Grow with the Flo

FLOHOUSE คอนเซปต์สโตร์ที่รวมร้านเฟอร์นิเจอร์ คาเฟ่ ร้านหนังสือ และพื้นที่ทดลองไว้ในที่เดียว

โมเดิร์น โปร่ง มีชีวิตชีวา คือคาแร็กเตอร์ของ Flo แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทยที่ทำให้หลายคนพร้อมใจปวารณาตนเป็นลูกค้าประจำ

นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2557 โดย นรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์ ทายาทรุ่นที่สามที่รับช่วงต่อมาจากพ่อ แม่ และอากงผู้ก่อตั้ง แบรนด์ Flo ตั้งใจผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้วัสดุหลัก 3 อย่างคือไม้ เหล็ก และงานหุ้มบุ ประกอบกันอย่างแข็งแรงภายใต้ดีไซน์เรียบง่ายแต่มีเอกลักษณ์ เน้นตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมในบ้านและที่ทำงานเป็นที่สุด

รู้ตัวอีกที Flo ก็เดินทางมาถึงขวบปีที่ 9 คล้ายเป็นหลักไมล์สำคัญที่เรียกร้องให้แบรนด์ก้าวไปสู่อีกจุดหนึ่งเพื่อเดินต่อ Flo ตัดสินใจขยายโชว์รูมของตัวเองในซอยสุขุมวิท 36 ให้อลังการขึ้น เปลี่ยนชื่อเป็น FLOHOUSE พิเศษกว่านั้นคือไม่ได้มีแค่โชว์รูม แต่บ้านของ Flo หลังนี้ยังมีร้านหนังสือ ร้านกาแฟ สเปซสำหรับจัดนิทรรศการและเวิร์กช็อปอีกด้วย

เช้าวันอากาศดี เราจึงนัดพบกับนรุตม์ให้เขาพาทัวร์บ้านหลังใหม่กัน

HOUSE OF VARIETY

นอกจากหมวกของดีไซเนอร์ นรุตม์ยังเป็นนักสำรวจตัวยง

อันที่จริง ใช้คำว่า ‘นักสังเกต’ น่าจะตรงกว่า

ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย นักศึกษาภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบอย่างเขาจะเอนจอยเป็นพิเศษเมื่อได้ร่วมทริปดูงานต่างประเทศ เพราะนั่นคือช่วงเวลาที่นรุตม์พาตัวเองไปเจอสิ่งใหม่ๆ ที่จุดประกายไอเดียให้เขาได้เสมอ

“ร้านเฟอร์นิเจอร์ที่ผมไปแล้วชอบ ทุกร้านจะมีหลายๆ อย่างรวมอยู่ในที่เดียวกัน” เขาย้อนความถึงสิ่งที่สังเกตเห็น ซึ่งตกตะกอนมาเป็นไอเดียของ FLOHOUSE ในภายหลัง 

“เขาไม่ค่อยมีแต่เฟอร์นิเจอร์อย่างเดียว จะมีของกุ๊กกิ๊ก แฟชั่น ร้านหนังสือ เป็นเหมือนคอนเซปต์สโตร์ ผมรู้สึกว่าน่าสนใจดี เพราะพอเราไปถึงที่นั่น ถึงแม้เราจะไม่ได้ซื้อเฟอร์นิเจอร์แต่ยังได้ประสบการณ์บางอย่าง อย่างน้อยไม่ได้ซื้อแต่มารู้จักกันก่อน จุดเด่นอีกข้อคือมันมีความเป็น owner สูงมาก หมายถึงว่าเจ้าของร้านจะทำให้เราเห็นว่าเขาชอบอะไร สนใจอะไร

“การเดินเข้าร้านเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกถึงพลังงานที่ดี คล้ายว่ามันสร้างพลังให้เราไปทำนู่นทำนี่ต่อได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้คนที่เดินเข้าร้านมา ถ้ามองในด้านธุรกิจ มันก็คือการใช้พื้นที่ในการทดลองทำอะไรใหม่ๆ ให้กับเจ้าของเช่นกัน” 

นรุตม์เก็บความรู้สึกใจเต้นตอนเดินเข้าร้านเหล่านั้นไว้ และไม่คิดว่าจะได้เอามาใช้กับร้านของตัวเองในอีกหลายปีให้หลัง ในขวบปีที่ Flo กำลังก้าวเข้าสู่เลข 10 และเรียกร้องให้เขาทำอะไรบางอย่างเพื่อให้แบรนด์ไม่ย่ำอยู่กับที่

HOUSE OF CHALLENGE

แฟนคลับของ Flo คงรู้อยู่แล้วว่านอกจากงานแฟร์กับอีเวนต์โชว์เคสเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ สถานที่ที่เราจะพบปะคอลเลกชั่นทั้งเก่าและใหม่ของ Flo ได้คือโชว์รูมในซอยสุขุมวิท 36 

ก่อนจะมาเป็น FLOHOUSE นรุตม์เล่าว่าพื้นที่ขนาด 800 ตารางเมตรตรงนี้เคยเป็นของญาติผู้ทำแบรนด์เฟอร์นิเจอร์เด็กมาก่อน พวกเขาเปิดบ้านที่อยู่ด้านหน้าเป็นร้านขายเฟอร์นิเจอร์ ส่วนโกดังด้านหลังปล่อยให้ชายหนุ่มเช่าเพื่อจัดเป็นโชว์รูม

อยู่มาวันหนึ่งญาติก็ย้ายร้านไปทำที่อื่น นรุตม์จึงได้พื้นที่ทั้งหมดมาเป็นของตัวเอง

ไอเดียของการทำอะไรบางอย่างเพื่อให้แบรนด์ไม่ย่ำอยู่กับที่สตาร์ทจากโมเมนต์นั้น

นรุตม์เล่าว่า เวลาออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของ Flo เป้าหมายของเขาคือการทำให้ชีวิตของผู้ใช้ดีขึ้น ไม่ว่าจะทำให้บ้านสวยขึ้น อยู่สบายขึ้น หรือดีในแง่อื่นๆ FLOHOUSE ก็ตั้งเป้าหมายในทางเดียวกัน

“สิ่งที่ทำให้คนพัฒนาได้มากขึ้นคือหนังสือ และกิจกรรมบางอย่างที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ เพราะฉะนั้น FLOHOUSE ก็อยากเป็นสเปซที่ทำให้ชีวิตคนดีขึ้น ผ่านหนังสือ ผ่านเฟอร์นิเจอร์ ผ่านอีเวนต์ และพื้นที่ทั้งหมด”

สิ่งที่นรุตม์อยากทำไม่ใช่แค่การอัพสเกลโชว์รูมของ Flo ให้ใหญ่ขึ้นเท่านั้น แต่คือการรีโนเวตพื้นที่ให้กลายเป็นอาณาจักรขนาดย่อมสำหรับโชว์เคสเฟอร์นิเจอร์ของ Flo และแบรนด์ในเครือ รวมถึงสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ให้ร้านหนังสือ ร้านกาแฟ รวมถึงสเปซว่างสำหรับจัดอีเวนต์หรือเวิร์กช็อปในอนาคต

ความท้าทายคือหากมองจากภายนอก คนที่เข้ามาจะเห็นเพียงบ้านด้านหน้าเท่านั้น ทำให้หลายคนไม่รู้ว่ามีโกดังที่โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ของ Flo อยู่ข้างหลัง นรุตม์จึงขอความช่วยเหลือจาก ATELIER 2+ Studio บริษัทสถาปนิกที่ไว้ใจมาช่วยออกแบบร่วมกัน 

หลังจากปรึกษากันยาวนาน ไอเดียที่ทั้งคู่เห็นตรงกันคือการทุบโครงสร้างของบ้านออกเพื่อเปิดให้เห็นด้านในมากที่สุด รวมถึงทำทางเข้าใหม่เพื่อให้ลูกค้าสามารถเดินเข้ามาโกดังด้านหลังอย่างง่ายดาย นอกจากนี้ การรีโนเวตยังคำนึงถึงสิ่งสำคัญคือความโมเดิร์น โชว์พื้นผิวของวัสดุที่ใช้ 

สำคัญที่สุดคือเข้ามาแล้วต้องรู้สึกโปร่งโล่ง ลื่นไหล–เหมือนกับคาแร็กเตอร์ของ Flo

“สำหรับผม โชว์รูมที่ดีคือโชว์รูมที่เดินเข้าไปแล้วต้องรู้สึก welcome ก่อน ซึ่งไม่ใช่เกิดขึ้นจากคนบริการด้วย แต่เป็นแสง กลิ่น บรรยากาศที่เดินเข้าไปแล้วรู้สึกว่ามัน ‘ถึง’ 

“อย่างที่สองคือเข้าไปแล้วรู้สึกตื่นเต้น มันทำให้ใจเราขยับ รู้สึกเหมือนได้เดินเข้าไปในธีมปาร์กที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าของเขามีความสัมพันธ์กับสิ่งไหน เขาชอบสิ่งไหนถึงสร้างผลงานแบบนี้ออกมา แล้วกระตุ้นให้เรารู้สึกว่าอยากทำอะไรดีๆ บ้างจัง”

ซึ่งที่ว่ามาทั้งหมดนั้นถูกรวบรวมไว้ใน FLOHOUSE แล้วเรียบร้อย

HOUSE OF EXPERIMENT

ชีวิตของนรุตม์ผูกสัมพันธ์กับเฟอร์นิเจอร์มาตั้งแต่เด็ก ที่ FLOHOUSE จึงให้น้ำหนักกับการโชว์เคสเฟอร์นิเจอร์มาเป็นอันดับหนึ่ง

เมื่อเดินเข้ามาในตัวโกดัง สิ่งที่เราจะเห็นได้อย่างแรกคือพื้นที่จัดแสดงเฟอร์นิเจอร์ของ Flo ที่คัดสรรมาแล้ว แต่สิ่งที่ดึงดูดความสนใจเราได้เป็นพิเศษคือ FLOLAB แบรนด์ที่ฉีกออกมาจาก Flo ซึ่งนรุตม์บอกว่ามันเป็นพื้นที่แห่งการทดลองสิ่งใหม่ๆ ที่เขาไม่เคยทำกับ Flo

ชายหนุ่มเล่าว่า FLOLAB คือคอลเลกชั่นเฟอร์นิเจอร์ที่มีคอนเซปต์กำหนดชัดเจนในแต่ละคอลเลกชั่น (หรือที่เขาตั้งชื่อให้อย่างน่ารักว่า Chapter หรือ ‘บท’) ซึ่งจะหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ

อย่างวันที่เราไปดูนี้นรุตม์กำลังจัดแสดงบทแรกชื่อ Liber ชั้นวางหนังสือหน้าตาเก๋ไก๋ แถมแต่ละตัวยังตั้งชื่อตามนักคิดนักเขียนชื่อคุ้นหูอย่าง Marquez, Kafka, Hesse, Murakami นอกจากนี้ FLOLAB ยังเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ Flo ได้ไปจับมือคอลแล็บกับแบรนด์อื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน

พื้นที่ในการจัดแสดงเฟอร์นิเจอร์ยังไม่หมดแค่นั้น เพราะบนชั้น 2 ยังมีส่วนจัดแสดงงานของ Nama แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่นรุตม์ฟูมฟักขึ้นมาพร้อมกับ Flo ซึ่งโดดเด่นด้วยสไตล์ contemporary และใช้ไม้ไทยเป็นหลัก

HOUSE OF CONVERSATION

กลิ่นกาแฟหอมกรุ่นดึงให้เราพักความสนใจจากส่วนจัดแสดงเฟอร์นิเจอร์ ก่อนจะมุ่งหน้าตามกลิ่นไปยังเคาน์เตอร์บาร์ของ LIVID Coffee Roaster ร้านกาแฟพิเศษที่คนในวงการน่าจะคุ้นชื่อ เพราะพวกเขาเคยเป็นโรงคั่วกาแฟที่หลายคนไว้ใจ ความพิเศษคือพวกเขาเพิ่งได้มาเปิดร้านของตัวเองที่ FLOHOUSE เป็นแห่งแรก

เรื่องของเรื่องคือ นรุตม์กับ กนต์ธร นิโลดม เจ้าของร้านรู้จักกันมาก่อน เขาก็ติดใจในรสจางๆ ของกาแฟนอร์ดิกแบรนด์ LIVID และคิดว่าคาแร็กเตอร์ไปด้วยกันกับ Flo ได้แบบไม่ขัดเขิน เมื่อตั้งใจจะสร้าง FLOHOUSE นรุตม์จึงชวนกนต์ธรมาแชร์พื้นที่ด้วยกัน

“เอ็ม (กนต์ธร) เขาค่อนข้างอินกับเรื่องกาแฟ คั่วเอง เสาะหาเมล็ดมาเอง ผมกินแล้วรู้สึกว่ากาแฟของเขาไม่เหมือนคนอื่นแน่ๆ ผมว่าเขาหาจุดที่แตกต่างเจอ” ชายหนุ่มเล่าเหตุผล 

มากกว่าการพากาแฟพิเศษเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ FLOHOUSE นรุตม์และกนต์ธรยังหมายมั่นว่าอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่สร้างบทสนทนาของคนคอเดียวกัน “ตอนที่มากินกาแฟกัน เอ็มเขาตั้งใจว่าอยากให้คนที่มาได้คุยกับบาริสต้าว่าเมล็ดนี้มีความเป็นมายังไง ได้มายังไง มีปฏิสัมพันธ์และได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน”

ความตั้งใจนี้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่ร้านกาแฟเพียงเท่านั้น แต่บนชั้น 2 ของ FLOHOUSE ยังมีสเปซว่างที่นรุตม์ตั้งใจสร้างไว้สำหรับอีเวนต์เกี่ยวกับงานออกแบบ จัดนิทรรศการ และเวิร์กช็อปในอนาคตอีกด้วย

HOUSE OF BOOKS LOVERS

แต่ยอมรับตามตรง มุมที่ทำให้คนรักหนังสืออย่างเราใจเต้นที่สุดก็คงต้องยกให้ FLOBOOKSTORE

ไม่ใช่แค่เราคนเดียวด้วย เพราะเจ้าของร้านอย่างนรุตม์ก็ยอมรับว่าใจเต้นไม่แพ้กัน เพราะร้านที่เรายืนอยู่นี้คือความฝันที่เขาอยากทำมานาน

“ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ไปเที่ยวที่ไหนก็มักจะซื้อหนังสือติดตัวกลับมาตลอด เวลาผมชอบดีไซเนอร์คนไหนก็จะชอบไปตามอ่านดูว่าชีวิตของเขาเป็นยังไง เขาทำงานแบบไหนมาก่อน ที่งานเขาเป็นแบบนี้เขาชอบเสพศิลปะแบบไหน ในยุคนั้นมีศิลปินคนไหนอีก เพราะการตามดูสิ่งเหล่านี้ทำให้ผมสนุกกับงานออกแบบมากขึ้น ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ในห้องเรียนออกแบบไม่ค่อยสอน และผมไม่เคยเห็นหนังสือพวกนี้อยู่ที่เดียวกันเลย” 

นั่นคือเหตุผลตั้งต้นที่ทำให้นรุตม์สร้าง FLOBOOKSTORE ขึ้นมา ในฐานะร้านหนังสือดีไซน์ ศิลปะ ประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่หนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องผลงานของดีไซเนอร์ที่เขาชอบ แต่ยังมีหนังสือที่เล่าเรื่องชีวิตของดีไซเนอร์เหล่านั้น รวมไปถึงหนังสือเล่มอื่นๆ ให้ทำให้คนอ่านเห็นความเชื่อมโยงของดีไซเนอร์แต่ละคนในแต่ละยุคสมัย

“มันน่าจะดีต่อคนที่เขาสนใจ เพราะเขาจะได้รู้ว่า อ๋อ ดีไซเนอร์คนนี้เป็นลูกศิษย์คนนี้ ดีไซน์ของสแกนดิเนเวียเกิดขึ้นได้ยังไง ทำไมอเมริกาช่วงหนึ่งถึงทำเฟอร์นิเจอร์เก่ง หนังสือในร้านก็จะมีเรื่องราวเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้เขาเห็นภาพใหญ่ว่านี่คือช่วงเวลาเดียวกัน”

เกณฑ์การคัดสรรหนังสือของนรุตม์ก็เรียบง่าย เพราะมันมาจากความชอบส่วนตัวของเขาล้วนๆ “ประมาณ 80-90% ของหนังสือที่ร้าน ที่บ้านผมมีหมดแต่แทนที่จะสั่งมาให้ตัวเอง ผมก็สั่งมาขายให้คนที่ชอบเหมือนกัน” ชายหนุ่มหัวเราะ

“ว่าตามตรง หนังสือพวกนี้ดู niche มากเลยนะ กลัวไหมว่าจะ niche เกินไป” เราสงสัย

“ผมเข้าใจว่าธุรกิจหนังสือไม่ได้ทำเงินมากมายอยู่แล้ว คนทำหนังสือก็น่าจะรู้ดี แต่ผมยังมองว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะการอ่านทำให้เราได้อะไรมากจริงๆ ถึงคนที่มาอาจจะยังไม่ซื้อ แต่อย่างน้อยเขาก็ได้เห็นชื่อดีไซเนอร์ เอาไปเสิร์ชข้อมูลต่อได้

“ในขณะเดียวกัน การมี FLOBOOKSTORE ก็แสดงให้เห็นว่า Flo สนใจในงานออกแบบนะ เราชอบดูงาน ชอบศิลปะ คนที่เข้ามาก็จะเห็นว่าที่นี่ไม่ได้มีแค่เฟอร์นิเจอร์นะ กว่าจะมาเป็นเฟอร์นิเจอร์สักชิ้นมันต้องผ่านการศึกษาเรื่องเหล่านี้มา มันก็ส่งเสริมในตัวแบรนด์เอง” ชายหนุ่มบอก

HOUSE OF FLO

สำหรับนรุตม์ การมี FLOHOUSE คือภาคขยายของแบรนด์ Flo ที่เปิดโอกาสให้ทั้งตัวเขาและลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ จากแบรนด์ที่รัก

“มัน expand รสชาติของแบรนด์ให้กว้างขึ้น ทำให้แบรนด์เข้าไปอยู่ที่ชีวิตคนได้มากขึ้น เหมือนเป็นการขยายประสบการณ์ที่จะทำให้ลูกค้าอิ่มเอม และ complete sense ของเขามากขึ้น

“แน่นอนว่าในแง่ธุรกิจ Flo ต้องขายได้เยอะขึ้น” เขาเล่าความคาดหวัง “ อย่างที่สองผมว่ามันคือเรื่องของ traffic และ awareness เพราะคนจะไม่ซื้อของเราถ้าเขาไม่รู้จักเรา อย่างน้อยการมี FLOHOUSE ก็ทำให้คนรู้จักมากขึ้นเพราะเรามีบริการอื่นๆ ไม่ต้องมาซื้อเฟอร์นิเจอร์ก็ได้ แต่มาดูหนังสือ มาคุยกัน มาเดินเล่นก็ได้ มันคือการแนะนำตัวเองให้เราได้มีปฏิสัมพันธ์กันก่อน

“แต่ถ้าในแง่การมีความหมายต่อตัวตน สำหรับผม FLOHOUSE มันมีความหมายมากนะครับ จริงๆ มันแทบจะเป็นบ้านของผมเลย เพราะที่นี่ก็มีห้องนอนของผมด้วย ผมนอนนี่ ตื่นมาก็เดินมาออฟฟิศ ทำงาน ขายของได้เลย” ชายหนุ่มหัวเราะ 

“อาจจะฟังดู subjective นิดหนึ่ง แต่การได้ทำพื้นที่ตรงนี้จากความชอบมันก็ทำให้ผมรู้สึกดี และน่าจะดีกว่าด้วยถ้าที่ที่เรามีมันทำรายได้ให้เรา ให้โรงงาน ให้พนักงานเรา และสร้างความรู้สึกดีๆ ผ่านดีไซน์ให้กับคนที่มา มันก็ win-win กันทุกฝ่าย” 

FLOHOUSE

เวลาทำการ : ร้านเฟอร์นิเจอร์และร้านหนังสือเปิดทุกวัน เวลา 10:00-19:00 น.

ร้านกาแฟเปิดทุกวัน เวลา 08:30-17:30 น.

การเดินทาง : BTS ทองหล่อ เดินต่อเข้ามาในซอยสุขุมวิท 36 ต่ออีก 850 เมตร

ที่ตั้ง : goo.gl/maps/sdmSJoz9ojiRGGfP9

ช่องทางติดต่อ : แฟนเพจเฟซบุ๊กของร้านเฟอร์นิเจอร์ facebook.com/flofurniture หรือแฟนเพจเฟซบุ๊กของร้านหนังสือ facebook.com/Flobookstore

Writer

นักอยากเขียนผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like