึ่งทั้งหมดใช้น้ำอ้อยเป็นวัตถุดิบหลักในการหมัก อันเป็นที่มาของรสชาติเฉพาะตัวที่ได้รับความนิยมตั้งแต่เริ่มวางขาย

ฉลองเบย์ / ภูเก็ต

ฉลองเบย์คือเหล้ารัมจากแดนใต้จากเมืองภูเก็ต โดยเกิดจากหญิงสาวชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่ติดอยู่ประเทศไทยในช่วงภัยพิบัติสึนามอ ด้วยความประทับใจคนไทยที่ดูแลเธออย่างดีในเวลานั้น เมื่อกลับไปบ้านเกิด เธอจึงนำเอาธุรกิจครอบครัวอย่าง ‘โรงกลั่น’ จากต่างประเทศมาลงทุนในไทยด้วย จนเกิดเป็นแบรนด์รัมอย่าง ‘ฉลองเบย์’ ที่ศึกษาค้นคว้าจนสามารถใช้อ้อยไทยเป็นวัตถุดิบหลัก ผสมกับสูตรการผลิตจากต่างประเทศนั่นเอง

Iron Balls / กรุงเทพฯ

Iron Balls คือเหล้าจินสัญชาติไทยที่ส่งตรงจากโรงกลั่นเล็กๆ ย่านเอกมัย โดยผู้ผลิตตั้งใจให้ Iron Balls เป็นเหล้าจินระดับพรีเมียมจากความคราฟต์และวัตถุดิบไทยอันหลากหลาย อันประกอบไปด้วยมะพร้าว สับปะรดตัดใหม่ ต้นสน ขิง และตะไคร้ เกิดเป็นรสชาติสุราไทยที่แสนจะอินเตอร์  อีกทั้งยังมีบรรจุภัณฑ์แปลกตาเชื้อเชิญให้คนลิ้มลองด้วย

Saku / เขาใหญ่

สุราชุมชนจากเขาใหญ่ที่ได้สูตรตั้งต้นมาจากคุณยายที่เคยทำเหล้าเองสมัยสาวๆ และเมื่อเอามาผสมเข้ากับความรู้สมัยใหม่ที่เจ้าของแบรนด์หาความรู้เองจากโลกอินเทอร์เน็ต จึงเกิดเป็นแบรนด์ ‘Saku’ ที่ได้ชื่อมาจากคุณยายเจ้าของสูตร และใช้วัตถุดิบท้องถิ่นอย่างข้าวโพดมาหมักเหล้าแล้วกลั่น เกิดเป็นสุรารสชาติดีที่เรียกตัวเองว่า ‘สุราชุมชน’ ได้อย่างเต็มตัว

หมาใจดำ / เชียงใหม่ 

มาต่อกันที่สุราพื้นบ้านจากแดนเหนือกันบ้าง ที่วางตัวเองเป็นวอดก้า 40 ดีกรี หรือเหล้าขาวพื้นบ้าน โดยพวกเขาแตกไลน์สินค้าออกเป็นหลากหลายประเภทตามวัตถุดิบที่ใช้ในการกลั่น ตั้งแต่หมาใจดำ Flowery 40 ดีกรี จากน้ำหวานดอกมะพร้าว, หมาใจดำ Banana 40 ดีกรี จากกล้วย, หมาใจดำ มะขามป้อม 40 ดีกรี จากมะขามป้อม และหมาใจดำ ลำก้า 40 ดีกรี จากมันฝรั่ง

ONSON / สกลนคร

แบรนด์เหล้าสกลนครอายุ 5 ปี ที่เกิดจากเจ้าของแบรนด์กลับไปเปิดอาหารที่สกลนครบ้านเกิด จนได้เจอกับเหล้าท้องถิ่นจากลุงข้างบ้านที่กำลังวางแผนเกษียณเลิกทำ แต่ด้วยความเห็นประโยชน์ในองค์ความรู้ของลุง พวกเขาจึงร่วมกันพัฒนาแบรนด์เหล้า ONSON ขึ้นมา โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่นอย่างอ้อยและช่อดอกมะพร้าวในการหมัก เกิดเป็นเหล้าท้องถิ่นไทยแท้รสชาติจากแดนอีสานอย่างที่เราได้ลิ้มลองกัน

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของแบรนด์สุราท้องถิ่นที่เราอยากแนะนำเท่านั้น ยังมีสุราท้องถิ่นจากหลากหลายที่มาก ที่เต็มไปด้วยคุณภาพและควรค่าแก่การบอกต่อ ดังนั้นถ้าเป็นคอแอลกอฮอล์หรืออยากร่ำบรรยากาศในการดื่มด่ำสุราชั้นดี เราก็อยากชวนให้ทุกคนลองเปิดใจให้กับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเหล่านี้กัน เพราะไม่แน่นะ ในอนาคตที่สุรากลายเป็นเรื่องเสรี เราอาจจะได้เห็น ‘1 ตำบล 1 สุราท้องถิ่น’ ที่ทุกคนในชุมชนแสนภูมิใจก็ได้ ใครจะรู้

อ้างอิง :  

Writer

ชื่อฆฤณ อ่านว่าคลิน พยางค์เดียว

Photographer

แล้วแต่จะคิด ชีวิตคนละแบบ

You Might Also Like